ข้ามไปเนื้อหา

วัดซางตาครู้ส

พิกัด: 13°44′21″N 100°29′38″E / 13.739036°N 100.493772°E / 13.739036; 100.493772
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โบสถ์ซางตาครู้ส)
วัดซางตาครู้ส
Santa Cruz Church
วัดกุฎีจีน
บริเวณด้านหน้าโบสถ์ซึ่งหันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566
แผนที่
ที่ตั้ง112 ซอยกุฎีจีน แยกซอยอรุณอมรินทร์ 4 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ประเทศไทย
นิกายโรมันคาทอลิก
ประวัติ
สถานะเปิดใช้งาน
ก่อตั้งพ.ศ. 2313
ผู้ก่อตั้งคณะนักบวชชาวโปรตุเกส และคุณพ่อกูเลียลโม กิ๊น ดา ครู้ส
สถาปัตยกรรม
สถาปนิกคุณพ่อแปร์โร
คุณพ่อกูเลียลโม[1]
ประเภทสถาปัตย์ผังรูปทรงกางเขนโรมัน โครงสร้างผนังรับน้ำหนักและเสาลอย
รูปแบบสถาปัตย์เรเนอซองส์
นีโอคลาสสิก[2][3]
ปีสร้าง17 กันยายน พ.ศ. 2459[4]
โครงสร้าง
พื้นที่ใช้สอย1,166.46 ตร.ม.
การปกครอง
อัครมุขมณฑลกรุงเทพฯ[5]
นักบวช
อัครมุขนายกพระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช
อธิการโบสถ์บาทหลวงสมพร เส็งเจริญ
ผู้ช่วยอธิการบาทหลวงเทิดศักดิ์ กิจสวัสดิ์
บาทหลวงสมชาย อัญชลีพรสันต์

วัดซางตาครู้ส, โบสถ์ซางตาครู้ส หรือ วัดกุฎีจีน (อังกฤษ: Santa Cruz Church) เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในซอยกุฎีจีน แยกซอยอรุณอมรินทร์ 4 (ถนนเทศบาล สาย 1) ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร โบสถ์ในปัจจุบันนี้เป็นอาคารหลังที่สามซึ่งสร้างขึ้นเพื่อทดแทนโบสถ์หลังเดิมที่คับแคบและชำรุดทรุดโทรมมาก โดยมีคุณพ่อกูเลียลโม กิ๊น ดา ครู้ส เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2459 (ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) และได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2539 โดยมีคุณพ่อศวง ศุระศรางค์ เป็นผู้ริเริ่มเพื่อการอนุรักษ์ต่อไป[4] ปัจจุบันวัดหลังนี้มีอายุรวมแล้ว 108 ปี

อาคารวัดซางตาครู้สเป็นอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาและสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิกเช่นเดียวกับอาสนวิหารอัสสัมชัญ มีจุดเด่นที่ยอดโดมแบบอิตาลีซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับโดมแห่งมหาวิหารฟลอเรนซ์หรือโดมของพระที่นั่งอนันตสมาคม[3] ภายในเป็นอาคารชั้นเดียว มีจุดเด่นอีกประการคือ การใช้เสาลอยรับน้ำหนักของฝ้าเพดานแบบโค้ง รวมถึงกระจกสีที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนา[1]

วัดซางตาครู้สเป็นศาสนสถานที่สำคัญที่อยู่คู่กับชุมชนกุฎีจีนเก่าแก่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยบริเวณที่ตั้งของวัดอยู่ใกล้กับพระราชวังเดิม สมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระราชทานที่ดินให้แก่ชาวโปรตุเกสซึ่งร่วมทำการศึกต่อต้านพม่าจนได้รับชัยชนะ นักบวชชาวโปรตุเกสจึงได้เริ่มก่อสร้างอาคารวัดหลังแรกที่สร้างด้วยไม้ทั้งหมดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2313 ต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในชุมชนในปี พ.ศ. 2376 ทำให้อาคารวัดพังเสียหายทั้งหมด จึงต้องก่อสร้างใหม่ด้วยอิฐถือปูน และได้ก่อสร้างใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2459 ซึ่งคืออาคารวัดหลังที่เห็นในปัจจุบัน[4]

นอกจากอาคารวัดที่สำคัญแล้ว ยังมีศาลาซางตาครู้สซึ่งสร้างเสร็จในเวลาไล่เลี่ยกันคือประมาณปี พ.ศ. 2453 เป็นศาลาทรงวิกตอเรีย ขนมปังขิง มีจตุรมุข 4 ด้าน แต่ในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ได้เกิดอุบัติเหตุเครื่องเครนที่ใช้ก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเคลื่อนไปชนตัวศาลาจนเสียหายหนัก[6][7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 สถาปัตยกรรมวัดซางตาครู้ส เก็บถาวร 2016-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. สืบค้นเมื่อ 25/05/2559.
  2. วัดซางตาครู้ส, มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี. สืบค้นเมื่อ 25/05/2559.
  3. 3.0 3.1 ศิลปะเชื่อมศาสนา, สาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต. วันที่ 10 ก.ค. 2557.
  4. 4.0 4.1 4.2 ประวัติวัดซางตาครู้ส, catholic.or.th. สืบค้นเมื่อ 25/05/2559.
  5. ประวัติวัดคอนเซ็ปชัญ, catholic.or.th/ .สืบค้นเมื่อ 29/05/2559
  6. ศาลาซางตาครู้ส ในชุมชนกุฎีจีน ถูกเครนถล่ม พังยับสถาปัตยกรรมโบราณ, Kapook. วันที่ 23 ธ.ค. 2558.
  7. ชุมชนกุฎีจีนโวย! เครนปัด ศาลาวัดซางตาครู้สพัง แจ้งกรมศิลป์ช่วยตรวจสอบด่วน, มติชน. วันที่ 24 ธ.ค. 2558.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°44′21″N 100°29′38″E / 13.739036°N 100.493772°E / 13.739036; 100.493772