แม่น้ำแยงซี
แม่น้ำแยงซี (จีนตัวย่อ: 扬子江; จีนตัวเต็ม: 揚子江; พินอิน: Yángzǐ jiāng; อังกฤษ: Yangtze river) หรือแม่น้ำฉางเจียง (จีนตัวย่อ: 长江; จีนตัวเต็ม: 長江; พินอิน: Cháng jiāng) เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในทวีปเอเชีย และเป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากแม่น้ำไนล์ในทวีปแอฟริกาและแม่น้ำแอมะซอนในทวีปอเมริกาใต้ แม่น้ำแยงซียาว 6,300 กิโลเมตร[1] ต้นน้ำอยู่ที่มณฑลชิงไห่และทิเบต ในทิศตะวันตกของสาธารณรัฐประชาชนจีน และไหลมาทางทิศตะวันออก ออกสู่ทะเลจีนตะวันออก
ชื่อ
[แก้]ชื่อแม่น้ำแยงซีที่คนไทยเรียกกันนั้น เป็นชื่อที่ตกทอดมาจากแม่น้ำหยางจื่อเจียง (อักษรจีนตัวเต็ม: 揚子江;อักษรจีนตัวย่อ: 扬子江; พิงอิน:Yángzǐ Jiāng) ) ซึ่งเริ่มเรียกในสมัยราชวงศ์สุย. ชื่อแม่น้ำหยางจื่อเจียงถูกเรียกตามเรือบรรทุกสินค้าในสมัยก่อนจากเมืองหยางจื่อจิน (อักษรจีน:扬子津, ความหมายว่า ข้ามหยางจึ) ในสมัยราชวงศ์หมิง ตัวเขียนของแม่น้ำหยางจึจินบางครั้งเขียนเป็น 洋子 (พินอิน: Yáng Zĭ) เนื่องจากกลุ่มแรกๆที่ได้ยินชื่อแม่น้ำหยางจึจินคือกลุ่มมิชชันนารีและพ่อค้า ชื่อแม่น้ำนี้จึงถูกเรียกแทนแม่น้ำทั้งสาย ในเวลาต่อมาชื่อของแม่น้ำหยางจื่อเจียงได้รับการพิจารณาว่าเป็นชื่อที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวรรณคดีของประเทศจีน ชื่อใหม่ของแม่น้ำหยางจื่อเจียงคือ แม่น้ำฉางเจียง (อักษรจีนตัวเต็ม:長江;อักษรจีนตัวย่อ:长江; พินอิน: Cháng Jiāng) ซึ่งมีความหมายว่า แม่น้ำสายยาว (Long River) ซึ่งชาวตะวันตกก็เรียกเช่นเดียวกันนี้ในบางครั้ง
แม่น้ำแยงซีถูกเรียกต่างชื่อกันไปตามเส้นทางของลำน้ำเช่นเดียวกับแม่น้ำหลาย ๆ สาย เช่น ต้นทางของแม่น้ำแยงซีถูกเรียกโดยชาวทิเบตว่า ตังฉวี่ (ตัวอักษรจีน:当曲, ความหมายว่า บึงแม่น้ำหรือ หนองแม่น้ำ) ตามทางของแม่น้ำแยงซีถูกเรียกว่า แม่น้ำถัวทัว (อักษรจีน: 沱沱河) ลาดลงมาอีกเรียกว่า แม่น้ำทงเทียน (อักษรจีน: 通天河, ให้ความหมายทางวรรณกรรมว่า ผ่านแม่น้ำสวรรค์) นอกจากนี้แล้วแม่น้ำแยงซียังถูกเรียกว่า แม่น้ำจินชา (อักษรจีน: 金沙江; พินอิน: Jīnshā Jiāng, ให้ความหมายทางวรรณกรรมว่า แม่น้ำหาดทรายทอง) จากเส้นทางน้ำไหลผ่านช่องแคบระหว่างเทือกเขาต่าง ๆ สู่ แม่น้ำแม่กองและ แม่น้ำสาละวิน ก่อนที่จะไหลผ่านเข้าสู่ที่ราบลุ่มเสฉวน หรือ ซื่อชวน (อักษรจีน: 四川; พินอิน: Sì Chuān) ซึ่งตั้งอยู่ด้านตะวันตกของจีน ชาวจีนสมัยก่อนเรียกแม่น้ำแยงซีเพียงสั้น ๆ ว่า เจียง (อักษรจีน: 江; พินอิน: Jiāng) หรือ ต้าเจียง (อักษรจีน: 大江; พินอิน: Dà Jiāng, ให้ความหมายทางวรรณกรรมว่า แม่น้ำใหญ่) ซึ่งต่อมาชาวจีนเรียกแทนแม่น้ำว่า เจียง ชาวทิเบตเรียกแม่น้ำว่า บีร์ชู (ภาษาทิเบต: འབྲི་ཆུ་; วายลี่: 'bri chu, ให้ความหมายทางวรรณกรรมว่า แม่น้ำแม่วัวป่า) แม่น้ำแยงซียังถูกเรียกว่าเป็นแม่น้ำสายทองคำอีกด้วย
ภูมิศาสตร์
[แก้]ต้นกำเนิดของแม่น้ำแยงซีอยู่ใต้ธารน้ำแข็งทางทิศตะวันตกของภูเขาเก้อลาตานตง (ตัวอักษรจีน: 各拉丹东; พินอิน:Gèlādāndōng) แม่น้ำแยงซีไหลผ่านไปฝั่งตะวันออกของมณฑลชิงไห่ และไหลลงไปทางใต้สู่หุบเขาที่ลึกตามแนวเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างมณฑลเสฉวน กับ ทิเบต แล้วไหลเข้าสู่มณฑลหูหนาน หรือ ฮูนาน (อักษรจีน: 湖南; พินอิน: Húnán;) ซึ่งเส้นทางไหลเลาะ ลาด ตามหุบเขานั้นได้ลดระดับความสูงของแม่น้ำจากมากกว่า 5,000 เมตร สู่ระดับที่ต่ำกว่า 1,000 เมตร
แม่น้ำแยงซีไหลเข้าสู่ ที่ราบลุ่มเสฉวน (แอ่งเสฉวน) ณ อี๋ปิน (อักษรจีนตัวเต็ม: 宜賓; อักษรจีนตัวย่อ: 宜宾; พินอิน: Yíbīn) ซึ่งแม่น้ำแยงซีได้บรรจบกับแม่น้ำอีกหลายสาย ณ แอ่งเสฉวน นี้ จึงทำให้มีปริมาณน้ำมากขึ้นอย่างชัดเจน หลังจากนั้นแม่น้ำแยงซีก็ไหลเลาะตามเส้นแบ่งเขตระหว่างมณฑลฉงชิ่ง (อักษรจีนตัวเต็ม: 重慶; อักษรจีนตัวย่อ: 重庆; พินอิน: Chóngqìng) กับ มณฑลหูเป่ย์ (อักษรจีน: 湖北; พินอิน: Húběi) จากเส้นทางไหลเลาะตามเส้นแบ่งเขตนี้ ก่อให้เกิดซานเชี่ย (อักษรจีนตัวเต็ม: 三峽; อักษรจีนตัวย่อ: 三峡; พินอิน: Sānxiá;) อันโด่งดัง
แม่น้ำแยงซีได้รับปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจากทะเลสาบพัน ๆ แห่งหลังจากไหลเข้าสู่มณฑลหูเป่ย์ ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดที่มาบรรจบกับแม่น้ำแยงซีคือ ทะเลสาบต้งถิง (อักษรจีน: 洞庭湖; พินอิน: Dòngtíng Hú) ซึ่งเลาะเลียบตามเส้นแบ่งเขตของมณฑลหูหนานกับมณฑลหูเป่ย์ หลังจากเข้าสู่เมืองอู๋ฮั่น (อักษรจีนตัวเต็ม: 武漢; อักษรจีนตัวย่อ: 武汉; พินอิน: Wǔhàn;) แม่น้ำแยงซีได้บรรจบกับแม่น้ำสายย่อยที่ใหญ่ที่สุด นั่นคือแม่น้ำฮั่น โดยที่แม่น้ำฮั่นนำพาปริมาณน้ำมาจากเขตทางเหนือเริ่มจากมณฑลฉ่านซี (อักษรจีนตัวเต็ม: 陝西; อักษรจีนตัวย่อ: 陕西; พินอิน: Shǎnxī)
ทะเลสาบโป๋หยาง (อักษรจีน: 鄱阳湖; พินอิน: Póyáng Hú) ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีนเข้าบรรจบกับแม่น้ำแยงซีที่ปลายทางตอนเหนือของมณฑลเจียงซี (อักษรจีน: 江西; พินอิน: Jiāngxī) จากนั้นแม่น้ำแยงซีก็ได้รับปริมาณน้ำเพิ่มจากทะเลสาบและแม่น้ำใหญ่น้อยที่นับไม่ถ้วนจากเส้นทางที่ไหลผ่านเข้าสู่มณฑลอานฮุย (อักษรจีน: 安徽; พินอิน: Ānhuī) และมณฑลเจียงซู (อักษรจีนตัวเต็ม: 江蘇; อักษรจีนตัวย่อ: 江苏; พินอิน: Jiāngsū) แล้วสุดท้ายก็ไหลผ่านลงสู่ทะเลจีนตะวันออก (อักษรจีน: 中国东海) ที่เมืองช่างไห่ หรือ เซี่ยงไฮ้ (อักษรจีน: 上海, พินอิน: Shànghǎi)
นอกจากนี้ ในประเทศ จีน แม่น้ำแยงซี เป็น 1 ในแม่น้ำ 3 สาย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น "แหล่งมรดกโลก" ร่วมกับ แม่น้ำโขง และ แม่น้ำสาละวิน ในเขตพื้นที่มณฑลยูนนาน ภายใต้ชื่อ พื้นที่คุ้มครองแม่น้ำขนานสามสายแห่งยูนนาน โดยพื้นที่ดังกล่าว นับได้ว่าเป็นสถานที่แห่งหนึ่งบนโลกที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลายหลายทางชีวภาพสูง
สภาพแวดล้อม
[แก้]ในปี2007 ความวิตกกังวลว่าปลาโลมาจีน (Finless Porpoise) หรือที่ชาวพื้นเมืองรู้จักในนาม เจียงจู (Jiangzhu) มีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ตามปลาโลมาในแม่น้ำแยงซีนามว่า ป๋ายชื่อ (baiji) (อักษรจีน: 白鱀豚; พินอิน: Báijìtún) ในขณะที่ปลาโลมาพันธุ์ป๋ายชื่อถูกเปิดเผยเมื่อปี 2006 ว่าได้สูญพันธุ์ไปแล้ว
มีการเรียกร้องให้อนุรักษ์ปลาโลมาจีน ซึ่งมีจำนวนประชากรประมาณ 1,400 ตัว ปลาโลมาจีน 700-900 ตัวอาศัยอยู่ในแม่น้ำแยงซี และอีกประมาณ 500 ตัวอาศัยอยู่ในทะเลสาบต้งถิงและ ทะเลสาบโป๋หยาง (อักษรจีน: 鄱阳湖; พินอิน: Póyáng Hú)
จำนวนประชากรปลาโลมาจีนในปี 2007 ลดลงจากในปี 1997 มากกว่าครึ่ง และจำนวนประชากรปลาโลมาจีนลดลงที่ 7.3% ต่อปี
การจราจรที่คับแน่นบนผิวน้ำของแม่น้ำแยงซีได้ขับไล่ปลาโลมาจีนให้ไปอยู่ในทะเลสาบต่าง ๆ แทน ณ ทะเลสาบโป๋หยาง ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน มีการขุดลอกพื้นทรายใต้ทะเลสาบเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคในช่วงปีหลัง ๆ ทั้งยังเป็นรายได้ที่สำคัญของภูมิภาคตามแนวทะเลสาบอีกด้วย ซึ่งโครงการขุดลอกพื้นทรายเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อประชากรสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ให้ถึงแก่ความตาย
การขุดลอกทำให้น้ำในทะเลสาบขุ่นมัวขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ปลาโลมาจีนไม่สามารถมองเห็นทางได้ไกลเหมือนเช่นแต่ก่อน จึงทำให้ปลาโลมาจีนต้องพึ่งพาระบบโซน่า (Sonar Systems) ของตนในการหลบหลีกอุปสรรคต่าง ๆ และหาอาหาร การขนส่งทางน้ำในทะเลสาบยังส่งผลกระทบต่อการได้ยินเสียงการเคลื่อนไหวของเหยื่อของปลาโลมาจีนอีกด้วย นอกจากนี้ปฏิกูลหนักจากแอมโมเนีย (Ammonia) ไนโตรเจน (Nitrogen) ฟอสฟอรัส (Phosphorus) และอื่นๆยังสร้างมลพิษอย่างสาหัสแก่พื้นที่ประมาณหนึ่งในสามส่วนของแม่น้ำสายย่อยหลัก ๆ อย่าง แม่น้ำมินเจียง (อักษรจีน: 岷江; พินอิน: Mín Jiāng) แม่น้ำถัวเจียง แม่น้ำเซียงเจียง (อักษรจีน: 湘江; พินอิน: Xiāng Jiāng) และหวงผู่ (อักษรจีน: 黃浦江; พินอิน: Huángpŭ Jiāng) ซึ่งส่งผลให้ปลาที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำเหล่านั้นมีขนาดเล็กลง
ปลาในแม่น้ำแยงซี 3 ชนิด ที่ได้รับการขนามนามว่าเป็น ราชาปลาแห่งแยงซี ได้แก่ ปลาเตาอี๋ว์ (จีน: 刀鱼, ชื่อวิทยาศาสตร์: Coilia ectenes) ซึ่งเป็นปลาในวงศ์ปลาแมว (Engraulidae) ปลาตะลุมพุกจีน (จีน: 鲥鱼, ชื่อวิทยาศาสตร์: Tenualosa reevesii) ในวงศ์ปลาหลังเขียว (Clupeidae) และปลาปักเป้าแม่น้ำ (จีน: 河豚, ชื่อวิทยาศาสตร์: Takifugu rubripes) ในวงศ์ปลาปักเป้า (Tetraodontidae) เป็นปลาที่มีรสชาติอร่อยขึ้นชื่อมานานคู่กับแม่น้ำแห่งนี้ แต่การถูกจับในปริมาณที่มาก ประกอบภับมลภาวะที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปลามีปริมาณลดลงเรื่อย ๆ จากเดิม ในทศวรรษที่ 1980 และจากปี 1996 ก็แทบจะไม่ได้เห็นอีกเลย หรือไม่ก็มีราคาแพงมาก[2]
ลักษณะทางภูมิศาสตร์
[แก้]แม่น้ำแยงซีที่ไหลเข้าสู่ทะเลจีนตะวันออกนั้นมีขนาดกว้างและลึกพอสำหรับการสัญจรของเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่เป็นระยะทางหลายพันไมล์จากปากทางเข้า แม้ว่าเขื่อนสามผา (อักษรจีน: 三峽大壩; พินอิน: Sānxiá Dàbà) จะยังไม่ได้สร้างก็ตาม ต่อมาในปี 2003 เดือนมิถุนายน เขื่อนสามผา ถูกสร้างขึ้นเพื่อควบคุมปริมาณน้ำจากแม่น้ำแยงซีที่ไหลท่วมเขตการปกครองเฟิ้งเจี๋ย (อักษรจีน: 奉节县; พินอิน: Fèngjié Xiàn) จึงทำให้เขตการปกครองเฟิ้งเจี๋ยเป็นเมืองแรกที่ได้รับการคุ้มครองจากอุทกภัยและได้รับผลประโยชน์จากโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนสามผา
เขื่อนสามผา เป็นโครงการชลประทานแบบครอบคลุมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมของประเทศจีนเป็นอย่างมาก ฝ่ายผู้สนับสนุนโครงการชี้แจงว่า เขื่อนสามผา สามารถให้ผู้คนอาศัยตามริมฝั่งแม่น้ำแยงซีโดยไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอย่างที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในอดีต พร้อมทั้งยังจำหน่ายไฟฟ้าและลำเลียงเส้นทางน้ำให้ แม้ว่า เขื่อนสามผา จะถูกสร้างขึ้นทับเมืองต่าง ๆ (รวมถึงโบราณสถานหลายแห่ง) และส่งผลกระทบถึงการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในชุมชนขนาดใหญ่
ฝ่านผู้คัดค้านโครงการชี้แจงว่าอุทกภัยที่เกิดขึ้นบริเวณแม่น้ำแยงซีแบ่งได้เป็น 3 ชนิด กล่าวคือ อุทกภัยบนที่สูง อุทกภัยบนที่ต่ำ และอุทกภัยตามเส้นทางลำน้ำ ฝ่ายผู้คัดค้านกล่าวโต้แย้งว่าที่จริงแล้ว เขื่อนสามผา ทำให้อุทกภัยบนที่สูงร้ายแรงกว่าเดิม แต่บรรเทาอุทกภัยบนที่ต่ำจนแทบไม่ได้รับผลกระทบ เส้นขีดวัดแนวน้ำตื้นของแม่น้ำแยงซีที่บันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์จีนตลอด 1,200 ปีที่แล้ว ปัจจุบันน้ำได้ขึ้นท่วมทับเส้นวัดระดับนี้
สายการผลิตทางอุตสาหกรรมอันทันสมัย เช่น การทำเหมืองแร่ โรงงานไฟฟ้า โรงงานก่อสร้าง ถูกสร้างระนาบตามลำน้ำแยงซีเกียง ซึ่งสายการผลิตทางอุตสาหกรรมเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งยังเป็นจุดเชื่อมระหว่างการส่งสินค้าจากต่างประเทศเข้าสู่ภายในประเทศ แม่น้ำแยงซีเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมขนส่งทางน้ำ บัดนี้สามารถรองรับการท่องเที่ยวทางน้ำ
ตั้งแต่ปี 2004 บริษัทเรือสำราญจากยุโรปได้นำมาตรฐานระดับสูงเข้ามา พร้อมทั้งความช่วยเหลือจากนักการโรงแรมชาวสวิตเซอร์แลนด์ ชื่อ นิโคลัส ซี โซลารี่ (Nicolas C. Solari) ช่วยกันพัฒนาและเปิดบริการเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่สามลำ ล่องเที่ยวบนแม่น้ำแยงซี แม่น้ำแยงซีเป็นหนึ่งในลำน้ำที่มีความวุ่นวายมากที่สุด การคมนาคมของลำน้ำนี้ประกอบด้วยการขนส่งสินค้าจำพวก ถ่านหิน และ สินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งผู้คนและนักท่องเที่ยว
ในปี 2005 ยอดการขนส่งมีถึง 795 ล้านตัน การท่องเรือใหญ่แบบกินนอนหลาย ๆ วันเพื่อไปชมทัศนียภาพของ หุบเขาซานเชี่ย กำลังเป็นที่นิยมเห็นได้จากการเจริญเติบโตทางภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศจีน
น้ำท่วมตามแนวแม่น้ำแยงซีเป็นปัญหาใหญ่มาแต่ช้านาน ฤดูฝนในประเทศจีนเริ่มเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายนในทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี และเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคมในทางตอนเหนือ ระบบแม่น้ำได้รับน้ำจากทางใต้และทางเหนือ ก่อเกิดปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งปัญหาได้ทวีความรุนแรงขึ้นและเสียหายมากขึ้น เนื่องด้วยประชากรที่อาศัยกันหนาแน่นและเมืองที่คับคั่งตามแนวเส้นทางลำน้ำแยงซีเกียง ปัญหาน้ำท่วมขนาดหนักได้พรากชีวิตผู้คนในปี 1954 ประมาณ 30,000 คน ในปี 1935 ประมาณ 142,000 คน ในปี 1931 ประมาณ 145,000 คน ในปี 1911 ประมาณ 100,001 คน
มีการสร้างเขื่อนซานเสียต้าป้า เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งเหนือแม่น้ำแยงซี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ แม่น้ำแยงซี จากสารานุกรมบริเตนนิกา
- ↑ [https://web.archive.org/web/20120412005341/http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9550000043287 เก็บถาวร 2012-04-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ปลาเตาอี๋ว์ 325 กรัม ร่วม 3 แสนบาท! จากผู้จัดการออนไลน์]
ดูเพิ่ม
[แก้]หนังสืออ่านเพิ่ม
[แก้]- Carles, William Richard, "The Yangtse Chiang", The Geographical Journal, Vol. 12, No. 3 (Sep., 1898), pp. 225-240; Published by: Blackwell Publishing on behalf of The Royal Geographical Society (with the Institute of British Geographers)
- Grover, David H. 1992 American Merchant Ships on the Yangtze, 1920-1941. Wesport, Conn.: Praeger Publishers.
- Van Slyke, Lyman P. 1988. Yangtze: nature, history, and the river. A Portable Stanford Book. ISBN 0-201-08894-0
- Winchester, Simon. 1996. The River at the Center of the World: A Journey up the Yangtze & Back in Chinese Time, Holt, Henry & Company, 1996, hardcover, ISBN 0-8050-3888-4; trade paperback, Owl Publishing, 1997, ISBN 0-8050-5508-8; trade paperback, St. Martins, 2004, 432 pages, ISBN 0-312-42337-3