ข้ามไปเนื้อหา

ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี

长江三角洲城市群
ภาพถ่ายทางอากาศตอนกลางคืน
ภาพถ่ายทางอากาศตอนกลางคืน
แผนที่แสดงที่ตั้งของนครต่าง ๆ ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี
แผนที่แสดงที่ตั้งของนครต่าง ๆ ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี
มณฑล
นครที่สำคัญเซี่ยงไฮ้, หนานจิง, หางโจว, ซูโจว, หนิงปัว, อู๋ซี, หนานทง, เช่าซิง, ฉางโจว, จินฮฺหวา, เจียซิง, ไถโจว, หยางโจว, หยานเฉิง, ไท่โจว, เจิ้นเจียง, หูโจว, ฮฺหวายอาน, โจวชาน, ฉวีโจว, หม่าอานชาน, เหอเฝย์
ประชากร
 (2018)
 • ทั้งหมดc. 105,425,600 คน
เขตเวลาUTC+8 (เวลามาตรฐานจีน)
GDP2018
 - ทั้งหมด¥14.42 ล้านล้าน
$2.18 ล้านล้าน
$4.12 ล้านล้าน (PPP)
 - ต่อหัว¥136,795
$20,673
$38,972 (PPP)
ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี
อักษรจีนตัวย่อ长江三角洲
อักษรจีนตัวเต็ม長江三角洲
ฮั่นยฺหวี่พินอินChángjiāng sānjiǎozhōu
อักษรโรมันZankaon Saekohtseu

สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (อังกฤษ: Yangtze River Delta หรือ YRD, จีน: 长江三角洲 หรือ 长三角) เป็นเขตอภิมหานครที่ประกอบด้วยพื้นที่ที่พูดภาษาอู๋ ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ตอนใต้ของมณฑลเจียงซู และตอนเหนือของมณฑลเจ้อเจียง พื้นที่นี้ตั้งอยู่ใจกลางของภูมิภาคเจียงหนาน (แปลว่า "ทางใต้ของแม่น้ำ") เป็นบริเวณที่แม่น้ำแยงซี ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากที่ราบสูงทิเบตบริเวณมณฑลชิงไห่ ไหลลงสู่ที่ราบในทางทิศตะวันออกและเปิดออกสู่ทะเลจีนตะวันออกที่มณฑลเจียงซู เนื่องจากเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำและตะกอนสูงมาก ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เกิดขึ้นจึงมีขนาดใหญ่มากเช่นกัน และด้วยดินที่อุดมสมบูรณ์ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีจึงเป็นแหล่งผลิตเมล็ดธัญพืช ฝ้าย ป่าน และชาจำนวนมาก[1] ในปี 2018 สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีมีจีดีพีประมาณ 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ[2] ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับอิตาลี

สิ่งก่อสร้างในพื้นที่เขตเมืองนี้ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการกระจุกตัวของเขตมหานครที่อยู่ติดกัน (หรือที่เรียกว่าอภิมหานคร) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยครอบคลุมพื้นที่ 99,600 ตารางกิโลเมตร (38,500 ตารางไมล์) และเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนกว่า 115 ล้านคนในปี 2013 ซึ่งประมาณ 83 ล้านคนเป็นคนในเขตเมือง ถ้าหากอิงตามเขตของภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีทั้งหมด ภูมิภาคนี้จะมีประชากรมากกว่า 140 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 1 ใน 10 ของประชากรจีนและ 1 ใน 5 ของจีดีพีของประเทศ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดและร่ำรวยที่สุดในเอเชียตะวันออกโดยวัดจากความเสมอภาคของอำนาจซื้อ

ลักษณะสภาพพื้นที่บริเวณที่ปากแม่น้ำแยงซีเปิดออกสู่ทะเลจีนตะวันออกนั้น มีลักษณะเป็นร่องเหวลึก (incised valley) แสดงการเปลี่ยนแปลงของการลดลงของระดับความสูงในทันทีทันใด ซึ่งในยุคโฮโลซีนช่วงที่มีระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด เป็นช่วงที่มีตะกอนลงมาตกสะสมในบริเวณนี้ในปริมาณที่มาก จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเกิดดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี

วิวัฒนาการ

[แก้]
ภาพถ่ายทางอากาศดินดอนปากแม่น้ำแยงซี

การพัฒนาของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีนี้ ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงประมาณ 6000 – 7000 ปีที่แล้ว ในช่วงที่มีการเพิ่มขึ้นของระดับความสูงของน้ำทะเลใกล้เคียงกับระดับปัจจุบัน ในช่วง 5000 ปีที่ผ่านมาอัตราการพอกเพิ่มขึ้นของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในบริเวณส่วนหน้าสุดมีค่าประมาณ 50 กิโลเมตรต่อพันปี และมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันในช่วง 2000 ปีที่ผ่านมา คือประมาณ 38 – 80 กิโลเมตรต่อพันปี สาเหตุหลักที่เป็นไปได้ในการเพิ่มขึ้นของอัตราการพอกของตะกอนในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำนี้ น่าจะมาจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นหลัก เช่น การทำการเกษตรเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ที่แม่น้ำไหลผ่าน ทำให้หน้าดินโดนน้ำชะเอาตะกอนออกมาจากหน้าดินได้มากกว่าปกติ เป็นต้น แต่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาหลังจากจีนได้มีการสร้างเขื่อนซานเสียต้าป้าขึ้น โดยเริ่มก่อสร้างในปีพ.ศ. 2537 และเปิดใช้งานในปีพ.ศ. 2552 ซึ่งเขื่อนนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่มณฑลหูเป่ย[3] แม่น้ำแยงซีก็มีปริมาณตะกอนลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากตะกอนส่วนใหญ่ไม่สามารถโดนพัดพาผ่านเขื่อนมาได้ ส่งผลให้อัตราการพอกเพิ่มของตะกอนในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีลดลงอย่างรวดเร็วมาจนถึงขณะนี้[4]

กระบวนการตกสะสมของตะกอน

[แก้]

กระแสน้ำขึ้นน้ำลงมีผลมากในการตกสะสมของตะกอนในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแห่งนี้ ทำให้สามารถจัดเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำประเภทที่ได้รับอิทธิพลหลักจากกระแสน้ำขึ้นน้ำลง (Tide dominant) ซึ่งดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำชนิดนี้มีลักษณะเด่น คือ มีเกาะสันทรายกลางน้ำที่มีแนวยาวตั้งฉากกับแนวชายฝั่ง

การพัดพาเอาตะกอนมาตกสะสมในบริเวณนี้ มีผลมาจากทิศทางของกระแสน้ำชายฝั่งเป็นตัวควบคุมการตกและทิศทางการงอกของดินดอนสามเหลี่ยมปาแม่น้ำ โดยในฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแห่งนี้ได้รับปริมาณตะกอนจากแม่น้ำแยงซีมากที่สุด คือประมาณ 70% ของตะกอนทั้งหมดที่ได้รับในรอบหนึ่งปีนั้น จะเป็นช่วงที่มีมรสุมเกิดขึ้น ซึ่งมรสุมประจำฤดูนี้ส่งผลให้กระแสน้ำชายฝั่งมีทิศขนานชายฝั่งไปทางใต้ และเกิดกระแสแนวดิ่งที่มีทิศทางพุ่งลง (Downstream) ขึ้น ส่วนในฤดูร้อนจะมีมรสุมไต้หวัน ที่ส่งผลให้กระแสน้ำไหลขนานชายฝั่งไปในทางทิศเหนือ เกิดเป็นกระแสแนวดิ่งที่มีทิศพุ่งขึ้น ( Upstream) ขึ้น การไหลของทั้งสองกระแสนี้ทำให้ตะกอนที่ถูกพัดพามากับน้ำเคลื่อนที่อยู่ในบริเวณที่จำกัด ในช่วงใกล้ชายฝั่งเท่านั้น ทำให้เกิดการพอกของตะกอนขนานชายฝั่งออกไปเรื่อยๆและมีทิศทางการพัฒนาไปในทางทิศใต้ เพราะตะกอนส่วนใหญ่ที่ถูกพามาในฤดูฝนนั้นจะโดนกระแสพัดไปในทางทิศใต้ทั้งหมด ส่วนกระแสที่ไหลไปในทางทิศเหนือในฤดูร้อนนั้นจะไม่ค่อยส่งผลต่อการพัฒนาของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำนี้มากนัก เนื่องจากปริมาณตะกอนในฤดูร้อนมีน้อยและความแรงของกระแสที่ไหลไปในทางทิศเหนือก็ไม่มีความรุนแรง จึงเกิดการพอกของตะกอนไปในทางทิศเหนือเพียงเล็กน้อย ดังนั้นจึงสังเกตเห็นการพัฒนาของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแห่งนี้ในทางทิศใต้ โดยที่ชายฝั่งจะมีการงอกออกมาเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Yangtze (Yangzi, Changjiang) River Delta". China Today. สืบค้นเมื่อ 27 March 2013.
  2. http://data.stats.gov.cn/english
  3. เขื่อนใหญ่ที่สุดในโลกในประเทศจีน[ลิงก์เสีย]
  4. Three Gorges Dam เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  5. Sedimentary facies and Holocene progradation rates of the Changjiang (Yangtze) delta, China

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]