เยติ
เยติ หรือ มนุษย์หิมะ (อังกฤษ: Yeti, Abominable snowman; ธิเบต: གཡའ་དྲེད་; เนปาลี: हिममानव [2]himamānav, คำแปล "มนุษย์หิมะ") เป็นชื่อที่ใช้เรียกสัตว์ประหลาดชนิดหนึ่ง ในความเชื่อของชาวเชอร์ปา ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่แถบเทือกเขาหิมาลัย ในประเทศเนปาล, ภูฏาน, ธิเบต, จีน จนถึงบางพื้นที่ในมองโกเลียและรัสเซีย โดยเชื่อว่าเยติ เป็นสัตว์ขนาดใหญ่สูงตั้งแต่ 5–8 ฟุต น้ำหนักประมาณ 600 ปอนด์[3] ที่คล้ายมนุษย์ผสมกับลิงไม่มีหางคล้าย กอริลลา มีขนยาวสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลดำหรือสีเทาหรือเทาเข้มปกคลุมทั้งลำตัว ยกเว้นใบหน้าที่มีสีคล้ำ มีเสียงร้องที่น่าสะพรึงกลัว โดยปรกติแล้ว เยติเป็นสัตว์ที่มีนิสัยสงบเสงี่ยม แต่อาจดุร้ายโจมตีใส่มนุษย์และสัตว์เลี้ยง เช่น จามรี ได้ในบางครั้ง
เยติ ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมของชาวเชอร์ปามาอย่างช้านาน โดยถูกกล่าวถึงในนิทานและเพลงพื้นบ้าน และเรื่องเล่าขานต่อกันมาถึงผู้ที่เคยพบมัน นอกจากนี้แล้วยังปรากฏในศิลปะของพุทธศาสนานิกายมหายานแบบธิเบต โดยปรากฏเป็นภาพในพรมธิเบตที่แขวนไว้ที่ฝาผนังเหมือนจิตรกรรมฝาผนังในวัดลามะอายุกว่า 400 ปี เป็นภาพของสิ่งมีชีวิตประหลาดอย่างหนึ่งที่ขนดกอยู่ด้านมุมภาพและในมือถือกะโหลกมนุษย์อยู่[3] และปัจจุบันนี้ ก็มีสิ่งที่เชื่อว่าเป็นหนังหัวของเยติถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในวัดลามะแห่งหนึ่งในคุมจุง ซึ่งนับว่าเยติเป็นสัตว์ที่ถูกกล่าวอ้างถึงยาวนานกว่าสัตว์ประหลาดที่มีลักษณะคล้ายกันชนิดอื่นที่พบในอีกซีกโลก เช่น บิ๊กฟุต หรือ ซาสควาทช์ ในทวีปอเมริกาเหนือ, ยาวี ในทวีปออสเตรเลีย หรืออัลมาส์ ในเอเชียกลาง หากแต่หลักฐานเกี่ยวกับเยติเมื่อเทียบกับบิ๊กฟุตแล้วพบน้อยกว่ามาก แต่มีหลายกรณีที่บ่งชี้ว่าเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ก้าวร้าวกว่ามาก [3]
นอกจากคำว่าเยติแล้ว ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ ที่เรียกเยติ เช่น เธลม่า (Thelma), แปลว่า "ชายตัวเล็ก" เชื่อว่ามีนิสัยรักสงบ ชอบสะสมกิ่งไม้และชอบร้องเพลงขณะที่เดินไป, ดซูท์เทห์ (Dzuteh) เป็นเยติขนาดใหญ่ มีขนหยาบกร้านรุงรัง มีนิสัยดุร้ายชอบโจมตีใส่มนุษย์, มิห์เทห์ (Mith-teh) มีนิสัยคล้ายดซูท์เทห์ คือ ดุร้าย มีขนสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลดำ, เมียกา (Mirka) แปลว่า "คนป่า" เชื่อว่าหากมันพบเห็นสิ่งใดไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ มันจะทำร้ายจนถึงแก่ความตาย, คัง แอดมี (Kang Admi) แปลว่า "มนุษย์หิมะ" และ โจบราน (JoBran) แปลว่า "ตัวกินคน" ขณะที่ในภูฏานเรียกว่า มิกอย (Migoi) หรือ นากอย (Nagoi) ส่วนชื่อ มนุษย์หิมะ นั้น ปรากฎขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1921 เมื่อนักสำรวจชาวตะวันตกซึ่งเป็นผู้ที่ถ่ายภาพรอยเท้าของเยติไว้ได้เป็นภาพแรก เจอกับปัญหาการแปลภาษาเชอร์ปา ซึ่งมาจากคำว่า "ดซูท์เทห์" ที่แปลได้ว่า "มนุษย์ตัวเหม็นแห่งหิมะ" ซึ่งเขาได้เขียนลงในบันทึกในฐานที่พักว่า "มนุษย์ตัวเหม็นน่ารังเกียจแห่งหิมะ"[3]
ที่ภูฏาน ชาวพื้นเมืองต่างเชื่อว่าเยติมีจริง หลายคนเคยได้พบเจอตัวหรือได้ยินเสียงของเยติ โดยกล่าวว่าเยติเป็นสัตว์ดุร้าย ที่ฆ่ามนุษย์ได้ มีรูปร่างสูงใหญ่ มีพละกำลังมาก มีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมทั่วร่างรวมถึงมีใบหน้าคล้ายลิง มีเขี้ยวที่ยาวและแหลมคม เสียงร้องของเยติเป็นเสียงสูง เยติอาศัยอยู่ตามถ้ำหรือในป่าลึก ออกหากินในช่วงเวลาที่อากาศอบอุ่น ทำรังด้วยการใช้กิ่งไม้ขัดสานกันเหมือนเตียงนอน และเชื่อว่าหากผู้ใดต้องการพบเห็นตัวเยติต้องทำร่างกายให้สกปรก หากเนื้อตัวสะอาดก็จะไม่ได้พบเยติ[4] มีรายงานการพบเห็นเยติเป็นจำนวนมากทางตอนเหนือของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสากเต็ง ในเขตตราชิกัง[5][6] [3]
เรื่องราวของเยติที่โจมตีใส่มนุษย์นั้น ได้ถูกทำเป็นรายงานส่งไปยังเมืองกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล ซึ่งปากคำของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อถูกบันทึกโดยอาสาสมัครชาวอเมริกันที่ทำงานในเนปาล โดยผู้ถูกทำร้ายเป็น เด็กหญิงชาวเชอร์ปาคนหนึ่ง ในปี ค.ศ. 1974 โดยเธอบอกว่าขณะกำลังนำจามรีไปดื่มน้ำที่ลำธาร เธอรู้สึกว่าถูกอะไรบางอย่างจ้องมองอยู่ แล้วจู่ ๆ เยติตัวหนึ่งก็โผล่มาทำร้ายเธอ แต่เธอกรีดร้องลั่น จนมันปล่อยเธอ และเธอสลบไป มันหันไปทำร้ายจามรีของเธอจนถึงแก่ความตายทั้งหมด 5 ตัว ด้วยการบิดเขาและหักคอ และไรน์โฮลด์ เมสเนอร์ นักปีนเขาที่มีชื่อเสียงชาวอิตาลีเล่าว่า เยติสามารถฆ่าจามรีได้ด้วยชกด้วยกำปั้นเพียงครั้งเดียว ครั้งหนึ่งเขาเคยเห็นจามรีของชาวบ้านถูกฆ่าตายในธิเบต เขาตามรอยเท้าจามรีไป ก็พบเห็นมีรอยเท้าเยติติดตามไปด้วย รวมถึงในช่วงเวลากลางดึกระหว่างที่เขาปีนเขาอยู่คนเดียวในระดับความสูง 13,000 ฟุต เมื่อปี ค.ศ. 1986 เขารู้สึกว่าการกระทำแบบนี้อันตรายและเขาอยากจะหาที่พักหรือหมู่บ้าน แต่แล้วเขาก็เห็นร่างของสัตว์อะไรบางอย่างที่เหมือนมนุษย์ขนาดใหญ่ มีขนดก ยืนด้วยสองขา ห่างจากตัวเขาไปประมาณ 50 เมตร แต่เขาก็ไม่สามารถระบุตัวมันได้ชัดเจนเพราะเป็นเวลากลางดึก และนั่นทำให้เขาหวาดกลัวมากจนไม่กล้าที่จะหยุดพักและต้องเดินทางตลอดทั้งคืน และเขายังพบเห็นรอยเท้าอีกด้วยในเวลาต่อมา[4]
เรื่องราวเยติเป็นที่สนใจของชาวตะวันตก เมื่อชาวตะวันตกได้เข้ามาบุกเบิกและยึดครองดินแดนแถบนี้ ได้มีการตามล่าและค้นคว้าเกี่ยวกับเยติ ซึ่งก็ได้พบกับหลักฐานการมีอยู่ของเยติมากมาย ทั้ง รอยเท้า, ขนและมูล และแม้กระทั่งประจักษ์พยานที่เคยได้พบเห็น ซึ่งโดยมากเป็นนักปีนเขา ซึ่งหลักฐานส่วนใหญ่ได้ถูกบันทึกไว้เป็นรูปถ่าย โดยหลักฐานแรกของเยติที่ชาวตะวันตกได้รับรู้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1832 เมื่อ เอ.ที. ฮอดจ์สัน ชาวอังกฤษรายงานถึงสิ่งมีชีวิตตัวใหญ่ มีขนดก ยืนด้วยสองขา ปรากฏอยู่ และรูปถ่ายของรอยเท้าเยติรูปแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1921 โดยนักสำรวจชาวอังกฤษซึ่งเป็นนายทหารระดับนายพัน ถ่ายไว้ได้ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 5,029 เมตร และในปี ค.ศ. 1951 หลักฐานทางกายภาพของเยติชิ้นแรกก็ปรากฏขึ้นเมื่อ อีริก ชิปตัน และไมเคิล วาร์ด ถ่ายภาพร่องรอยที่เหมือนรอยเท้ากระโดดเป็นทางยาวบนพื้นหิมะที่เชิงเขา ผู้นำทางชาวเชอร์ปาบอกกับเขาว่า เป็นรอยเท้าของเยติ ซึ่งเป็นสัตว์ที่น่ากลัว และจากหลักฐานชิ้นนี้เป็นจุดเริ่มที่ทำให้การตามหาเยติว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ [3] แม้แต่เซอร์เอดมันด์ ฮิลลารี และเทนซิง นอร์เก บุคคลสองคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ได้ ก็อ้างว่าเคยได้พบร่องรอยและได้ยินเสียงร้องของเยติในปี ค.ศ. 1953 เป็นเสียงที่น่ากลัว และพ่อของนอร์เกเล่าว่า ตนเคยได้ยินเสียงร้องของเยติขณะที่เฝ้าฝูงจามรีในระดับความสูง 16,000 ฟุต และเคยพบกับเยติถึง 2 ครั้ง ขณะที่ตัวของนอร์เกเองไม่เคยพบกับเยติจริง ๆ สักครั้ง[7] แต่ขณะที่คณะสำรวจของฮิลลารีและนอร์เกอยู่ในระดับความสูง 18,000 ฟุต ก็ยังได้ยินเสียงร้องที่น่ากลัว มันทำให้ลูกหาบและผู้นำทางชาวเชอร์ปาหวาดกลัวมาก[3]
มีผู้ตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเยติไว้มากมาย เช่น เชื่อว่ามันอาจเป็นสัตว์ชนิดอื่นที่อาศัยอยู่แถบเทือกเขานี้ เช่น หมีสีน้ำเงินธิเบต และหมีสีน้ำตาลหิมาลัย ซึ่งเป็นหมีสีน้ำตาลชนิดที่หาได้ยากมาก ที่สามารถยืนด้วยสองขาหลังเหมือนมนุษย์ และสร้างรอยเท้าที่ดูเหมือนของเยติได้[8][9], เสือดาวหิมะ, อีกาปากแดง ที่มักจะทิ้งรอยเท้าไว้บนพื้นหิมะด้วยการกระโดด หรือแม้แต่เป็นชะนีขนาดใหญ่ แต่มีนักสัตววิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับรอยเท้าของเยติ กล่าวว่า รอยเท้าของเยติบ่งว่า เยติมีเท้าที่ไม่เหมือนกับหมีหรือสัตว์ชนิดอื่นใดเลย นอกจากสัตว์ในอันดับไพรเมทอันเป็นอันดับเดียวกับ มนุษย์ และลิงไม่มีหาง แต่มีสิ่งที่แปลกออกไปคือ นิ้วเท้านิ้วที่ 2 มีขนาดใหญ่ และมีกระดูกอุ้งเท้าที่สั้นผิดปกติ ดูคล้ายกับเท้าของลิงยุคก่อนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gigantopithecus จึงทำให้เชื่อได้ว่า เยติอาจเป็นลิงชนิดนี้ที่เคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้วก็เป็นได้ นอกจากนี้แล้วยังได้ข้อสรุปว่า เยติเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีโครงสร้างของร่างกายใหญ่และหนาทึบ และเดินด้วยสองขาหลังเหมือนมนุษย์ นอกจากนี้แล้ว เอียน เรดมอนด์ นักวานรวิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องลิงไม่มีหาง สันนิษฐานว่าเยติไม่น่าจะอาศัยอยู่ในที่ ๆ มีความสูงมาก แต่น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเนื่องจากเป็นสถานที่ ๆ มีพืชซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่เหมาะกับไพรเมทหรือลิงไม่มีหางขึ้นอยู่อย่างสมบูรณ์[3]
ในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 2011 นักวิทยาศาสตร์จากหลายชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, เอสโตเนีย, สวีเดน, จีน และมองโกเลีย ได้รวมตัวกันเพื่อประชุมและตามล่าเยติที่ภูมิภาคเคเมโรโว ในแคว้นไซบีเรีย ของประเทศรัสเซีย และสถานที่ใกล้เคียง เช่น เทือกเขาอัลไต เพราะมีรายงานการพบเห็นเยติในแถบนี้มากถึง 3 เท่าจากเมื่อ 20 ปีก่อน โดยพบรอยเท้าขนาด 35 เซนติเมตร หรือสิ่งก่อสร้างที่คล้ายกระท่อมอย่างง่าย ๆ จากกิ่งไม้ก็ถูกพบ ทำให้คาดว่ามีเยติในภูมิภาคนี้มากถึง 70–80 ตัว และนับเป็นการล่าเยติอย่างจริงจังที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 ที่สถาบันวิทยาศาสตร์ของสหภาพโซเวียต ลงทีมไปสำรวจในพื้นที่ทางตะวันตกของไซบีเรีย เพื่อตามจับเยติ[10]
นอกจากนี้แล้ว ยังมีชาวตะวันตกได้โพสต์ไว้ในเว็บไซต์หนึ่งว่า เคยมีพรานชาวไทยพบเจอกับเยติสูง 6 ฟุต เดินตัวตรง ขนยาวรุงรังที่อุทยานแห่งชาติแม่จริม จังหวัดน่าน ในพื้นที่ภาคเหนือของไทยด้วย[7]
ในปี ค.ศ. 2017 บริษัทสร้างภาพยนตร์อิสระ ไอคอนฟิล์ม ได้ให้เงินทุนและตัวอย่าง 9 ชิ้น ซึ่งเป็นของที่เชื่อว่าเป็นของเยติแก่ ดร.ชาร์ลอตต์ ลินต์ควิสต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิวัฒนาการของหมีแห่งมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล ในเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อสนับสนุนความเชื่อที่ว่าเยติมีจริง แต่ทว่าจากการตรวจสอบโดยการเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของหมีหลากหลายถิ่นที่อยู่ทั้งหมีในสวนสัตว์หลายแห่ง และหมีในธรรมชาติรวมทั้งหมด 15 ตัวอย่าง และตรวจสอบโดยมุ่งไปที่ไมโตคอนเดรียดีเอ็นเอพบว่า ตัวอย่างที่ได้มานั้น 8 ชิ้น ซึ่งเป็นขนและหนังหัวนั้นเป็นของหมีสีน้ำตาลหิมาลัย ซึ่งเป็นหมีสีน้ำตาลชนิดที่ยากมาก มีข้อมูลและคำบรรยายทางวิทยาศาสตร์ไม่มาก เนื่องจากเป็นหมีที่มีถิ่นที่อยู่ที่เข้าถึงได้ยาก และเป็นหมีที่มีวิวัฒนาการของตัวเองแยกออกจากหมีสีน้ำตาลทั่วไปที่พบในทวีปเอเชีย จึงทำให้มีลักษณะแตกต่างออกไปด้วย และอีกชิ้นหนึ่งนั้นเป็นกระดูกและเขี้ยวก็พบว่าเป็นของสุนัข[11]
จากชื่อเสียงและปริศนาของเยติ ส่งผลให้มันกลายเป็นสิ่งที่มีค่าในเชิงการค้า จนเสมือนเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศเนปาลและภูฏาน[4] รวมถึงเทือกเขาหิมาลัย เช่น สายการบินประจำชาติของเนปาลที่ชื่อ เยติแอร์ไลน์ และเป็นของโรงแรมชื่อ Yak and Yeti เป็นต้น (Yak หมายถึง จามรี)
นอกจากนี้แล้วยังปรากฏในวัฒนธรรมร่วมสมัยหลายอย่าง เช่น เป็นตัวละครในเกมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เช่น Diablo II, World of Warcraft และเป็นตัวละครตัวหนึ่งในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง The Mummy: Tomb of the Dragon Emperor ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 2008 เป็นต้น
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ "บันทึกการเดินเท้า ๑๔ วันในหุบเขาโซลู-คุมบู ...บนเส้นทางสู่เอเวอเรสต์". สารคดี.
- ↑ "เยติ". creatures.igetweb.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 ChannelHub (September 1, 2016). "Destination Truth S03E09 The Bhutan Yeti". Destination Truth.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 "สารคดี ค้นหาสัตว์ประหลาด ตอน สารคดี ค้นหาสัตว์ประหลาด ตอน l มนุษย์หิมะ เยติ Monsterquest - Yeti". แอนนิมอล Documentary. 2016-10-25. สืบค้นเมื่อ 2016-11-16.
- ↑ Johnsingh, A. J. T. (2006). Field days: a naturalist's journey through South and Southeast Asia. Universities Press. p. 283. ISBN 978-81-7371-552-5.
- ↑ "Sakteng Wildlife Sanctuary". Himalaya 2000 online. Bhutan Travel Guide. สืบค้นเมื่อ 2011-04-02.
- ↑ 7.0 7.1 ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์. อยากชวนเธอไปอำผี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560. 232 หน้า. หน้า 212-213. ISBN 978-974-02-1572-1
- ↑ The Japan Times, 18 September 2003.
- ↑ "BBC News — Yeti's 'non-existence' hard to bear". บีบีซี.
- ↑ "ทีมสำรวจนานาชาติรวมตัว ล่า 'เยติ' หมีขาว-มะกันเอาด้วย". ไทยรัฐ.
- ↑ หน้า 14 ประชาชื่น-วิทยาการ-ไอที, วิเคราะห์หลักฐาน 'เยติ' ที่แท้เป็น 'หมีสีน้ำตาล' . มติชนปีที่ 40 ฉบับที่ 14514: วันพุธที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560
- อ้างอิงทั่วไป
- John Napier (MRCS, IRCS, DSC) Bigfoot: The Yeti and Sasquatch in Myth and Reality 1972 ISBN 0-525-06658-6.
- Sir Francis Younghusband The Epic of Mount Everest, 1926, Edward Arnold & Co. The expedition that inadvertently coined the term "Abominable Snowman"
- Charles Howard-Bury, Mount Everest The Reconnaissance, 1921, Edward Arnold, ISBN 1-135-39935-2.
- Bill Tilman (H. W. Tilman), Mount Everest 1938, Appendix B, pp. 127–137, Pilgrim Publishing. ISBN 81-7769-175-9.
- John Angelo Jackson, More than Mountains, Chapter 10 (pp 92) & 11, Prelude to the Snowman Expedition & The Snowman Expedition, George Harrap & Co, 1954
- Ralph Izzard, The Abominable Snowman Adventure, this is the detailed account by the Daily Mail correspondent on the 1954 expedition to find the "Snowman", Hodder and Staoughton, 1955.
- Charles Stonor, The Sherpa and the Snowman, recounts the 1955 Daily Mail "Abominable Snowman Expedition" by the scientific officer of the expedition, this is a very detailed analysis of not just the "Snowman" but the flora and fauna of the Himalaya and its people. Hollis and Carter, 1955.
- John Angelo Jackson, Adventure Travels in the Himalaya เก็บถาวร 2009-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Chapter 17, Everest and the Elusive Snowman, 1954 updated material, Indus Publishing Company, 2005, ISBN 81-7387-175-2.
- Bernard Heuvelmans, On the Track of Unknown Animals, Hill and Wang, 1958
- Reinhold Messner, My Quest for the Yeti: Confronting the Himalayas' Deepest Mystery, New York: St. Martin's Press, 2000, ISBN 0-312-20394-2
- Gardner Soule, Trail of the Abominable Snowman, New York: G.P. Putnam's Sons, 1966, ISBN 0-399-6064
- Daniel Taylor-Ide, Something Hidden Behind the Ranges: A Himalayan Quest, San Francisco (Calif.) : Mercury house, 1999
- Ann E. Bodie, The Exploding Cow Story: Concerning the History of the Yeti Throughout the Ages, New York: St.Martin's Press,1986
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Yeti Airlines สายการบินเยติแอร์ไลน์ เก็บถาวร 2008-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Yak and Yeti history ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเยติ เก็บถาวร 2007-08-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน