จามรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จามรี
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 5–0Ma
สมัยไพลโอซีนตอนต้น–ปัจจุบัน
จามรีป่า
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
วงศ์: Bovidae
วงศ์ย่อย: Bovinae
สกุล: Bos
สปีชีส์: B.  grunniens
ชื่อทวินาม
Bos grunniens
Linnaeus, 1766
ชนิดย่อย[2]
  • B. g. grunniens Linnaeus, 1766
  • B. g. mutus Przewalski, 1883

จามรี (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bos grunniens) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์วัวและควาย (Bovidae)

ลักษณะและพฤติกรรม[แก้]

จามรีมีจุดเด่นคือ มีขนที่ยาวมากและละเอียดอ่อน สีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ หรือสีขาว เฉพาะบริเวณสวาบจะมีสีดำห้อยยาวลงมาเกือบถึงพื้น ช่วงเขากว้างมาก หางยาวเป็นพู่ พบกระจายพันธุ์ในเขตเทือกเขาหิมาลัยทางตอนใต้ของเอเชียกลาง, ในที่ราบสูงทิเบต และเหนือไปจนถึงมองโกเลียและรัสเซีย ซึ่งเป็นเขตที่มีอากาศหนาวเย็น[3] จามรีที่มีอยู่โดยมากเป็นสัตว์เลี้ยง แต่ก็มีจามรีป่าจำนวนหนึ่งที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันจัดเป็นชนิดย่อยต่างหากเรียกว่า Bos mutus[4]

จามรี เป็นสัตว์ที่มนุษย์ผูกพันมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยเฉพาะชนพื้นเมือง เช่น ชาวทิเบต, ชาวภูฏาน, ชาวเชอร์ปา เป็นต้น ด้วยการเลี้ยงในฐานะปศุสัตว์ มีการบริโภคเนื้อและนมของจามรีเป็นอาหาร อีกทั้งขนของจามรีก็ใช้เป็นเครื่องนุ่มห่ม และเป็นสัตว์พาหนะ ซึ่งจามรีสามารถที่จะบรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักและเป็นพาหนะในการเดินขึ้นเขาหรือที่ราบสูงได้เป็นอย่างดี จามรีเป็นสัตว์ค่อนข้างเชื่อง แต่มักจะตื่นกลัวคนแปลกหน้า[5]

จามรีในธรรมชาติ เมื่อพบกับศัตรูหรือผู้คุกคามจะหันบั้นท้ายมาชนกัน จะตีวงล้อมลูกอ่อนหรือจามรีวัยอ่อนให้อยู่ตรงกลาง เพื่อป้องกัน[6]

การจัดอนุกรมวิธาน[แก้]

จามรีอยู่ในสกุล Bos และดังนั้นจึงเป็นญาติของวัว (Bos primigenius taurus, Bos primigenius indicus) การวิเคราะห์ดีเอ็นเอของไมโทคอนเดรียน เพื่อสืบประวัติวิวัฒนาการของจามรี ให้ผลที่ไม่ชัดเจน คืออาจจะแยกสายพันธุ์ออกจากวัวระหว่าง 1-5 ล้านปีก่อน แต่ก็มีหลักฐานบางอย่างที่อาจแสดงว่า เป็นญาติใกล้ชิดกับสกุล Bison มากกว่าสัตว์ที่จัดเป็นสกุลเดียวกัน[7] มีการพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์พันธุ์ญาติ เช่น Bos baikalensis ในรัสเซียตะวันออก ซึ่งอาจแสดงเส้นทางที่เป็นไปได้ว่า บรรพบุรุษคล้ายจามรีของกระทิงอเมริกัน (Bison bison) ได้อพยพเข้าไปสู่ทวีปอเมริกาได้อย่างไร[8]

จามรีดั้งเดิมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bos grunniens (แปลว่า โคคำราม) โดยลินเนียส ในปี ค.ศ. 1766 แต่ชื่อนี้ ปัจจุบันใช้เรียกสัตว์เลี้ยงเท่านั้น แต่ใช้ชื่อว่า Bos mutus (แปลว่า โคเงียบ) สำหรับพันธุ์ป่า แม้ว่า นักวิชาการบางท่านจะยังพิจารณาจามรีป่าว่าเป็นชนิดย่อย คือ Bos grunniens mutus แต่องค์กรมาตรฐานสากล (International Commission on Zoological Nomenclature) ได้ตัดสินอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2003[9] ให้ใช้ชื่อ Bos mutus สำหรับจามรีป่า ซึ่งปัจจุบันเป็นแบบการใช้ชื่อที่สามัญกว่า[1][8][10]

ยกเว้นในกรณีที่นับจามรีป่าว่าเป็นชนิดย่อย จามรีถือว่าไม่มีชนิดย่อยอื่น ๆ

ในวัฒนธรรม[แก้]

ในพุทธศาสนา[แก้]

จามรีเลี้ยงในประเทศเนปาล ให้สังเกตหางซึ่งเหมือนของม้า มากกว่าเป็นพุ่ม ๆ เหมือนของวัว

คัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎกและอรรถกถาของพระพุทธศาสนา กล่าวถึงจามรีในหลายเรื่องรวมทั้ง

พระพุทธเจ้าทรงห้ามใช้แส้จามรีสำหรับพระภิกษุ โดยมีต้นเรื่องว่า

แส้จามรีบังเกิดแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้แส้จามรี รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตพัด 3 ชนิด คือ พัดทำด้วยปอ 1 พัดทำด้วยแฝก 1 พัดทำด้วยขนปีกขนหางนกยูง 1."

— พระวินัยปิฎก จุลวรรค ขุททกวัตถุขันธกะ เรื่องพัด[11]

มีการกล่าวให้บุคคลตามรักษาศีล เหมือนกับจามรีตามรักษาขนหางของตน คือ

นกต้อยตีวิดรักษาฟองไข่ฉันใด จามรีรักษาขนหางฉันใด ผู้มีบุตรคนเดียวรักษาบุตรผู้เป็นที่รักฉันใด ผู้มีนัยน์ตาข้างเดียว รักษานัยน์ตาที่ยังเหลืออีกข้างฉันใด ท่านทั้งหลายจงตามรักษาศีลเหมือนฉันนั้นทีเดียว จงเป็นผู้มีศีลเป็นที่รักด้วยดี มีความเคารพ ทุกเมื่อเถิด ดังนี้

— สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ศีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร[12]

มีการกล่าวถึงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตามรักษาท่านพระราหุลและพระภิกษุอื่น เหมือนกับจามรีตามรักษาขนหางของตน คือ

พระตถาคตผู้มีพระปัญญาเฉลียวฉลาด ทรงสมบูรณ์ด้วยศีล ทรงรักษาเราเหมือนนกต้อยตีวิดรักษาพืชพันธุ์ เหมือน เนื้อจามรีรักษาขนหางสูงสุดฉะนั้น

— ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อัมพลัฏฐิกราหุโลวาทสูตร[13]

พระมหาโมคคัลลานะกล่าวอุปมาการแทงตลอดขันธ์ 5 ว่า เป็นเหมือนนายขมังธนูยิงขนทรายจามรีถูกด้วยลูกศร

ชนเหล่าใดพิจารณาเห็นเบญจขันธ์ โดยความเป็นของแปรปรวน และโดยไม่ใช่ตัวตน ชนเหล่านั้นชื่อว่า แทงตลอดธรรมอันละเอียด เหมือนนายขมังธนูยิงขนทรายจามรีถูกด้วยลูกศรฉะนั้น

— พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา มหาโมคคัลลานเถรคาถา[14]

ในวัฒนธรรมไทย[แก้]

ในวัฒนธรรมไทย ขนหางจามรีสีขาวใช้ทำเป็นพัดกับแส้ที่เรียกว่า "วาลวีชนี" เป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์[15] อันเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

นอกจากนี้แล้ว จามรียังมีอีกชื่อเรียกหนึ่งในภาษาไทยแต่โบราณว่า "ชุมพา"[16]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Harris, R.B.; Leslie, D. (2008). "Bos mutus". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2014.2. สืบค้นเมื่อ 2014-09-04.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. "Bos grunniens". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  3. จามรี จากสนุกดอตคอม
  4. Grubb, P. (2005). "Order Artiodactyla". ใน Wilson, D. E.; Reeder, D. M (บ.ก.). Mammal Species of the World (3rd ed.). Johns Hopkins University Press. p. 691. ISBN 978-0-8018-8221-0.
  5. กบนอกกะลา, รายการ กว่าจะเป็นเสื้อผ้าชาวภูฏาน ทางช่อง 9: วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555
  6. หน้า 62, สัตว์สวยป่างาม ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (สิงหาคม 2518)
  7. Guo, S.; และคณะ (2006). "Taxonomic placement and origin of yaks: implications from analyses of mtDNA D-loop fragment sequences". Acta Theriologica Sinica. 26 (4): 325–330.
  8. 8.0 8.1 Leslie, D.M.; Schaller, G.B. (2009). "Bos grunniens and Bos mutus (Artiodactyla: Bovidae)". Mammalian Species. 836: 1–17. doi:10.1644/836.1.
  9. International Commission on Zoological Nomenclature (2003). "Opinion 2027. Usage of 17 specific names based on wild species which are predated by or contemporary with those based on domestic animals (Lepidoptera, Osteichthyes, Mammalia): conserved". Bulletin of Zoological Nomenclature. 60: 81–84.
  10. doi:10.1016/j.jas.2003.10.006
    This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand<-- Gentry, A.; Clutton-Brock, J.; Groves, C. P. (2004). "The naming of wild animal species and their domestic derivatives". Journal of Archaeological Science 31 (5): 645. -->
  11. 11.0 11.1 "พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ 9 พระวินัยปิฎก เล่ม 7 จุลวรรค ทุติยภาค", E-Tipitaka 2.1.2 (2010), vol. 9, p. 49 (พระบาลี)
  12. 12.0 12.1 "พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ 11 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร", E-Tipitaka 2.1.2 (2010), vol. 11, p. 166 (อรรถกถา)
  13. 13.0 13.1 "พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อัมพลัฏฐิกราหุโลวาทสูตร", E-Tipitaka 2.1.2 (2010), vol. 20, p. 274 (อรรถกถา)
  14. 14.0 14.1 "พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ 53 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่มที่ 2 ภาคที่ 3 มหาโมคคัลลานเถรคาถา", E-Tipitaka 2.1.2 (2010), vol. 53, p. 434 (พระบาลี)
  15. "วาลวีชนี", พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒, [วาละวีชะนี] น. พัดกับแส้ขนจามรีถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์อย่างหนึ่งในเบญจราชกกุธภัณฑ์, วาลวิชนี ก็ว่า. (ป., ส.).
  16. "ชุมพา". สนุกดอตคอม.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Bos grunniens ที่วิกิสปีชีส์