อัลมัฆริบ

พิกัด: 30°N 5°E / 30°N 5°E / 30; 5
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

30°N 5°E / 30°N 5°E / 30; 5

อัลมัฆริบ
ประเทศและดินแดน
องค์กรสันนิบาตอาหรับ, สหภาพอาหรับอัลมัฆริบ, ตลาดร่วมแอฟริกาตะวันออกและใต้, ประชาคมรัฐซาเฮล–สะฮารา, สหภาพเพื่อทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ประชากร105,095,436 (2021*)[1]
ความหนาแน่น16.72/km2
พื้นที่6,045,741 km2 (2,334,274 sq mi)
จีดีพีตามภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ1.299 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (2020)
จีดีพีตามภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อต่อหัว12,628 ดอลลาร์ (2020)
จีดีพีตามตัวเลข382.780 พันล้านดอลลาร์ (2020)
จีดีพีตามตัวเลขต่อหัว3,720 ดอลลาร์ (2020)
ภาษา
ศาสนาอิสลาม, คริสต์ และยูดาห์
เมืองหลวงตริโปลี (ลิเบีย)
ตูนิส (ตูนิเซีย)
นูอากชอต (มอริเตเนีย)
ราบัต (โมร็อกโก)
แอลเจียร์ (แอลจีเรีย)
ตีฟารีตี (สาธารณรัฐประชาธิปไตยอาหรับซาห์ราวี)
สกุลเงิน

อัลมัฆริบ (อาหรับ: المغرب; "ตะวันตก") ซึ่งยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ แอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ,[2] อัลมัฆริบุลกะบีร (المغرب الكبير) และในอดีตว่า "ชายฝั่งบาร์บารี"[3][4] คือส่วนตะวันตกของแอฟริกาเหนือ ภูมิภาคนี้ประกอบด้วยประเทศแอลจีเรีย ลิเบีย มอริเตเนีย (ซึ่งยังถือเป็นส่วนหนึ่งของแอฟริกาตะวันตกด้วย) โมร็อกโก และตูนิเซีย นอกจากนี้ ภูมิภาคอัลมัฆริบยังครอบคลุมถึงดินแดนเวสเทิร์นสะฮาราซึ่งเป็นกรณีพิพาท (โมร็อกโกควบคุมส่วนใหญ่และสาธารณรัฐประชาธิปไตยอาหรับซาห์ราวีควบคุมบางส่วน) และเมืองเซวตาและเมลียา (สเปนควบคุมทั้งสองเมือง) ณ ค.ศ. 2018 ภูมิภาคนี้มีประชากรมากกว่า 100 ล้านคน

ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึง 19 แหล่งข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษมักเรียกภูมิภาคนี้ว่า ชายฝั่งบาร์บารี หรือ รัฐบาร์บารี ซึ่งเป็นศัพท์ที่แผลงมาจากคำว่าชนเบอร์เบอร์[5][6] บางครั้งก็เรียกว่า ดินแดนแอตลาส ซึ่งสื่อถึงเทือกเขาแอตลาสที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค[7] ในภาษากลุ่มเบอร์เบอร์ ศัพท์ "ตามัซฆา" ใช้สื่อถึงภูมิภาคอัลมัฆริบร่วมกับส่วนน้อยของประเทศมาลี ไนเจอร์ อียิปต์ และกานาเรียสของสเปนซึ่งแต่เดิมเป็นถิ่นที่อยู่ของชนเบอร์เบอร์

โดยทั่วไปอัลมัฆริบได้รับการนิยามว่ามีพื้นที่ครอบคลุมส่วนใหญ่ของแอฟริกาเหนือ ซึ่งรวมพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลทรายสะฮารา แต่ไม่รวมอียิปต์และซูดานซึ่งได้รับการจัดให้อยู่ในภูมิภาคอัลมัชริก (ส่วนตะวันออกของโลกอาหรับ) การนิยามพื้นที่อัลมัฆริบแบบดั้งเดิม (ซึ่งจำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะเทือกเขาแอตลาสและที่ราบชายฝั่งของโมร็อกโก แอลจีเรีย ตูนิเซีย และลิเบีย) ได้ขยายขอบเขตรวมถึงมอริเตเนียและดินแดนพิพาทเวสเทิร์นสะฮาราในสมัยใหม่ ในสมัยอัลอันดะลุสในคาบสมุทรไอบีเรีย (ค.ศ. 711–1492) ชาวอัลมัฆริบ (ชาวเบอร์เบอร์มุสลิมหรือชาวอาหรับอัลมัฆริบ) เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวยุโรปในชื่อว่า "ชาวมัวร์"[8]

ก่อนการก่อตั้งรัฐชาติสมัยใหม่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ศัพท์ "อัลมัฆริบ" มักใช้เรียกพื้นที่ขนาดเล็กระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับเทือกเขาแอตลาสทางทิศใต้ นอกจากนี้ยังรวมถึงดินแดนภาคตะวันออกของลิเบีย แต่ไม่รวมมอริเตเนียสมัยใหม่ ส่วนศัพท์ "อัลมัฆริบ" ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จะใช้กับภูมิภาคชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตกของแอฟริกาเหนือโดยทั่วไป และกับแอลจีเรีย โมร็อกโก และตูนิเซียโดยเฉพาะ[9]

แอลจีเรีย ลิเบีย มอริเตเนีย และตูนิเซียได้ก่อตั้งสหภาพอาหรับอัลมัฆริบใน ค.ศ. 1989 เพื่อสนับสนุนความร่วมมือและบูรณาการทางเศรษฐกิจในรูปแบบตลาดร่วม สหภาพได้รวมเวสเทิร์นสะฮาราอยู่ภายใต้สมาชิกภาพของโมร็อกโกไปโดยปริยาย[10] อย่างไรก็ตาม สหภาพนี้ไม่มีความเคลื่อนไหวในปัจจุบัน

ความตึงเครียดระหว่างแอลจีเรียกับโมร็อกโกเหนือเวสเทิร์นสะฮาราตะวันตกได้เกิดขึ้นใหม่ โดยหนุนด้วยข้อพิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างทั้งสองประเทศซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข ความขัดแย้งหลักทั้งสองกรณีเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือของสหภาพและทำให้ทั้งสหภาพล้มเหลวไปทั้งหมด[11] ความไร้เสถียรภาพในภูมิภาคกับการคุกคามความมั่นคงบริเวณชายแดนทำให้มีการเรียกร้องความร่วมมือระดับภูมิภาคอีกครั้ง ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2015 บรรดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหภาพอาหรับอัลมัฆริบได้ประกาศความจำเป็นในการประสานนโยบายความมั่นคงในการประชุมคณะกรรมการติดตามครั้งที่ 33 ทำให้เกิดความหวังในการร่วมมือกันอีกครั้ง[12]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "COUNTRY COMPARISON :: POPULATION". The World Factbook (ภาษาอังกฤษ). Central Intelligence Agency. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-27. สืบค้นเมื่อ 2018-08-06.
  2. English for Students: Northwest Africa english-for-students.com
  3. History and Present Condition of the Barbary States, Michael Russell, 1837, New York.
  4. Travels in England, France, Spain, and the Barbary States, Mordecai Manuel Noah, 1819, London.
  5. "Barbary Wars, 1801–1805 and 1815–1816". สืบค้นเมื่อ 2014-06-04.
  6. "Antique Maps of North Africa". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 11, 2008. สืบค้นเมื่อ 2014-06-04.
  7. Amin, Samir (1970). The Maghreb in the modern world: Algeria, Tunisia, Morocco. Penguin. p. 10. สืบค้นเมื่อ 27 August 2017.
  8. "The Moors were simply Maghrebis, inhabitants of the Maghreb, the western part of the Islamic world, that extends from Spain to Tunisia, and represents a homogeneous cultural entity", Titus Burckhardt, Moorish Culture in Spain. Suhail Academy. 1997, p.7
  9. Elisée Reclus, Africa, edited by A. H. Keane, B. A., Vol. II, North-West Africa, Appleton and company, 1880, New York, p.95
  10. "L'Union du Maghreb arabe". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-20. สืบค้นเมื่อ 2010-05-17.
  11. "Maghreb". The Columbia Encyclopedia, Sixth Edition. 2001–05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2007-07-11.
  12. "Maghreb Countries Urged to Devise Common Security Strategy, Integration Project Remains Deadlocked", North Africa Post (2015)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]