หม้อข้าวหม้อแกงลิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บทความนี้เป็นบทความสำหรับชื่อวงศ์ และสกุล

หม้อข้าวหม้อแกงลิง
หม้อบนของ Nepenthes edwardsiana
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: พืช (Plantae)
หมวด: พืชดอก (Magnoliophyta)
ชั้น: พืชใบเลี้ยงคู่ (Magnoliopsida)
อันดับ: Caryophyllales
วงศ์: Nepenthaceae
Dumort. (1829)
สกุล: Nepenthes
L. (1753)
สปีชี่ส์

รายชื่อชนิดของหม้อข้าวหม้อแกงลิง

แผนที่หม้อข้าวหม้อแกงลิงทั่วโลก
ชื่อพ้อง
  • Anurosperma Hallier (1921)
  • Bandura Adans. (1763)
  • Phyllamphora Lour. (1790)

หม้อข้าวหม้อแกงลิง (อังกฤษ: nepenthes "เนเพนธีส"; ชื่อสามัญ: tropical pitcher plants หรือ monkey cups) เป็นสกุลของพืชกินสัตว์ ที่มีมากกว่า 160 ชนิด และลูกผสมอีกจำนวนมาก พบกระจายพันธุ์ในเขตร้อนชื้น ตั้งแต่ตอนใต้ของจีน, อินโดนีเซีย, มาเลเซียและฟิลิปปินส์; ทางตะวันตกของมาดากัสการ์ (2 ชนิด) และเซเชลส์ (1 ชนิด) ; ตอนใต้ของออสเตรเลีย (3 ชนิด) และนิวแคลิโดเนีย (1 ชนิด) ; ตอนเหนือของอินเดีย (1 ชนิด) และศรีลังกา (1 ชนิด) พบมากที่บอร์เนียว และ สุมาตรา มักพบขึ้นตามที่ลุ่ม แต่ในระยะหลังหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดใหม่ ๆ มักพบตามภูเขาซึ่งมีอากาศร้อนตอนกลางวันและหนาวเย็นตอนกลางคืน ส่วนชื่อหม้อข้าวหม้อแกงลิง มาจากข้อเท็จจริงที่ว่าลิงมาดื่มน้ำฝนจากหม้อของพืชชนิดนี้

รูปร่างลักษณะและหน้าที่[แก้]

หม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นไม้เลื้อย มีระบบรากที่ตื้นและสั้น สามารถสูงได้หลายเมตร ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตรหรืออาจหนากว่านั้นในบางชนิด เช่น N. bicalcarata เป็นต้น จากลำต้นไปยังก้านใบที่มีลักษณะใบคล้ายกับสกุลส้ม ยาวไปจนสุดเป็นสายดิ่งซึ่งบางสายพันธุ์ใช้เป็นมือจับยึดเกี่ยว แล้วจบลงที่หม้อซึ่งเป็นใบแท้แปรสภาพมา หม้อเริ่มแรกจะมีขนาดเล็กและค่อยๆ โตขึ้นอย่างช้าๆ จนเป็นกับดักทรงกลมหรือรูปหลอด

ส่วนประกอบพื้นฐานของหม้อบน

ภายในหม้อจะบรรจุไปด้วยของเหลวที่พืชสร้างขึ้น อาจมีลักษณะเป็นน้ำหรือน้ำเชื่อม ใช้สำหรับให้เหยื่อจมน้ำตาย จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าในหม้อข้าวหม้อแกงลิงหลายชนิด ของเหลวจะบรรจุไปด้วยสารเหนียวที่ถูกผสมขึ้นเป็นสำคัญ เพื่อใช้ย่อยแมลงที่ตกลงไปในหม้อ ความสามารถของของเหลวที่ใช้ดักจะลดลง เมื่อถูกทำให้เจือจางโดยน้ำซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสภาพแวดล้อมที่เปียกชื้นซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของพืชสกุลนี้[1]

ส่วนล่างของหม้อจะมีต่อมสำหรับดูดซึมสารอาหารจากเหยื่อที่จับได้ ส่วนบริเวณด้านบนจะมีผิวลื่นเป็นมันใช้เพื่อป้องกันเหยื่อหนีรอดไปได้ ทางเข้าของกับดักเป็นส่วนประกอบที่เรียกว่าเพอริสโตม จะลื่นและเต็มไปด้วยสีสันเพื่อดึงดูดเหยื่อเข้ามาและเสียหลักลื่นพลัดหล่นลงไปในหม้อ ส่วนฝาหม้อใช้ป้องกันไม่ให้น้ำฝนตกลงไปผสมกับของเหลวในหม้อ และด้านข้างจะมีต่อมน้ำต้อยไว้ดึงดูดเหยื่ออีกทางหนึ่งด้วย

โดยปกติหม้อข้าวหม้อแกงลิงจะสร้างหม้อขึ้นมา 2 ชนิด คือหม้อล่าง เป็นหม้อที่อยู่แถวๆโคนต้นมีขนาดใหญ่ สีสันสวยงาม อีกชนิดคือหม้อบนที่มีขนาดเล็ก ก้านหม้อจะลีบแหลม รูปทรงของหม้อจะเปลี่ยนไป และสีสันจืดชืดกว่า หน้าที่ที่แตกต่างกันของหม้อทั้งสองชนิดคือ หม้อล่างทำหน้าที่ล่อเหยื่อและดูดซึมสารอาหารเพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโต ส่วนหม้อบน เมื่อต้นโตขึ้น สูงขึ้น หม้อบนจะลดบทบาทการหาเหยื่อ แต่เพิ่มบทบาทการจับยึด โดยก้านใบจะม้วนเป็นวง เกาะเกี่ยวกิ่งไม้ข้างๆ ดึงเถาหม้อข้าวหม้อแกงลิงให้สูงขึ้นและมั่นคงขึ้น ไม่โค่นล้มโดยง่าย แต่ในบางชนิดเช่น N. rafflesiana เป็นต้น หม้อที่ต่างชนิดกัน ก็จะดึงดูดเหยื่อที่ต่างชนิดกันด้วย

เหยื่อของหม้อข้าวหม้อแกงลิงโดยปกติแล้วจะเป็นแมลง แต่บางชนิดที่มีหม้อขนาดใหญ่ (N. rajah, N. rafflesiana เป็นต้น) ในบางครั้งเหยื่ออาจจะเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก เช่น หนู และสัตว์เลื้อยคลาน[2][3] ดอกของหม้อข้าวหม้อแกงลิงนั้น ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง จะแยกเพศกันอย่างชัดเจน แบบหนึ่งต้นหนึ่งเพศ ฝักเป็นแบบแคปซูล 4 กลีบและแตกเมื่อแก่ ภายในประกอบไปด้วยเมล็ด 10 ถึง 60 เมล็ดหรือมากกว่านั้น เมล็ดแพร่กระจายโดยลม

รูปแบบของกับดัก[แก้]

รูปแบบทั้งหมดของกับดักในพืชกินสัตว์ดูที่พืชกินสัตว์

พืชในสกุลหม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นพืชกินสัตว์ที่มีกับดักแบบหลุมพราง (Pitfall traps, pitcher) เหมือนกับพืชในสกุล Sarracenia, Darlingtonia, Heliamphora และ Cephalotus และการวิวัฒนาการของกับดักสันนิษฐานว่าการจากการคัดเลือกภายใต้แรงกดดันในระยะเวลายาวนาน เช่น มีสารอาหารในดินน้อย เป็นต้น ทำให้เกิดการสร้างใบรูปหม้อขึ้น และอาจเกิดจากแมลงซึ่งเป็นเหยื่อของมัน มีพฤติกรรม, บิน, คลาน และไต่ ทำให้เกิดการพัฒนาจากโพรงช่องว่างที่เกิดจากใบประกบกันกลายหม้อซึ่งเป็นกับดักแบบหลุมพราง

หม้อข้าวหม้อแกงลิงนั้นถูกจัดให้มีบรรพบุรุษร่วมกับพืชที่มีกับดักแบบกระดาษเหนียว ซึ่งแสดงว่าหม้อข้าวหม้อแกงลิงบางชนิดอาจมีการพัฒนามาจากกับดักแบบกระดาษเหนียวที่สูญเสียเมือกเหนียวไป

กับดักเกิดขึ้นที่ปลายสายดิ่งหรือมือจับพัฒนามาจากการยืดออกของเส้นกลางใบ โดยมากเป็นรูปทรงกลมหรือรูปหลอด เป็นกระเปาะ มีของเหลวอยู่ภายในมีลักษณะเป็นน้ำหรือน้ำเชื่อม ปากหม้อที่เป็นทางเข้าของกับดักอยู่ด้านบนของหม้อ เป็นส่วนประกอบที่เรียกว่าเพอริสโตม ซึ่งมีลักษณะลื่น ฉาบไปด้วยขี้ผึ้งและเต็มไปด้วยสีสันเพื่อดึงดูดเหยื่อเข้ามาและเสียหลักลื่นพลัดหล่นลงไปในหม้อ ส่วนล่างของหม้อจะมีต่อมสำหรับดูดซึมสารอาหารจากเหยื่อที่จับได้ ส่วนบริเวณด้านบนจะมีผิวลื่นเป็นมันใช้เพื่อป้องกันเหยื่อหนีรอดไปได้ มีฝาปิดอยู่ที่ด้านบนของกับดักป้องกันไม่ให้น้ำฝนตกลงไปในหม้อ ใต้ฝามีต่อมน้ำต้อยไว้เพื่อดึงดูดเหยื่ออีกทางหนึ่ง

ประวัติทางพฤกษศาสตร์[แก้]

ภาพวาดของพลูคีเน็ต รูป N. distillatoria จาก
Almagestum Botanicum (สารานุกรมพฤกษศาสตร์ ) ปี ค.ศ. 1696

ก่อนที่ชื่อ นีเพนเธส จะถูกบันทึก ย้อนกลับไปในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในปี ค.ศ. 1658 ข้าหลวงชาวฝรั่งเศสที่ชื่อเบเตียน เดอ ฟรากูร์ (ฝรั่งเศส: Étienne de Flacourt) ได้พรรณนาเกี่ยวกับลักษณะของพืชชนิดนี้ในงานสัมมนา Histoire de la Grande Isle de Madagascar (ประวัติของเกาะมาดากัสการ์) ดังนี้:[4]

พืชชนิดนี้สูง 3 ฟุต ใบยาว 7 นิ้ว มีดอกและผลคล้ายแจกันขนาดเล็กที่มีฝาปิดเป็นภาพที่น่าประหลาดใจมาก มีสีแดงหนึ่งสีเหลืองหนึ่ง สีเหลืองมีขนาดใหญ่ที่สุด คนพื้นเมืองในประเทศนี้คัดค้านที่จะเด็ดดอกของมัน เพราะมีความเชื่อที่ว่าถ้าใครเด็ดมันแล้ว ฝนจะตกในวันนั้น ในเรื่องนั้น ฉันและชาวฝรั่งเศสคนอื่นๆ เก็บมันมา แต่ฝนก็ไม่ตก หลังฝนตกดอกของมันเต็มไปด้วยน้ำที่เกาะอยู่จนดูคล้ายลูกแก้วที่แวววาว [แปลจากภาษาฝรั่งเศสในหม้อข้าวหม้อแกงลิงจากบอร์เนียว][5]


ฟรากูรได้ตั้งชื่อพืชชนิดนี้ว่า Anramitaco สันนิษฐานว่าเป็นชื่อท้องถิ่น แล้วก็ล่วงเลยมามากกว่าศตวรรษ หม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้จึงได้ถูกจัดจำแนกเป็น N. madagascariensis[6]

หม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดที่ 2 ที่ถูกพรรณนาถึงในปี ค.ศ. 1677 ได้แก่ N. distillatoria พืชถิ่นเดียวของศรีลังกา ถูกจัดจำแนกให้อยู่ภายใต้ชื่อ "Miranda herba" (สมุนไพรอันน่าพิศวง) [7] 3 ปีต่อมา พ่อค้าชาวดัตช์ที่ชื่อเจคอบ เบรนี (Jacob Breyne) อ้างว่าพืชชนิดนี้เป็น Bandura zingalensium ซึ่งเป็นชื่อเรียกในท้องถิ่น[8] ในภายหลัง Bandura ได้กลายเป็นชื่อที่ใช้เรียกหม้อข้าวหม้อแกงลิงทั่วไปจนกระทั่งลินเนียสได้ตั้งชื่อ นีเพนเธส ขึ้นในปี ค.ศ. 1737[5]

N. distillatoria ถูกจัดจำแนกอีกครั้งในปี ค.ศ. 1683 ครั้งนี้โดยแพทย์ชาวสวีเดนชื่อ เอช.เอ็น. กริม (H.N. Grimm) [9] กริมได้เรียกมันว่า Planta mirabilis distillatoria หรือ "พืชกลั่นน้ำอันน่าอัศจรรย์" และเป็นครั้งแรกที่มีภาพประกอบอย่างละเอียดของพืชชนิดนี้[5] 3 ปีต่อมา ในปี ค.ศ. 1686 นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษชื่อ จอน เรย์ (อังกฤษ: John Ray) อ้างคำพูดของกริมมากล่าวดังนี้:[10]

รากดูดความชุ่มชื้นจากดินด้วยความช่วยเหลือของแสงอาทิตย์เข้าสู่ตัวมัน แล้วส่งผ่านไปยัง ลำต้น ก้าน ใบที่น่ากลัวของมัน ไปสู่ภาชนะตามธรรมชาติ แล้วเก็บกักไว้จนกว่ามนุษย์จะต้องการมัน [แปลจากภาษาละตินใน หม้อข้าวหม้อแกงลิงจากบอร์เนียว][5]


หนึ่งในภาพประกอบแรกๆของหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่ปรากฏใน Almagestum Botanicum (สารานุกรมพฤกษศาสตร์ ) ของเลียวนาร์ด พลูคีเน็ต (Leonard Plukenet) ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1696[11] พืชที่เรียกว่า Utricaria vegetabilis zeylanensium ก็คือ N. distillatoria นั่นเอง[5]

ภาพประกอบของ Cantharifera ใน Herbarium Amboinensis (พรรณไม้จากอองบง) ของรัมฟิออซ, เล่ม 5, ปี ค.ศ. 1747 ถึงแม้ว่าจะถูกวาดหลังศตวรรษที่ 17 แต่ไม้เถาทางขวาไม่ใช่หม้อข้าวหม้อแกงลิง แต่เป็น Flagellaria

ในเวลาเดียวกันเกออร์จ เบเบอร์ฮาร์ด รัมฟิออซ (เยอรมัน: Georg Eberhard Rumphius) นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน ค้นพบหม้อข้าวหม้อแกงลิง 2 ชนิดใหม่ในหมู่เกาะมลายู รัมฟิออซได้วาดภาพชนิดแรกไว้ เมื่อได้นำมาพิจารณาดูแล้วมันก็คือ N. mirabilis นั่นเอง และได้ให้ชื่อว่า Cantharifera แปลว่า "คนถือเหยือก" ชนิดที่ 2 ที่ชื่อ Cantharifera alba คิดว่าน่าจะเป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิด N. maxima รัมฟิออซได้พรรณนาไว้ในงานเขียนที่มีชื่อเสียงมากของเขา : Herbarium Amboinensis (พรรณไม้จากอองบง) บัญชีรายชื่อรุกขชาติแห่งเกาะอองบง ทั้ง 6 เล่ม อย่างไรก็ตามพืชชนิดนี้กลับไม่เป็นที่รู้จักจนกระทั่งเขาถึงแก่กรรมไปแล้วหลายปี[12]

หลังจากตาบอดลงในปี ค.ศ. 1670 เมื่อต้นฉบับเขียนด้วยมือสำเร็จเสร็จสิ้นเป็นบางส่วน รัมฟิออซก็ได้เขียน Herbarium Amboinensis ต่อด้วยความช่วยเหลือของเสมียนและจิตรกร ในปี ค.ศ. 1687 เมื่องานใกล้สำเร็จลุล่วง งานอย่างน้อยครึ่งหนึ่งกับเสียหายไปเพราะไฟไหม้ แต่ด้วยความอุตสาหะ รัมฟิออซและผู้ช่วยของเขาก็ทำหนังสือเล่มแรกแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1690 อย่างไรก็ตาม 2 ปีต่อมา เรือที่บรรทุกต้นฉบับไปสู่ประเทศเนเธอร์แลนด์กลับถูกโจมตีและจมลงโดยเรือรบของฝรั่งเศส เป็นการบังคับให้พวกเขาเริ่มใหม่อีกครั้ง แต่โชคยังดีที่ยังมีฉบับคัดลอกที่ถูกเก็บรักษาไว้โดย ข้าหลวง-นายพล โจฮันซ์ แคมฟุจซ์ (Johannes Camphuijs) ในที่สุดหนังสือ Herbarium Amboinensis ก็ไปถึงเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1696 แต่หนังสือเล่มแรกก็ยังไม่ถูกตีพิมพ์จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1741 เป็นเวลา 39 ปีหลังจากรัมฟิออซถึงแก่กรรม ในครั้งนี้ชื่อ นีเพนเธส ของลินเนียสได้กลายเป็นมาตรฐานที่มั่นคงแล้ว[5]

ภาพวาดของ Bandura zeylanica (N. distillatoria) จาก Thesaurus Zeylanicus (อรรถาภิธานจากศรีลังกา) ของเบอร์แมน ในปี ค.ศ. 1737

N. distillatoria ถูกวาดภาพและอธิบายอีกครั้งใน Thesaurus Zeylanicus (อรรถาภิธานจากศรีลังกา) ของโจฮันซ์ เบอร์แมน (Johannes Burmann) ในปี ค.ศ. 1737 ภาพวาดแสดงให้เห็นตั้งแต่ดอก ลำต้น และหม้อ เบอร์แมนเรียกพืชชนิดนี้ว่า Bandura zeylanica[13]

การอ้างถึงหม้อข้าวหม้อแกงลิงครั้งต่อมาเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1790 เมื่อพระชาวโปรตุเกสที่ชื่อโจเอา เดอ เลอรีโร (João de Loureiro) พรรณนาถึง Phyllamphora mirabilis หรือ "ใบรูปหม้ออันน่าพิศวง" จากเวียดนาม แม้เขาจะอยู่ในประเทศนี้มาถึง 35 ปี มันดูไม่เหมือนว่า เลอรีโรจะเฝ้าศึกษาพืชชนิดนี้อย่างจริงจังนัก เขาอ้างว่าฝาของหม้อเคลื่อนไหวได้ในรูปแบบเปิดและปิดฝาหม้อ ในงานที่มีชื่อเสียงของเขา : Flora Cochinchinensis (พืชจากเวียดนามใต้ ) เขาเขียนไว้ว่า:[14]

[...] สายดิ่งที่ยื่นยาวต่อจากปลายสุดของใบที่บิดขดเป็นวงอยู่ตรงกลาง ทำหน้ายึดหม้อนิ่มๆรูปไข่นั่นไว้ มันมีปากที่เรียบเป็นโครงยื่นตรงขอบและที่ด้านตรงข้ามเป็นฝาปิด ซึ่งเปิดอยู่โดยธรรมชาติ และจะปิดเมื่อต้องเก็บกักน้ำค้างไว้ เป็นผลงานของพระผู้เป็นเจ้าที่น่าพิศวงมาก! [แปลจากภาษาฝรั่งเศสในหม้อข้าวหม้อแกงลิงจากบอร์เนียว][5]


ในที่สุด Phyllamphora mirabilis ก็ถูกเปลี่ยนเข้าสู่สกุลของหม้อข้าวหม้อแกงลิงโดยเกออร์จ คลาริดก์ ดรูซ (George Claridge Druce) ในปี ค.ศ. 1916[15] ดังนั้น P. mirabilis จึงเป็น ชื่อเดิม (basionym) ของหม้อข้าวหม้อแกงลิงทั่วโลกหลายชนิด[16]

การเคลื่อนไหวของฝาหม้อที่ถูกกล่าวอ้างโดยเลอรีโรได้ถูกกล่าวซ้ำอีกครั้งโดยจีน ลุยซ์ มารี ปัวร์เรต (Jean Louis Marie Poiret) ในปี ค.ศ. 1797 ปัวร์เรตได้กล่าวถึง 2 ใน 4 ชนิดที่เป็นที่รู้จักในขณะนั้น : N. madagascariensis และ N. distillatoria เขาสร้างรูปแบบชื่อปัจจุบันและชื่อเรียกตามหลัง : Nepente de l'Inde หรือ "หม้อข้าวหม้อแกงลิงของประเทศอินเดีย" ถึงแม้ว่าหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้จะอยู่ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ก็ตาม

ใน Encyclopédie Méthodique Botanique (สารานุกรมพฤกษศาสตร์) ของจีน-บาปตีสต์ เดอ ลามาร์ก (ฝรั่งเศส: Jean-Baptiste de Lamarck) เขารวบรวมไว้ดังนี้ :[6]

มันเป็นหม้อที่น่าพิศวง ตามดังที่ฉันจะกล่าวต่อไปนี้ โดยปกติเมื่อหม้อเต็มไปด้วยน้ำสะอาดฝาหม้อก็จะปิดลง มันจะเปิดขึ้นในระหว่างตอนกลางวัน และน้ำส่วนมากจะหายไป แต่น้ำที่หายไปนี้ใช้ไปในการบำรุงต้นระหว่างกลางคืนก็เป็นได้ และเมื่อวันใหม่เมื่อหม้อเต็มอีกครั้ง ฝาก็จะปิดลงเช่นเดิม นี่เป็นอาหารของมัน และมากเพียงพอใน 1 วันเพราะน้ำนั้นจะเหลือครึ่งเดียวในตอนกลางคืน [แปลจากภาษาฝรั่งเศสในหม้อข้าวหม้อแกงลิงจากบอร์เนียว][5]


โรงเรือนปลูกหม้อข้าวหม้อแกงลิงของ สถานเพาะเลี้ยงวิตช์ ภาพใน The Gardener s' Chronicle (บันทึกของชาวสวน ) ปี ค.ศ. 1872

เมื่อมีการค้นพบชิดใหม่ๆ ความสนใจในการปลูกเลี้ยงหม้อข้าวหม้อแกงลิงจึงเกิดขึ้นตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของหม้อข้าวหม้อแกงลิงก็ว่าได้ โดยเริ่มนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1880[5] อย่างไรก็ตามความนิยมนี้กลับลดลงในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก่อนจะหายไปเพราะสงครามโลกครั้งที่สอง นี่เป็นเครื่องแสดงข้อเท็จจริงที่ว่าไม่มีการค้นพบชนิดใหม่เลยในระหว่างปี ค.ศ. 1940 ถึง 1966 แต่ความสนใจในการปลูกเลี้ยงและการศึกษาในหม้อข้าวหม้อแกงลิงได้กลับมาอีกครั้ง ทั้งนี้ต้องยกความดีความชอบให้แก่นักพฤกษศาสตร์ชาวญี่ปุ่นที่ชื่อไซเกะโอะ คุระตะ (Shigeo Kurata) ผลงานของเขาในปี ค.ศ. 1960 และ 1970 ได้นำเข้าสู่ความนิยมในพืชชนิดนี้อีกครั้ง[17]

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

หม้อข้าวหม้อแกงลิง จาก Species Plantarum (ชนิดพันธุ์พืช) ของคาโรลัส ลินเนียส ปี ค.ศ. 1753

คำว่า Nepenthes (นีเพนเธส) ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1737 ใน Hortus Cliffortianus (แคตาล็อกแสดงพรรณพืชของคลิฟฟอร์ด) ของคาโรลัส ลินเนียส[18] มาจากมหากาพย์โอดิสซีของโฮเมอร์ ในข้อความที่ว่า "Nepenthes pharmakon" (เหยือกยาที่ใช้เพื่อลืมความเศร้าซึ่งหมายถึงเหล้านั่นเอง) ถูกมอบให้เฮเลนโดยราชินีแห่งอียิปต์ คำว่า "Nepenthe" แปลตรงตัวได้ว่า "ปราศจากความเศร้าโศก" (ne = ไม่, penthos = เศร้าโศก) และในตำนานเทพเจ้ากรีกนั้น เป็นการดื่มเพื่อให้ลืมความเสียใจ ลินเนียสอธิบายไว้ว่า :

ถ้ามันไม่ใช่เหยือกเหล้าของเฮเลนแล้วมันคงจะเป็นของนักพฤกษศาสตร์ทุกคนอย่างแน่นอน สิ่งใดที่นักพฤกษศาสตร์รู้สึกว่าธรรมดาไม่น่าชื่นชม ถ้าหลังจากการเดินทางอันยาวนานและแสนลำบาก แล้วเขาสามารถพบพืชที่แสนวิเศษนี้ ในความรู้สึกของเขาที่ผ่านสิ่งแย่ๆและลำบากมานั้นก็ต้องถูกลืมเลือนไปหมดสิ้น เมื่อเห็นผลงานของพระผู้เป็นเจ้าที่น่าชมเชยนี้! [แปลจากภาษาละตินโดย เอช. เจ. วีตช์][19]

พืชที่ลินเนียสกล่าวถึงก็คือ Nepenthes distillatoria หม้อข้าวหม้อแกงลิงจากศรีลังกา[5]

หม้อข้าวหม้อแกงลิง ถูกตั้งให้เป็นชื่อสกุลในปี ค.ศ. 1753 ใน "Species Plantarum (ชนิดพันธุ์พืช) " ซึ่งเป็นการตั้งชื่อที่ถูกยอมรับและใช้จนมาถึงปัจจุบัน และ N. distillatoria ก็เป็นชนิดต้นแบบในสกุลนี้[20]

การปลูกเลี้ยง[แก้]

Nepenthes rajah ที่ถูกเพาะเลี้ยงกับหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดอื่นๆ

การปลูกเลี้ยงหม้อข้าวหม้อแกงลิงในประเทศไทยนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิดโดยใช้อุณหภูมิเป็นเกณ์คือ

  • ชนิดโลว์แลนด์ (lowland) อันจะอยู่ที่อุณภูมิช่วงกลางวันประมาณ30°C และกลางคืนในช่วงไม่ต่ำกว่า 20°C อาทิNepenthes thorelii Nepenthes gracilis Nepenthes ampullaria Nepenthes mirabilis N. bicalcarata ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ปลูกเลี้ยงมือใหม่สามรถปลูกเลี้ยงให้งอกงามได้ โดยสามารถเติบโตได้ดีในโรงเรือนที่พลางแสงอย่างน้อย50% โดยกั้นลมไม่ให้ความชื้นในอากาศน้อยลง
  • ชนิดอินเทอร์มิเดียท (intermediate) อันจะอยู่ที่อุณภูมิช่วงกลางวันประมาณ25 - 35°C และกลางคืนในช่วง18 - 26°C อาทิ N. palawanensis N. stenophylla N.rajah Kinabalu สามารถปลูกได้ในโรงเรือนอีแวปและตู้อีแวปซึ่งสามารถควบคุมอุณภูมิได้ สำหรับชนิดนี้ผู้ปลูกเลี้ยงมือใหม่ควรศึกษาให้รอบด้าน ปรึกษาจากผู้มีประสบการณ์ก่อน เพราะเป็นชนิดที่ไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้เริ่มต้น อีกทั้งมีราคาที่สูงกว่าไม้ท้องตลาดโดยทั่วไป
  • ชนิดไฮแลนด์ (highland) อันจะอยู่ที่อุณภูมิช่วงกลางวันประมาณ25 °C และกลางคืนในช่วง 15 °C อาทิ N. rajah N. aristolochioides N. lowii สามารถปลูกในโรงเรือนอีแวปหรือในตู้อีแวปซึ่งสามารถควบคุมอุณภูมิได้ หรืออาจปลูกได้ในโรงเรือนอีแวปซึ่งอยู่บริเวณที่มีอากาศเย็นตามไหล่เขาในภาคเหนือ

น้ำที่ใช้ในการรดสามารถใช้น้ำสะอาด อาทิ น้ำปะปาซึ่งพักคอลีนอย่างน้อยหนึ่งวันในการรด จากความเห็นของผู้ปลูกเลี้ยงบางส่วนหม้อข้าวหม้อแกงลิงไม่ค่อยจะมีปัญหากับน้ำมากนัก

แสงที่ใช้ในการปลูกหม้อข้าวหม้อแกงลิงควรได้แสงอย่างน้อย แสงแดดจากพระอาทิตย์ในตอนเช้าจนถึงก่อนเที่ยง ส่วนระยะเวลานั้นสามารถให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้อย่างการใช้หลอดไฟสำหรับการปลูกเลี้ยงพืชเป็นต้น โดยต้องมีเวลาพักในตอนกลางคืนเช่นเดี่ยวกับมนุษย์ที่ต้องมีการพักผ่อน

ความชื้นในอากาศ สามารถวัดได้ด้วยเครื่องวัดความชื้น โดยความชื้นไม่ควรต่ำกว่า 50% ควรกั้นลมบริเวณโรงเรือนเพราะลมเป็นเหตุให้ความชื้นในอากาศลดลง ความชื้นมีส่วนสำคัญในการผลิดหม้อใหม่หากความชื้นไม่เพียงใบจะเริ่มแสดงอาการหม้อฝ่อหรือไม่ออกหม้อนั้นเอง

วัสดุปลูก ควรมีความโปร่งเพราะหม้อข้าวหม้อแกงลิงนั้นวัสดุปลูกต้องไม่อุ้มน้ำจนเกินไปกล่าวคือน้ำสามารถระบายได้ดีแต่วัสดุปลูกต้นสามารถกักเก็บความชื้นได้ประมาณหนึง วัสดุปลูกที่ผู้ปลูกเลี้ยงจำนวนมากแนะนำคือ สเปกนั่มมอสผสมเพอร์ไลท์ หรือ กาบมะพร้าวผสมขุ่ยมะพร้าว หรือจะใช้ขุ่ยมะพร้าวผสมเพอร์ไลท์ ก็ได้นั้นนี้เป็นดุลยพินิจของผู้ปลูก ทั้งนี้ไม่ควรใช้ดินไม่ว่าจะดินอะไรทั้งสิ้นเพราะหม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นพืชที่มีระบบรากแบบอิงอาศัยดินนั้นอาจจับตัวเป็นก้อนทำให้รากหม้อข้าวหม้อแกงลิงไม่สามรถโตต่อได้และรากเน่าไปในที่สุด

ปุ๋ย ไม่ควรให้ปุ๋ยชีวภาพอาทิ มูลสัตว์ มูลไส้เดือน หรือปุ๋ยคอกโดยเด็ดขาดเพราะ คุณสมบัติที่มีไนโตเจนมากทำให้หม้อข้าวหม้อแกงลิงไม่ผลิดหม้อและอาจเนการเรียกแมลงและไส้เดือน กิ้งกือ ซึ่งทำให้ระบบรากของหม้อข้าวหม้อแกงลิงเสียหายได้จนยืนต้นตายในที่สุด

ทั้งนี้หม้อข้าวหม้อแกงลิงอาจไม่ให้ปุ๋ยเลยก็ได้ การให้ปุ๋ยที่มากเกินไปจะทำให้ใบใหญ่และไม่ออกหม้อในที่สุด แต่การให้ปุ๋ยอาจมีข้อดีคือทำให้ต้นแข็งแรงโตเร็ว สามารถให้ดอกได้เร็วกว่าต้นที่ไม่ใส่ปุ๋ยเลย

ปุ๋ยนั้นสามารถใช้ปุ๋ยฉีดพ่นทางใบของกล้วยไม้ผสมน้ำเจือจางให้มากว่าฉลากระบุ หรือ ปุ๋ยละลายช้าสูตร16-16-16 หรือ 30-10-10 ควรให้อย่างน้อย6เดือนครั้ง อย่างน้อย 3-4 เม็ดก็เพียงพอแล้ว

การขยายพันธุ์[แก้]

  • การเพาะเมล็ด ให้โรยบนสแฟกนัมมอสส์ที่เปียกชื้นหรือบนวัสดุปลูกอื่นๆที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว เช่นขุยมะพร้าว, พีทมอสส์ ฯลฯ หลังฝักแตกออกให้รีบเพาะเมล็ดเพราะอัตรางอกจะลดลงเรื่อยๆเมื่อเก็บไว้นานเข้า ส่วนผสม 50:50 ที่ใช้ในการปลูกกล้วยไม้เช่นมอสส์กับเพอร์ไลต์ เป็นส่วนผสมที่เหมาะที่สุดในการเพาะเมล็ด เมล็ดจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ จนถึง 3เดือนจึงงอกเป็นต้นอ่อน
  • การปักชำ แช่หรือทาด้วยน้ำยาเร่งราก และทำการปักชำโดยนับอย่างน้อยสองข้อลำต้น ปักกิ่งพันธุ์ในวัสดุปลูก อาทิสแฟกนัมมอสส์ ถ้าความชื้นและแสงพอเพียงต้นไม้จะงอกรากใน 1-2 เดือนและจะเริ่มให้หม้อใน 6 เดือน
  • การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ในปัจจุบันเป็นการเพาะเลี้ยงในเชิงการค้าซึ่งได้ช่วยลดจำนวนต้นไม้ที่ถูกเก็บออกจากป่ามาขายได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ดี พืชหายากจำนวนมากยังถูกเก็บออกมาขาย เป็นเพราะราคาที่แพงของมันนั่นเอง หม้อข้าวหม้อแกงลิงถูกบรรจุในรายชื่อพืชที่ถูกคุกคามหรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของไซเตสในบัญชี 1 และ 2
  • การเสียบยอดหรือการเสียบข้อ เป็นวิธีการขยายพันธุ์ซึ่งต้นมียอดพันธ์และต้นที่ใช้เป็นตอ ต้นตอ อาทิ N.mirabilis N.rafflesiana และลูกผสมซึ่งเติบโตได้ดีทั่วไป อีกตัวเลือกหนึ่งคือลูกผสม N.thorelii ซึ่งมีรากสะสมอาหาร (tuberous roots) โดยวิธีการสังเขบคือ อนึ่งก่อนเริ่มการเสียบยอดนั้นควรงดการรดน้ำทั้งต้นตอและยอดอย่างน้อยหนึ่งวันเพื่อให้น้ำเลี้ยงถูกใช้ไปจำนวนหนึ่งเพื่อป้องกันแผลเน่า เริ่มแรกนั้นนำต้นตอตัดด้วยมีดโกน มีด หรือคัตเตอร์ อย่างน้อยหนึ่งส่วนสองของต้น จากนั้นผ่ากลางลำต้นตออย่างน้อยหนึ่งใบมีดโกน จากนั้นตัดยอดต้นยอดพันธ์นับลงมาอย่างน้อยสองข้อลำต้นจากนั้นจึงใช้มีดเหลาให้เป็นทรงสามเหลี่ยมและใช้มีดเหลาขอบข้างให้เห็นถึงท่อน้ำเลี้ยง จากนั้นจึงนำยอดไปเสียบกับตอที่เตรียมไว้ โดยใช้เชือกฟางหรือเคเบิลไทร์ในการล็อกให้ยอดกับต่อติดกัน จากนั้นจึงนำไปใส่ถุงอบซึ่งมีขนาดไม่เล็กจนเกินไป มั่นสังเกตว่ายอดกับตอสมานกันหรือไม่ ภายใน 2สัปดาห์หรือรอจนแตกใบใหม่อย่างน้อยสองใบจึงสามารถนำออกจากถุงอบ ทั้งนี้ต้องมีการปรับสภาพต้นโดนการค่อยๆเจาะถึงทีละรูเพื่อให้ต้นคุ้ยเคยกับสภาพอากาศภายนอก จากนั้นจึงนำไปเลี้ยงต่อได้ตามปกติ

ข้อดีของการเสียบยอดคือ หม้อข้าวหม้อแกงลิงบางสายพันธุ์ที่เติบโตช้าหรือมีรากที่น้อย วิธีการนี้จะช่วยให้ต้นเติบโตได้ดีขึ้นในบางสายพันธุ์

สปีชีส์[แก้]

มีมากกว่า 100 ชนิดและถูกค้นพบชนิดใหม่เรื่อย ๆ ทุกปี[17]

หม้อข้าวหม้อแกงลิงในประเทศไทย[แก้]

ในประเทศไทยพบหม้อข้าวหม้อแกงลิงกระจายพันธุ์ตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ชนิดของหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่ถูกบันทึกไว้ว่าพบในประเทศไทยมีดังนี้ : (เรียงตามอักษรภาษาอังกฤษ / เครื่องหมายดอกจัน * ต่อท้ายหมายถึงไม่ใช่พืนถิ่นเดียว)

  1. Nepenthes ampullaria * (ไทย: หม้อแกงลิง [21]) ค้นพบปี ค.ศ. 1835
  2. Nepenthes andamana ค้นพบปี ค.ศ. 2010
  3. Nepenthes chang ค้นพบปี ค.ศ. 2010
  4. Nepenthes gracilis * (ไทย: หม้อข้าวหม้อแกงลิง [21]) ค้นพบปี ค.ศ. 1839
  5. Nepenthes kampotiana * ค้นพบปี ค.ศ. 1909
  6. Nepenthes kerrii * ค้นพบปี ค.ศ. 2010
  7. Nepenthes kongkandana ค้นพบปี ค.ศ. 2015
  8. Nepenthes krabiensis ค้นพบปี ค.ศ. 2016
  9. Nepenthes mirabilis * (ไทย: เขนงนายพราน [21]) ค้นพบปี ค.ศ. 1869
  10. Nepenthes rosea ค้นพบปี ค.ศ. 2014
  11. Nepenthes sanguinea * (ไทย: หม้อแกงลิงเขา [22]) ค้นพบปี ค.ศ. 1849
  12. Nepenthes smilesii * (ไทย: น้ำเต้าพระฤๅษี [21]) ค้นพบปี ค.ศ. 1895
  13. Nepenthes suratensis ค้นพบปี ค.ศ. 2010
  14. Nepenthes thai ค้นพบปี ค.ศ. 2009
  15. Nepenthes thorelii * (ไทย: น้ำเต้าลม [21]) ค้นพบปี ค.ศ. 1990
  16. Nepenthes hirtella * (ไทย: เสืออำพล)[23] ค้นพบปี ค.ศ. 2021
  17. Nepenthes bracteosa* (ไทย: เสือนคร) [24] ค้นพบปี ค.ศ. 2021

สายพันธุ์ย่อย[แก้]

  1. N. anamensis * ค้นพบปี ค.ศ. 1908 (ปัจจุบันถูกจัดให้เป็น Var.ย่อยของ Nepenthes mirabilis หรือ เขนงนายพราน)
  2. N. globosa ค้นพบปี ค.ศ. 2010 (ปัจจุบันถูกจัดให้เป็น Var.ย่อยของ Nepenthes mirabilis หรือ เขนงนายพราน)

ลูกผสมตามธรรมชาติและที่ถูกเพาะพันธุ์โดยฝีมือมนุษย์[แก้]

Nepenthes × cincta
Nepenthes × ventrata
N. ventricosa × (N. lowii x N. macrophylla)

มีลูกผสมมากมาย ยกตัวอย่างเช่น

ตัวอย่างบางส่วนลูกผสมโดยมนุษย์เป็นผู้ผสมขึ้นที่เรารู้จักกันดี:

  • N. Coccinea ((N. rafflesiana × N. ampullaria) × N. mirabilis)
  • N. Emmarene (N. khasiana × N. ventricosa)
  • N. Gentle (N. fusca × N. maxima)
  • N. Judith Finn (N. veitchii × N. spathulata)
  • N. Miranda ((N. maxima × N. northiana) × N. maxima)
  • N. Mixta (N. northiana × N. maxima)
  • N. Ventrata (N. ventricosa × N. alata)

สถานะการอนุรักษ์[แก้]

เนื่องจากหม้อข้าวหม้อแกงลิงหลายชนิดมีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์ทั้งจากเก็บออกมาขาย หรือบุกรุกป่าเพื่อที่ทำกิน ทำให้สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) บรรจุรายชื่อหม้อข้าวหม้อแกงลิงทุกชนิดลงในบัญชีอนุรักษ์ของอนุสัญญาไซเตส ในส่วนของประเทศไทยที่เป็นสมาชิกนั้น ได้กำหนดนโยบาย มาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯ

ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง พืชอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีรายละเอียดเกี่ยวกับหม้อข้าวหม้อแกงลิงดังนี้

  • วงศ์หม้อข้าวหม้อแกงลิง (NEPENTHACEAE (Pitcher-plants)) [25]
    • พืชอนุรักษ์บัญชีที่ 1
      • Nepenthes khasiana (Indian pitcher plant)
      • Nepenthes rajah (Kinabalu pitcher plant)
    • พืชอนุรักษ์บัญชีที่ 2
      • Nepenthes spp. (Pitcher-plants, สกุลหม้อข้าวหม้อแกงลิงทุกชนิด)

โดยมีข้อบังคับไว้เกี่ยวกับพืชอนุรักษ์ดังนี้

  1. ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านพืชอนุรักษ์และซากของพืชอนุรักษ์ เว้นแต่ได้รับหนังสืออนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย (มาตรา 29 ตรี)
  2. ผู้ใดประสงค์จะขยายพันธุ์เทียมพืชอนุรักษ์เพื่อการค้า ให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์ต่อกรมวิชาการเกษตร (มาตรา 29 จัตวา)

อ้างอิง[แก้]

  1. Gaume, L. & Y. Forterre 2007. A Viscoelastic Deadly Fluid in Carnivorous Pitcher Plants. PLoS ONE 2 (11) : e1185.
  2. Phillipps, A. 1988. A Second Record of Rats as Prey in Nepenthes rajah. Carnivorous Plant Newsletter 17 (2) : 55.
  3. Moran, J.A. 1991. The role and mechanism of Nepenthes rafflesiana pitchers as insect traps in Brunei. Ph.D. thesis, University of Aberdeen, Aberdeen, Scotland.
  4. de Flacourt, E. 1658. Histoire de la Grande Isle de Madagascar.
  5. 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 Phillipps, A. & A. Lamb 1996. Pitcher-Plants of Borneo. Natural History Publications (Borneo), Kota Kinabalu.
  6. 6.0 6.1 Poiret, J.L.M. 1797. Népente. In: J.B. Lamarck Encyclopédie Méthodique Botanique Vol. 4.
  7. Bartholinus 1677. Miranda herba. Acta Medica et Philosophica Hafniensa 3: 38.
  8. Breyne, J. 1680. Bandura zingalensium etc. Prodromus Fasciculi Rariorum Plantarum 1: 18.
  9. Grimm, H.N. 1683. Planta mirabilis distillatoria. In: Miscellanea curiosa sive Ephemeridum. Med. Phys. Germ. Acad. Nat. Cur. Decuriae 2, ann. prim. p. 363, f. 27.
  10. Ray, J. 1686. Bandura cingalensium etc. Historia Plantarum 1: 721–722.
  11. Plukenet, L. 1696. Utricaria vegetabilis zeylanensium. In: Almagestum Botanicum.
  12. Rumphius, G.E. 1741–1750. Cantharifera. In: Herbarium Amboinense 5, lib. 7, cap. 61, p. 121, t. 59, t. 2.
  13. Burmann, J. 1737. Thesaurus Zeylanicus. Amsterdam.
  14. de Loureiro, J. 1790. Flora Cochinchinensis 2: 606–607.
  15. Druce, G. 1916. Nepenthes mirabilis. In: Botanical Exchange Club of the British Isles Report 4: 637.
  16. Clarke, C.M. 1997. Nepenthes of Borneo. Natural History Publications (Borneo), Kota Kinabalu.
  17. 17.0 17.1 Clarke, C.M. & C.C. Lee 2004. Pitcher Plants of Sarawak. Natural History Publications (Borneo), Kota Kinabalu.
  18. Linnaeus, C. 1737. Nepenthes. Hortus Cliffortianus. Amsterdam.
  19. Veitch, H.J. 1897. Nepenthes. Journal of the Royal Horticultural Society 21 (2) : 226–262.
  20. Linnaeus, C. 1753. Nepenthes. Species Plantarum 2: 955.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 สำนักงานหอพรรณไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ -- กรุงเทพมหานคร : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2549
  22. สารานุกรมพืช หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช[ลิงก์เสีย]
  23. "ค้นพบ หม้อข้าวหม้อแกงลิง '2ชนิดใหม่ของโลก' ตั้งชื่อ 'เสืออำพล-เสือนคร'". เดลินิวส์.
  24. "ค้นพบ "หม้อข้าวหม้อแกงลิง" ชนิดใหม่ของโลก". Thai PBS. 2021-10-14.
  25. "ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง พืชอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518"[ลิงก์เสีย]สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]