ข้ามไปเนื้อหา

หม่อมเจ้าอัชฌา จักรพันธุ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมเจ้าอัชฌา จักรพันธุ์
ประสูติ17 กันยายน พ.ศ. 2459
ชีพิตักษัย26 ตุลาคม พ.ศ. 2541 (82 ปี)
หม่อมหม่อมราชวงศ์ภัทรสุข ศุขสวัสดิ
หม่อมดวงแข จักรพันธุ์ ณ อยุธยา
พระบุตรหม่อมราชวงศ์อรชา จักรพันธุ์
หม่อมราชวงศ์ภัทรกัลยา จักรพันธุ์
หม่อมราชวงศ์ธีรภัทร์ จักรพันธุ์
หม่อมราชวงศ์รณจักร์ จักรพันธุ์
ราชสกุลจักรพันธุ์
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุพงษ์จักรพรรดิ์
พระมารดาหม่อมลำไย จักรพันธุ์ ณ อยุธยา

หม่อมเจ้าอัชฌา จักรพันธุ์ (17 กันยายน พ.ศ. 2459 – 26 ตุลาคม พ.ศ. 2541) เป็นพระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุพงษ์จักรพรรดิ์ ประสูติแต่หม่อมลำไย จักรพันธุ์ ณ อยุธยา

พระประวัติ

[แก้]

หม่อมเจ้าอัชฌา จักรพันธุ์ เป็นพระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุพงษ์จักรพรรดิ์ ประสูติแต่หม่อมลำไย จักรพันธุ์ ณ อยุธยา เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2459 ที่วังกรมหมื่นอนุพงษ์จักรพรรดิ์ ถนนหลานหลวง

เมื่อมีชันษาได้ 7 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ผู้เป็นปิตุลา ซึ่งดำรงตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำหม่อมเจ้าอัชฌาขึ้นถวายองค์ให้อยู่ในพระราชอุปการะ และได้ย้ายไปประทับในพระราชวังดุสิตเพื่อถวายการรับใช้ โดยโปรดเกล้าฯ ให้จัดห้องบรรทมสำหรับเจ้านายรุ่นเล็กที่ทรงอุปการะเป็นห้องในพระที่นั่งอัมพรสถาน ใกล้กับองค์พระที่นั่งด้านศาลาทรงกีฬา โดยประทับอยู่ห้องละ 2-3 องค์ ในการตามเสด็จไปยังที่ต่าง ๆ ก็ใช้วิธีผลัดเวรกันให้ไม่ตรงกับเวลาเรียน และนอกจากตามเสด็จในพระราชพิธี แต่งเครื่องแบบเพื่อเชิญพระมาลา เชิญพระแสง และตามเสด็จส่วนพระองค์อื่น ๆ เช่น ทรงกีฬาหรือเสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศแล้ว ยังได้ตามไปถวายการรับใช้ในการเสด็จเยือนทวีปยุโรปอย่างเป็นทางการในหลายประเทศ เช่น ประเทศเยอรมนี ประเทศเบลเยี่ยม ประเทศเชโกสโลวาเกีย ประเทศฮังการี ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ รวมถึงประเทศฝรั่งเศส

ขณะมีชันษาได้ 13 ปี หม่อมเจ้าอัชฌาทรงร่วมแสดงในภาพยนตร์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องแหวนวิเศษ โดยทรงรับบทเป็น อ้ายขี้เกียจ ระหว่างการตามเสด็จประพาสเกาะพงันโดยเรือพระที่นั่งจักรี โดยใช้พระนามแฝงว่า เด็กชายไหน ปีปนนท์

หลังจากนั้นเมื่อเกิดการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติแล้วเสด็จไปประทับที่ประเทศอังกฤษ หม่อมเจ้าอัชฌาก็ได้ติดตามไปถวายการรับใช้ในต่างประเทศด้วย และเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าอัชฌาซึ่งกำลังทรงศึกษาใกล้จบมหาวิทยาลัยปีสุดท้ายที่รอยัลคอลเลจออฟไซอันเซสอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน เข้าเฝ้าที่พระตำหนักเวนคอร์ต ในมณฑลเคนต์ ทางตอนใต้ของกรุงลอนดอน แล้วมีรับสั่งว่า "ถ้าอยากอยู่ก็อยู่ต่อ ถ้าอยากจะกลับบ้านก็ให้กลับไปเสียเดี๋ยวนี้ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วอาจไม่ได้กลับเลย" หม่อมเจ้าอัชฌาจึงตัดทัยกราบถวายบังคมลากลับประเทศไทยพร้อมกับนายแพทย์กษาน จาติกวนิช และหม่อมราชวงศ์มรุต เทวกุล ซึ่งเป็นนักเรียนไทยในอังกฤษรุ่นสุดท้ายที่ได้กลับบ้านในช่วงนั้น

การศึกษา

[แก้]

หม่อมเจ้าอัชฌาทรงเริ่มต้นศึกษาที่โรงเรียนสตรีจุลนาค โดยทรงศึกษาร่วมกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต หม่อมเจ้ายุธิษเฐียร สวัสดิวัตน์ เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง และหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ซึ่งเป็นพระญาติผู้น้อง หลังจากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ประมาณหนึ่งปี แล้วทรงย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนราชกุมาร (เยาวกุมาร) ณ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต เมื่อมีชันษาได้ 12 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปศึกษาต่อในชั้นมัธยมต้นที่ Saint Hill Academy และสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลายจากวิทยาลัยฟิลลิปส์ สหรัฐอเมริกา สำเร็จปริญญาตรีสาขามานุษยวิทยา จาก รอยัลคอลเลจออฟไซอันเซส อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน โดยทรงเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ เป็นนักวิ่งแข่ง และนักยูโดสายดำ และโปรดการเล่นกีตาร์ไฟฟ้ากับการถ่ายภาพยนตร์

การทรงงาน

[แก้]

หลังเสด็จกลับประเทศไทย หม่อมเจ้าอัชฌาตั้งทัยว่าจะทรงสมัครเป็นทหาร แต่ไม่มีใครรับใบสมัคร จึงเบนเข็มไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการป่าของบริษัททำไม้ บอมเบย์เบอร์มาห์เทรดดิงคอร์เพอเรชัน ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อบริษัทปิดตัวลงจึงทรงย้ายไปเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการเหมืองแม่เมาะที่จังหวัดลำปาง และผู้จัดการฝ่ายบุคคลของโรงงานกระดาษที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จนทรงเกษียณอายุ หลังจากนั้นทรงทำงานที่ศูนย์การแปลนานาชาติเพลินจิต พร้อมกับทรงสอนวิชาการแปลในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นผู้เชี่ยวชาญการแปลอาวุโสของกระทรวงยุติธรรม

หม่อมเจ้าอัชฌาทรงประสบมรสุมทางการเมืองมาตลอดชนม์ชีพ เนื่องจากอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มาตั้งแต่ทรงเยาว์ หลังจากเกษียณอายุจึงทรงงานด้านการแปลและทรงสอนหนังสือเพียงอย่างเดียว

ครอบครัว

[แก้]

หม่อมเจ้าอัชฌาเสกสมรสกับหม่อมราชวงศ์ภัทรสุข (ราชสกุลเดิม ศุขสวัสดิ) มีโอรสธิดา คือ

  • หม่อมราชวงศ์อรชา สมรสกับเฉลิมเกียรติ มีธิดา 2 คน
    • ดิศนัดดา ศุขสวัสดิ ณ อยุธยา
    • ณปภัช จักรพันธุ์
  • หม่อมราชวงศ์ภัทรกัลยา สมรสกับปริญญา โชติวิศรุต มีบุตรธิดา 2 คน
    • ผู้ช่วยศาสตราจารย์น้ำมนต์ โชติวิศรุต
    • ฝนทิพ ราชเวียง
  • รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมราชวงศ์ธีรภัทร์ จักรพันธุ์ สมรสกับพวงแก้ว จักรพันธุ์ ณ อยุธยา มีบุตร 2 คน
    • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมหลวงพันธุ์ภัทร์ จักรพันธุ์
    • หม่อมหลวงธนภัทร์ จักรพันธุ์

ต่อมาทรงหย่ากับหม่อมราชวงศ์ภัทรสุข และเสกสมรสกับทันตแพทย์หญิง หม่อมดวงแข จักรพันธุ์ ณ อยุธยา มีบุตรคนเดียว คือ

  • หม่อมราชวงศ์รณจักร์ จักรพันธุ์ มีบุตรธิดา 2 คน
    • หม่อมหลวงอรณิชา จักรพันธุ์
    • หม่อมหลวงปารณัท จักรพันธุ์

หม่อมเจ้าอัชฌาเริ่มประชวรเมื่อปี พ.ศ. 2541 ทำให้ทรงอ่อนพระกำลังลงไปเรื่อย ๆ แม้ครอบครัวจะได้ถวายการรักษาเป็นอย่างดี ท้ายที่สุดถึงชีพิตักษัยด้วยพระโรคมะเร็งยกนะ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2541 สิริชันษา 82 ปี การนี้พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงสรงศพเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ณ ศาลาสุภาพ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองทึบประกอบศพ ฉัตรเบญจาตั้งประดับ ปี่ กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ และรับศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม เวลากลางคืน กำหนด 7 คืน ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 44 หน้า 1274 วันที่ 24 กรกฎาคม 2470