ข้ามไปเนื้อหา

สนธิสัญญาญี่ปุ่น–เกาหลี ค.ศ. 1910

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สนธิสัญญาผนวกดินแดนญี่ปุ่น–เกาหลี
สนธิสัญญาญี่ปุ่น–เกาหลี ค.ศ. 1910
หนังสือมอบอำนาจทั่วไปแก่อี วัน-ยง ลงลายพระอภิไธยและประทับราชลัญจกรโดยจักรพรรดิยุงฮี (อี ช็อก, 이척 李坧) จักรพรรดิองค์สุดท้าย ปรากฏลายพระอภิไธย '坧'
ประเภทสนธิสัญญาผนวกดินแดน
บริบทการผนวกดินแดนจักรวรรดิเกาหลีโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น
วันตรา22 สิงหาคม ค.ศ. 1910
วันมีผล29 สิงหาคม ค.ศ. 1910
วันหมดอายุ15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 (1945-08-15), 2 กันยายน ค.ศ. 1945 (1945-09-02) โดยพฤตินัย
ยืนยันวันหมดอายุ22 มิถุนายน ค.ศ. 1965 (1965-06-22)
ผู้ลงนาม
ภาคี
ผู้ให้สัตยาบัน
  •  ญี่ปุ่น
  •  เกาหลี
ภาษาจีนวรรณกรรม
สนธิสัญญาผนวกดินแดนญี่ปุ่น–เกาหลี
ชื่อภาษาเกาหลี
ฮันกึล
한일병합조약
(한일합방조약, 한일합방늑약)
ฮันจา
韓日倂合條約
(韓日合邦條約, 韓日合邦勒約)
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
คันจิ韓国併合ニ関スル条約 หรือ 日韓併合条約
ฮิรางานะかんこくへいごうにかんするじょうやく หรือ にっかんへいごうじょうやく
การถอดเสียง
โรมาจิkankoku heigō ni kansuru jōyaku หรือ nikkan heigō jōyaku

สนธิสัญญาผนวกดินแดนญี่ปุ่น–เกาหลี หรือที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่ง สนธิสัญญาญี่ปุ่น–เกาหลี ค.ศ. 1910 เป็นสนธิสัญญาที่กระทำขึ้นระหว่างจักรวรรดิญี่ปุ่นกับจักรวรรดิเกาหลี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1910[1] สนธิสัญญาฉบับนี้ทำให้เกาหลีหมดสิ้นอำนาจการปกครองตนเองโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากที่ก่อนหน้านี้เกาหลีตกเป็นรัฐในอารักขา อันเนื่องมาจากสนธิสัญญาอึลซา เมื่อ ค.ศ. 1905

นักวิเคราะห์ข่าวชาวญี่ปุ่นทำนายว่าชาวเกาหลีจะถูกดูดกลืนเข้ากับจักรวรรดิญี่ปุ่นโดยง่าย[1]

ใน ค.ศ. 1965 สนธิสัญญาว่าด้วยความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นยืนยันว่าสนธิสัญญานี้ "เป็นโมฆะไปแล้ว"[2]

ประวัติ

[แก้]

ญี่ปุ่นเมินคำขอของ จักรพรรดิซุนจงแห่งเกาหลี ที่ทรงต้องการให้สนธิสัญญาอยู่ภายใต้กฎหมายของเกาหลี ดังนั้นแล้วพระองค์จึงปฏิเสธการลงพระนาม ทำให้ นายกรัฐมนตรีเกาหลี อี วันยง ต้องลงนามแทน โดยมีผู้แทนจากฝ่ายญี่ปุ่นคือ ไวเคานต์ เทราอูจิ มาซาตาเกะ ผู้แทนพระองค์ประจำเกาหลี

รัฐบาลพระจักรพรรดิญี่ปุ่นได้แต่งตั้งรัฐบาลข้าหลวงแห่งเกาหลีเพื่อบริหารราชการและกิจการของดินแดนเกาหลี โดยให้ เทราอุจิ มาซาตาเกะ ผู้แทนพระองค์ประจำเกาหลี เป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการเกาหลีคนแรก ทั้งนี้รัฐบาลข้าหลวงต่างพระองค์อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลกลางที่กรุงโตเกียว ในขณะที่ฝ่ายขุนนางและชนชั้นปกครองเดิมของเกาหลีก็ไม่อาจยอมรับการปกครองของญี่ปุ่น และไปจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นแห่งประเทศเกาหลีขึ้นที่เซี่ยงไฮ้และฉงชิ่ง

ข้อความ

[แก้]
สมเด็จพระจักรพรรดิกรุงญี่ปุ่นแลสมเด็จพระจักรพรรดิกรุงเกาหลี มีพระราชดำริตริตรองถึงความสัมพันธ์พิเศษแลใกล้ชิดสนิทเชื้อของสองแผ่นดิน ทรงปรารถนาให้สองแผ่นดินมีความบริบูรณ์ร่วมกันยิ่งขึ้นไปแลมีความสงบราบเรียบถาวรสืบไปในบูรพาทวีป ด้วยทรงเห็นว่าการดังกล่าวจะสำเร็จเสร็จผลที่สุดได้ก็โดยการผนวกกรุงเกาหลีเข้ากับจักรวรรดิกรุงญี่ปุ่นนั้น จึงทรงตัดสินพระทัยให้จัดทำสนธิสัญญาผนวกดินแดนดังกล่าวขึ้น แลเพื่อวัตถุประสงค์นั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้านามผู้มีอำนาจในพระปรมาภิไธยไว้ ดังต่อไปนี้
สมเด็จพระจักรพรรดิกรุงญี่ปุ่น โดยไวเคานต์เทราอุจิ มาซาตาเกะ ผู้แทนพระองค์ แลสมเด็จพระจักรพรรดิกรุงเกาหลี โดยอี วันยง หัวหน้าคณะรัฐมนตรี
หลังได้ประชุมปรึกษาหารือร่วมกันแล้ว จึงได้ตกลงตามข้อต่อไปนี้
ข้อ 1 สมเด็จพระจักรพรรดิกรุงเกาหลีทรงยกให้แก่สมเด็จพระจักรพรรดิกรุงญี่ปุ่นซึ่งสิทธิเด็ดขาดแลอำนาจอธิปไตยเหนือกรุงเกาหลีทั้งปวงเปนการถาวร
ข้อ 2 สมเด็จพระจักรพรรดิกรุงญี่ปุ่นทรงยอมรับการยกให้ซึ่งได้กล่าวไว้ในข้อก่อนหน้า แลทรงยินยอมให้การผนวกกรุงเกาหลีเข้ากับญี่ปุ่นเปนการสำเร็จเสร็จสมบูรณ์
ข้อ 3 สมเด็จพระจักรพรรดิกรุงญี่ปุ่นทรงยินยอมให้สมเด็จพระจักรพรรดิ แลอดีตพระจักรพรรดิ แลมกุฎราชกุมารกรุงเกาหลี ตลอดจนพระภริยาแลทายาททั้งหลาย คงไว้ซึ่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์ แลพระเกียรติยศ ตามฐานะของแต่ละพระองค์เปนลำดับ แลโปรดให้จัดเงินปีถวายตามสมควรเพื่อเปนการธำรงไว้ซึ่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์ แลพระเกียรติยศนั้น
ข้อ 4 สมเด็จพระจักรพรรดิกรุงญี่ปุ่นจะทรงโปรดให้มีการปฏิบัติแลถวายพระเกียรติยศเปนสมควรแก่สมาชิกพระราชวงศ์เกาหลีตลอดจนบรรดาทายาทนอกเหนือจากองค์ที่กล่าวไว้ในข้อก่อนหน้า
ข้อ 5 สมเด็จพระจักรพรรดิกรุงญี่ปุ่นจะทรงพระราชทานยศขุนนางและเงินตราตกแก่ชาวเกาหลีผู้ซึ่งมีความดีความชอบสมควรแก่การยอมรับนับถือเปนพิเศษ
ข้อ 6 ด้วยผลแห่งการผนวกดินแดนตามที่กล่าวไว้ รัฐบาลกรุงญี่ปุ่นจะเข้ารับช่วงเหนือบรรดาราชการงานปกครองทั้งปวงของเกาหลี แลรับรองว่าจะให้การปกป้องคุ้มครองอย่างเต็มกำลังแก่บุคคลแลทรัพย์สมบัติของชาวเกาหลีที่ปฏิบัติตามพระราชกำหนดกฎหมายอันบังคับใช้เพื่อส่งเสริมความเปนอยู่สุขของชาวเกาหลีเหล่าที่ว่านี้
ข้อ 7 รัฐบาลกรุงญี่ปุ่นจะให้การบรรจุเปนข้าราชการญี่ปุ่นประจำเกาหลีแก่ชาวเกาหลีผู้ซึ่งยอมรับ ภักดี แลเลื่อมใสศรัทธาในระบอบการปกครองใหม่ แลผู้ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามหน้าที่ในงานราชการนั้น
ข้อ 8 สนธิสัญญานี้ ได้รับพระบรมราชานุมัติจากสมเด็จพระจักรพรรดิกรุงญี่ปุ่นแลสมเด็จพระจักรพรรดิกรุงเกาหลีแล้ว ให้มีผลบังคับใช้เมื่อมีการประกาศใช้

ผู้มีอำนาจทั้งสองฝ่ายต่างได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญานี้ไว้เปนหลักฐานสำคัญ

22 สิงหาคม รัชศกเมจิปีที่ 43
寺內正毅 (เทราอุจิ มาซาตาเกะ) ผู้แทนพระองค์
22 สิงหาคม รัชศกยุงฮีปีที่ 4
李 完用 (อี วันยง) หัวหน้าคณะรัฐมนตรี

การเดินขบวน

[แก้]

ในวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 2007 หนังสือพิมพ์ Dong-a Ilbo ของเกาหลีรายงานว่า ตามราชประเพณี พระมหากษัตริย์ไม่เคยลงพระอภิไธยในเอกราชราชการด้วยพระนามจริง แต่พระองค์ถูกทางญี่ปุ่นบังคับให้ลงพระอภิไธยด้วยพระนามจริงตามอย่างมาตรฐานตะวันตก และระบุว่าการลงพระอภิไธยของพระเจ้าซุนจงอาจเป็นข้อบังคับ[3]

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 2010 สมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้ 75 คนเสนอให้ยกเลิกสนธิสัญญาญี่ปุ่น–เกาหลีแก่นายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง[4]

ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2010 มีกลุ่มปัญญาชนประมาณ 1,000 คนในเกาหลีและญี่ปุ่นออกมาเดินขบวน ถือว่าสนธิสัญญาฉบับนี้ไม่เคยมีผลบังคับใช้[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Caprio, Mark (2009). Japanese Assimilation Policies in Colonial Korea, 1910–1945. University of Washington Press. pp. 82–83. ISBN 978-0295990408.
  2. Hook, Glenn D. (2001). Japan's International Relations: Politics, Economics, and Security, p. 491. "It is confirmed that all treaties or agreements concluded between the Empire of Japan and the Empire of Korea on or before August 22, 1910 are already null and void.", p. 491, ที่กูเกิล หนังสือ
  3. "네이버 뉴스". Naver.
  4. 김 (Kim), 승욱 (Seung-uk) (June 23, 2010). ""한일병합 무효"..의원75명, 日총리에 건의 ("Japan–Korea Annexation Treaty Is Invalid".. Suggesting To The Japanese PM By 75 Congressmen)". Yonhap News Agency (ภาษาเกาหลี). สืบค้นเมื่อ June 23, 2010.
  5. 이 (Lee), 충원 (Chung-weon) (July 28, 2010). "韓日 지식인 1천명 "한국강제병합 원천무효" (1000 Korean and Japanese Scholars "Japan–Korea Annexation Treaty Is Originally Invalid")". Yonhap News Agency (ภาษาเกาหลี). สืบค้นเมื่อ August 2, 2010.

ข้อมูล

[แก้]
  • Beasley, W.G. (1991). Japanese Imperialism 1894–1945. Oxford University Press. ISBN 0-19-822168-1.
  • Duus, Peter (1998). The Abacus and the Sword: The Japanese Penetration of Korea, 1895–1910. University of California Press. ISBN 0-520-21361-0.
  • Korean Mission to the Conference on the Limitation of Armament, Washington, D.C., 1921–1922. (1922). Korea's Appeal to the Conference on Limitation of Armament. Washington: U.S. Government Printing Office. OCLC 12923609
  • United States. Dept. of State. (1919). Catalogue of treaties: 1814–1918. Washington: Government Printing Office. OCLC 3830508

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]