ระบบบริการสุขภาพในประเทศญี่ปุ่น
ระบบบริการสุขภาพในประเทศญี่ปุ่น ให้บริการสุขภาพต่าง ๆ รวมถึง การคัดกรองโรค, การดูแลก่อนคลอด (prenatal care), และการควบคุมโรคติดต่อ ประชาชนของประเทศญี่ปุ่นจะจ่ายค่าบริการสุขภาพสูงสุดไม่เกิน 30% ในขณะที่รัฐบาลจ่ายส่วนที่เหลือ 70% ของค่าบริการทางสุขภาพ การอุดหนุนค่าบริการสุขภาพของประชาชนนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (universal health care insurance system) ของรัฐบาลซึ่งสร้างการเข้าถึงของประชาชนอย่างเท่าเทียม ด้วยค่าบริการสุขภาพซึ่งตั้งโดยคณะกรรมการของรัฐ กฎหมายของประเทศบังคับให้ประชากรของประเทศญี่ปุ่นทุกคนต้องมีประกันสุขภาพของตัวเอง ผู้ที่ไม่มีประกันสุขภาพซึ่งทำโดยผู้ว่าจ้างงานจะได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการประกันสุขภาพของรัฐซึ่งบริหารดูแลโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในระบบนี้ ผู้ป่วยสามารถเลือกแพทย์หรือสถานพยาบาลได้อย่างอิสระโดยที่ประกันสุขภาพไม่สามารถปฏิเสธค่าใช้จ่ายได้ นอกจากนี้สถานพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นยังถูกบังคับด้วยกฎหมายให้ต้องดำเนินกิจการในรูปแบบไม่แสวงผลกำไร (non-profit) และต้องบริหารโดยแพทย์เท่านั้น
ค่าบริการทางการแพทย์นั้นถูกกำหนดอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาลเพื่อทำให้ราคาไม่สูงเกินไป และผู้ป่วยจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพียง 10%, 20% หรือ 30% ของค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น อัตราส่วนนี้ขึ้นอยู่กับรายได้ของครอบครัวและอายุของผู้ป่วย ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือนั้นรัฐบาลเป็นผู้จ่ายให้[1] อย่างไรก็ตามรัฐได้กำหนดขีดเริ่ม (thresholds) ต่อเดือนสำหรับแต่ละครัวเรือน ซึ่งค่ารักษาพยาบาลที่เกินค่าขีดเริ่มที่ตั้งไว้ก็จะถูกยกเลิกทิ้งไปหรือรัฐเป็นผู้อุดหนุนส่วนนั้นแทน ค่าขีดเริ่มนี้จะแบ่งตามรายได้และอายุเช่นเดียวกัน
ผู้ป่วยที่ไม่มีประกันสุขภาพจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองเต็มจำนวน อย่างไรก็ตามในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ รัฐบาลจะยกเลิกค่าใช้จ่ายทั้งหมดและอุดหนุนค่าใช้จ่ายส่วนนั้นแทน
ค่าใช้จ่าย
[แก้]สาธารณะ 14,256 พันล้านเยน(38.1%) |
รัฐบาล | 9,703 พันล้านเยน (25.9%) |
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น | 4,552 พันล้านเยน (12.2%) | |
ประกันสังคม 18,1319 พันล้านเยน (48.5%) |
ผู้ว่าจ้างงาน | 7,538 พันล้านเยน (20.1%) |
ลูกจ้าง | 10,5939 พันล้านเยน (28.3%) | |
จ่ายด้วยตนเอง (Out-of-pocket) | 4,757 พันล้านเยน (12.7%) | |
อื่น ๆ | 274 พันล้านเยน (0.7%) | |
รวม | 37,420พันล้านเยน |
---|
ในปี 2008 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของญี่ปุ่นคิดเป็น 8.2% ของจีดีพี หรือคิดเป็น 2,859.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อประชากร สูงเป็นอันดับที่ 20 ในบรรดาประเทศสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และคิดเป็นปริมาณเท่ากับค่าเฉลี่ยรวมของประเทศในกลุ่มด้วย[3] ในปี 2018 สัดส่วนค่าใช้ายของญี่ปุ่นได้เพิ่มเป็น 10.9% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกลุ่ม OECD ซึ่งอยู่ที่ 8.8%[3]
รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถวบคุมรายจ่ายได้เป็นหลายทศวรรษด้วยระบบตารางเวลาการใช้เงินคืนค่าบริการของรัฐที่เป็นระบบระเบียบ (nationally uniform fee schedule for reimbursement) นอกจากนี้รัฐบาลยังสามารถลดค่าบริการนี้ลงได้เมื่อเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวหรือฝืดเคือง[4] ในทศวรรษ 1980 ค่าใช้จ่ายการบริการสุขภาพของญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาทางอุตสาหกรรมแล้วหลายประเทศ (industrialised nations) ในขณะที่บางประเทศอย่างสหรัฐปล่อยให้ค่าบริการนี้สูงขึ้นเรื่อย ๆ ญี่ปุ่นกลับลงมือจัดการควบคุมอุตสาหกรรมสุขภาพอย่างจริงจังและแน่นหนาเพื่อควบคุมราคาบริการ[5] ค่าบริการสุขภาพทุกรูปแบบจะถูกตั้งและควบคุมทุกสองปีโดยผ่านการเจรจาระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกับแพทย์ ทุกบริการทางการแพทย์และทุกการใช้ยาจะถูกตั้งราคาไว้ที่มาตรฐานเดียวกันในทุกสถานพยาบาล ทั้งประเทศ หากแพทย์เลือกที่จะหลีกหนีระบบนี้ด้วยการเพิ่มจำนวนบริการทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยเพื่อเพิ่มรายได้ ก็อาจส่งผลให้ในการประเมินตั้งราคาในครั้งถัดไป รัฐบาลอาจลดราคาค่าบริการของบริการทางการแพทย์นั้น ๆ ลง[6] เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2002 เมื่อรัฐบาลลดค่าบริการ MRI ลง 35% จากสองปีก่อนหน้า[6] ดังนั้น จนถึงปี 2009 ค่าบริการ MRI ส่วนช่วงคอจึงอยู่ที่เพียง 98 ดอลลาร์สหรัฐในประเทศญี่ปุ่น เทียบกับในสหรัฐที่อยู่ที่ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ[7]
เมื่อค่าใช้จ่ายทางการแพทย์รวมของผู้ป่วยต่อเดือนนั้นถึงขีดสุดที่รัฐกำหนดไว้ จะไม่มีการเหมาจ่ายต่อไปอีกในเดือนนั้น ๆ[8] ค่าขีดเริ่ม (threshold) ของการเหมาจ่ายต่อเดือนนั้นแบ่งเป็นสามระดับตามรายได้และอายุของผู้ป่วย[4][9]
ประเทศญี่ปุ่นเลือกใช้ยาทั่วไป (generic drugs) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ในปี 2010 ญี่ปุ่นมีเป้าหมายในการเพิ่มยาเข้าไปในบัญชียาที่ครอบคลุมโดยประกันสุขภาพของรัฐ อาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการสูงอายุยังคงเป็นหนึ่งในความกังวลหลัก ผู้สูงอายุจึงเป็นเป้าหมายหลักของการวิจัยและการตลาดของบริษัทยาในญี่ปุ่น[10]
การจัดสรร
[แก้]ประชากรญี่ปุ่นมีการคาดหมายคงชีพเมื่อเกิด (life expectancy at birth) สูงที่สุดในโลก อยู่ที่ 83 ปี (ข้อมูลปี 2009) แยกเป็นเพศชายอยู่ที่ 79.6 ปี และเพศหญิงที่ 86.4 ปี[3] สิ่งนี้สำเร็จได้ในระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้นด้วยการลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคติดต่อลงอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษ 1950 ถึงต้นทศวรรษ 1960 ตามด้วยการลดอัตตราการเสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตกลงอย่างรวดเร็วในช่วงกลางทศวรรษ 1960[11]
ข้อมูลปี 2008 พบว่าจำนวนเตียงผู้ป่วยระยะเฉียบพลัน (acute care beds) ต่อประชากร 1000 คนอยู่ที่ 8.1 สูงกว่าประเทศสมาชิก OECD อย่างสหรัฐ ซึ่งอยู่ที่ 2.7[3] อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบโดยใช้ค่านี้อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก 34% ของผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลนานกว่า 30 วัน รวมกระทั่งเวลาที่พักรักษาตัวบนเตียง จะถูกรวมเป็นผู้ป่วยระยะเฉียบพลันทั้งหมด[12] โดยเฉลี่ยผู้ป่วยหนึ่งคนพบแพทย์ 13 ครั้งต่อปี มากกว่าสองเท่าของค่าเฉลี่ยรวมของประเทศสมาชิก OECD[13]
ข้อมูลปี 2008 ระบุว่ามีแพทย์ปฏิบัติการ 2.2 คนต่อประชากร 1000 คน ซึ่งใกล้เคียงกับสหรัฐที่ 2.4 ส่วนจำนวนพยาบาลปฏิบัติการอยู่ที่ 9.5 คนต่อประชากร 1000 คน ต่ำกว่าสหรัฐที่ 10.8 อยู่เล็กน้อย และเกือบเท่ากันกับสหราชอาณาจักร (9.5) และแคนาดา (9.2)[3] แพทย์และพยาบาลของญี่ปุ่นจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตลอดชีวิต โดยไม่ต้องมีการต่อใบอนุญาต ศึกษาต่อเพิ่มเติม และไม่มีการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงาน[14] แพทย์ทั่วไป (Generalist) กับแพทย์เฉพาะทาง (Specialist) ในญี่ปุ่นนั้นไม่ได้ถือว่าแตกต่างกันอย่างเป็นทางการ ปกติแล้วในญี่ปุ่น แพทย์จะถูกฝึกฝนให้เป็นแพทย์เฉพาะทางโดยตรง[15] โดยเมื่อจบการศึกษาในสาขาเฉพาะทางแล้ว มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เลือกประกอบอาชีพในฐานะแพทย์เฉพาะทางด้านที่ได้ศึกษามา ในขณะที่แพทย์ส่วนใหญ่มักเลือกที่จะออกจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่และมาประกอบอาชีพในโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก ๆ ตามต่างจังหวัดหรือเปิดคลินิกของตนเอง[4] ประเทศญี่ปุ่นไม่มีระบบสำหรับการเป็นแพทย์ทั่วไปโดยตรง ต่างกันกับหลายประเทศ จึงทำให้ผู้ป่วยมักพบแพทย์เฉพาะทางในคลินิกต่าง ๆ โดยตรง ระบบการศึกษาที่เป็นหลักสูตรสำหรับแพทย์ทั่วไปเพิ่งมีครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี 1978 ที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ซางะ (Saga Medical University)
คุณภาพ
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ดูเพิ่ม
[แก้]- สาธารณสุขในประเทศญี่ปุ่น
- การสูงอายุของประเทศญี่ปุ่น (Aging of Japan)
- Erwin Bälz — ที่ปรึกษาต่างประเทศของรัฐบาลญี่ปุ่นในยุคเมอิจิ และหนึ่งในผู้ร่วมให้กำเนิดการแพทย์สมัยใหม่ในญี่ปุ่น
- ศูนย์การแพทย์สาธารณะในประเทศญี่ปุ่น
- ประชาสงเคราะห์ในประเทศญี่ปุ่น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Archived copy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-08. สืบค้นเมื่อ 2012-02-01.
{{cite web}}
: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์) - ↑ National health expenditures summary (Report). Ministry of Health, Labour, and Welfare. 2010-09-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2013-11-18.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 OECD. "OECD Health Data". OECD. สืบค้นเมื่อ 2 September 2019.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Hashimoto, Hideki (24 September 2011). "Cost containment and quality of care in Japan: is there a trade-off?". The Lancet. 378 (9797): 1175. doi:10.1016/S0140-6736(11)60987-2. PMID 21885098.
- ↑ Arnquist, Sarah (August 25, 2009). "Health Care Abroad: Japan". The New York Times. สืบค้นเมื่อ January 28, 2010.
- ↑ 6.0 6.1 "Sick around the world". Frontline. April 15, 2008. 17 นาที. PBS.
- ↑ Reid, T.R. (August 23, 2009). "5 Myths About Health Care Around the World". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ January 28, 2010.
- ↑ Ito, Masanori (December 2004). "Health insurance systems in Japan: a neurosurgeon's view". Neurologia Medico-Chirurgica. 44 (12): 624. doi:10.2176/nmc.44.617. PMID 15684593.
- ↑ "Catastrophic coverage". Ministry of Health, Labour and Welfare. สืบค้นเมื่อ 3 February 2012.
- ↑ Blecken, David (October 2010). "Healthcare Report: Japan: Hope for Change". Campaign Asia-Pacific: 90–91 – โดยทาง Ebscohost.
- ↑ Ikeda, Nayu (17 September 2011). "What has made the population of Japan healthy?". The Lancet. 378 (9796): 1094–105. doi:10.1016/S0140-6736(11)61055-6. PMID 21885105.
- ↑ "Patient survey 2008". Ministry of Health, Labour and Welfare. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 January 2012. สืบค้นเมื่อ 3 February 2012.
- ↑ Britnell, Mark (2015). In Search of the Perfect Health System. London: Palgrave. p. 17. ISBN 978-1-137-49661-4.
- ↑ Hirose, Masahiro (October 2003). "How can we improve the quality of health care in Japan? Learning from JCQHC hospital accreditation". Health Policy. 66 (1): 32. PMID 14499164.
- ↑ Matsumoto, Masatoshi (August 2005). "Factors associated with rural doctors' intention to continue a rural career: a survey of 3072 doctors in Japan". The Australian journal of rural health. 13 (4): 219–220. doi:10.1111/j.1440-1584.2005.00705.x. PMID 16048463.
บรรณานุกรม
[แก้]- 講談社インターナショナル (2003). Bairingaru Nihon jiten (ภาษาญี่ปุ่น) (2003 ed.). 講談社インターナショナル. ISBN 4-7700-2720-6. - Total pages: 798
- "employees' health insurance". Japan: An Illustrated Encyclopedia. Tokyo: Kodansha Ltd. 1993. ISBN 4069310983. OCLC 27812414. (set), (volume 1). - Total pages: 1924
- Rapoport, John; Jacobs, Philip; Jonsson, Egon (13 July 2009). Cost Containment and Efficiency in National Health Systems: A Global Comparison Health Care and Disease Management (2009 ed.). Wiley-VCH. ISBN 978-3-527-32110-0. - Total pages: 247