ข้ามไปเนื้อหา

มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม

พิกัด: 52°56′20″N 1°11′49″W / 52.939°N 1.197°W / 52.939; -1.197
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม
The University of Nottingham
ตราอาร์มประจำมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม
คติพจน์ลาติน: Sapientia urbs conditur
อังกฤษ: A city is built on wisdom
ไทย: รากฐานของเมืองคือปัญญา
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาล
สถาปนาพ.ศ. 2491 - ได้รับพระบรมราชโองการให้เป็นมหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2424 - วิทยาลัยอุดมศึกษานอตทิงแฮม
ที่ตั้ง, ,
52°56′20″N 1°11′49″W / 52.939°N 1.197°W / 52.939; -1.197
สีเขียวแก่ เหลืองทอง คราม ขาว        
เครือข่ายสมาคมมหาวิทยาลัยเครือจักรภพ
สมาคมบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต
EQUIS
สมาคมมหาวิทยาลัยยุโรป
กลุ่มรัสเซล
กลุ่มเวอร์โก
ยูนิเวอร์ซิตัส 21
ซัตตันทรัสต์
กลุ่มเอ็มห้า
เว็บไซต์www.nottingham.ac.uk

มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม (University of Nottingham) เป็นสถาบันอุดมศึกษาเน้นวิจัยขนาดใหญ่มากในสหราชอาณาจักร มีชื่อเสียงด้านแพทยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ตั้งที่เมืองนอตทิงแฮม แคว้นนอตทิงแฮมเชอร์ นอกจากที่ตั้งในเมืองนอตทิงแฮมแล้ว มหาวิทยาลัยยังขยายการสอนไปยังประเทศมาเลเซียและประเทศจีนอีกด้วย

มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2424 ในฐานะวิทยาลัยอุดมศึกษานอตทิงแฮม และได้รับพระบรมราชโองการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2491 มหาวิทยาลัยเป็นสมาชิกก่อตั้งกลุ่มรัสเซล ซึ่งเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยขนาดใหญ่ในสหราชอาณาจักร ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาที่มีนักศึกษาทุกระดับมากที่สุดเป็นอันดับที่สอง รองจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ โดยไม่นับมหาวิทยาลัยเปิด (Open University)[1]

ประวัติ

[แก้]

มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมเริ่มต้นจากโรงเรียนผู้ใหญ่ประจำอำเภอนอตทิงแฮมซึ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2341 ครั้นโรงเรียนผู้ใหญ่ดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ขยายหลักสูตรมาสอนที่โรงเรียนเมื่อ พ.ศ. 2416[2] การดำเนินการสอนเป็นไปได้ด้วยดี ต่อมาในปี พ.ศ. 2420 วิลเลียม แกลดสตัน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์วิทยาลัยอุดมศึกษา (university college) ซึ่งเปิดดำเนินการในห้วงเวลาสี่ปีต่อมา เพื่อรองรับจำนวนสาขาวิชาที่มีมากขึ้นและวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้นตาม[3] หลังจากการสร้างอาคารต่าง ๆ เสร็จแล้ว เจ้าชายลีโอโพลด์ พระราชโอรสของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ทรงประกอบพิธีเปิดอาคารเรียนถนนเชคสเปียร์[3] การเรียนการสอนในขณะนั้นมีอาจารย์เพียงสี่คนในสาขาวิชาวรรณคดี เคมี ฟิสิกส์ และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ผู้สอบได้ตามหลักสูตรในขณะนั้นจะได้รับปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยลอนดอน เนื่องจากวิทยาลัยฯ เป็นส่วนงานของมหาวิทยาลัยลอนดอน

หลังจากที่วิทยาลัยเปิดดำเนินการไปสักระยะ มีการเพิ่มสาขาวิชาต่าง ๆ ดังนี้

  • พ.ศ. 2427 จัดตั้งสาขาวิชาวิศวกรรม
  • พ.ศ. 2436 จัดตั้งสาขาวิชาปรัชญา
  • พ.ศ. 2440 จัดตั้งสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส
  • พ.ศ. 2448 จัดตั้งสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ และแยกสาขาวิชาฟิสิกส์กับเคมีออกจากกัน
  • พ.ศ. 2454 จัดตั้งสาขาวิชาภาษาอังกฤษ และสาขาวิชาเหมืองแร่
  • พ.ศ. 2455 จัดตั้งสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ และสาขาวิชาธรณีวิทยา
  • พ.ศ. 2457 จัดตั้งสาขาวิชาประวัติศาสตร์
  • พ.ศ. 2466 จัดตั้งสาขาวิชาการศึกษาผู้ใหญ่
  • พ.ศ. 2468 จัดตั้งสาขาวิชาเภสัชศาสตร์[2]
  • ได้มีการเพิ่มคณะวิชาวิศวกรรมเมื่อ พ.ศ. 2427 คณะวิชาปรัชญาเมื่อ พ.ศ. 2436 คณะวิชาภาษาฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2440 และคณะวิชาศึกษาศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2448 โดยลำดับ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ทรงตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมขึ้น โดยแปรสภาพวิทยาลัยอุดมศึกษานอตทิงแฮมที่มีอยู่เดิม

ส่วนงาน

[แก้]

มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมมีคณะวิชาทั้งสิ้น 5 คณะ แต่ละคณะมีภาควิชาต่าง ๆ ปฏิบัติการสอนและวิจัยในสาขาวิชาของตน ดังนี้[4]

  • คณะศิลปศาสตร์
    • ภาควิชาอเมริกันและแคนาดาศึกษา
    • ภาควิชาโบราณคดี
    • ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ
    • ภาควิชาศิลปะโบราณ
    • ภาควิชาวัฒนธรรม ภาพยนตร์ และสื่อ
    • ภาควิชาวัฒนธรรม ภาษา และท้องถิ่นศึกษา
    • ภาควิชาภาษาอังกฤษ
    • ภาควิชาภาษาฝรั่งเศสและฝรั่งเศสศึกษา
    • ภาควิชาเยอรมันศึกษา
    • ภาควิชาประวัติศาสตร์
    • ภาควิชามนุษยศาสตร์
    • ศูนย์ภาษา
    • ภาควิชาดุริยศาสตร์
    • ภาควิชาปรัชญา
    • ภาควิชารัสเซียและสลาฟศึกษา
    • ภาควิชาสเปน โปรตุเกส และลาตินอเมริกันศึกษา
    • ภาควิชาเทววิทยาและศาสนศาสตร์
  • คณะแพทยศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ
    • ภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
    • ภาควิชาชีววิทยาศาสตร์ (life science)
    • ภาควิชาแพทยศาสตร์
    • ภาควิชาสัตวแพทยศาสตร์
  • คณะวิทยาศาสตร์
    • ภาควิชาชีววิทยาและชีวประยุกต์ (biosciences)
    • ภาควิชาเคมี
    • ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์
    • ภาควิชาคณิตศาสตร์
    • ภาควิชาเภสัชศาสตร์
    • ภาควิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์
    • ภาควิชาจิตวิทยา
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์
    • ภาควิชาสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง
    • ภาควิชาวิศวกรรมเคมีและสิ่งแวดล้อม
    • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา
    • ภาควิชาวิศวกรรมพื้นฐานและวิทยาศาสตร์กายภาพ
    • ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
    • ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล วัสดุ และการผลิต
  • คณะสังคมศาสตร์
    • ภาควิชาจีนศึกษาร่วมสมัย
    • ภาควิชาเศรษฐศาสตร์
    • ภาควิชาศึกษาศาสตร์
    • ภาควิชาภูมิศาสตร์
    • ภาควิชานิติศาสตร์
    • ภาควิชาบริหารธุรกิจ
    • ภาควิชารัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
    • ภาควิชาสังคมวิทยาและนโยบายสังคม

ที่ตั้ง

[แก้]

มหาวิทยาลัยทำการสอนเป็นหลักภายในเขตจังหวัดนอตทิงแฮมเชอร์ และมีวิทยาเขตต่างประเทศสองแห่ง แห่งหนึ่งที่ประเทศจีน อีกแห่งหนึ่งที่ประเทศมาเลเซีย

วิทยาเขตยูนิเวอร์ซิตีพาร์ก

[แก้]
วิทยาเขตยูนิเวอร์ซิตีพาร์ก มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม
สวนมิลเลนเนียมพาร์ก มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมได้ถูกจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยเขียวที่สุดในโลกประจำปี พ.ศ. 2554 (52°56′19″N 1°11′59″W / 52.9387°N 1.1998°W / 52.9387; -1.1998)

มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมมีที่ตั้งหลักที่ด้านตะวันตกของเมืองนอตทิงแฮม มีพื้นที่ 834 ไร่เศษ ลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยในสวนออกแบบสวยงาม[5][6]จนได้รับรางวัลธงเขียวติดกันหลายปีซ้อน[7]

วิทยาเขตเฉลิมภาญจนาภิเษก

[แก้]

นอกจากวิทยาเขตยูนิเวอร์ซิตีพาร์กแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้จัดสร้างวิทยาเขตจูบิลี หรือวิทยาเขตเฉลิมกาญจนาภิเษกขึ้น ออกแบบโดยไมเคิล ฮอปกินส์ (Michael Hopkins) สถาปนิกชาวอังกฤษ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2542 ใช้เป็นที่ตั้งของภาควิชาศึกษาศาสตร์ วิทยาลัยผู้นำโรงเรียนแห่งชาติ (National College for School Leadership) ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และภาควิชาบริหารธุรกิจ วิทยาเขตจูบิลีได้รับรางวัลอนุรักษ์พลังงานเมื่อ พ.ศ. 2548[8] จุดเด่นในวิทยาเขตประกอบด้วยเสาแดงแอสไปร์ (Aspire) ซึ่งเป็นประติมากรรมทำด้วยเหล็กทาสีแดงสูง 60 เมตร วิทยาเขตจูบิลีได้รับการต่อเติมอาคาร โดยล่าสุดเป็นอาคารที่ออกแบบโดยเคน ชัทเทิลเวิร์ท (Ken Shuttleworth) ซึ่งเป็นผู้ออกแบบอาคารเกอร์คิน (Gherkin) ในกรุงลอนดอน ด้วยหมายจะทำให้วิทยาเขตแห่งนี้ได้รับความสนใจ แต่ประชาชนกลับลงคะแนนให้เป็นอาคารที่ออกแบบได้แย่อันดับสองของประเทศ[9]

ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2557 อาคารแกล็กโซสมิทไคลน์ ขณะกำลังก่อสร้างได้ถูกไฟไหม้เสียหาย[10][11]

อาคารพอร์ตแลนด์ ใช้เป็นที่ตั้งสโมสรนักศึกษาและศูนย์บริการนักศึกษา

วิทยาเขตขนาดเล็ก

[แก้]

มหาวิทยาลัยทำการเรียนการสอนสาขาแพทย์เฉพาะทาง อาทิ เวชศาสตร์ทางเดินหายใจ เวชศาสตร์โรคหัวใจล้มเหลว วิทยาเนื้องอก กายภาพบำบัด และสาธารณสุข ที่โรงพยาบาลนอตทิงแฮมเบสต์วูด ทางตอนเหนือของตัวเมือง ส่วนสาขาชีวศาสตร์ สาขาสัตวแพทยศาสตร์ ทำการสอนที่วิทยาเขตซัตตันโบนิงตัน (Sutton Bonington Campus) ในท้องที่อำเภอรัชคลิฟฟ์ (Rushcliffe) ติดกับจังหวัดเลสเตอร์เชอร์ ห่างจากใจกลางเมืองไปทางใต้ 19 กิโลเมตร

วิทยาเขตคิงส์มีโดว์ (King's Meadow Campus) ตั้งไม่ห่างจากวิทยาเขตยูนิเวอร์ซิตีพาร์กมากนัก เดิมทีเป็นสถานีส่งวิทยุโทรทัศน์เซนทรัลอินดีเพนเดนซ์ ปัจจุบันใช้เป็นสถานฝึกสอนด้านการถ่ายภาพยนตร์และข่าวโทรทัศน์

วิทยาเขตต่างประเทศ

[แก้]

นอกเหนือจากที่ตั้งในอำเภอนอตทิงแฮมแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้จัดตั้งวิทยาเขตต่างประเทศที่รัฐสลังงอ ประเทศมาเลเซีย (พ.ศ. 2542) และจังหวัดหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. 2548)

วิทยาเขตมาเลเซียของมหาวิทยาลัยได้รับรางวัลพระราชทานสำหรับวิสาหกิจดีเด่น (Queen's Award for Enterprise) เมื่อ พ.ศ. 2544 และรางวัลพระราชทานสำหรับอุตสาหกรรม (ด้านการค้าต่างประเทศ) เมื่อ พ.ศ. 2549[12] ต่อมาได้ย้ายที่ตั้งจากรัฐสลังงอเข้ามายังตอนใต้ของกัวลาลัมเปอร์

วิทยาเขตจีน เปิดดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2548 โดยได้สร้างอาคารปลอดมลพิษแห่งแรกของจีน ต่อมาได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนตะวันออก จัดตั้งสถานศึกษาชั้นสูงซั่งไห่-นอตทิงแฮม (Shanghai Nottingham Advanced Academy (SNAA)) เพื่อให้การเรียนการสอนร่วมกันในทุกระดับ โดยกำหนดให้นักศึกษาต้องไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมระยะหนึ่งด้วย[13]

วิชาการ

[แก้]
อาคารมนุษยศาสตร์ที่วิทยาเขตยูนิเวอร์ซิตีพาร์ก
อาคารเทรนต์

มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย และมีอาจารย์ได้รับรางวัลโนเบลแล้วสองท่าน[14] หนึ่งในนั้นคือปีเตอร์ แมนสฟีลด์ (Peter Mansfield) ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทยศาสตร์ประจำปี พ.ศ. 2546 งานวิจัยหลักที่เขาทำเป็นด้านการถ่ายภาพด้วยการสั่นพ้องแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging; MRI) นอกจากนี้ เฟรเดอริก คิปปิง (Frederick Kipping) ศาสตราจารย์สาขาเคมี (พ.ศ. 2440 - 2479) ได้ค้นพบโพลิเมอร์ซิลิโคน[15] ไม่เพียงเท่านั้น มหาวิทยาลัยยังได้คิดค้นการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมะเขือเทศ การฝังเครื่องช่วยฟัง (Cochlear Implant) และการจัดการเหตุฉุกเฉินบนอากาศยาน ด้วยเหตุนี้เอง มหาวิทยาลัยได้จัดหาคอมพิวเตอร์กำลังสูงเทราฟลอป 16 เครื่องมาใช้งาน[16]

ภาควิชา 26 ภาคของมหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับ 5 หรือ 5* (ยอดเยี่ยมระดับนานาชาติ) ในการประเมินกำลังวิจัยประจำปี พ.ศ. 2544 (Research Assessment Exercise) โดยสภาทุนวิจัยแห่งสหราชอาณาจักร[17] การประเมินครั้งถัดมาเมื่อ พ.ศ. 2551 มหาวิทยาลัยยังคงได้รับอันดับที่ดีตามเคย คือ ได้กำลังวิจัยอันดับ 7 ของสหราชอาณาจักร[18] ในปีการศึกษา 2552/2553 มหาวิทยาลัยได้รับเงินทุนวิจัยนับ 150 ล้านปอนด์[19] และนับเป็นมหาวิทยาลัยที่ประสบความสำเร็จในการสมัครขอรับทุนวิจัยเป็นอันดับสอง นำหน้ามหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด วิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน และวิทยาลัยอุดมศึกษาลอนดอน[20]

มหาวิทยาลัยมีความร่วมมือกันกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผลิตบัณฑิตหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต โดยใน 3 ปีแรก (ระดับพรีคลินิก) นิสิตจะศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม ส่วน 3 ปีหลัง จะฝึกปฏิบัติระดับคลินิกที่ศูนย์การแพทย์ มศว องครักษ์ ทั้งนี้นิสิตต้องเสียค่าเล่าเรียนให้แก่สถาบันทั้งสองเอง และจะได้รับปริญญาบัตรของสถาบันทั้งสองเมื่อสำเร็จการศึกษา[21][22] นอกจากนี้ มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[23] และมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต โดยกำหนดให้นักศึกษาเรียนสองปีแรกที่ มธ. และสองปีหลังที่ UoN หลังสำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาบัตรของทั้งสองสถาบันเช่นกัน

การรับเข้าศึกษา

[แก้]

จากข้อมูลของสำนักสถิติอุดมศึกษา (Higher Education Statistics Agency; HESA) มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมมีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าหากนับตามการลงทะเบียนเรียนของนักศึกษา[24] โดยมีนักศึกษามากถึง 30,000 คน จาก 130 ประเทศทั่วโลก[25]

ในปี พ.ศ. 2543 มหาวิทยาลัยได้รับใบสมัครถึง 49,000 ใบ แต่สามารถรับเข้าศึกษาได้เพียง 5,500 คนเท่านั้น จึงทำให้เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีนักเรียนนิยมเลือกมากที่สุดในสหราชอาณาจักร ในจำนวนนี้ 40% เป็นนักเรียนโรงเรียนเอกชน[26] แนวโน้มเดียวกันนี้พบได้ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้แก่ มหาวิทยาลัยบริสตอล มหาวิทยาลัยเดอแรม และมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ซึ่งมีนักศึกษาฐานะดีจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยจึงต้องเปิดสอนภาคฤดูร้อน (ซัมเมอร์สคูล) เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกและนักศึกษาสถาบันอื่นเข้ามาเรียนได้โดยไม่ยึดฐานะ[27]

มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีจำนวนนักศึกษามาก โดยมีนักศึกษาทุกระดับมากเป็นอันดับสองรองจากมหาวิทยาลัยเปิดและมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ และมีนักศึกษาต่างชาตินอกสหภาพยุโรปมากที่สุดเป็นอันดับสาม รองจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์และมหาวิทยาลัยลอนดอน[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "Table 1 - UK/EU/non-EU students by HE provider". hesa.ac.uk. Higher Education Statistics Agency. 21 January 2014. สืบค้นเมื่อ 12 February 2015.
  2. 2.0 2.1 The University of Nottingham Calendar  . "The University of Nottingham Calendar 2010–11". Nottingham.ac.uk. สืบค้นเมื่อ 2 January 2011.{{cite web}}: CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์)
  3. 3.0 3.1 "A Brief History of the University". University of Nottingham. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-04. สืบค้นเมื่อ 5 October 2008.
  4. [1]
  5. "360° tour — The University of Nottingham — University Park campus". BBC. สืบค้นเมื่อ 12 May 2007.
  6. "University profiles: University of Nottingham". The Guardian. London. 1 May 2007. สืบค้นเมื่อ 12 May 2007.
  7. "University Park is England's greenest campus". Su.nottingham.ac.uk. 20 July 2009. สืบค้นเมื่อ 2 January 2011.
  8. "Jubilee Campus – The University of Nottingham". Ukcorr.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-28. สืบค้นเมื่อ 2 January 2011.
  9. By dmonk. "The Amenities Building by Make Architects at the University of Nottingham came second in the Carbuncle Award". Thisisnottingham.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-17. สืบค้นเมื่อ 2 January 2011.
  10. "University of Nottingham blaze: Sixty firefighters at scene". BBC News. สืบค้นเมื่อ 13 September 2014.
  11. "Nottingham university fire destroys new multimillion-pound chemistry building". Guardian.
  12. "Malaysia Campus – The University of Nottingham". Nottingham.ac.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-22. สืบค้นเมื่อ 2 January 2011.
  13. "A new joint venture in China for The University of Nottingham". Nottingham.ac.uk. สืบค้นเมื่อ 15 March 2013.
  14. "The University of Nottingham – Undergraduate Study – Nobel winners". Nottingham.ac.uk. สืบค้นเมื่อ 2 January 2011.
  15. "Kipping Silicone Polymers". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-01. สืบค้นเมื่อ 2 September 2012.
  16. "Minerva is "Notts most powerful computer"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-05. สืบค้นเมื่อ 5 June 2013.
  17. "UK Education | Oxbridge research is tops". BBC News. 2001-12-14. สืบค้นเมื่อ 2012-06-04.
  18. "The University of Nottingham – Undergraduate Study – Why Nottingham". Nottingham.ac.uk. สืบค้นเมื่อ 2 January 2011.
  19. "Research funding hits £150m at The University of Nottingham – The University of Nottingham". Nottingham.ac.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-24. สืบค้นเมื่อ 2 January 2011.
  20. "News ArticleUniversity hits record high in research funding". Communications.nottingham.ac.uk. 10 September 2009. สืบค้นเมื่อ 2 January 2011.
  21. "The Joint Medical Programme University of Nottingham, UK and Srinakharinwirot University, Thailand". swu.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-28. สืบค้นเมื่อ 10 February 2015.
  22. "ประกาศ มศว. เรื่อง คัดเลือกหลักสูตร พ.บ. มศว. - นอตติงแฮม" (PDF). 1 สิงหาคม 2556. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  23. "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: โครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน (TEP)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-24. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  24. "Table 0a — All students by institution, mode of study, level of study, gender and domicile 2006/07" (Microsoft Excel spreadsheet). Higher Education Statistics Agency. สืบค้นเมื่อ 11 April 2008.
  25. University of Nottingham: International Students เก็บถาวร 2008-09-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 23 June 2008.
  26. ในอังกฤษเรียก Public School
  27. "Most Middle Class" (PDF). The Times. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-10-10. สืบค้นเมื่อ 27 May 2010.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]