พระเจ้ามานูแวลที่ 2 แห่งโปรตุเกส
พระเจ้ามานูแวลที่ 2 | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระบรมฉายาลักษณ์ ปี 1909 | |||||
พระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกสและอัลการ์วึช | |||||
ครองราชย์ | 1 กุมภาพันธ์ 1908 - 5 ตุลาคม 1910 | ||||
พิธีอวยองค์ | 6 พฤษภาคม 1908 | ||||
ก่อนหน้า | การ์ลุชที่ 1 | ||||
ถัดไป | ราชาธิปไตยถูกล้มล้าง หรือ เตโอฟีโล บรากา (ประธานาธิบดีรัฐบาลเฉพาะกาลแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกส) | ||||
นายกรัฐมนตรี | ดูรายชื่อ | ||||
พระราชสมภพ | 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1889 พระราชวังเบเล็ม ลิสบอน ราชอาณาจักรโปรตุเกส | ||||
สวรรคต | 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 ฟูลเวล มิดเดิลเซ็กส์ ประเทศอังกฤษ | (42 ปี)||||
ฝังพระศพ | 2 สิงหาคม ค.ศ. 1932 วิหารแพนธีออนแห่งราชวงศ์บรากังซา | ||||
พระมเหสี | เจ้าหญิงเอากุสเทอ วิคโทรีอาแห่งโฮเอินท์ซ็อลเลิร์น | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | บรากังซา | ||||
พระราชบิดา | พระเจ้าการ์ลุชที่ 1 แห่งโปรตุเกส | ||||
พระราชมารดา | เจ้าหญิงอเมลีแห่งออร์เลอ็อง | ||||
ศาสนา | โรมันคาทอลิก | ||||
ลายพระอภิไธย |
พระเจ้ามานูแวลที่ 2 แห่งโปรตุเกส (โปรตุเกส: Manuel II de Portugal; 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1889 - 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1932) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกสและอัลการ์วึพระองค์สุดท้าย มีพระราชสมัญญานามว่า "ผู้รักชาติ" (o Patriota) หรือพระนามว่า "ผู้เคราะห์ร้าย" (o Desventurado) ทรงสืบราชบัลลังก์หลังจากเกิดเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์พระเจ้าการ์ลุชที่ 1 แห่งโปรตุเกส ผู้เป็นพระราชบิดาและเจ้าชายลูอิส ฟิลิเป รัชทายาทแห่งโปรตุเกส ผู้เป็นพระเชษฐา ก่อนที่จะทรงสืบราชบัลลังก์พระองค์ทรงได้รับพระอิสริยยศ "ดยุกแห่งเบฌา" รัชสมัยของพระองค์สิ้นสุดลงด้วยการล้มล้างราชาธิปไตยจากเหตุการณ์การปฏิวัติ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1910 และพระเจ้ามานูแวลทรงดำรงพระชนม์ชีพอย่างสงบในระหว่างทรงถูกเนรเทศโดยสาธารณรัฐโปรตุเกสที่หนึ่ง
ช่วงต้นพระชนม์ชีพ
[แก้]เจ้าชาย มานูแวล มารีอา ฟิลิเป คาร์ลอส อเมลีโอ ลูอิส มิเกล ราฟาเอล กาเบรียล กอนซากา ฟรังซิสโก เดอ อัซซิส ยูจีนีโอ เดอ บรากังซา ประสูติในช่วงปีสุดท้ายของรัชกาลพระเจ้าลูอิสที่ 1 แห่งโปรตุเกส ผู้เป็นพระอัยกา โดยเจ้าชายมานูแวลทรงเป็นพระราชบุตรองค์ที่สาม,[1]และทรงเป็นองค์สุดท้อง เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าการ์ลุชที่ 1 แห่งโปรตุเกสกับเจ้าหญิงอเมลีแห่งออร์เลออง ประสูติ ณ พระราชวังเบเล็ม กรุงลิสบอน ราชอาณาจักรโปรตุเกส เป็นเวลา 7 เดือนก่อนที่พระราชบิดาจะทรงสืบราชบัลลังก์ พระองค์ทรงได้รับพิธีศีลจุ่ม[2]ในไม่กี่วันต่อมาโดยมีพระอัยกาฝ่ายพระมารดาเป็นพระบิดาอุปถัมภ์ อดีตจักรพรรดิเปดรูที่ 2 แห่งบราซิล ผู้ทรงถูกล้มล้างราชบัลลังก์แห่งจักรวรรดิบราซิลในวันที่เจ้าชายมานูแวลประสูติพอดี ก็ทรงเข้าร่วมพระราชพิธีนี้ด้วย
เจ้าชายทรงได้รับการศึกษาแบบดั้งเดิมสำหรับพระราชวงศ์โดยไม่ต้องมุ่งไปในทางการเมืองเหมือนกับพระเชษฐาของพระองค์ ผู้ซึ่งทรงถูกกำหนดมาตั้งแต่ประสูติแล้วในฐานะพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป แม้ว่าเจ้าชายมานูแวลจะทรงอยู่ในระดับของชนชั้นสูงแต่พระองค์ทรงได้รับเสียงนิยมจากประชาชนมากขึ้นหลังจากสืบราชบัลลังก์ และทรงละเลิกระเบียบการตามประเพณีของราชสำนัก[3] พระองค์ทรงศึกษาด้านประวัติศาสตร์และภาษา และในขณะทรงมีพระชนมายุ 6 พรรษาทรงสามารถเขียนและตรัสภาษาฝรั่งเศสได้ พระองค์ทรงศึกษาด้านดนตรีกับอเล็กซ็องร์ เรย์ โคลาโค นักเปียโน ตั้งแต่เริ่มต้นพระองค์แสดงให้เห็นถึงความโน้มเอียงไปในทางวรรณกรรมและการอ่าน ซึ่งเมื่อเทียบกับพระเชษฐา ซึ่งทรงสนพระทัยด้านการออกกำลังทางกาย ในรูปแบบที่ถูกกำหนดโดยพระอัยกาและพระอัยยิกาของพระองค์ (สมเด็จพระราชินีนาถมารีอาที่ 2 และ พระเจ้าเฟอร์นันโดที่ 2) ทำให้เจ้าชายมานูแวลทรงศึกษาการทรงม้า, ฟันดาบ, การพายเรือ, การเล่นเทนนิสและการทำสวน พระองค์ทรงโปรดที่จะฟังเพลงของเบโทเฟนและวากเนอร์ และทรงโปรดการเล่นเปียโน
เมื่อทรงพระเยาว์ เจ้าชายมานูแวลทรงเล่นกับบุตรของเคานท์แห่งฟิกูเอโร, บุตรของเคานท์แห่งกัลวีอัสและครอบครัวที่เหลือในราชสำนักด้วยความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและจริงใจ ในปี ค.ศ. 1902 พระองค์ทรงได้รับการศึกษาจากฟรานซ์ เคเราซ์ (ด้านวรรณกรรมละตินและเยอรมัน) ต่อมาทรงรับการศึกษาจากบาทหลวงฌูเอา ดามาสเซโน ฟิอาเดโร (ด้านประวัติศาสตร์โปรตุเกส), มาร์เกวส เลเตา (ด้านคณิตศาสตร์), เอ็ม. บัวเยร์ (ด้านภาษาฝรั่งเศสและวรรณกรรมฝรั่งเศส), อัลฟรีโด คิง (ด้านภาษาอังกฤษและวรรณกรรมอังกฤษ), บาทหลวง โดมินโกส ฟรุกตูโอโซ (ด้านศาสนาและศีลธรรม) และอเล็กซ็องร์ เรย์ โคลาโค (อาจารย์สอนเปียโนของพระองค์)
พระองค์ทรงเสด็จประพาสในปี ค.ศ. 1903 พร้อมกับสมเด็จพระราชินีอเมลี พระราชมารดาและพระเชษฐาไปยังอียิปต์ ด้วยเรือพระที่นั่ง อเมเลีย เพื่อเพิ่มความเข้าใจของพระองค์ในด้านอารยธรรมโบราณ หลังปี ค.ศ. 1907 พระองค์ทรงเริ่มเข้ารับการศึกษาในวิทยาลัยราชนาวีโปรตุเกส เพื่อเตรียมตัวปฏิบัติพระกรณียกิจในฐานะ นาวิกโยธิน
การลอบปลงพระชนม์ที่ลิสบอน
[แก้]อาชีพของพระองค์ในฐานะราชนาวีต้องเลื่อนออกไปทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1908 ในวันนั้นพระราชวงศ์ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับจากวิลลา วีคอซาไปยังกรุงลิสบอน ทรงประทับในรถโค้ชไปยังบาร์เรโร และจากนั้นทรงประทับเรือข้ามแม่น้ำเทกัสและเสด็จลงเรือที่กาอิสโดโซเดร ระหว่างทางเสด็จกลับพระราชวังอาจูดา ในพระราชพาหนะมีพระเจ้าคาร์ลอสและพระราชวงศ์ของพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินผ่านปรากาโดกอมเมอซีโอ ขณะที่พระราชวงศ์เสด็จผ่านจัตุรัสนี้ ปืนได้ถูกยิงมาจากฝูงชนโดยผู้ประทุษร้ายอย่างน้อยสองคนคือ อัลเฟรโด ลูอิส ดา คอสตาและมานูแวล บุยกา เป็นที่ชัดเจนว่ามือสังหารพยายามลอบปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์, เจ้าชายรัชทายาทและนายกรัฐมนตรี ฌูเอา ฟรังโก ผู้ซึ่งประกาศยุบสภาและปกครองประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีเผด็จการ ผู้ลอบปลงพระชนม์ถูกสังหารโดยทหารราชองครักษ์และต่อมาทหารราชองครักษ์ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคสาธารณรัฐโปรตุเกส พระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตในทันที องค์รัชทายาทเจ้าชายลูอิส ฟิลิเป ทรงบาดเจ็บสาหัส เจ้าชายมานูแวลทรงถูกตีเข้าที่พระพาหา (แขน) สมเด็จพระราชินีอเมลีไม่ทรงได้รับอันตราย เป็นพระดำริอย่างรวดเร็วของพระราชินีโดยทรงปกป้องพระราชโอรสองค์เล็กไว้ได้ด้วยการดึงเจ้าชายมานูแวลให้หมอบลงกับพื้นรถม้า จึงทำให้ทรงดำรงพระชนม์ชีพมาได้ในที่สุด 20 นาทีต่อมาเจ้าชายลูอิส ฟิลิเป สิ้นพระชนม์ ในภายหลังพระเจ้ามานูแวลที่ 2 ทรงมีพระราชดำรัสถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า
ข้าพเจ้าเห็นชายคนหนึ่งมีเคราดำ[…]เปิดเสื้อคลุมของเขาแล้วเอาปืนสั้นออกมา[…] เมื่อข้าพเจ้าเห็น[เขา] […]เล็งปืนไปที่รถ ข้าพเจ้าก็ตระหนักแล้วว่า เป็นเรื่องที่ไม่ดีแน่ ๆ โอพระเจ้า สิ่งที่น่ากลัวเกิดขึ้นแล้ว! ไม่นานหลังจากนั้นบุยกาก็เริ่มยิง[…]เริ่มการยิงอย่างเต็มที่เหมือนกำลังต่อสู้ท่ามกลางฝูงสัตว์ป่า จตุรัสพระราชวังถูกละทิ้ง (มีการหนีทหารไม่ช่วยราชวงศ์) แต่ไม่ใช่วิญญาณ (ที่ถูกละทิ้ง)! นี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้ายากที่จะให้อภัยแก่ฌูเอา ฟรังโก...
— พระเจ้ามานูแวลที่ 2 แห่งโปรตุเกส[4]
เจ้าชายอฟอนโซ ดยุกแห่งอปอร์โต พระอนุชาของพระมหากษัตริย์ได้เสด็จมาถึงคลังแสงที่ตั้งพระบรมศพ ทรงกล่าวหาว่า ฌูเอา ฟรังโก ต้องแสดงความรับผิดชอบในโศกนาฏกรรมครั้งนี้ และสมเด็จพระพันปีหลวงมาเรีย เพีย ทรงเสด็จมายังคลังแสง พระพันปีหลวงทรงเข้าพบพระราชินีและทรงกันแสงอย่างเศร้าโศกและตรัสเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า "On a tué mon fils!" (They have killed my son; พวกมันฆ่าลูกของฉัน!) โดยพระราชินีอเมลีทรงตอบว่า "Et le mien aussi!" (And mine too; และของ (หมายถึงพระโอรส) หม่อมฉันด้วยเพคะ!)
และวันต่อมาเจ้าชายมานูแวลทรงได้รับการสถาปนาให้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกสพระองค์ต่อไป พระมหากษัตริย์ทรงยังอ่อนพระชันษาโดยไม่ทรงได้รับการอบรมอย่างดีทางด้านการปกครอง ทรงพยายามค้นหาความเปราะบางของราชวงศ์บรากังซาด้วยการปลดนายกรัฐมนตรีเผด็จการ ฌูเอา ฟรังโก พร้อมคณะรัฐมนตรีของเขาออกจากตำแหน่งในปี ค.ศ. 1908 ความทะเยอทะยานของพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ทำให้รัชสมัยสั้น ๆ ของพระเจ้ามานูแวลมีแต่ความสับสนและรุนแรง แต่แม้กระนั้นในการเลือกตั้งอย่างเสรีในวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1910 ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐชนะการเลือกตั้งในรัฐสภาเพียง 14 ที่นั่งเท่านั้น
พระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกสและอัลการ์วึ
[แก้]บทบาทแรกของพระองค์คือการเข้าพบสมาชิกสภาและทรงขอให้นายกรัฐมนตรีฌูเอา ฟรังโกลาออกจากตำแหน่งซึ่งในทางการเมืองต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมครั้งนี้ พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติในทันทีโดยมีผู้นำคือ พลเรือเอกฟรังซิสโก โจอาควิม เฟอร์เรรา โด อมารัล การทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการทำให้แรงผลักดันจากฝ่ายสาธารณรัฐนิยมเงียบไป แต่เมื่อมองย้อนกลับก็แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอโดยการมองจากฝ่ายสาธารณรัฐนิยมเช่นเดียวกัน
พระเจ้ามานูแวลทรงตั้งพระทัยเปิดการประชุมราชสำนักในวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1908 เป็นการปรากฏพระองค์ต่อผู้แทนระดับชาติและทรงขอให้เกิดการสนับสนุนของรัฐธรรมนูญ โดยพระองค์ยังทรงดำเนินการง่าจะทรงจงรักภักดีต่อรัฐธรรมนูญ แม้ว่าขณะทรงถูกเนรเทศ พระองค์ทรงถูกกดดันให้สนับสนุนรูปแบบอื่นของรัฐบาลในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูราชบัลลังก์ พระมหากษัตริย์ทรงได้รับความเห็นใจจากสาธารณชน เนื่องจากการสวรรคตของพระราชบิดาและการสิ้นพระชนม์ของพระเชษฐา และทรงอยู่ในราชบัลลังก์ภายใต้สถานการณ์ที่น่าเศร้าเหล่านี้ ดังนั้นพระองค์มักจะทรงได้รับการคุ้มครองจากสมเด็จพระพันปีหลวงอเมลี พระราชมารดา และทรงได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองที่มีประสบการณ์สูงอย่าง ฌูเซ ลูเซียโน เดอ กัสโตร อดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัย การตัดสินว่าการแทรกแซงทางการเมืองของพระเจ้าคาร์ลอส พระราชบิดาเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1908 ดังนั้นพระองค์จึงทรงประกาศว่า พระองค์ทรงครองราชบัลลังก์แต่ไม่ทรงปกครอง[5]
สำหรับบทบาทของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ พระองค์ทรงพยายามเพิ่มเชื่อมต่อเครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนอย่างสม่ำเสมอ พระองค์เสด็จประพาสหลาย ๆ ที่ในประเทศ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908 พระเจ้ามานูแวลเสด็จประพาสโปร์ตู พร้อมพระราชมารดาและสมาชิกสภากอร์เตสคนอื่น ๆ การเสด็จประพาสของพระองค์รวมทั้งทรงหยุดอยู่ที่บรากา, วีอานาโดคัสเตโล, โอลิเวียราดีอเซเมซ, ซันโตเทอร์โซ, วีลานอวาดือไกยา, อาไวรู, กีมาไรช์, กูอิงบรา และบาร์เซลอส ในระหว่างการเสด็จประพาสครั้งนี้พสกนิกรของพระองค์ได้นิยมชมชอบในพระมหากษัตริย์หนุ่ม และสถานการณ์ที่ทำให้พระองค์ได้ขึ้นครองราชบัลลังก์ ส่งผลให้ทรงได้รับความเห็นใจจากพสกนิกร ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พระองค์เสด็จประพาสเอสปินโฮเพื่อทรงเข้าร่วมพิธีเปิดทางรถไฟสายลินฮาโดวูกาและทรงเสด็จเยี่ยมโรงงานหลวงอาหารกระป๋อง, บริษัทบรันเดาโกเมซ ในช่วงระหว่างวันที่ 8 พฤศจิกายนถึงวันที่ 4 ธันวาคม พระองค์เสด็จเยี่ยมพสกนิกรมากมาย ทรงได้รับคำร้องต่าง ๆ และทรงเป็นที่นิยมชมชอบของพสกนิกรกับพระจริยวัตรที่มีความตรงไปตรงมาและมีศรัทธาสูงในพระศาสนา
การต้อนรับอย่างอบอุ่นที่พระองค์ทรงได้รับในระหว่างการเสด็จประพาสได้ถูกโต้กลับโดยฝ่ายสาธารณรัฐนิยม นักสาธารณรัฐนิยมคนหนึ่งชื่อ ฌูเอา ปินเฮโร ชากัส เป็นนักข่าวที่ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์และเป็นนักโฆษณาชวนเชื่อให้แก่พรรคสาธารณรัฐนิยม ได้ออกแถลงเตือนพระองค์ถึงปัญหาที่พัฒนาเพิ่มขึ้นเมื่อเขาประกาศว่า
...ฝ่าพระบาทเสด็จมาถึงอย่างทรงเยาว์เกินไปทรงเข้าไปในโลกที่เก่ามาก!...
— ฌูเอา ปินเฮโร ชากัส
ประเด็นทางสังคม (Questão Social)
[แก้]ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ปัญญาชนและนักการเมืองได้ให้ความสนใจไปที่ชนชั้นแรงงานในเมืองอันเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในโปรตุเกส เนื่องจากอุตสาหกรรมระดับล่างไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญ แต่เป็นที่มาของวิกฤตทางเศรษฐกิจและการแทรกแซงจากพรรคสาธารณรัฐนิยม ซึ่งเชื่อว่าการปกครองระบอบสาธารณรัฐจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ปฏิกิริยานี้ถูกนำไปวิเคราะห์และหาวิธีการแก้ไขปรากฏการณ์ครั้งนั้นในฐานะ Questão Social (ประเด็นทางสังคม)
พรรคสังคมนิยมเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลัก และไม่เคยดำรงอยู่ตั้งแต่ ค.ศ. 1875 แต่ไม่เคยเป็นตัวแทนในรัฐสภา ไม่ได้เป็นเพียงเพราะไม่ได้รับความนิยม แต่เป็นเพราะพรรคสาธารณรัฐนิยมเป็นตัวแสดงหลักที่ไม่พอใจอย่างรุนแรงในระบบการเมือง พระมหากษัตริย์ทรงดำเนินการบางอย่างโดยมิทรงได้ละเมิดข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญ แต่ทรงสร้างแรงจูงใจแก่พรรคสังคมนิยมให้ถอนหรือลดการสนับสนุนต่อพรรคสาธารณรัฐนิยม ในปี ค.ศ. 1909 พระเจ้ามานูแวลทรงเชิญ ลียง ปัวซงด์ นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสให้เดินทางมาที่ประเทศ เพื่อทำการตรวจสอบสภาพแวดล้มทางสังคมและถวายรายงานให้พระองค์ทรงทราบ ในเอกสารของเขา ลียงได้ออกมาปกป้องหนทางเดียวที่จะต่อสู้กับระบอบอุปถัมภ์ (clientelism) ที่ถูกสร้างขึ้นโดยระบบของรัฐบาลหมุนเวียนที่จะปรับโครงสร้างองค์การของการทำงานและหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยความกระตือรือร้น พระมหากษัตริย์ทรงเขียนถึง เวนเซสเลาส์ เดอ เซาซา เปเรย์รา เดอ ลิมา ประธานคณะรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรี)ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1909 เพื่อทรงให้เขาตระหนักถึงการปฏิรูปพรรคสังคมนิยม (ภายใต้การนำของ อัลฟรีโด อควิเลซ มอนเตเวอร์ดี)และทรงเตือนให้เขานึกถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันกับฝ่ายสังคมนิยม มีความตอนหนึ่งว่า
...ดังนั้นเราจะทำให้การสนับสนุนจากพรรคสาธารณรัฐนิยมต่อพวกเขา (สังคมนิยม) ไม่มีความหมาย และปรับทิศทางของพวกเขาให้เป็นพลังที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นประโยชน์และมีประสิทธิผล
— พระเจ้ามานูแวลที่ 2 แห่งโปรตุเกส
อีกทั้งสมเด็จพระพันปีหลวงอเมลีทรงตรัสถึงการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมและมุมมองต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงนั้นว่า
พวกเขา (ฝ่ายสาธารณรัฐนิยม) ได้ออกมาแสดงความพลังบนท้องถนนของลิสบอน ดังเช่น ในวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1909 ซึ่งมีผู้คนมารวมกันถึง 50,000 คนด้วยความมีวินัยที่น่าประทับใจ ได้สะท้อนกังวานไปด้วยการจลาจลที่ก่อขึ้นในสภาโดยผู้แทนรัฐสภาฝ่ายสาธารณรัฐนิยมบางคน มันเกิดขึ้นในกลางคืนของวันที่ 2 สิงหาคม ซึ่งฉันเข้าใจว่ามีพระมหากษัตริย์เป็นเดิมพัน เมื่อพระมหากษัตริย์จะทรงถูกหรือผิด ได้ถูกโต้แย้งหรือปฏิเสธโดยส่วนหนึ่งของความคิดเห็น ซึ่งพระองค์ไม่สามารถตอบสนองบทบาทการเป็นอันหนึ่งอันเดียวของพระองค์ได้
แม้จะมีการติดต่อที่ทำโดยรัฐบาลของอาร์เทอร์ อัลเบอร์โต เดอ คัมโปส เฮ็นริเกส์กับอเซโด จีเนโค แห่งฝ่ายสังคมนิยม เวนเซสเลาส์ถือว่าเป็นการยากเนื่องจากการทำงานในสภาถูกคว่ำบาตรโดยฝ่ายอนาธิปไตยและสาธารณรัฐนิยม ส่วนหนึ่งคือ ฝ่ายสังคมนิยมมีการแสดงออกอย่างสนใจเกี่ยวกับการสนับสนุนทางราชวงศ์ระหว่างพระเจ้ามานูแวลและอัลฟรีโด อควิเลซ มอนเตเวอร์ดี หลังจากนั้นมอนเตเวอร์ดีได้ถวายการรายงานต่อพระมหากษัตริย์ในเรื่องความล้มเหลวของสหภาพการค้าในรัฐสภาเดือนตุลาคม ค.ศ. 1909 แต่อย่างน้อยได้เป็นแบบแผนทางการระหว่างฝ่ายสังคมนิยมและรัฐบาลแม้ว่าพวกเขาจะสนับสนุนงานของปัวซงด์ ช่วงรัฐบาลของอันโตเนียว เทเซรา เดอ เซาซาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1910 รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาการจัดตั้ง Instituto de Trabalho Nacional (สถาบันแรงงานแห่งชาติ; Institute of National Work) ที่ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายสังคมนิยมสามคนรวมทั้งอเซโด จีเนโคด้วย อย่างไรก็ตาม อควิเลซ มอนเตเวอร์ดีได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าคณะกรรมาธิการยังขาดทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรด้านสมาชิกถาวรและการขนส่งที่ไม่จำกัด เพื่อให้ฝ่ายสังคมนิยมสามารถส่งเสริมการโฆษณาชวนเชื่อของพวกเขาได้ พระเจ้ามานูแวลที่ 2 ทรงมีพระราชวินิจฉัยถึงรัฐบาลผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการว่าพระองค์ทรงเห็นด้วยกับการก่อตั้งสถาบันแรงงานแห่งชาติ แต่จัดตั้งในเดือนกันยายนซึ่งสายเกินไปสำหรับระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
ในระหว่างรัชกาลของพระองค์ ทรงเสด็จประพาสทางตอนเหนือของโปรตุเกสหลายครั้ง รวมทั้งสเปน, ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ซึ่งพระองค์ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์จากสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักรในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1909 พระองค์ทรงได้รับการปลูกฝังให้ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ใกล้ชิดกับสหราชอาณาจักร ไม่เพียงแต่กลยุทธ์ด้านภูมิศาสตร์ทางการเมืองซึ่งยังคงดำเนินการตามแบบของพระราชบิดาของพระองค์ แต่ยังคงส่งเสริมสถานะของพระองค์บนราชบัลลังก์ด้วยพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ราชสำนักยังคงพิจารณาถึงการจัดการอภิเษกสมรสระหว่างพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์บรากังซากับเจ้าหญิงอังกฤษซึ่งจะมีความปลอดภัยภายใต้การคุ้มครองจากสหราชอาณาจักรในความขัดแย้งใดๆที่จะเกิดขึ้น แต่ความไม่มั่นคงของประเทศ การลอบปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์และเจ้าชายรัชทายาท และการเจรจาที่ยืดเยื้อได้จบลงด้วยการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร เป็นจุดจบของข้อเรียกร้องเหล่านี้ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระชราแห่งอังกฤษทรงเป็นพระมหามิตรส่วนพระองค์ของพระเจ้าคาร์ลอส พระองค์จะทรงเป็นผู้ปกป้องที่ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์บรากังซา และเมื่อปราศจากพระองค์ รัฐบาลเสรีนิยมแห่งอังกฤษจึงไม่ให้ความสนใจที่จะค้ำจุนระบอบราชาธิปไตยแห่งโปรตุเกส
การปฏิวัติ
[แก้]เสถียรภาพของรัฐบาลได้มาถึงจุดเสื่อมโทรม คณะรัฐบาลถูกตั้งขึ้นมาถึง 7 ชุดและล้มเหลวลงไปภายในระยะเวลา 24 เดือน พรรคการเมืองกษัตริย์นิยมยังคงแตกแยกเป็นฝ่ายๆ ในขระที่พรรคการเมืองสาธารณรัฐนิยมได้รับคะแนนนิยมมากขึ้น การเลือกตั้งในวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1910 ได้มาจากการเลือกตั้งผู้แทนใหม่ทั้ง 14 คน (ผลการเลือกตั้งในรัฐสภาแบ่งเป็น ฝ่ายสาธารณรัฐนิยม 9%, ฝ่ายรัฐบาล 58% และฝ่ายค้าน 33%)ซึ่งจะช่วยก่อให้เกิดการปฏิวัติ แต่ถูกให้ความสำคัญน้อยตั้งแต่สภาเซตูบัล (Setubal Congress; ในวันที่ 24 - 25 เมษายน ค.ศ. 1909) ที่ระบุว่าฝ่ายสาธารณรัฐนิยมใช้อำนาจด้วยการบังคับ[7] การฆาตกรรมแกนนำของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมที่มีชื่อเสียงคือ นายแพทย์มิเกล บอมบาร์ดาในโรพยาบาลของเขา ได้เป็นชนวนให้การรัฐประหารที่จะเกิดขึ้นอีกนานได้คืบคลานเข้ามา[8]
หลังจากงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำระหว่างพระเจ้ามานูแวลที่ 2 กับเอร์เมส เดอ ฟอนเซกา ประธานาธิบดีแห่งบราซิลในคราวที่เขาเดินทางเยือนโปรตุเกสอย่างเป็นทางการ[9] พระมหากษัตริย์ทรงเสด็จเลี่ยงไปประทับที่พระราชวังเนเซสซินาเดส ในขณะที่เจ้าชายอฟอนโซ พระปิตุลาและองค์รัชทายาทของพระองค์ได้เสด็จไปประทับที่ป้อมปราการที่คัสคาอิส[10] จากเหตุการณ์ฆาตกรรมมิเกล บอมบาร์ดา ผู้นำฝ่ายสาธารณรัฐนิยมได้เรียกระดมพลอย่างเร่งด่วนในกลางดึกของวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1910[11] เจ้าหน้าที่บางคนต่อต้านไม่เข้าชุมนุมเพราะอาจเกรงกลัวกำลังทหารที่เข้มแข็ง แต่พลเรือเอก คาร์ลอส กันดีโด ดอส เรอิส ทหารฝ่ายสาธารณรัฐนิยมได้ยืนยันว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้น โดยเขากล่าวว่า
A Revolução não será adiada: sigam-me, se quiserem. Havendo um só que cumpra o seu dever, esse único serei eu ("การปฏิวัติจะเกิดขึ้นไม่ล่าช้า ตามข้าพเจ้ามาถ้าท่านต้องการ ถ้าจะมีคนหนึ่งที่ปฏิบัติตามหน้าที่นี้ หนึ่งในนั้นย่อมเป็นข้าพเจ้า")[12][13]
— คาร์ลอส กันดีโด ดอส เรอิส
ต่อมาพลเรือเอกคาร์ลอส กันดีโด ดอส เรอิสได้ก่ออัตวินิบาตกรรมหลังจากการที่มีภาวะซึมเศร้าอย่างหนักโดยเชื่อว่า การปฏิวัติครั้งนี้จะไม่สำเร็จ การก่อจลาจลของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมได้เป็นลางบอกเหตุถึงความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในที่สุด[14] ถึงแม้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องในพรรคสาธารณรัฐนิยมหลายคนจะพยายามหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมในการจลาจล ด้วยการพยายามทำให้เหมือนว่าการประท้วงประสบความล้มเหลว แต่ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จด้วยความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลอันโตเนียว เทเซรา เดอ เซาซาที่ไม่สามารถรวบรวมกำลังทหารได้เพียงพอที่จะควบคุมกองกำลังฝ่ายปฏิวัติจำนวนเกือบสองร้อยคนซึ่งทำการต่อต้านที่จัตุรัสโรทุนดา[15]
พระมหากษัตริย์เสด็จออกจากลิสบอน
[แก้]หลังจากมีการเสวยพระกระยาหารค่ำร่วมกับประธานาธิบดีบราซิล เอร์เมส เดอ ฟอนเซกา พระเจ้ามานูแวลได้เสด็จกลับมายังพระราชวังเนเซสซินาเดสทรงประทับกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทต่างๆไม่กี่คน โดยพระองค์ทรงเล่นบริดจ์กับพวกเขา[16] ในขณะที่ฝ่ายปฏิวัติเริ่มทำลายอาคารบ้านเรือน[17] พระมหากษัตริย์ทรงพยายามใช้โทรศัพท์แต่ทรงพบว่าสายโทรศัพท์ถูกตัด ซึ่งพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะแจ้งข่าวแก่สมเด็จพระราชชนนีซึ่งในขณะนั้นทรงประทับอยู่ที่พระราชวังเปนา หลังจากนั้นกองทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้มาถึงที่เกิดเหตุและสามารถเอาชนะการโจมตีของฝ่ายปฏิวัติในบริเวณนั้นได้
ในระหว่างวันที่ 4 และ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1910 การปฏิวัติได้อุบัติขึ้นทั่วท้องถนนกรุงลิสบอน เป็นการทำรัฐประหารที่เริ่มต้นโดยทหารและมีการเข้าร่วมจากฝ่ายพลเรือนและเจ้าหน้าที่เทศบาลในการโจมตีกองทหารรักษาพระองค์ที่มีความจงรักภักดีและโจมตีพระราชวัง ในขณะที่ปืนใหญ่จากเรือรบได้เข้ามาระดมยิง ในเวลา 9 นาฬิกาของวันที่ 4 ตุลาคมพระเจ้ามานูแวลทรงได้รับโทรศัพท์จากประธานรัฐสภาให้พระองค์เสด็จลี้ภัยไปประทับในเมืองมาฟราหรือซินทรา ตั้งแต่เมื่อมีการขู่จากฝ่ายปฏิวัติว่าจะทำการระเบิดพระราชวังเนเซสซินาเดส พระเจ้ามานูแวลทรงปฏิเสธที่จะเสด็จออกไป ทรงมีพระราชดำรัสในสถานการณ์นั้นว่า
ท่านไปเถอะถ้าต้องการ ข้าพเจ้าจะอยู่ที่นี่ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้บทบาทอื่นใดแก่ข้าพเจ้าเลยนอกเหนือจากการให้ข้าพเจ้าถูกฆ่าตาย ข้าพเจ้าก็จะยอมปฏิบัติตามนั้น[18]
— พระเจ้ามานูแวลที่ 2 แห่งโปรตุเกส
ด้วยการเคลื่อนมาถึงของกองกำลังจากเกลุซ โดยได้เข้ามาตั้งค่ายในสวนของพระราชวังซึ่งอยู่ในเขตที่สามารถระดมยิงเขตทหารเรือฝ่ายปฏิวัติได้ซึ่งตั้งอยู่ไม่เกิน 100 เมตรจากพระราชวัง อย่างไรก็ตามก่อนที่พวกเขาจะได้ปฏิบัติการ ผู้บัญชาการของกองกำลังได้รับคำสั่งให้ยกเลิกการระดมยิงและให้รวมกองกำลังกับกองทัพที่กำลังออกไปจากพระราชวัง เป็นการรวมกองกำลังเป็นขบวนซึ่งจะทำการโจมตีฝ่ายปฏิวัติในกองทหารปืนใหญ่ที่หนึ่งและจัตุรัสโรทุนดา ในเวลาประมาณเที่ยงวัน เรือลาดตระเวน อดามัสตอร์ และ เซาราฟาเอล ซึ่งจอดทอดสมออยู่ตรงหน้าเขตของทหารเรือในชั่วโมงก่อนหน้านี้ ได้เริ่มระดมยิงพระราชวังเนเซสซินาเดสเพื่อลดทอนกำลังใจของกองทัพราชวงศ์ในขณะนั้น พระเจ้ามานูแวลทรงเข้าไปหลบในบ้านเล็กๆบริเวณสวนของพระราชวังซึ่งพระองค์สามารถติดต่อกับนายกรัฐมนตรีอันโตเนียว เทเซรา เดอ เซาซาได้ ซึ่งฝ่ายปฏิวัติได้ตัดเพียงสายโทรศัพท์พิเศษแต่ไม่ได้ตัดสายเครือข่ายโทรศัพท์ทั่วไป พระเจ้ามานูแวลทรงมีพระบัญชาให้นายกรัฐมนตรีส่งกองกำลังมาจากเกลุซมาที่พระราชวังเพื่อให้ขัดขวางการขึ้นบกของทหารเรือ แต่นายกรัฐมนตรีได้ตอบพระองค์ว่าการก่อการหลักๆอยู่ที่จัตุรัสโรทุนดาและทหารทั้งหมดที่ประจำอยู่ที่นั่นเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยได้คำนึงถึงว่ากองกำลังที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอที่จะปราบปรามฝ่ายปฏิวัติในจัตุรัสโรทุนดา นายกรัฐมนตรีได้ทางเลือกที่ชัดเจนแก่พระองค์ว่าควรจะเสด็จมายังซินทราหรือมาฟราเพื่อให้กองกำลังประจำการพระราชวังสามารถไปเสริมกำลังทัพที่โรทุนดา
เวลา 2 นาฬิกา พระราชพาหนะพร้อมพระเจ้ามานูแวลที่ 2 และคณะที่ปรึกษาของพระองค์ได้ออกเดินทางไปยังมาฟรา ที่ซึ่งโรงเรียนปฏิบัติการทหารราบจะให้กองกำลังมากพอที่จะถวายการอารักขาพระมหากษัตริย์ ในขณะที่จะถึงเขตเบ็นฟิกา พระเจ้ามานูแวลทรงปล่อยให้กองทหารของเทศบาลที่ซึ่งถวายการอารักขาพระองค์ไปทำการต่อสู้กับฝ่ายปฏิวัติ กองกำลังอารักขาได้มาถึงมาฟราในเวลา 4 นาฬิกาตอนบ่ายและทรงประทับที่พระราชวังมาฟรา แต่ก็พบปัญหา เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการ ทำให้ทหารในโรงเรียนปฏิบัติการทหารราบมีเพียง 100 นายเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ว่าจะมีถึง 800 นายและบุคคลที่รับผิดชอบคือ พันเอก ปินโต เดอ โรชา ซึ่งไม่มีความตั้งใจที่จะปกป้องพระมหากษัตริย์[19] ในขณะเดียวกัน ที่ปรึกษา ฌูเอา เดอ อเซวีโด โคทินโฮ ได้เดินทางมาถึงและได้แนะนำพระเจ้ามานูแวลทูลเชิญ สมเด็จพระราชชนนี พระพันปีหลวงอเมลีและสมเด็จพระอัยยิกามาเรีย เพียผู้ทรงประทับอยู่ที่พระราชวังเปนาและพระราชวังซินทราในซินทรา และเพื่อเตรียมการเสด็จไปยังโปร์ตูที่ซึ่งมีความต้านทาน
ในกรุงลิสบอน การเสด็จออกไปของพระเจ้ามานูแวลไม่ได้นำมาซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงตั้งแต่กองกำลังปลดปล่อยส่วนใหญ่ไม่ได้ทำตามพระบัญชาที่ให้เดินทางไปจัตุรัสรอซซิโอเพื่อปราบปรามศูนย์กลางของกองทหารปืนใหญ่ฝ่ายปฏิวัติในอัลคันทารา
ชัยชนะของฝ่ายปฏิวัติ
[แก้]ในกลางคืนของวันที่ 4 ตุลาคม ขวัญกำลังใจของทหารฝ่ายพระมหากษัตริย์ได้ลดลงขณะตั้งอยู่ที่จัตุรัสรอซซิโอ เนื่องมาจากการถูกโจมตีอย่างต่อเนื่องจากฝ่ายกองทัพเรือ ในที่สุดฝ่ายพระมหากษัตริย์ได้ประกาศยุติการต่อสู้และเป็นชัยชนะของฝ่ายสาธารณรัฐ
หลังจากนั้น ในวันที่ 5 ตุลาคม ในเวลา 9 โมงเช้า สาธารณรัฐได้ถูกสถาปนาขึ้นโดยฌูเซ เรลวาส[20]บนระเบียงของปาโซโดกอนเซโล (ศาลาว่าการกรุงลิสบอน) รัฐบาลเฉพาะกาลได้ถูกเสนอชื่อโดยสมาชิกพรรคสาธารณรัฐโปรตุเกสโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกครองประเทศจนกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะได้รับการอนุมัติ
น่าแปลกที่ปฏิกิริยาความนิยมต่อเหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้น ภาพของจัตุรัสเบื้องหน้าศาลาว่าการกรุงลิสบอน ซึ่งเป็นสถานที่ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐ ไม่ได้มีผู้แสดงความนิยมอย่างล้นหลามและแม้กระทั่งในกองทัพยังกลัวว่าการปฏิวัติของพวกเขาจะไม่ประสบความสำเร็จ นายพลของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมที่ได้กล่าวไปแล้วคือ พลเรือเอกคาร์ลอส กันดีโด ดอส เรอิสได้ก่ออัตวินิบาตกรรมหลังจากการที่มีภาวะซึมเศร้าอย่างหนักโดยเชื่อว่า การปฏิวัติครั้งนี้จะไม่สำเร็จ
การปฏิวัติที่เกิดขึ้นนับจากผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มีการระบุไว้ว่าจนถึง 6 ตุลาคม มีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการปฏิวัติถึง 37 คนโดยระบุจากศพในห้องเก็บศพ หลายคนได้รับบาดเจ็บและถูกส่งมาที่โรงพยาบาลซึ่งหลังจากนั้นบุคคลเหล่านั้นก็เสียชีวิต ตัวอย่างเช่นจำนวนผู้บาดเจ็บที่มีการตรวจสอบจากโรงพยาบาลเซาฌูเซมีจำนวน 78 คน โดยที่มี 14 คนเสียชีวิตในวันต่อๆมา[21]
การลี้ภัยออกจากประเทศของพระราชวงศ์
[แก้]ในเมืองมาฟรา ตอนเช้าของวันที่ 5 ตุลาคม พระมหากษัตริย์ทรงได้รับแผนการเดินทางไปยังโปร์ตู เป็นการกระทำที่ยากจะดำเนินการออกไปเนื่องจากทรงไม่ได้รับการคุ้มกันอีกต่อไปแล้วและศูนย์กลางการปฏิวัตินับไม่ถ้วนได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ในเวลาประมาณเที่ยงวัน ประธานสภาเทศบาลแห่งมาฟราได้รับข้อความจากผู้ว่าราชการคนใหม่ซึ่งมีคำสั่งให้เปลี่ยนธงชาติมาเป็นธงสาธารณรัฐ หลังจากนั้นไม่นานผู้บังคับการของโรงเรียนปฏิบัติการทหารราบยังได้รับโทรเลขจากผู้บัญชาการคนใหม่ซึ่งมีการชี้แจงถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ สถานะของพระราชวงศ์กลายเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนต่อไปแล้ว
การแก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้ปรากฏขึ้นเมื่อมีข่าวว่าเรือยอชท์ชื่อ อเมเลีย (Amélia) ได้จอดทอดสมออยู่บริเวณใกล้เคียงที่เอริเซรา โดยในเวลาบ่ายสองเรือยอชท์ได้นำเจ้าชายอลอนโซ พระปิตุลาของพระมหากษัตริย์และเป็นองค์รัชทายาทในราชบัลลังก์มาจากป้อมปราการคัสคาอิส และทรงรู้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงประทับอยู่ที่มาฟรา ได้มาทอดสมอที่เอริเซรา ซึ่งเป็นที่ที่ใกล้ที่สุด พระเจ้ามานูแวลทรงทราบถึงการประกาศสถาปนาสาธารณรัฐและพระองค์จะต้องถูกจองจำ พระองค์จึงตัดสินพระทัยเสด็จไปยังโปร์ตู พระราชวงศ์และกลุ่มผู้ติดตามบางส่วนได้เดินทางไปที่เอริเซราโดยทรงประทับเรือประมงสองลำและทรงปรากฏพระองค์ต่อประชาชนที่อยากรู้อยากเห็นความเป็นไปของพระราชวงศ์ และพระราชวงศ์ได้เสด็จขึ้นเรือยอชท์หลวง[22]
ขณะประทับอยู่บนเรือ พระองค์ทรงเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีของพระองค์ว่า
เรียนคุณเทเซรา เดอ เซาซา ข้าพเจ้าถูกบังคับในสถานการณ์ที่ข้าพเจ้าจำเป็นต้องขึ้นประทับบนเรือพระที่นั่ง "อเมเลีย" ข้าพเจ้าจะเป็นชาวโปรตุเกสและจะเป็นตลอดไป ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่ของข้าพเจ้าเสมอมาในฐานะพระมหากษัตริย์ในทุกสถานการณ์ และข้าพเจ้าได้นำทั้งหัวใจและชีวิตของข้าพเจ้าเพื่อการรับใช้ประเทศชาติ ข้าพเจ้าหวังว่าสิทธิและการอุทิศตัวของข้าพเจ้าจะได้รับการยอมรับ! โปรตุเกสจงเจริญ! โปรดนำจดหมายของข้าพเจ้านี้ไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนเท่าที่ท่านสามารถกระทำได้
— พระเจ้ามานูแวลที่ 2 แห่งโปรตุเกส[23]
หลังจากทรงมั่นพระทัยว่าเรือพระที่นั่งจะไปถึงปลายทาง พระมหากษัตริย์ทรงประกาศว่าพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะไปยังโปร์ตู พระองค์ทรงพบปะกับสภาที่ปรึกษา เจ้าหน้าที่และคณะผู้เดินทาง ผู้บัญชาการเอ็กเนโล เวเลซ คัลเดรา คัสเตโล บรานโกและหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฌูเอา จอร์เก มอเรรา เด ซา ไม่เห็นด้วยกับพระราชวินิจฉัยของพระองค์ โดยพวกเขาได้อ้างว่าโปร์ตูนั้นอยู่ไกลออกไป อีกทั้งพวกเขาก็ไม่ได้มีเชื้อเพลิงเพียงพอที่จะเข้าทอดสมอในที่ที่แตกต่างกัน[24] พระองค์จึงเปลี่ยนพระทัยหรือไม่พระองค์ก็ทรงถูกบังคับให้เปลี่ยนเส้นทางที่พระองค์ประสงค์ให้มาเป็นแบบเดิม[25] แม้ว่าพระเจ้ามานูแวลจะทรงยืนกรานอย่างไรก็ตามหัวหน้าเจ้าหน้าที่ได้โต้แย้งพระองค์ว่าพวกเขาต้องนำพาพระราชวงศ์ทั้งหมดซึ่งหน้าที่หลักของพวกเขาคือต้องคุ้มครองพระชนม์ชีพของทุกพระองค์ ท้ายที่สุดคณะเดินทางได้เลือกที่จะเทียบท่าที่ยิบรอลตาร์ เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงพบว่าแม้กระทั่งเมืองโปร์ตูพ่ายแพ้และไปเข้าร่วมกับฝ่ายสาธารณรัฐนิยม เป็นเหตุให้พระองค์ทรงมีคำสั่งให้เรือที่เป็นทรัพย์สินของโปรตุเกสเดินทางกลับไปยังลิสบอนทั้งหมด พระมหากษัตริย์ที่ทรงถูกถอดถอนจำต้องดำรงตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ในการถูกเนรเทศ[26] นับได้ว่าการปฏิวัติรัฐประหารได้ประสบความสำเร็จและพระราชวงศ์ถูกเนรเทศ[27] โดยเสด็จถึงสหราชอาณาจักรที่ซึ่งพระองค์ทรงได้รับเชิญจากพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร
พระชนม์ชีพส่วนพระองค์
[แก้]ในระหว่างเสด็จประพาสปารีสในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1909 (ก่อนการปฏิวัติ) พระมหากษัตริย์ทรงพบกับเกบี เดสลีส นักแสดงสาวและนักเต้นรำและทรงเริ่มมีความสัมพันธ์กับเธออย่างทันทีทันใด[28]ไปจนถึงปลายรัชสมัยของพระเจ้ามานูแวลที่ 2 ใคร ๆ ก็คิดว่าหลังจากการพบกันครั้งแรกพระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานสร้อยคอไข่มุกมูลค่า 70,000 ดอลลาร์แก่เดสลีส ตามมาด้วยสร้อยคอเพชรที่มีไข่มุกสีดำและขาวลดหลั่นอยู่ด้านล่างพร้อมสายผูกจากแพลทินัม ความสัมพันธ์ของทั้งเป็นอย่างนั้นแต่ทรงระมัดระวัง (เธอจะมาถึงก่อนเวลากลางคืนที่พระราชวังเนเซสซินาเดส และผ่านเข้ามาในโปรตุเกสโดยไม่มีใครสังเกตเห็น) ในต่างประเทศ ในขณะที่ทั้งสองถูกพาดหัวข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ในยุโรปและอเมริกาเหนือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่พระองค์ทรงถูกล้มราชบัลลังก์ ในการสัมภาษณ์ต่อสาธารณะ เกบี เดสลีสมักจะเดินทาง เธอไม่เคยปฏิเสธอย่างชัดเจนแต่มักจะปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเธอกับพระมหากษัตริย์ หลังจากพระองค์ทรงถูกเนรเทศ ทั้งสองยังคงพบกันอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงที่เธอได้ทำการแสดงที่ลอนดอน เมื่อเกบีย้ายไปนิวยอร์กในฤดูร้อน ปี ค.ศ. 1911 ความสัมพันธ์ของทั้งสองก็จบลง
ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1911 อดีตพระเจ้ามานูแวลเสด็จเยือนสวิตเซอร์แลนด์ ที่ซึ่งทรงพบกับเจ้าหญิงออกัสตา วิกตอเรียแห่งโฮเอินท์ซ็อลเลิร์น เจ้าหญิงแห่งโฮเอินท์ซ็อลเลิร์น-ซีคมาริงเงินและทรงประทับใจในเจ้าหญิง ในปีถัดมา วันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1912 อดีตพระเจ้ามานูแวลทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงออกัสตา วิกตอเรีย ซึ่งเป็นพระญาติ (เจ้าหญิงทรงเป็นพระราชนัดดาในเจ้าหญิงแอนโทเนียแห่งโปรตุเกส) และทรงเป็นพระราชธิดาในวิลเลียม เจ้าชายแห่งโฮเอินท์ซ็อลเลิร์น ในระหว่างพิธีมิสซา ซึ่งถูกจัดขึ้นที่ห้องสวดมนต์ของปราสาทซีคมาริงเงิน อดีตพระเจ้ามานูแวลทรงประดับเหรียญเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์และสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์โปรตุเกสทั้งสาม ทรงประทับยืนบนลังไม้ที่นำมาจากโปรตุเกส พระราชพิธีมีประธานคือ ฌูเซ นีโต พระคาร์ดินัลด์แห่งลิสบอน ซึ่งได้ลี้ภัยมาที่เซบิยา เป็นผู้เคยประกอบพิธีแบ็ฟติสท์อดีตพระเจ้ามานูแวลเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าชาย อดีตพระเจ้ามานูแวลทรงได้รับการช่วยเหลือทางพิธีจากเจ้าชายแห่งเวลส์ (อนาคตคือ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8) และพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 แห่งสเปนและผู้แทนจากราชวงศ์ต่าง ๆ ของยุโรป (รวมทั้งสเปน, เยอรมนี, อิตาลี, ฝรั่งเศสและโรมาเนีย นอกเหนือจากนั้นคือเหล่าราชรัฐและราชอาณาจักรเยอรมัน) หลังจากพระราชพิธีเฉลิมฉลองที่ใช้เวลาสองวัน ทั้งสองพระองค์เสด็จไปฮันนีมูนที่มิวนิกที่ซึ่งเจ้าหญิงทรงพระประชวรและไม่ทรงออกพบปะสาธารณชน การอภิเษกสมรสครั้งนี้ทรงประทับร่วมกันอย่างสงบและเยือกเย็นจนกระทั่งการเสด็จสวรรคตของอดีตพระเจ้ามานูแวลแต่ทั้งสองพระองค์ก็ไม่ทรงมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาร่วมกัน
การลี้ภัย
[แก้]ระหว่างลี้ภัยหรือการเนรเทศ อดีตพระเจ้ามานูแวลยังคงประทับอยู่ที่ฟูลเวลปาร์ค, ทวิคเคนแฮม ใกล้กรุงลอนดอนและเป็นทรัพย์สินของพระองค์ในอังกฤษ (เป็นสถานที่ประสูติของพระราชมารดาของพระองค์) ที่ฟูลเวลปาร์ค พระองค์ทรงพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นโปรตุเกสซึ่งเป็นการพยายามฟื้นฟูพระองค์กลับคืนสู่ราชบัลลังก์ (ในปี ค.ศ. 1911, ค.ศ. 1912 เหตุการณ์ฝ่ายกษัตริย์นิยมโจมตีชาเวสและปี ค.ศ. 1919 เหตุการณ์สถาปนาราชาธิปไตยแห่งภาคเหนือ) ซึ่งประสบความล้มเหลว พระองค์ยังคงประกอบพระราชกรณียกิจในท้องถิ่นโดยทรงเข้าร่วมโบสถ์คาทอลิกแห่งนักบุญเจมส์และทรงเป็นพระบิดาอุปถัมภ์ของเด็ก ๆ หลายคน อิทธิพลของพระองค์ปรากฏในชื่อสถานที่มากมายในพื้นที่เช่น ถนนมานูแวล (Manuel Road), ถนนลิสบอน (Lisbon Avenue) และ สวนโปรตุเกส (Portugal Gardens) พระองค์ทรงติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในโปรตุเกสขณะทรงประทับในวงล้อมของพระสหายสนิท เช่น สมาคมผู้นิยมระบอบราชาธิปไตยในประเทศ และแสดงให้เห็นถึงความกังวลในความวุ่นวายของสาธารณรัฐที่หนึ่ง ซึ่งเกรงว่าจะกระตุ้นให้ให้เกิดการแทรกแซงจากสเปนและเสี่ยงต่อความเป็นเอกราชของประเทศ ถึงแม้ว่าพระราชวินิจฉัยครั้งนี้จะทรงกล่าวเกินจริงแต่ความกังวลนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีข้อเท็จจริง
ในขณะทรงถูกเนรเทศ มีกรณีหนึ่งที่การแทรกแซงของอดีตพระมหากษัตริย์ได้ผล หลังจากการรัฐประหารรัฐบาลของมานูแวล ดี โอลิเวียรา โกเมซ ดา คอสตาโดยพลเอกออสการ์ ฟราโกโซ คาร์โมนา คอสตาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน ทำให้เกิดความไม่มั่นคงอย่างต่อเนื่องและความต่อเนื่องทางการทูตอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ รัฐบาลอังกฤษปฏิเสธที่จะให้การรับรองอย่างเป็นทางการแก่ข้าราชการใหม่นี้ ในฐานะเอกอัครราชทูตต้องเจรจาการชำระหนี้ของโปรตุเกสต่อสหราชอาณาจักรซึ่งมีความสำคัญมาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ทูลถามให้อดีตพระเจ้ามานูแวลทรงใช้อิทธิพลในการชี้แจงสถานการณ์ อดีตพระมหากษัตริย์ทรงประทับใจโดยมีโอกาสที่จะช่วยเหลือประเทศของพระองค์และทรงติดต่อกับฝ่ายอังกฤษหลายช่องทาง (รวมทั้งอาจจะผ่านทางสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร) เพื่อแก้ปัญหากรณีพิพาท แม้ว่าจะทรงถูกเนรเทศพระองค์ก็ยังทรงเป็นผู้รักชาติซึ่งไกลกว่านั้นพระองค์ทรงประกาศในพระราชพินัยกรรมในปี ค.ศ. 1915 โดยทรงมีพระราชปณิธานที่จะโอนพระราชทรัพย์ของพระองค์ให้แก่รัฐโปรตุเกสในการสร้างพิพิธภัณฑ์และทรงแสดงความสนพระทัยที่จะให้ฝังพระบรมศพไว้ที่โปรตุเกส
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
[แก้]พระองค์ทรงเป็นคนที่นิยมชมชอบความเป็นอังกฤษ (Anglophile) และโปรดจิตวิญญาณความเป็นอังกฤษ อดีตพระเจ้ามานูแวลทรงปกป้องการเข้ามาของโปรตุเกสในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและการเข้ามามีส่วนร่วม พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสให้ฝ่ายกษัตริย์นิยมล้มเลิกความพยายามในการฟื้นฟูราชบัลลังก์ตราบใดที่สงครามยังคงดำเนินต่อไป พระองค์ยังทรงพบปะกับฝ่ายสาธารณรัฐนิยมและในช่วงหนึ่งทรงมีความตั้งพระทัยที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกองทัพโปรตุเกส แต่ในทางตรงกันข้ามกับพระราชประสงค์ของพระองค์ ฝ่ายกษัตริย์นิยมส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติและร่วมมือตามคำร้องขอของพระองค์ ซึ่งโดยส่วนมากได้รับแรงบันดาลใจจากเยอรมนีและหวังจะได้เห็นชัยชนะขององค์ไกเซอร์เพื่อเป็นช่องทางในการฟื้นฟูราชาธิปไตย อดีตพระเจ้ามานูแวลทรงเชื่อว่าการสนับสนุนสหราชอาณาจักรจะช่วยรับประกันการคงอยู่ของอาณานิคมโพ้นทะเล ซึ่งจะสูญเสียให้กับการรุกรานของเยอรมันแม้ว่าเยอรมันจะสนับสนุนในความขัดแย้ง ฝ่ายผู้ใต้บังคับบัญชาคนสนิทของพระองค์ซึ่งเสนอให้สนับสนุนฝ่ายสาธารณรัฐ แต่ก็ไม่มีใครยอมรับ
อดีตพระเจ้ามานูแวลทรงพยายามที่จะนำพระองค์เองเข้าทำงานกับฝ่ายพันธมิตรที่ใดก็ตามที่ฝ่ายพันธมิตรเห็นว่าเหมาะสม แต่ก็ทรงผิดหวังเมื่อทรงได้รับตำแหน่งในสภากาชาดอังกฤษ พระบุคลิกของพระองค์คือพยายามในบทบาทของพระองค์เองอย่างเต็มที่เช่น การมีส่วนร่วมในการประชุม, ขับเคลื่อนกองทุน, เสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลและทหารบาดเจ็บที่แนวหน้า ซึ่งสร้างความพึงพอพระทัยแก่พระองค์มากที่สุด การเสด็จไปยังแนวหน้านั้นเป็นถือว่าเป็นเรื่องยากโดยข้อจำกัดของรัฐบาลฝรั่งเศส แต่มิตรภาพระหว่างพระองค์กับพระเจ้าจอร์จที่ 5 ก็เพียงพอที่พวกเขาจะบรรเทาความกังวลลงได้ โดยไม่คำนึงถึงความพยายามส่วนใหญ่ของพระองค์ไม่ได้รับการเชื่อถือ หลายปีถัดมา ในการที่ทรงให้สัมภาษณ์กับอันโตนิโอ เฟร์โร พระองค์ทรงเสียพระทัย ทรงกล่าวว่า
ห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาลโปรตุเกสในปารีสช่วงสงครามนั้นข้าพเจ้าเป็นคนสร้างขึ้น คุณรู้ไหมว่าพวกเขาวางอะไรบนแผ่น? [มันเขียนว่า] 'จากคนโปรตุเกสในลอนดอน'[29]
— พระเจ้ามานูแวลที่ 2 แห่งโปรตุเกส
พระองค์ยังเป็นผู้รับผิดชอบในการก่อตั้งแผนกศัลยกรรมกระดูกที่โรงพยาบาลแชพพาร์ดบุช (Shepards Bush Hospital) ที่ซึ่งการยืนกรานของพระองค์ยังคงเป็นผลจนกระทั่ง ค.ศ. 1925 เพื่อดำเนินการรักษาอาการผิดรูปผิดร่างซึ่งเป็นผลกระทบหลังสงคราม การที่ทรงได้รับการยอมรับจากชาวอังกฤษนั้นมาจากพระสหายของพระองค์ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ซึ่งเชิญอดีตพระเจ้ามานูแวลมาร่วมกับพระองค์ในระหว่างการสวนสนามของทหารเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในปี ค.ศ. 1919
ราชาธิปไตยและสถานะ
[แก้]นับตั้งแต่ ค.ศ. 1911 ฝ่ายกษัตริย์นิยมโปรตุเกสพลัดถิ่นได้ไปรวมตัวกันที่แคว้นกาลิเซีย สเปน เพื่อเป็นช่องทางเข้าสู่โปรตุเกสและฟื้นฟูราชาธิปไตยแต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับโดยนัยจากรัฐบาลสเปน ฝ่ายกษัตริย์นิยมนำโดยเอนริเก มิทเชลล์ ดี ไปวา โคเซโร เป็นผู้ที่มีบารมีและเคยเป็นทหารผ่านศึกในสงครามอาณานิคมที่แอฟริกา หนังสือพิมพ์Paladin ภาษาโปรตุเกสได้กล่าวขานถึงเขาและเชื่อว่าจะมีการรวมกองกำลังที่มาจากชนบทที่จะลุกขึ้นมาและสนับสนุนการฟื้นฟูราชบัลลังก์ แต่เขาก็ผิดที่เตรียมการไม่ดีและขาดแคลนเงินทุน กองกำลังของเขาเฉยเมยต่อประชาชนในชนบทและการรุกรานของเขาต้องจบลงด้วยการถอยทัพหนีไปยังกาลิเซีย
สำหรับบทบาทครั้งนี้ อดีตพระเจ้ามานูแวลทรงให้การสนับสนุนว่าการรุกรานเหล่านี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่พระองค์สามารถกระทำได้ แต่สถานะทางการเงินของพระองค์ถูกจำกัด พระองค์ยังต้องทรงเผชิญกับกลุ่มกษัตริย์นิยมที่ไม่มีความชัดเจนในการสนับสนุนสิทธิในราชบัลลังก์ของพระองค์ ครั้งหนึ่งมีการโจมตีภายใต้ธงน้ำเงินขาวแต่ไม่มีมงกุฎ ในขณะที่ไปวา โคเซโร ได้ประกาศตนอีกครั้งหนึ่งว่าการเคลื่อนไหวของตัวเขาเองนั้น "เป็นกลาง" และต้องการให้มีการลงประชามติเพื่อจัดตั้งระบอบการปกครองรูปแบบใหม่ เพียงหลังจากนั้นพระองค์ทรงติดต่อกับโคเซโรว่าพระองค์สามารถสนับสนุนฝ่านกษัตริย์นิยมในกาลิเซีย ที่เคยสัญญาว่าจะสนับสนุนรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1826 การรุกรานครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1912 แม้ว่าจะมีการเตรียมกำลังเป็นอย่างดีแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะรัฐบาลสเปนถูกบังคับให้ปรองดองกับรัฐบาลสาธารณรัฐในการประกาศให้ค่ายทหารฝ่ายราชาธิปไตยในกาลิเซียนั้นผิดกฎหมายและต้องปลดอาวุธทหารที่เหลืออยู่ในดินแดนของตน อดีตพระเจ้ามานูแวลไม่ทรงสามารถเรียกคืนราชอาณาจักรของพระองค์ด้วยกำลังได้ และมักจะทรงได้รับการปกป้องจากฝ่ายกษัตริย์นิยมที่ควรมีการจัดระเบียบภายในเพื่อให้สามารถเข้าถึงอำนาจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (ด้วยการเลือกตั้ง) แผนนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายกษัตริย์นิยมสายทหาร ผู้ซึ่งในปีถัดมายังคงพยายามอย่างไม่ดีในการฟื้นฟูราชาธิปไตย (เช่น เหตุการณ์วันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1914) โดยการสร้างสถานการณ์อนาธิปไตยหรือความวุ่นวายบนท้องถนน ความลุ่มหลงของพระองค์ลดลงในช่วงเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อดีตพระเจ้ามานูแวลทรงเกรงว่าสหราชอาณาจักรจะเป็นพันธมิตรกับสเปน ในแง่ของสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของโปรตุเกสและเป็นสิ่งที่ทำให้สเปนต้องการผนวกโปรตุเกสในฐานะที่เป็นรางวัลสำหรับการให้สเปนเข้าร่วมในสงคราม
ข้อตกลงโดเวอร์
[แก้]หลังจากการรุกรานจากฝ่ายกษัตริย์นิยมครั้งแรกประสบความล้มเหลว และสิ่งที่ปรากฏชัดเจนคือการที่อดีตพระเจ้ามานูแวลไม่ทรงมีความสนพระทัยที่จะฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ (และพระองค์ทรงละทิ้งการปฏิวัติซ้อนด้วยกำลัง) ฝ่ายกษัตริย์นิยมอีกกลุ่มได้พยายามทำให้การอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ของสายพระราชสันตติวงศ์ฝ่ายพระเจ้ามิเกลแห่งโปรตุเกสกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย เชื้อสายของพระเจ้ามิเกลถูกยกเว้นจากการสืบราชสันตติวงศ์เนื่องมาจากการสืบราชบัลลังก์ของพระเจ้ามิเกลนั้นมาจากการช่วงชิงราชบัลลังก์ของสมเด็จพระราชินีนาถมารีอาที่ 2 แห่งโปรตุเกส ผู้เป็นพระราชนัดดาและก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองตามมา ในการตอบโต้ครั้งนี้ อดีตพระมหากษัตริย์ทรงเข้าไปเจรจาโดยตรงกับผู้แทนของมิเกล ดยุกแห่งบราแกนซา ผู้เป็นพระราชโอรสในอดีตพระเจ้ามิเกล พระองค์พยายามแก้ไขพระองค์เองในฐานะพระมหากษัตริย์ที่ถูกต้องและเป็นไปตามกลุ่มอินเทกราลิสโม ลูซิตาโน (Integralismo Lusitano) พระองค์ทรงยอมรับเชื้อสายของอดีตพระเจ้ามิเกลในฐานะรัชทายาทของราชบัลลังก์โปรตุเกส พระองค์จึงทรงให้สิทธิและความเป็นพลเมืองโปรตุเกสแก่พระญาติสายนี้อีกครั้ง ในความเป็นจริงเป็นการเผชิญกันระหว่างพระเจ้ามานูแวลที่ 2 และพระเจ้ามิเกลที่ 2 (มิเกล ดยุกแห่งบราแกนซา)ในโดเวอร์ อังกฤษ สหราชอาณาจักร วันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1912 ที่ซึ่งมีข้อตกลงแลกเปลี่ยนระหว่างกันทั้งสองฝ่าย ผลของการพบปะกันครั้งนี้ยังเป็นที่ถกเถียง แม้ว่าจะมีความสอดคล้องกันในการท้าทายสาธารณรัฐ ไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจนในสายพระโลหิตในการสืบพระราชสันตติวงศ์ และอดีตพระเจ้ามานูแวลยังคงมีสิทธิในราชบัลลังก์ มีการพยายามครั้งที่สองในข้อตกลงปารีสแต่ล้มเหลว
ราชาธิปไตยแห่งภาคเหนือ
[แก้]ฝ่ายกษัตริย์นิยมบางคนพยายามต่อต้านการปฏิวัติด้วยการปฏิวัติซ้อนแต่ไม่ประสบความสำเร็จในช่วงสงคราม ในขณะที่อดีตพระมหากษัตริย์ทรงประณามอย่างต่อเนื่องและตักเตือนพวกเขาให้ฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยวิธีการออกเสียงลงคะแนน แนวทางนี้ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพหลังจากระบอบเผด็จการของนายพลโคอาควิม ปิเมนตา เด คัสโตร (มกราคม พ.ศ. 2458) ที่ทำลายแรงผลักดันจากพรรคประชาธิปไตย (โปรตุเกส) คัสโตรพยายามรวบรวมความเห็นใจจากฝ่ายอนุรักษนิยมขวาจัดโดยการยกเลิกข้อจำกัดที่มีต่อกลุ่มกษัตริย์นิยมในวันที่ 5 ตุลาคม ในระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม ค.ศ. 1915 ศูนย์กลางราชาธิปไตย 55 แห่งได้เปิดขึ้น (33 แห่งอยู่ทางเหนือ และอีก 12 แห่งอยู่ทางตอนหลางของประเทศ) เป็นเหตุให้ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมจำนวนมากออกจากตำแหน่งและในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1915 การปฏิวัติได้กลับไปยังท้องถนนอีกครั้ง เมื่อพลเรือนติดอาวุธ 15,000 คนและทหารจากกองทัพเรือพยายามรักษาความจงรักภักดีของกองทัพให้ขึ้นตรงกับรัฐบาล หลังจากการปะทะสามวัน มีผู้เสียชีวิต 500 คนและกว่า 1,000 คนได้รับบาดเจ็บ พรรคประชาธิปไตยยังคงควบคุมสถานการณ์และกลุ่มกษัตริย์นิยมได้รับการประกาศว่าเป็นกลุ่มที่ผิดกฎหมายอีกครั้ง ในช่วงรัฐบาลของซิโดเนียว ปาอิส ปาอิสพัฒนาการสนับสนุนจากฝ่ายอนุรักษนิยมและกลุ่มระบอบการปกครองที่สร้างขึ้นมาใหม่ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งของผู้ชายอย่างเป็นสากล การลอบสังหารเขาเป็นการทำให้ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมสายกลางเขามามีอำนาจการควบคุมที่สร้างขึ้นใหม่ แต่มีการตั้งรัฐบาลทหารขึ้นในจังหวัดทางภาคเหนือด้วยแนวโน้มการปกครองแบบราชาธิปไตย ได้สร้างความหวังในการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์โดยผ่านการรัฐประหาร
อดีตพระเจ้ามานูแวลทรงวิงวอนขอความสงบในช่วงท้ายของสงคราม ในขณะที่ไม่ทรงละทิ้งความเป็นไปได้ในการดำเนินการในอนาคต พระองค์ทรงยืนกรานที่จะรอการสิ้นสุดที่การเจรจาสันติภาพที่ปารีส พระองค์ทรงกลัวภาวะอนาธิปไตยในโปรตุเกสที่มีอย่างต่อเนื่องจะมากระทบการเจรจาต่อรอง แต่สำหรับไปวา โคเซโรและสมาชิกอินเทกราลิสต์คนอื่นๆ มองว่านี้เป็นช่วงเวลาที่รอการอนุมัติของพระราชวงศ์จากผู้ช่วยอดีตพระมหากษัตริย์คือ แอเรส เด ออร์เนลาส ด้วยการได้รับเอกสารอนุมัติในการขอพระบรมราชานุญาตและทำให้แน่ชัดว่าการดำเนินการนี้จะไม่เกิดขึ้นในทันที ออร์นาเลซเขียนที่ริมเอกสารว่า "ทำต่อไป คำจากฝ่าบาท" (Go on. Palavras de El-Rei) และลงนามในเอกสาร
ในวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1919 ทหารจำนวน 1,000 นายและกองทหารปืนใหญ่บางส่วน ภายใต้การบัญชาการของไปวา โคเซโรได้เข้ายึดเมืองโอโปร์ตู เพื่อฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ในพระปรมาภิไธยของพระเจ้ามานูแวลที่ 2 รัฐบาลเฉพาะกาลได้ถูกจัดตั้งขึ้นที่จังหวัดมินโน มณฑลตรัส-ออส-มอนเตส (ยกเว้นที่ชาเวส, มิรันเดราและวิลาเรียล) และเป็นส่วนหนึ่งของเขตอาวีโร แต่ตรงกันข้ามกับความคาดหวังของโคเซโร ส่วนอื่นๆของประเทศไม่ได้ลุกฮือขึ้น
ในกรุงลิสบอน แอเรส เด ออร์เนลาสถูกจับกุมด้วยความตื่นตกใจ แต่เขาไม่สามารถหนีออกมาพร้อมฝ่ายกษัตริย์นิยมคนอื่นๆไปยังกรมทหารม้าทวนที่ 2 ในอาจูดาได้ มีจำนวนของผู้ลี้ภัยที่ประสบกับการตอบโต้ของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมและผู้บัญชาการได้ออกจากกองทัพและได้นำพลเรือนเหล่านั้นไปยังมอนซันโตที่ซึ่งกองทหารม้าที่ 4, ที่ 7 และที่ 9 และกองทหารราบที่ 30 จากเบเล็มทำการป้องกันอยู่ แอเรส เด ออร์เนลาสหวั่นไหวในการสนับสนุนของเขาซึ่งเสี่ยงต่อความเป็นไปได้ที่กลุ่มอินเทกราลิสต์จะเปลี่ยนการสนับสนุนฝ่ายอดีตพระเจ้ามานูแวลมาให้การสนับสนุนฝ่ายเชื้อสายของพระเจ้ามิเกล (อดีตกษัตริย์ในสมัยสงครามกลางเมือง) หรือจะกลายมาเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวของกลุ่มกษัตริย์นิยม ในพื้นที่เล็กและการโอบล้อมของกองทัพฝ่ายสาธารณรัฐ ฝ่ายกษัตริย์นิยมได้ยอมแพ้ในวันที่ 24 มกราคม ด้วยความล้มเหลวของการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางตอนกลางและตอนใต้ของประเทศ เคราะห์ก็นำมาสู่โคเซโร ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ส่วนหนึ่งของทหารแห่งสาธารณรัฐสามารถฟื้นฟูสาธารณรัฐในโอโปร์ตูได้ ฝ่ายกษัตริย์นิยมที่ไม่ได้หลบหนีได้ถูกจำคุกและถูกตัดสินให้จำคุกในระยะเวลายาวนาน อดีตพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงถูกเนรเทศไม่ทรงทราบถึงความล้มเหลวและทรงทราบจากการที่ทรงอ่านรายงานในหนังสือพิมพ์
ข้อตกลงปารีส
[แก้]ในปี ค.ศ. 1922 ด้วยการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างกลุ่มอินเทกราลิสโม ลูซิตาโนกับอดีตพระเจ้ามานูแวลที่ 2 และทรงมีพระราชประสงค์ว่าการอภิเษกสมรสของพระองค์กับพระนางออกัสตา วิกตอเรียจะไม่มีรัชทายาท โดยอดีตพระเจ้ามานูแวลทรงกล่าวถึงฝ่ายสมบูรณาญาสิทธิ์ถึงจุดเริ่มต้นของสายพระราชสันตติวงศ์ของอดีตพระเจ้ามิเกล ในการพบปะที่ปารีส ค.ศ. 1922 โดยมีตัวแทนของพระองค์คือ แอเรส เด ออร์เนลาส และตัวแทนจากฝ่ายมิเกลลิสต์คือ เจ้าหญิงอเดลกุนเดส ดัสเชสแห่งกีมาเรซ พระราชธิดาพระองค์หนึ่งในอดีตพระเจ้ามิเกลและเป็นพระปิตุจฉาในผู้อ้างสิทธิขณะนั้น เจ้าหญิงทรงเรียกพระองค์เองว่า ดัสเชสแห่งกีมาเรซ และทรงเป็นผู้ดูแลดูอาร์เต นูโน ดยุกแห่งบรากังซา ผู้อ้างสิทธิในขณะนั้น ตัวแทนทั้งสองได้ตกลงกันในเรื่องของรัชทายาท ซึ่งสิทธิในราชบัลลังก์โปรตุเกสจะผ่านไปยังดูอาร์เต นูโน ในขณะนั้นฝ่ายสนับสนุนราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงเพราะถือเป็นการปฏิเสธข้อกฎหมายทั้งหมดที่บัญญัติขึ้นในสมัยราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่ปกครองโปรตุเกสจนกระทั่ง ค.ศ. 1910 ฝ่ายอินเทกราลิสต์ก็ยังไม่ตกลง ข้อตกลงจึงล้มเหลวในการอ้างอิงถึงการฟื้นฟูราชาธิปไตยดั้งเดิมขึ้นมาอีกครั้งซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มอินเทกราลิสโมยังคงยืนกรานโดยพื้นฐาน กลุ่มอินเทกราลิสโม ลูซิตาโนจึงระงับการสนับสนุนที่จะฟื้นฟูราชบัลลังก์ และในเดือนกันยายน ค.ศ. 1922 เจ้าหญิงอเดลกุนเดสจึงมีลายพระหัตถ์ถึงอดีตพระเจ้ามานูแวล ซึ่งเป็นพระญาติ โดยทรงปฏิเสธข้อตกลงในการดำเนินการในหนังสือพิมพ์รัฐธรรมนูญ (Constitutional Newspaper) (หน้ากระดาษของกลุ่มอินเทกราลิสโมถูกปิดเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลง) และการขาดแคลนการสนับสนุนของกลุ่มอินเทกราลิสโม เรื่องนี้ได้จบลงด้วยดีจากการไกล่เกลี่ยที่ยังไม่สมบูรณ์ระหว่างราชวงศ์บรากังซาทั้งสองสายสันตติวงศ์ เหตุการณ์นี้ไม่ได้หยุดดูอาร์เต นูโนถึงการใช้พระอิสริยยศ "ดยุกแห่งบรากังซา" ในฐานะที่ทรงเป็นรัชทายาทโดยชอบธรรมของพระเจ้ามานูแวลที่ 2
บรรณารักษ์
[แก้]อดีตพระเจ้ามานูแวลทรงเป็นนักอ่านตัวยงและในระหว่างทรงถูกเนรเทศ ทรงอุทิศพระองค์ให้แก่การศึกษางานด้านวรรณกรรม ทรงเขียนบทความเกี่ยวกับวรรณกรรมยุคกลางและยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการในโปรตุเกส หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและทรงมีเวลาว่างมากขึ้น นอกเหนือจากทรงติดต่อกับกลุ่มกษัตริย์นิยม พระองค์ก็จะทรงอุทิศให้กับการศึกษาเหล่านี้ (เป็นสิ่งที่ทรงได้รับการปลูกฝังมาจากพระราชบิดา) ในขั้นต้น พระองค์ทรงให้ความสนพระทัยในงานเขียนหนังสือชีวประวัติและทรงเริ่มต้นงานวิจัยเกี่ยวกับชีวประวัติของพระเจ้ามานูแวลที่ 1 แห่งโปรตุเกส ซึ่งพระองค์ทรงเชื่อว่าพระเจ้ามานูแวลที่ 1 ทรงถูกปฏิบัติอย่างไม่ดีโดยนักประวัติศาสตร์คนอื่นๆ พระองค์ทรงติดต่อบรรณารักษ์ มอริซ เอททิงเฮาเซนในปี ค.ศ. 1919 เพื่อจะทรงหาหนังสือเก่าสำหรับโครงการของพระองค์และทรงได้รับการช่วยเหลือจากผู้ที่ถูกยุบกรรมสิทธิ์ส่วนตัวต่างๆที่ดำเนินการโดยสาธารณรัฐ
ในปี ค.ศ. 1926 อดีตพระเจ้ามานูแวลทรงละทิ้งดำริเกี่ยวกับชีวประวัติและทรงจดจ่ออยู่กับรายละเอียดหนังสือเก่าในห้องสมุดของพระองค์ (โดยเป็นห้องสมุดที่มีงานเขียนเก่าที่สมบูรณ์) มากกว่ารายละเอียดง่ายๆ งานเขียนได้ทำให้อดีตพระเจ้ามานูแวลทรงเขียนเกี่ยวกับความรุ่งโรจน์ของโปรตุเกส พระองค์ไม่เพียงเขียนแต่บรรณานุกรมแต่ยังทรงตรวจสอบนักประพันธ์และบริบทการประพันธ์ของพวกเขา การตีความของพระองค์คือการพิสูจน์อย่างอม่นยำตามหลักกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และส่งผลให้ในการทำงานขั้นสุดท้ายจะถูกทำสัญลักษณ์ด้วยลัทธิชาตินิยมและการยกระดับความกล้าหาญของบรรพบุรุษ ตัวอย่างของพระองค์ถูกจำกัดและทรงใส่ตัวอย่างประกอบโดยการสำเนางานเอกสารซึ่งมีทั้งเขียนด้วยภาษาอังกฤษและภาษาโปรตุเกส หนังสือเล่มแรกของการทำงานคือ Livros Antigos Portuguezes 1489–1600, da Bibliotheca de Sua Magestade Fidelíssima Descriptos por S. M. El-Rey D. Manuel em Três volumes ซึ่งตีพิมพ์ในปีพ.ศ. 2472 อดีตพระเจ้ามานูแวลทรงส่งมอบสำเนางานเขียนด้วยพระองค์เองแก่พระสหายคือ พระเจ้าจอร์จที่ 5 ณ พระราชวังวินด์เซอร์ งานประพันธ์ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักวิจารณ์และพระองค์ทรงอุทิศแก่หนังสือเล่มที่สอง ซึ่งครอบคลุมยุคสมัยตั้งแต่ ค.ศ. 1540 ถึง ค.ศ. 1569 แต่โครงการถูกยกเลิกก่อนกำหนดในปี ค.ศ. 1932 เมื่ออดีตพระเจ้ามานูแวลเสด็จสวรรคตอย่างไม่มีใครคาดคิด หนังสือเล่มที่สามได้ถูกตีพิมพ์หลังการสวรรคตภายใต้การกำกับดูแลของบรรณารักษ์ของพระองค์ มาร์เจรี่ วินเทอร์ ผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ของพระองค์ทำให้ทรงมีชื่อเสียงเป็นที่เคารพในหมู่นักประวัติศาสตร์โปรตุเกสและรูปปั้นครึ่งพระองค์ได้ถูกประดิษฐานที่ห้องโถงทางเข้าของห้องสมุดแห่งชาติโปรตุเกสในกรุงลิสบอน
สวรรคต
[แก้]อดีตพระเจ้ามานูแวลที่ 2 เสด็จสวรรคตอย่างไม่คาดคิดที่บ้านพักของพระองค์ในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 จากการที่ทรงหายใจติดขัดโดยกล่องเสียงของพระองค์บวมผิดปกติหรืออาการบวมของท่อลม[30] รัฐบาลโปรตุเกสในขณะนั้นนำโดย อันโตนิโอ โอลิเวรา ซาลาซาร์ ได้รับอนุญาตให้ฝังพระบรมศพของพระองค์ที่กรุงลิสบอน หลังจากมีรัฐพิธี พระบรมศพมาถึงกรุงลิสบอนในวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1932 โดยเรือสัญชาติอังกฤษ เฮสเอ็มเอส คอนคอร์ด ซึ่งเดินทางมาจากสหราชอาณาจักรและล่องเข้ามาในแม่น้ำเทกัสเพื่อส่งพระบรมศพอดีตพระมหากษัตริย์ พระบรมศพได้รับการส่งมอบที่ปรากาโดกอมเมอซีโอ ที่ซึ่งฝูงชนได้มารวมตัวกันติดตามพระบรมศพไปยังเขตเซาวิเซนเตเดฟอราและถนนก็เต็มไปด้วยผู้ที่สนใจในขบวนแห่พระบรมศพ พระบรมศพได้ถูกฝังที่วิหารหลวงแห่งพระราชวงศ์บรากังซาในพระอารามเซาวิเซนเตเดฟอรา
พระองค์ทรงได้รับพระราชสมัญญานามว่า "ผู้รักชาติ" (the Patriot, o Patriota) สำหรับความห่วงใยในเอกลักษณ์ประจำชาติของพระองค์, พระนามว่า "ผู้เคราะห์ร้าย" (the Unfortunate, o Desventurado) เพราะว่าทรงสูญเสียพระราชบัลลังก์ให้แก่สาธารณรัฐ และพระนามว่า "ผู้พากเพียร" (the Studious, O Estudioso) หรือ "ผู้รักหนังสือ" (the Bibliophile, O Bibliófilo) สำหรับความรักในวรรณกรรมโปรตุเกสของพระองค์ ฝ่ายกษัตริย์นิยมได้ถวายพระราชสมัญญานามพระองค์ว่า "กษัตริย์ผู้เป็นที่ระลึกถึง"(the Missed King, O Rei-Saudade) สำหรับความปรารถนาที่รู้สึกเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกล้มล้าง
การเสด็จสวรรคตของพระองค์ได้ถูกกล่าวถึงความไม่ชอบมาพากลโดยบางส่วนเพราะความเป็นจริงคือ พระองค์ทรงเล่นกีฬาเทนนิสวันที่ 1 กรกฎาคม และเห็นได้ชัดว่าพระพลานามัยยังทรงแข็งแรง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมนช่วงการสวรรคตของอดีตพระเจ้ามานูแวลได้ถูกกล่าวถึงในหนังสืออัตชีวประวัติของฮาโรลด์ บรัสท์ สมาชิกของสก็อตแลนด์ ยาร์ดสายปฏิบัติการพิเศษในการปกป้องบุคคลสาธารณะ ในบันทึกของเขา บรัสท์ได้พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1931 ซึ่งค้นพบผู้บุกรุกในพื้นที่ฟูลเวล ปาร์ค ซึ่งเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม ได้รับการยืนยันว่าเขาเป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายสาธารณรัฐโปรตุเกสที่รู้จักกันดีในชื่อกลุ่มคาร์โบนาเรียและซึ่งต่อมาถูกส่งกลับไปยังลิสบอน ถึงแม้วันที่ของผู้บุกรุกจะไม่ได้รับการยืนยันแล้ว แต่ปัญหายังคงถกเถียงถึงเหตุผลในการบุกรุกบ้านพักส่วนพระองค์[31]
นับตั้งแต่ข้อตกลงทั้งสองทั้งโดเวอร์และปารีสไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์และไม่มีเอกสารที่พิสูจน์เป็นลายลักษณ์อักษรดังนั้นหนทางเดียวคือการเสด็จสวรรคตในราชบัลลังก์ อดีตพระเจ้ามานูแวลทรงทำให้ชัดเจนว่าสาขาของพระราชวงศ์โปรตุเกส (รวมทั้งพระราชวงศ์สายบราซิล และสายสันตติวงศ์ของดยุกแห่งลูเล)จะต้องสิ้นสุดลงด้วยรัชทายาทที่เป็นชายสายตรงของราชวงศ์บรากังซา กลุ่มอินเทกราลิสโม ลูซิตาโนยังคงเคลื่อนไหวและได้ประกาศให้ดูอาร์เต นูโน ดยุกแห่งบรากังซาเป็นพระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกส นับตั้งแต่พระเจ้ามิเกลแห่งโปรตุเกสจนถึงการสิ้นพระชนม์ของพระนัดดาของพระองค์ โดยได้เป็นประมุขแห่งราชวงศ์บรากังซาองค์ต่อไป การกล่าวอ้างของกลุ่มนี้เป็นลักษณะเสียดสีรวมถึงความจริงที่ว่าทั้งสองสาขาได้พบกันในการกำหนดสายพระราชสันตติวงศ์ที่โดเวอร์และปารีสแม้ว่าข้อตกลงทั้งสองจะถูกปฏิเสธในภายหลัง
หลังจากการสวรรคตของพระเจ้ามานูแวล ผู้นำเผด็จการคือ อันโตนิโอ โอลิเวรา ซาลาซาร์ ได้ทูลเชิญให้พระราชวงศ์บราแกนซาที่ถูกต้องห้าม (พระราชวงศ์สายพระเจ้ามิเกล) และก่อตั้งขึ้นด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ของพระมหากษัตริย์ในอังกฤษและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บางส่วนที่ยังเหลืออยู่ การก่อตั้งพระราชวงศ์บรากังซาได้ทำตามพระราชประสงค์ของอดีตพระเจ้ามานูแวลในการปล่อยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์"ให้กับชาวโปรตุเกสทั้งปวง"
พระอิสริยยศและพระเกียรติยศ
[แก้]พระอิสริยยศ
[แก้]- 19 มีนาคม - 19 ตุลาคม ค.ศ. 1889 : อิงฟังตึมานูแวลแห่งโปรตุเกส
- 19 ตุลาคม ค.ศ. 1889 - 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1908 : ดยุกแห่งเบฌา
- 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1908 - 5 ตุลาคม ค.ศ. 1910 : พระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกสและอัลการ์วึ
- 5 ตุลาคม ค.ศ. 1910 - 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 : พระเจ้ามานูแวลที่ 2 แห่งโปรตุเกสและอัลการ์วึ
พระอิสริยยศหลักของพระเจ้ามานูแวลที่ 2 ในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกสมีดังนี้:
โดยความดีงามของพระผู้เป็นเจ้าและโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชาธิปไตย, มานูแวลที่ 2, พระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกสและอัลเกรฟ, แห่งอีกด้านหนึ่งของทะเลในทวีปแอฟริกา, ลอร์ดแห่งกีนีและแห่งผู้พิชิต, นาวิกราชและการค้าแห่งเอธิโอเปีย, อะราเบีย, เปอร์เซีย และอินเดีย, ฯลฯ
พระเกียรติยศ
[แก้]ในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกส พระเจ้ามานูแวลทรงเป็นพระประมุขของเครื่องราชอิสริยาภรณ์โปรตุเกสดังนี้
- อัศวินแห่งพระคริสต์
- อัศวินแห่งอาวิซ
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์เจมส์เดอะซอร์ด
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์ออฟเดอะทาวเวอร์แอนด์ซอร์ด
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์สมโภชแห่งวิลาวิคอซา
รายนามนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรโปรตุเกสในรัชสมัยพระเจ้ามานูแวลที่ 2
[แก้]รูป | นาม | พรรคการเมือง | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ | ระยะเวลา |
---|---|---|---|---|---|
ฌูเอา ฟรังโก (João Franco) |
พรรคเสรีนิยมกำเนิดใหม่ | 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1906 | 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1908 | 1 ปี 261 วัน | |
ฟรังซิสโก โจอาควิม เฟอร์เรรา โด อมารัล (Francisco Joaquim Ferreira do Amaral) |
อิสระ | 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1908 | 26 ธันวาคม ค.ศ. 1908 | 0 ปี 326 วัน | |
อาร์เทอร์ อัลเบอร์โต เดอ กัมโพส เอนริเก (Artur Alberto de Campos Henriques) |
อิสระ (พรรคกำเนิดใหม่และพรรคก้าวหน้า) |
26 ธันวาคม ค.ศ. 1908 | 11 เมษายน ค.ศ. 1909 | 0 ปี 106 วัน | |
เซบัสเตียว กัสโตดิโอ เดอ เซาซา เตเลส (Sebastião Custódio de Sousa Teles) |
อิสระ | 11 เมษายน ค.ศ. 1909 | 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1909 | 0 ปี 33 วัน | |
เวนเซสเลาส์ เดอ เซาซา เปเรย์รา เดอ ลิมา (Venceslau de Sousa Pereira de Lima) |
อิสระ | 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1909 | 22 ธันวาคม ค.ศ. 1909 | 0 ปี 222 วัน | |
ฟรังซิสโก ดา วีกา บีเรา (Francisco da Veiga Beirão) |
พรรคกำเนิดใหม่ | 22 ธันวาคม ค.ศ. 1909 | 26 มิถุนายน ค.ศ. 1910 | 0 ปี 186 วัน | |
อันโตเนียว เทเซรา เดอ เซาซา (António Teixeira de Sousa) |
พรรคกำเนิดใหม่ | 26 มิถุนายน ค.ศ. 1910 | 5 ตุลาคม ค.ศ. 1910 | 0 ปี 101 วัน |
พงศาวลี
[แก้]อ้างอิง
[แก้]เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ พระราชบุตรองค์ที่สองคือ เจ้าหญิงมารีอา อนา พระราชธิดาซึ่งสิ้นพระชนม์หลังประสูติ
- ↑ เจ้าชายพระองค์ใหม่ทรงได้รับการตั้งพระนามตามพระนามของพระปัยกา (ทวด) ฝ่ายพระบิดาคือ สมเด็จพระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูแวลที่ 2 แห่งอิตาลี; สมเด็จพระพันปีหลวงมาเรีย เพีย พระอัยยิกาของพระองค์ทรงดำริว่าการตั้งพระนามนี้ถือเป็นการแสดงความเคารพต่อพระราชบิดาของพระนางซึ่งเป็นผู้รวมชาติอิตาลีให้เป็นหนึ่งเดียว
- ↑ ในพระราชพิธีประจำปีอย่าง ไบฌา-เมา เรียล ("การจุมพิตพระหัตถ์ขององค์กษัตริย์") ทุกๆวันที่ 1 มกราคม, พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะเข้าร่วมพระราชพิธีนี้ที่ตามธรรมเนียมต้องนำบุคคลมาจุมพิตพระหัตถ์ของพระมหากษัตริย์; (Eduardo Nobre, 2002)
- ↑ D. Manuel II. "O Atentado de 1 de Fevereiro. Documentos" (PDF). Associação Cívica República e Laicidade, pp. 3 e 4. สืบค้นเมื่อ 27 August 2010.
- ↑ โดยทั้งพระเจ้ามานูแวลและสมเด็จพระพันปีหลวงอเมลี พระราชมารดาทรงถูกโน้มน้าวให้เชื่อว่า พระเจ้าการ์ลุชทรงทำให้พระองค์เองตกอยู่ในอันตรายโดยการที่ทรงแทรกแซงความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเปิดเผยและทรงเลือกข้างปฏิบัติ (ซึ่งเป็นประจำสำหรับนักการเมืองและผู้สนับสนุนพวกเขาได้ทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นและเป็นการเพิ่มความเป็นศัตรูไม่มากก็น้อยในช่วงระเบียบวาระการประชุมสภาของพวกเขา) ด้วยทัศนคตินี้ พระเจ้ามานูแวลทรงเลือกบทบาทที่แตกต่างออกไป พระองค์ทรงโปรดที่จะเลี่ยงและพยายามไม่สร้างข้อพิพาทระหว่างผู้นำทั้งสองฝ่ายการเมือง
- ↑ Bern, Stéphane (1999). Eu, Amélia, Última Rainha de Portugal (ภาษาโปรตุเกส). Porto: Livraria Civilização Editora. p. 172.
- ↑ Proença, Maria Cândida, 2006, "D. Manuel II" – Colecção "Reis de Portugal", Lisboa, Círculo de Leitores, p. 100
- ↑ Hindley, Geoffrey. The Royal Families of Europe, p. 23
- ↑ "Visita a Portugal do Presidente da República do Brasil, Marechal Hermes da Fonseca". Fundação Mário Soares. สืบค้นเมื่อ 31 August 2010.
- ↑ "D. Manuel de Bragança parte para o exílio". Fundação Mário Soares. สืบค้นเมื่อ 31 August 2010.
- ↑ "Quartel-general nos Banhos de S. Paulo". Fundação Mário Soares. สืบค้นเมื่อ 31 August 2010.
- ↑ "Reunião da Rua da Esperança". Fundação Mário Soares. สืบค้นเมื่อ 31 August 2010.
- ↑ Relvas, José (1977). Memórias Políticas (ภาษาโปรตุเกส). Lisboa: Terra Livre. p. 112.
- ↑ "Afonso Costa - 5 de Outubro de 1910". www.citi.pt. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-04. สืบค้นเมื่อ 31 August 2010.
- ↑ "5 de Outubro de 1910". Olho Vivo. สืบค้นเมื่อ 31 August2010.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "O rei foge para Mafra". Fundação Mário Soares. สืบค้นเมื่อ 1 September 2010.
- ↑ "Ordem para o bombardeamento do Palácio das Necessidade". Fundação Mário Soares. สืบค้นเมื่อ 1 September 2010.
- ↑ Martins, Rocha (1931–1933). D. Manuel II: História do seu Reinado e da Implantação da República (ภาษาโปรตุเกส). Lisbon: edição do autor. p. 521.
{{cite book}}
: CS1 maint: date format (ลิงก์) - ↑ Martínez, Pedro Soares (2001). A República Portuguesa e as Relações Internacionais (1910-1926) (ภาษาโปรตุเกส). Lisbon: Verbo. pp. 40–41. ISBN 9722220349.
- ↑ "José Relvas proclamou a República a 5 de Outubro de 1910". RTP. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-29. สืบค้นเมื่อ 31 August 2010.
- ↑ "Vítimas da revolução". Fundação Mário Soares. สืบค้นเมื่อ 1 September 2010.
- ↑ "A juga do rei". Guia do concelho de Mafra. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-29. สืบค้นเมื่อ 31 August 2010.
- ↑ Martins, Rocha. op. cit. p. 583.
- ↑ ผู้บัญชาการคัสเตโล บรานโกได้เตือนพระองค์ว่าเป็นเรื่องที่อันตรายเกินไปที่จะใช้เส้นทางดังกล่าว
- ↑ Fernando Honrado, Da Ericeira a Gibraltar vai um Rei, Lisboa, Acontecimento, 1993, pp. 91–93
- ↑ Serrão, Joaquim Veríssimo (1997). História de Portugal: A Primeira República (1910-1926) (ภาษาโปรตุเกส). Vol. IX. Lisbon: Editorial Verbo. p. 39.
- ↑ มาร์เควสแห่งโซเวรัลได้เสนอว่าสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักรทรงมีพระราชประสงค์ที่จะส่งกองกำลังคุ้มกันไปยังยิบรอลตาร์เพื่อปกป้องพระราชวงศ์ ในการตอบสนองจากทางฝั่งรัฐบาลอังกฤษได้เสนอให้ส่งเรือยอทช์ส่วนพระองค์ชื่อ Victoria and Albert ไปแทนเพื่อที่จะไม่สร้างความตึงเครียดกับรัฐบาลสาธารณรัฐกรุงลิสบอน
- ↑ Nobre, Eduardo, "Paixões Reais", Lisboa, Quimera Editores Lda., 2002.
- ↑ Ferro, António, “D. Manuel II, o Desventurado”, Lisboa, Livraria Bertrand, 1954, pp. 108–9.
- ↑ Great Dynasties, 1980, p. 221
- ↑ Luís Guerreiro, 2007–2010, Centenário do Regicídio
แหล่งข้อมูล
[แก้]- Great Dynasties. New York: Mayflower Books Inc. 1980. ISBN 0-8317-3966-5.
- Hindley, Geoffrey (1979). The Royal Families of Europe. London: McGraw-Hill Book Company. ISBN 0-07-093530-0.
- Ferro, António (1954). D. Manuel II, O Desventurado (ภาษาโปรตุเกส). Lisbon: Livraria Bertrand.
- Nobre, Eduardo (2002). Paixões Reais (ภาษาโปรตุเกส). Lisbon: Quimera Editores Lda.
- Honrado, Fernando (1993). Da Ericeira a Gibraltar vai um Rei (ภาษาโปรตุเกส). Lisbon: Acontecimento. pp. 91–93.
- Proença, Maria Cândida (2006). D. Manuel II. Reis de Portugal (ภาษาโปรตุเกส). Lisbon: Círculo de Leitores. p. 100.
- Guerreiro, Luís (2007). Centenário do Regicídio "Memorial do Regicido" (ภาษาโปรตุเกส). Lisbon: Aliança Internacional Monárquica Portuguesa. สืบค้นเมื่อ 18 May 2010.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่า|url=
(help)
ก่อนหน้า | พระเจ้ามานูแวลที่ 2 แห่งโปรตุเกส | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าการ์ลุชที่ 1 แห่งโปรตุเกส | พระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกสและอัลการ์วึ (1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1908 - 5 ตุลาคม ค.ศ. 1910) |
ราชาธิปไตยถูกล้มล้าง หรือ เตโอฟีโล บรากา (ประธานาธิบดีรัฐบาลเฉพาะกาลแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกส) | ||
เจ้าชายฌูเอา มาเรีย | ดยุกแห่งเบฌา (19 ตุลาคม ค.ศ. 1889 - 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1908) |
ว่าง | ||
ราชาธิปไตยถูกล้มล้าง | ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์โปรตุเกสและอัลการ์วึ (5 ตุลาคม ค.ศ. 1910 - 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1932) |
ดูอาร์เต นูโน |