ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าเอ็งรีกึแห่งโปรตุเกส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอ็งรีกึ
พระคาร์ดินัล
พระบรมสาทิสลักษณ์ ป. 1579
พระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกสและอัลการ์วึช
ครองราชย์4 สิงหาคม ค.ศ. 1578 – 31 มกราคม ค.ศ. 1580
ราชาภิเษก28 สิงหาคม ค.ศ. 1578 ลิสบอน
ก่อนหน้าซึบัชตีเยา
ถัดไปอังตอนียู (พิพาท) หรือ ฟีลิปึที่ 1
พระราชสมภพ31 มกราคม ค.ศ. 1512
ลิสบอน ราชอาณาจักรโปรตุเกส
สวรรคต31 มกราคม ค.ศ. 1580 (68 พรรษา)
อัลไมริง ราชอาณาจักรโปรตุเกส
ราชวงศ์อาวิช
พระราชบิดาพระเจ้ามานูแวลที่ 1 แห่งโปรตุเกส
พระราชมารดามารีอาแห่งอารากอน
ศาสนาโรมันคาทอลิก

พระคาร์ดินัล พระเจ้าเอ็งรีกึแห่งโปรตุเกส (โปรตุเกส: Henrique  ; 31 มกราคม 1512 – 31 มกราคม 1580) ได้รับการถวายพระสมัญญาว่า ผู้บริสุทธิ์ (โปรตุเกส: o Casto) และ กษัตริย์พระคาร์ดินัล (โปรตุเกส: o Cardeal-Rei) ทรงเป็น พระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกส ,ตุลาการศาลศาสนา และพระคาร์ดินัลแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งปกครองราชอาณาจักรโปรตุเกส ระหว่างปี ค.ศ. 1578 ถึง 1580 เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นนักบวช ทำให้ต้องทรงถือพรหมจรรย์ และไม่มีพระราชบุตรที่จะสืบราชสันตติวงศ์ต่อได้ และด้วยเหตุนี้ราชวงศ์อาวิชที่ปกครองดินแดนโปรตุเกสเป็นเวลาเกือบ 200 ปีสิ้นสุดลง การสวรรคตของพระองค์ทำให้เกิด วิกฤตการณ์การสืบราชบัลลังก์โปรตุเกส ค.ศ. 1580 และท้ายที่สุดก็เกิดการรวมราชบัลลังก์กันเป็นสหภาพไอบีเรีย เป็นเวลายาวนาน 60 ปีที่โปรตุเกสมีพระมหากษัตริย์ร่วมกันกับราชอาณาจักรสเปน พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไปของโปรตุเกสหลังสิ้นสุดสหภาพไอบีเรียคือ พระเจ้าฌูเอาที่ 4 ซึ่งทรงฟื้นฟูราชบัลลังก์ขึ้นใหม่ หลังจากอยู่ภายใต้การปกครองของสเปน

พระชนม์ชีพ

[แก้]

พระเจ้าเอ็งรีกึเสด็จพระราชสมภพที่ ลิสบอน เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 5 ของพระเจ้ามานูแวลที่ 1 แห่งโปรตุเกส และ มารีอาแห่งอารากอน [1]

พระคาร์ดินัล

[แก้]

ในฐานะที่ทรงเป็นพระโสทรานุชาของพระเจ้าฌูเอาที่ 3 แห่งโปรตุเกส และเป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในพระมหากษัตริย์ จึงไม่คาดคิดว่าอิงฟังตึเอ็งรีกึจะเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์โปรตุเกส ในช่วงต้นของพระชนม์ชีพ อิงฟังตึเอ็งรีกึทรงรับศีลบวช เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของโปรตุเกสในด้านคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของ สเปน พระองค์ทรงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์อย่างรวดเร็วตามลำดับชั้นของคริสตจักร โดยได้รับแต่งตั้งเป็น อัครมุขนายก(อาร์ชบิชอป)แห่งบรากา อัครมุขนายกแห่งเอโบรา และ ผู้พิพากษาสูงสุดศาลศาสนา ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัลในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1545 โดยมีสมณศักดิ์เป็น Santi Quattro Coronati ทรงเป็น อัครมุขนายกแห่งลิสบอน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1564 ถึง 1570 อิงฟังตึเอ็งรีกึทรงพยายามนำคณะเยซูอิตมายังโปรตุเกส เพื่อสนับสนุนกิจการศาสนาของพวกเขาในจักรวรรดิอาณานิคมของโปรตุเกส

รัชกาล

[แก้]

อิงฟังตึเอ็งรีกึทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระเจ้าซึบัชตีเยา พระราชนัดดาในพระราชภาติยะของพระองค์ แทนที่สมเด็จพระราชินีคาทารีนา พระเชษฐนีของพระองค์และพระอัยยิกาของพระเจ้าซึบัชตีเยา หลังจากพระนางทรงลาออกจากตำแหน่งในปี ค.ศ. 1562 [2] [1] พระเจ้าซึบัชตีเยาเสด็จสวรรคตโดยไม่มีรัชทายาทใน ยุทธการที่อัลกาเซอร์คิบีร์ ซึ่งประสบความหายนะในปี ค.ศ. 1578 และพระคาร์ดินัลชราผู้นี้ก็ได้รับการถวายราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ในเวลาไม่นานหลังจากนั้น [1] พระเจ้าเอ็งรีกึทรงพยายามที่จะปลดเปลื้องคำปฏิญาณของคริสตจักรเพื่อที่พระองค์จะได้เสกสมรสและมีรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ราชวงศ์อาวิซสืบไป แต่สมเด็จพระสันตปาปาเกรกอรีที่ 13 ไม่ต้องการที่จะขัดแย้งกับพระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน จึงไม่ได้ประทานพระอนุญาตให้พระองค์ปลดเปลื้องคำปฏิญาณนั้น [3] [4]

สวรรคตและการสืบสันตติวงศ์

[แก้]

กษัตริย์พระคาร์ดินัลเสด็จสวรรคตในพระราชวังอัลไมริง ขณะทรงมีพระชนมายุได้ 68 พรรษา โดยไม่ได้ทรงสถาปนาผู้สืบราชบัลลังก์ เหลือเพียงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อดูแลราชอาณาจักรเท่านั้น [5] ผู้อ้างสิทธิ์ในราชวงศ์ที่ใกล้ชิดที่สุดพระองค์หนึ่งคือพระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน ซึ่งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1580 ทรงส่งดยุกแห่งอัลบา ไปอ้างสิทธิ์โปรตุเกสโดยใช้กำลัง [5] และพระเจ้าเฟลิเปได้รับเลือกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกสที่ศาลกอร์ตึชโปรตุเกสแห่งตูมาร์ ในปี ค.ศ. 1581 ทรงมีพระปรมาภิไธยว่า พระเจ้าฟีลิปึที่ 1 โดยมีเงื่อนไขว่าราชอาณาจักรและดินแดนโพ้นทะเลจะต้องรักษาเอกราชเอาไว้ [6] ทำให้เกิดสหภาพไอบีเรียขึ้น

พระราชพงศาวลี

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 McMurdo 1889.
  2. Disney 2009, p. 174
  3. MacKay 2012, p. 44
  4. Disney 2009, p. 176
  5. 5.0 5.1 Disney 2009.
  6. Stephens 1903.
  7. 7.0 7.1  Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). "Emanuel I." . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 9 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Liss, Peggy K. (2015). Isabel the Queen: Life and Times. University of Pennsylvania Press. p. 11. ISBN 978-0812293203.
  9. 9.0 9.1 Stephens 1903, p. 139
  10. 10.0 10.1  Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). "Ferdinand V. of Castile and Leon and II. of Aragon" . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 10 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์.
  11. 11.0 11.1 Isabella I, Queen of Spain ที่สารานุกรมบริตานิกา