พระที่นั่งอัมพรสถาน
พระที่นั่งอัมพรสถาน | |
---|---|
Amphorn Sathan Throne Hall | |
พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ก่อนการบูรณะในปี 2543 | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ประเภท | พระที่นั่ง |
สถาปัตยกรรม | อาร์ต นูโว แขกมัวร์ |
ที่ตั้ง | แขวงดุสิต เขตดุสิต |
เมือง | กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ไทย |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2445 |
ปรับปรุง | พ.ศ. 2543 |
ผู้สร้าง | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
โครงสร้าง | อาคาร 3 ชั้น ก่ออิฐถือปูน ทาสีเหลืองงาช้าง หลังคามุงกระเบื้องสีเทา |
การออกแบบและการก่อสร้าง | |
สถาปนิก | คาร์ล ซันเดรสกี |
พระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นพระที่นั่งองค์หนึ่งภายในพระราชวังดุสิต ปัจจุบันเป็นพระที่นั่งที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
ประวัติ
[แก้]พระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในปีเดียวกับที่สร้างพระที่นั่งวิมานเมฆเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5)ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งขึ้นอีกองค์หนึ่งทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่า สวนแง่เต๋ง (แปลว่า สีงา) และทรงตั้งนามให้พระที่นั่งองค์ใหม่ว่า พระที่นั่งอัมพรสถาน
พระสถิตย์นิมานการ (ม.ร.ว. ชิด อิศรศักดิ์) เจ้ากรมโยธาธิการ ได้ดำเนินการก่อสร้างอยู่หลายปี ครั้นถึง ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ต่อมาคือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)มารับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ จึงได้เป็นผู้อำนวยการก่อสร้างพระที่นั่งต่อมาจนเสด็จในปีนั้นและการเฉลิมพระที่นั่งนั้น เป็นงานใหญ่ตั้งแต่วันที่ 18 - 22 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) แต่ที่จริงโหรทำนายว่าควรจะเอาเป็นวันในปลายเดือนธันวาคม แต่มิโปรดเนื่องจากอากาศนั้นหนาวเย็น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5)เสด็จสวรรคตที่ชั้น 3 ของพระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 6)และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 7)เสด็จมาประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้ ได้ประทับแค่เพียงชั้น 2 เท่านั้น เพราะชั้น 3 ถือว่าเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ใน พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร(รัชกาลที่ 9)ภายหลังเสด็จฯ จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์นิวัติพระนคร ได้ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ก่อนจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นสถานที่เสด็จพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 10), สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และนอกจากนี้ยังเป็นสถานที่พระประสูติกาลของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
และในปัจจุบันพระที่นั่งอัมพรสถานเป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
สถาปัตยกรรม
[แก้]พระที่นั่งอัมพรสถานเป็นพระที่นั่ง 3 ชั้น ผังอาคารเป็นรูปตัว H คือมีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 หลังวางขนานกันในแนวทิศเหนือและทิศใต้เชื่อมต่อด้วยอาคารในแนวดิ่งสถาปัตยกรรมแบบอาร์ต นูโว (Art Nouveau) ผสมแขกมัวร์ แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือพระที่นั่งอัมพรสถาน และพระที่นั่งอุดรภาคเชื่อมต่อกันด้วยสะพานทั้งชั้นบนและชั้นล่างลักษณะเด่นอยู่ตรงที่มุขด้านหน้า 2 ข้างซึ่งทำเป็นผนังโค้งเรียงซ้อนกัน 3 ชั้น ชั้นนอกเป็นระเบียงหุ้มพื้นที่ภายในผนังตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้และใบไม้ ประยุกต์เข้ากับรูปทรงเลขาคณิต ขอบบนประตูหน้าต่างเป็นลวดลายแถบยาวรูปพรรณพฤกษาในแบบสีปูนเปียกคาดรอบตึก นอกจากนี้ยังมีราวระเบียงและลูกกรงที่ทำจากโลหะเป็นลายเรขาคณิตประกอบดอกไม้และโลหะ ผนังภายในอาคารตกแต่งด้วยลายปูนปั้นและการเขียนสีปูนแห้งลายพรรณพฤกษาและปักษา ซึ่งวาดโดย ซีซาร์เร เฟร์โร ศิลปินชาวอิตาเลียน
พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน
[แก้]ปัจจุบัน ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญ ๆ เช่น
- พระชัยนวรัตน์
- พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร เดิมประดิษฐานอยู่ ณ หอพระสุราลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
- พระพุทธนรสีห์
- พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย เดิมประดิษฐานอยู่ที่ พระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง
- พระคันธารราษฎร์ เดิมประดิษฐานอยู่ที่ หอพระคันธารราษฎร์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ห้องพระป้าย
[แก้]พระป้ายที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นพระป้ายที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น ซึ่งพระป้ายนั้นเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องกษัตริยาธิราชพระหัตถ์ขวาถือพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระมีลักษณะคล้ายกับเทวรูปพระสยามเทวาธิราช
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ พระที่นั่งอัมพรสถาน
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์