ผู้สอดแนมสิบสองคน
ผู้สอดแนมสิบสองคน (อังกฤษ: The Twelve Spies) ตามที่บันทึกในหนังสือกันดารวิถี เป็นกลุ่มผู้นำชาวอิสราเอล ผู้นำแต่ละคนมาจากแต่ละเผ่าของสิบสองเผ่า ซึ่งโมเสสได้ส่งพวกเขาไปสำรวจดินแดนคานาอันเป็นเวลา 40 วัน[1] เพื่อจะให้คานาอันเป็นที่อยู่ในกาลภายหน้าของชาวอิสราเอล เวลานั้นเป็นช่วงที่ชาวอิสราเอลกำลังอยู่ในถิ่นทุรกันดารภายหลังการอพยพจากอียิปต์ เรื่องราวนี้ปรากฏในกันดารวิถี 13:1 -33 และเล่าอีกครั้งโดยมีรายละเอียดที่แตกต่างในบางประการในเฉลยธรรมบัญญัติ 1:22 -40
พระเจ้าทรงสัญญากับอับราฮัมว่าจะมีแผ่นดินแห่งพระสัญญาสำหรับประชาชาติที่สืบเชื้อสายจากอิสอัคบุตรชายของอับราฮัม ดินแดนของคานาอันที่โมเสสส่งผู้สอดแนมไปสำเร็จนี้คือแผ่นดินแห่งพระสัญญาเดียวกันนี้ โมเสสขอให้เหล่าผู้สอดแนมประเมินลักษณะทางภูมิศาสตร์, กำลังพลและจำนวนประชากร, ศักยภาพทางการเกษตรและจำนวนผลผลิต, การจัดการเมือง (ว่าเมืองมีลักษณะเหมือนค่ายหรือฐานที่มั่น) และสภาวะการป่าไม้ของดินแดนคานาอัน โมเสสยังขอให้พวกเขามีใจกล้าหาญและนำตัวอย่างผลผลิตในท้องถิ่นของคานาอันกลับมา
ผู้สอดแนม 10 คนจากทั้งหมด 12 คนรายงานในเชิงลบเกี่ยวกับดินแดนคานาอัน พวกเขากล่าวร้ายเรื่องแผ่นดินที่พวกเขา่เชื่อว่าพระเจ้าทรงให้สัญญาไว้ พวกเขาไม่เชื่อว่าพระเจ้าจะทรงช่วยพวกตนได้ แล้วพวกเขาก็โน้มน้าวประชาชนให้คล้อยตามว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะยึดดินแดนคานาอัน ผลก็คือประชาชาติทั้งหมดต้องเร่ร่อนอยู่ในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลา 40 ปีจนกว่าคนเกือบทั้งรุ่นนั้นได้ตายไป[2] โยชูวาและคาเลบเป็นผู้สอดแนม 2 คนที่รายงานสิ่งที่ดีและเชื่อว่าพระเจ้าจะทรงช่วยพวกตนให้สำเร็จ ทั้งคู่จึงเป็นเพียง 2 คนในรุ่นของพวกเขาที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในแผ่นดินแห่งพระสัญญาหลังจากช่วงเวลาเร่ร่อน[3]
เกี่ยวกับผู้สอดแนม
[แก้]พระเจ้าทรงสัญญากับชาวอิสราเอลว่าพวกเขาจะสามารถยึดครองดินแดนคานาอัน โมเสสจึงสั่งให้เหล่าผู้สอดแนมกลับมารายงานเกี่ยวกับการเกษตรและที่ดินของดินแดนคานาอัน แต่ระหว่างการเดินทางสอดแนม เหล่าผู้สอดแนมเห็นเมืองมีกำแพงป้องกันและชาวเมืองล้วนเป็นคนรูปร่างใหญ่โต ทำให้พวกเขาหวาดกลัวและเชื่อว่าชาวอิสราเอลจะไม่สามารถยึดครองดินแดนนี้ตามที่พระเจ้าทรงสัญญาได้ ผู้สอดแนม 10 คนจากทั้งหมด 12 คนตัดสินใจรายงานในเชิงลบ เน้นย้ำถึงความยากลำบากของภารกิจเบื้องหน้าพวกตน[4]
เขาทั้งหลายเล่าให้โมเสสฟังว่า "ข้าพเจ้าทั้งหลายไปถึงแผ่นดินซึ่งท่านส่งเราไปนั้น ที่นั่นมีน้ำนมและน้ำผึ้งไหลบริบูรณ์จริง และนี่เป็นผลไม้ของแผ่นดินนั้น แต่ว่าคนที่อยู่ในแผ่นดินนั้นมีกำลังมาก เมืองของพวกเขาก็มีกำแพงป้องกันและใหญ่โตมาก นอกจากนั้นเรายังเห็นลูกหลานคนอานาคที่นั่นด้วย"
— กันดารวิถี, 13:27-28
ผู้สอดแนมอีก 2 คนคือโยชูวาและคาเลบไม่ได้มีความเห็นคล้อยตามกับคนส่วนใหญ่และพยายามจะโน้มน้าวชาวอิสราเอลว่าพวกเขาสามารถยึดครองดินแดนนี้ได้:
แต่คาเลบได้ให้ประชาชนเงียบต่อหน้าโมเสสแล้วกล่าวว่า "ให้เราขึ้นไปทันทีและยึดแผ่นดินนั้น เพราะเราจะชนะแน่นอน"
— กันดารวิถี, 13:30
แต่ชุมชนชาวอิสราเอลเชื่อในความเห็นของผู้สอดแนมส่วนใหญ่ ผู้สอดแนมทุกคนยกเว้นโยชูวาและคาเลบต่างตายด้วยโรคภัย[5]
โยชูวาเป็นนักรบผู้กล้าหาญ เขาได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนจากเผ่าเอฟราอิมในการสำรวจดินแดนคานาอัน และเขาเห็นด้วยกับคาเลบว่าพวกเขาสามารถยึดครองแผ่นดินแห่งพระสัญญาได้ หลังจากเหตุการณ์การส่งผู้สอดแนมสิบสองคน โยชูวามีชีวิตอยู่ตลอดช่วงเวลา 40 ปีที่เร่ร่อน และได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้สืบทอดต่อจากโมเสสตามที่พระเจ้าทรงแนะนำ โยชูวาสำเร็จภารกิจในการนำชาวอิสราเอลเข้าสู่เแผ่นดินแห่งพระสัญญาและเข้ายึดครองดินแดน โยชูว่ายังเป็นผู้นำของการรื้อฟื้นพันธสัญญาของโมเสสที่กระทำต่อพระเจ้า[6]
คาเลบมาจากเผ่ายูดาห์ ได้รับเลือกให้สำรวจดินแดนคานาอันเช่นกัน เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่กล่าวว่าพระเจ้าของชาวอิสราเอลสามารถช่วยชาวอิสราเอลในการเอาชนะชาวคานาอัน พระเจ้าทรงสัญญากับคาเลบและโยชูวาว่าพวกเขาจะได้รับดินแดนที่พวกเขาสำรวจด้วยตนเองพร้อมกับเชื้อสาย และยังทรงตรัสกับคาเลบว่าเขาจะยังมีชีวิตอยู่เมื่อเข้าไปในแผ่นดินแห่งพระสัญญา[7]
ชื่อของผู้สอดแนมทั้ง 12 คน ได้แก่:[8]
- ชัมมุวาบุตรศักเกอร์จากเผ่ารูเบน
- ชาฟัทบุตรโฮรีจากเผ่าสิเมโอน
- คาเลบบุตรเยฟุนเนห์จากเผ่ายูดาห์
- อิกาลบุตรโยเซฟจากเผ่าอิสสาคาร์
- โฮเชยา (โยชูวา) บุตรนูนจากเผ่าเอฟราอิม
- ปัลทีบุตรราฟูจากเผ่าเบนยามิน
- กัดเดียลบุตรโสดีจากเผ่าเศบูลุน
- กัดดีบุตรสุสีจากเผ่ามนัสเสห์
- อัมมีเอลบุตรเกมัลลีจากเผ่าดาน
- เสธูร์บุตรมีคาเอลจากเผ่าอาเชอร์
- นาบีบุตรโวฟสีจากเผ่านัฟทาลี
- เกอูเอลบุตรมาคีจากเผ่ากาด
ผลที่ตามมา
[แก้]การที่ชาวอิสราเอลเชื่อรายงานเท็จเท่ากับยอมรับ lashon hara (แปลว่า " "ลิ้นชั่วร้าย" / "ใส่ร้าย" ในภาษาฮีบรู) ต่อดินแดนอิสราเอล
แต่คนทั้งหลายที่เข้าไปสอดแนมด้วยกล่าวว่า "เราไม่สามารถเข้าไปและชนะคนเหล่านั้นได้ เพราะพวกเขามีกำลังมากกว่าเรา" พวกเขายังกล่าวร้ายเรื่องแผ่นดินที่ได้ไปสอดแนมมาโดยเล่าให้คนอิสราเอลฟังว่า "แผ่นดินที่เราไปสอดแนมดูมาตลอดแล้วนั้น เป็นแผ่นดินที่กินคนซึ่งอยู่ในนั้น ชาวเมืองทั้งหมดที่เราเห็นล้วนเป็นคนรูปร่างใหญ่โต ที่นั่นเราเห็นคนเนฟิล(คนอานาคนั้นมาจากคนเนฟิล) ในสายตาของเรา เราเป็นเหมือนตั๊กแตน และเราก็เป็นเช่นนั้นในสายตาของพวกเขา"
— กันดารวิถี, 13:31-33
พระเจ้าทรงถือว่าการกระทำนี้เป็นบาปร้ายแรง จึงทรงพิพากษาให้ชาวอิสราเอลต้องเร่ร่อนในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลา 40 ปีสอดคล้องกับจำนวนวัน 40 วันที่ผู้สอดแนมเข้าไปสำรวจดินแดนคานาอัน อันเป็นผลจากการที่พวกเขาไม่เต็มใจจะเข้ายึดครองดินแดนคานาอัน ยิ่งไปกว่านั้น คนทั้งรุ่นที่ออกมาจากอียิปต์ระหว่างการอพยพจะต้องตายในถื่นทุรกันดาร ยกเว้นโยชูวาและคาเลบที่ไม่ได้ว่าร้ายแผ่นดินแห่งพระสัญญา[2]
ชาวอิสราเอลเร่ร่อนในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลา 40 ปีโดยกินนกคุ่มและมานายังชีพ ในที่สุดโยชูวาก็นำพวกเขาเข้าสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา ชัยชนะที่เยรีโคถือเป็นจุดเริ่มต้นของการครอบครองดินแดน เมื่อได้รับชัยชนะ แผ่นดินแห่งพระสัญญาได้ถูกกำหนดแบ่งให้แต่ละเผ่า และพวกเขาก็อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข พระเจ้าทรงนำชัยชนะมาให้และพระสัญญาที่ทรงตรัสกับอับราฮัมก็สำเร็จเป็นจริง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กันดารวิถี 14:34
- ↑ 2.0 2.1 Numbers 14:30; Dummelow, J.R. The One Volume Bible Commentary. 1950. Macmillan Company. pp.107-108
- ↑ Numbers 14:20-31; Caleb, and Joshua, in Freeman, David Noel. The Anchor Bible Dictionary Volume 1 A-C and Volume 2 (H-J). 1992. Doubleday Publishing Group. ISBN 0-385-19351-3, pp.808-809
- ↑ Numbers 13:26-33; Wigoder, Geoffrey. Illustrated Dictionary and Concordance of the Bible. 1986. The Jerusalem Publishing House. ISBN 0-89577-407-0, pp.563-564
- ↑ Numbers 14:36-38; Clarke, Adam. Commentary on the Holy Bible. 1967. Beacon Hill Press. SBN 081023211, p.189
- ↑ Numbers 14:20-31; Joshua, Freeman, David Noel. The Anchor Bible Dictionary Volume 2 H-J. 1992. Doubleday Publishing Group. ISBN 0-385-19360-2, p.999
- ↑ Numbers 14:20-31; Caleb, Freeman, David Noel. The Anchor Bible Dictionary Volume 1 A-C. 1992. Doubleday Publishing Group. ISBN 0-385-19351-3, pp.808-809
- ↑ The Holy Bible, New International Version, Zondervan, 1984, LOC 73174297, pp.104-105
อ่านเพิ่มเติม
[แก้]- Friedrich Justus Knecht (1910). . A Practical Commentary on Holy Scripture. B. Herder.