นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | Eukaryota |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Passeriformes |
วงศ์: | Hirundinidae |
สกุล: | Pseudochelidon |
สกุลย่อย: | Eurochelidon |
สปีชีส์: | P. sirintarae |
ชื่อทวินาม | |
Pseudochelidon sirintarae Thonglongya, 1968 ตัวอย่างต้นแบบแรกจากบึงบอระเพ็ด อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ประเทศไทย | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (บึงบอระเพ็ด) | |
ชื่อพ้อง | |
(Thonglongya, 1968) |
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร หรือ นกตาพอง (อังกฤษ: White-eyed River-Martin; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pseudochelidon sirintarae) เป็นนกเกาะคอนหนึ่งในสองชนิดของสกุลนกนางแอ่นแม่น้ำในวงศ์นกนางแอ่น มีลักษณะแตกต่างจากนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา ซึ่งเป็นนกนางแอ่นแม่น้ำอีกชนิดหนึ่งอย่างเพียงพอที่จะแยกออกเป็นสกุล Eurochelidon[1] นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรค้นพบครั้งแรกใน พ.ศ. 2511 และพบได้บริเวณบึงบอระเพ็ดในช่วงฤดูหนาวเพียงแห่งเดียวบนโลก คาดกันว่านกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว เนื่องจากไม่มีการพบเห็นอีกเลยตั้งแต่ พ.ศ. 2523 แม้จะดำเนินการสำรวจเป้าหมายแล้วในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจยังหลงเหลืออยู่ในประเทศจีนหรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ภาพจิตรกรรมจีนที่ในตอนแรกสันนิษฐานว่าเป็นนกสายพันธุ์เดียวกัน ภายหลังจึงมีการพิสูจน์ใหม่แล้วว่าเป็นนกแอ่นทุ่ง (pratincole)
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรโตเต็มวัยเป็นนกนางแอ่นขนาดกลาง มีสีดำออกเขียวเหลือบ ตะโพกขาว และหางมีขนคู่กลางมีแกนยื่นออกมาเป็นเส้นเรียวแผ่ตรงปลาย วงรอบตาสีขาวหนา ปากสีเหลืองสดออกเขียว ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน แต่นกวัยอ่อนไม่มีขนหางคู่กลางที่มีแกนยื่นออกมา สีขนออกสีน้ำตาลมากกว่านกโตเต็มวัย ไม่ค่อยมีใครทราบเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือแหล่งเพาะพันธุ์ของนกนางแอ่นแม่น้ำชนิดนี้ เช่นเดียวกับนกนางแอ่นชนิดอื่นที่บินจับแมลงกินกลางอากาศ และด้วยปากที่กว้างชี้ให้เห็นว่ามันอาจกินแมลงที่ตัวใหญ่กว่านกนางแอ่นชนิดอื่น มันเกาะคอนในพงอ้อในฤดูหนาว และอาจทํารังในสันทรายแม่น้ําประมาณเดือนเมษายนหรือพฤษภาคมก่อนฝนตกในฤดูร้อน มันอาจถูกมองข้ามก่อนจะมีการพบเจอ เพราะมันมักจะให้อาหารในตอนเช้าหรือตอนค่ำมากกว่าตอนกลางวัน
อนุกรมวิธาน
[แก้]นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นสมาชิกหนึ่งในสองของนกนางแอ่นแม่น้ำในวงศ์ย่อย Pseudochelidoninae อีกชนิดหนึ่งคือนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา (Pseudochelidon eurystomina) ที่พบในลุ่มน้ำคองโกในทวีปแอฟริกา ทั้งสองชนิดมีคุณลักษณะพิเศษที่แยกนกทั้งสองชนิดออกจากนกนางแอ่นชนิดอื่น ประกอบไปด้วย เท้าและขาที่แข็งแรง และปากอวบ[2] จากลักษณะที่ต่างจากนกนางแอ่นชนิดอื่นและแยกไกลกันทางภูมิศาสตร์ของนกนางแอ่นทั้งสองชนิดแสดงว่านกเหล่านี้เป็นประชากรส่วนที่เหลือของกลุ่มสปีชีส์ที่แยกออกจากเชื้อสายหลักของนกนางแอ่นก่อนที่จะมีการวิวัฒนาการ[2]
ชื่อสกุล Pseudochelidon (Hartlaub, 1861) มาจากภาษากรีกโบราณ คำหน้า ψευδο/pseudo แปลว่า "ปลอม" และคำหลัง χελιδον/chelidôn แปลว่า "นกนางแอ่น"[3] และชื่อสปีชีส์ได้รับพระราชทานพระนามของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมาตั้งชื่อนกชนิดนี้[4]
ชนิดของ Pseudochelidon ทั้งเอเชียและแอฟริกาแตกต่างกันในขนาดของปากและตาแสดงว่ามีระบบนิเวศวิทยาการกินอาหารที่แตกต่างกัน นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจกินอาหารที่มีขนาดใหญ่กว่า สปีชีส์ในประเทศไทยนั้นปากพอง ปากอ้าแข็ง (เนื้อด้านในของปาก) ไม่เหมือนนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาที่นุ่ม มีเนื้อมาก และปากอ้าได้กว้างน้อยกว่า[4]
ในปี พ.ศ. 2515 มีการเสนอว่านกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรมีลักษณะต่างจากนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาอย่างเพียงพอที่จะแยกออกเป็นสกุล Eurochelidon[5] แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมนักจากผู้แต่งคนอื่น ๆ ในภายหลัง อย่างไรก็ตามองค์การชีวปักษานานาชาติ (BirdLife International) ได้ใช้เป็นชื่อสกุล Eurochelidon ในปัจจุบัน[1]
การค้นพบ
[แก้]ในปี พ.ศ. 2510 นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปัจจุบันคือสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) ได้ทำการดักจับนกนางแอ่นจากบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์[6] เพื่อทำการศึกษาเรื่องการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์ต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และในระหว่างเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 กิตติ ทองลงยา[7] ได้ค้นพบนกตัวหนึ่งที่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างจากนกนางแอ่นชนิดอื่นที่จับได้ นกตัวนี้มีขนาดใหญ่กว่านกนางแอ่นทั่วไปมาก ขนเป็นสีดำคล้ำ ตาขาวและใหญ่ ปากและสะโพกสีขาว หางกลมมน ขนหางคู่กลางมีแกนยื่นออกมาอย่างชัดเจน
จากการตรวจสอบขั้นต้นยังไม่สามารถที่จะจำแนกนกชนิดนี้เข้ากับนกสกุลใด ๆ ของประเทศไทยได้ กิตติจึงได้เก็บตัวอย่างของตัวเบียน คือ เห็บ เหา และไร ของนกส่งไปให้สถาบันสมิธโซเนียนและพิพิธภัณฑ์บริติชช่วยตรวจและวิเคราะห์หาชนิดของนกดังกล่าว ผลก็คือมันมีเหาชนิดเดียวกับนกนางแอ่นแม่น้ำสกุล Pseudochelidon ซึ่งพบในแถบลุ่มน้ำคองโกของแอฟริกา และจากนั้นได้ทำการเปรียบเทียบลักษณะอวัยวะต่าง ๆ ภายในของนกตัวนี้กับตัวอย่างนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา (Pseudochelidoninal eurystominal) จึงลงความเห็นได้ว่านกตัวนี้จะต้องเป็นนกในสกุล Pseudochelidon อย่างแน่นอน แต่เนื่องจากว่านกในสกุลนี้เคยมีเพียงชนิดเดียวคือนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา ดังนั้นนกที่ค้นพบที่บึงบอระเพ็ดนี้ นักปักษีวิทยาทั่วโลกจึงยอมรับว่าเป็นนกสกุล Pseudochelidon ชนิดใหม่ของโลก
นักปักษีวิทยาของเมืองไทยต่างมีความเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ (พระยศขณะนั้น) ทรงเป็นผู้ที่สนพระทัยในเรื่องธรรมชาติวิทยาของเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง จึงขอพระราชทานนามมาตั้งชื่อนกชนิดนี้ว่า “นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร” และมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า White-eyed River Martin (Pseudochelidon sirintarae)
ลักษณะ
[แก้]นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกนางแอ่นขนาดกลาง นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกนางแอ่นขนาดกลาง มีสีดำออกเขียวเหลือบ ตะโพกขาว หางมีขนคู่กลางมีแกนยื่นออกมาเป็นเส้นเรียวแผ่ตรงปลาย วงรอบตาสีขาวหนา ปากสีเหลืองสดออกเขียว ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน แต่นกวัยอ่อนไม่ขนหางคู่กลางมีแกนยื่นออกมา สีขนออกสีน้ำตาลมากกว่านกโตเต็มวัย
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรมีความยาวจากปากจดหางประมาณ 12 -13 ซม. ความยาวเฉพาะหาง มากกว่า 9 ซม. ลำตัวสีดำสนิท มีเหลือบสีน้ำเงิน-เขียวเข้มบางส่วน บริเวณตะโพกสีขาวแยกบริเวณหลังสีดำเหลือบสีน้ำเงิน-เขียวเข้มและตอนบนของหางสีเดียวกันออกจากกัน หัวสีเข้มกว่าหลัง บริเวณคางมีกระจุกขนสีดำคล้ายกำมะหยี่ไปถึงหลังส่วนบน[2] ปีกสีดำ หางสีดำเหลือบเขียว ขนหางมนกลมแต่ขนคู่กลางมีแกนยื่นออกมาเป็นเส้นเรียวยาวประมาณ 10 ซม.ปลายแผ่เล็กน้อย มองเห็นได้ชัดเจน[8]
ชาวบ้านในบริเวณที่ค้นพบเรียกนกชนิดนี้ว่า “นกตาพอง” เนื่องจากลักษณะของตาที่มีวงขาวล้อมรอบ ขอบตาขาวเด่นชัด นัยน์ตาและม่านตาสีขาวอมชมพูเรื่อ ๆ ปากกว้างสีเหลืองสดแกมเขียว มีแต้มสีดำรูปโค้งที่ปากบน ขาและเท้าใหญ่แข็งแรงมีสีชมพู ไม่ส่งเสียงร้องในฤดูหนาว และเสียงร้องในช่วงผสมพันธุ์ยังไม่ทราบ[2]
ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน นกวัยอ่อนมีหัวสีน้ำตาล คอแกมขาว ลำตัวออกสีน้ำตาลมากกว่านกโตเต็มวัย ไม่มีขนเส้นเรียวเล็กที่ปลายหาง[9] นกวัยอ่อนจะผลัดขนในเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[2]
อุปนิสัย
[แก้]แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรนั้นยังไม่มีการค้นพบ จึงไม่ทราบในชีววิทยาการขยายพันธุ์ของนกเลย แต่คาดกันว่ามันน่าจะคล้ายกับนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาโดยทำรังตามโพรงบริเวณตลิ่งทรายริมแม่น้ำ[10] วางไข่ชุดละ 2-3 ฟอง อาจเป็นในเดือนเมษายน-พฤษภาคมก่อนฝนจากมรสุมจะทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น[2] แต่ความแตกต่างทางกายวิภาคของรูปร่างเท้าและขาทำให้รู้ว่ามันไม่สามารถขุดโพรงได้[11] ในฤดูหนาวพบว่ามันเกาะนอนอยู่ในฝูงนกนางแอ่นชนิดอื่น ๆ ที่เกาะอยู่ตามใบอ้อและใบสนุ่น[10] บางครั้งก็พบอยู่ในกลุ่มนกกระจาบและนกจาบปีกอ่อน
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรกินแมลงเป็นอาหารเหมือนกับนกนางแอ่นชนิดอื่นรวมถึงพวกด้วงด้วย มันจับเหยื่อโดยการโฉบจับในอากาศ[2] จากขนาดและโครงสร้างปากที่พิเศษของนก มันอาจกินแมลงที่ตัวใหญ่กว่านกนางแอ่นชนิดอื่น[4] นกชนิดนี้มีลักษณะการบินที่ บินเรื่อย ลอยตัว ไม่รวดเร็วเท่านกนางแอ่นชนิดอื่น และก็เหมือนกับนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาที่ไม่ค่อยมีพฤติกรรมเกาะคอน[2] จากรูปทรงเท้าที่ผิดไปจากนกนางแอ่นชนิดอื่นและการที่พบโคลนที่เท้าในตัวอย่างหนึ่งของนกชนิดนี้แสดงว่านกชนิดนี้อาจจะอยู่บนพื้นมากกว่าเกาะคอน[12]
พาเมลา ซี. รัสมูสเซน (Pamela C. Rasmussen) เสนอว่าด้วยดวงตาที่ใหญ่ผิดปกติ นกชนิดนี้อาจหากินเวลากลางคืนหรืออย่างน้อยก็ช่วงพลบค่ำหรือรุ่งเช้า ด้วยปัจจัยนี้จึงทำให้มันดูลึกลับและอธิบายได้บางส่วนว่าทำไมนกที่เหลือถึงไม่พบเห็นมาเป็นเวลานานแล้ว แม้ว่าข้อเท็จจริงที่คาดว่าตัวอย่างแรกจับมาได้ขณะเกาะคอนในเวลากลางคืนในพงอ้ออาจจะขัดแย้ง แต่อาจเป็นไปได้ว่ามันไม่ได้ถูกจับขณะเกาะคอน หรือพฤติกรรมของมันอาจจะสามารถหากินได้ทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืนขึ้นอยู่กับฤดูกาลหรือสภาวะแวดล้อม[11]
พฤติกรรม
[แก้]พฤติกรรมเป็นที่ทราบน้อยมากรวมถึงแหล่งผสมพันธุ์วางไข่ คาดว่าเหมือนนกนางแอ่นชนิดอื่นที่บินจับแมลงกินกลางอากาศ และเกาะคอนนอนตามพืชน้ำในฤดูหนาว
แหล่งที่อยู่อาศัยและการกระจายพันธุ์
[แก้]นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรพบในบริเวณบึงบอระเพ็ด เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมีนาคม คาดว่าถิ่นอาศัยในช่วงฤดูหนาวจะเป็นบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งน้ำจืดที่เปิดโล่งเพื่อสำหรับหาอาหาร และมีอ้อและพืชน้ำสำหรับจับคอนนอนในเวลากลางคืน[13] นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจเป็นนกอพยพ แต่พื้นที่แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ยังไม่เป็นที่ทราบ อาจเป็นหุบเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่านอย่างภาคเหนือของประเทศไทยหรือทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน[2] อย่างไรก็ตามมีการอ้างว่าลักษณะของนกชนิดนี้ในม้วนภาพเขียนจีนนั้นคล้ายกับนกแอ่นทุ่งใหญ่ (Glareola maldivarum)[14] มีการเสนอว่าเป็นไปได้ที่ประเทศกัมพูชาและพม่าเป็นถิ่นอาศัยของนกชนิดนี้[13] และยังมีข้อสงสัยว่ามันจะเป็นนกอพยพเสียทั้งหมดหรือไม่[4]
ถ้าถิ่นอาศัยของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเหมือนกับนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา ถิ่นอาศัยจะเป็นป่าในหุบเขาที่มีแม่น้ำขนาดใหญ่ไหลผ่าน มีตลิ่งทรายและเกาะสำหรับทำรัง และมีป่าไม้มากพอที่นกจะสามารถจับแมลงกินได้[2]
สถานภาพในปัจจุบัน
[แก้]นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกเฉพาะถิ่น (endermic) ที่พบได้เพียงแห่งเดียวในโลกคือที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ จากรายงานการพบเห็นในปี พ.ศ. 2515, 2520 และ 2523 และก็ไม่มีการพบเห็นอีกเลยจนปัจจุบัน[2] แม้จะมีรายงานว่าพบนกในปี พ.ศ. 2529 แต่ก็ไม่ได้รับการยืนยัน[13] สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) และ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (2540) จัดนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง[15] มีการประมาณจำนวนของนกชนิดนี้ว่าลดลงหรือจะลดลงถึง 80% ภายในสามรุ่น IUCN จะไม่พิจารณาว่านกชนิดสูญพันธุ์จนกว่าได้ดำเนินการสำรวจเป้าหมายครอบคลุมแล้ว แต่นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทยหรือจากโลก[1]
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรจัดอยู่ในบัญชีที่ 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES)[16] นอกจากนี้นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรยังจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 อีกด้วย
สาเหตุของการใกล้สูญพันธุ์
[แก้]ประชากรในธรรมชาติของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเชื่อว่ามีอยู่น้อยมาก เพราะเป็นนกชนิดโบราณที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน แม้นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรจะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย แต่ก็ยังถูกจับไปพร้อม ๆ กับนกนางแอ่นชนิดอื่นในฤดูหนาวของแต่ละปีเพื่อขายเป็นอาหารหรือเป็นนกปล่อยทำบุญในพุทธศาสนา และหลังจากการค้นพบ มีการดักจับนกได้ถึงเกือบ 120 ตัวเพื่อขายให้กับผู้อำนวยการสถานีประมงนครสวรรค์ และแน่นอนว่าไม่สามารถรักษาชีวิตของนกเหล่านั้นไว้ได้[11] และด้วยเพราะมีจำนวนประชากรเป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ทำให้ไม่สามารถพบเห็นได้ง่ายนัก[2] แต่อาจมีรายงานที่ไม่ยืนยันว่าพบเห็นนกในประเทศกัมพูชาในปี พ.ศ. 2547[17]
มีการลดจำนวนลงอย่างมากของประชากรนกนางแอ่นในบึงบอระเพ็ดจากหนึ่งแสนตัวในราวปี พ.ศ. 2513 เหลือเพียง 8,000 ตัวที่นับได้ในฤดูหนาวของปี พ.ศ. 2523-2524 แม้ว่าจะยังไม่แน่ใจ แต่เหตุการณ์นี้คือการแสดงถึงการลดลงหรือเปลี่ยนถิ่นเนื่องมาจากการถูกรบกวน[4] สาเหตุอื่นที่ทำให้นกชนิดนี้ลดจำนวนลงประกอบด้วย จากการรบกวนบริเวณตลิ่งทรายแม่น้ำ การสร้างเขื่อนในพื้นที่ต้นน้ำ การแก้ไขอุทกภัย การประมง การตัดไม้ทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงถิ่นอาศัยเพื่อการเกษตร[13] อย่างน้อยนกนางแอ่นก็ยังชอบจับคอนตามพืชน้ำในบึงบอระเพ็ดมากกว่าตามไร่อ้อย แต่ก็ไม่ค้นพบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรในฝูงนกจับคอนเหล่านั้น[4]
บึงบอระเพ็ดได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์เพื่อพยายามจะปกป้องนกชนิดนี้[13] แต่จากการสำรวจค้นหานกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรที่เหลือรอดซึ่งประกอบด้วยการสำรวจที่บึงบอระเพ็ดหลายครั้ง การค้นหานกชนิดนี้ การสำรวจแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน และแม่น้ำวังในภาคเหนือของประเทศไทยปี พ.ศ. 2512 และการสำรวจของแม่น้ำในภาคเหนือของประเทศลาวในปี พ.ศ. 2539 กลับประสบความล้มเหลว[13]
การเผยแพร่ในสื่ออื่น
[แก้]มีการจัดพิมพ์แสตมป์รูปนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรจำนวน 3,000,000 ดวงร่วมกับนกชนิดอื่นอีก 3 ชนิดคือนกแซวสวรรค์ขาว-แดง นกพญาปากกว้างหางยาว และนกติตสุลต่านในชุดนกไทย ออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2518 แสตมป์มีราคา 75 สตางค์[18] และในปี พ.ศ. 2517 มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าเป็นเหรียญทองคำมีราคาหน้าเหรียญ 5,000 บาทซึ่งด้านหนึ่งเป็นรูปนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอยู่ในท่าบิน[19][20]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "BirdLife International Species factsheet: Eurochelidon sirintarae ". BirdLife International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-03. สืบค้นเมื่อ 2009-11-15.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 Turner, Angela K; Rose, Chris (1989). A handbook to the Swallows and Martins of the World. Bromley: Christopher Helm. pp. 86–88. ISBN 0-7470-3202-5.
- ↑ "Scientific bird names explained". uk.r.b. สืบค้นเมื่อ 2008-01-03.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 Tobias, Joe (June 2000). "Little known Oriental Bird: White-eyed River-Martin: 1". Oriental Bird Club Bulletin. 31.
- ↑ Brooke, Richard (1972). "Generic limits in Old World Apodidae and Hirundinidae". Bulletin of the British Ornithologists’ Club. 92: 53–7.
- ↑ Humphrey, Stephen R.; Bain, James R. (1990). Endangered Animals of Thailand. CRC Press. pp. 228–9. ISBN 1877743070.
- ↑ Kitti, Thonglongya (1968). "A new martin of the genus Pseudochelidon from Thailand". Thai National Scientific Papers, Fauna Series no. 1.
- ↑ Robson, Craig (2004). A Field Guide to the Birds of Thailand. New Holland Press. ISBN 1843309211. p206
- ↑ หมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย หน้า 324 ISBN 978-974-619-181-4
- ↑ 10.0 10.1 Lekagul, Boonsong; Round, Philip (1991). A Guide to the Birds of Thailand. Bangkok: Saha Karn Baet. ISBN 974-85673-6-2. p233
- ↑ 11.0 11.1 11.2 Collar, N J; Andreev, A V; Chan, S; Crosby M J.; Subramanya, S; Tobias, J A, บ.ก. (2001). Threatened Birds of Asia; The BirdLife International Red Data Book (PDF). BirdLife International. pp. 1942–1947. ISBN 0-946888-44-2. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-25. สืบค้นเมื่อ 2020-02-02.
- ↑ Tobias, Joe (June 2000). "Little known Oriental Bird: White-eyed River-Martin: 2". Oriental Bird Club Bulletin. 31: 45–48. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 10, 2007.
- ↑ 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 13.5 editor, Erik Hirschfeld (2007). Rare Birds Yearbook 2008. England: MagDig Media Lmtd. p. 208. ISBN 978-0-9552607-3-5.
{{cite book}}
:|author=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ Smallwood, John A (1992). "Recent literature" (PDF). Journal of Field Ornithology. 63 (2): 217–240. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-21. สืบค้นเมื่อ 2013-03-20.
- ↑ ฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทย นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (Pseudochelidon sirintarae) ข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม สืบค้นวันที่ 2010-06-30
- ↑ "Appendices I, II and III" (PDF). Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora, valid from 13 September 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-05-10. สืบค้นเมื่อ 2008-01-03.
- ↑ "Investigating a possible sighting of White-eyed River-Martin". Thaibirding.com. สืบค้นเมื่อ 2008-01-03.
- ↑ "White-eyed River Martin". Birds of the World on Postage Stamps. สืบค้นเมื่อ 2008-01-03.
- ↑ "Thailand 5000 Baht 1975 st". Goldmünzen. Münzhandlung Ritter GmbH. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-09. สืบค้นเมื่อ 2008-01-04. (เยอรมัน)
- ↑ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า[ลิงก์เสีย] ข้อมูลเหรียญ,ผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ กรมธนารักษ์
- อนุสาร อ.ส.ท. 24, 7 (ก.พ. 27) 36
- รศ.โอภาส ขอบเขต.1998, Bird of Bung Boraphet., Office of Environmental Policy and Planning.
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2006-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- BirdLife Species Factsheet. เก็บถาวร 2009-01-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Oriental Bird Club photograph of White-eyed River Martin in hand เก็บถาวร 2007-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Review of the Tobias (2000) article