นกชนหิน
นกชนหิน | |
---|---|
นกชนหินเพศผู้วัยรุ่น | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอตา Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง |
ชั้น: | สัตว์ปีก |
อันดับ: | นกเงือก |
วงศ์: | Bucerotidae Gloger, 1841 |
สกุล: | Rhinoplax Pennant, 1781 |
สปีชีส์: | Rhinoplax vigil |
ชื่อทวินาม | |
Rhinoplax vigil Pennant, 1781 | |
ชื่อพ้อง | |
Buceros vigil |
นกชนหิน (อังกฤษ: Helmeted hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhinoplax vigil) เป็นนกขนาดใหญ่ในวงศ์นกเงือก พบในประเทศไทย มาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว จัดเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Rhinoplax โหนกบนหัวมีน้ำหนักประมาณ 11% ของน้ำหนักตัว ใช้สำหรับต่อสู้แบบเอาหัวชนกันระหว่างตัวผู้[3] โหนกนี้ต่างจากของนกเงือกชนิดอื่น ๆ ตรงที่มีลักษณะทึบตันแทบทั้งชิ้น ชาวปูนันเชื่อว่านกชนหินตัวใหญ่เป็นผู้พิทักษ์แม่น้ำที่แบ่งกั้นระหว่างความเป็นและความตาย[4]
ลักษณะ
[แก้]นกชนหิน ถือเป็นนกเงือกชนิดหนึ่งที่มีสายพันธุกรรมเก่าแก่ยาวนานถึง 45 ล้านปีมาแล้ว[5] มีลักษณะเด่นกว่านกเงือกชนิดอื่นๆ ตรงที่สันบนปากมีขนาดใหญ่และหนาเนื้อในสีขาวตันคล้ายงาช้าง นกชนหินมีจะงอยปากที่ยาวและมีขนหางพิเศษคู่หนึ่ง ซึ่งจะงอกยาวเลยขนหางเส้นอื่นๆ ออกไปมากถึง 50 เซนติเมตร แลเห็นเด่นชัด นกตัวผู้มีขนาดลำตัวยาวจากปลายจะงอยปากถึงปลายขนหาง 127 เซนติเมตร ขนลำตัวสีน้ำตาลเข้ม ใต้ท้องสีขาว หางสีขาวมีแถบสีดำพาดขวาง และปลายปีกสีขาวเป็นแถบกว้างและไม่มีขนปกคลุมใต้ปีก จะงอยปากตอนโคน และบนสันสีแดงคล้ำ ตอนปลายสีเหลืองเรื่อๆ บริเวณลำคอที่ไม่ขนในนกตัวผู้จะมีสีแดงคล้ำ ส่วนนกตัวเมียจะมีสีฟ้าซีดหรือสีฟ้า แต่นกวัยอ่อนเพศผู้ ลำคอจะมีสีแดงเรื่อๆ และนกเพศเมียหนังส่วนนี้จะเป็นสีม่วง นอกจากนี้สันบนจะงอยปากจะมีขนาดเล็กกว่า และขนหางยังเจริญไม่เต็มที่ มีลักษณะสั้นกว่านกโตเต็มวัย
อุปนิสัย
[แก้]ปกติจะหากินในระดับยอดไม้ กินผลไม้เป็นส่วนใหญ่ เช่น ลูกไทร บางครั้งพบว่ากินสัตว์อื่น ๆ เช่น กิ้งก่า กระรอก และนกอีกด้วย มักจะอยู่โดดเดี่ยวหรืออยู่เป็นคู่ ฤดูผสมพันธุ์เริ่มราวปลายเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ ทำรังในต้นไม้สูง และใช้วัสดุปิดปากรังเช่นเดียวกับนกเงือกชนิดอื่นๆ โดยที่รังของนกชนหินจะไม่เหมือนกับนกเงือกชนิดอื่นๆ เพราะจะหารังเฉพาะที่อยู่บนตอไม้หรือเข้าได้ทางด้านบนเท่านั้น เพราะส่วนหัวที่ตันและหางที่ยาว อีกทั้งนกชนหินจะเลี้ยงลูกนานกว่านกเงือกชนิดอื่นๆ คือ 5 เดือน โดยที่แม่นกจะอยู่กับลูกในโพรงตลอดเวลา ไม่มีการพังโพรงออกมาก่อน[5]
นกชนหินมีเสียงร้องที่ไม่เหมือนนกชนิดอื่นๆ โดยนกตัวผู้จะร้องติด ๆ กันดัง "ตู๊ก…ตู๊ก" ทอดเป็นจังหวะ ร้องติดต่อกันยาวเสียงร้องจะกระชั้นขั้นตามลำดับ เมื่อจะสุดเสียงเสียงร้องจะคล้ายเสียงหัวเราะประมาณ 4-6 ครั้งเมื่อตกใจจะแผดเสียงสูงคล้ายเสียงแตร และเมื่อต่อสู้กันเพื่อแย่งอาณาเขต จะใช้ส่วนหัวที่หนาชนกัน จึงได้ว่าว่า "นกชนหิน" บางครั้งอาจจะบินชนกันในอากาศ
ถิ่นอาศัยและการกระจายพันธุ์
[แก้]นกชนหินเป็นนกประจำถิ่นที่พบในป่าดิบชิ้นระดับต่ำ พบตั้งแต่แถบเทือกเขาตะนาวศรีลงมาทางใต้จนถึงประเทศมาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว
สถานะการอนุรักษ์
[แก้]ในประเทศไทย นกชนหินมีสถานะเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562[6] และอนุสัญญาไซเตสจัดเอาไว้ในบัญชีที่ 1 นกชนหินถูกล่าอย่างหนักเพื่อเอาสันบนจะงอยปากบนไปแกะสลักทำเป็นเครื่องใช้และเครื่องประดับที่มีคุณค่าสูงมาก และจากการสูญเสียแหล่งอาศัย จำนวนประชากรจึงลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนในทุกบริเวณที่อาศัย[7][8][9] นอกจากนี้ยังพบว่ามีนกชนหินหลงเหลืออยู่ในป่าของประเทศไทยอยู่น้อยกว่า 100 ตัว และพบชิ้นส่วนของนกเงือกอย่างน้อย 546 ชิ้น ซึ่งส่วนมากเป็นโหนกของนกชนหิน ได้ถูกประกาศขายผ่านทางหน้าเฟซบุคในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าจะจ่ายเงินประมาณ 5,000-6,000 บาท สำหรับโหนกแต่ละโหนก ราคาจะสูงขึ้นสองถึงสามเท่าเมื่อนำมาขายในเมือง และจะสูงยิ่งขึ้นอีกหากมีการนำออกนอกประเทศ[10]
โหนกแกะสลัก
[แก้]โหนกของนกชนหินถูกนำไปแกะสลักเป็นงานศิลปะและเครื่องประดับมีค่าต่าง ๆ มาอย่างยาวนานโดยชาวจีนและญี่ปุ่น ชนพื้นเมืองใช้ขนหางคู่กลางที่ยาวกว่าเส้นอื่น ๆ เพื่อนำมาตกแต่งเสื้อคลุมที่ใช้ในการเต้นรำและประดับศีรษะ[11]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ BirdLife International (2020). "Rhinoplax vigil". IUCN Red List of Threatened Species. 2020: e.T22682464A184587039. doi:10.2305/IUCN.UK.2020-3.RLTS.T22682464A184587039.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
- ↑ "Appendices | CITES". cites.org. สืบค้นเมื่อ 2022-01-14.
- ↑ "The bird that's more valuable than ivory". Magazine. BBC News. 12 October 2015. สืบค้นเมื่อ 19 October 2015.
- ↑ [1] เก็บถาวร กุมภาพันธ์ 4, 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 5.0 5.1 ออรัง บูรง (นกเงือก) , "พินัยกรรมธรรมชาติ". สารคดีทางไทยพีบีเอส: ศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556
- ↑ "ขึ้นบัญชี "นกชนหิน" สัตว์ป่าสงวน ลำดับที่ 20". ไทยพีบีเอส. สำนักข่าวไทยพีบีเอส. สืบค้นเมื่อ 9 March 2021.
- ↑ Perrins, Christopher (ed.) (2003). Firefly Encyclopedia of Birds. Firefly Books. ISBN 1-55297-777-3.
{{cite book}}
:|author=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ Kemp, Allen (1994). Hornbills: Bucerotidae. Oxford University Press. ISBN 0-19-857729-X.
- ↑ "hornbills". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-01. สืบค้นเมื่อ 2011-10-22.
- ↑ Sivasomboon, Busaba (11 October 2019). "Better protection sought for Thailand's helmeted hornbill". Minneapolis Star Tribune. Associated Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-21. สืบค้นเมื่อ 12 October 2019.
- ↑ BBC Magazine (12 Oct 2015). "The bird that's more valuable than ivory". BBC. สืบค้นเมื่อ 13 Oct 2015.