ข้ามไปเนื้อหา

ตอบปัญหาภาษาอังกฤษกับเชลล์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตอบปัญหาภาษาอังกฤษกับเชลล์
ประเภทควิซโชว์
พัฒนาโดยบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด
พิธีกร
ประเทศแหล่งกำเนิดไทย ไทย
ภาษาต้นฉบับอังกฤษ/ภาษาไทย
จำนวนฤดูกาล44
การผลิต
ความยาวตอน45 นาที
ออกอากาศ
เครือข่าย
ออกอากาศพ.ศ. 2508 –
พ.ศ. 2552

ตอบปัญหาภาษาอังกฤษกับเชลล์ (อังกฤษ: Shell English Quiz) หรือที่นิยมเรียกว่า เชลล์ควิซ เป็นรายการโทรทัศน์ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ผลิตขึ้นตามโครงการสนับสนุนการศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ รวมถึงทดสอบทักษะความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ตลอดทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมทางโทรทัศน์ เพิ่มพูนความรู้ทางภาษาอังกฤษ และความรู้ทั่วไป ร่วมด้วยเช่นกัน โดยจัดรูปแบบเป็นการแข่งขันตอบคำถาม ซึ่งมีชาวต่างประเทศเป็นผู้ถามด้วยภาษาอังกฤษ และมีการคัดเลือกคณะนักเรียนมัธยมปลาย ซึ่งเป็นผู้แทนโรงเรียนต่างๆ จากทั้งกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ เข้าเป็นผู้ตอบในห้องส่ง อันเป็นการฝึกทักษะทั้งการฟังและพูดภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างความคุ้นเคยต่อสำเนียงการออกเสียงของชาวต่างชาติ[1]

เชลล์ควิซ เริ่มออกอากาศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด และโดยต่อเนื่องไปยังยุคของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. กระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2544 จึงย้ายไปเสนอรายการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 โดยในปี พ.ศ. 2549 ก็ย้ายการออกอากาศอีกครั้งไปที่ สถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ[1] และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ย้ายไปออกอากาศทาง เนชั่นทีวี[2] จนกระทั่งบริษัทรอยัลดัตช์เชลล์เปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมไปมุ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม รายการนี้จึงยุติการออกอากาศเมื่อปี พ.ศ. 2552 รวมระยะเวลาแพร่ภาพทั้งสิ้น 44 ปี[3] ทำให้รายการนี้เป็นรายการควิซโชว์ที่ออกอากาศยาวนานที่สุดในประเทศไทย และยังเคยเป็นรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศยาวนานที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย (ปัจจุบัน สถิติดังกล่าวเป็นของรายการ มวยไทย 7 สี)[4]

นอกจากนี้ เชลล์แห่งประเทศไทย ยังร่วมกับ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยส่งเนื้อหาคำถามและคำตอบ ในรายการสัปดาห์ก่อนหน้า ให้นำลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เนชั่นจูเนียร์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็น นิตยสารเอ็นเจ) เพื่อให้นักเรียนและผู้สนใจทั่วไป นำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป[1]

ประวัติ

[แก้]

ในระยะแรกของรายการแต่ละสัปดาห์ ผู้ผลิตรายการจะเชิญคณะผู้แทนนักเรียน โรงเรียนละสามคน จำนวน 48 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งแบ่งเป็นสามรอบ ซึ่งจะมีการจับสลากประกบคู่แข่งขันแบบแพ้คัดออก และรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจะคงเหลือผู้แทนนักเรียนจาก 3 โรงเรียนแข่งขันกัน โดยมีผู้ดำเนินรายการทำหน้าที่ตั้งคำถาม ร่วมกับการเชิญผู้บริหารชาวต่างชาติ ซึ่งทำงานกับเชลล์แห่งประเทศไทย ผลัดเวียนมาเป็นผู้อ่านคำถามในห้องส่ง ซึ่งเรียกในรายการว่า "Quiz Master" จากนั้น คณะนักเรียนที่เข้าร่วมแข่งขัน จะร่วมกันเขียนคำตอบลงในกระดาษ แล้วส่งให้คณะพิธีกรตรวจให้คะแนน ซึ่งคะแนนของแต่ละโรงเรียน จะบันทึกไว้บนกระดานดำ เมื่อจบปัญหาในแต่ละข้อ ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างมาก ทำให้ในรายการแต่ละครั้ง สามารถแข่งขันได้เพียง 8-10 ข้อเท่านั้น[1]

เป็นผลให้ในระยะต่อมา ซึ่งเริ่มเมื่อปีที่ 16 ของรายการ คือตั้งแต่ พ.ศ. 2524 เชลล์แห่งประเทศไทย เริ่มนำแผงวงจรไฟฟ้าเข้ามาใช้กับรายการ ในส่วนการแสดงสัญญาณขอตอบคำถาม และการบันทึกคะแนน จึงช่วยให้รายการดำเนินไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งเพิ่มการแข่งขันได้อีกหนึ่งคู่ รวมเป็น 4 โรงเรียนต่อครั้ง และพิธีกรสามารถเพิ่มคำถามไปถึง 40 ข้อ ซึ่งเป็นที่สนใจของเยาวชน และผู้ชมโทรทัศน์อย่างดี ชมรมส่งเสริมโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์อินไซด์ทีวี จึงมอบรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ประเภทรายการตอบปัญหาชุดดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2530 ให้แก่ทางรายการด้วย จากนั้นระหว่างปี พ.ศ. 2538-2549 สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมดำเนินรายการ ทั้งสนับสนุนข้อมูลและร่วมตั้งคำถามด้วย[1]

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 มีการเปลี่ยนแปลงกติกาครั้งใหญ่ โดยลดจำนวนผู้แทนนักเรียน ของแต่ละโรงเรียนเหลือเพียงสองคน แต่เพิ่มจำนวนโรงเรียนที่แข่งขันเป็น 64 แห่ง และเพิ่มเป็นการแข่งขันระหว่าง 4 โรงเรียน สำหรับการถามและเฉลยคำตอบ เปลี่ยนไปอยู่กับพิธีกรเพียงคนเดียว เพื่อลดความเป็นทางการลง แต่ยังคงมีกรรมการให้คะแนนอีกสามท่าน อยู่ที่ส่วนล่างของเวที โดยลักษณะของคำถามจำแนกออกเป็น 4 รูปแบบคือ "ถามและตอบ" (Questions and Answers) เป็นการตอบคำถามว่าด้วยความรู้ทั่วไป, "ดูและฟัง" (Watching and Listening) เป็นการทดสอบความเข้าใจเนื้อหาในวีดิทัศน์, "วาดภาพตามคำบอก" (Pictorial Dictation) และ "เกมเดาคำศัพท์" (Word Clue Game) ซึ่งผู้เข้าแข่งขัน จะให้คำแนะนำหรือบอกใบ้ เพื่อให้เพื่อนคาดเดา

รูปแบบรายการ

[แก้]

ลักษณะแรก

[แก้]
  • จะถ่ายทอดในสตูดิโอโดยส่วนใหญ่ โดยในช่วงแรก จะเชิญโรงเรียน บางแห่ง จำนวน 48 แห่ง มาแข่งขัน โดยจะมีการตั้งคำถามเพื่อตอบนักเรียน ซึ่งจะมีอาจารย์ชาวต่างประเทศมาเสริมในรายการ เพื่อเฉลยคำถามเป็นภาษาอังกฤษ โดยทางรายการจะเชิญชาวต่างประเทศที่ทำงานให้กับเชลล์ มาร่วมดำเนินรายการอีกด้วย โดยการตอบคำถามจะต้องใช้แผ่นกระดาษและอุปกรณ์การเขียน เขียนคำตอบ เพื่อให้พิธีกรและกลุ่มคณาจารย์เฉลยคำถาม โดยการให้คะแนนจะมีการเสนอผลตัวเลขลงบนกระดานดำหลังจบคำถามแต่ละข้อ โดยจะมีการเสนอคำถามครั้งละ 8-10 ข้อ

ลักษณะที่ 2

[แก้]
  • คราวนี้จะใช้เป็นการเสนอผลการให้คะแนนเป็นระบบวงจรไฟฟ้าแทนกระดาน และการตอบคำถามจะมีการกดปุ่มวงจรไฟฟ้า เพื่อตอบคำถาม และยังมีการแข่งขันแบบ 2 คู่ 4 โรงเรียน แต่การเรื่มการแข่งขันนั้น ทางรายการจะมีการฉายวีดิทัศน์ทางเครื่องรับโทรทัศน์อนาล็อก เพื่อให้คำถามแก่ผู้เข้าแข่งขัน จำนวน 1-2 ครั้ง (บางกรณีอาจมีการฉายภาพถ่ายภาพวาดต่างๆเพื่อใช้ในการตอบปัญหา) และเมื่อทางคณาจารย์และชาวต่างประเทศถามคำถามด้วยปากเปล่า เครื่องรับโทรทัศน์ดังกล่าว ก็คงจะไม่มีการแสดงท่าทีใดๆ คงจะฉายสปอตรายการที่มีการฉายวิวัฒนาการการใช้ตราสินค้าของเชลล์เท่านั้น สำหรับโพเดี่ยมฝ่ายผู้ตอบจะมี 2 แท่น และโพเดี่ยมพิธีกรและชาวต่างประเทศ และมีอัฒจันทร์สำหรับผู้รับชมการตอบปัญหา
  • แต่ตอนหลัง การฉายภาพทางโทรทัศน์ในสตูดิโอ ก็คงจะไม่มีให้เห็น

ลักษณะสุดท้าย

[แก้]

เป็นการสัญจรไปที่โรงเรียนต่างๆในประเทศ โดยจะมีการแข่งขันคัดเลือกโรงเรียนต่างๆ เพื่อไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ และถือว่าเป็นครั้งแรกที่รายการได้ออกอากาศรายการในลักษณะบันทึกเทป และไม่ได้ออกอากาศที่สตูดิโอและถ่ายทอดสด แม้แต่อย่างใด[2]

พิธีกรประจำรายการ

[แก้]

ทำเนียบโรงเรียนที่ชนะเลิศ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 หน้าเว็บ ตอบปัญหาภาษาอังกฤษกับเชลล์ ในเว็บไซต์เชลล์แห่งประเทศไทย
  2. 2.0 2.1 2.2 "Shell Quiz on the Road 2007" เรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านเกมโชว์, กรุงเทพธุรกิจ, 4 ตุลาคม 2550.
  3. ""CU on the Road" มิติใหม่ของควิซโชว์ทางทีวี". จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. สุธีภัทรกุล, กฤตพล (10 เมษายน 2022). "เช็กอายุ "รายการโทรทัศน์" ไทย อยู่มานานแค่ไหนแล้ว". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]