ข้ามไปเนื้อหา

การรุกซาร์ลันท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การรุกซาร์ลันท์
ส่วนหนึ่งของ แนวรบด้านตะวันตกในสงครามโลกครั้งที่สอง
วันที่7-16 กันยายน ค.ศ. 1939
สถานที่
ซาร์ลันท์ ทางตะวันตกของเยอรมนี
ผล ฝรั่งเศสถอนตัว
คู่สงคราม
ฝรั่งเศส ฝรั่งเศส นาซีเยอรมนี เยอรมนี
กำลัง
41 กองพล
รถถัง 2,400 คัน
ปืนใหญ่ 4,700 กระบอก
22 กองพล
ปืนใหญ่น้อยกว่า 100 กระบอก
ความสูญเสีย
จับเป็นเชลย 689 คน
ได้รับบาดเจ็บ 220 คน
เสียชีวิต 196 คน
ได้รับบาดเจ็บ 356 คน
เครื่องบินถูกทำลาย 11 ลำ

การรุกซาร์ลันท์ เป็นปฏิบัติการของฝรั่งเศสเข้าไปในซาร์ลันท์ในพื้นที่ป้องกันของกองทัพที่ 1 ของเยอรมนี ในช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีจุดประสงค์ที่จะสนับสนุนโปแลนด์ ซึ่งกำลังถูกเยอรมนีบุกครอง อย่างไรก็ตาม การโจมตีของฝรั่งเศสหยุดลงและต้องถอนตัวออกไป ถึงแม้ว่าการรุกดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการของฝรั่งเศสต่อเยอรมนี มันได้กลายมาเป็นการโจมตีของกองทัพฝรั่งเศสเพียงครั้งเดียวตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ตามข้อตกลงทางทหารฝรั่งเศส-โปแลนด์ กองทัพฝรั่งเศสจะต้องเตรียมการสำหรับการโจมตีครั้งใหญ่ภายในสามวันหลังจากมีการระดมพล กองทัพฝรั่งเศสสามารถยึดครองดินแดนระหว่างพรมแดนฝรั่งเศสและแนวเยอรมัน ตลอดจนสามารถเจาะผ่านการป้องกันของเยอรมนีได้ เมื่อวันที่ 15 ของการระดมผล (16 กันยายน) กองทัพฝรั่งเศสได้ทำการโจมตตีเต็มกำลังต่อเยอรมนี การระดมพลของฝรั่งเศสมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม และได้มีการประกาศระดมพลเต็มกำลังเมื่อวันที่ 1 กันยายน

การโจมตีของฝรั่งเศสในหุบเขาไรน์เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน สี่วันหลังจากการประกาศสงครามของฝรั่งเศสต่อเยอรมนี หลังจากนั้น กองทัพเยอรมันซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการบุกครองโปแลนด์ และทหารฝรั่งเศสมีความเหนือกว่าทางกำลังพลอย่างมากตลอดแนวชายแดนกับเยอรมนี อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสมิได้ดำเนินการใด ๆ ซึ่งสามารถช่วยเหลือโปแลนด์ได้เลย ทหารฝรั่งเศส 11 กองพลได้รุกคืบตามแนวรบยาว 32 กิโลเมตรใกล้กับซาร์บรืกเคินและเผชิญหน้ากับการต้านทานที่อ่อนแอของเยอรมนี กองทัพฝรั่งเศสโจมตีลึกเข้าไป 8 กิโลเมตรและยึดหมู่บ้านได้ราว 20 หมู่บ้านซึ่งกองทัพเยอรมันอพยพกลับไปโดยปราศจากการสู้รบ อย่างไรก็ตาม การโจมตีอย่างไม่เต็มใจนี้ถูกยับยั้งหลังจากฝรั่งเศสยึดป่าวานท์ได้ ซึ่งเป็นพื้นที่ฝังทุ่นระเบิดอย่างหนาแน่นสามตารางกิโลเมตรของเยอรมนี

การโจมตีมิได้เบี่ยงเบนความสนใจของกองทัพเยอรมันแต่อย่างใด การรุกรานเต็มกำลังดำเนินการโดยทหาร 40 กองพล รวมไปถึง 1 กองพลยานเกราะ 3 กองพลยานยนต์ กรมทหารปืนใหญ่ 78 กรม และกองพันรถถัง 40 กองพัน เมื่อวันที่ 12 กันยายน สถาสงครามสูงสุดอังกฤษ-ฝรั่งเศสประชุมกันเป็นครั้งแรกที่แอ็บวิลล์ ฝรั่งเศส มีการตัดสินใจว่าปฏิบัติการรุกรานใด ๆ จะต้องถูกยับยั้งในทันที พลเอกมอริส กาเมอแล็งสั่งการให้ทหารของเขาหยุด "ไม่เข้าใกล้เกินกว่า 1 กิโลเมตร" จากตำแหน่งของเยอรมนีตามแนวซีกฟรีด โปแลนด์ไม่ทราบถึงการตัดสินใจนี้ กาเมอแล็งกลับแจ้งแก่จอมพลเอ็ดเวิร์ด ริดซ์ สมิกลี่ว่าครึ่งหนึ่งของกองกำลังทั้งหมดของเขากำลังรบอยู่กับข้าศึก และการโจมตีของฝรั่งเศสได้ทำให้กองทัพเยอรมันอย่างน้อย 6 กองพลถอนตัวออกจากโปแลดน์ ในวันรุ่งขึ้น ผู้บัญชาการทูตทหารฝรั่งเศสประจำโปแลนด์ นายพลหลุยส์ โฟลี รายงานแก่เสนาธิการโปแลนด์ นายพลเวนสเลาส์ สตาชีวิกซ์ ว่าแผนการรุกรานครั้งใหญ่ในแนวรบด้านตะวันตกได้เลื่อนจากวันที่ 17 กันยายนไปเป็นวันที่ 20 กันยายน ในขณะเดียวกัน กองทัพฝรั่งเศสได้รับคำสั่งให้ถอนตัวกลับค่ายทหารของตนเองหลังแนวมากิโนต์ ซึ่งได้เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามลวง