กระจ่าง ตุลารักษ์
กระจ่าง ตุลารักษ์ | |
---|---|
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 1 เมษายน พ.ศ. 2456 จังหวัดฉะเชิงเทรา ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552 (96 ปี) อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ประเทศไทย |
คู่สมรส | พวงเพ็ชร ตุลารักษ์ |
อาชีพ | ทหารบก |
เป็นที่รู้จักจาก | คณะราษฎร |
ร้อยโท กระจ่าง ตุลารักษ์ (1 เมษายน พ.ศ. 2456 — 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552) หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น
ประวัติ
[แก้]นายกระจ่าง เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 ที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เข้าร่วมกับคณะราษฎรด้วยวัยเพียง 19 ปี ขณะยังเป็นนักเรียนช่างกลอยู่ จากการชักชวนของพี่ชาย คือ นายสงวน ตุลารักษ์ โดยเข้ามาเป็นสมาชิกคณะราษฎรในสายพลเรือนเพียง 5 วัน ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น โดยนายสงวนได้มอบหมายให้นายกระจ่างพาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่มีพฤติกรรมดี ไม่ดื่มเหล้า ไม่ติดการพนัน เข้าร่วมเป็นคณะราษฎรเพิ่มด้วย 2-3 คน
บทบาททางการเมือง
[แก้]ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายกระจ่างรับหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลสำคัญและเจ้านายชั้นสูงในพระที่นั่งอนันตสมาคม รวมถึงอารักขาหัวหน้าคณะราษฎรด้วย โดยไม่ได้รับรู้มาก่อนเลยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะเป็นบุคคลระดับเล็ก ๆ ไม่ได้รับรู้ถึงแผนการชั้นสูง
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการครอง ที่สมาชิกคณะราษฎรหลายคนได้มีตำแหน่งและบทบาททางการเมือง แต่นายกระจ่างก็ได้กลับไปเป็นลูกจ้างตามเดิม โดยไม่มีตำแหน่งใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากอายุยังน้อยอยู่ จนกระทั่งเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2484 นายกระจ่างได้ร่วมกับขบวนการเสรีไทย โดยได้ปฏิบัติหน้าที่เล็ดลอดเข้าไปในประเทศจีนเพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลสำคัญต่าง ๆ และปฏิบัติงานอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทย-ลาว และลาว-เวียดนาม หลังเสร็จสงครามแล้วได้รับยศเป็น ร้อยโท (ร.ท.) เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2488[1]
จากนั้น ร.ท.กระจ่างก็ได้กลับไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่จังหวัดยะลา โดยได้เปิดกิจการโรงเลื่อยที่อำเภอรามัน และได้สมรสกับนางพวงเพ็ชร (นามเดิม: สวนเพ็ชร โกวิทยา) ซึ่งเป็นภรรยา มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น 4 คน
ร.ท.กระจ่าง เคยเป็น ส.ส. จังหวัดขอนแก่น จากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2489 (ต่อมาเข้าร่วมกับพรรคสหชีพ) จากนั้น เมื่อหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อดีตหัวหน้าเสรีไทยสาย สหรัฐอเมริกา ได้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้า พรรคประชาธิปัตย์ ต่อจากนายควง อภัยวงศ์ ที่ถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อปี พ.ศ. 2511 ร.ท.กระจ่างได้สมัครเป็นสมาชิกพรรค และได้ลงเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในจังหวัดยะลา แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง หลังจากนั้นชีวิตก็ได้วนเวียนอยู่ในแวดวงการเมืองมาโดยตลอด เช่น เป็นนักการเมืองท้องถิ่น และปลูกฝังทัศนคติทางการเมือง การปกครองแก่บุตรหลานและคนใกล้ชิด เป็นต้นกระทั่ง พ.ศ. 2525 ร้อยโทกระจ่างได้เข้ามาเป็นกรรมการบริหาร พรรคประชาธิปัตย์ ที่จดทะเบียนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง[2] ก่อนจะพ้นจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคเมื่อ พ.ศ. 2526[3]
ในเดือนมิถุนายนปี พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 67 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ร.ท.กระจ่างได้ให้สัมภาษณ์นิตยสารสารคดีถึงเหตุการณ์ในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในฐานะที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่
ถึงแก่กรรม
[แก้]กระจ่าง ถึงแก่กรรมลงอย่าสงบในบ้านพักของตัวเองในเวลา 23:00 น. ของวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552 หรือ 1 ชั่วโมงก่อนเข้าสู่วันครบรอบ 77 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยวัย 96 ปี[4] มีพิธีฌาปนกิจศพเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ณ ณาปนสถานเทศบาลนครยะลา
อ้างอิง
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2456
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2552
- บุคคลจากอำเภอบางคล้า
- บุคคลจากอำเภอรามัน
- ชาวไทยเชื้อสายแต้จิ๋ว
- ทหารบกชาวไทย
- สมาชิกคณะราษฎร
- สมาชิกขบวนการเสรีไทย
- พรรคสหชีพ
- นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์
- นักการเมืองพรรคเอกภาพ
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น
- ชาวไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง
- บุคคลในยุครัชกาลที่ 9