ฮิเดกิ ชิรากาวะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Hideki Shirakawa)
ฮิเดกิ ชิรากาวะ
เกิด (1936-08-20) สิงหาคม 20, 1936 (87 ปี)
โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
สัญชาติญี่ปุ่น
ศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว
มีชื่อเสียงจากพอลิเมอร์นำไฟฟ้า
รางวัลรางวัลโนเบลสาขาเคมี (พ.ศ. 2543)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์วัฒนธรรม (พ.ศ. 2543)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาเคมี
สถาบันที่ทำงานมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
มหาวิทยาลัยสึกูบะ
มีอิทธิพลต่ออลัน แมกเดอร์มิด

ฮิเดกิ ชิรากาวะ (ญี่ปุ่น: 白川 英樹โรมาจิShirakawa Hideki; เกิดวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2479) เป็นนักเคมีและวิศวกรชาวญี่ปุ่น และดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณประจำมหาวิทยาลัยสึกูบะและมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง เป็นที่รู้จักจากการค้นพบพอลิเมอร์ที่สามารถนำไฟฟ้าได้ และได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี พ.ศ. 2543 ร่วมกับอลัน แมกเดอร์มิดและอลัน ฮีเกอร์

ประวัติ[แก้]

ฮิเดกิ ชิรากาวะเกิดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในครอบครัวของแพทย์ทหาร และได้ย้ายติดตามครอบครัวของบิดาไปอยู่ที่แมนจูกัวและไต้หวันในวัยเด็ก ต่อมาในปี พ.ศ. 2487 ได้ย้ายกลับมาที่ประเทศญี่ปุ่นไปอยู่บ้านเกิดของมารดาที่เมืองทากายามะ จังหวัดกิฟุ

ชิรากาวะจบการศึกษาและได้รับปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสาขาวิศวกรรมเคมีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียวในปี พ.ศ. 2504 หลังจากนั้นได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากสถาบันเดียวกันในปี พ.ศ. 2509 หลังจากนั้นได้เข้าทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยที่ห้องปฏิบัติการทรัพยากรเคมีที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว[1]

งานวิจัย[แก้]

ขณะที่ทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียวนั้น ชิรากาวะได้ค้นพบพอลิอะเซทิลีนซึ่งมีลักษณะปรากฏคล้ายกับโลหะ เมื่ออลัน แมกเดอร์มิดมาเยี่ยมสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียวในปี พ.ศ. 2518 แมกเดอร์มิดสนใจผลการค้นพบนี้ของชิรากาวะมาก และได้ชักชวนให้ชิรากาวะมาเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกที่ห้องปฏิบัติการของเขาที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียในปีถัดมา ทั้งสองร่วมกับนักฟิสิกส์อีกหนึ่งคนคืออลัน ฮีเกอร์ได้ร่วมกันพัฒนาคุณสมบัติการนำไฟฟ้าของพอลิอะเซทิลีน ซึ่งในปี พ.ศ. 2520 พวกเขาพบว่าเมื่อนำพอลิเมอร์ไปทำปฏิกิริยา (โดป) ด้วยไอของไอโอดีนจะได้พอลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติการนำไฟฟ้าดีขึ้น[2][3] ซึ่งนำไปสู่รางวัลโนเบลสาขาเคมีที่ได้รับร่วมกันในปี พ.ศ. 2543

ในปี พ.ศ. 2522 ชิรากาวะดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยสึกูบะ ก่อนจะเลื่อนชั้นขึ้นเป็นศาสตราจารย์ในอีกสามปีถัดมา

รางวัลโนเบล[แก้]

ชิรากาวะได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี พ.ศ. 2543 ร่วมกับอลัน ฮีเกอร์และอลัน แมกเดอร์มิดจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียจากการค้นพบและพัฒนาพอลิเมอร์นำไฟฟ้า (conductive polymer)[3] โดยเป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติทั้งเจ็ดที่ได้รับรางวัลโนเบล และเป็นชาวญี่ปุ่นคนที่สองที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี และในปีเดียวกันชิรากาวะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์วัฒนธรรมด้วย[4]

มุมมองส่วนตัว[แก้]

ชิรากาวะได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะเจแปนไทมส์ว่าเขาไม่ต้องการให้รางวัลโนเบลได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมากเกินไป และหวังว่างานวิจัยด้านอื่นนอกเหนือจากสาขาของรางวัลโนเบลจะได้รับความสนใจเช่นนั้นบ้าง เขามองว่าสังคมที่งานวิจัยหลากหลายแขนงได้รับการยอมรับจะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Hideki Shirakawa - Biographical". NobelPrize.org. Nobel Media AB 2018. สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  2. Shirakawa, Hideki; Louis, Edwin J.; MacDiarmid, Alan G.; Chiang, Chwan K.; Heeger, Alan J. (1977). "Synthesis of electrically conducting organic polymers: halogen derivatives of polyacetylene, (CH)x". Journal of the Chemical Society, Chemical Communications (16): 578–580. doi:10.1039/C39770000578. สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  3. 3.0 3.1 "The Nobel Prize in Chemistry 2000". NobelPrize.org. Nobel Media AB 2018. สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  4. "Nobel chemist to get Order of Culture". เดอะเจแปนไทมส์. 25 ตุลาคม พ.ศ. 2543. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม พ.ศ. 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= และ |date= (help)
  5. "Shirakawa unhappy with way Japanese media reports Nobel issues". เดอะเจแปนไทมส์. 16 ตุลาคม พ.ศ. 2559. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 กันยายน พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date=, |date= และ |archive-date= (help)