ข้ามไปเนื้อหา

เดอะไชน่าสตัดดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
The China Study: Startling Implications for Diet, Weight Loss, and Long-Term Health
(งานวิจัยในเมืองจีน: ผลชี้ที่น่าตระหนักใจเกี่ยวกับไดเอ็ต การลดน้ำหนัก และสุขภาพในระยะยาว)
ผู้ประพันธ์ที. คอลิน แคมป์เบลล์, Ph.D. และ โทมัส เอ็ม. แคมป์เบลล์ II, พ.บ.
ประเทศสหรัฐอเมริกา
หัวเรื่องโภชนศาสตร์ (Nutritional science)
สำนักพิมพ์BenBella Books
วันที่พิมพ์มกราคม ค.ศ. 2005[1]
หน้า417 (พิมพ์ครั้งที่ 1)
ISBN1-932100-38-5

หนังสือ The China Study (แปลว่า งานวิจัยในเมืองจีน, พิมพ์ ค.ศ. 2005) มีผู้เขียน 2 คนคือ ศ. ดร. ที. คอลิน แคมป์เบลล์ ผู้เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณ (Jacob Gould Schurman Professor Emeritus) ในสาขาวิชาโภชนชีวเคมี (Nutritional Biochemistry) ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลในประเทศสหรัฐอเมริกา และบุตรของเขาคือ น.พ. โทมัส เอ็ม แคมป์เบลล์ เป็นหนังสือที่สอบสวนความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ (รวมทั้งนม) และโรคเรื้อรังประเภทต่าง ๆ เช่นโรคหัวใจจากหลอดเลือดแดงแข็ง โรคเบาหวาน โรคมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้[2] เป็นหนังสือที่มียอดขายกว่า 750,000 เล่มแล้วในเดือนมกราคม ค.ศ. 2013[3] จึงเป็นหนังสือโภชนาการที่ขายดีที่สุดเล่มหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา[4]

ชื่อหนังสือมาจากโพรเจ็กต์จีน-คอร์เนล-ออกซฟอร์ด ซึ่งเป็นงานวิจัยระยะเวลา 30 ปีที่เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1983 และเป็นงานร่วมกันระหว่างสถาบัน 3 สถาบัน คือ บัณฑิตยสถานเพื่อการแพทย์เชิงป้องกันแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Chinese Academy of Preventive Medicine), มหาวิทยาลัยคอร์เนล, และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด[5] ดร. แคมป์เบลล์เป็นผู้อำนวยการของโพรเจ็กต์คนหนึ่ง เป็นโพรเจ็กต์ที่หนังสือพิมพ์สหรัฐเดอะนิวยอร์กไทมส์เรียกว่า "Grand Prix of epidemiology (แปลว่า รางวัลสูงสุดของวิทยาการระบาด หรือ การแข่งขันสากลที่สำคัญในสาขาวิทยาการระบาด)" ในปี ค.ศ. 1990[6]

งานวิจัยตรวจสอบอัตราการตายที่เกิดขึ้นจากมะเร็งและโรคเรื้อรังอื่น ๆ ทั้งหมด 48 ประเภท ระหว่างปี ค.ศ. 1973–75 ในเทศมณฑล 65 มณฑลในประเทศจีน แล้วเทียบข้อมูลนั้นโดยสหสัมพันธ์ กับข้อมูลการสำรวจอาหารและการตรวจเลือดระหว่างปี ค.ศ. 1983-1984 จากประชากร 6,500 คน โดยแต่ละ 100 คนจะมาจากแต่ละเทศมณฑล (แต่ละคนให้ข้อมูลประมาณ 367 ประเภท แค่ข้อมูลอย่างเดียวก็จะเต็มหนังสือมีหน้า 920 หน้า[6]) และได้ผลสรุปว่า เทศมณฑลที่มีการบริโภคอาหารที่มาจากสัตว์ในระดับสูงในปี ค.ศ. 1983-84 มีโอกาสสูงกว่าที่จะมีอัตราความตายที่สูงกว่าในปี ค.ศ. 1973–75 จากโรค "ของชาวตะวันตก" ในขณะที่นัยตรงกันข้าม ก็เป็นความจริงเช่นกันสำหรับเทศมณฑลที่บริโภคอาหารที่มาจากพืชในระดับที่สูงกว่าในปี ค.ศ. 1983–84 ผู้วิจัยเลือกเทศมณฑลเหล่านั้นโดยเฉพาะในงานวิจัย เพราะว่า มีประชากรที่คล้ายคลึงกันที่มักจะใช้ชีวิตคล้าย ๆ กันในที่เดียวกัน และทานอาหารเฉพาะเขตพื้นที่ เป็นช่วงหลายชั่วตระกูล[7][8]

ผู้เขียนสรุปว่า บุคคลที่ทานอาหารจากพืช (คือทานอาหารมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด) โดยที่หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากสัตว์เช่นเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา ไข่ ชีส และนม และโดยลดการทานอาหารที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตและคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการฟอกมาแล้ว จะพ้นจาก ลดโอกาส หรือมีอาการดีขึ้น จากการเกิดโรคมากมายหลายประเภท ผู้เขียนแนะนำให้มีการตากแดดให้เพียงพอเพื่อจะได้วิตามินดีพอ และให้เสริมอาหารด้วยวิตามินบี12ถ้าหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์สัตว์โดยสิ้นเชิง ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับไดเอ็ตมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ เช่น Atkins diet ซึ่งมีการจำกัดเปอร์เซ็นต์แคลอรีที่มาจากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตแบบซับซ้อน[9]

ประเด็นเสนอและหลักฐาน

[แก้]

การเปิดโปงข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับโภชนาการ

[แก้]

ผู้เขียนตั้งประเด็นว่า "ความสับสนเกี่ยวกับโภชนาการโดยมากแม้ว่าจะไม่ทั้งหมด เกิดขึ้นอย่างเปิดเผยตามกฎหมาย แล้วมีการสื่อต่อ ๆ ไปโดยบุคคลที่มีเจตนาดี ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย นักการเมือง หรือสื่อ" และเนื่องจากว่า มีธุรกิจอุตสาหกรรมหลายอย่างที่มีอิทธิพลมาก ที่อาจจะได้รับความเสียหายอย่างหนักถ้าชาวอเมริกันหันไปทานอาหารจากพืช ผู้เขียนกล่าวถึงธุรกิจอุตสาหกรรมเหล่านั้นว่า "ย่อมทำทุกอย่างภายในอำนาจของตนเพื่อป้องกันผลกำไรของตนและของผู้ถือหุ้นบริษัท"[10]

ผู้เขียนตั้งประเด็นว่า งานวิจัยก่อน ๆ เกี่ยวกับโภชนาการ (โดยเฉพาะงานวิจัยมีชื่อเสียงที่รู้จักกันว่า Nurses' Health Study[11] ซึ่งเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1976) มีข้อบกพร่องเพราะว่าไปเพ่งความสนใจที่ผลที่เกิดจากการบริโภคอาหารต่าง ๆ กันของกลุ่มบุคคลผู้บริโภคอาหารจากสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูงเหมือน ๆ กัน[12] ผู้เขียนกล่าวว่า "แทบจะไม่มีงานวิจัยอื่นเลยที่ทำความเสียหายให้กับทัศนคติทางโภชนาการยิ่งไปกว่า Nurses' Health Study" และว่า งานวิจัยนั้นควรที่จะ "เป็นอนุสรณ์สำหรับผู้ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ที่เหลือว่า อะไรไม่ควรทำ"[13]

หลัก 8 ประการในการบริโภคอาหารและการรักษาสุขภาพ

[แก้]

ผู้เขียนพรรณนาหลัก 8 ประการในการบริโภคอาหารและการรักษาสุขภาพ คือ

  1. โภชนาการเป็นการทำงานร่วมกันของสารอาหารหลายอย่างจนนับไม่ได้ และองค์รวมทั้งหมดมีผลมากกว่าองค์ย่อยแต่ละอย่าง ๆ
  2. วิตามินไม่ใช่ยาวิเศษรักษาได้สารพัดโรคในการรักษาสุขภาพให้ดี
  3. แทบไม่มีสารอาหารอะไรเลยจากสัตว์ที่ดีกว่าที่ได้มาจากพืช
  4. กรรมพันธุ์ (หรือยีน) ไม่ได้ก่อให้เกิดโรคโดยลำพัง ยีนจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อมีการแสดงออกของยีน และโภชนาการมีบทบาทวิกฤติในการกำหนดว่า ยีนชนิดไหน ไม่ว่าจะดีหรือร้าย จะมีการแสดงออก
  5. โภชนาการสามารถควบคุมผลร้ายจากสารเคมีอันตรายได้อย่างสำคัญ
  6. โภชนาการที่สามารถป้องกันโรคในขั้นเบื้องต้น ก็ยังสามารถระงับหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งโรคนั้นในขั้นเบื้องปลาย
  7. โภชนาการที่มีผลดีจริง ๆ ต่อโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง จะช่วยรักษาสุขภาพด้วยโดยองค์รวม
  8. โภชนาการที่ดีทำให้สุขภาพดีในทุก ๆ ด้าน และสุขภาพที่ดีทุก ๆ ด้านมีความสัมพันธ์เสริมกันและกัน[14]

ภูมิหลังของโพรเจ็กต์จีน-คอร์เนล-ออกซฟอร์ด

[แก้]

โพรเจ็กต์จีน-คอร์เนล-ออกซฟอร์ด หรือ "งานวิจัยของจีน-คอร์เนล-ออกซฟอร์ดในเรื่องของอาหาร วิถีทางการดำเนินชีวิต และลักษณะเฉพาะของการตาย ในประชากรของเทศมณฑลจีนชนบท 65 มณฑล" ซึ่งในหนังสือเรียกว่า "งานวิจัยในเมืองจีน" เป็นงานวิจัยที่กว้างขวางครอบคลุมองค์ประกอบเกี่ยวกับอาหารและวิถีทางการดำเนินชีวิต ที่มีความสัมพันธ์กับอัตราการตายเพราะโรคในประเทศจีน ซึ่งเทียบผลของอาหารจากสัตว์กับอาหารที่มากไปด้วยพืช ต่อสุขภาพในระหว่างบุคคลที่มีพันธุกรรมคล้าย ๆ กัน[6]

ไอเดียสำหรับงานวิจัยเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1980–81 เมื่อมีการสนทนากันที่ห้องแล็บของมหาวิทยาลัยคอร์เนลระหว่าง ดร. แคมป์เบลล์ กับเช็นจุนชิ ผู้เป็นรองผู้อำนวยการของสถาบันเพื่อโภชนาการและสุขภาพอาหารของบัณฑิตยสถานเพื่อการแพทย์เชิงป้องกันแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และภายหลังจากนั้น ริชารด์ เปโต ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (ในปี ค.ศ. 2012 ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ สาขาสถิติการแพทย์และวิทยาการระบาด) และลีจุนเยาของสถาบันมะเร็งแห่งประเทศจีนจึงได้เข้ามาร่วมงานด้วย[8]

ในปี ค.ศ. 1983 หมู่บ้านสองหมู่บ้านได้รับเลือกอย่างสุ่มในแต่ละเทศมณฑลจีนชนบท 65 มณฑล และในแต่ละหมู่บ้าน ครอบครัว 50 ครอบครัวก็ได้รับเลือกแบบสุ่ม นิสัยการบริโภคอาหารของสมาชิกคนหนึ่งในครวบครัว (รวมกันครึ่งหนึ่งเป็นหญิง ครึ่งหนึ่งเป็นชาย) จะได้รับการสำรวจ และผลก็จะได้รับการเปรียบเทียบกับอัตราความตายจากโรคมะเร็งและโรคอื่น ๆ 48 อย่างของเทศมณฑลเหล่านั้นในช่วงปี ค.ศ. 1973–75

โรค"ชาวตะวันตก"มีสหสัมพันธ์กับคอเลสเตอรอลในเลือด

[แก้]

งานวิจัยทำการเปรียบเทียบความชุกของโรคชาวตะวันตก (โรคหัวใจ โรคเบาหวาน มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งในลำไส้ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งสมอง มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับเป็นต้น) ระหว่างเทศมณฑลต่าง ๆ โดยใช้อัตราความตายในปี ค.ศ. 1973–75 ผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลตัวแปรเกี่ยวกับอาหารและวิถีทางการดำเนินชีวิต จากผู้อาศัยอยู่ในเทศมณฑลเหล่านั้นอีกประมาณ 10 ปีให้หลัง แล้วพบว่า เมื่อระดับของคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น ความชุกของโรคชาวตะวันตกก็เพิ่มขึ้นด้วย[15]

ผลงานวิจัยแสดงความสัมพันธ์ของระดับที่ต่ำกว่าของคอเลสเตอรอลในเลือด กับอัตราที่ต่ำกว่าของโรคหัวใจและมะเร็ง ผู้เขียนเล่าว่า ถ้าคอเลสเตอรอลในเลือดลดลงจาก 170 mg/dl ไปสู่ 90 mg/dl มะเร็งตับ มะเร็งไส้ตรง มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งหลอดอาหาร ก็ลดลงด้วย อัตราการเกิดขึ้นของมะเร็งแตกต่างกันเป็นร้อยเท่าจากเทศมณฑลที่มีอัตราสูงที่สุด เทียบกับเทศมณฑลที่มีอัตราต่ำที่สุด[15]

ผู้เขียนเล่าว่า "เมื่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของประชากรในเทศมณฑลจีนชนบทบางมณฑลสูงขึ้น การเกิดโรคชาวตะวันตกก็สูงขึ้นด้วย ที่น่าแปลกใจก็คือระดับคอเลสเตอรอลของชาวจีนนั้น ต่ำกว่าที่คิด คือมีค่าเฉลี่ยเพียงแค่ 127 mg/dl ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของชาวอเมริกันเกือบ 100 จุด (ที่ 215 mg/dl) ...และบางเทศมณฑลมีค่าเฉลี่ยต่ำถึง 94 mg/dl ...และในกลุ่ม 2 กลุ่มที่แต่ละกลุ่มมีผู้หญิง 25 คน ที่อยู่ในภูมิภาคส่วนในของประเทศ ค่าเฉลี่ยของคอเลสเตอรอลในเลือดอยู่ในระดับต่ำเป็นที่น่าอัศจรรย์ที่ 80 mg/dl[16]

คอเลสเตอรอลในเลือดมีสหสัมพันธ์กับการบริโภคอาหารโดยเฉพาะโปรตีนสัตว์

[แก้]

ผู้เขียนเล่าว่า "งานวิจัยหลายงานได้แสดงแล้วว่า การบริโภคโปรตีนสัตว์ทั้งของสัตว์ทดลองและทั้งของมนุษย์ เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือด การบริโภคไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลที่มีอยู่ในอาหาร ก็เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือดด้วย แต่ว่า ไม่มีผลเท่ากับการบริโภคโปรตีนสัตว์ โดยตรงกันข้ามกัน อาหารจากพืชนั้นไม่มีคอเลสเตอรอล และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่ร่างกายผลิตโดยผ่านกระบวนการหลายอย่าง" ผู้เขียนเล่าว่า "ความสัมพันธ์ของโรคกับคอเลสเตอรอลในเลือด น่าสนใจมาก เพราะว่า ทั้งระดับคอเลสเตอรอลและระดับการบริโภคอาหารจากสัตว์ (ของชาวจีน) ต่ำมากถ้าเทียบกับระดับมาตรฐานของชาวอเมริกัน ในชนบทจีน การบริโภคโปรตีนสัตว์มีค่าเฉลี่ยเพียงแค่ 7.1 กรัมต่อวัน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของชาวอเมริกันที่ 70 กรัมต่อวัน"[17]

ผู้เขียนสรุปว่า "ผลที่ได้จากงานวิจัยในประเทศจีนแสดงว่า เปอร์เซ็นต์ในการบริโภคอาหารจากสัตว์ยิ่งต่ำเท่าไร ก็มีผลดีต่อสุขภาพเท่านั้น แม้ว่าค่าเปอร์เซ็นต์จะเป็นการลดไปจาก 10% จนถึง 0% ของแคลอรีที่บริโภคก็ตาม"

กลไกการทำงาน

[แก้]

ผู้เขียนเสนอว่า พืชป้องกันร่างกายจากโรค เพราะพืชจำนวนมากมีสารต้านอนุมูลอิสระทั้งในระดับความเข้มข้นสูงทั้งมีมากมายหลายประเภท ซึ่งป้องกันร่างกายจากความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ[18] โรคชาวตะวันตกมีสหสัมพันธ์กับร่างกายที่ขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งก็มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการเกิด การส่งเสริม และการทำให้เจริญ ซึ่งโรคต่าง ๆ และร่างกายที่ขยายใหญ่ขึ้นนั้น ก็มีสหสัมพันธ์กับการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนสัตว์สูง ผู้เขียนเสนอว่า การบริโภคโปรตีนสัตว์จะเพิ่มความเป็นกรดให้กับเลือดและเนื้อเยื่อต่าง ๆ และเพื่อที่จะขจัดความเป็นกรด ร่างกายจะต้องดึงแคลเซียม (ซึ่งเป็นด่างที่ใช้ได้ผลดีมาก) ออกมาจากกระดูก ผู้เขียนกล่าวว่า ความเข้มข้นที่สูงขึ้นของแคลเซียมในเลือด มีผลไปยับยั้งกระบวนการที่ร่างกายเปลี่ยนวิตามินดีไปเป็น calcitriol ซึ่งเป็นรูปแบบของวิตามินดีที่ช่วยควบคุมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

โรคที่มีความสัมพันธ์กับอาหาร

[แก้]

โรคภูมิต้านตนเอง

[แก้]

ผู้เขียนเสนอว่า ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 ของเด็กทารก มีสหสัมพันธ์ในระดับสูงกับการบริโภคนมวัว[19] โรคที่เกี่ยวกับภูมิต้านตนเอง (autoimmune diseases) เช่นโรคเบาหวานชนิดที่ 1, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง, และโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ มีอาการคล้ายกันและอาจจะมีเหตุอย่างเดียวกัน ผู้เขียนกล่าวว่า โรคเกี่ยวกับภูมิต้านตนเองเกิดขึ้นมากกว่าในผู้ที่อาศัยอยู่ในระดับละติจูดที่เหนือกว่า และในผู้ที่บริโภคอาหารมีโปรตีนสัตว์สูงโดยเฉพาะนมวัว ผู้เขียนเสนอว่า วิตามินดีอาจเกี่ยวข้องกับสหสัมพันธ์ที่กล่าวไปทั้งสองอย่างนี้ เพราะว่า วิตามินดีมีความสำคัญในการควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน และสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในระดับละติจูดที่เหนือกว่า การขาดการตากแดดอาจจะมีผลเป็นการสร้างวิตามินดีที่ไม่พอ นอกจากนั้นแล้ว การบริโภคโปรตีนสัตว์ โดยเฉพาะเคซีนจากนมวัว อาจจะมีผลเป็นระดับแคลเซียมที่สูงขึ้นในเลือด ซึ่งเข้าไปห้ามกระบวนการที่ร่างกายเปลี่ยนวิตามินดีในไตไปเป็น calcitriol ซึ่งเป็นรูปแบบของไวตามินดีที่ช่วยยับยั้งการการเกิดขึ้นของโรคภูมิต้านตนเอง[20]

โรคในสมอง

[แก้]

ผู้เขียนกล่าวว่าความบกพร่องทางประชาน (cognitive impairment) และภาวะสมองเสื่อม รวมทั้งโรคอัลไซเมอร์ มีความสัมพันธ์กับความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลในเลือดสูง และความเสียหายที่มีเหล่านั้น มีเหตุจากอนุมูลอิสระ ซึ่งมีองค์ประกอบที่สามารถควบคุมได้ด้วยอาหาร[21]

มะเร็ง

[แก้]

ผู้เขียนเชื่อมการเกิดขึ้นของมะเร็งเต้านมกับการมีฮอร์โมนเพศหญิงในระดับที่สูงเป็นระยะเวลายาว ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเริ่มมีระดูตั้งแต่เยาว์วัย การมีวัยหมดประจำเดือนที่ล่าช้า และระดับที่สูงขึ้นของคอเลสเตอรอลในเลือด ผู้เขียนเสนอว่า องค์ความเสี่ยงเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับอาหารที่มีโปรตีนสัตว์สูง โดยเฉพาะเคซีนจากนมวัว คือ ผู้หญิงชาวจีนโดยเฉลี่ยมีระยะเวลาที่มีเอสโทรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง) เพียงแค่ 35–40% ของผู้หญิงชาวอังกฤษและชาวอเมริกัน และอัตราการเกิดขึ้นของมะเร็งเต้านมในหญิงชาวจีนก็มีค่าเพียงแค่ 1/5 ของอัตราของหญิงชาวตะวันตก[22] ผู้เขียนยังเสนออีกด้วยว่า อัตราการเกิดขึ้นที่ต่ำกว่าของเนื้องอกร้ายของลำไส้ใหญ่ (colorectal cancer) มีความสัมพันธ์กับการบริโภคอาหารจากพืชที่มีใยอาหารสูงเช่นพืชวงศ์ถั่ว ผักมีใบ และเมล็ดจากพืชวงศ์หญ้า (เช่นข้าว) ที่ไม่ขัดสี[18]

โรคเบาหวาน

[แก้]

ผู้เขียนพรรณนางานวิจัยเกี่ยวกับอาหารของนายแพทย์เจมส์ ดี. แอนเดอร์สัน กับคนไข้ 50 คน โดยที่ 25 คนเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 25 คนที่เหลือมีโรคเบาหวานชนิดที่ 2 คนไข้ทั้งหมดใช้ยาอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผู้เขียนรายงานว่า หลังจากที่คนไข้เปลี่ยนอาหารสไตล์อเมริกันที่สมาคมโรคเบาหวานอเมริกัน (American Diabetes Association) แนะนำ ไปเป็นอาหารจากพืชที่มีใยอาหารสูง มีไขมันต่ำ คนไข้ประเภท 1 สามารถลดระดับการใช้อินซูลินโดยเฉลี่ยประมาณ 40% ภายใน 3 อาทิตย์หลังจากการเปลี่ยนอาหาร และคนไข้ 24 คนใน 25 คนที่มีโรคเบาหวานประเภท 2 สามารถเลิกใช้อินซูลินโดยสิ้นเชิงภายในไม่กี่อาทิตย์[23]

โรคตา

[แก้]

ผู้เขียนเสนอว่า งานวิจัยหลายงานแสดงว่า อาหารที่มีสารแคโรทีนอยด์[24] ซึ่งพบในผักผลไม้ที่มีสีสัน จะช่วยป้องกันโรคจุดภาพชัดของจอตาเสื่อม[25] ได้ ซึ่งเป็นโรคตาที่เป็นเหตุของตาบอด และอาหารที่มีสารลูทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบในผักขม จะช่วยป้องกันต้อกระจกได้[26]

โรคหัวใจและโรคอ้วน

[แก้]

ผู้เขียนกล่าวว่า งานวิจัยต่าง ๆ แสดงว่า การบริโภคโปรตีนพืชมีผลในการลดระดับคอเลสเตอรอลที่ดีกว่าการลดการบริโภคไขมันหรือคอเลสเตอรอลโดยตรง[21] ในช่วงเวลาที่ทำงานวิจัยในเมืองจีนนี้ อัตราความตายจากโรคหัวใจของชายชาวอเมริกันอยู่ที่ 17 เท่าของชายจีนชนบท[17] ผู้เขียนกล่าวว่า "การบริโภคแคลอรีโดยเฉลี่ยต่อน้ำหนักของชาวจีน ที่มีชีวิตแอ๊กถีฟน้อยที่สุด อยู่ที่ระดับ 30% สูงกว่าชาวอเมริกันโดยเฉลี่ย แต่ว่า น้ำหนักตัวกลับน้อยกว่าถึง 20%" (คือทานอาหารมีพลังงานมากกว่าแต่น้ำหนักตัวกลับน้อยกว่า ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ)

ผู้เขียนกล่าวเพิ่มขึ้นว่า "การบริโภคอาหารที่มีโปรตีนและไขมันสูงเปลี่ยนการใช้แคลอรีจากการทำความร้อนในร่างกาย ไปเป็นการเก็บเป็นไขมันในตัว (ยกเว้นในกรณีที่การอดอาหารนำไปสู่การลดน้ำหนักตัว)" ผู้เขียนเสนอว่า "การบริโภคอาหารอาจมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของการเผาผลาญแคลอรีแม้จะเพียงเล็กน้อย แต่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงต่อน้ำหนักตัวที่มาก" และเพิ่มความเห็นว่า "การบริโภคอาหารอย่างเดียวกันนั่นแหละที่มีโปรตีนสัตว์น้อย มีไขมันต่ำ นอกจากจะช่วยป้องกันโรคอ้วนแล้ว ก็ยังให้แต่ละคนสามารถเติบโตขึ้นในระดับที่สูงสุดสำหรับบุคคลนั้น"[27]

นิ่วในไตและท่อไต

[แก้]

การบริโภคโปรตีนสัตว์มีความสัมพันธ์กับองค์ความเสี่ยงที่นำไปสู่โรคนิ่วในไตและท่อไต ผู้เขียนกล่าวว่า ระดับแคลเซียมและ oxalate[28] ในเลือดที่สูงขึ้นอาจะมีผลเป็นนิ่วในไตและท่อไต และว่า งานวิจัยเร็ว ๆ นี้พบว่า นิ่วในไตและท่อไตอาจเริ่มเกิดขึ้นเนื่องจากอนุมูลอิสระ[29]

โรคกระดูกพรุน

[แก้]

ผู้เขียนแสดงว่า โรคกระดูกพรุนมีความสัมพันธ์กับการบริโภคโปรตีนสัตว์เพราะว่า โปรตีนสัตว์เพิ่มความเป็นกรดในเลือดและในเนื้อเยื่อ ซึ่งไม่เหมือนโปรตีนพืช ผู้เขียนกล่าวเพิ่มว่า เพื่อที่จะลดความเป็นกรด ร่างกายก็จะนำแคลเซียม (ซึ่งเป็นสารด่างที่ได้ผลมาก) ออกมาจากกระดูก ทำให้กระดูกเหล่านั้นอ่อนแอลง และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการหักมากขึ้น ผู้เขียนกล่าวเพิ่มอีกว่า "ในงานวิจัยในชนบทประเทศจีนของเรา ที่อัตราโปรตีนสัตว์ต่อโปรตีนพืชเป็น 1/10 อัตรากระดูกหักก็ลดลงเป็นเพียงแค่ 1/5 ของสหรัฐอเมริกา"[30]

การตอบสนองต่อหนังสือ

[แก้]

วิลเฟร็ด นีลส์ อาร์โนล์ด ผู้เป็นศาสตราจารย์สาขาชีวเคมีที่ศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแคนซัสเขียนบทปฏิทัศน์ของหนังสือนี้ในวารสารลีโอนาโด[31]ในปี ค.ศ. 2005 ไว้ว่า

การท้าทายต่อ "อาหารแบบอเมริกัน" อย่างจริงจัง (เช่นนี้) ย่อมก่อให้เกิดการต่อต้านทั้งจากนักวิชาการ ทั้งจากบุคคลทั่ว ๆ ไป และทั้งจากอุตสาหกรรมอาหาร... แต่ผู้เขียนได้คาดการต่อต้านและความเป็นปฏิปักษ์อย่างนั้นไว้ตั้งแต่ต้น แล้วดำเนินการเขียนไปด้วยความกระตือรือร้นที่ไม่มีการลดถอย และได้สร้างสมมติฐานเบื้องต้นที่นำไปใช้งานได้และมีคุณค่า เป็นความจริงว่า ข้อมูลที่น่าประหลาดใจเหล่านี้ ยากที่จะอธิบายได้โดยสมมุติฐานอย่างอื่น

— จากวารสารลีโอนาโด[32]

ฮัล แฮร์ริส ผู้เป็นบุคลากรในคณะเคมีและชีวเคมีของมหาวิทยาลัยมิสซูรีที่เซนต์หลุยส์ ได้แนะนำหนังสือเล่มนี้ใน "Journal of Chemical Education (วารสารการศึกษาในสาขาเคมี)" ในปี ค.ศ. 2006 ไว้ว่า

ใจความสำคัญของงานวิจัยที่มีข้อมูลละเอียดถ้วนถี่นี้ก็คือ โปรตีนสัตว์ไม่ดีสำหรับพวกเรา แม้แต่นม ซึ่งโฆษณากันว่า "เป็นอาหารไร้ตำหนิ"

— จาก Journal of Chemical Education[33]

นอกจากนั้นแล้ว ในปี ค.ศ. 2006 ผู้ปฏิบัติงานในแพทย์ทางเลือกแดเนียล เร็ดวูด และนายแพทย์นอร์แมน ชีลลี ได้เขียนไว้ว่า หนังสือเล่มนี้ต่างจากหนังสือโภชนาการที่ได้รับความนิยมอื่น ๆ เพราะได้ให้คำอธิบายที่ประกอบด้วยหลักฐานที่น่าเชื่อถือในประเด็นที่เสนอ[34] คือ ได้เขียนว่า "...ผู้เขียนได้ให้คำอธิบายที่ประกอบด้วยหลักฐานที่น่าเชื่อถือต่อทุก ๆ ประเด็นที่เสนอ"

แต่ว่าในการอภิปรายเป็นลายลักษณ์อักษรกับผู้เขียนในปี ค.ศ. 2008 ศ. ดร. ลอเร็น คอร์เดน ผู้เป็นศาสตราจารย์ในคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพและการออกกำลังกายที่มหาวิทยาลัยรัฐโคโลราโด (และเป็นผู้แนะนำการบริโภคอาหารอีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่า Paleolithic Diet ซึ่งเลียนแบบการบริโภคอาหารของบรรพบุรุษย์มนุษย์เมื่อ 2.5 ล้านปีก่อน) ได้ค้านว่า "แนวคิดพื้นฐานที่เป็นฐานของสมมุติฐานของคอลิน (ว่าอาหารมีโปรตีนสัตว์ในระดับต่ำทำสุขภาพมนุษย์ให้ดีขึ้น) ไม่มีความหนักแน่น และไม่สอดคล้องกับวิวัฒนาการของมนุษย์" และว่า "หลักฐานจากการทดลองเป็นจำนวนมากได้แสดงแล้วว่า การบริโภคโปรตีนไขมันต่ำในระดับที่สูงขึ้น ลดความเสี่ยงต่อโรคเกาต์ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง dyslipidemia (คือความผิดปกติของเมแทบอลิซึมของไลโพโปรตีนและภาวะไขมันในเลือด) โรคอ้วน โรคดื้ออินซูลิน และโรคกระดูกพรุน โดยที่ไม่มีผลเสียหายต่อการทำงานของไต" และว่า "หลักฐานจากการทดลองเป็นจำนวนมากได้แสดงแล้วว่า การบริโภคโปรตีนไขมันต่ำในระดับที่สูงขึ้น ลดความเสี่ยงต่อโรคเกาต์ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง dyslipidemia (คือความผิดปกติของเมแทบอลิซึมของไลโพโปรตีนและภาวะไขมันในเลือด) โรคอ้วน โรคดื้ออินซูลิน และโรคกระดูกพรุน โดยที่ไม่มีผลเสียหายต่อการทำงานของไต" ดร. แคมป์เบลล์ได้โต้ตอบโดยแสดงความไม่น่าเชื่อถือในผลอนุมาน (จากหลักฐาน) ที่ ดร. คอร์เดนได้อ้างไว้ และเสนอว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและโรคที่เห็นได้ในปัจจุบันสำคัญยิ่งกว่าสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงวิวัฒนาการของมนุษย์ที่ผ่านมาแล้ว 2.5 ล้านกว่าปีก่อน"[35]

อดีตประธานาธิบดีอเมริกันบิล คลินตัน ได้กลายมาเป็นผู้สนับสนุนหนังสือเล่มนี้อย่างออกปากออกเสียง คือในปี ค.ศ. 2010 หลังจากที่ได้มีชีวิตอยู่กับโรคหัวใจอยู่หลายปี คลินตันได้เปลี่ยนการทานอาหารไปทานพืชวงศ์ถั่ว ผัก ผลไม้ และอาหารเสริมโปรตีนทุก ๆ เช้า คือเปลี่ยนมาเป็นผู้บริโภคอาหารมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดโดยปริยาย[2] และภายในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ คลินตันลดน้ำหนักได้ถึง 24 ปอนต์ (ประมาณ 10.9 ก.ก.) ทำให้เขากลับมีน้ำหนักเท่ากับสมัยที่เป็นเด็กมหาวิทยาลัย[36] นายแพทย์สัญชัย คุปตะ ผู้เป็นนักข่าวแพทย์คนหลักของซีเอ็นเอ็น กล่าวในภาพยนตร์สารคดี "The Last Heart Attack (หัวใจล้มเหลวครั้งสุดท้าย)" ที่เริ่มฉายในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2011 ไว้ว่า หนังสือเล่มนี้ได้เปลี่ยนวิถีการบริโภคอาหารของคนทั่วโลก รวมทั้งตัวคุณหมอคุปตะเองด้วย[37]

นักเขียนบล็อกในเรื่องอาหารผู้นิยมบริโภคอาหารไม่สุก ดีนีส มิงเกอร์ ได้เขียนบล็อกคำวิจารณ์ของเธอไว้ในเว็บไซต์[38] ซึ่งเธอเสนอว่า หลักฐานจากงานวิจัยโดยตรงไม่สอดคล้องกับข้อสรุปที่ ดร. แคมป์เบลล์ได้พูดถึงและส่งเสริมในหนังสือ เป็นการวิจารณ์ที่ได้คำโต้ตอบจาก ดร. แคมป์เบลล์เอง[39] โดยที่ ดร. แคมป์เบลล์ ในที่สุดก็สรุปเป็นข้อความว่า

ผมอยากจะสรุปโดยให้สังเกตคำแนะนำของนักวิทยาการระบาดมืออาชีพที่กล่าวไว้แล้วข้างบน ผู้ได้ให้คำแนะนำว่า ในทีสุดแล้ว ดีนีสควรจะตีพิมพ์ข้อมูลของเธอในวารสารที่มีการปฏิทัศน์โดยผู้เชี่ยวชาญในสาขา (เช่นในวารสารวิทยาศาสตร์) แต่เขาเอง(นักวิทยาการระบาด)รู้สึกมั่นใจในตอนนี้ว่า ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันจะไม่ได้รับการยอมรับ (โดยผู้ที่ทำการปฏิทัศน์) ผม(ก็)เห็นด้วย (ในเรื่องนี้)[40]

ดูเพิ่ม

[แก้]

แพทย์ นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์

[แก้]
  • ศ. น.พ. ดีน ออร์นิช - แพทย์วิจัยผู้ทำการทดลองรักษาคนไข้โรคหัวใจและโรคต่อมลูกหมากด้วยการเปลี่ยนอาหาร
  • น.พ. คอลด์เวลล์ เอสเซลเตน - แพทย์คลินิกผู้รักษาคนไข้โรคหัวใจด้วยการเปลี่ยนอาหาร
  • ศ. ดร. ที. คอลิน แคมป์เบลล์ - ศาสตราจารย์ผู้ทำงานวิจัยที่สัมพันธ์โภชนาการและอัตราของโรคในประเทศจีน

นักเขียน

[แก้]

แนวคิด

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. หนังสือระบุว่า พิมพ์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2005 แต่อะเมซอน.คอม แสดงว่าพิมพ์วันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 2004 ดู The China Study. ISBN 978-1-932100-38-9.
  2. 2.0 2.1 Sherwell, Philip (3 ตุลาคม 2010). "Bill Clinton's new diet: nothing but beans, vegetables and fruit to combat heart disease". The Daily Telegraph.
  3. "The China Study". thechinastudy.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2014. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2013.
  4. Parker-Pope, Tara. "Nutrition Advice From the China Study", The New York Times, January 7, 2011.
  5. Campbell, T. Colin; Chen Junshi; and Parpia, Bandoo. "Diet, lifestyle, and the etiology of coronary artery disease: the Cornell China Study", The American Journal of Cardiology, 82 (10), supplement 2, พฤศจิกายน 1998, pp. 18–21.
  6. 6.0 6.1 6.2 Brody, Jane E. (8 พฤษภาคม 1990). "Huge Study Of Diet Indicts Fat And Meat". เดอะนิวยอร์กไทมส์. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2014.
  7. ประเด็นนี้สำคัญเพราะว่างานวิจัยเทียบข้อมูลโภชนาการและผลเลือดที่ตรวจสอบประมาณ 10 ปีให้หลังกับข้อมูลเกี่ยวกับอัตราความตายเนื่องจากโรคที่ตรวจสอบ 10 ปีก่อน ไม่ใช่ในทางตรงกันข้าม
  8. 8.0 8.1 "China-Cornell-Oxford Project". Cornell University. สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2012.
  9. Campbell, T. Colin, and Campbell, Thomas M. The China Study. BenBella Books, 2005.
  10. Campbell 2005, pp. 249–250.
  11. Nurses' Health Study ที่เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1976 เป็นงานวิจัยทางวิทยาการระบาดระยะยาว ซึ่งศึกษาสุขภาพของผู้หญิง งานวิจัยติดตามพยาบาลจดทะเบียน 121,700 คนเพื่อประเมินองค์ความเสี่ยงของโรคมะเร็งและโรคหัวใจ งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งที่เคยทำเพื่อสอบหาองค์ความเสี่ยงของโรคเรื้อรังสำคัญ ๆ ในผู้หญิง
  12. Campbell 2005, p. 269ff.
  13. Campbell 2005, p. 272.
  14. Campbell 2005, pp. 223–240.
  15. 15.0 15.1 Campbell 2005, p. 69ff, particularly pp. 78–79; also see p. 21.
  16. Campbell 2005, p. 78.
  17. 17.0 17.1 Campbell 2005, p. 80.
  18. 18.0 18.1 Campbell 2005, pp. 92–93.
  19. Campbell 2005, pp. 187–194.
  20. Campbell 2005, pp. 198–200, 361–368.
  21. 21.0 21.1 Campbell 2005, pp. 218–219.
  22. Campbell 2005, pp. 87–88.
  23. Campbell 2005, pp. 151–152.
  24. แคโรทีนอยด์ (carotenoids) เป็นสารอินทรีย์มีสีพบในคลอโรพลาสต์และโครโมพลาสต์ของพืชและสิ่งมีชีวิตอื่นที่สังเคราะห์แสงได้เช่นสาหร่าย เป็นสารที่สัตว์ไม่สามารถผลิตเองได้ สัตว์จึงได้มาจากอาหารและจะใช้สารนี้ในกระบวนการสร้างและสลายแบบต่าง ๆ
  25. โรคจุดภาพชัดของจอตาเสื่อม (macular degeneration) เป็นภาวะที่มักจะเกิดในผู้สูงวัยมีผลเป็นการสูญเสียการเห็นที่ตรงกลางของลานสายตาเพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นที่เรตินา
  26. Campbell 2005, pp. 214–216.
  27. Campbell 2005, pp. 99, 101–102.
  28. Calcium oxalate เป็นสารประกอบเคมีที่ตกผลึกเป็นรูปซองจดหมาย เป็นสารเคมีที่เรียกว่า raphides ในพืช เป็นองค์ประกอบสำคัญของนิ่วในไตและในท่อไต เป็นส่วนตกตะกอนที่พบในการผลิตสุรา มีสูตรเคมีเป็น CaC2O4 หรือ Ca (COO)2
  29. Campbell 2005, pp. 212–214.
  30. Campbell 2005, pp. 205, 208.
  31. วารสารลีโอนาโด (Leonado) เป็นวารสารวิชาการที่บทความมีการตรวจสอบโดยผู้ชำนาญในสาขาวิชา พิมพ์โดยโรงพิมพ์ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ วารสารครอบคลุมการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันกับการศิลป์และดนตรี
  32. Arnold, Wilfred Niels. "The China Study". Leonardo. สืบค้นเมื่อ 2011-08-29.
  33. Harris, Hal (July 2006). "Summer Reading" (PDF). Journal of Chemical Education. 83 (7).
  34. Redwood, Daniel; Shealy, C. Norman (ธันวาคม 2005). "The China Study: The Most Comprehensive Study of Nutrition Ever Conducted and the Startling Implications for Diet, Weight Loss and Long-Term Health. Two Reviews". The Journal of Alternative and Complementary Medicine. 11 (6): 1117–1119. doi:10.1089/acm.2005.11.1117. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 มกราคม 2013.
  35. Cordain, Loren and Campbell, T. Colin. "The Protein Debate", Performance Menu: Journal Of Nutrition & Athletic Excellence, 2008, accessed August 28, 2011.
  36. O'Connor, Anahad. "Bill Clinton’s Vegan Journey", The New York Times, August 18, 2011.
  37. Gupta, Sanjay (25 สิงหาคม 2011). "Gupta: Becoming heart attack proof". CNN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 มีนาคม 2018.
  38. "The China Study: Fact or Fallacy". 2010-07-07.
  39. "China Study Author Colin Campbell slaps down critic Denise Minger". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-08.
  40. "Colin Campbell's Response to Critic Denise Minger". vegsource.com. July 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-08. I should conclude by noting the suggestion of the professional epidemiologist, cited above, who suggested that ultimately Denise may wish to publish her findings in a peer-reviewed journal, but who presently felt strongly that the current version would not be accepted. I concur.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
เว็บไซต์
หนังสือและบทความ
ภาพยนตร์
  • Forks over Knives, documentary film, 2011.
  • "Professor T. Colin Campbell". lecture, 2005. สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2011.