เจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เจ้าชายฮิซะฮิโตะ)
เจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะ
เจ้าชายฮิซาฮิโตะ เมื่อ พ.ศ. 2563
ประสูติ6 กันยายน พ.ศ. 2549 (17 ปี)
โรงพยาบาลไอกุ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ราชวงศ์ญี่ปุ่น
พระบิดาเจ้าชายฟูมิฮิโตะ อากิชิโนะโนะมิยะ
พระมารดาเจ้าหญิงคิโกะ พระชายาฯ

เจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะ (ญี่ปุ่น: 悠仁親王โรมาจิHisahito Shinnō; ประสูติ 6 กันยายน พ.ศ. 2549) เป็นพระโอรสพระองค์เล็กในพระยุพราชฟูมิฮิโตะ อากิชิโนะโนะมิยะ กับเจ้าหญิงคิโกะ พระชายาฯ เป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และเป็นพระภาติยะในสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ ปัจจุบันเจ้าชายฮิซาฮิโตะเป็นรัชทายาทลำดับที่สองแห่งการสืบราชสันตติวงศ์ญี่ปุ่น

พระประวัติ[แก้]

เจ้าชายฮิซาฮิโตะ ประสูติเมื่อเวลา 08.28 น. ตามเวลาสากลญี่ปุ่น ของวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2549 ณ โรงพยาบาลไอกุ กรุงโตเกียว ด้วยวิธีการผ่าคลอดก่อนกำหนดสองสัปดาห์ สืบเนื่องมาจากภาวะแทรกซ้อนเมื่อตั้งครรภ์[1] และพระมารดามีภาวะรกเกาะต่ำ[2] เป็นพระบุตรพระองค์เล็กและเป็นพระโอรสเพียงพระองค์เดียวของพระยุพราชฟูมิฮิโตะ อากิชิโนะโนะมิยะ กับเจ้าหญิงคิโกะ พระชายาฯ[1][3] มีพระเชษฐภคินีสองพระองค์ คือ มาโกะ โคมูโระ และเจ้าหญิงคาโกะแห่งอากิชิโนะ ตามลำดับ เจ้าชายฮิซาฮิโตะปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชนครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2549[1]

เจ้าชายฟูมิฮิโตะ พระชนก ตั้งพระนามพระโอรสนี้เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2549 ว่า "ฮิซาฮิโตะ" (悠仁) มาจากคำว่า ฮิซะ แปลว่า ความสงบเยือกเย็น กับคำว่า ฮิโตะ ตามธรรมเนียมราชสำนักญี่ปุ่นสำหรับลงท้ายพระนามเจ้านายฝ่ายหน้า แปลว่า ผู้มีคุณธรรม รวมกันมีความหมายว่า ผู้มีศีลธรรม จริยธรรม ความสงบเยือกเย็น และความเป็นนิรันดร์[4] มีพระนามลำลองที่พระชนกและพระชนนีเรียก ว่า ยูยู, ยูจัง หรือ ฮิซาฮิโตะคุง[5]

เจ้าชายฮิซาฮิโตะเป็นเจ้านายฝ่ายหน้าพระองค์ล่าสุดของราชวงศ์ญี่ปุ่นในรอบ 41 ปี ตั้งแต่การประสูติกาลของเจ้าชายฟูมิฮิโตะเมื่อ พ.ศ. 2508 ตั้งแต่นั้นชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศยกเลิกข้อเสนอเพื่อแก้ไขกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ญี่ปุ่นเพื่ออนุญาตให้เจ้านายฝ่ายในสามารถเสวยราชสมบัติได้ เพราะขณะนั้นทั้งจักรพรรดินารูฮิโตะและเจ้าชายฟูมิฮิโตะต่างไม่มีพระโอรสเลย แต่หลังเจ้าชายฮิซาฮิโตะประสูติ จึงคาดว่าคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎมนเทียรบาลเพื่อให้เจ้าหญิงไอโกะ พระราชธิดาของจักรพรรดินารูฮิโตะสืบราชสมบัติ[6] มีประชาชนที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง ต่างวิพากษ์วิจารณ์กฎมนเทียรบาลฉบับปัจจุบันว่าสร้างภาระใหญ่หลวงแก่เจ้านายฝ่ายหน้า ที่ล้วนแต่มีพระชันษาสูง และมีน้อยพระองค์นักที่จะออกมาประกอบพระกรณียกิจแทนเจ้านายฝ่ายในที่ทูลลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ไปเสียมาก[7]

การศึกษา[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
เจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะ
ตราประจำพระอิสริยยศ
ธงประจำพระอิสริยยศ
การทูลชินโน (親王)
การแทนตนโบกุ (บุรุษ) / วาตาชิ (สตรี)
การขานรับเด็งกะ (殿下)
ลำดับโปเจียม4 (ฝ่ายหน้า)

ฤดูใบไม้ผลิของ พ.ศ. 2553 เจ้าชายฮิซาฮิโตะทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลของมหาวิทยาลัยโอจาโนมิซุ กรุงโตเกียว ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 สำนักพระราชวังประกาศว่า เจ้าชายฮิซาฮิโตะทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนประถมศึกษาของมหาวิทยาลัยโอจาโนมิซุในเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 ร่วมกับพระสหายที่เคยเรียนด้วยกันมาแต่ชั้นปฐมวัย นับเป็นเจ้านายญี่ปุ่นพระองค์แรกที่ทรงศึกษาในสถานศึกษาอื่นที่ไม่ใช่โรงเรียนกากูชูอิง อันเป็นโรงเรียนของชนชั้นมูลนาย[8] มีรายงานว่าขณะอยู่ในโรงเรียนพระองค์มีจิตอาสา ทรงช่วยเหลือนักเรียนรุ่นน้อง และร่วมเล่นกับเหล่าพระสหาย[9] เดือนเมษายน พ.ศ. 2562 เจ้าชายฮิซาฮิโตะทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในมหาวิทยาลัยโอจาโนมิซุ[10] ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันนั้น ตำรวจรายงานว่าคาโอรุ ฮาเซกาวะ ชายวัย 56 ปี พยายามใช้มีดลอบทำร้ายเจ้าชายฮิซาฮิโตะที่ห้องเรียน[11]

มีนาคม พ.ศ. 2564 เจ้าชายฮิซาฮิโตะทรงได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ในการประกวดสารคดีเด็กของคิตากีวชู ครั้งที่ 12 ประเภทนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น[12]

พระกรณียกิจ[แก้]

เจ้าชายฮิซาฮิโตะตามเสด็จพระชนกชนนี ในการเสด็จเยือนประเทศภูฏานอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562[13]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "Japan princess gives birth to boy". BBC News. 6 September 2006. สืบค้นเมื่อ 5 September 2006.
  2. "Press Conference on the Occasion of the Birthday of His Imperial Highness Prince Akishino (2006)". The Imperial Household Agency. สืบค้นเมื่อ 15 October 2016.
  3. Walsh, Bryan (5 September 2006). "Japan Celebrates: It's a Boy!". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-13. สืบค้นเมื่อ 5 September 2006.
  4. "เจ้าหญิงกิโกะ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-15. สืบค้นเมื่อ 2010-08-26.
  5. "Prince Hisahito turns 3+". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-13. สืบค้นเมื่อ 2012-03-09.
  6. Yoshida, Reiji (27 March 2007). "Life in the Cloudy Imperial Fishbowl". The Japan Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 October 2007. สืบค้นเมื่อ 2 June 2017.
  7. Kōichirō, Takahashi (25 July 2014). "The Future of Japan's Dwindling Imperial Family". สืบค้นเมื่อ 26 July 2014.
  8. "Prince Hisahito to enter Ochanomizu University Elementary School". The Japan Times. 15 December 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 December 2012. สืบค้นเมื่อ 2 June 2017.
  9. "Prince Hisahito, third in line to Imperial throne, turns 8". The Japan Times. 6 September 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 November 2014. สืบค้นเมื่อ 13 May 2015.
  10. "Prince Hisahito tells junior high school entrance ceremony of new students' hopes to broaden perspectives". The Japan Times. 8 April 2019. สืบค้นเมื่อ 9 April 2019.
  11. "School intruder wanted to stab Japanese prince, say police". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). 2019-05-08. สืบค้นเมื่อ 2019-05-10.
  12. "Japan's Prince Hisahito receives kids' nonfiction lit award for travel account". The Mainichi. 13 March 2021. สืบค้นเมื่อ 30 October 2021.
  13. "Japan's Crown Prince Akishino and family meet Bhutan's king". The Japan Times. 20 August 2019. สืบค้นเมื่อ 25 October 2019.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า เจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะ ถัดไป
เจ้าชายฟูมิฮิโตะ อากิชิโนะโนะมิยะ ลำดับการสืบราชบัลลังก์ญี่ปุ่น
(ลำดับที่ 2)

เจ้าชายมาซาฮิโตะ ฮิตาจิโนะมิยะ
เจ้าชายฟูมิฮิโตะ อากิชิโนะโนะมิยะ ลำดับโปเจียมแห่งญี่ปุ่น
(ฝ่ายหน้า ลำดับที่ 4)

เจ้าชายมาซาฮิโตะ ฮิตาจิโนะมิยะ