เจ้าหญิงไอโกะ โทชิโนะมิยะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าหญิงไอโกะ
โทชิโนะมิยะ
เจ้าหญิงไอโกะ เมื่อ พ.ศ. 2564
ประสูติ1 ธันวาคม พ.ศ. 2544 (22 ปี)
โรงพยาบาลสำนักพระราชวัง โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ราชวงศ์ญี่ปุ่น
พระบิดาจักรพรรดินารูฮิโตะ
พระมารดาจักรพรรดินีมาซาโกะ

เจ้าหญิงไอโกะ โทชิโนะมิยะ (ญี่ปุ่น: 敬宮愛子内親王โรมาจิToshi-no-miya Aiko Naishinnō; ประสูติ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2544) เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ กับสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ และเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ กับสมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ[1]

พระประวัติ[แก้]

เจ้าหญิงไอโกะประสูติเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2544 ณ โรงพยาบาลสำนักพระราชวัง เวลา 14:43 น. ตามเวลาท้องถิ่น เป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ กับสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ ขณะทั้งสองยังดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารและมกุฎราชกุมารี ตามลำดับ[2][3] เมื่อแรกประสูติมีความยาวพระวรกาย 49.6 เซนติเมตร และน้ำหนัก 3,103 กรัม และประสูติกาลขณะที่พระชนกมีพระชนมายุ 41 ปี และพระชนนีมีพระชนมายุ 37 ปี เบน ฮิลส์ (Ben Hills) นักข่าว ผู้เขียนหนังสือ เจ้าหญิงมาซาโกะ : นักโทษแห่งบัลลังก์เบญจมาศ (Princess Masako: Prisoner of the Chrysanthemum Throne) ระบุว่าจักรพรรดินีมาซาโกะทรงพระครรภ์เจ้าหญิงไอโกะด้วยการปฏิสนธินอกร่างกาย[4]

พระชนกและพระชนนีทรงตั้งพระนามพระธิดาด้วยพระองค์เอง (ปรกติจะได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระจักรพรรดิ) โดยนำมาจากคำสอนของเม่งจื๊อ นักปรัชญาชาวจีน ความว่า

"ผู้ที่ให้ความรักก็จะได้ความรักตอบ ผู้ที่ให้ความเคารพก็จะได้ความเคารพตอบ" (人者人恆之,人者人恆之。)

พระนาม "ไอโกะ" (愛子) ประกอบด้วยตัวคันจิสองตัวคือ "ความรัก" () กับ "เด็ก" () รวมกันมีความหมายว่า "บุคคลอันเป็นที่รัก"[5] ส่วนพระอิสริยยศและราชทินนาม "โทชิโนะมิยะ" (敬宮 toshi-no-miya) มีความหมายว่า "บุคคลผู้ควรแก่การเคารพ"[5]

พระองค์เข้ารับการศึกษาระดับปฐมวัย ณ โรงเรียนกากูชูอิง เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2549[6] จึงจบการศึกษาระดับปฐมวัยเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2551[7] ทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษา ณ สถานศึกษาเดิมในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 แล้วเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2557[8] ระดับมัธยมศึกษาตอนมัธยมศึกษาตอนปลายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560[2][9]

พ.ศ. 2561 เจ้าหญิงไอโกะทรงเข้าเรียนภาคฤดูร้อนของวิทยาลัยอีตัน สหราชอาณาจักร[10] หลังเสด็จกลับญี่ปุ่น พระองค์เปี่ยมไปด้วยความมั่นพระทัยยิ่ง ทรงรับเป็นโฆษกของคณะเต้นรำในโรงเรียน แหล่งข่าวแห่งหนึ่งที่อ้างว่าสนิทสนมกับพระราชวังระบุว่าเจ้าหญิงไอโกะทรงให้กำลังใจพระชนนี ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นจักรพรรดินี[11] เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ทรงศึกษาต่อด้านภาษาญี่ปุ่นและวรรณคดี มหาวิทยาลัยกากูชูอิง[12]

ชีวิตส่วนพระองค์[แก้]

ครอบครัวของจักรพรรดินารูฮิโตะและสุนัขทรงเลี้ยง

ขณะเจ้าหญิงไอโกะมีพระชันษา 8 ปี ทรงสนพระทัยด้านการทรงพระอักษรตัวคันจิ, อักษรวิจิตร, การกระโดดเชือก, ทรงเปียโน, ทรงไวโอลิน และการเขียนกวีนิพนธ์[13]

ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 เจ้าหญิงไอโกะทรงประทับอยู่ในวังไม่ยอมเสด็จไปโรงเรียน เพราะถูกกลั่นแกล้ง (bully) จากพระสหายร่วมชั้น[14][15] ต่อมาเจ้าหญิงไอโกะจึงเสด็จไปโรงเรียนในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 อย่างมีข้อจำกัด เจ้าหน้าที่ประจำพระราชวังอธิบายว่าได้มีการจำกัดจำนวนพระสหายร่วมชั้นของเจ้าหญิง เจ้าหญิงไอโกะจะเสด็จไปโรงเรียนพร้อมกับจักรพรรดินีมาซาโกะพระชนนีตามคำแนะนำของแพทย์ประจำพระราชสำนักมกุฎราชกุมาร[16][17]

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เจ้าหญิงไอโกะประชวรจากอาการพระปับผาสะอักเสบ[18] และช่วงปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 ทรงขาดเรียนเนื่องทรงอ่อนเพลียจากทรงพระอักษรเตรียมสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย[2]

พระกรณียกิจ[แก้]

วันที่ 5 เมษายน 2559 เจ้าหญิงไอโกะทรงเยี่ยมชมนิทรรศการพิเศษครบรอบ 150 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตญี่ปุ่น-อิตาลี ณ พิพิธภัณฑ์โตเกียว[19]

ขณะพระชันษา 16 ปี เจ้าหญิงไอโกะปรากฏพระองค์พร้อมกับพระชนกและชนนีท่ามกลางสาธารณชน[20][21] ทั้งนี้พระองค์ไม่สามารถร่วมพระราชพิธีใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระชนกนาถเลย เพราะเยาว์ชันษา[22] ตามกฎมนเทียรบาลข้อที่ 22 พระองค์จะบรรลุนิติภาวะเมื่อพระชันษา 20 ปีบริบูรณ์ใน พ.ศ. 2564[23]

ครั้นวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2564 หลังเจ้าหญิงไอโกะมีพระชันษาครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนมงกุฎ ชั้นที่ 1 โดยจากนี้พระองค์สามารถร่วมพระราชพิธีและประกอบพระกรณียกิจของพระราชวงศ์ได้[24] โดยร่วมประกอบพระกรณียกิจในฐานะพระราชวงศ์ครั้งแรก ในงานเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2565[25] และออกมาตรัสต่อสาธารณชนครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 มีนาคมปีเดียวกัน[26] ต่อมาในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เจ้าหญิงไอโกะเสด็จออกจากพระตำหนักครั้งแรกเพื่อทอดพระเนตรการแสดงมโหรีกางากุ ซึ่งเป็นออร์เคสตราอย่างราชสำนักญี่ปุ่น จัดขึ้นโดยสำนักพระราชวังญี่ปุ่น โดยเจ้าหญิงคาโกะแห่งอากิชิโนะโดยเสด็จด้วย[27] และวันที่ 24 พฤศจิกายนปีเดียวกัน เจ้าหญิงไอโกะตามเสด็จสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี ทอดพระเนตรนิทรรศการซึ่งจัดขึ้นในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโตเกียว[28]

การสืบราชบัลลังก์[แก้]

เจ้าหญิงไอโกะ (กลาง) และสมาชิกพระราชวงศ์ญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2556
เจ้าหญิงไอโกะ (ขวา) และพระชนกและพระชนนีในปี พ.ศ. 2559

หลังการประกาศใช้กฎมนเทียรบาลญี่ปุ่น พ.ศ. 2490 มีการลดจำนวนพระราชวงศ์ญี่ปุ่นเป็นอันมาก เหลือเพียงเจ้านายที่สืบสันดานจากจักรพรรดิไทโชสามารถเสวยราชย์ได้[29] แต่มิอนุญาตให้เจ้านายฝ่ายในเสวยราชสมบัติ ถ้าหากมีการแก้กฎมนเทียรบาล เจ้าหญิงไอโกะจะเป็นองค์รัชทายาทอันดับที่ 2 ของญี่ปุ่น ซึ่งมีการหยิบยกถึงเรื่องนี้หลายครั้ง[3][30]

ข้อถกเถียง[แก้]

การประสูติการของเจ้าหญิงไอโกะ ทำให้เกิดวิกฤตการสืบราชสมบัติของญี่ปุ่นเนื่องจากไม่มีเจ้านายรุ่นใหม่ที่เป็นเพศชาย ฝ่ายหน้าที่ยังทรงพระชนม์ล้วนมีพระชันษาสูง ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในญี่ปุ่นว่าควรแก่กาลแล้วที่จะแก้ไขกฎมนเทียรบาล ซึ่งกฎมนเทียรบาลเมื่อ พ.ศ. 2490 ระบุไว้ว่า "ผู้สืบราชสมบัติจะต้องเป็นบุตรคนโตเพศชายเท่านั้น (Agnatic primogeniture)" เปลี่ยนเป็น "ผู้สืบราชสมบัติจะเป็นบุตรคนโตไม่ว่าเป็นหญิงหรือชายก็ได้ (Absolute primogeniture)" และญี่ปุ่นมีประวัติการสืบราชสมบัติของจักรพรรดินีถึงแปดพระองค์ โดยได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกพระราชวงศ์ที่มีเชื้อเจ้าทางฝ่ายบิดา นักวิชาการบางส่วนอธิบายว่าการครองราชย์ของจักรพรรดินีเป็นการครองประเทศเพียงชั่วคราวเท่านั้น[30] แต่การสืบราชสมบัติผ่านทางฝ่ายมารดาเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21[29] คือจักรพรรดินีเก็มเม และสืบราชสมบัติโดยพระราชธิดาคือจักรพรรดินีเก็นโช[31]

วันที 25 ตุลาคม พ.ศ. 2548 รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีการเสนอให้สิทธิแก่บุตรคนโตไม่ว่าเพศหญิงหรือชายสำหรับการสืบราชสมบัติ วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2549 จุนอิชิโร โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์ประจำปีเพื่อแก้ไขข้อถกเถียงดังกล่าว โคอิซูมิได้ให้คำสัญญาที่จะเสนอร่างกฎหมายแก่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้เจ้านายที่เป็นสตรีขึ้นครองราชสมบัติได้ รวมทั้งมิได้กำหนดเวลาในการออกกฎหมาย และมิได้ให้รายละเอียดของเนื้อหาแต่อย่างใด

การประสูติกาลของฝ่ายหน้า[แก้]

ข้อเสนอที่จะอนุญาตให้สตรีครองราชสมบัติถูกเลื่อนออกไป หลังสำนักพระราชวังประกาศว่าเจ้าหญิงคิโกะ พระชายาในเจ้าชายฟูมิฮิโตะ อากิชิโนะโนะมิยะ พระอนุชาในมกุฎราชกุมาร ทรงพระครรภ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ภายหลังจึงได้ประสูติกาลเจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นรัชทายาทลำดับที่สามและเป็นเจ้านายฝ่ายหน้าพระองค์ล่าสุดในรอบ 41 ปีของญี่ปุ่น[30][32]

วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2550 ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้นได้ประกาศยกเลิกข้อเสนอที่จะแก้กฎมนเทียรบาล จึงคาดว่าคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อให้เจ้าหญิงไอโกะสืบราชสมบัติ[30]

พระเกียรติยศ[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
เจ้าหญิงไอโกะ​ โทชิโนะมิยะ
ธงประจำพระอิสริยยศ
การทูลเด็งกะ/เท็งกะ (殿下)

พระอิสริยยศ[แก้]

เจ้าหญิงไอโกะ มีฐานันดรศักดิ์ที่ อิมพีเรียลไฮนิส[33] และมีพระราชทินนามว่า โทชิโนะมิยะ (敬宮)[33]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Maygar, James; Ujikane, Keiko (July 13, 2016). "Japan Emperor, Symbol of National Unity, Said to Seek Abdication". Bloomberg News. สืบค้นเมื่อ 2 February 2017.
  2. 2.0 2.1 2.2 "เจ้าหญิงไอโกะทรงฉายรูปกับแมวน้อย โอกาสวันคล้ายวันประสูติครบ 15 ปี". ข่าวสดออนไลน์. 1 ธันวาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 "เจ้าชายนารุฮิโตะ ว่าที่จักรพรรดิองค์ใหม่ของญี่ปุ่น". บีบีซีไทย. 10 มิถุนายน 2560. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "หนังสือใหม่เปรย "เจ้าหญิงมาซาโกะ" ดุจ 'นักโทษแห่งบัลลังก์เบญจมาศ'". MGR Online. 19 มกราคม 2550. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  5. 5.0 5.1 Colin Joyce (2001-12-08). "Japan's princess named 'one who loves others'". The Daily Telegraph, 8 December 2001. Retrieved from http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/asia/japan/1364705/Japans-princess-named-one-who-loves-others.html.
  6. Japan's Princess Aiko, 4, starts kindergarten. redOrbit. April 10, 2006. Retrieved December 2, 2009.
  7. Princess Aiko finishes kindergarten. The Japan Times. March 16, 2009. Retrieved December 1, 2009.
  8. http://www.japantimes.co.jp/news/2017/04/08/national/princess-aiko-enters-high-school/
  9. "เจ้าหญิงไอโกะเสด็จเข้าโรงเรียนมัธยมปลาย". กรุงเทพธุรกิจ. 9 เมษายน 2560. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. "Princess Aiko heads to Britain to attend course at Eton College". The Asahi Shimbun. Tokyo. July 23, 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-31. สืบค้นเมื่อ February 15, 2019.
  11. Ogata, Yudai; Nakada, Ayako (January 1, 2019). "Support from Aiko, public behind Masako's new confidence". The Asahi Shimbun. Tokyo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-31. สืบค้นเมื่อ August 24, 2019.
  12. "Princess Aiko to enter Gakushuin University in Tokyo in April". The Asahi Shimbun. Tokyo. 21 February 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-04. สืบค้นเมื่อ 26 February 2020.
  13. Princess Aiko celebrates 8th birthday เก็บถาวร 2009-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Mainichi Daily News. December 1, 2009. Retrieved December 1, 2009.
  14. "Japan princess 'bullied by boys'". BBC News. 5 March 2010.
  15. "เจ้าหญิงไอโกะ ไม่เสด็จไปรร. เพราะถูกเพื่อนแกล้ง". MGR Online. 6 มีนาคม 2553. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  16. "Princess Aiko returns to school". The Japan Times. Tokyo. 2 May 2010.
  17. ชนานันท์ (24 มกราคม 2558). "ฟ้าหลังฝนของเจ้าหญิง". แพรวดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. Demetriou, Danielle (3 November 2011). "Japan's Princess Aiko suffering from pneumonia". Daily Telegraph. London.
  19. "Japan-Italy diplomatic relations 150th anniversary special exhibition". สืบค้นเมื่อ 13 May 2016.
  20. "Princess Aiko turns 17, says she is enjoying school life". The Japan Times. Tokyo. December 1, 2018. สืบค้นเมื่อ August 24, 2019.
  21. "Princess Aiko turns 18, enjoys last year in high school". The Mainichi. Mainichi Newspapers. 1 December 2019. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-23. สืบค้นเมื่อ 1 December 2019.
  22. Nagatani, Aya (4 December 2019). "Princess Aiko turns 18 after watching rituals of her parents". The Asahi Shimbun. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-25. สืบค้นเมื่อ 4 December 2019.
  23. "Terms on enthronement, investiture of the Crown Prince and coming-of-age". สืบค้นเมื่อ 4 December 2019.
  24. "Princess Aiko goes through official coming-of-age ceremonies". Kyodo News. Tokyo, Japan. 5 December 2021. สืบค้นเมื่อ 5 December 2021.
  25. Hubbard, Lauren (6 January 2022). "Princess Aiko of Japan Attended Her First Event Since Becoming a Working Royal". Town & Country. สืบค้นเมื่อ 8 January 2022.
  26. "Princess Aiko vows to fulfill duties as adult in 1st news conference". The Mainichi. Tokyo, Japan. 17 March 2022. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-15. สืบค้นเมื่อ 17 March 2022.
  27. "Japan's Princesses Aiko, Kako attend gagaku concert". The Japan News. 6 November 2022. สืบค้นเมื่อ 6 November 2022.
  28. "Emperor visits Tokyo exhibit on national treasures". The Japan News. 25 November 2022. สืบค้นเมื่อ 25 November 2022.
  29. 29.0 29.1 "Life in the Cloudy Imperial Fishbowl," The Japan Times. 27 March 2007.
  30. 30.0 30.1 30.2 30.3 "ราชวงศ์ญี่ปุ่นเผชิญภาวะหดตัว เสี่ยงไร้รัชทายาทสำรองในอนาคต". บีบีซีไทย. 20 พฤษภาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  31. Ponsonby-Fane, Richard. (1959). The Imperial House of Japan, p. 56.
  32. ""เจ้าชายฮิซาฮิโตะ" รัชทายาทลำดับที่ 3 แห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น ทรงฉลองวัยครบ 10 ปี". มติชนออนไลน์. 6 กันยายน 2559. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  33. 33.0 33.1 "Their Majesties the Emperor and Empress". The Imperial Household Agency. สืบค้นเมื่อ 22 April 2021.
  34. "Princess Aiko attends her coming-of-age events". NHK. 5 December 2021. สืบค้นเมื่อ 5 December 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]