ข้ามไปเนื้อหา

พระอนุรุทธเถระ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เจ้าชายอนุรุทธะ)
พระอนุรุทธเถระ
ข้อมูลทั่วไป
พระนามเดิมอนุรุทธกุมาร, เจ้าชายอนรุทธะ, อนุรุทธศากยะ
สถานที่ประสูติกรุงกบิลพัสดุ์
สถานที่บวชอนุปิยนิคม
วิธีบวชเอหิภิกขุอุปสัมปทา
เอตทัคคะผู้เลิศในทิพยจักขุญาณ (ตาทิพย์)
ฐานะเดิม
ชาวเมืองเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
พระราชบิดาอมิโตทนะ
วรรณะเดิมกษัตริย์
ราชวงศ์ศากยราชวงศ์
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระอนุรุทธเถระ เป็นพระภิกษุสาวกเอตทัคคะของพระพุทธเจ้า นับเนื่องในพระอสีติมหาสาวก 80 องค์สำคัญในพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล พระอนุรุทธเถระ เป็นพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้า โดยท่านเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ

พระอนุรุทธเถระ ออกผนวชพร้อมกับเจ้าราชกุมารอีก 5 พระองค์ และนายอุบาลีภูษามาลา ณ อนุปิยนิคม เมื่อท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านมักตรวจดูสัตวโลกด้วยทิพยจักษุอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าจึงยกย่องท่านให้เป็นพระเอตทัคคะผู้เลิศทางทิพยจักษุญาณ (ตาทิพย์)

ชาติภูมิ

[แก้]

พระอนุรุทธเถระ เป็นพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้า โดยท่านเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ เจ้าชายอนุรุทธะมีพระภาดาพระภคินีร่วมมารดาเดียวกันอีก 2 พระองค์คือ พระเชษฐาพระนามว่ามหานามะ และพระกนิษฐภคินีพระนามว่าโรหิณี

สาเหตุที่ออกบวช

[แก้]

เจ้าชายอนุรุทธกุมาร เมื่อยังเป็นฆราวาส ดำรงพระสถานะเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์ผู้สุขุมาลชาติ มีปราสาท 3 หลัง แม้แต่คำว่าไม่มีก็ไม่เคยรู้จัก เมื่อเหล่าศากยราชกุมารพระองค์อื่นออกผนวชติดตามพระพุทธเจ้า เจ้ามหานามะผู้เป็นพระเชษฐาจึงปรารภเรื่องออกบวชกับท่านอนุรุทธะว่าควรตัดสินใจเลือกคนในตระกูลสักคนออกบวชบ้าง แต่ท่านอนุรุทธะปฏิเสธว่าตนคงออกบวชไม่ได้เพราะเคยได้รับความสุขอยู่ไม่อาจจะบวชอยู่ได้ เจ้ามหานามะจึงรับอาสาบวช โดยได้สั่งสอนการทำนาข้าวโดยละเอียดตั้งแต่ไถจนถึงเก็บเกี่ยว เวียนไปทุกฤดูกาลทุกปี ๆ ไป แก่ท่านอนุรุทธะ ท่านอนุรุทธะฟังแล้วคิดว่า การงานไม่มีที่สิ้นสุด จึงบอกว่าตนจะอาสาบวชเอง

จากนั้นท่านได้ไปขออนุญาตพระมารดา พระมารดาคงไม่ประสงค์ให้ท่านบวชจึงกล่าวท้าทายว่าถ้าหากชวนพระเจ้าแผ่นดินศากยะออกบวชได้ จึงจะอนุญาตให้บวช ท่านจึงไปรบเร้าและชวนพระเจ้าภัททิยะราชาให้ออกบวช ในขั้นแรกพระเจ้าภัททิยราชาปฏิเสธ จนสุดท้ายพระอนุรุทธะรบเร้าหนักเข้าและพระเจ้าภัททิยะราชาคงเห็นคุณแห่งการออกบวชจึงยอมสละราชสมบัติออกผนวชตาม

ดังนั้นเจ้าชายอนุรุทธะจึงพร้อมกับเจ้าราชกุมารทั้ง 5 คือ พระเจ้าภัททิยะศากยะราชา, เจ้าชายอานันทะ, เจ้าชายภัคคุ, เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัตต์ และนายช่างกัลบกนามว่านายอุบาลีภูษามาลาอีก 1 ท่าน รวมเป็น 7 ออกบวช ณ อนุปิยอัมพวัน ในอนุปิยนิคม แคว้นมัลละ โดยในวันผนวชนั้น เจ้าชายทั้ง 6 ได้ตกลงกันให้นายอุบาลีผู้เป็นช่างภูษามาลาออกบวชก่อนตน เพื่อจะได้ทำความเคารพเป็นการลดทิฐิและมานะแห่งความเป็นเชื้อสายกษัตริย์ ของตนลง โดยทั้งหมดได้อุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทาโดยตรงจากพระพุทธเจ้า

เมื่อพระอนุรุทธะออกบวชแล้ว ได้ไปเรียนกัมมัฏฐานกับพระสารีบุตร แล้วเข้าไปปฏิบัติพระกรรมฐานในป่าปาจีนวังสมฤคทายวัน ได้ตรึกถึงมหาปุริสวิตก 7 ประการ ว่าเป็นธรรมะของผู้ปรารถนาน้อย ยินดีด้วยสันโดษ ไม่ใช่ธรรมของผู้มักมาก เป็นอาทิ พระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงทรงทราบความนั้นจึงตรัสแสดงมหาปุริสวิตกข้อที่ 8 ว่าเป็นธรรมของผู้ไม่เนิ่นช้า พระอนุรุทธะเจริญสมณธรรมต่อไปก็ได้บรรลุอรหันต์

เมื่อท่านบรรลุสมณธรรมแล้ว ท่านชอบตรวจดูสัตวโลกด้วยทิพยจักษุอยู่เสมอ ยกเว้นแต่เวลาฉันภัตตาหารเท่านั้น ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงยกย่องท่านว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้าน ผู้มีทิพยจักษุญาณ

บุพกรรมในอดีตชาติ

[แก้]

ท่านพระอนุรุทธเถระ ก็ได้กระทำบุญญาธิการไว้ ในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนทั้งหลาย ก่อสร้างบุญทั้งหลาย อันเป็นอุปนิสัยแก่พระนิพพาน ไว้ในภพนั้น ๆ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ อันสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ พอเจริญวัยแล้ว วันหนึ่งไปวิหารฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา เห็นพระภิกษุรูปหนึ่ง ที่พระศาสดาทรงแต่งตั้งไว้ ในตำแหน่งเลิศแห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้มีจักษุทิพย์ แม้ตนเองก็ปรารถนาตำแหน่งนั้น จึงให้มหาทานให้เป็นไป 7 วัน แด่พระผู้มีพระภาค ซึ่งมีภิกษุบริวารแสนหนึ่ง ในวันที่ 7 ได้ถวายผ้าชั้นสูงสุด แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ แล้วได้ทำความปรารถนาไว้

ฝ่ายพระศาสดา ก็ได้ทรงเห็นความสำเร็จของเขา โดยไม่มีอันตราย จึงพยากรณ์ว่า จักเป็นผู้เลิศ แห่งผู้มีทิพยจักษุทั้งหลาย ในศาสนาของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอนาคตกาล เขาเองก็กระทำบุญทั้งหลาย ในพระศาสนานั้น เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ได้ทำการบูชาด้วยประทีปอันโอฬาร ที่สถูปทองขนาด 7 โยชน์ และประทีปกระเบื้อง กับถาดสำริดเป็นอันมาก ด้วยอธิษฐานว่า จงเป็นอุปนิสัย แก่ทิพยจักษุญาณ เขาทำบุญทั้งหลายอยู่ตลอดชีวิต ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก

ในกาลแห่งพระพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ เมื่อพระศาสดาปรินิพพาน เมื่อสถูปทองขนาด 1 โยชน์สำเร็จแล้ว จึงเอาถาดสำริดจำนวนมาก มาบรรจุให้เต็มด้วยเนยใส อันใสแจ๋ว และให้วางก้อนน้ำอ้อยงบ ก้อนหนึ่ง ๆ ไว้ตรงกลาง ให้ขอบปากจรดกัน แล้วให้ตั้งล้อมพระเจดีย์ ให้เอาถาดสำริด ที่ตนถือบรรจุด้วยเนยใส อันใสแจ๋วให้เต็ม จุดไฟพันไส้ แล้ววางไว้บนศีรษะ เดินเวียนพระเจดีย์อยู่ตลอดคืน ได้กระทำกุศล จนตลอดชีวิต แล้วบังเกิดในเทวโลก ดำรงอยู่ในเทวโลกตลอดชั่วอายุ

บั้นปลายชีวิต

[แก้]

พระอนุรุทธเถระ ดำรงชนมายุมาถึงหลังพุทธปรินิพพาน ในวันที่พระบรมศาสดา นิพพานนั้น ท่านก็ร่วมอยู่เฝ้าแวดล้อม ณ สาลวโนทยานนั้นด้วย และท่านยังได้ร่วมทำกิจพระ ศาสนาครั้งสำคัญ ในการทำปฐมสังคายนากัลป์คณะสงฆ์โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน พระอุบาลีเถระวิสัชนาพระวินัย และพระอานนท์เถระวิสัชนาพระสูตร ท่านพระอนุรุทธเถระ ดำรงอายุสังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธ์ เข้าสู่ นิพพาน ณ ภายใต้ร่มกอไผ่ ในหมู่บ้านเวฬุวะ แคว้นวัชชี

อ้างอิง

[แก้]
  1. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. (2525). ธรรมวิภาคปริเฉทที่ 2. พิมพ์ครั้งที่ 23. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  1. เว็บไซต์ 84000
  2. เว็บไชต ธรรมะ เกตเวย์ เก็บถาวร 2009-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน