ข้ามไปเนื้อหา

ต่างโลก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อิเซไก)

ต่างโลก หรือ อิเซไก (ญี่ปุ่น: 異世界โรมาจิIsekai) เป็นประเภทของไลท์โนเวล, มังงะ, อนิเมะ และวิดีโอเกม ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของมนุษย์ธรรมดาจากโลกถูกโยกย้าย, ถูกส่ง, ไปเกิดใหม่, หรืออาจจะติดอยู่ในจักรวาลคู่ขนาน, โลกจินตนิมิต หรือโลกเสมือน ที่ซึ่งพวกเขาต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกใหม่ รวมไปถึงกฎเกณฑ์, วัฒนธรรม และปรัชญาใหม่ การนำบุคคลจาก "โลกจริง" ย้ายไปยังโลกจินตนิมิตด้วยวิธีการบางอย่างทำให้ผู้อ่านหรือผู้ชมได้รับรู้เกี่ยวกับโลกใหม่ในเวลาเดียวกันกับตัวละครเอก เป็นแนวคิดที่เป็นที่นิยมสำหรับนักเขียนมังงะและไลท์โนเวล

บ่อยครั้งที่จักรวาลคู่ขนานนี้มีอยู่ในโลกเดิมของตัวละครเอกในฐานะจักรวาลสมมติ แต่ก็อาจเป็นจักรวาลที่ไม่รู้จักมาก่อนก็ได้ จักรวาลใหม่อาจเป็นโลกที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง โดยมีเพียงตัวละครเอกที่มีความทรงจำบางส่วนจากชาติก่อนหน้า เช่นในเรื่องบันทึกสงครามของยัยเผด็จการ หรืออาจจะเป็นโลกเสมือนที่กลายเป็นโลกความเป็นจริง เช่นในเรื่อง ล็อกฮอไรซอน , โอเวอร์ลอร์ด , รีซีโร่(Re:Zero)

ในแนว ต่างโลกด้านกลับ ตัวละครในโลกแฟนตาซีจะถูกส่งจากโลกเดิม และ/หรือถูกบังคับให้ปรับตัวให้เข้ากับสังคมยุคใหม่ เช่นในเรื่อง ผู้กล้าซึนซ่าส์กับจอมมารสู้ชีวิต!

ลักษณะจำเพาะ

[แก้]

แนวต่างโลกมักจะเป็นเรื่องราวของการบรรลุความปรารถนา ด้วยบุคคลที่ถูกส่งไปต่างโลกมักเป็น NEET, ฮิกิโกะโมะริ, หรือเกมเมอร์ (เช่นในเรื่อง โนเกม โนไลฟ์) ในโลกแฟนตาซีแห่งใหม่ ตัวละครจะสามารถประสบความสำเร็จโดยใช้ความรู้ประเภทที่ไม่มีความสำคัญในชีวิตจริง หรือทักษะการเล่นเกมโดยใช้เกมอินเตอร์เฟซที่มีเพียงตัวละครนั้น ๆ ที่สามารถเข้าถึง[1][2] พลังของตัวละครมีตั้งแต่ความสามารถทางเวทมนตร์ที่ยิ่งใหญ่เหนือใคร เช่นในเรื่อง ไปต่างโลก! ก็ต้องไปกับสมาร์ทโฟนสิ!!![1] ไปจนถึงพลังที่ค่อนข้างอ่อนแอ เช่นในเรื่อง Re:Zero - รีเซทชีวิต ฝ่าวิกฤตต่างโลก ซึ่งตัวละครเอกไม่ได้รับพลังพิเศษใด ๆ นอกเหนือจากความสามารถที่จะรอดจากความตายในรูปของลูปเวลา[3]

ตัวละครเอกในเรื่องแนวต่างโลกมักเป็น "ผู้กล้าที่ถูกเลือก" แต่ก็มีบางเรื่องที่แตกต่างออกไป เช่นเรื่อง Drifters สงครามผ่ามิติ ซึ่งเหล่าคนที่เข้ามาในโลกแฟนตาซีเป็นขุนพลและนักรบในประวัติศาสตร์ซึ่งมีความโหดเหี้ยมมากกว่าผู้ที่อาศัยในต่างโลก[4] และในเรื่อง เกิดใหม่ทั้งทีก็เป็นสไลม์ไปซะแล้ว ซึ่งตัวละครเอกเริ่มต้นด้วยการเป็นสไลม์ที่มีความสามารถพิเศษเหนือมนุษย์[5] บางเรื่องให้คนมาเกิดใหม่เป็นวัตถุไม่มีชีวิตซึ่งผิดปกติจากธรรมดา เช่นเป็นอนเซ็งเวทมนตร์ [6]

ประวัติ

[แก้]

แนวคิดของแนวต่างโลกมีต้นกำเนิดมาจากวรรณกรรมญี่ปุ่นโบราณ โดยเฉพาะเรื่องของอูราชิมะ ทาโร นิทานญี่ปุ่นว่าด้วยเรื่องของชาวประมงชื่ออูราชิมะ ทาโรที่ได้ช่วยชีวิตเต่า จึงถูกพามายังอาณาจักรมหัศจรรย์ใต้ทะเล แต่เรื่องราวหลังจากนั้นกลับพลิกผัน (หลังจากอยู่ใต้ทะเลในเวลาที่อูราชิมะคิดว่าเพียงแค่ 4-5 วัน แต่เมื่อกลับมายังหมู่บ้านกลับพบว่าเวลาผ่านไป 300 ปีแล้ว) ตัวอย่างของเรื่องราวแนวนี้ในภายหลังจากวรรณกรรมอังกฤษ เช่นในนวนิยายเรื่อง อลิซท่องแดนมหัศจรรย์ (ค.ศ. 1865), A Connecticut Yankee in King Arthur's Court (ค.ศ. 1889), พ่อมดมหัศจรรย์แห่งเมืองออซ (ค.ศ. 1900), ปีเตอร์ แพน (ค.ศ. 1902) และ ตำนานแห่งนาร์เนีย (ค.ศ. 1950).[7]

หนังสือการ์ตูนและอนิเมะในช่วงแรก ๆ ที่อาจจัดเป็นแนวต่างโลก ได้แก่ Fushigi Yûgi (เปิดตัว ค.ศ. 1992) และ El-Hazard (เปิดตัว ค.ศ. 1995) ซึ่งตัวละครเอกคงรูปลักษณ์เค้าเดิมเมื่อเข้าไปยังต่างโลก[1] เรื่องอื่น ๆ ในทศวรรรษ 1990 ที่จัดเป็นแนวต่างโลกได้แก่ซีรีส์นิยายและอนิเมะ 12 อาณาจักรเทพยุทธ์ (เปิดตัว ค.ศ. 1992) และ เมจิกไนท์ เรย์เอิร์ธ (เปิดตัว ค.ศ. 1993)[8] ภาพยนตร์อนิเมะ สปิริเต็ดอะเวย์ (ค.ศ. 2002) เป็นภาพยนตร์อนิเมะแนวต่างโลกเรื่องแรกที่เป็นที่รู้จักในระดับโลก แม้คำว่า "ต่างโลก" จะยังไม่มีการใช้ทั่วไปในเวลานั้น

แฟรนไชส์ .hack (เปิดตัว ค.ศ. 2002) เป็นหนึ่งในเรื่องแรก ๆ ที่เสนอแนวคิดต่างโลกในฐานะโลกเสมือน โดยมีเรื่อง ซอร์ดอาร์ตออนไลน์ (เปิดตัว ค.ศ. 2002 เช่นกัน) เจริญรอยตามมา[9] ซีรีส์นิยายและอนิเมะแนวต่างโลกที่มีชื่อเสียงในทศวรรษ 2000 คือเรื่อง อสูรรับใช้ของยาย 0 สนิท ซึ่งตัวละครเอกชายชื่อไซโตะจากญี่ปุ่นยุคปัจจุบันถูกเรียกมายังโลกแฟนตาซีโดยตัวละครเอกหญิงชื่อหลุยส์ [10]

เรื่องในภายหลังเช่น ไนท์ & แมจิก (เปิดตัว ค.ศ. 2010) และ บันทึกสงครามของยัยเผด็จการ (เปิดตัว ค.ศ. 2013) เสนอเรื่องราวที่ตัวละครเอกตายแล้วไปเกิดใหม่ในต่างโลก[1][11]

ในที่สุดเรื่องแนวต่างโลกก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในปี ค.ศ. 2016 การประกวดเรื่องสั้นของญี่ปุ่นห้ามเรื่องแนวต่างโลกเข้าร่วมประกวด[12] สำนักพิมพ์คาโดกาวะห้ามเรื่องแนวต่างโลกเข้าร่วมประกวดเช่นกันในการประกวดนิยายรูปแบบอนิเมะ/มังงะในปี ค.ศ. 2017[13]

ซีรีส์ต่างโลก

[แก้]

ในปี ค.ศ. 2017 Geode ได้จัดทำแบบสำรวจในญี่ปุ่นสอบถามชื่อของอนิเมะแนวต่างโลกคนที่ชื่นชอบ สิบอันดับแรกได้แก่ สปิริเต็ดอะเวย์, Pop in Q, ซอร์ดอาร์ตออนไลน์, เมจิกไนท์ เรย์เอิร์ธ, Re:Zero - รีเซทชีวิต ฝ่าวิกฤตต่างโลก, 12 อาณาจักรเทพยุทธ์, ขอให้โชคดีมีชัยในโลกแฟนตาซี!, เวิลด์ ทริกเกอร์, ผมน่ะหรือคือราชาปีศาจ! และ เกท: หน่วยรบตะลุยโลกต่างมิติ[8]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "Hacking the Isekai: Make Your Parallel World Work for You" (ภาษาอังกฤษ). Crunchyroll. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-20. สืบค้นเมื่อ 2018-03-20.
  2. "Here's What Would Really Happen If You Were Sent Into a Fantasy World". Anime (ภาษาอังกฤษ). Comicbook.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-20. สืบค้นเมื่อ 2018-03-20.
  3. "'Re:ZERO – Starting Life In Another World – Death Or Kiss' Official Trailer For Visual Novel Released: Upcoming PS4 And PS Vita Game's Screenshots Revealed". The Inquisitr (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2016-12-28. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-20. สืบค้นเมื่อ 2018-03-20.
  4. "FEATURE: Head Space - "Drifters" - An Isekai Gone Wrong". Crunchyroll (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-20. สืบค้นเมื่อ 2018-03-20.
  5. "'Tensei Shitara Slime Datta Ken' Anime In 2018 Based On 'That Time I Got Reincarnated As A Slime' Manga-Novel". The Inquisitr (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2018-03-07. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-20. สืบค้นเมื่อ 2018-03-20.
  6. "Japanese novel stars boy reincarnated as hot spring that beautiful women want to get inside of". SoraNews24 (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2017-02-06. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-21. สืบค้นเมื่อ 2018-03-21.
  7. "Why Are There So Many Parallel World Anime?". Anime News Network. January 31, 2017. สืบค้นเมื่อ February 9, 2019.
  8. 8.0 8.1 Amaam, Baam (18 April 2018). "The 15 Greatest Isekai Anime as Ranked by Japan". GoBoiano. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-20. สืบค้นเมื่อ 10 February 2019.
  9. Kamen, Matt (2017-10-02). "Anime: the 10 must-watch films and TV shows for video game lovers". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-20. สืบค้นเมื่อ 2018-03-20.
  10. "10 Anime Like Is It Wrong to Try to Pick Up Girls in a Dungeon?". MANGA.TOKYO. 12 May 2018.
  11. "Knight's & Magic| MANGA.TOKYO". MANGA.TOKYO (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-16. สืบค้นเมื่อ 2018-07-23.
  12. "Short Story Contest Bans 'Traveling to an Alternate World' Fantasy". Anime News Network (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-20. สืบค้นเมื่อ 2018-03-20.
  13. "Anime-style novel contest in Japan bans alternate reality stories and teen protagonists". SoraNews24 (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2017-05-22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-21. สืบค้นเมื่อ 2018-03-21.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]