มังงะแนวทำอาหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มังงะแนวทำอาหาร หรือ เรียวริมังงะ (ญี่ปุ่น: 料理漫画โรมาจิryōri manga) หรือ กูร์เมต์มังงะ (ญี่ปุ่น: グルメ漫画โรมาจิgurume manga) เป็นแนวของมังงะและอนิเมะญี่ปุ่นที่มีองค์ประกอบหลักของเนื้อเรื่องเป็นเรื่องของอาหาร การทำอาหาร การกิน หรือการดื่ม มังงะแนวนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงต้นทศวรรษ 1980 อันเป็นผลมาจาก "กูร์เมต์บูม" ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฟองสบู่ของญี่ปุ่น

ลักษณะเฉพาะ[แก้]

ในหนังสือ มังงะ! มังงะ! เดอะเวิร์ลออฟเจเปนนิสคอมิกส์ (Manga! Manga! The World of Japanese Comics) ที่เขียนโดย Frederik L. Schodt จัดหมวดหมู่มังงะแนวทำอาหารเป็นประเภทหนึ่งของ "มังงะอาชีพ" ซึ่งเป็นหมวดหมู่หลวม ๆ ที่กำหนดโดยเรื่องราวเกี่ยวกับกิจกรรมและอาชีพที่เน้น "ความอุตสาหะในการเผชิญกับโอกาสที่เป็นไปได้ยาก งานฝีมือ และการแสวงหาความเป็นเลิศ" และตัวเอกของเรื่อง มักเป็น "ชายหนุ่มที่มีภูมิหลังอันด้อยโอกาสผู้เข้าสู่สายอาชีพและกลายเป็น 'ผู้ที่เก่งที่สุดในญี่ปุ่น'"[1] มังงะแนวทำอาหารในแต่ละตอนมักจะเน้นไปที่อาหารจานใดจานหนึ่งโดยเฉพาะ และขั้นตอนที่เกี่ยวข้องในการปรุงอาหารนั้น ๆ ในขณะที่เรื่องราวยังคงรวมเอาองค์ประกอบการเล่าเรื่องมาตรฐาน เช่น โครงเรื่องและพัฒนาการของตัวละคร มักเน้นความสำคัญไปที่เทคนิคของการทำอาหารและการรับประทานอาหาร[2] เรื่องราวในมังงะแนวทำอาหารมักจะมีคำอธิบายโดยละเอียดหรือภาพประกอบที่เหมือนจริงของอาหาร[3] มักจะมีสูตรอาหารรวมอยู่ด้วย[4]

มังงะแนวทำอาหารเป็นหมวดหมู่ที่ผสมผสานกับมังงะแนวอื่นหลายแนว[4] โดยมีเรื่องราวมังงะแนวทำอาหารที่เน้นเรื่องราวแนววีรคติ อาชญนิยาย รหัสคดี และแนวอื่น ๆ อีกจำนวนมากเท่าที่มีการผลิตมา[5] อายุและเพศของตัวละครเอกเอกของมังงะแนวทำอาหารมักจะบ่งบอกถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยทั้งชายและหญิงจะเป็นกลุ่มผู้ชมสำหรับประเภทดังกล่าว[6] ในขณะที่การเตรียมอาหารที่บ้านถูกเหมารวมว่าเป็นงานของผู้หญิงในญี่ปุ่นเช่นเดียวกับโลกตะวันตก การทำอาหารอย่างมืออาชีพและผู้ชำนาญการก็มักถูกมองว่าเป็นกิจกรรมของผู้ชาย[7] มังงแนวทำอาหารนั้นรวมเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารโลกที่หลากหลาย และไม่จำกัดเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่นเท่านั้น[8]

ประวัติ[แก้]

ในขณะที่มังงะมีการอ้างอิงถึงอาหารและการทำอาหารมาเป็นเวลานาน[9] มังงะแนวทำอาหารยังไม่ปรากฏเป็นประเภทแยกจนกระทั่งทศวรรษ 1970 มังงะสามเรื่องที่ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกของมังงะแนวทำอาหารสมัยใหม่ ได้แก่ ทตสึเงกิ ราเม็ง (นิตยสารโชเน็งจัมป์รายสัปดาห์, พ.ศ. 2513) โดยมิกิยะ โมจิซูกิ, เค้ก เค้ก เค้ก (นิตยสารนากาโยชิ, พ.ศ. 2513) โดยโมโตะ ฮางิโอะและอายะ อิจิโนกิ และ คิตเชน เคนโป (สำนักพิมพ์ชิมบุงอากาฮาตะ, ค.ศ. 2513) โดยมิเอโกะ คาเม ความสนใจในมังงะเกี่ยวกับการทำอาหารที่เพิ่มขึ้นนั้นเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของรายได้เฉลี่ยของครอบครัวในทศวรรษ 1970 และความสามารถของครอบครัวชาวญี่ปุ่นทั่วไปในการรับประทานอาหารนอกบ้าน[10]

ซีรีส์มังงะเรื่องโฮโจนิง อาจิเฮ [ja] โดยจิโร กีว และ โจ บิก[6] ตีพิมพ์ในนิตยสาร โชเน็งจัมป์รายสัปดาห์ตั้งแต่ พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2520 ขึ้นชื่อว่าเป็นการ์ตูนแนวทำอาหารเรื่องแรก ๆ โฮโจนิง อาจิเฮได้สร้างลักษณะเฉพาะหลายอย่างที่ยังคงปรากฏอยู่ในมังงะแนวทำอาหารในปัจจุบัน เช่นปฏิกิริยาที่เกินจริงของผู้ที่รับประทานอาหารเพื่อถ่ายทอดความอร่อยให้กับผู้อ่านที่อาจไม่เคยลิ้มรสส่วนผสมในภาพ และการประลองปรุงอาหารที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอธิบายรสชาติให้กับผู้อ่าน

มังงะแนวทำอาหารได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงต้นทศวรรษ 1980 อันเป็นผลจาก "กูร์เมต์บูม" ในญี่ปุ่น ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฟองสบู่ของญี่ปุ่นได้ขยายไปถึงสินค้าฟุ่มเฟือยและทำให้ความนิยมในอาหารรสเลิศและศิลปะการทำอาหารกลายเป็นความสนใจและงานอดิเรกยอดนิยม[9][11] ในช่วงเวลานี้ ซีรีส์มังงะเรื่อง โออิชินโบะ ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารมังงะ บิกคอมิกสปิริตส์ เป็นซีรีส์มังงะจำนวน 103 เล่มที่กลายเป็นมังงะทำอาหารที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดตลอดกาล[9] โออิชินโบะ มีชื่อเสียงในด้านการเปลี่ยนจุดสนใจของการ์ตูนแนวทำอาหารจากเรื่องทักษะหรืองานฝีมือของช่างฝีมือไปสู่ความฉลาดหลักแหลมของนักวิจารณ์อาหาร ตัวละครแสดงรสชาติอันเลิศผ่านการพูดคนเดียวเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของส่วนผสมหรือเทคนิคที่ใช้ในการดึงรสชาติที่ดีที่สุดออกมา นอกจากโออิชินโบะ แล้ว มังงะแนวทำอาหารอีก 2 เรื่องที่ได้รับอิทธิพลในช่วงเวลานี้คือ เดอะเชฟ (พ.ศ. 2528) โดยทาดาชิ คาโต และ คุณพ่อยอดกุ๊ก (นิตยสารมอร์นิงรายสัปดาห์, พ.ศ. 2529) โดยโทจิ อูเอยามะ

ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 มังงะแนวทำอาหารเริ่มให้ความสำคัญกับอาหารที่หาได้ง่ายหรืออาหารในชีวิตประจำวันมากขึ้น การแสดงภาพความชำนาญการของร้านอาหารที่อยู่จริงจริงกลายเป็นเรื่องทั่วไป เช่นเดียวกับการใส่สูตรอาหารในตอนท้ายของตอนของมังงะหรือตอนของอนิเมะ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ คุณพ่อยอดกุ๊ก เป็นผู้บุกเบิก หลังจากที่ โออิชินโบะ หยุดตีพิมพ์ไปในปี พ.ศ. 2557 ก็มีมังงะเกี่ยวกับอาหารและการทำอาหารที่เน้นเรื่องอาหารในวงแคบ ๆ ออกมาจำนวนมาก สาระของเรื่องมีตั้งแต่ เอกิเบ็งไปจนถึงแฮมเบอร์เกอร์และปลาไหล

จนถึงปัจจุบัน มีการผลิตมังงะแนวทำอาหารเกือบ 1,000 เรื่อง[12]

อ้างอิง[แก้]

  1. Schodt 1983, pp. 106.
  2. Alverson, Brigid (8 December 2016). "7 Mouthwatering Manga About Food". Barnes and Noble. สืบค้นเมื่อ 5 December 2019.
  3. Thompson, Jason (2012). Manga: The Complete Guide. Random House. ISBN 978-0345485908.
  4. 4.0 4.1 Butor, Cindy (30 October 2017). "Buy, Borrow, Bypass: Cooking Manga". BookRiot. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-07. สืบค้นเมื่อ 5 December 2019.
  5. Asaff, Sarabeth (10 April 2014). "Cooking Manga You'll Want to Read". Udemy. สืบค้นเมื่อ 5 December 2019.
  6. 6.0 6.1 Brau 2010, pp. 111.
  7. Brau 2010.
  8. Brau 2010, pp. 112.
  9. 9.0 9.1 9.2 Brau 2010, pp. 110.
  10. Sugimura, Kei. 50 Years of Gourmet Manga. Seikaisha Shinsho, 2017. ISBN 978-4061386181.
  11. Ashkenazi & Jacob 2003, pp. 26.
  12. Kirshner, Hannah (3 October 2018). "Japan's Father of Cooking Manga". Taste. สืบค้นเมื่อ 5 December 2019.

บรรณานุกรม[แก้]

อ่านเพิ่มเติม[แก้]