เจ้าฟ้าเสือห่มเมือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าฟ้าเสือห่มเมือง

เสือห่มเมือง
เจ้าฟ้าเสือห่มเมือง (ทิหิงเกียราชา)
กษัตริย์แห่งอาณาจักรอาหม
ครองราชย์พ.ศ. 2040-2082
รัชสมัย42 ปี
ราชาภิเษกพ.ศ. 2040
รัชกาลก่อนหน้าสุพิมฟ้า
รัชกาลถัดไปสุเคลนเมือง
สวรรคตมกราคม พ.ศ. 2081
พระราชบุตรสุเคลนเมือง
เสือแตง
เสือเลง
เสือเทิน
ไม่ปรากฏพระนาม
ราชวงศ์ราชวงศ์อาหม
พระราชบิดาสุพิมฟ้า

เจ้าฟ้าเสือห่มเมือง ผู้เป็นโอรสของสุพิมฟ้าขึ้นครองชากุยะสืบต่อมา ทรงเป็นประมุขที่กล้าหาญและขยันขันแข็ง อาณาจักรอาหมได้แผ่อาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง มีอาณานิคมอยู่ทุกทิศทาง พวกชุติยะยอมอยู่ใต้อำนาจและอยู่ใต้การควบคุมดูแลของขุนนางอาหมที่สทิยะและทิหิง ครอบครัวอาหมหลายครัวเรือนก็ได้ไปตั้งหลักแหล่งอยู่โดยรอบ การโจมตีของชาวนาคะก็ถูกปราบลงด้วยกำลังทหารที่แข็งแกร่ง อำนาจของชนชาวกะฉารีถูกลิดรอน และราชธานีทิมาปุระก็ตกเป็นของอาหมถึงสองครั้ง ขุนนางผู้หนึ่งชื่อ มารังกี โควา โกฮาอิน ได้รับแต่งตั้งให้ดูแลดินแดนตอนล่างของลุ่มน้ำทันสิริ และดินแดนส่วนใหญ่ของเนากองก็ตกเป็นของอาหม การรุกรานถึงสามครั้งของพวกโมฮัมหมัดก็ถูกปราบลงได้ สภาพสังคมของพลเมืองอาหมได้รับความดูแลเอาใจใส่ ได้แบ่งออกเป็นหมู่เป็นเหล่า ช่างก่อสร้างถูกส่งตัวมากจากชุติยะและที่อื่นๆ การใช้อาวุธปืนได้มีขึ้นเป็นครั้งแรก ศักราช "สัก" ตามแบบของฮินดูถูกนำมาใช้แทนศักราชเก่าซึ่งคำนวณวันเดือนปีตามแบบโจเวียน และในรัชกาลนี้ ความสำคัญทางศาสนาก็มีมิใช่น้อย นอกจากอิทธิพลของพราหมณ์แล้ว ยังมีการปฏิรูปแบบเวชนาวาซึ่งสังคเทพเป็นผู้นำออกเผยแพร่

ขึ้นครองราชย์[แก้]

พระนามฮินดู[แก้]

ในรัชกาลนี้ อิทธิพลพราหมณ์ได้ทวีมากยิ่งขึ้น ดังปรากฏว่า พระองค์ทรงรับพระนาม "สวรคะนารายัน(สวรรค์นารายณ์)" อันเป็นภาษาฮินดู มาใช้อีกพระนามหนึ่ง แต่พระองค์เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในพระนามว่า "ทิหิงเกียราชา" ทั้งนี้ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงตั้งเมืองหลวงที่พกะตา บนฝั่งแม่น้ำทิหิง และให้ชนชาวอาหมตั้งบ้านเรือนอยู่รายรอบ ภายหลังที่ได้ทรงถมที่ให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วม

การก่อกบฏ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2049 ชาวไอโทเนีย นาคะก่อการกบฏ บาร์ โกฮาอินและบุรฮา โกฮาอิน ได้รับบัญชาให้ยกกองทัพไปปราบ ชาวนาคะเป็นฝ่ายปราชัย และเมื่อได้รู้สำนึกในความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์อาหม ได้ส่งธิดาของประมุขแห่งนาคะ พร้อมด้วยช้าง 4 เชือก มาเป็นบรรณาการเพื่อสันติภาพ และยินยอมถวายบรรณาการเป็นรายปีด้วยขวาน ฆ้อง และอำพัน

การสำรวจความเป็นอยู่ของพลเมือง[แก้]

ในปี พ.ศ. 2053 ได้มีการสำรวจจำนวน ความเป็นอยู่ และการกระจายของพลเมือง และระบุเขตการปกครองเป็นหมู่ๆไป และในปี พ.ศ. 2055 ฮาบุงก็ถูกนำมารวมเข้ากับอาณาจักรอาหม

สงครามอาหม-ชุติยะ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2056 ธีระ นารายัน ผู้เป็นราชาแห่งชุติยะ ยกกองทัพบกและเรือมารุกราน แต่ต้องพ่ายแพ้ในการรบทางบุกที่ทิขุ มุข และทางเรือที่สิระอาติ ฝ่ายชุติยะเสียหายอย่างหนักจนต้องถอยทัพกลับไป เสือห่มเมืองยึดได้เมืองกัง และสร้างเมืองขึ้นเมืองหนึ่งใกล้นัมดัง ธีระ นารายันขอร้องความช่วยเหลือจากราชาแห่งเมืองกัง ซึ่งในชั้นแรกได้แสดงความยินดีที่จะช่วยเหลือแต่ประมุขแห่งบานพาราได้ยับยั้งความคิดอันนี้ และในที่สุดก็ได้ส่งบรรณาการมาถวายเสือห่มเมือง และทำสัญญาพันธไมตรีต่อกัน

เนื่องจากความผิดหังที่จะได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก ชุติยะจึงมิได้พยายามหาหนทางเอาดินแดนที่เสียไปกลับคืน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2063 ได้ยกทัพโจมตีที่มั่นของอาหมที่เมืองกัง แม่ทัพอาหมเสียชีวิต ฝ่ายชุติยะก็ได้เมืองกังกลับคืนอีกครั้งหนึ่ง โดยเหตุผลบางประการซึ่งไม่ปรากฏเปิดเผยในตำนานบุราณชิ เวลาล่วงไปถึงสองปี ก่อนที่เสือห่มเมืองจะได้ทำการแผ่อาณาเขตอีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายชุติยะปราชัยในการรบใกล้ปากแม่น้ำเซสสา และไม่เพียงจะเสียดินแดนที่ตีได้กลับคืน ฝ่ายชุติยะยังต้องเสียดินแดนลึกเข้าไปอีกทางปากแม่น้ำทิเพา ซึ่งได้สร้างป้อมปราการขึ้นไว้แห่งหนึ่ง

ในปี พ.ศ. 2066 ฝ่ายชุติยะล้อมป้อมปราการนี้ แต่ต้องพบการต่อสู้อย่างแข็งแกร่ง เสือห่มเมืองรีบยกกองทัพรุดมาช่วยป้อมนี้ ซึ่งมาถึงทันเวลาที่ชุติยะยกทหารเข้าตี เสือห่มเมืองจึงนำทัพเข้าตีกระหนาบกองทัพชุติยะ ทำให้ฝ่ายชุติยะพ่ายแพ้ยับเยิน และขอยุติสงครามด้วยการส่งของบรรณาการมาถวาย แต่เสือห่มเมืองไม่ปรารถนาสิ่งใดนอกจาสมบัติประจำราชตระกูลของชุติยะ(อันประกอบด้วย แมวทอง ช้างทอง และร่มทอง) ฝ่ายชุติยะไม่ยินยอม ดังนั้นสงครามจึงดำเนินต่อไป ฝ่ายชุติยะสร้างป้อมขึ้นที่ปากน้ำแห่งหนึ่งใกล้สทิยะ แต่ถูกฝ่ายอาหมซึ่งข้ามแม่น้ำมาด้วยขบวนเรือทำลายลงอย่างง่ายดาย และยังรุกไล่ทหารชุติยะไปจนถึงภูเขาไกทารา

กองทหารชุติยะเข้ายึดเขาเชาทันและทุ่มหินก้อนใหญ่ๆลงมายังกองทหารอาหม เมื่อเห็นว่าการโจมตีด้านหน้าไม่ได้ผล ทัพอาหมจึงแยกกำลังลอบโจมตีทางด้านหลัง(ด้านหลังของภูเขาลูกนี้สูงชัน ปีนยาก แต่ทหารอาหมก็ไม่ย่อท้อ พยายามปีนขึ้นไปจนถึงยอดเขา) ทหารชุติยะไม่ทันรู้ตัวก็พากันหนีกระจัดกระจายไปยังจังมุงคำ ทหารอาหมรุกไล่ติดตามไป กษัตริย์ชุติยะพร้อมด้วยโอรสองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์ในที่รบ ทหารอาหมจับทหารชุติยะเป็นเชลยได้มากมาย รวมทั้งครอบครัวของกษัตริย์ชุติยะ ยกเว้นพระมเหสีซึ่งทรงประหารพระองค์เองด้วยหอก พวกเชลยและทรัพย์สิ่งของ(รวมทั้งสมบัติประจำราชตระกูลของชุติยะ)ถูกส่งมาถวายเสือห่มเมือง พร้อมด้วยพระเศียรของกษัตริย์ชุติยะและโอรส ซึ่งต่อมาได้ถูกนำมาฝังไว้ใต้บันไดโบสถ์ชะรายเทโว เพื่อกษัตริย์อาหมจะได้ย่ำขึ้นลงเมื่อเสด็จมายังโบสถ์นี้

หลังจากชุติยะล่มสลาย[แก้]

ในที่สุด อาณาจักรชุติยะได้ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรอาหม นายทหารผู้ใหญ่ผู้หนึ่งชื่อ สทิยะ โควา โกฮาอิน ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการ และเพื่อให้ฐานะของตนมั่นคง เขาจึงได้เกณฑ์เอาชาวอาหมแห่งกาปาลิยะ 300 คน พร้อมด้วยครอบครัวและหัวหน้า 12 คน มาอยู่ในสทิยะ และยังมีบางพวกตั้งบ้านเรือนอยู่บนฝั่งแม่น้ำทิหิง เจ้านายในราชตระกูลชุติยะและขุนนางผู้ใหญ่ถูกเนรเทศไปยังพาการิกุรี ส่วนพวกพราหมณ์ ช่างเหล็ก และช่างก่อสร้าง ถูกต้อนจากสทิยะ มาอยู่ในเมืองหลวงของอาหม เมื่อทรงจัดการกับภาระต่างๆเสร็จสิ้นแล้ว สุหังก็เสด็จกลับมายังชะรายเทโว เพื่อประกอบพิธีสมโภชเรียกขวัญ

ต่อมาไม่นาน สทิยะ โควา โกฮาอิน ถูกพูกังเมือง ซึ่งเป็นประมุขของชนชาวเขาเผ่าหนึ่งเข้าโจมตี พูกังเมืองเป็นฝ่ายปราชัย ซึ่งตนเองได้แทงแม่ทัพอาหมจนถึงแก่ความตายด้วยหอก แต่ตนเองก็สิ้นชีวิตลงด้วยประมุขของชาวเขาอีกพวกหนึ่งซึ่งยอมอ่อนน้อม และได้ส่งธิดามาเป็นบรรณาการ

ในปี พ.ศ. 2068 เสือห่มเมืองเสด็จไปยังแว่นแคว้นทิหิง และแต่งตั้งให้นายทหารของพระองค์ปกครองฮาบุง ทิหิง และบันลุงซึ่งเป็นเมืองชายแดน

การแต่งตั้งบาร์พัตรา โกฮาอิน[แก้]

เล่ากันสืบต่อมาว่า สนมของสุพิมฟ้าที่ถูกส่งไปอยู่กับหัวหน้านาคะคนหนึ่ง ได้ให้กำเนิดทารกชายชื่อว่า แสงลุง เมื่อเสือห่มเมืองได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กหนุ่มผู้นี้ ก็ทรงประหลาดพระทัยในรูปลักษณะอันส่อถึงความมีบุญ และเมื่อทรงทราบว่า มารดาของเด็กหนุ่มผู้นี้คือพระสนมของสุพิมฟ้าที่ถูกส่งตัวมาอยู่กับพวกนาคะในขณะที่กำลังมีครรภ์ ก็ทรงรับเอาแสงลุงผู้นี้มาเลี้ยงดู ทรงตั้งให้เป็นที่บาร์พัตรา โกฮาอิน มีฐานันดรเทียบเท่ากับตำแหน่งบาร์ โกฮาอิน และบุรฮา โกฮาอิน แต่บาร์ โกฮาอิน และบุรฮาโกฮาอินคัดค้าน และไม่ยอมส่งบริวารมาให้อยู่ในความปกครองของบาร์พัตรา โกฮาอิน แต่อย่างไรก็ดี เสือห่มเมืองทรงแก้ปัญหานี้ได้ โดยทรงมอบชาวโบราฮี ชุติยะ และโมราน ซึ่งยังไม่อยู่ในความปกครองของผู้ใดให้แก่บาร์พัตรา โกฮาอิน พระองค์ทรงเรียกประชุมคณะเสนาบดี จัดที่นั่งของบาร์พัตรา โกฮาอินอยู่ระหว่างบาร์ โกฮาอิน และบุรฮา โกฮาอิน ทรงประกาศตำแหน่งใหม่เทียบเท่าตำแหน่งเก่าทั้งสอง

สงครามอาหม-กะฉารีครั้งที่ 1[แก้]

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2069 เสือห่มเมืองยกทัพเข้าโจมตีพวกกะฉารี ผ่านธันสิริมายังบาร์ดูอาและทรงสร้างที่สรงน้ำขึ้นที่นั่น สร้างป้อมรายรอบด้วยกำแพงอิฐที่มารันกี และประทับค้างคืนอยู่หลายคืน และยกทัพต่อไปยังไมฮามหรือคัทคาเทีย กองระวังหน้าถูกจู่โจมโดยไม่รู้ตัวและแตกกระจัดกระจายไปโดยทิ้งศพทหารไว้ 40 ศพ พวกกะฉารียึดไมฮามได้อีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายอาหมที่ถูกกะฉารีท้าทายจึงยกทัพยึดคืนทันที แม้ว่าพวกกะฉารีจะสู้รบอย่างกล้าหาญด้วยธนู แต่ก็ไม่สามารถสู้รบกับอาหมได้ ฝ่ายกะฉารีจึงต้องถอยร่นไปพร้อมกับความเสียหายอย่างหนัก ทหารอาหมติดตามไปอย่างไม่ละลด ปรากฏว่าเสียทหารไปถึง1,700 คน

ชุติยะแข็งเมืองครั้งที่ 1[แก้]

ต้นปี พ.ศ. 2070 พวกชุติยะก่อความกระด้างกระเดื่อง แต่ก็ต้องยอมอ่อนน้อมในไม่ช้า ทิหิงเกีย โกฮาอิน ต้องสูญเสียภรรยาไปในระหว่างความวุ่นวายนั้น

สงครามอาหม-โมฮัมหมัดครั้งที่ 1[แก้]

ในปีเดียวกัน พวกโมฮัมหมัดได้ยกกองทัพมารุกราน(นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อาหม) นามของแม่ทัพแห่งมูซุลมานนั้นไม่ปรากฏ แต่เรียกกันว่า วาเซียผู้ยิ่งใหญ่ ทหารอาหมเข้าโจมตีข้าศึกทั้งด้านหน้าและหลัง ซึ่งได้รับชัยชนะ และติดตามข้าศึกไปจนถึงแม่น้ำบูไร ยึดม้าได้ 40 ตัว และปืนใหญ่อีกราว 20 - 40 กระบอก เมื่อเสือห่มเมืองทรงทราบข่าว ก็รีบเสด็จมายังสะลา และจัดส่งกำลังไปยึดทวิมุนีศิลา ป้อมปราการป้อมหนึ่งถูกสร้างขึ้นที่ปากน้ำบูไร และมีกองทหารกองหนึ่งอยู่ประจำที่พูลบารี เมื่อทรงจัดวางแผนยุทธศาสตร์เรียบร้อยแล้วจึงเสด็จกลับราชธานี

แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2072 ได้เสด็จไปยังสะลาอีกครั้งหนึ่ง ทรงขยายอาณาเขตไปทางกัลลังและเหนือขึ้นไปยังภราลี เชลยและสิ่งของที่ยึดได้ถูกนำมาถวาย ซึ่งภายหลังที่ทรงตั้งกองรักษาการไว้ที่นารายันปุระแล้ว จึงเสด็จกลับทิหิง

ชุติยะแข็งเมืองครั้งที่ 2[แก้]

เมื่อจวนจะสิ้นปี พวกชุติยะได้ก่อการแข็งเมืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ถูกปราบปรามไปในการรบที่จันทนคีรี และที่ภูเขาดังตัง บนฝั่งแม่น้ำพรหมบุตร ทิบง และคุนทิล

สงครามอาหม-กะฉารีครั้งที่ 2[แก้]

ในปี พ.ศ. 2074 พวกอาหมได้สร้างป้อมขึ้นใหม่ที่มารันกี ซึ่งไม่เป็นที่พอพระทัยของขุนคารา กาตริย์แห่งกะฉารี พระองค์ได้ส่งพระอนุชาพระนามว่า "เดทชา" มาขับไล่ สงครามจึงเกิดขึ้น กะฉารีเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำและตัวแม่ทัพเสียชีวิต เพื่อเป็นการลงโทษขุนคาราในการโจมตีครั้งนี้ เสือห่มเมืองได้ยาตราทัพใหญ่ขึ้นไปทางเหนือยังธันสิริ และทรงพักทัพอยู่ที่ชุมทางแม่น้ำโดยังและธันสิริ การโจมตีในเวลากลางคืนได้กระทำที่สถานที่แห่งหนึ่งที่เรียกว่า นิกะ ต่อจากนั้นทัพอาหมได้เคลื่อนที่ต่อไปยังเดงนัท ณ ที่นี้ ทัพอาหมได้แบ่งออกเป็น 2 กองพล กองพลหนึ่งไปทางซ้าย และอีกกองพลไปทางขวาของแม่น้ำธันสิริ การปะทะได้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกะฉารีก็พ่ายแพ้ ถูกรุกไล่ไปจนถึงทิมาปุระ ซึ่งเป็นราชธานี กษัตริย์กะฉารีพร้อมด้วยโอรสหนีเล็ดลอดต่อไป เจ้าชายองค์หนึ่งนามว่า "เดทสูง" ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ครองนครแทน หลังจากที่ได้ถวายน้องสาวของตนให้แก่เสือห่มเมือง พร้อมด้วยของกำนัลมากมาย

สงครามอาหม-โมฮัมหมัดครั้งที่ 2[แก้]

ปีเดียวกัน พวกโมฮัมหมัดได้ยกกองทัพขึ้นมาตามลำน้ำพรหมบุตรพร้อมด้วยเรือ 50 ลำ ปะทะกับกองทัพอาหมที่เทมานิ ซึ่งอาหมเป็นฝ่ายมีชัย แม่ทัพโมฮัมหมัดต้องละทิ้งเรือ และขึ้นม้าหนีไป ทัพอาหมตั้งกองทหารประจำไว้ที่สะลา บนฝั่งแม่น้ำบราลีและซิงกิริ(สถานที่แห่งหลังนี้อยู่ในความปกครองดูแลของบาร์พัตรา โกฮาอิน) ต่อมาได้ถูกโจมตีโดยกำลังทหารส่วนใหญ่ของพวกโมฮัมหมัด แต่พวกโมฮัมหมัดพ่ายแพ้ บาร์พัตรา โกฮาอินรุกไล่ติดตามข้าศึกไปจนถึงเนากอง แม่ทัพโมฮัมหมัดชื่อ บิท มาลิค เสียชีวิต บาร์พัตรา โกฮาอินยึดได้ม้า 50 ตัว ปืนใหญ่และปืนยาวหลายกระบอก เสือห่มเมืองทรงพอพระทัยในการปฏิบัติงานของบาร์พัตรา โกฮาอินเป็นอย่างมาก พระราชทานสตรีสาวสวยนางหนึ่งเป็นบำเหน็จรางวัล และทรงจัดให้มีงานสมโภชรับขวัญบาร์พัตรา โกฮาอินอย่างเอิกเกริก

สงครามอาหม-โมฮัมหมัดครั้งที่ 3[แก้]

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2075 แม่ทัพโมฮัมหมัดผู้หนึ่ง ชื่อ เทอร์บัค ยกกองทัพวึ่งประกอบด้วยช้าง 30 เชือก ม้า 1,000 ตัว ปืนใหญ่ 11 กระบอก และทหารเดินจำนวนมากเข้าโจมตีซิงกิริ เมื่อเสือห่มเมืองทรงทราบ พระองค์ก็โปรดให้ "สุเคลน" ผู้เป็นโอรสคุมทัพไปช่วยซิงกิริส่วนพระองค์เองเสด็จไปยังสะลา หลังจากที่ลาดตระเวนอยู่เป็นเวลานาน สุเคลนก็เกิดความเบื่อหน่าย ไม่นำพาต่อคำแนะนำของโหราศาสตร์ และยกพลเข้าโจมตีค่ายของโมฮัมหมัด แต่พวกโมฮัมหมัดต่อสู้ต้านทานอย่างแข็งแกร่ง สุเคลนเสียนายทหารหลายคน และตนเองได้รับบาดเจ็บสาหัส กองทัพอาหมต้องถอยไปอยู่ที่สะลาเพื่อรวบรวมกำลังขึ้นใหม่ คราวนี้บาร์พัตรา โกฮาอินได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด

กองทัพโมฮัมหมัดหยุดยั้งอยู่ที่โกเลียบาร์ เพื่อรอฤดูฝนในระยะ 2 - 3เดือนต่อมา จับเรือได้ 7 ลำในลำน้ำพรหมบุตร ในเดือนตุลาคม ได้ย้ายกองทัพไปที่คิละธารี และในเดือนพฤศจิกายน สุเคลนที่เพิ่งฟื้นจากอาการป่วย ได้เดินทางมารับหน้าที่บัญชาการทหารที่สะลา ซึ่งอีกไม่นานต่อมาก็ได้ถูกกองทหารโมฮัมหมัดโอบล้อมไว้ บ้านเรือนภายนอกป้อมถูกเผาผลาญ พวกโมฮัมหมัดพยายามที่จะเผาพระราชวังต่อไป แต่ถูกสกัดกั้นด้วยน้ำร้อนเดือดๆที่ทหารอาหมเทลงมา

ต่อมา กองทหารอาหมที่อยู่ในป้อมตีฝ่าออกมา และได้ขับไล่กองทหารม้าของโมฮัมหมัดกลับไป แต่กองทหารปืนใหญ่ของโมฮัมหมัดได้รีบรุดมาช่วยไว้ได้ทันท่วงที กองทหารอาหมจึงประสบความเสียหายอย่างหนัก แต่ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2076 ฝ่ายอาหมได้รับชัยชนะในการรบทางเรือ แม่ทัพโมฮัมหมัดสองนายชื่อเบงกอล และทาชู(เป็นชาวซิค)ถูกฆ่าพร้อมกับไพร่พลเป็นจำนวนมาก พงศาวดารบุราณชิกล่าวว่า ในการรบครั้งนี้ฝ่ายโมฮัมหมัดเสียทหารราว 1,500 - 2,500 คน เรือ 22 ลำ และปืนใหญ่จำนวนมาก

วันต่อมา เทอร์บัค ได้รับกำลังเพิ่มเติมที่นำโดย ฮูเซน คาน ซึ่งมีช้าง เชือก ม้า 100 ตัว และทหารเดินเท้า 500 คน ในขณะนี้ เทอร์บัคได้ตั้งมั่นอยู่ที่ปากน้ำทิไกร ส่วนฝ่ายอาหมก็ตั้งค่ายอยู่บนฝั่งแม่น้ำตรงกันข้าม ทั้งสองฝ่ายต่างตั้งประจันกันอยู่เช่นนี้เป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งต่างรออีกฝ่ายเข้าโจมตีก่อน ในที่สุดอาหมก็เป็นฝ่ายเริ่มก่อน ซึ่งทำการสู้รบกันหลายครั้ง ครั้งหลังสุดปะทะกันใกล้ๆที่บราลี ช้างและม้าของโมฮัมหมัดจำนวนมากตกหล่ม และขบวนทหารเองก็ปั่นป่วน เทอร์บัคพยายามแก้ไขสถานการณ์โดยการออกนำหน้าทหารม้าด้วยตนเอง แต่ก็ไม่ได้ผลเพราะถูกหอกปักอกถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้เหล่าทหารเสียขวัญและพากันหนีเตลิด ทหารอาหมก็รุกไล่ติดตามไปจนถึงแม่น้ำการาโทยา(และในระหว่างรุกไล่ติดตาม ฮูเซน คาน ถูกจับและถูกประหารชีวิต) ซึ่งกล่าวกันว่าแม่ทัพอาหมได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะก่อนที่จะยกกองทัพกลับ

ในระหว่างนั้น ได้มีการส่งทูตไปยังกษัตริย์แห่งกัวร์พร้อมด้วยของกำนัล เพื่อเป็นการตอบแทน กษัตริย์แห่งกัวร์ได้ถวายเจ้าหญิงองค์หนึ่งให้แก่กษัตริย์อาหม จะเห็นได้ว่า การสู้รบที่เกิดขึ้นนี้ มิใช่เป็นการกระทำของกษัตริย์แห่งเบงกอล แต่เป็นการกระทำของพวกประมุขโมฮัมหมัด ซึ่งมีอยู่หลายหมู่หลายเหล่าในดินแดนนั้น

หลังจากโมฮัมหมัดพ่ายแพ้[แก้]

ฝ่ายอาหมยึดได้ช้าง 28 เชือก ม้า 850 ตัว ปืนครกจำนวนมาก เงินทอง และทรัพย์สินอื่นๆ ของเหล่านี้ได้ถูกนำไปถวายเสือห่มเมือง ซึ่งประองค์ได้แบ่งออกแจกจ่ายแก่เหล่าขุนนาง พระอง5เสด็จกลับราชธานีที่ทิหิงและทรงจัดให้มีงานสมโภชเรียกขวัญ ต่อจากนั้นก็เสด็จไปยังชะรายเทโว ทำการเซ่นสังเวยผู้ล่วงลับ และบูชายัญถวายพระผู้เป็นเจ้า ศีรษะของเทอร์บัคถูกฝังไว้บนยอดเขาชะรายเทโว

การใช้อาวุธปืนของชาวอาหมได้เริ่มต่อจากภายหลังสงครามนี้ยุติลง(ศาสตราวุธที่ใช้กันอยู่ในขณะนั้นมี ดาบ หอก ธนูและลูกศร) เชลยศึกชาวโมฮัมหมัดถูกบังคับให้ตั้งหลักแหล่งอยู่ในภาคต่างๆของประเทศ เล่ากันว่าในตอนแรก ถูกบังคับให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้าง แต่ปรากฏว่าไม่เหมาะสำหรับงานชนิดนี้ จึงถูกนำไปใช้ในงานเพาะปลุฏ แต่พวกโมฮัมหมัดไม่มีความแลดในการเพราะปลูกเลย(แทนที่จะไถแล้วเอาเมล็ดพืชปลูในดิน กลับเอาเมล็ดพืชทิ้งบนดินแล้วไปเอาโคลนมาถม) ดังนั้นจึงถูกใช้ให้ทำงานที่พวกเขาถนัด เช่น งานโลหะ เป็นงานที่ผู้สืบเชื้อสายของชนพวกนี้ ซึ่งเรียกกันว่า โมเรีย ยึดถือสืบต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้

โรคระบาดสัตว์[แก้]

ปี พ.ศ. 2076 เกิดโรคระบาดสัตว์ร้ายแรงขึ้นทั่วประเทศ

การแผ่อำนาจไปยังพวกนาคะ[แก้]

ปี พ.ศ. 2078 และ 2079 หมดไปกับการศึกสงครามกับชาวนาคะ เผ่าคามช้าง ตาบลัง และน้ำสาง สุเคลน ผู้เป็นโอรส(ซึ่งได้แสดงความสามารถในการรบกับพวกโมฮัมหมัด)ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการรบ พวกคามช้างยอมแพ้ภายในเวลาไม่ช้า และยอมเสียค่าปฏิกรรมสงครามเป็นวัว 100 ตัว แต่ชาวนาคะอีกสองเผ่าที่เหลือ ได้ใช้กลศึกตีกองทหารอาหม จนต้องถอยร่นทิ้งปืนไว้ 3 กระบอก แต่อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาไม่นานนัก ชาวนาคะทั้งสองเผ่านี้ก็ยอมสวามิภักด์ และคืนปืนที่ริบไว้ได้ทั้ง 4 กระบอกแก่อาหม

สงครามอาหม-กะฉารีครั้งที่ 2[แก้]

เดทสูง ราชาแห่งกะฉารี แสดงความกระด้างกระเดื่องขึ้นในเวลาเดียวกัน กษัตริย์อาหมทรงส่งกองทัพไปปราบ และพระองค์เองก็เสด็จตามกองทัพมาจนถึงมารังกี กองทัพอาหมเดนิทางผ่านฮามไดไปยังบ้านพู และจากที่นั่นก็แยกออกเป็นสองกอง เคลื่อนไปตามริมฝั่งทั้งสองข้างของแม่น้ำโดยัง กำลังทหารส่วนที่เคลื่อนที่ไปทางฝั่งขวารุกไล่กองทหารองกะฉารีถอยร่นไป แต่กำลังทางฝั่งซ้ายถูกพวกกะฉารีตรึงไว้จนกระทั่งได้รับกำลังเพิ่มเติม จึงตีกองทัพกะฉารีแตกพ่ายได้รับความเสียหายอย่างหนัก เดทสูงลี้ภัยไปพำนักอยู่ในป้อมบนภูเขาไดมารี แต่เมื่อทัพอาหมยกใกล้เข้ามา ก็หนีต่อไปทางเหนือของลำน้ำธันสิริ ไปพักอยู่ที่เลงกูร แล้วเดินทางต่อไปยังราชธานีที่ทิมาปุระ

ทัพอาหมยังคงติดตามอย่างไม่ละลดจนเข้ายึดทิมาปุระได้ ทำให้เดทสูงต้องหลบหนีออกจากเมือง พระราชมารดาของเดทสูงถูกประหารชีวิต พระขนิษฐาอีก 3 องค์ถูกส่งตัวไปไว้ในฮาเร็มของเสือห่มเมือง เดทสูงหนีไปจนมุมอยู่ที่จังมาราง พระองค์ถูกจับและถูกประหารชีวิตที่นั่น พระเศียรถูกนำมาถวายกษัตริย์อาหม ซึ่งมีรับสั่งให้ฝังไว้บนยอดเขาชะรายเทโว

นับแต่นั้นมาก็ไม่มีชาวกะฉารีผู้ใดลุกขึ้นต่อต้านชาวอาหมซึ่งตั้งตนเป็นผู้ปกครองกะฉารีอีก อาณาจักรอาหมไม่เพียงแต่จะครอบคลุมไปทั่วลุ่มน้ำธันสิริเท่านั้น ยังมีอาณาเขตไปถึงดินแดนตอนเหนือของแม่น้ำกัลลังในเนากองอีกด้วย กษัตริย์อาหมเสด็จกลับราชธานี ทรงประกอบพิธีสังเวยผู้ล่วงลับและทำการบูชายัญถวายพระผู้เป็นเจ้าตามประเพณีที่เคยปฏิบัติมาในเมื่อได้ชัยชนะจากสงคราม(ในสงครามครั้งนี้ พงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า ทหารกะฉารีได้ใช้ปืนใหญ่เช่นเดียวกับทหารอาหม

สัมพันธภาพกับอาณาจักรคอชและมณีปุระ[แก้]

ในปี พ.ศ. ๒๐๘๐ กษัตริย์แห่งคอช ทรงพระนามว่า พิศวะ สิงห์ และอนุชา ได้เสด็จมาเยี่ยมกษัตริย์อาหมพร้อมด้วยของกำนัล กษัตริย์อาหมได้ทรงมอบของกำนัลตอบแทน และเมื่อพิศวะ สิงห์เสด็จกลับ ก็ทรงจัดให้มีกองทหารเกียรติยศติดตามไปส่ง ในปีเดียวกันนั่นเอง กษัตริย์อาหมก็ได้ทรงส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชาแห่งมณีปุระ และมีการแลกเปลี่ยนของถวายกันตามธรรมเนียม

ความขัดแย้งกับพระราชโอรส[แก้]

ความสัมพันธ์ระหว่างเสือห่มเมืองและสุเคลน ผู้เป็นราชโอรส ตึงเครียดยิ่งขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้เพราะสุเคลนปรารถนาที่จะได้เจ้าหญิงทั้งสามแห่งทิมาปุระมาเป็นกรรมสิทธิ์ แต่เสือห่มเมืองทรงไม่ยินยอม สุเคลนโกรธแค้นพระชนกมาก ถึงกับไม่แสดงความเคารพพระชนกในที่ประชุมเสนาบดี และเกิดการโต้เถียงกันขึ้นครั้งหนึ่งในวงชนไก่ และในที่สุด สุเคลนก็แสดงตนเป็นปรปักษ์ต่อพระชนกอย่างเปิดเผย ทำให้เสือห่มเมืองทรงวิตกมาก และได้บังคับให้ชนนีของสุเคลนให้สัตยาธิษฐาน โดยการจุ่มหัตถ์ลงในน้ำ

สิ้นพระชนม์[แก้]

ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๐๘๑ สุเคลนได้จ้างมหาดเล็กชาวกะฉารีคนหนึ่งชื่อ ระติมัน ให้ลอบเข้าปลงพระชนม์พระบิดาด้วยมีดในขณะที่บรรทม ระติมันถูกจับและถูกนำตัวไปประหารชีวิต ก่อนที่จะได้มีโอกาสหลบหนีทัน เสือห่มเมืองทรงครองราชย์ได้ ๔๒ ปี

พระบรมวงศานุวงศ์[แก้]

  • พระราชบิดา : สุพิมฟ้า
  • พระอนุชา : แสงลุง(บาร์พัตรา โกฮาอิน)
  • พระชายา :
    • ธิดาของประมุขที่สังหาร พูกังเมือง
    • เจ้าหญิงแห่งกัวร์
    • ชนนีของสุเคลน
  • พระราชโอรส :

อ้างอิง[แก้]

  • งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย ของ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ
  • Gogoi, Padmeshwar (1968), The Tai and the Tai kingdoms, Gauhati University, Guwahati

ดูเพิ่ม[แก้]

ก่อนหน้า เจ้าฟ้าเสือห่มเมือง ถัดไป
สุพิมฟ้า กษัตริย์อาหม
(พ.ศ. 2040 - พ.ศ. 2082)
สุเคลนเมือง(ครหคยาราช)