อัลฆามิอา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อัลฆามิอา เขียนโดยมันเซโบ เด อาเรบาโล ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 16 (พุทธศตวรรษที่ 21)[1]
เอกสารตัวเขียนของ Poema de Yuçuf ซึ่งเป็นบทกวีภาษาอารากอนที่เขียนด้วยอักษรอาหรับ

อัลฆามิอา (สเปน: aljamía) หรือ อะญะมียะฮ์ (อาหรับ: عَجَمِيَة, ʿajamiyah) เป็นเอกสารตัวเขียนที่ใช้อักษรอาหรับในการเขียนภาษากลุ่มโรมานซ์ เช่น ภาษาโมแซรับ ภาษาโปรตุเกส ภาษาสเปน ภาษาอารากอน หรือภาษาลาดิโน

คำว่าอัลฆามิอาเพี้ยนมาจากคำในภาษาอาหรับว่า ʿajamiyah ซึ่งในที่นี้หมายถึงภาษาต่างชาติ และโดยทั่วไปใช้เรียกกลุ่มชนที่ไม่มีบรรพบุรุษเป็นชาวอาหรับ[2] ส่วนในทางภาษาศาสตร์ อัลฆามิอาคือการนำอักษรอาหรับไปเขียนภาษาในกลุ่มภาษาโรมานซ์ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันในบางพื้นที่ของอัลอันดะลุส ส่วนภาษาอาหรับเป็นภาษาที่ใช้ในทางวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมชั้นสูง และศาสนา

ระบบการเขียนกลุ่มภาษาโรมานซ์ด้วยอักษรอาหรับพัฒนาขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 (พุทธศตวรรษที่ 20) และพบมากในศตวรรษต่อมา[3] ต่อมา ชาวโมริสโกได้เลิกใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษาทางศาสนา และใช้ภาษาสเปนแทน[4]

การใช้ในสเปน[แก้]

อัลฆามิอา

อัลฆามิอามีบทบาทสำคัญในการรักษาศาสนาอิสลามและภาษาอาหรับในชีวิตของชาวโมริสโก หลังจากที่จักรวรรดิมุสลิมในคาบสมุทรไอบีเรียล่มสลาย ชาวโมริสโกถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนาเป็นชาวคริสต์ มิฉะนั้นจะถูกขับออกจากคาบสมุทร แต่ชาวโมริสโกบางส่วนก็ยังใช้อัลฆามิอาอยู่

ใน ค.ศ. 1567 (พ.ศ. 2110) พระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน ได้ออกพระราชกฤษฎีกาบังคับให้ชาวโมริสโกเลิกใช้ภาษาอาหรับในทุกกรณี ไม่ว่าจะพูดหรือเขียน ทางการหรือไม่ทางการ การใช้ภาษาอาหรับกลายเป็นอาชญากรรม ชาวโมริสโกได้แปลบทสวดและวจนะของนบีมุฮัมมัดภาษาอาหรับออกมาเป็นภาษาสเปนในรูปของอัลฆามิอา ม้วนเอกสารอัลฆามิอาถูกส่งต่อเวียนกันไปในหมู่ชาวโมริสโก ปัจจุบันบางส่วนได้รับการเก็บรักษาในหอสมุดแห่งชาติของสเปน

การใช้แบบอื่น[แก้]

บางครั้งมีการใช้คำว่า "อัลฆามิอา" เรียกการถอดเสียงภาษาอื่น (นอกเหนือจากภาษากลุ่มโรมานซ์) ซึ่งไม่ใช่กลุ่มภาษาเซมิติกเป็นอักษรอาหรับ เช่น การเขียนภาษาบอสเนียและภาษาแอลเบเนียที่เขียนด้วยอักษรอาหรับระหว่างสมัยจักรวรรดิออตโตมัน เคยถูกเรียกว่าอัลฆามิอาเช่นกัน แต่ก็มีการใช้คำ อาเรบีตซา ซึ่งหมายถึงการใช้อักษรอาหรับเขียนภาษาในกลุ่มภาษาสลาฟ

อ้างอิง[แก้]

  1. The passage is an invitation directed to the Spanish Moriscos or Crypto-Muslims so that they continue fulfilling the Islamic prescriptions in spite of the legal prohibitions and so that they disguise and they are protected showing public adhesion the Christian faith.
  2. Chejne, A.G. (1993): Historia de España musulmana. Editorial Cátedra. Madrid, Spain. Published originally as: Chejne, A.G. (1974): Muslim Spain: Its History and Culture. University of Minnesota Press. Minneapolis, USA
  3. L.P. Harvey. "The Moriscos and the Hajj" Bulletin of the British Society for Middle Eastern Studies, 14.1 (1987:11-24) p. 15.
  4. Gerard Albert Wiegers, Islamic Literature in Spanish and Aljamiado 1994, p. 226.

ดูเพิ่ม[แก้]

  • Los Siete Alhaicales y otras plegarias de mudéjares y moriscos by Xavier Casassas Canals published by Almuzara, Sevilla (Spain), 2007. (สเปน)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]