สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว)
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) | |
---|---|
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก | |
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก | |
ดำรงพระยศ | 29 พฤศจิกายน 2436 - 11 มกราคม 2443 |
สถาปนา | 29 พฤศจิกายน 2436 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ |
ถัดไป | สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส |
พรรษา | 48 |
สถิต | วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
ประสูติ | 19 สิงหาคม พ.ศ. 2356 จังหวัดนนทบุรี สา |
สิ้นพระชนม์ | 11 มกราคม พ.ศ. 2443 (86 ปี) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร |
พระชนก | จัน |
พระชนนี | สุข |
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ พระนามเดิม สา ฉายา ปุสฺสเทโว เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2436 ถึงปี พ.ศ. 2442 รวม 6 พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุ 86 ปี 145 วัน เคยเป็นสามเณรนาคหลวง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นผู้สามารถสอบเปรียญธรรม 9 ประโยค ได้ขณะยังเป็นสามเณร รูปแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็น สามเณรอัจฉริยะ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระประวัติ
[แก้]สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) เดิมเป็นชาวตำบลบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี ประสูติในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 9 แรม 8 ค่ำ ปีระกา จ.ศ. 1175[1] ตรงกับวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2356 บ้านเดิมอยู่บางเชิงกราน จังหวัดราชบุรี พระชนกทรงพระนามว่า จัน พระชนกของพระองค์ทรงเคยอุปสมบทและชำนาญในคัมภีร์มิลินทปัญหาและมาลัยสูตรมาก จึงทรงได้ฉายาจากประชาชนว่า จันมิลินทมาลัย พระชนนีทรงพระนามว่า สุข ทรงมีพี่น้องเกิดร่วมบิดามารดาเดียวกัน 5 คน คืออวบ, ช้าง, สา, สัง, และอิ๋ม พระอนุชาของสมเด็จพระสังฆราช (สา) มีพระนามว่าสัง ได้บวชเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ได้สมณศักดิ์สูงสุดที่ตำแหน่งพระสมุทรมุนี แต่ภายหลังก็ทรงลาสิกขา ไม่ปรากฏว่าสมเด็จพระสังฆราช (สา) ทรงมีนามสกุลเดิมว่าอย่างไร ซึ่งในช่วงที่พระองค์ลาสิกขามาครองเรือนมีภรรยานั้น จึงมีทายาทที่สืบเชื้อสายมาจากพระองค์นามสกุลว่า "ปุสสเด็จ" และ "ปุสสเทโว" ซึ่งทั้งสองนามสกุลนี้ยังคงมีทายาทสืบต่อกันมาในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีจนถึงปัจจุบัน[2]
การศึกษา
[แก้]พระองค์ได้บรรพชาเป็นสามเณรในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมอยู่วัดใหม่ในคลองบางขุนเทียนบ้านหม้อ บางตนาวสี แขวงเมืองนนทบุรี ปัจจุบันคือวัดนครอินทร์ จ.นนทบุรี แล้วย้ายไปอยู่วัดสังเวชวิศยารามวรวิหาร และไปเรียนพระปริยัติธรรมในพระราชวังบวรกับอาจารย์อ่อน และโยมบิดาของท่านเอง ซึ่งเป็นอาจารย์บอกหนังสืออยู่ที่พระราชวังบวรดัวยกัน เมื่อพระชนมายุได้ 14 ปี ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรก แปลได้ 2 ประโยค จึงยังไม่ได้เป็นเปรียญ แต่คนเรียกกันว่า เปรียญวังหน้า[3] ซึ่งมีที่มาของชื่อนี้ว่า ในการแปลพระปริยัติธรรมนั้น ผู้เข้าแปลครั้งแรกต้องแปลให้ได้ครบ 3 ประโยคในคราวเดียว จึงจะนับว่าเป็นเปรียญ ถ้าได้ไม่ครบในการสอบครั้งต่อไป จะต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ครั้งนั้นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพมีพระประสงค์ที่จะอุปการะภิกษุสามเณรที่เข้าสอบ มิให้ท้อถอย ดังนั้นถ้ารูปใดแปลได้ 2 ประโยค ก็ทรงรับอุปการะไปจนกว่าจะสอบเข้าแปลใหม่ ได้เป็นเปรียญ 3 ประโยค ภิกษุ สามเณร ที่ได้รับพระราชทานอุปการะในเกณฑ์ดังกล่าว จึงได้ชื่อว่า เปรียญวังหน้า
ต่อมา สามเณรสาได้ถวายตัวเป็นศิษย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงผนวชพำนักที่วัดสมอราย (ปัจจุบันคือวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร) เนื่องจากได้ยินกิตติศัพท์ว่าทรงปราดเปรื่องเรื่องภาษาบาลีจนหาผู้เทียบได้ยาก เมื่อได้สมัครเป็นศิษย์ ก็ถ่ายทอดความรู้ภาษาบาลีให้สามเณรสา จนกระทั่งเมื่อสามเณรสาอายุได้เพียงแค่ 18 ปีก็สามารถแปลพระปริยัติธรรมได้ถึงเปรียญธรรม 9 ประโยค[4] เป็นที่อัศจรรย์ในความฉลาดปราดเปรื่องยิ่งนัก สมัยนั้นยังแปลพระปริยัติธรรมกันด้วยปากเปล่า (หมายถึงแปลสดให้กรรมการฟัง แล้วแต่กรรมการว่าจะให้แปลคัมภีร์อะไร หน้าเท่าไหร่) เป็นที่โจษจันไปทั่วพระนคร สามเณรสาจึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวงสายเปรียญธรรมรูปแรกในกรุงรัตนโกสินทร์
อุปสมบทเป็นนาคหลวงแล้วสึก
[แก้]พระองค์ได้อุปสมบท ณ วัดราชาธิวาส เมื่อปี พ.ศ. 2376 โดยมีพระสุเมธมุนี (ซาย พุทฺธวํโส) ซึ่งเป็นพระมอญเป็นพระอุปัชฌาย์ พระวชิรญาณ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า ปุสฺโส นักวิชาการหลายท่านเข้าใจว่าสามเณรสา สอบเปรียญ 9 ประโยค ได้ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งไม่ใช่ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2379 หลังจากสอบได้แล้วและอุปสมบทแล้ว ท่านได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหารตามพระวชิรญาณภิกขุซึ่งทรงย้ายจากวัดราชาธิวาสมาพำนักที่วัดบวรนิเวศวิหารตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาสา ปุสฺโส จึงเป็นสามเณรนาคหลวงสายเปรียญธรรมรูปแรกที่จำพรรษาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร เพียงแต่ไม่ได้สอบบาลีได้ในสำนักนี้เท่านั้น
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งท่านเป็นพระราชาคณะที่พระอมรโมลี ต่อมาได้ลาสิกขาไปเป็นฆราวาสอยู่ระยะหนึ่ง[4]
อุปสมบทใหม่อีกครั้ง ที่มาของ พระมหาสา 18 ประโยค
[แก้]เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลาผนวชและเสด็จขึ้นครองราชย์ มีรับสั่งให้นำนายสา มาเข้าเฝ้า แล้วมีพระราชกระแสรับสั่งถามว่า จะบวชอีกมั้ย นายสาก็กราบบังคมทูลว่า อยากจะบวช พระองค์จึงได้ทรงจัดหาเครื่องอัฐบริขารให้ ท่านจึงได้อุปสมบทครั้งที่ 2 เมื่ออายุได้ 39 ปี ตก พ.ศ. 2394 ณ พัทธสีมา วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู กรงเทพมหานคร โดยมีกรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ (ต่อมาคือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์) เป็นพระอุปัชฌาย์ คราวนี้ได้ฉายาว่า ปุสฺสเทโว ขณะอายุได้ 38 ปี เมื่ออุปสมบทแล้ว ว่ากันว่า ได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้งหนึ่ง และทรงแปลได้หมดทั้ง 9 ประโยค จึงมีผู้กล่าวถึงพระองค์ด้วยสมญานามว่า สังฆราช 18 ประโยค ในคราวอุปสมบทครั้งที่ 2 นี้ พระองค์เป็นพระอันดับอยู่ 7 ปี จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระสาสนโสภณ เมื่อปี พ.ศ. 2401 รับพระราชทานนิตยภัตเสมอพระราชาคณะชั้นเทพ แต่ถือตาลปัตรแฉกเสมอพระราชาคณะชั้นสามัญ[4] คนทั่วไปเรียกกันโดยย่อว่า เจ้าคุณสา
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2408 ซึ่งเป็นวัดแรกที่ตั้งขึ้นใหม่ของธรรมยุติกนิกายขึ้น แล้วโปรดให้พระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว) ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐฯ มีพระภิกษุติดตามจากวัดบวรนิเวศวิหารอีก 20 รูป ครั้งนี้ท่านได้รับพระราชทานตาลปัตรแฉกพื้นแพรเสมอชั้นธรรม[4] และเมื่อปี พ.ศ. 2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ สถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่พระธรรมวโรดม แต่คงใช้ราชทินนามเดิมว่า พระสาสนโสภณที่พระธรรมวโรดม ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2422 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ
สมเด็จพระสังฆราช
[แก้]ปี พ.ศ. 2434 ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สถิต ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม จนตลอดพระชนมชีพ ในปี พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ สถาปนาเพิ่มอิสริยยศให้เป็นพิเศษกว่าสมเด็จพระราชาคณะแต่ก่อนมา คือทรงสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ นับว่าเป็น พระมหาเถระรูปที่ 2 ที่ได้รับสถาปนาในพระราชทินนามนี้ อันเป็นพระราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เมื่อพระองค์ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. 2436 พระองค์ไม่ได้รับพระราชนามพระสุพรรณบัฏใหม่ คงใช้พระสุพรรณบัฏเดิม แต่ได้รับพระราชทานใบกำกับพระสุพรรณบัฏใหม่ และมีฐานานุศักดิ์ ตั้งฐานานุกรมได้ 16 ตำแหน่ง (ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่พิเศษ เพราะปกติจะมี 15 ตำแหน่งเท่านั้น)
ผลงาน
[แก้]พระองค์ได้แต่งหนังสือเทศน์ขึ้นไว้ สำหรับใช้อ่านในวันธรรมสวนะปกติ และในวันบูชา แต่งเรื่องปฐมสมโพธิ์ย่อ 3 กัณฑ์จบ สำหรับถวายเทศน์ในวันวิสาขบูชา 3 วัน ๆ ละ หนึ่งกัณฑ์ และเรื่องจาตุรงคสันนิบาตกับโอวาทปาติโมกข์ สำหรับถวายในวันมาฆบูชาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และยังได้ รจนาปฐมสมโพธิ์ภาคพิสดาร สำหรับใช้เทศนาในวัด 2 คืนจบอีกด้วย พระนิพนธ์ต่าง ๆ ของพระองค์ ยังคงใช้ ในการเทศนา และศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุ สามเณร จนถึงปัจจุบัน งานพระนิพนธ์ของพระองค์มีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นงานแปลพระสูตรที่มีอยู่ 20 สูตร หนังสือเทศนามี 70 กัณฑ์ และเบ็ดเตล็ดมี 5 เรื่อง
ในปี พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งแต่เดิมจารึกไว้ด้วย อักษรขอม ด้วยการจารลงในใบลาน การคัดลอกทำได้ช้า ทำให้ไม่เป็นที่แพร่หลาย ไม่พอใช้ในการศึกษาเล่าเรียน ไม่สะดวกในการเก็บรักษา และนำมาใช้อ่าน ทั้งตัวอักษรขอมก็มีผู้อ่านได้น้อยลงตามลำดับ การพิมพ์พระไตรปิฎก เป็นเล่มด้วยตัวอักษรไทย จะแก้ปัญหาข้อขัดข้องดังกล่าวได้ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้อาราธนาพระเถระนุเถระมาประชุม ร่วมกับราชบัณฑิตทั้งหลาย ตรวจชำระพระไตรปิฎกภาษาบาลี แล้วจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือขึ้น (เรียกว่าพระไตรปิฎกฉบับ ร.ศ. 112) สมเด็จพระสังฆราช (สา) ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ร่วมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระยศกรมหมื่น เป็นรองอธิบดี จัดการทั้งปวงในการสังคายนาครั้งนี้[5] พระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ครั้งนี้มีจำนวน 1000 จบ ๆ ละ 39 เล่ม ใช้เงิน 2,000 ชั่ง พิมพ์เสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2436 เป็นที่เลื่องลือแพร่หลายไปทั่วโลก
และทรงผูกพระคาถาหน้าบันกระทรวงกลาโหม และตราแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 (ตราอาร์ม)
ลำดับสมณศักดิ์
[แก้]ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก | |
---|---|
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | เกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน |
การขานรับ | เกล้ากระหม่อม พะย่ะค่ะ/เพคะ |
- พ.ศ. 2382 เป็นพระราชาคณะที่ พระอมรโมลี (หลังจากย้ายจากวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร มาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหารได้ 2 ปี)
- พ.ศ. 23?? ลาสิกขาบท
- พ.ศ. 2394 กลับมาอุปสมบทใหม่
- พ.ศ. 2401 เป็นพระราชาคณะที่ พระสาสนโสภณ (ตำแหน่งสมณศักดิ์ใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริขึ้นเพื่อพระมหาสา ผู้กลับมาบวชใหม่และสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ณ สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารอีกครั้งโดยเฉพาะ) ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์นี้เมื่อปีมะเมีย เดิมที ทรงพระราชดำริจะใช้ตำแหน่งว่า "พระสาสนดิลก" แต่พระมหาสาได้ถวายพระพรว่าสูงเกินไป จึงทรงใช้ว่า ’พระสาสนโสภณ’
- พ.ศ. 2415 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองคณะใต้ที่ พระสาสนโสภณ วิมลญาณสุนทร บวรสังฆนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณาลังการวิสุทธิ ธรรมวรยุตติกคณาภิสัมมานิตปาโมกษ์ ที่พระธรรมวโรดม[6]
- พ.ศ. 2422 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลย์ สุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบลยคัมภีรญาณสุนทร มหาอุดรคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี[7]
- พ.ศ. 2434 ได้รับสถาปนาเพิ่มอิสริยยศเป็น สมเด็จพระอริยวงษาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง มหาสงฆปรินายก ตรีปิฎกกลากุสโลภาศ ปรมินทรมหาราชหิโตปสัมปทาจารย์ ปุสสเทวาภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตมสาสนโสภณ วิมลศีลสมาจารวัตร พุทธสาสนิกบริสัชคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ อดุลยคัมภีรญาณสุนทร มหาอุดรคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสีอรัญวาสี[8]
- 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชในราชทินนามเดิมว่า สมเด็จพระอริยวงษาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง มหาสงฆปรินายก ตรีปิฎกกลากุศโลภาศ ปรมินทรมหาราชหิโตปสัมปทาจารย์ ปุสสะเทวาภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตมสาสนโศภน วิมลศีลสมาจารวัตร พุทธสาสนิกบริสัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ อดุลยคัมภีรญาณสุนทร มหาอุดดรคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสีอรัญวาสี[9] ดำรงตำแหน่งประธานสมณมณฑลทั่วราชอาณาเขตและเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ
สิ้นพระชนม์
[แก้]สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ประชวรด้วยพระโรคบิดมาตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม แพทย์หลวงและแพทย์เชลยศักดิ์ต่างจัดพระโอสถถวาย แต่พระอาการไม่ทุเลา จนสิ้นพระชนม์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2442 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2443) เวลาเย็นวันต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ จากพระราชวังบางปะอินมายังวัดราชประดิษฐฯ พระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ ร่วมสรงน้ำพระศพ แล้วอัญเชิญพระศพลงในพระลองในประกอบโกศกุดั่นน้อย ทรงสดับปกณณ์แล้วเสด็จกลับ[10]
พระศพตั้งบำเพ็ญกุศลจนถึงวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2443 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2444) จึงอัญเชิญพระบุพโพไปพระราชทานเพลิง ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พร้อมกับพระบุพโพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์[11] ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 จึงแห่พระศพไปประดิษฐานยังพระเมรุมณฑป ณ ท้องสนามหลวง แล้วพระราชทานเพลิงพระศพในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ศกนั้น เช้าวันที่ 14 กุมภาพันธ์ จึงเสด็จฯ มาเก็บพระอัฐิและพระอังคารแล้วโปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐานยังวัดราชประดิษฐฯ[12]
หลังจากสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกเลยตลอดรัชสมัย เป็นเวลาถึง 11 ปี
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์, เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์, หน้า 103, สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2566
- ↑ นนทพร อยู่มั่งมี, สกุล “ปุสสเทโว” “ปุสสเด็จ” แห่งนนทบุรี เชื้อสายสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์, สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2566
- ↑ นนทพร อยู่มั่งมี, พระสังฆราช สา ปุสฺสเทโว “สังฆราช 18 ประโยค สามเณรเปรียญ 9 ประโยครูปแรกในรัตนโกสินทร์, สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2566
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อเรื่องตั้ง หน้า 104
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การสาศนูปถัมภก คือ การพิมพ์พระไตรปิฎก, เล่ม 5, หน้า 410
- ↑ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 105
- ↑ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์, เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์, หน้า 106, สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2566
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 8, ตอน 52, หน้า 463–465
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศในการตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 10, หน้า 389
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์สมเด็จพระสังฆราช, เล่ม 16, ตอน 42, 14 มกราคม ค.ศ. 1899, หน้า 605
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การพระราชทานเพลิงพระบุพโพ พระเจ้าบรมวงษเธอกรมสมเด็จพระปวเรศวรวริยาอลงกรณ์ แลสมเด็จพระสังฆราช, เล่ม 17, ตอน 42, 13 มกราคม ค.ศ. 1900, หน้า 605
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การพระศพสมเด็จพระสังฆราช, เล่ม 17, ตอน 48, 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1900, หน้า 682-6
- บรรณานุกรม
- สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. ISBN 974-417-530-3
ก่อนหน้า | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ |
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (พ.ศ. 2436 - พ.ศ. 2442) |
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส | ||
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่ อินฺทสโร) | เจ้าคณะใหญ่คณะเหนือ (พ.ศ. 2422 - พ.ศ. 2442) |
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง ปญฺญาทีโป) | ||
- | เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม (พ.ศ. 2408 - พ.ศ. 2442) |
พระสาสนโสภณ (อ่อน อหึสโก) |