หม่อมประทุม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมประทุม
พระองค์เจ้า
พระสวามีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
พระบุตรเจ้าเล็ก (เป็นที่ถกเถียง)[1]
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง (ประสูติ)
ธนบุรี (เสกสมรส)
พระบิดาเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์
พระมารดาหม่อมเจ้าสวย

หม่อมประทุม มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ามิตร[2] (หรือ มิต)[3] เป็นพระธิดาในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ ประสูติแต่หม่อมเจ้าสวย และเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[2] หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง หม่อมประทุมได้ถวายตัวเข้าเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[3]

ปรามินทร์ เครือทอง สันนิษฐานว่าหม่อมประทุม คือนางห้ามที่ถูกเฆี่ยนจนเสียชีวิตจากคดี "นางห้ามประสูติเจ้า" ซึ่งเกิดความระแวงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่เข้าพระทัยว่าการมีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียวไม่สามารถทำให้ตั้งครรภ์ได้[1]

พระประวัติ[แก้]

ชีวิตตอนต้น[แก้]

หม่อมประทุม ปรากฏอยู่ใน คำให้การชาวกรุงเก่า มีพระนามและพระยศเดิมว่า พระองค์เจ้ามิตร (หรือ มิต) เป็นพระธิดาในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ ประสูติแต่หม่อมเจ้าสวย พระชนกเป็นวังหน้าและเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ส่วนพระชนนีเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ[4] หม่อมประทุมเป็นพระธิดาพระองค์โต อีกทั้งยังประสูติก่อนที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์จะดำรงพระอิสริยยศเป็นพระมหาอุปราช ดังปรากฏความใน คำให้การชาวกรุงเก่า ว่า "แต่ก่อนเมื่อยังไม่ได้เป็นพระมหาอุปราชนั้น เจ้าฟ้านราธิเบศร์มีเจ้าหญิงมิตร์ เจ้าหญิงชื่น เจ้าชายฉัตร์ เกิดแต่หม่อมเหญก มีเจ้าชายสีสังข์เกิดแต่หม่อมจัน มีเจ้าดาราเกิดแต่หม่อมเจ้าหญิงสร้อย มีเจ้าชายมิ่งเกิดแต่หม่อมต่วน มีเจ้าหญิงชี เจ้าหญิงชาติ เกิดแต่หม่อมสุ่น รวม 8 องค์"[5] หม่อมประทุมมีพระขนิษฐา (บางแห่งว่าเป็น พระอนุชา) ร่วมพระชนกชนนีอีกสองพระองค์ คือ พระองค์เจ้าทับ และพระองค์เจ้าชื่น[2] นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวให้ข้อมูลว่า "มารดาเจ้ามิตร" ถูกจับได้ว่าลักลอบคบหากับนายปิ่น กลาโหม จึงถูกเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ลงโทษด้วยการเฆี่ยน 700 ครั้งจนตายกับคา[6] ส่วนเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์เองก็ถูกดำเนินคดีให้ข้อหาทำชู้เจ้าฟ้าสังวาลย์ ซึ่งเป็นพระมเหสีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศผู้เป็นพระราชชนก อันเกิดจากการแก้แค้นของเจ้าสามกรม ได้แก่ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี ที่เคยถูกเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ลงอาญาเฆี่ยนมาก่อนหน้านี้ โดยกรมหมื่นเทพพิพิธ มีบทบาทสำคัญต่อการเฆี่ยนเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์จนดับสูญพระชนม์[7]

ครั้นเมื่อถึงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง หม่อมประทุมไม่ได้ถูกกวาดไปฝั่งเมืองพม่าด้วย หากแต่ถูกกักขังไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ร่วมกับเจ้านายฝ่ายในพระองค์อื่นที่ยังตกค้างอยู่[1] ต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยกทัพขึ้นไปตีค่ายโพธิ์สามต้นคืนจากสุกี้พระนายกอง จึงทรงรับอุปการะเจ้านายฝ่ายในจากกรุงเก่ามาชุบเลี้ยง ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุไว้ความว่า[1]

"...ในเขตแดนแว่นแคว้นสยามประเทศ เหตุว่าหาเจ้าแผ่นดินจะปกครองบมิได้ เหมือนดุจสัตถันดรกัล์ปและทุพภิกขันดรกัล์ป และพระราชวงศานุวงศ์ ซึ่งเหลืออยู่พม่ามิได้เอาไปนั้น ตกอยู่ ณ ค่ายโพธิ์สามต้นก็มีบ้าง ที่หนีไปเมืองอื่นนั้นก็มีบ้าง และเจ้าฟ้าสุริยา 1 เจ้าฟ้าพินทวดี 1 เจ้าฟ้าจันทวดี 1 พระองค์เจ้าฟักทอง 1 ทั้ง 4 พระองค์นี้ เป็นราชบุตรีพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ และเจ้ามิตรบุตรีกรมพระราชวัง 1 หม่อมเจ้ากระจาดบุตรีกรมหมื่นจิตรสุนทร 1 หม่อมเจ้ามณีบุตรีกรมหมื่นเสพภักดี 1 หม่อมเจ้าฉิมบุตรีเจ้าฟ้าจีด 1 เจ้าทั้งนี้ตกอยู่กับพระนายกอง ณ ค่ายโพธิ์สามต้น อนึ่งพระองค์เจ้าทับทิมบุตรีสมเด็จพระอัยกานั้น พวกข้าไทพาหนีออกไป ณ เมืองจันทบูร เจ้าตากก็สงเคราะห์รับเลี้ยงดูไว้..."

ในราชสำนักธนบุรี[แก้]

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเองก็ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะชุบเลี้ยงเชื้อพระวงศ์จากกรุงเก่ามาเป็นบาทบริจาริกา ด้วยมุ่งหวังที่จะผสมสายเลือดเจ้าเก่าเข้ากับสายเลือดของพระองค์[1][8] เพราะทรงรับเจ้านายฝ่ายในจากราชสำนักอยุธยามาชุบเลี้ยงเป็นบาทบริจาริกาจำนวนสี่พระองค์ ได้แก่ เจ้ามิตร เจ้ากระจาด เจ้าอุบล และเจ้าฉิม โดยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้พระราชทานพระนามใหม่แก่พระองค์ว่า "ประทุม" ดังปรากฏใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ระบุความไว้ตอนหนึ่งว่า[3]

"...บุตรกรมหมื่นจิตรสุนทร หม่อมเจ้ากระจาด ให้ชื่อว่าบุษบา บุตรกรมพระราชวัง หม่อมเจ้ามิต ประทานชื่อประทุม บุตรกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมมงคล หม่อมพควม พี่หม่อมอุบล บุตรเจ้าฟ้าจีด เลี้ยงเสมอกันทั้ง ๔ คน แต่โปรดหม่อมฉิม หม่อมอุบล ประทมอยู่คนละข้าง..."

อย่างไรก็ตาม เจ้านายเหล่านี้ล้วนขาดที่พึ่งในช่วงผลัดเปลี่ยนราชวงศ์ การช่วงชิงอำนาจราชสำนักฝ่ายในจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเจ้าผู้หญิง หม่อมประทุมถูกรายล้อมไปด้วยเจ้าฝ่ายในที่เป็นศัตรูทางการเมืองของพระบิดา โดยเฉพาะหม่อมอุบล พระธิดาในกรมหมื่นเทพพิพิธ และหม่อมบุษบา พระธิดาในกรมหมื่นจิตรสุนทร เพราะบิดาของทั้งสองคือต้นเหตุที่ทำให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ทิวงคต[1]

หม่อมประทุม มีบทบาทสำคัญต่อกรณี "ฝรั่งจับหนู" โดยกล่าวหาว่าหม่อมอุบลและหม่อมฉิม ทำชู้กับฝรั่งสองคนคือชิดภูบาลและชาญภูเบศร์ พร้อมนางรำอีกสี่คน ดังปรากฏใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ความว่า[3]

"...วิบัติหนูกัดพระวิสูตร รับสั่งให้ชิดภูบาล ชาญภูเบศร์ ฝรั่งคนโปรดทั้งคู่ให้เข้ามาไล่จับหนูใต้ที่เสวย (แล) ในที่ (บรรทม) ด้วย เจ้าประทุมทูลว่าฝรั่งเปนชู้กับหม่อมฉิม หม่อมอุบล กับคนรำ 4 คน เปน 6 คนด้วยกัน รับสั่งถามหม่อมอุบลไม่รับ หม่อมฉิมว่ายังจะอยู่เปนมเหษีขี้ซ้อนฤๅ มาตายตามเจ้าพ่อเถิด รับเปนสัตย์หมด ให้เฆี่ยนเอาน้ำเกลือรด ทำประจานด้วยแสนสาหัส ประหารชีวิตผ่าอกเอาเกลือทา ตัดมือตัดเท้า..."

ปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถสรุปว่าหม่อมอุบลและหม่อมฉิมทำชู้กับฝรั่งจริง หรือเป็นเพียงการใส่ความอันเกิดจากความอิจฉาริษยาของหม่อมประทุม[1][9]

กรณีนางห้ามประสูติเจ้า[แก้]

กรณีนางห้ามประสูติเจ้าเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2312[10] เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังกรณีฝรั่งจับหนู ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นการตั้งครรภ์และให้กำเนิดพระราชบุตรของนางห้ามนางหนึ่งในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งไม่ได้ระบุนามของนางห้ามนี้ในเอกสารไทยใด ๆ เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความฉงนพระทัยแก่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เพราะเคยเรียกนางห้ามคนนี้มาถวายงานเพียงครั้งเดียว แต่กลับตั้งครรภ์ได้อย่างน่าพิศวง พระองค์รู้สึกระแวงพระทัยว่าเด็กที่เกิดมานั้นไม่ใช่พระราชบุตรของพระองค์ จึงสอบถามนางห้ามคนดังกล่าวว่าท้องกับใคร แต่นางห้ามผู้นั้นทูลตอบพระองค์ว่า "ท้องกับเจ๊ก" สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่พอพระทัยอย่างยิ่ง จึงจับนางห้ามผู้นั้นไปเฆี่ยนจนตาย[1] ดังปรากฏใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ความว่า[11]

"...นางห้าม ประสูตรเจ้า ท่านสงไสยว่าเรียกหนเดียวมิใช่ลูกท่าน รับสั่งให้หาภรรยาขุนนางเข้าไปถาม ได้พยานคนหนึ่งว่าผัวไปหาหนเดียวมีบุตร จึงถามเจ้าตัวว่าท้องกับใคร ว่าท้องกับเจ๊ก เฆี่ยนสิ้นชีวิตรในฝีหวาย แต่เจ้าเล็กนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระไอยกาเอาไปเลี้ยงไว้..."

ศาสตราจารย์ ขจร สุขพานิช แสดงความเห็นว่า นางห้ามประสูติเจ้านี้ น่าจะเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ซึ่งไม่ปรากฏพระนามของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยกล่าวไว้ว่า "...การที่ขุนหลวงตากทรงให้ประหาร "นางห้าม ประสูติเจ้า" นี้ดูจะเป็นเรื่องลึกลับชอบกล ดูประหนึ่งผู้ร่วมราชสกุลวงศ์ชั้นหลังคงอยากลืม หรืออยากปล่อยให้เรื่องเลือนรางหายไปเอง..."[12] ขณะที่ปรามินทร์ เครือทอง อธิบายว่าเมื่อพิจารณาช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงลาผนวชใน พ.ศ. 2300–2301 พระราชธิดาพระองค์ใหญ่พระองค์นี้น่าจะประสูติช่วง พ.ศ. 2302–2304 เมื่อเปรียบเทียบอายุกับปีที่เกิดเหตุการณ์นางห้ามประสูติเจ้า พบว่าพระราชธิดาพระองค์นี้จะมีพระชันษาราว 10–11 ปี ซึ่งไม่เข้าข่ายการถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาได้[10] แต่ปรามินทร์ตั้งข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า บาทบริจาริกาที่เข้าข่ายเป็นนางห้ามประสูติเจ้ามีอยู่สองท่าน คือ หม่อมบุษบา และหม่อมประทุม ซึ่งทั้งสองมีเชื้อเจ้ามาแต่เดิม ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า "เจ้าเล็ก" เป็นพระราชโอรสที่ประสูติออกมา ก็ถูกสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระไอยกาซึ่งก็คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะนั้นยังเป็นเจ้าพระยาจักรีเสี่ยงพระราชอาญานำเจ้าเล็กไปเลี้ยง โดยเขาให้เหตุผลว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเคยเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งเป็นเจ้าในราชวงศ์บ้านพลูหลวง ปรามินทร์จึงสรุปว่าหม่อมประทุมน่าจะเป็นนางห้ามคนดังกล่าวมากกว่าหม่อมบุษบา[1][10] แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าเล็ก ก็ถูกประหารตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ดังปรากฏใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ความว่า[13]

"...ประทมอยู่ แว่วเสียงลูกอ่อนร้องที่ข้างน่า กริ้วว่าลูกมันหาเอาไปกับแม่มันไม่ ยังจะทำพันธุ์ไว้อิก สมเด็จพระไอยกาทราบทรงพระดำริห์รแวงผิด จึงส่งให้เจ้าวังนอก ว่าสุดแต่เธอ ก็ทำตามกระแสรับสั่ง สำเร็จโทษเสีย..."

ลำดับสาแหรก[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 ปรามินทร์ เครือทอง (7 มกราคม 2563). ""ท้องกับเจ๊ก" การเมืองราชสำนักฝ่ายใน เรื่องซุบซิบเจ้าหญิงอยุธยาในพระเจ้าตากสินฯ". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 "คำให้การชาวกรุงเก่า". พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา, หน้า 626–627
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี, หน้า 59–60
  4. 4.0 4.1 "คำให้การชาวกรุงเก่า". พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา, หน้า 623, 627
  5. "คำให้การชาวกรุงเก่า". พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา, หน้า 551
  6. "คำให้การชาวกรุงเก่า". พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา, หน้า 366
  7. "คำให้การชาวกรุงเก่า". พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา, หน้า 367
  8. สตรีสยามในอดีต, หน้า 82
  9. สตรีสยามในอดีต, หน้า 88
  10. 10.0 10.1 10.2 กบฏเจ้าฟ้าเหม็น, หน้า 18–24
  11. พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี, หน้า 63–64
  12. "อัจฉริยะของขุนหลวงตาก". อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช, หน้า 145
  13. พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี, หน้า 71–72

บรรณานุกรม[แก้]

  • ขจร สุขพานิช. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช. กรุงเทพฯ : ศรีอนันต์, 2521. 215 หน้า.
  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระพระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2552. 576 หน้า. ISBN 978-611-7146-02-2
  • ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555. 240 หน้า. ISBN 978-974-02-0858-7
  • วิบูล วิจิตรวาทการ, น.พ.. สตรีสยามในอดีต. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2542. 362 หน้า. ISBN 974-7377-29-2
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2559. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9