หม่อมฉิม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมฉิม
หม่อมเจ้า
พระสวามีไม่ทราบนาม[1]
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง (ประสูติ)
ธนบุรี (เสกสมรส)
พระบิดากรมขุนสุรินทรสงคราม

หม่อมฉิม หรือ เจ้าจอมฉิม เป็นพระธิดาในกรมขุนสุรินทรสงคราม อยู่ในชั้นพระปนัดดาในสมเด็จพระเพทราชา และสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองและหลังการมรณกรรมของกรมขุนสุรินทรสงคราม หม่อมฉิมได้เข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[2][3] แต่ไม่นานหลังจากนั้น หม่อมฉิมต้องโทษประหารพร้อมกับหม่อมอุบล บาทบริจาริกาอีกคนหนึ่ง ด้วยการผ่าอกแล้วเอาเกลือทาจากข้อหาเป็นชู้กับฝรั่ง[2]

พระประวัติ[แก้]

ชีวิตช่วงต้น[แก้]

หม่อมฉิม มีพระยศเดิมเป็นหม่อมเจ้า เป็นพระธิดาในกรมขุนสุรินทรสงคราม (พระนามเดิม เจ้าฟ้าจีด หรือจิตร) กับนางห้ามไม่ปรากฏนาม พระชนกเป็นพี่น้องกับเจ้าฟ้าสังวาลย์ พระมเหสีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ด้วยความที่เป็นพระโอรสของพระองค์เจ้าแก้วในสมเด็จพระเพทราชา ประสูติแต่เจ้าฟ้าเทพในสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ กรมขุนสุรินทรสงครามจึงมีฐานันดรศักดิ์เป็นเจ้าฟ้าตามพระชนนี[4][5] นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายว่า "..แม้ดำรงพระยศถึงเจ้าฟ้า แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นพระบรมวงศ์ที่ลี้ลับ ไม่เด่นทางการเมืองพอที่จะให้ผู้คนมาฝากเนื้อฝากตัว..."[6] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า กรมขุนสุรินทรสงครามน่าจะเป็นเครือญาติของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)[7]

หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง กรมขุนสุรินทรสงครามเสด็จลี้ภัยไปยังเมืองพิษณุโลก ก่อนรวบรวมสมัครพรรคพวกยึดครองเมืองดังกล่าว กวาดทรัพย์สิน เผาจวนเจ้าเมือง และตั้งตนเป็นเจ้าผู้ครองแทน หลังนั่งเมืองพิษณุโลกได้ไม่นาน ก็ถูกเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จับกุมตัว และสำเร็จโทษด้วยการถ่วงน้ำจนสิ้นพระชนม์[8][9] หม่อมฉิมสูญเสียพระชนกไปตั้งแต่ยังเยาว์ชันษา และต้องตกระกำลำบากไปตามยถากรรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ว่า "...เจ้าฉิมก็คงซัดเซคเนจรมาแล้วเหมือนกัน อาจจะทำผิดได้..."[2] เข้าใจว่าหม่อมฉิมน่าจะเคยมีสามีมาแล้ว หาใช่หญิงที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง[1] ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยกทัพขึ้นไปตีเกยไชย เขตเมืองพิษณุโลก[ก] จึงรับตัวหม่อมฉิมลงอุปถัมภ์อำรุงด้วย[2] ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเองก็ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะชุบเลี้ยงเชื้อพระวงศ์จากกรุงเก่ามาเป็นบาทบริจาริกา ด้วยมุ่งหวังที่จะผสมสายเลือดเจ้าเก่าเข้ากับสายเลือดของพระองค์[9][10]

ราชสำนักธนบุรีและจุดจบ[แก้]

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงรับเจ้านายฝ่ายในจากราชสำนักอยุธยามาชุบเลี้ยงเป็นบาทบริจาริกาจำนวนสี่พระองค์ ได้แก่ เจ้าประทุม (นามเดิม เจ้ามิตร) เจ้าบุปผา (นามเดิม เจ้ากระจาด) เจ้าอุบล และเจ้าฉิม ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เจ้านายเหล่านี้ล้วนขาดที่พึ่งในช่วงผลัดเปลี่ยนราชวงศ์ การช่วงชิงอำนาจราชสำนักฝ่ายในจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเจ้าผู้หญิง แม้จะต้องร่วมเรียงเคียงหมอนกับผู้ที่ฆ่าพระบิดาของตนเอง และรายล้อมไปด้วยเจ้าฝ่ายในที่เป็นศัตรูทางการเมืองของพระบิดา[9] กล่าวกันว่าหม่อมฉิมนั้นปรนนิบัติพัดวีพระราชสวามีเป็นอย่างดีจนเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย ถวายงานคู่กับหม่อมอุบล พระธิดาในกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งรักใคร่เข้ากันได้ดีจึงให้บรรทมคู่ซ้ายขวา ดังปรากฏความใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ระบุความไว้ว่า "...บุตรกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมมงคล หม่อมพควม พี่หม่อมอุบล บุตรเจ้าฟ้าจีด [คือหม่อมฉิม] เลี้ยงเสมอกันทั้ง ๔ คน แต่โปรดหม่อมฉิม หม่อมอุบล ประทมอยู่คนละข้าง..."[2] ด้วยเหตุนี้บรรดาเจ้าหญิงที่รับราชการเป็นบาทบริกาท่านอื่นเกิดคิดริษยา โดยเฉพาะหม่อมประทุม (นามเดิมหม่อมมิตร) เพ็ดทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่าหม่อมฉิมและหม่อมอุบลเป็นชู้กับชิดภูบาลและชาญภูเบศร์มหาดเล็กฝรั่งที่คอยไล่จับหนูในราชสำนัก แล้วยังกล่าวหาอีกว่าฝรั่งสองคนนี้ยังเล่นชู้กับนางรำอีกสี่คน ดังปรากฏความว่า "...วิบัติหนูกัดพระวิสูตร รับสั่งให้ชิดภูบาล ชาญภูเบศร์ ฝรั่งคนโปรดทั้งคู่ให้เข้ามาไล่จับหนูใต้ที่เสวย (แล) ในที่ (บรรทม) ด้วย เจ้าประทุมทูลว่าฝรั่งเปนชู้กับหม่อมฉิม หม่อมอุบล กับคนรำ ๔ คน เปน ๖ คนด้วยกัน..."[2]

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระดำรัสตรัสถาม แม้หม่อมอุบลจะทูลความจริงแต่พระราชสวามีก็มิทรงรับฟัง หม่อมฉิมซึ่งมีโวหารกล้าจึงเป็นผู้รับสัตย์แล้วกล่าวว่า "...ยังจะอยู่เปนมเหสีขี้ซ้อนฤๅ มาตายตามพ่อเจ้าเถิด..." เมื่อได้ยินความดังนั้นหม่อมอุบลจึงพลอยรับตาม ทั้งสองจึงถูกสำเร็จโทษโดยการเฆี่ยนแล้วเอาน้ำเกลือราดรด แล้วประหารชีวิตด้วยการผ่าอกเอาเกลือทา แล้วตัดมือตัดเท้าประจาน ซึ่งในขณะนั้นหม่อมอุบลมีครรภ์อยู่สองเดือน[2]

หลังการสำเร็จโทษ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงไม่สบายพระทัย แล้วตรัสว่าจะตายตามหม่อมอุบล ร้อนไปถึงท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) และเตี่ยหม่อมทองจันทน์นิมนต์พระเข้ามาชุมนุมสงฆ์ถวายพระพรสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อขอชีวิต เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกลับมามีสติสมประดีแล้วจึงพระราชทานเงินแก่ผู้ตามเสด็จ[2]

พงศาวลี[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปรับหม่อมฉิมพร้อมกับเจ้านายฝ่ายในพระองค์อื่น ๆ เมื่อคราวตีค่ายโพธิ์สามต้น ระบุเนื้อหาไว้ ความว่า[9]

"...ในเขตแดนแว่นแคว้นสยามประเทศ เหตุว่าหาเจ้าแผ่นดินจะปกครองบมิได้ เหมือนดุจสัตถันดรกัล์ปและทุพภิกขันดรกัล์ป และพระราชวงศานุวงศ์ ซึ่งเหลืออยู่พม่ามิได้เอาไปนั้น ตกอยู่ ณ ค่ายโพธิ์สามต้นก็มีบ้าง ที่หนีไปเมืองอื่นนั้นก็มีบ้าง และเจ้าฟ้าสุริยา 1 เจ้าฟ้าพินทวดี 1 เจ้าฟ้าจันทวดี 1 พระองค์เจ้าฟักทอง 1 ทั้ง 4 พระองค์นี้ เป็นราชบุตรีพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ และเจ้ามิตรบุตรีกรมพระราชวัง 1 หม่อมเจ้ากระจาดบุตรีกรมหมื่นจิตรสุนทร 1 หม่อมเจ้ามณีบุตรีกรมหมื่นเสพภักดี 1 หม่อมเจ้าฉิมบุตรีเจ้าฟ้าจีด 1 เจ้าทั้งนี้ตกอยู่กับพระนายกอง ณ ค่ายโพธิ์สามต้น อนึ่งพระองค์เจ้าทับทิมบุตรีสมเด็จพระอัยกานั้น พวกข้าไทพาหนีออกไป ณ เมืองจันทบูร เจ้าตากก็สงเคราะห์รับเลี้ยงดูไว้..."

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 ""ไล่จับหนู" เป็นเหตุ พระเจ้าตาก สั่งประหารเจ้าจอมสุดโหด ผ่าอก-ทาเกลือ-ตัดมือเท้า". ศิลปวัฒนธรรม. 8 สิงหาคม 2566. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาตม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี, หน้า 58, 60
  3. พระเจ้าตาก เบื้องต้น, หน้า 176
  4. คำให้การชาวกรุงเก่า, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 174
  5. จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1, หน้า 2
  6. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 46
  7. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. "พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงศรีอยุธยา (สงครามครั้งที่ ๒๔ คราวเสียกรุง ฯ ครั้งหลัง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาตม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. สตรีสยามในอดีต, หน้า 81
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 ปรามินทร์ เครือทอง (7 มกราคม 2563). ""ท้องกับเจ๊ก" การเมืองราชสำนักฝ่ายใน เรื่องซุบซิบเจ้าหญิงอยุธยาในพระเจ้าตากสินฯ". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. สตรีสยามในอดีต, หน้า 82

บรรณานุกรม[แก้]

  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระพระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2552. 576 หน้า. ISBN 978-611-7146-02-2
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559. 632 หน้า. ISBN 978-974-323-056-1
  • วิบูล วิจิตรวาทการ, น.พ.. สตรีสยามในอดีต. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2542. 362 หน้า. ISBN 974-7377-29-2
  • ปรามินทร์ เครือทอง. พระเจ้าตาก เบื้องต้น. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557. 196 หน้า. ISBN 978-974-02-1247-8