หม่อมบุษบา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมบุษบา
หม่อมเจ้า
พระสวามีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง (ประสูติ)
ธนบุรี (เสกสมรส)
พระบิดากรมหมื่นจิตรสุนทร

หม่อมบุษบา (หรือ บุบผา)[1] มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้ามวน[2] หรือ กระจาด[1] เป็นพระธิดาในกรมหมื่นจิตรสุนทร และเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง หม่อมบุษบาได้ถวายตัวเข้าเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[1]

พระประวัติ[แก้]

ชีวิตตอนต้น[แก้]

หม่อมบุษบา หรือบุบผา ปรากฏอยู่ใน คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่ามีพระยศและพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้ามวน เป็นพระธิดาในกรมหมื่นจิตรสุนทร (พระนามเดิม พระองค์เจ้ามังคุด) กับหม่อมห้ามไม่ปรากฏนาม[2] ส่วน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ระบุพระนามว่า หม่อมเจ้ากระจาด[1] และคาดว่าน่าจะเป็นบุคคลเดียวกัน[2] จากความขัดแย้งภายในราชสำนักช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ที่มีเจ้าทรงกรมสามพระองค์ (เรียกว่า เจ้าสามกรม) ได้แก่ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี พยายามก่อการรัฐประหารแย่งชิงราชสมบัติของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร โดยมีกรมหมื่นเทพพิพิธต่อต้านการรัฐประหารดังกล่าว และทำให้เจ้าสามกรมถูกประหารทั้งหมด[3]

ครั้นเมื่อถึงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง หม่อมบุษบาไม่ได้ถูกกวาดไปฝั่งเมืองพม่าด้วย หากแต่ถูกกักขังไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ร่วมกับเจ้านายฝ่ายในพระองค์อื่นที่ยังตกค้างอยู่[3] ต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยกทัพขึ้นไปตีค่ายโพธิ์สามต้นคืนจากสุกี้พระนายกอง จึงทรงรับอุปการะเจ้านายฝ่ายในจากกรุงเก่ามาชุบเลี้ยง ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุไว้ความว่า[3]

"...ในเขตแดนแว่นแคว้นสยามประเทศ เหตุว่าหาเจ้าแผ่นดินจะปกครองบมิได้ เหมือนดุจสัตถันดรกัล์ปและทุพภิกขันดรกัล์ป และพระราชวงศานุวงศ์ ซึ่งเหลืออยู่พม่ามิได้เอาไปนั้น ตกอยู่ ณ ค่ายโพธิ์สามต้นก็มีบ้าง ที่หนีไปเมืองอื่นนั้นก็มีบ้าง และเจ้าฟ้าสุริยา 1 เจ้าฟ้าพินทวดี 1 เจ้าฟ้าจันทวดี 1 พระองค์เจ้าฟักทอง 1 ทั้ง 4 พระองค์นี้ เป็นราชบุตรีพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ และเจ้ามิตรบุตรีกรมพระราชวัง 1 หม่อมเจ้ากระจาดบุตรีกรมหมื่นจิตรสุนทร 1 หม่อมเจ้ามณีบุตรีกรมหมื่นเสพภักดี 1 หม่อมเจ้าฉิมบุตรีเจ้าฟ้าจีด 1 เจ้าทั้งนี้ตกอยู่กับพระนายกอง ณ ค่ายโพธิ์สามต้น อนึ่งพระองค์เจ้าทับทิมบุตรีสมเด็จพระอัยกานั้น พวกข้าไทพาหนีออกไป ณ เมืองจันทบูร เจ้าตากก็สงเคราะห์รับเลี้ยงดูไว้..."

ในราชสำนักธนบุรี[แก้]

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเองก็ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะชุบเลี้ยงเชื้อพระวงศ์จากกรุงเก่ามาเป็นบาทบริจาริกา ด้วยมุ่งหวังที่จะผสมสายเลือดเจ้าเก่าเข้ากับสายเลือดของพระองค์[3][4] เพราะทรงรับเจ้านายฝ่ายในจากราชสำนักอยุธยามาชุบเลี้ยงเป็นบาทบริจาริกาจำนวนสี่พระองค์ ได้แก่ เจ้ามิตร เจ้ากระจาด เจ้าอุบล และเจ้าฉิม โดยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้พระราชทานพระนามใหม่แก่พระองค์ว่า "บุษบา" ดังปรากฏใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ระบุความไว้ตอนหนึ่งว่า[1]

"...บุตรกรมหมื่นจิตรสุนทร หม่อมเจ้ากระจาด ให้ชื่อว่าบุษบา บุตรกรมพระราชวัง หม่อมเจ้ามิต ประทานชื่อประทุม บุตรกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมมงคล หม่อมพควม พี่หม่อมอุบล บุตรเจ้าฟ้าจีด เลี้ยงเสมอกันทั้ง ๔ คน แต่โปรดหม่อมฉิม หม่อมอุบล ประทมอยู่คนละข้าง..."

อย่างไรก็ตาม เจ้านายเหล่านี้ล้วนขาดที่พึ่งในช่วงผลัดเปลี่ยนราชวงศ์ การช่วงชิงอำนาจราชสำนักฝ่ายในจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเจ้าผู้หญิง หม่อมบุษบาถูกรายล้อมไปด้วยเจ้าฝ่ายในที่เป็นศัตรูทางการเมืองของพระบิดา โดยเฉพาะหม่อมอุบล ซึ่งเป็นพระธิดาของกรมหมื่นเทพพิพิธ ผู้เป็นสาเหตุที่ทำให้กรมหมื่นจิตรสุนทรต้องถูกประหาร[3] แต่หลังการประหารชีวิตหม่อมฉิมและหม่อมอุบลในคดีฝรั่งจับหนู สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่สบายพระทัย และตรัสว่าจะกระทำอัตวินิบาตกรรมตามหม่อมอุบล ร้อนไปถึงท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) และเตี่ยหม่อมทองจันทน์นิมนต์พระเข้ามาชุมนุมสงฆ์ถวายพระพรสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อขอชีวิต เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกลับมามีสติสมประดีแล้วจึงพระราชทานเงินแก่ผู้ตามเสด็จ โดยหม่อมบุษบาได้ปรากฏในเอกสารอีกครั้งดังเนื้อความใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ความว่า[1]

"...สำเร็จโทษแล้วไม่สบายพระไทย คิดถึงหม่อมอุบล ว่ามีครรภ์อยู่ 2 เดือน ตรัสว่าจะตายตามหม่อมอุบลว่าใครจะตายกับกูบ้าง เสม เมียกรมหมื่นเทพพิพิธ ว่าจะตามเสด็จ หม่อมทองจันทน์ หม่อมเกษ หม่อมลา สั่งบุษบาตามเสด็จด้วย ประทานเงินคนละ 1 ชั่ง ให้บังสุกุลตัว ทองคนละ 1 บาท ให้ทำพระแล้ว ให้นั่งในแพหยวก นิมนต์พระเข้ามาบังสุกุลแล้วจะประหารชีวิตรคนที่ยอมตามเสด็จนั้นก่อน แล้วท่านจะแทงพระองค์ท่านตามไปอยู่กันเจ้าข้า พระสตินั้นฟั่นเฟือน เจ้าคุณใหญ่ทรงกันดาล กับเตี่ยหม่อมทองจันทน์ นิมนต์พระเข้ามามาก ชุมนุมสงฆ์ถวายพระพรขออย่างให้ทำหาควรไม่ ว่าที่จะได้พบกันนั้นหามิได้แล้ว ถวายพระพรขอชีวิตรไว้ ได้พระสติคืนสมประดีประทานเงินเติมให้แก่ผู้รับตามเสด็จนั้น..."

พงศาวลี[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี, หน้า 59-60
  2. 2.0 2.1 2.2 "คำให้การชาวกรุงเก่า". พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา, หน้า 628
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 ปรามินทร์ เครือทอง (7 มกราคม 2563). ""ท้องกับเจ๊ก" การเมืองราชสำนักฝ่ายใน เรื่องซุบซิบเจ้าหญิงอยุธยาในพระเจ้าตากสินฯ". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. สตรีสยามในอดีต, หน้า 82

บรรณานุกรม[แก้]

  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระพระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2552. 576 หน้า. ISBN 978-611-7146-02-2
  • วิบูล วิจิตรวาทการ, น.พ.. สตรีสยามในอดีต. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2542. 362 หน้า. ISBN 974-7377-29-2
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2559. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9