หม่อมอุบล
หม่อมอุบล | |
---|---|
หม่อมเจ้า | |
พระสวามี | นายแก่น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี |
ราชวงศ์ | บ้านพลูหลวง (ประสูติ) ธนบุรี (เสกสมรส) |
พระบิดา | กรมหมื่นเทพพิพิธ |
หม่อมอุบล หรือ เจ้าจอมอุบล ปรากฏใน คำให้การชาวกรุงเก่า ว่า หม่อมเจ้าอภัย เป็นพระธิดาในกรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[1][2] หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ครอบครัวของกรมหมื่นเทพพิพิธจึงตกระกำลำบาก หม่อมอุบลได้ตกเป็นภรรยาของนายแก่น ชายสามัญชนที่เมืองนครราชสีมา สุดท้ายได้รับราชการเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตามลำดับ[3] หม่อมอุบลต้องโทษประหารชีวิตกับหม่อมฉิมบาทบริจาริกาอีกองค์หนึ่งด้วยการผ่าอกแล้วเอาเกลือทาจากข้อหาเป็นชู้กับฝรั่ง[3]
พระประวัติ
[แก้]ชีวิตช่วงต้น
[แก้]หม่อมอุบลหรือหม่อมเจ้าอภัยเป็นพระบุตรคนหนึ่งจากทั้งหมดหกคนของกรมหมื่นเทพพิพิธ (พระนามเดิมพระองค์เจ้าแขก) กับนางห้ามไม่ปรากฏนาม[1][2] นิธิ เอียวศรีวงศ์สันนิษฐานว่าพระองค์อาจมีเชื้อสายลาวผ่านพระอัยยิกาฝ่ายพระชนก[4]
ก่อนหน้านี้กรมหมื่นเทพพิพิธเคยมีข้อหากบฏต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศผู้เป็นพระบิดา จึงถูกเนรเทศไปเกาะลังกา แต่กษัตริย์แห่งลังกาหวั่นเกรงเจ้านายพระองค์นี้มาก จึงเนรเทศกรมหมื่นเทพพิพิธออกจากเกาะ[4] ซึ่งประจวบเหมาะกับการที่พม่ากำลังล้อมกรุงศรีอยุธยาในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองจึงลักลอบเข้าอาณาจักรอยุธยาทางเมืองท่ามะริด[5] แล้วรวบรวมสมัครพรรคพวกแถบหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออกไว้ได้[6] กรมหมื่นเทพพิพิธจึงยกทัพออกจากเมืองจันทบูรไปที่เมืองปราจิณ[7] ต่อมาได้แอบส่งคนสนิทนำหม่อมห้ามและพระบุตรรวมไปถึงหม่อมอุบลหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา[8] ทางรัฐบาลอยุธยาเองก็ไม่ไว้ใจกรมหมื่นเทพพิพิธมากนักเพราะเป็นเจ้านายชั้นสูงมีคนเคารพนับถือมาก รัฐบาลจึงจัดทัพไปรบหมายจะชิงตัวกรมหมื่นเทพพิพิธ แต่การรบนั้นผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ แต่ที่สุดทัพของกรมหมื่นเทพพิพิธถูกทัพพม่าผลักออกไป[6] แล้วถูกพม่าตีแตก[7] กรมหมื่นเทพพิพิธจึงเสด็จขึ้นไปยังเมืองนครราชสีมาในฐานะเจ้านายชั้นสูงโดยปราศจากอำนาจทางทหาร และทิ้งสมัครพรรคพวกที่แตกฉานซ่านเซ็นไว้เบื้องหลัง[9] แต่ในเวลาต่อมาพระองค์ได้เกลี้ยกล่อมผู้คนจำนวนหนึ่งให้ไปตีเมืองนครราชสีมาจนสำเร็จ แต่ในระยะเวลาอันสั้นก็ถูกพวกหลวงแพ่งน้องชายเจ้าเมืองนครราชสีมาคนเก่าชิงเมืองคืน พระโอรสและคนสนิทต่างถูกฆ่าตาย ลูกสาวเมียสาวของพระองค์ก็ถูกพวกของหลวงแพ่งจับไปทำเมียหมด[4] โดยหม่อมอุบล แม้ตัวจะเป็นเจ้าแต่ก็ถูกนายแก่นชาวนครราชสีมาจับไปทำเมีย ส่วนหม่อมเสมนางห้ามคนหนึ่งของกรมหมื่นเทพพิพิธถูกกระทาชายชื่อนายย่นเอาไปทำเมีย[3][10] พระยาศรีสุริยวงศ์เจ้าเมืองพิมายเองก็คิดตั้งตัวเป็นใหญ่ โดยใช้ประโยชน์ทางการเมืองของกรมหมื่นเทพพิพิธและมีแนวคิดที่จะฟื้นฟูอาณาจักรอยุธยาขึ้นใหม่ ทรงยอมเป็นหุ่นเชิดทางการเมืองให้กับก๊กเจ้าพิมาย[11] ภายหลังกรมหมื่นเทพพิพิธให้พระยาศรีสุริยวงศ์และบุตรชายอีกสองคนสังหารหลวงแพ่ง นายแก่น และนายย่นจนตาย ด้วยเหตุนี้หม่อมอุบลจึงตกพุ่มม่าย ส่วนหม่อมเสมได้กลับเป็นเป็นนางห้ามในกรมหมื่นเทพพิพิธตามเดิม[10]
ราชสำนักธนบุรีและจุดจบ
[แก้]สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพมาตีเมืองพิมาย เพราะทรงหวั่นเกรงพระบารมีและสิทธิอันชอบธรรมในการสืบราชสันตติวงศ์ของกรมหมื่นเทพพิพิธ พระยาศรีสุริยวงศ์และพระยามหามนตรีบุตรชายคนโตถูกฆ่าตาย ส่วนพระยาวรวงศาธิราชบุตรคนเล็กหนีไปเมืองเสียมราฐสาบสูญไม่มีใครจับตัวได้[10] ในขณะที่กรมหมื่นเทพพิพิธและครอบครัวพยายามหลบหนีออกจากนครราชสีมาแต่ถูกขุนชนะ (ปิ่น) จับมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี[12] แต่ภายหลังถูกสำเร็จโทษ[10] ส่วนหม่อมอุบลและหม่อมเสมนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงรับเลี้ยงไว้เป็นบาทบริจาริกาต่อไป[13]
กล่าวกันว่าหม่อมอุบลนั้นปรนนิบัติพัดวีพระราชสวามีเป็นอย่างดีจนเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย ถวายงานคู่กับหม่อมฉิมธิดาเจ้าฟ้าจีดซึ่งรักใคร่เข้ากันได้ดีจึงให้บรรทมคู่ซ้ายขวา ดังปรากฏความใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ระบุความไว้ว่า "...บุตรกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมมงคล หม่อมพควม พี่หม่อมอุบล บุตรเจ้าฟ้าจีด [คือหม่อมฉิม] เลี้ยงเสมอกันทั้ง ๔ คน แต่โปรดหม่อมฉิม หม่อมอุบล ประทมอยู่คนละข้าง..."[3] ด้วยเหตุนี้บรรดาเจ้าหญิงที่รับราชการเป็นบาทบริกาท่านอื่นเกิดคิดริษยา โดยเฉพาะหม่อมประทุม (นามเดิมหม่อมมิตร) เพ็ดทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่าหม่อมฉิมและหม่อมอุบลเป็นชู้กับชิดภูบาลและชาญภูเบศร์มหาดเล็กฝรั่งที่คอยไล่จับหนูในราชสำนัก แล้วยังกล่าวหาอีกว่าฝรั่งสองคนนี้ยังเล่นชู้กับนางรำอีกสี่คน ดังปรากฏความว่า "...วิบัติหนูกัดพระวิสูตร รับสั่งให้ชิดภูบาล ชาญภูเบศร์ ฝรั่งคนโปรดทั้งคู่ให้เข้ามาไล่จับหนูใต้ที่เสวย (แล) ในที่ (บรรทม) ด้วย เจ้าประทุมทูลว่าฝรั่งเปนชู้กับหม่อมฉิม หม่อมอุบล กับคนรำ ๔ คน เปน ๖ คนด้วยกัน..."[3]
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระดำรัสตรัสถาม แม้หม่อมอุบลจะทูลความจริงแต่พระราชสวามีก็มิทรงรับฟัง หม่อมฉิมซึ่งมีโวหารกล้าจึงเป็นผู้รับสัตย์แล้วกล่าวว่า "...ยังจะอยู่เปนมเหสีขี้ซ้อนฤๅ มาตายตามพ่อเจ้าเถิด..." เมื่อได้ยินความดังนั้นหม่อมอุบลจึงพลอยรับตาม ทั้งสองจึงถูกสำเร็จโทษโดยการเฆี่ยนแล้วเอาน้ำเกลือราดรด แล้วประหารชีวิตด้วยการผ่าอกเอาเกลือทา แล้วตัดมือตัดเท้าประจาน ซึ่งในขณะนั้นหม่อมอุบลมีครรภ์อยู่สองเดือน[3]
หลังการสำเร็จโทษ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงไม่สบายพระทัย แล้วตรัสว่าจะตายตามหม่อมอุบล ร้อนไปถึงท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) และเตี่ยหม่อมทองจันทน์นิมนต์พระเข้ามาชุมนุมสงฆ์ถวายพระพรสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อขอชีวิต เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกลับมามีสติสมประดีแล้วจึงพระราชทานเงินแก่ผู้ตามเสด็จ[3]
พงศาวลี
[แก้]พงศาวลีของหม่อมอุบล | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 คำให้การชาวกรุงเก่า, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 178
- ↑ 2.0 2.1 คำให้การชาวกรุงเก่า, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 628
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์), หน้า 59-61
- ↑ 4.0 4.1 4.2 การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 155
- ↑ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 113
- ↑ 6.0 6.1 การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 28
- ↑ 7.0 7.1 การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 26
- ↑ สตรีสยามในอดีต, หน้า 84
- ↑ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 29
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 สตรีสยามในอดีต, หน้า 85-87
- ↑ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 38
- ↑ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 267
- ↑ สตรีสยามในอดีต, หน้า 88-89
- บรรณานุกรม
- จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์). กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2562. 576 หน้า. ISBN 978-611-7146-02-2
- นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559. 632 หน้า. ISBN 978-974-323-056-1
- วิบูล วิจิตรวาทการ, น.พ.. สตรีสยามในอดีต. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2542. 362 หน้า. ISBN 974-7377-29-2
- ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2559. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9