สตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 3 ซิธชำระแค้น
สตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 3 ซิธชำระแค้น | |
---|---|
กำกับ | จอร์จ ลูคัส |
เขียนบท | จอร์จ ลูคัส |
อำนวยการสร้าง | ริก แม็คคาลลัม |
นักแสดงนำ | |
กำกับภาพ | เดวิด เทตเทอร์ซอลล์ |
ตัดต่อ | |
ดนตรีประกอบ | จอห์น วิลเลียมส์ |
บริษัทผู้สร้าง | |
ผู้จัดจำหน่าย | ทเวนตีท์เซนจูรีฟอกซ์ |
วันฉาย |
|
ความยาว | 140 นาที[1] |
ประเทศ | สหรัฐ |
ภาษา | อังกฤษ |
ทุนสร้าง | 113 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2] |
ทำเงิน | 868.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2] |
สตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 3 ซิธชำระแค้น (อังกฤษ: Star Wars: Episode III – Revenge of the Sith) เป็นภาพยนตร์แนวมหากาพย์บันเทิงคดีอวกาศ ฉายเมื่อปี ค.ศ. 2005 เขียนบทและกำกับโดยจอร์จ ลูคัส แสดงนำโดย ยวน แม็คเกรเกอร์, นาตาลี พอร์ตแมน, เฮย์เดน คริสเตนเซน, เอียน เมกเดอร์มิด, ซามูเอล แอล. แจ็กสัน, คริสโตเฟอร์ ลี, แอนโทนี แดเนียลส์, เคนนี เบเกอร์และแฟรงค์ ออซ เป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายใน สตาร์ วอร์ส ไตรภาคต้น, ตอนที่สามใน มหากาพย์สกายวอร์คเกอร์ และเป็นภาพยนตร์ สตาร์ วอร์ส ที่ฉายเป็นลำดับที่หกจากทั้งหมด
ซิธชำระแค้น ดำเนินเรื่องหลังเกิดสงครามโคลน ใน สตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 2 กองทัพโคลนส์จู่โจม (ค.ศ. 2002) สามปี เหล่าเจได ได้กระจายไปทั่วกาแลกซี นำไปสู่สงครามขนาดใหญ่กับสมาพันธ์แบ่งแยกดินแดน หลัง เคาต์ ดูกู ถูกฆ่า สภาเจไดได้ส่ง โอบีวัน เคโนบี ไปสังหาร นายพลกรีวัส ผู้นำกองกำลังฝ่ายแบ่งแยกดินแดน เพื่อยุติสงครามนี้ ในขณะเดียวกัน อนาคิน สกายวอล์คเกอร์ ได้รับมอบหมายจากสภาเจไดให้คอยสอดแนม พัลพาทีน สมุหนายกแห่งสาธารณรัฐกาแลกติก ซึ่งแท้จริงแล้วเขาเป็นซิธลอร์ด ดาร์ธ ซีเดียส หลังอนาคินเห็นภาพนิมิตว่าภรรยาของเขา แพดเม่ อมิดาลา เสียชีวิตขณะคลอดบุตร พัลพาทีนจึงได้โน้มน้าวอนาคินให้เข้าสู่ด้านมืดของพลัง และกลายเป็นศิษย์ของเขาชื่อว่า ดาร์ธ เวเดอร์ และทำให้เกิดผลกระทบตามมามากมายต่อกาแลกซี ลูคัสเริ่มเขียนบทก่อนการสร้าง กองทัพโคลนส์จู่โจม จะเสร็จสิ้น การสร้าง ซิธชำระแค้น เริ่มต้นเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2003 โดยมีการถ่ายทำที่ ออสเตรเลีย, ไทย, สวิตเซอร์แลนด์, จีน, อิตาลีและสหราชอาณาจักร
ซิธชำระแค้น ฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 2005 ที่เทศกาลภาพยนตร์กาน ก่อนที่จะฉายทั่วโลกเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 2005 ภาพยนตร์ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักวิจารณ์ โดยชมในเรื่องฉากโลดโผน, ธีมที่เป็นผู้ใหญ่, ดนตรีประกอบ, เทคนิคด้านภาพและการแสดงของ แม็คเกรเกอร์, เมกเดอร์มิด, ออซและจิมมี สมิตส์ คำวิจารณ์ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่บทพูดและการแสดงของคริสเตนเซน ภาพยนตร์ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดใน สตาร์ วอร์ส ไตรภาคต้น ภาพยนตร์ทำลายสถิติหลายรายการในสัปดาห์เปิดตัว ต่อเนื่องไปจนทำเงินมากกว่า 868 ล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก ทำให้เป็นภาพยนตร์ สตาร์ วอร์ส ที่ทำเงินสูงสุดอันดับที่สองในเวลานั้น ยังเคยเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดในสหรัฐและภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดอันดับที่สองในปี ค.ศ. 2005 ภาพยนตร์ยังครองสถิติเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดในวันเปิดตัวในวันพฤหัสบดี ด้วยจำนวนเงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[3]
โครงเรื่อง
[แก้]เหนือดาวเคราะห์คอรัสซัง โอบีวัน เคโนบีและอนาคิน สกายวอล์คเกอร์ นำภารกิจช่วยเหลือสมุหนายกพัลพาทีน ซึ่งถูกลักพาตัวไปโดย นายพลกรีวัส ไซบอร์กผู้บัญชาการกองกำลังฝ่ายแบ่งแยกดินแดน หลังทั้งสองคนแทรกซึมเข้าไปในยานธงของกรีวัสและได้ต่อสู้กับเคาต์ ดูกู อนาคินเอาชนะดูกูได้และตัดหัวเขา หลังอนาคินได้รับการยั่วยุจากพัลพาทีน กรีวัสสามารถหลบหนีออกจากยานซึ่งได้รับความเสียหายหนัก ทำให้เจไดทั้งสองคนต้องนำยานอวกาศลงจอดสู่พื้นดินที่คอรัสซัง ที่นั่น อนาคินได้พบกับภรรยาของเขา แพดเม่ อมิดาลา เธอเปิดเผยว่าเธอกำลังตั้งครรภ์ ต่อมา อนาคินเริ่มฝันร้ายเห็นภาพแพดเม่เสียชีวิตขณะกำลังคลอดบุตร
พัลพาทีนได้แต่งตั้งให้อนาคินเป็นผู้แทนส่วนตัวของเขาในสภาเจได ทางสภาเจไดเริ่มสงสัยในตัวพัลพาทีน จึงอนุญาตให้อนาคินเป็นสมาชิกในสภาเจได แต่ปฏิเสธให้ตำแหน่งอาจารย์เจไดกับเขา และบอกให้อนาคินคอยสอดแนมพัลพาทีน ทำให้ความไว้วางใจของอนาคินที่มีต่อเจไดนั้นลดลง พัลพาทีนล่อลวงอนาคินด้วยความรู้เกี่ยวกับพลังของเขา รวมไปถึง พลังที่ป้องกันความตาย ขณะเดียวกัน โอบีวันเดินทางไปยูทาเปาและได้สังหารกรีวัส โยดาเดินทางไป คาชีค ดาวเกิดของวูกกี เพื่อป้องกันการรุกรานของฝ่ายแบ่งแยกดินแดน เมื่อพัลพาทีนเปิดเผยว่าเขารู้วิถีด้านมืดของพลังและพูดว่าเขามีพลังที่สามารถช่วยชีวิตแพดเม่ อนาคินรู้ทันทีว่าเขาคือซิธลอร์ดผู้อยู่เบื้องหลังสงครามโคลน และรายงานเรื่องนี้ให้กับเมซ วินดู ซึ่งต่อมาวินดูได้เผชิญหน้ากับพัลพาทีนและเอาชนะเขาได้ อนาคินซึ่งกำลังสิ้นหวังในการช่วยชีวิตแพดเม่ อนาคินได้เข้ามาขัดขวางโดยตัดแขนวินดูก่อนที่เขาจะฆ่าพัลพาทีน ทำให้พัลพาทีนใช้พลังสังหารวินดูและผลักเขาออกไปจนถึงแก่ความตาย อนาคินเข้าสู่ด้านมืดกลายเป็นซิธและพัลพาทีนเรียกเขาว่า ดาร์ธ เวเดอร์
พัลพาทีนออกคำสั่งที่ 66 เป็นคำสั่งที่ให้โคลนทรูปเปอร์ฆ่าเจไดซึ่งผู้บัญชาการของพวกเขา ทำให้นิกายเจไดถูกกวาดล้างจนเกือบหมด ขณะเดียวกัน เวเดอร์และกองทหารโคลนทรูปเปอร์ของเขา ฆ่าเจไดที่ยังหลงเหลืออยู่ในวิหารเจได หลังจากนั้นเวเดอร์ได้เดินทางไปยังดาวเคราะห์ภูเขาไฟ มุสตาฟา เพื่อฆ่าผู้นำฝ่ายแบ่งแยกดินแดน พัลพาทีนประกาศแต่งตั้งตัวเองเป็นจักรพรรดิต่อหน้าวุฒิสมาชิกกาแลกติก ก่อนจะเปลี่ยนการปกครองจากสาธารณรัฐเป็นจักรวรรดิกาแลกติก และกล่าวหาว่าเจไดเป็นกบฏ โอบีวันและโยดาเอาตัวรอดได้จากความโกลาหล ทั้งสองคนเดินทางกลับไปคอรัสซังและรับรู้ว่าอนาคินได้เข้าสู่ด้านมืด โยดาสั่งให้โอบีวันไปเผชิญหน้ากับเวเดอร์ ขณะที่โยดาเผชิญหน้ากับพัลพาทีน
เมื่อแพดเม่รับรู้ถึงการทรยศของอนาคิน เธอเดินทางไปมุสตาฟา โดยที่โอบีวันได้หลบซ่อนอยู่ในยานของเธอ แพดเม่ได้อ้อนวอนเวเดอร์ให้เวเดอร์ละทิ้งด้านมืด แต่เขาปฏิเสธ เมื่อโอบีวันปรากฏตัว เวเดอร์โกรธและคิดว่าแพดเม่พาโอบีวันมาเพื่อฆ่าตน เวเดอร์จึงใช้พลังบีบคอแพดเม่จนสลบ โอบีวันเข้าปะทะกับเวเดอร์ด้วยการดวลกระบี่แสง การดวลจบลงด้วยการที่โอบีวันตัดขาและแขนซ้ายของเวเดอร์ ปล่อยเขาไว้ที่ริมฝั่งซึ่งมีลาวาไหลผ่าน โอบีวันหยิบกระบี่แสงของเวเดอร์และดูเวเดอร์ถูกไฟเผาด้วยความสยองขวัญและปล่อยให้เขาตาย
ที่คอรัสซัง โยดาต่อสู้กับพัลพาทีน จนการดวลของพวกเขาจบด้วยการเสมอกัน โยดาหนีไปกับวุฒิสมาชิก เบล ออร์กานา และไปรวมกลุ่มกับโอบีวันและแพดเม่ บนดาวเคราะห์น้อย โพลิส แมสซา แพดเม่ได้ให้กำเนิดแฝดสอง เธอตั้งชื่อว่า ลุคและเลอา แล้วเธอก็เสียชีวิตหลังขาดแรงใจที่จะอยู่ต่อ ที่มุสตาฟา พัลพาทีนมารับตัวเวเดอร์ซึ่งยังมีชีวิตอยู่และพาเขาไปคอรัสซัง เขาได้รับการรักษาโดยการใส่แขนขากลและสวมชุดเกราะสีดำ เมื่อเวเดอร์ถามว่าแพดเม่นั้นปลอดภัยไหม พัลพาทีนตอบว่าเขาฆ่าเธอด้วยความโกรธ ทำให้เวเดอร์โกรธอย่างรุนแรง
โอบีวันและโยดาวางแผนซ่อนแฝดทั้งสองคนจากซิธและหายตัวไปจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมในการต่อสู้กับเอมไพร์ ขณะที่งานศพของแพดเม่จัดขึ้นที่นาบู ดาวเกิดของเธอ พัลพาทีนและเวเดอร์ดูแลการก่อสร้างของดาวมรณะ เบลพาเลอาไปยังดาวเกิดของเขา อัลเดอราน ซึ่งเขาและภรรยาของเขาจะเป็นคนรับเลี้ยง โอบีวันพาลุคไปยังบ้านของโอเวนและเบรู ลุงและป้าของลุค บนดาวทาทูอีน ก่อนที่จะหายตัวไปและคอยเฝ้าดูเขาอยู่ห่าง ๆ
นักแสดง
[แก้]- ยวน แม็คเกรเกอร์ เป็น โอบีวัน เคโนบี, อาจารย์เจได, นายพลแห่งสาธารณรัฐกาแลกติกและอาจารย์ของอนาคิน
- นาตาลี พอร์ตแมน เป็น แพดเม่ อมิดาลา, วุฒิสมาชิกของนาบู เป็นภรรยาของอนาคินอย่างลับ ๆ และตั้งครรภ์บุตรของพวกเขา
- เฮย์เดน คริสเตนเซน เป็น อนาคิน สกายวอล์คเกอร์, อัศวินเจได, วีระบุรุษแห่งสงครามโคลนและอดีตพาดาวันของโอบีวัน, ผู้เข้าสู่ด้านมืดของพลังและกลายเป็นซิธลอร์ด ดาร์ธ เวเดอร์
- เอียน เมกเดยร์มิด เป็น พัลพาทีน/ ดาร์ธ ซีเดียส, สมุหนายกแห่งสาธารณรัฐกาแลกติก ซึ่งแท้จริงเขาคือซิธลอร์ด ต่อมาได้ก่อตั้งและเป็นผู้นำของจักรวรรดิกาแลกติก เขาใช้ประโยชน์จากความไม่ไว้วางใจที่มีต่อเจไดของอนาคินและความกลัวที่เขาจะสูญเสียแพดเม่ไป ลวงเขาให้เข้าสู่ด้านมืดและกลายเป็นอาจารย์ของเวเดอร์
- ซามูเอล แอล. แจ็กสัน เป็น เมซ วินดู, อาจารย์เจไดและสมาชิกอาวุโสของสภาเจได
- จิมมี สมิตส์ เป็น เบล ออร์กานา, วุฒิสมาชิกของอัลเดอราน
- คริสโตเฟอร์ ลี เป็น เคาต์ ดูกู / ดาร์ธ ไทรานัส, ศิษย์ของดาร์ธ ซีเดียสซึ่งเป็นซิธและผู้นำของฝ่ายแบ่งแยก
- แอนโทนี แดเนียลส์ เป็น ซีทรีพีโอ, ดรอยด์การทูตส่วนตัวของอนาคินและแพดม่ ซึ่งถูกสร้างโดยอนาคินเมื่อตอนเป็นเด็ก
- เคนนี เบเกอร์ เป็น อาร์ทูดีทู, แอสโตรเมคดรอยด์ของอนาคิน
- แฟรงค์ ออซ เป็น เสียงของ โยดา, ปรมาจารย์เจไดและผู้นำของสภาเจได
ปีเตอร์ เมย์ฮิว, โอลิเวอร์ ฟอร์ด เดวีส์, อาเหม็ด เบสต์และซิลาส คาร์สัน กลับมารับบทเดิมจากภาพยนตร์ก่อนหน้านี้เป็น ชิวแบคคา, ซิโอ บิบเบิล, จาร์ จาร์ บิงคส์, นุต กันเรย์และคิ อดิ มันดิ ตามลำดับ โจเอล เอดเกอร์ตันและบอนนี เพียสส์ เป็นนักแสดงรับเชิญโดยกลับมารับบทเดิมจากใน กองทัพโคลนส์จู่โจม เป็นโอเวนและเบรู ลาร์ส วิศวกรเสียง แมตทิว วูด เป็นคนให้เสียง นายพลกรีวัส ไซบอร์กผู้บัญชาการกองกำลังดรอย์ของฝ่ายแบ่งแยกดินแดน ทีมัวรา มอร์ริสัน เป็น ผู้บัญชาการโคดีและทหารโคลนทรูปเปอร์ที่เหลือ บรูซ สเปนซ์ เป็น ทิออน มิดอน ผู้ดูแลท้องถิ่นของยูทาเปา เจอเรมี บุลลอช (เคยแสดงเป็น โบบา เฟทท์ ใน จักรวรรดิเอมไพร์โต้กลับ และ การกลับมาของเจได) เป็น กับตัน โคลตัน นักบินของยานอวกาศกบฏ เทนทิวีโฟร์[4] เจนเนวิบ โอไรล์ลี เป็น วุฒิสมาชิก มอน มอธมา ถึงแม้ว่าฉากของเธอจะถูกตัดออกจากภาพยนตร์[5][6][7] โรฮาน นิโคล เป็น กัปตัน เรย์มัส แอนทิลีส[8]
เวน เพแกรม เป็น วิลฮัฟ ทาร์คิน วัยหนุ่ม และ ผู้ประสานงานตัวแสดงแทน นิก กิลลาร์ด (Nick Gillard) เป็น เจไดชื่อว่า ซิน ดรัลลิก (Cin Drallig) (เป็นการสะกดชื่อของเขากลับหลัง โดยตัดตัว 'k' ออก)[9] เอดัน บาร์ตัน ลูกของผู้ตัดต่อภาพยนตร์ โรเจอร์ บาร์ตัน เป็น ลุค สกายวอล์คเกอร์และเลอา ออร์กานา ซึ่งเป็นทารก เจมส์ เอิร์ล โจนส์ เป็นนักแสดงรับเชิญไม่มีชื่อในเครดิต กลับมารับบทเดิมจากภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ ให้เสียงดาร์ธ เวเดอร์[10][a]
ผู้กำกับและผู้สร้าง สตาร์ วอร์ส จอร์จ ลูคัส เป็นนักแสดงรับเชิญเป็น บารอน พาพานอยดะ เอเลี่ยนหน้าสีน้ำเงินซึ่งเป็นผู้ชมในโรงละครโอเปร่าที่คอรัสซัง[12] ลูกชายของลูคัส เจตต์ แสดงเป็น เซตต์ จูคาสซา เจไดเด็กที่กำลังฝึกฝน หนึ่งในลูกสาวของลูคัส อาแมนดา แสดงเป็น เทอร์ ทานีล ปรากฏในโฮโลแกรมบันทึกความปลอดภัย ขณะที่ลูกสาวอีกคนหนึ่ง เคที แสดงเป็น ชี เอกเวย์ ชาวแพนโตรันผิวสีน้ำเงิน พบเห็นได้ขณะที่พัลพาทีนเดินทางมาถึงวุฒิสภาหลังได้รับการช่วยเหลือจากเจไดและตอนที่กำลังพูดคุยกับ บารอน พาพานอยดะ ที่โรงละครโอเปร่า[13][14] คริสเตียน ซิมป์สัน เป็น ตัวแสดงแทนของ เฮย์เดน คริสเตนเซน[15]
การสร้าง
[แก้]การเขียน
[แก้]ลูคัสกล่าวว่าเขาคิดเรื่องราวของมหากาพย์ สตาร์ วอร์ส เอาไว้แล้ว ในรูปแบบของโครงร่างในปี ค.ศ. 1983 อย่างก็ตาม เขาชี้แจงในภายหลังว่า ณ ช่วงเวลานั้น เขายังไม่ได้ใส่รายละเอียดลงไป โดยเขียนแค่จุดโครงเรื่องที่สำคัญ[16] ฉากการดวลของภาพยนตร์นำมาจากนวนิยายที่ดัดแปลงมาจากภาพยนตร์ การกลับมาของเจได โดยที่โอบีวันเล่าว่าการต่อสู้ระหว่างเขากับอนาคินจบลง โดยที่อนาคิน "ตกลงไปในหลุมหลอมเหลว"[17] ลูคัสเริ่มทำงานเขียนบทภาพยนตร์ของ เอพพิโซด 3 ก่อน กองทัพโคลนส์จู่โจม ภาพยนตร์ก่อนหน้านี้จะฉาย มีการเสนอให้กับศิลปินแนวคิดว่าภาพยนตร์จะเปิดเรื่องด้วยภาพเจ็ดการต่อสู้บนดาวเคราะห์เจ็ดแห่ง[18] ใน เดอะซีเครตฮิสทรีออฟสตาร์ วอร์ส ไมเคิล คามินสกี สันนิษฐานว่า ลูคัสพบจุดอ่อนในเรื่องการเข้าสู่ด้านมืดของอนาคินและได้จัดเรียงเรื่องราวใหม่ทั้งหมด เช่น แทนที่จะเปิดเรื่องด้วยภาพจากสงครามโคลน ลูคัสตัดสินใจเน้นไปที่อนาคิน จบองค์แรกด้วยเขาฆ่าเคาต์ ดูกู เป็นสัญญาณเริ่มให้เขาเข้าสู่ด้านมืด[19]
แฟน ๆ จำนวนมากในออนไลน์คาดการณ์ชื่อตอนของภาพยนตร์ โดยมีชื่อที่ลือกัน ได้แก่ ไรส์ออฟดิเอมไพร์ (Rise of the Empire), เดอะครีปปิงเฟียร์ (The Creeping Fear) (เคยเป็นชื่อภาพยนตร์ในเว็บไซต์หลักอย่างเป็นทางการในวันเมษาหน้าโง่ เมื่อปี ค.ศ. 2004) และ เบิร์ธออฟดิเอมไพร์ (Birth of the Empire)[20] ในที่สุด ชื่อ ซิธชำระแค้น (Revenge of the Sith) ก็กลายเป็นชื่อตอนของภาพยนตร์ ซึ่งก็มาจากการคาดการณ์ของแฟน ๆ โดยลูคัสเองก็ไม่ได้ยืนยันโดยตรง[21] ชื่อตอนอ้างอิงถึง รีเวนจ์ออฟเดอะเจได (Revenge of the Jedi) ซึ่งชื่อดั้งเดิมของ การกลับมาของเจได ก่อนลูคัสจะเปลี่ยนชื่อภาพยนตร์หนึ่งอาทิตย์ก่อนฉายรอบปฐมทัศน์ โดยประกาศว่าเจไดไม่แสวงหาการแก้แค้น[22]
ลูคัสวางแผนไว้ว่าจะมีการเชื่อมโยงกับไตรภาคเดิมมากยิ่งขึ้น โดยเขาได้เขียนไว้ในร่างแรกให้มีการปรากฏตัวของ ฮาน โซโล อายุ 10 ปี บนดาวคาชีก แต่บทดังกล่าวไม่มีการคัดเลือกนักแสดงหรือถ่ายทำ เขายังเขียนฉากให้พัลพาทีนเปิดเผยกับอนาคินว่า พัลพาทีนสร้างอนาคินมาจากมิดิคลอเรียนส์ ดังนั้นพัลพาทีนจึงเป็น "พ่อ "ของอนาคิน ทำให้เป็นฉากคู่ขนานกับการเปิดเผยของเวเดอร์กับลุคใน จักรวรรดิเอมไพร์โต้กลับ แต่ลูคัสก็ปฏิเสธฉากนี้ อีกฉากหนึ่งที่วางแผนไว้โดยลูคัส ซึ่งเขียนเอาไว้ในช่วงแรกของการพัฒนาภาพยนตร์คือ บทสนทนาระหว่างอาจารย์โยดากับวิญญาณไควกอน จินน์ โดยมีเลียม นีสัน กลับมารับบทเดิมจากภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ (เขายังบอกใบ้ถึงความเป็นไปได้ที่จะปรากฏตัวในภาพยนตร์)[23] อย่างไรก็ตาม ฉากนี้ก็ไม่เคยถ่ายทำและบทพูดของนีสันก็ไม่ได้บันทึก ถึงแม้ว่าฉากนี้จะปรากฏในนวนิยายที่ดัดแปลงมาจากภาพยนตร์
หลังถ่ายทำภาพยนตร์เสร็จในปี ค.ศ. 2003 ลูคัสเปลี่ยนแปลงตัวละครอนาคินหลายอย่าง โดยเขียนฉาก "เข้าสู่ด้านมืด" ใหม่ทั้งหมด ลูคัสประสบความสำเร็จในการ "เขียนใหม่" นี้ผ่านการตัดต่อจากภาพที่ได้จากการถ่ายทำและการถ่ายซ่อมในลอนดอนเมื่อปี ค.ศ. 2004[24] โดยในรูปแบบก่อนหน้านี้ อนาคินมีเหตุผลมากมายที่เขาจะเข้าสู่ด้านมืด หนึ่งในนั้นคือความเชื่อที่ว่าเจไดกำลังวางแผนที่จะล้มล้างสาธารณรัฐ ถึงแม้ว่าเรื่องนี้ยังคงอยู่ในภาพยนตร์ จากการแก้ไขและถ่ายซ้ำหลายฉาก ลูคัสเน้นไปที่ความต้องการของอนาคินที่จะช่วยให้แพดเม่รอดพ้นจากความตาย ทำให้เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ กลายเป็นว่าอนาคินเข้าสู่ด้านมืดด้วยเหตุผลนี้เป็นหลัก[24]
อ้างอิง
[แก้]เชิงอรรถ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Star Wars Episode III: Revenge of the Sith". British Board of Film Classification. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 26, 2016. สืบค้นเมื่อ December 27, 2015.
- ↑ 2.0 2.1 "Star Wars: Revenge of the Sith (2005)". Box Office Mojo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 25, 2012. สืบค้นเมื่อ February 5, 2009.
- ↑ "Opening Thursday Records at the Box Office". www.boxofficemojo.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 11, 2017. สืบค้นเมื่อ July 24, 2017.
- ↑ Bulloch, Jeremy (May 17, 2005). "Star Wars: Boba Fett". The Washington Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 4, 2011. สืบค้นเมื่อ August 4, 2008.
- ↑ Robinson, Will (August 5, 2016). "Rogue One: A Star Wars Story: Jimmy Smits confirms he has a cameo". Entertainment Weekly. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 13, 2016. สืบค้นเมื่อ August 6, 2016.
- ↑ Crookes, Del (April 7, 2016). "Rogue One: A Star Wars Story - the new]] trailer dissected and storylines revealed". BBC Newsbeat. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 26, 2018. สืบค้นเมื่อ April 7, 2016.
- ↑ White, Brett (December 16, 2016). "Every Rogue One Cameo You Won't Want To Miss". Comic Book Resources. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 18, 2016. สืบค้นเมื่อ December 16, 2016.
- ↑ Swain, Sarah (July 12, 2017). "He was in Star Wars and now actor Rohan Nichol has moved to Summer Bay for Home and Away". Daily Telegraph. Sydney, Australia: News Limited. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 13, 2017. สืบค้นเมื่อ May 30, 2018.
- ↑ "Master Behind the Action: Nick Gillard". April 19, 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 7, 2005. สืบค้นเมื่อ August 4, 2008.
- ↑ Guerrasio, Jason (August 7, 2015). "1,000 studio workers behind 'Revenge of the Sith' gathered to watch this epic Darth Vader scene get shot". Business Insider. สืบค้นเมื่อ December 23, 2019.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ Lovece, Frank (March 12, 2008). "Fast Chat: James Earl Jones". Newsday. Melville, New York: Newsday Media. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-04. สืบค้นเมื่อ March 1, 2011.
- ↑ McGinley, Rhys (January 4, 2020). "10 Star Wars Cameos Even Devoted Fans Forgot About". Screen Rant. สืบค้นเมื่อ February 4, 2020.
- ↑ Jones, Brian Jay (December 6, 2016). George Lucas: A Life (ภาษาอังกฤษ). New York City: Little, Brown and Company. p. 427. ISBN 978-0-316-25745-9.
- ↑ "Star Wars, A Family Affair". StarWars.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). December 16, 2014. สืบค้นเมื่อ January 5, 2020.
- ↑ Simpson, Christian (June 4, 2014). "From Fandom to Phantom: When Star Wars Dreams Become Reality". Star Wars.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 13, 2016. สืบค้นเมื่อ July 15, 2016.
- ↑ Star Wars: Episode III Revenge of the Sith DVD commentary featuring George Lucas, Rick McCallum, Rob Coleman, John Knoll and Roger Guyett, [2005]
- ↑ Slavicsek 1994, p. 117.
- ↑ Rinzler 2005, pp. 13–15.
- ↑ Kaminski 2008, pp. 380–384
- ↑ "Episode III Title Rumors". IGN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 16, 2008. สืบค้นเมื่อ May 17, 2008.
- ↑ "Lucas: Fans have already guessed the "Episode III" title". Cinema Confidential. June 15, 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 26, 2011. สืบค้นเมื่อ May 17, 2008.
- ↑ Empire of Dreams: The Story of the Star Wars Trilogy Star Wars Trilogy Box Set DVD documentary, [2004].
- ↑ Keck, William (January 10, 2005). "Movie-star night in Palm Springs". USA Today. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 20, 2017. สืบค้นเมื่อ December 19, 2016.
- ↑ 24.0 24.1 Star Wars: Episode III Revenge of the Sith DVD documentary Within a Minute, [2005].
บรรณานุกรม
[แก้]- Kaminski, Michael (2008). The Secret History of Star Wars (ภาษาอังกฤษ). Kingston, Ontario: Legacy Books Press. ISBN 978-0-9784652-3-0.
- Rinzler, Jonathan W (2005). The Making of Star Wars, Revenge of the Sith (ภาษาอังกฤษ). New York City: Del Ray. ISBN 0-345-43139-1.
- Slavicsek, Bill (1994). A Guide to the Star Wars Universe (ภาษาอังกฤษ) (2nd ed.). Del Rey. p. 117. ISBN 0-345-38625-6.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2548
- สตาร์ วอร์ส
- ภาพยนตร์ที่กำกับโดย จอร์จ ลูคัส
- ภาพยนตร์สตาร์ วอร์ส
- ภาพยนตร์ปฐมบท
- ภาพยนตร์โดยลูคัสฟิล์ม
- ภาพยนตร์โดยทเวนตีธ์เซนจูรีฟอกซ์
- ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในประเทศไทย
- ภาพยนตร์หุ่นยนต์
- ภาพยนตร์ผจญภัยในอวกาศ
- ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในประเทศออสเตรเลีย
- ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในประเทศจีน
- ภาพยนตร์และโทรทัศน์มีม
- ภาพยนตร์ที่ใช้การจับภาพเคลื่อนไหว