โรโกโก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ศิลปะแบบโรโคโค)
ด้านเหนือของวังแคทเธอรีนที่ Tsarskoye Selo - ลานราชรถ : เป็นลวดลายปูนปั้นปิดทองมาจนสมัยพระจักรพรรดินีนาถแคทเธอรีนที่ทรงสั่งให้ติดช่อมะกอกแทน
ท้องพระโรงของวังแคทเธอรีนที่ Tsarskoye Selo

ศิลปะโรโกโก (อังกฤษ: Rococo) หรือบางครั้งก็เรียกกันว่า "ศิลปะแบบหลุยส์ที่ 14" (Louis XIV Style) ศิลปะโรโกโกเริ่มพัฒนามาจากศิลปะฝรั่งเศส และการตกแต่งภายในเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 18 ห้องที่ออกแบบแบบโรโกโกจะเป็น เอกภาพ คือทุกสิ่งทุกอย่างในห้อง ไม่ว่าจะเป็นผนัง เครื่องเรือน หรือเครื่องประดับ จะออกแบบเพื่อให้กลมกลืนกันอันหนึ่งอันเดียวกันมิใช่จะอิสระต่อกัน คือไม่มีสิ่งใดในห้องนั้นที่นอกแบบออกมา ภายในห้องจะมีเครื่องเรือนที่หรูหราและอลังการ รูปปั้นเล็ก ๆ แบบประดิดประดอย ภาพเขียนหรือกระจกก็จะเป็นกรอบลวดลาย และพรมแขวนผนัง ที่ถ้าแยกอะไรออกมาก็จะทำให้ห้องนั้นไม่สมบูรณ์แบบ ศิลปะโรโกโกถูกแทนที่ด้วยสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิกในเวลาต่อมา

คำว่าโรโกโกมาจากคำสองคำผสมกัน คำว่า rocaille จากภาษาฝรั่งเศส ซึ่งหมายถึงศิลปะการตกแต่งที่ใช้ลวดลายคล้ายหอยหรือใบไม้ และคำว่า barocco จากภาษาอิตาลี หรือที่เรียกว่า ศิลปะบาโรก ศิลปินโรโกโกจะนิยมเล่นเส้นโค้งตัวซีและตัวเอส (S และ C curves) แบบเปลือกหอย หรือการม้วนตัวของใบไม้เป็นหลัก และจะเน้นการตกแต่งประดิดประดอย จนทำให้นักวิจารณ์ศิลปะค่อนว่าเป็นศิลปะของความฟุ้งเฟ้อและเป็นเพียงศิลปะสมัยนิยมเท่านั้น คำว่าโรโกโกเมื่อเริ่มใช้เป็นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1836 เป็นภาษาพูดที่หมายความว่า โบราณล้าสมัย แต่พอมาถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 คำนี้ก็เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปโดยนักประวัติศาสตร์ศิลปะ ถึงจะมีการถกเถียงกันถึงความสำคัญของศิลปะลักษณะนี้ โรโกโกก็ยังถือกันว่าเป็นสมัยของศิลปะที่มีความสำคัญสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก

ประวัติ[แก้]

การตกแต่งภายในที่สำนักสงฆ์อ็อตโตบิวเร็น
Le Dejeuner โดยบูแชร์แสดงให้เห็นองค์ประกอบชีวิตของภาพเขียนแบบโรโกโก (ค.ศ. 1739, พิพิธภัณฑ์ลูฟร์)

ศิลปะโรโกโกเริ่มขึ้นจากศิลปะการตกแต่งและศิลปะการตกแต่งภายใน ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส เมื่อปลายรัชสมัยการตกแต่งอย่างหรูหราแบบโรโกโกก็เริ่มเบาขึ้น มีเส้นโค้งมากขึ้น และลวดลายเริ่มเป็นธรรมชาติมากขึ้น ลักษณะเช่นนี้จะเห็นชัดได้จากผลงานของ นิโคลัส พินเนอ (Nicholas Pineau) ระหว่างสมัยรีเจนซ์ (Régence) ชีวิตราชสำนักก็เริ่มย้ายออกจากพระราชวังแวร์ซายส์ โรโกโกก็มีรากฐานมั่นคงขึ้นโดยเริ่มจากงานในวังหลวงแล้วขยายออกมาสู่งานสำหรับชนชั้นสูง ลักษณะอ่อนไหวและขึ้เล่นของโรโกโกทำให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อของรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 โดยแท้

ราวประมาณปี ค.ศ. 1730 เป็นระยะที่ศิลปะโรโกโกรุ่งเรืองที่สุดในประเทศฝรั่งเศส สถาปัตยกรรมลักษณะนี้เริ่มเข้าไปมีอิทธิพลต่อศิลปะแขนงอื่นๆด้วย เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม และ เครื่องเรือน จะเห็นได้จากงานของ ฌอง อองตวน วัตโตว์ (Jean-Antoine Watteau) และ ฟรองซัวส์ บูแชร์ (François Boucher) ศิลปะโรโกโกยังรักษาลักษณะบางอย่างของศิลปะบาโรกเช่นความซับซ้อนของรูปทรง (form) และความละเอียดลออของลวดลาย แต่สิ่งที่โรโกโกจะแตกต่างกับบาโรกคือจะผสมผสานลักษณะอย่างอื่นเข้ามาด้วย รวมทั้งศิลปะจากทางตะวันออกโดยเฉพาะจากจีนและญี่ปุ่น และองค์ประกอบจะขาดความสมดุล (asymmetric)

ศิลปะแบบโรโกโกเผยแพร่โดยศิลปินชาวฝรั่งเศส แต่ผู้ที่ตื่นเต้นกับศิลปะลักษณะนี้มากก็คือสถาบันคาทอลิกทางใต้ของประเทศเยอรมนี บริเวณโบฮิเมีย (Bohemia-ปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐเช็ก) และประเทศออสเตรีย เพราะเป็นศิลปะที่สามารถประสมประสานอย่างกลมกลืนกับศิลปะบาโรกแบบเยอรมนีได้เป็นอย่างดี ศิลปะโรโกโกแบบเยอรมนีจะใช้กันมากในการสร้างโบสถ์ สำนักสงฆ์ (monasteries) และวัง ในสมัยพระเจ้าฟรีดริชมหาราช แห่ง ปรัสเซีย ศิลปินแห่งราชสำนักปรัสเซียก็เริ่มสร้างลักษณะโรโกโกที่เป็นของตนเองที่เรียกกันว่าโรโกโกแบบฟรีดริช (Frederician Rococo) ซึ่งมีอิทธิพลมาจากโรโกโกฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ สถาปนิกมักจะตกแต่งภายในด้วยปุยเมฆที่ทำจากปูนปั้น (stucco) ทั่วไปทั้งห้อง

พอถึงปลายสมัยโรโกโก ศิลปะแบบนี้ก็เริ่มเป็นที่นิยมกันทางเหนือและไต้สุดของประเทศอิตาลี ฟรานเซสโก บอโรมินิ (Francesco Borromini) และ กัวริโน กัวรินี (Guarino Guarini) ใช้โรโกโกที่เมืองตูริน เวนิส เนเปิลส์ และซิซิลี แต่ทางบริเวณทัสกานีและโรม จะไม่นิยมโรโกโก และยังยึดอยู่กับศิลปะแบบบาโรก

โรโกโกที่ประเทศอังกฤษมักจะเรียกกันว่าศิลปะแบบฝรั่งเศส หรือ "รสนิยมฝรั่งเศส" ("French taste") สถาปัตยกรรมแบบโรโกโกจะไม่เป็นที่นิยม แต่โรโกโกที่นิยมกันก็คือการทำเครื่องเงิน เครื่องกระเบื้อง และไหม ทอมัส ชิพเพ็นเดล (Thomas Chippendale) ช่างออกแบบเครื่องเรือนที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ เปลี่ยนรูปแบบการทำเครื่องเรือนโดยการนำโรโกโกมาประยุกต์ วิลเลียม โฮการ์ธ (William Hogarth) เป็นผู้วางรากฐานทฤษฎีของความสวยงามของโรโกโก ถึงแม้ว่าโฮการ์ธจะไม่ใช้คำว่าโรโกโกโดยตรงในหนังสือชื่อ "การวิจัยเรื่องความงาม" (Analysis of Beauty) (ค.ศ. 1753) แต่โฮการ์ธก็พูดถึงความอ่อนช้อย สละสลวยของเส้นและรูปโค้งแบบเอส (S-curves) ที่โรโกโกใช้ ซึ่งเป็นหัวใจของศิลปะโรโกโก และเป็นสิ่งที่ทำให้โรโกโกมีความอ่อนช้อยสวยงาม และทำให้แตกต่างจากศิลปะสมัยคลาสสิกซึ่งเป็นศิลปะสมัยที่หันกลับไปนิยมเลียนแบบศิลปะแบบกรีกและโรมัน) ที่จะขึงขังเพราะการใช้เส้นตรงหรือวงกลมเป็นหลัก ศิลปะโรโกโกเริ่มวิวัฒนาการขึ้นในขณะเดียวกับที่มีการฟื้นตัวกลับมานิยมสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิกเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18

ศิลปะโรโกโกเริ่มเสื่อมความนิยมกันราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 เมื่อปัญญาชนเช่นวอลแตร์ และ จาค์ส ฟรังซัวส์ บรอนเดล (Jacques-François Blondel) เริ่มประณามว่าศิลปะโรโกโกเป็นศิลปะที่ฉาบฉวย เป็นศิลปะที่ทำให้คุณค่าของศิลปะโดยทั่วไปเสื่อมลง และ เป็นศิลปะที่ออกจะ "รก" เพราะจะเต็มไปด้วยลวดลายหอย, มังกร, หญ้า, ต้นปาล์ม และ ต้นไม้ใบไม้อื่นๆสารพัด[1] พอถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ศิลปะโรโกโกก็เสื่อมความนิยมในประเทศฝรั่งเศส ศิลปะนีโอคลาสสิกที่ขึงขังเป็นระเบียบกว่าเข้ามาแทนที่ อย่างเช่นงานของฌัก-หลุยส์ ดาวีด (Jacques Louis David) ขณะเดียวกันที่ประเทศเยอรมนีก็ค่อนและเรียกศิลปะโรโกโกว่า Zopf und Perücke (ภาษาอังกฤษ: pigtail and periwig) หรือเรียกสมัยนี้สั้นๆว่า "Zopfstil" ขณะที่ตามเมืองใหญ่ๆเริ่มหมดความสนใจกับศิลปะ") ที่มากับรัฐบาลของพระเจ้านโปเลียน แห่งฝรั่งเศส เข้ามาแทนที่

ระหว่างปี ค.ศ. 1820 ถึง ค.ศ. 1870 ความสนใจทางศิลปะแบบโรโกโกก็มีการฟื้นฟูขึ้นมาอีก ศิลปินอังกฤษเป็นศิลปินกลุ่มแรกที่หันมาฟื้นฟูศิลปะลักษณะนี้ และใช้คำว่า "แบบหลุยส์ที่ 14" เมื่อพูดถึงโรโกโก ศิลปะโรโกโกที่ไม่มีใครซื้อกันที่ปารีสก็มาโก่งขายกันด้วยราคาแพงกันที่อังกฤษ แต่ศิลปินคนสำคัญเช่นเออแฌน เดอลาครัว (Eugène Delacroix) และ ผู้อุปถัมภ์ศิลปะเช่นจักรพรรดินียูจีน (Empress Eugénie) (พระมเหสีของพระเจ้านโปเลียนที่ 3) ก็ซาบซึ้งถึงคุณค่าของศิลปะโรโกโกเพราะความความอ่อนช้อยและความมีลูกเล่น

ศิลปะโรโกโกแขนงต่าง ๆ[แก้]

เครื่องเรือนและเครื่องตกแต่ง[แก้]

โต๊ะออกแบบโดย เจ เอ ไมซอนเนียร์ (ค.ศ. 1730, ปารีส)
ลวดลาย rocaille ที่มหาวิหารเวลเฟ็น (Welfen Münster) ที่เมืองชไตน์การ์เด็น ประเทศเยอรมนี

ความประดิดประดอยและความมีลูกเล่นของศิลปะโรโกโกทำให้เป็นศิลปะที่เหมาะสำหรับสถานที่ไม่ต้องใหญ่โตโอฬารอย่างสถาปัตยกรรมหรือประติมากรรมแบบบาโรกฉะนั้นที่ฝรั่งเศสเราจึงพบศิลปะแบบนี้ภายในที่อยู่อาศัย อย่างเช่นรูปปั้นกระเบื้องเล็ก ๆ หรืองานโลหะ และโดยเฉพาะเครื่องเรือนที่กลายมาเป็นที่นิยมจนชนชั้นสูงชาวฝรั่งเศสต้องไปเสาะหามาตกแต่งคฤหาสน์หรือวัง

องค์ประกอบของศิลปะแบบโรโกโกจะเน้นความไม่สมดุล (asymmetry) อันเป็นแนวคิดแบบใหม่ของศิลปะแบบยุโรป ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดเดิมที่เน้นการวางองค์ประกอบที่จะต้องสมดุล การใช้ความไม่สมดุลเช่นนี้เป็นการทำให้เกิดความรู้สึกที่เรียกกันว่า contraste

ตัวอย่างของเครื่องเรือนแบบโรโกโกเต็มตัวจะเห็นได้จากโต๊ะที่สร้างโดยช่างออกแบบชาวเยอรมนีชื่อ เจ เอ ไมซอนเนียร์ (J. A. Meissonnier) เมื่อราวปี ค.ศ. 1730 โต๊ะทั้งตัวแต่งด้วยลวดลายจนพรางลักษณะสถาปัตยกรรมเดิมหรือโครงเดิม (tectonic form) ของตัวโต๊ะเองจนมิดชิด การตกแต่งนั้นจะไม่เหลือแม้แต่พื้นโต๊ะ ลวดลายทั้งหมดจะผสมผสานกลืนไปกับวงโค้งอย่างขาน่องสิงห์และลายหอยหรือใบไม้ (rocaille) อย่างที่โรโกโกนิยม

โรโกโกเหมาะกับงานประติมากรรม หรือ รูปปั้นกระเบื้องชิ้นเล็ก ๆ อย่างรูปปั้นหรือเครื่องกระเบื้องที่มาจาก เซเวรอ (Sèvres) ประเทศฝรั่งเศส และ ไมเซ็น (Meissen) ประเทศเยอรมนี ประติมากรรมจากวัสดุอื่นก็มีไม้ และเหล็ก แต่สิ่งที่ใช้โรโกโกกันมากคือตู้สารภาพบาป (confessionals) ธรรมมาสน์ แท่นบูชา (altar) หรือ การตกแต่งด้านหน้าของวัด (facade)

ช่างแกะสลักไม้หรือช่างทำเครื่องเรือนจากปารีสและเยอรมนีจะเน้นการแกะสลักแบบลอยตัว แทนที่จะอวดลายธรรมชาติของเนื้อไม้หรือเคลือบไม้ให้มันแบบญี่ปุ่น แบบวิธีแวร์นีส์ มาแตง (vernis martin) อย่างช่างยุคก่อนหน้านั้น ช่างสมัยโรโกโกจะแกะไม้แล้วปิดทอง วิธีที่เรียกในภาษาฝรั่งเศสว่า ออร์โมลู (ormolu) ศิลปินสำคัญที่ใช้วิธีนี้ก็มี อองตวน กอเดรอ (Antoine Gaudreau) ชาร์ล เครซองท์ (Charles Cressent) ฌอง-ปีแอร์ แลทซ์ (Jean-Pierre Latz) ฟรองซัวส์ เออบอง (François Oeben) และ เบอร์นาร์ด ฟอน ริเซ็นเบิร์ก (Bernard II van Risenbergh)

นักออกแบบชาวฝรั่งเศสเช่น ฟร็องซัวส์ เดอ คูวีลีเย (François de Cuvilliés) นิโคลัส พินเนอ (Nicholas Pineau) และบาร์โทโลมิว ราสเตรลิ (Bartolomeo Rastrelli) นำศิลปะแบบโรโกโกไปเผยแพร่ด้วยตนเองที่มิวนิก ประเทศเยอรมนี และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย นักออกแบบกลุ่มนี้ถือว่าเป็นผู้นำทางของการตกแต่งสมัยใหม่ซึ่งนำโดยซิมอง ฟิลิปพีนิส พอยริเย (Simon-Philippe Poirier)

ศิลปะโรโกโกในประเทศฝรั่งเศสจะค่อนข้างสงวนท่าที (reserve) กว่าทางเยอรมนีหรือประเทศอื่นที่โรโกโกรุ่งเรือง ส่วนใหญ่จะเป็นงานไม้หรือสลักไม้ ศิลปะจะขาดชีวิตจิตใจหรือความอ่อนช้อยอย่างธรรมชาติ นอกจากนั้นยังขาดการผสมผสานระหว่างรูปทรงธรรมชาติและการประยุกต์จากรูปทรงธรรมชาติ

โรโกโกทางประเทศอังกฤษก็คล้ายกับฝรั่งเศสตรงที่ค่อนข้างจะสงวนท่าที ธอมัส ชิพเพ็นเดล ช่างออกแบบเครื่องเรือนใช้ความอ่อนช้อยแต่จะขาดลูกเล่น ศิลปินคนที่สำคัญที่สุดของสมัยนี้ก็คงจะเป็นธอมัส จอห์นสัน (Thomas Johnson) ช่างแกะสลักฝีมือดีจากลอนดอนตอนกลางศตวรรษที่ 18

การตกแต่งภายใน[แก้]

การตกแต่งภายในที่กาชินา (Gatchina)
การเดินทางไปแสวงบุญที่ไซเธอรา (Pilgrimage to Cythera) โดยวาโต (Watteau) ที่แสดงถึงความสนุก ความผ่อนคลาย

ตัวอย่างของการตกแต่งภายในแบบโรโกโกจะพบได้ใน วังโซลิทูด (Solitude Palace) ที่เมืองชตุทท์การ์ท และวังจีน (Chinese Palace) ที่เมืองออราเนียนบอม (Oranienbaum) วัดวีส์ และพระราชวังซ็องซูซีที่เมืองพ็อทซ์ดัม

การตกแต่งห้องของโรโกโกจะเลิศลอย และจะออกไปทางร่าเริง ทุกตารางนิ้วจะมีปูนปั้นเป็นรูปใบไม้ ไฟ ทรงหอย และก้อนเมฆห้อยระย้าไปทั้งห้อง และเช่นเดียวกับเครื่องเรือนการตกแต่งจะลบเลือนรูปทรงสถาปัตยกรรมเดิมออกหมดรวมทั้งขอบตกแต่งเพดาน (architrave, frieze และ cornice) ที่เคยเป็นที่นิยมกัน ด้วยการใช้รูปแกะสลักโดยเฉพาะปูนปั้น การตกแต่งแบบนี้จะเห็นได้จากงานของตระกูลการตกแต่งปูนปั้น ที่เรียกกันว่า โรโกโกเวสโซบรุน (Wessobrunn) ที่วัดวีส์ การตกแต่งนี้จะรวมไปถึงเพดาน ผนัง เครื่องเรือน และ สิ่งของอื่นๆ ที่ใช้ภายในห้องนั้น ทุกสิ่งทุกย่างที่กล่าวมาจะกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สีที่ใช้ก็จะเป็นสีสว่าง และ นุ่มนวลแทนที่จะใช้แม่สีและสีค่อนข้างหนักเหมือนศิลปะแบบบาโรก การตกแต่งภายในแบบนี้นิยมกันมากในการตกแต่งวัดคาธอลิกทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี จะเห็นได้จากงานของตระกูลฟ็อยค์เมเยอร์ (Feuchtmayer)

งานปูนโรโกโกโดยศิลปินฝีมือดีชาวสวิส-อิตาลีเช่น บากุตตี (Bagutti) และ อาตารี (Artari) จะเห็นได้จากการตกแต่งภายในบ้านที่ออกแบบโดยสถาปนิกอังกฤษชื่อเจมส์ กิบส์ (James Gibbs) และ งานของพี่น้องฟรานชินี (Franchini) ที่ สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ที่ดีพอ ๆ กับศิลปะลักษณะเดียวกันที่ประเทศอังกฤษ

งานโรโกโกอื่นๆ ก็จะเห็นได้จากห้องบางห้องใน พระราชวังแวร์ซาย และการตกแต่งสิ่งก่อสร้างทั่วไปในปารีส (โดยเฉพาะ Hôtel de Soubise) และ ในประเทศเยอรมนี ศิลปินเช่น อย่างฟรังซัวส์ คูวีลีเย โยฮันน์ บาลทาซาร์ น็อยมัน (Johann Balthasar Neumann) และ จอร์จ เว็นซสลอส คโนเบลดอร์ฟ (Georg Wenzeslaus von Knobelsdorff) มีอิทธิพลต่อสิ่งก่อสร้างหลายแห่งเช่น อาร์มาเลียนเบิร์กใกล้มิวเชิน และปราสาที่เวือร์ซบูร์ก (Würzburg) พ็อทซ์ดัม ชาร์ลอทเทนบูร์ก (Charlottenburg) บรืล (Brühl) บรุคซัล (Bruchsal) วังโซลิทูด และพระราชวังเชินบรุน (Schönbrunn) นอกกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

ภาพ Marriage-a-la-mode โดย โฮการ์ธ

ในประเทศอังกฤษภาพแกะ (engrave) ที่เป็นเรื่องราวสอนจริยธรรม (morality tale) ชุดหนึ่งของ วิลเลียม โฮการ์ธ (William Hogarth) ชื่อ “การแต่งงาน“ (Marriage à la Mode) ที่แกะเมื่อปี ค.ศ. 1745 มีฉากการเลี้ยงแต่งงานภายในห้องในกรุงลอนดอน ภาพของห้องนี้แสดงให้เห็นตัวอย่างของการตกแต่งห้องแบบโรโกโกในคฤหาสน์ที่กรุงลอนดอนในสมัยนั้น แต่การตกแต่งที่อังกฤษจะมีเฉพาะบนเพดานและภาพเขียน ห้องยังรักษาโครงสถาปัตยกรรม (techtonic form) อยู่ ไม่เหมือนการตกแต่งอย่างเต็มที่ในประเทศอื่นเช่นเยอรมนีที่ลบเลือนโครงสิ่งก่อสร้าง บนแท่นเหนือเตาผิงจะเห็นแจกันจีนและนาฬิกาติดผนังเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นการตกแต่งจนเกินงามของโรโกโก อังกฤษจะนิยมศิลปะแบบพาเลเดียน (Palladian) มากกว่าศิลปะโรโกโก

ถึงแม้ว่าศิลปะโรโกโกจะเกิดจากการตกแต่งภายใน แต่ก็มีอิทธิพลกับจิตรกรรมเห็นได้ชัดจากภาพเขียน ภาพเขียนเหล่านี้ใช้สีที่สว่าง นุ่มนวลและจะเล่นเส้นโค้ง งานจิตรกรรมจะไม่เจาะจงเฉพาะสิ่งที่ปรากฏในภาพเขียน แต่จะรวมไปถึงกรอบของรูปที่จะแกะสลักกันอย่างอลังการด้วยรูปยุวเทพและสัตว์จากเทพนิยายปรัมปรา การเขียนภาพเหมือนสมัยนี้ก็เป็นที่นิยมกัน บางภาพจิตรกรจะแอบแฝงความซุกซนหรือความผิดจริยธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของตัวเจ้าของรูป ฉากหลังจะไม่เป็นโบสถ์แต่จะเป็นทิวทัศน์ แต่ก็เป็นทิวทัศน์อย่างที่เดินเล่นของชนชั้นสูงหรืออะไรที่ไม่หนักนัก

ชอง อังตวน วัทโท ถือว่าเป็นศิลปินโรโกโกคนแรก จีนมีอิทธิพลต่อจิตรกรรุ่นต่อมาโดยเฉพาะ ฟร็องซัว บูเช (François Boucher) และ ฌ็อง-ออนอเร ฟรากอนาร์ (Jean-Honoré Fragonard) สองคนหลังนี้เป็นศิลปินชั้นครูของสมัยโรโกโกตอนปลาย แม้แต่ ทอมัส เกนส์เบรอ (Thomas Gainsborough) จิตรกรชาวอังกฤษ ก็ถือกันว่าได้รับอิทธิพลบางส่วนจากโรโกโก

ภาพเขียนของบูแชร์แสดงให้เราเห็นของสังคมที่โรโกโกพยายามให้เราเห็น เป็นสังคมที่โอ่อ่า โอ้อวด สังคมของคนชั้นกลางแต่ก็ยังใช้วางท่าสง่า ภายในจะอบอุ่นเป็นกันเอง ตัวแบบมีความเป็นกันเองต่อกัน งานจะเต็มไปด้วยรายละเอียด แต่ทุกอย่างก็ยังออกมาทางความสง่างาม (galante)

ประติมากรรม[แก้]

รุปปั้นกระเบื้องของไมเซ็น
คิวปิดแกะลูกศรจากกระบองของเฮอร์คิวลีส โดย บูชาร์ดง

ผู้ที่ถือกันว่าเป็นประติมากรคนสำคัญของโรโกโกแบบฝรั่งเศสคือเอเตียน โมรีส ฟาลโกเน (Étienne-Maurice Falconet) ประติมากรรมของฟาลโคเนท์ จะเป็นรูปปั้นกระเบื้องเล็ก ๆ แทนที่จะเป็นรูปแกะสลักหินอ่อนใหญ่โตอย่างสมัยบาโรก ฟาลโคเนท์เองก็เป็นผู้อำนวยการโรงงานเครื่องกระเบื้องที่ เซเวรอ ที่ประเทศฝรั่งเศส เรื่องที่ใช้ปั้นก็จะเป็นเรื่องรัก เรื่องสนุก และธรรมชาติ

ประติมากรแอ็ดเม บูชาร์ดง (Edmé Bouchardon) ปั้นคิวปิดกำลังแกะลูกศรจากกระบองของ เฮอร์คิวลีส (Hercules) รูปนี้คือหัวใจของศิลปะแบบโรโกโกที่แสดงปรัชญาพื้นฐานของโรโกโก ที่เทพ (คิวปิด) ถูกแปลเป็นเด็กน้อย กระบองกลายเป็นเครื่องมือแห่งความรัก (ลูกศร) เหมือนกับการที่ใช้ปูนปั้นแทนหินอ่อนในสมัยบาโรก ศิลปินคนอื่นที่น่าจะกล่าวถึงก็มี โรแบร์ เลอ โลแรง (Robert le Lorrain) มีแชล โกลดียง (Michel Clodion) และ ปีกัล (Pigalle)

คีตกรรม[แก้]

ดนตรีแบบกาล็องต์ (Galante Style) ระหว่างสมัยบาโรกและคลาสสิก ถือกันว่าเป็นดนตรีโรโกโก ดนตรีโรโกโกพัฒนามาจากดนตรีบาโรกโดยเฉพาะที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นดนตรีที่ไม่ไปทางนาฏกรรมแต่จะนุ่มนวล อย่างงานของ ฌ็อง ฟิลิป ราโม (Jean Philippe Rameau) และ ลุย โกลด ดาแกง (Louis-Claude Daquin)

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-17. สืบค้นเมื่อ 2007-12-24.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ภาพ[แก้]