ศิลปะและสถาปัตยกรรมเมรอแว็งเฌียง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถ้วยทองจากขุมทรัพย์กูร์ดอง
หอศีลจุ่มแซงต์-ฌอง, ปัวติเยร์

ศิลปะและสถาปัตยกรรมเมรอแว็งเฌียง (อังกฤษ: Merovingian art and architecture) คือศิลปะและสถาปัตยกรรมของราชวงศ์เมรอแว็งเฌียงของแฟรงก์ที่รุ่งเรืองระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 8 ในบริเวณที่ปัจจุบันคือฝรั่งเศสและเยอรมนี

การเรืองอำนาจของราชวงศ์เมรอแว็งเฌียงในบริเวณกอลในคริสต์ศตวรรษที่ 5 นำความเปลี่ยนแปลงอันสำคัญมาสู่งานศิลปะ แต่ประติมากรรมถอยหลังไปเป็นเพียงงานแกะตกแต่งโลงหิน, แท่นบูชา และเฟอร์นิเจอร์ทางศาสนาอย่างง่าย ๆ แต่งานทองและงานศิลปะสาขาใหม่--การคัดเขียนหนังสือวิจิตร—ผสานงานวาดรูปสัตว์แบบ “อนารยชน” เข้ามาด้วย พร้อมด้วยลวดลายแบบตอนปลายสมัยโบราณ และอิทธิพลที่มาจากแดนไกลเช่นจากซีเรียและไอร์แลนด์ผสานเข้ามาในศิลปะเมรอแว็งเฌียง

สถาปัตยกรรม[แก้]

การรวมราชอาณาจักรแฟรงก์ภายใต้โคลวิสที่ 1 (ราว ค.ศ. 466ค.ศ. 511) และผู้สืบครองต่อมาตรงกับช่วงเวลาที่เกิดความต้องการสูงในการสร้างคริสต์ศาสนสถานโดยเฉพาะสำนักสงฆ์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอำนาจใหม่ของสถาบันคริสต์ศาสนาของสมัยเมรอแว็งเฌียง โครงสร้างมักจะต่อเนื่องมาจากธรรมเนียมการสร้างบาซิลิกาแบบโรมันแต่ก็แฝงอิทธิพลจากแดนไกลที่ไกลถึงซีเรียและอาร์มีเนีย ทางตะวันออกของราชอาณาจักรโครงสร้างจะทำด้วยไม้ แต่ทางตะวันตกส่วนใหญ่จะเป็นหิน รวมทั้งทางใต้ที่ต่อมาตกอยู่ใต้การปกครองของเมรอแว็งเฌียง คริสต์ศาสนสถานที่สำคัญส่วนใหญ่ได้รับการก่อสร้างขึ้นใหม่และโดยทั่วไปแล้วมากกว่าหนึ่งครั้ง โครงสร้างของสถาปัตยกรรมแบบเมรอแว็งเฌียงหลายแห่งได้รับการก่อสร้างขึ้นใหม่จากหลักฐานทางโบราณคดี คำบรรยายโดยนักบุญเกรกอรีแห่งทัวร์ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ของชนแฟรงก์” ถึงบาซิลิกาแซงต์มาร์แตงที่สร้างที่ตูร์โดยนักบุญเพอร์เพทัสทำให้เป็นที่น่าเสียดายที่สิ่งก่อสร้างดังว่าพังทลายไปจนหมดสิ้น เพราะตามการบันทึกบาซิลิกาแซงต์มาร์แตงเป็นคริสต์ศาสนสถานที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในราชอาณาจักรแฟรงก์ นักบุญเกรกอรีกล่าวว่าเป็นบาซิลิกาที่มีคอลัมน์หินอ่อนถึง 120 คอลัมน์, หอสองหอทางมุขตะวันออก และงานโมเสกอีกหลายชิ้น “แซงต์มาร์แตงเน้นแนวดิ่ง และการผสมผสานระหว่างองค์ประกอบที่ทำให้เกิดช่องว่างภายในสิ่งก่อสร้างที่ซับซ้อน และผสานกับลักษณะภายนอก ที่ถือกันว่าเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเด่นของลักษณะโรมานเนสก์”[1] สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ จากสมัยเมรอแว็งเฌียงที่สูญหายไปก็ได้แก่ฐานของมหาวิหารแซงต์เดอนีส์, บาซิลิกาเซนต์เจอเรียนที่โคโลญ และ แอบบีแซงต์แชร์แมงเดส์เพรส์ในปารีสที่ได้รับการบรรยายว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่สวยงาม

แต่ก็มีสิ่งก่อสร้างอื่นที่ยังคงตั้งอยู่ให้ได้เห็นโดยเฉพาะหอศีลจุ่มที่หมดความนิยมกันไปซึ่งทำให้ไม่ได้รับการสร้างใหม่ เช่นที่เอ-ซอง-โปรวองซ์, ริเอซ, and เฟรฌูส์ที่ยังคงมีหอศีลจุ่มแปดเหลี่ยมคลุมด้วยหลังคาโดมบนเสาที่แสดงให้เห็นอิทธิพลของสถาปัตยกรรมตะวันออก ลักษณะที่แตกต่างออกไปจากหอศีลจุ่มโปรวองซ์ ก็ได้แก่หอศีลจุ่มแซงต์-ฌองที่ปัวติเยร์ที่สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 6 ที่เป็นทรงสี่เหลี่ยมขนามด้วยมุขสามมุข ตัวสิ่งก่อสร้างเดิมคงจะได้รับการต่อเติมเปลี่ยนแปลงหลายครั้งแต่ก็ยังคงรักษาการตกแต่งเสาหินอ่อนแบบเมรอแว็งเฌียงเอาไว้

ในบรรดาคริพท์จำนวนมากที่สร้าง ส่วนใหญ่สร้างตามลัทธินิยมของสมัย แต่ก็มีเพียงคริพท์ของแซงต์ซูแรงที่บอร์โดซ์, แซงต์ลอแรงท์ที่เกรอโนเบิล และ แอบบีฌูแรเท่านั้นที่ยังตั้งอยู่

ศิลปะอื่น ๆ[แก้]

เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ฝีมือช่างของเมรอแว็งเฌียงคงจะเป็นที่เลื่องลือเพราะได้รับการนำเข้ามาสอนให้สร้างงานกระจกสีขึ้นในอังกฤษ และช่างหินเมรอแว็งเฌียงก็ได้เข้ามาทำงานก่อสร้างคริสต์ศาสนสถานในอังกฤษ[2] ช่างหินเมรอแว็งเฌียงใช้เทคนิคที่เรียกว่า opus gallicum อย่างแพร่หลายและเป็นผู้รับผิดชอบในการนำเข้ามาใช้ในอังกฤษและต่อมาใช้โดยนอร์มันผู้นำไปใช้ในอิตาลี

งานหนังสือวิจิตรของเมรอแว็งเฌียงเพียงสองสามชิ้นเท่านั้นที่ยังคงมีเหลือให้ดูอยู่ ฉบับที่เขียนตกแต่งอย่างหรูหราที่สุดคือฉบับที่สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 8 “หนังสือประกอบพิธีเจลาเซียน” ที่ปัจจุบันเป็นของหอสมุดวาติกัน ที่ตกแต่งด้วยลวดลายเรขาคณิตและลายรูปสัตว์ ที่ไม่ซับซ้อนเท่าศิลปะเกาะของเกาะอังกฤษ

อ้างอิง[แก้]

  1. V.I. Atroshenko and Judith Collins, The Origins of the Romanesque (Lund Humphries, London) 1985, p. 48. ISBN 085331487X
  2. Bede. The Lives of the Holy Abbots of Wearmouth and Jarrow.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]