ประวัติศาสตร์ของสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (ค.ศ. 1969–1986)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หลังจากจบอันดับที่ 8 ในฤดูกาล 1969–70 และออกสตาร์ทฤดูกาล 1970–71 ได้ไม่ดี วิล์ฟ แมคกินเนสถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1970 หลังจากคุมทีมได้เพียง 18 เดือน เซอร์แมตต์ บัสบี กลับมารับตำแหน่งผู้จัดการทีมเป็นการชั่วคราว และแมคกินเนสส์กลับมารับตำแหน่งโค้ชทีมสำรอง

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1971 หลังจากล้มเหลวในการพยายามชักชวนจ็อก สตีน และดอน เรวี่ให้มาที่โอลด์แทรฟฟอร์ดบอร์ดบริหารของยูไนเต็ดจึงได้แต่งตั้งแฟรงค์ โอ ฟาร์เรลล์เป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ ยุคสมัยของโอฟาร์เรลล์เริ่มต้นได้ดี โดยยูไนเต็ดกลับมาเป็นแชมป์อีกครั้งในช่วงครึ่งแรกของฤดูกาล 1971-72 แต่ย่ำแย่ในช่วงครึ่งหลังของฤดูกาลและจบอันดับที่ 8 โอฟาร์เรลล์ถูกปลดออกในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1972 หลังจากพ่ายแพ้ 0-5 ต่อคริสตัลพาเลซและยูไนเต็ดตกอยู่ในอันตรายจากการตกชั้นจากดิวิชัน 1 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930[1] ทอมมี่ โดเชอร์ตีเข้ามาช่วยให้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดรอดพ้นจากการตกชั้นในฤดูกาลนั้น เพียงเพื่อจะได้เห็นพวกเขาตกชั้นในปี ค.ศ. 1974

เดฟ เซกตัน เข้าคุมทีมแทนโดเชอร์ตี้ในช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ.1977 รวมถึงการเซ็นสัญญาคว้าตัวนักเตะ อันได้แก่ โจ จอร์แดน กอร์ดอน แมคควีน แกรี่ เบลีย์ และ เรย์ วิลกิ้นส์ อย่างไรก็ดีทีมก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จจากการเปลี่ยนแปลงทีมในครั้งนี้ โดยแพ้ให้กับ อาร์เซนอล ในการเข้าชิงรายการเอฟเอ คัพ ปี 1979 เซกตันถูกไล่ออกในปี ค.ศ.1981 แม้ว่าภายได้การคุมทีม 7 นัดสุดท้ายของฤดูกาล ทีมจะเก็บชัยชนะรวดทุกนัดก็ตาม[2] จากนั้นรอน แอตกินสัน เข้ามาคุมทีมแทนที่ ซึ่งเขาได้ทำลายสถิติการซื้อตัวผู้เล่นในอังกฤษ โดยดึงตัวไบรอัน ร็อบสัน จาก เวส บรอมวิช อัลเบี้ยน ภายใต้การคุมทีมของแอตกินสัน แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด สามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลเอฟเอ คัพ ได้ติดต่อกันสองปี คือในปี ค.ศ.1983 และ 1985 ฤดูกาล 1985–86 หลังจากชนะ 13 เกม เสมอ 2 ในช่วงออกสตาร์ท 15 เกมแรก ทีมมีหวังใกล้เคียงที่จะกลับสู่ความยิ่งใหญ่ในฟุตบอลลีกอีกครั้ง แต่ก็ต้องพบกับความผิดหวังคว้าได้เพียงอันดับที่ 4 เท่านั้น ฤดูกาลถัดมาสโมสรทำอันดับได้สุ่มเสี่ยงต่อการตกชั้นอย่างมาก จนแอตกินสันถูกปลดออกจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน[3]

ไม่กี่ปี หลังจากยุคบัสบี้[แก้]

วิล์ฟ แมคกินเนส โค้ชทีมสำรอง ได้รับการเลื่อนขั้นให้มาคุมทีมชุดใหญ่แทน แมตต์ บัสบี้ ซึ่งเขาเป็นลูกหม้อเก่าของสโมสรหลังจากที่เข้ามาร่วมทีมตั้งแต่สมัยเป็นนักเตะในช่วงกลางของทศวรรษ 1950 แต่เขาก็ไม่สามารถที่จะแทนที่ในสิ่งที่บัสบี้เคยทำไว้ได้อย่างรวดเร็ว ยูไนเต็ดเปลี่ยนถ่ายสู่ยุคใหม่ แต่โชคก็ไม่ค่อยเข้าข้างแมคกินเนสเท่าไหร่ แม้ฤดูกาลแรกเขาจะทำทีมได้ถึงอันดับที่ 8 ซึ่งดีกว่าอันดับที่ 11 ซึ่งเป็นฤดูกาลสุดท้ายที่บัสบี้คุมทีม แต่ฤดูกาลถัดมาทีมเกาะกลุ่มอยู่ท้ายตารางเสี่ยงที่จะตกชั้นรวมทั้งยังตกรอบลีก คัพ ด้วยน้ำมือของแอสตันวิลลา ซึ่งขณะนั้นยังเป็นแค่ทีมกลางตารางของฟุตบอลดิวิชั่น 3 ทำให้แมคกินเนสต้องถูกลดไปคุมทีมสำรองอีกครั้ง และในอีกไม่นานเขาก็ได้ลาจากทีมไป

บัสบี้ได้กลับมาคุมทีมอีกครั้ง แต่เป็นการชั่วคราวเท่านั้นและก็สามารถช่วยให้ทีมพ้นจากโซนตกชั้นมาได้ และจบฤดูกาลที่อันดับ 8 แฟรงค์ โอ แฟร์เรลล์ จากสโมสรเลสเตอร์ซิตี ได้กลายมาเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ หลังจากฤดูกาล 1971 หลังจากถูกปฏิเสธจากจอร์ค สตีน โค้ชของเซลติก ดอน เรวีย์ ผู้จัดการทีมลีดส์ ยูไนเต็ด และ เดฟ เซ็กตัน จากสโมสรเชลซี ในฤดูกาลแรกของแฟร์เรลล์ ทั้ง ๆ ที่ออกสตาร์ท ฤดูกาล 1971-72 ได้อย่างยอดเยี่ยมและก็กลายเป็นความหวังจากแฟน ๆ ว่าเขาจะนำความสำเร็จมาสู่ทีมได้เหมือนกับในยุคของบัสบี้ แต่จากการที่ต้องแพ้ถึง 7 นัด ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมาทำให้ทีมจบอันดับได้แค่ที่ 8 เท่านั้น จบความหวังแชมเปี้ยนอันสวยหรูของครึ่งฤดูกาลแรกไปอย่างน่าเสียดาย แต่ถึงอย่างไรก็มีเรื่องน่ายินดี ตรงที่ทีมได้เซ็นสัญญาคว้านักเตะวัยรุ่นอายุเพียง 22 ปี จาก อเบอร์ดีน ในตำแหน่งกองหลัง มาร์ติน บูชาน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นกำลังหลักในการนำพายูไนเต็ดเถลิงความสำเร็จ

ในตอนนี้เองที่ จอร์จ เบสท์ เริ่มสร้างปัญหาให้กับทีม ทั้งการแหกกฏระเบียบและสร้างปัญหาต่าง ๆ นานา อยู่เป็นประจำ หลังจบฤดูกาล 1971-72 ในวันเกิดครบรอบ 26 ปีของเขา เขาได้ประกาศเลิกเล่นฟุตบอล แต่ไม่ทันไร ภายในวันเดียวกันเขาก็ประกาศอีกครั้งว่าจะเล่นฟุตบอลต่อไป

ภายใต้ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของเบสท์ ยูไนเต็ดก็ต้องดิ้นรนอีกครั้ง ในฤดูกาล 1972–73 ที่ออกสตาร์ทได้อย่างยำแย่ โดยไม่พบกับชัยชนะเลย ใน 9 เกมเริ่มต้น หลังจากนัดที่แพ้ทอตแฮม ฮอตสเปอร์ ด้วยสกอร์ 4-1 ในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ.1972 ประธานสโมสรหลุย เอ็ดเวิร์ดได้พยายามที่จะปลดโอ แฟร์เรลล์และมีแผนที่จะดึงโจ เมอร์เซอร์ ผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ซิตี มาแทนที่ แต่โอ แฟร์เรลล์ ไม่อยู่ในวันที่เอ็ดเวิร์ดกำลังจะประกาศปลดเขาด้วยภารกิจดูฟอร์มนักเตะ ทำให้แผนในการดึงเมอร์เซอร์ วัย 58 ปี เป็นอันต้องถูกยกเลิกไปก่อน

ฟอร์มการเล่นของยูไนเต็ดดีขึ้นบ้าง ซึ่งนั่นทำให้โอ แฟร์เรลล์ ยังคงนั่งอยู่ในเก้าอี้ร้อนตัวนี้ได้ แต่จากการพ่ายแพ้ต่อทีมคู่แข่งหนีตกชั้นคริสตัล พาเลซโดยสกอร์ยับเยินถึง 5-0 ก่อนช่วงคริสต์มาส ส่งผลให้โอ แฟร์เรลล์ ต้องกระเด็นออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีมในวันที่ 19 ธันวาคม ซึ่งถือเป็นการหมดยุคอย่างแท้จริง จากการที่บิลล์ โฟล์กประกาศเลิกเล่น บ๊อบบี้ ชาร์ลตัน ลงเล่นในนัดเทสติโมเนียลแมตช์อันทรงเกียรติก่อนวันไล่โค้ชออก 1 วัน ส่วน จอร์จ เบสท์ ก็ประกาศแขวนสตั้ดอีกครั้งในวันเดียวกัน ชาร์ลตัน ในวัย 35 ปีลงเล่นเกมสุดท้ายของเขาในนัดปิดฤดูกาล

ทอมมี่ โดเชอร์ตี้[แก้]

3 วันหลังจากนั้น ยูไนเต็ดประกาศแต่งตั้งทอมมี่ โดเชอร์ตี้ ชาว สก็อตแลนด์ เป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ และเขาได้เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงทีมในทันที ด้วยการเซ็นสัญญาคว้านักเตะอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการคว้าตัวลู มาคาริ พวกเขาจบที่อันดับ 18 ยูไนเต็ดรอดพ้นจากการตกชั้น แต่ถึงอย่างไรก็ดี มีหลายสิ่งที่ทำให้ต้องกังวลเกี่ยวกับทีม ทั้งเรื่องปัญหาการใช้งานนักเตะในระยะยาว เรื่องผู้เล่นอันน้อยนิดที่ได้รับมรดกมาจากยุคบัสบี้ หรือจะเรื่องนักเตะอายุมากภายในทีมที่ถูกดึงมาในช่วงของโอ แฟร์เรลล์ และการอยู่รอดอย่างสบายในระดับดิวิชั่น 1 แต่การแจ้งเกิดของมาคาริและกัปตันทีมคนใหม่ มาร์ติน บูชาน (ซึ่งถือว่าเป็นการเซ็นสัญญานักเตะที่ดีที่สุดในยุคของโอ แฟร์เรลล์) ยังพอทำให้แฟน ๆ คิดในแง่บวกว่าทีมจะดีขึ้นมา แต่ฤดูกาลถัดมามันก็เป็นสิ่งยืนยันได้อย่างดีสำหรับการต้องดิ้นรนอีกครั้ง

เดนิส ลอว์ ได้ย้ายไปสู่ทีมแมนเชสเตอร์ซิตี ในช่วงปิดฤดูกาล ท่ามกลางกลุ่มแฟนบอลที่ประท้วงการย้ายทีมครั้งนี้อย่างรุนแรง จอร์จ เบสท์ แขวนสตั้ดในฤดูกาล 1973–74 ยูไนเต็ดต้องพบกับสถานการณ์ดิ้นรนหนีตกชั้นอีกครั้ง โดยต้องชนะใน 2 นัดสุดท้ายของฤดูกาล พร้อมทั้งต้องหวังให้ เบอร์มิงแฮม ซิตี้ พ่ายแพ้เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในเวทีดิวิชั่น 1 ต่อไป เบอร์มิงแฮมชนะในเกมที่ต้องการชัยชนะ แต่ยูไนเต็ดต้องพบกับความพ่ายแพ้ต่อแมนเชสเตอร์ซิตี ด้วยลูกยิงของอดีตนักเตะยูไนเต็ด เดนิส ลอว์ ส่งผลให้ยูไนเต็ดต้องตกชั้นลงไปเล่นในระดับดิวิชั่น 2 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 36 ปี

ช่วงเวลานี้เอง จอร์จ เบสท์ ได้จากกันด้วยดีกับยูไนเต็ด โดยเขาลงเล่นนัดสุดท้ายให้กับยูไนเต็ดในวันปีใหม่ ค.ศ.1974 แต่เขายังไม่ได้ออกจากทีมอย่างเป็นทางการ รอจนกระทั่งฤดูกาลถัดมา ที่ทำให้เขาสามารถย้ายทีมได้อย่างอิสระ และไม่มีค่าตัว เบสท์ได้เซ็นสัญญาเข้าร่วมกับทีมสต็อคปอร์ท เคาท์ตี้

หลังจากต้องตกชั้นไปเล่นในดิวิชั่น 2 โดเชอร์ตี้ ได้โละ นักเตะส่วนใหญ่ที่ยังหลงเหลือมาจากยุคบัสบี้ ยกเว้นผู้รักษาประตู อเล็กซ์ สเต็ปนีย์ ในชุดแชมป์ยุโรปที่ยังคงหลงเหลือเป็นตัวจริงในฤดูกาลแข่งขันที่จะมาถึง ทีมปีศาจแดงสร้างทีมใหม่ด้วยนักเตะที่ดันขึ้นมาจากระดับเยาวชน ได้แก่ แซมมี่ แมคอิลรอย ซึ่งโชว์ฟอร์มได้น่าประทับใจในช่วงเดือนสุดท้ายของความเลวร้ายในฤดูกาล 1973–74 รวมทั้งนักเตะที่เซ็นสัญญาเข้ามาใหม่ ทั้งเซนเตอร์ฮาล์ฟ จิม โฮลตัน ปีก กอร์ดอน ฮิลล์ และผู้เล่นตำแหน่งศูนย์หน้า สจ๊วต เพียร์สัน

การที่ต้องตกชั้นไปเล่นดิวิชั่น 2 ส่งผลให้จำนวนแฟนบอลที่เข้ามาเชียร์ในสนามโอล์ด แทรฟฟอร์ดเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาล 1974–75 และยูไนเต็ดก็ตอบสนองได้อย่างดี ด้วยการเป็นแชมป์ดิวิชั่น 2 และเลื่อนชั้นกลับมาสู่ลีกสูงสุดของประเทศอีกครั้ง ซึ่งพวกเขาทำได้ดีอย่างมากในการออกสตาร์ท ฤดูกาล 1975–76 และเป็นที่คาดหวังของแฟนบอลว่าทีมของพวกเขาจะก้าวเป็นแชมเปี้ยนอีกครั้งหลังจากเพิ่งเลื่อนชั้นกลับขึ้นมาสู่ดิวิชั่น 1 ซึ่งมีแค่ 3 ทีมเท่านั้นในประวัติศาสตร์ที่สามารถทำได้เช่นนี้ แต่ฟอร์มก็มาสะดุดในช่วงกลางฤดูกาล แต่ก็ยังทำอันดับได้ที่ 3 เป็นที่น่าพึงพอใจ รวมทั้งยังได้เข้าชิงรายการเอฟเอ คัพ ที่เวมบลีย์ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้แก่ทีมนักบุญ เซาแธมป์ตัน ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในระดับ ดิวิชัน 2 ด้วยสกอร์ 1-0 ในนัดชิงชนะเลิศ

ในฤดูกาล 1976–77 ยูไนเต็ดโชว์ฟอร์มได้ไม่สม่ำเสมอ รวมทั้งยังประสบปัญหานักเตะตัวหลักได้รับบาดเจ็บ ทำให้จบฤดูกาลได้เพียงแค่อันดับที่ 6 เท่านั้น แต่ยังโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมในรายการเอฟเอ คัพ เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยสามารถเข้าชิงได้อีกครั้ง และคว้าชัยชนะได้เป็นผลสำเร็จ จากการชนะลิเวอร์พูล ด้วยสกอร์ 2–1 คว้าแชมป์ไปครองได้สำเร็จ อีกทั้งยังจบโอกาสของลิเวอร์พูลที่จะครองทริปเปิ้ลแชมป์ในปีเดียวกันได้สำเร็จ หลังจากที่สามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลลีก และแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ ในไม่กี่วันหลังจากนั้น โดยในช่วงนั้น ลิเวอร์พูลเป็นมหาอำนาจของฟุตบอลอังกฤษ คว้าแชมป์ได้ถึง 4 รายการ จาก 3 ฤดูกาลล่าสุด นับตั้งแต่ที่บ๊อบ เพสลีย์เข้ามาสานต่อความสำเร็จต่อจากบิลล์ แชงค์ลี ในตำแหน่งผู้จัดการทีม

คลื่นยุคใหม่ของนักเตะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ประกอบด้วยนักเตะดาวรุ่งที่โชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมทั้งสตีป ค็อปเปล แซมมี่ แมคอิลรอย ไบรอัน กรีนฮอฟ อาร์เธอร์ อัลบิสตัน และสจ็วต เพียร์สัน แม้ตำแหน่งผู้รักษาประตูจะยังคงเป็น อเล็กซ์ สเตปนีย์ ส่วนวิลลี มอร์แกน นักเตะคนสุดท้ายที่บัสบี้เซ็นสัญญาคว้าตัวมาร่วมทีม รวมทั้งยังเป็นกัปตันทีม ได้ออกจากทีมไปในช่วงฤดูร้อนของฤดูกาล 1975 หลังจากที่มีปากเสียงกับผู้จัดการทีมทอมมี่ โดเชอร์ตี้ ซึ่งทำให้ตำแหน่งกัปตันทีมของยูไนเต็ดล่าสุดตกไปเป็นของมาร์ติน บูชาน แทน

หลังจากนั้น 1 เดือน ก็เกิดข่าวที่ทำให้โดเชอร์ตี้เป็นอันต้องหลุดจากตำแหน่ง จากข่าวฉาวในเชิงชู้สาวกับแมรี่ บราวน์ ภรรยาของนักกายภาพประจำทีม เลารี่ บราวน์ เมื่อเขาได้ประกาศเลิกกับภรรยาคนปัจจุบันและจะแต่งงานใหม่กับเธอ โดยโดเชอร์ตี้ปฏิเสธที่จะลาออก ดังนั้นบอร์ดบริหารของสโมสรจึงมีมติปลดเขาออกจากตำแหน่งแทน จากกรณีการปลดออกจากตำแหน่งของโดเชอร์ตี้ในครั้งนี้ ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมในการปลดผู้จัดการทีม และจากนั้นสโมสรก็แถลงปลดโดเชอร์ตี้ออกจากตำแหน่ง ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าเขาขายตั๋วนัดชิงชนะเลิศ 2 รายการ อย่างไม่ถูกต้อง และค้ากำไรเกินควร จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เป็นที่รับรู้กันว่าโดเชอร์ตี้ถูกไล่ออก และก็มีบางส่วนเสนอให้โดเชอร์ตี้ฟ้องร้องกลับสโมสรจากการปลดเขาออกจากตำแหน่งอย่างไม่เป็นธรรม แต่โดเชอร์ตี้ก็ไม่ได้ฟ้องร้องแต่อย่างไร

เดฟ เซ็กตัน[แก้]

โดเชอร์ตี้เป็นที่นิยมและได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มแฟนบอล ส่วนเดฟ เซ็กตันต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เขาจะต้องประสบความสำเร็จเพื่อเรียกศรัทธากลับมา สถิติที่ผ่านมาของเซ็กตัน ถือว่าค่อนข้างดีและน่าประทับใจทีเดียว โดยสามารถพาเชลซี คว้าแชมป์รายการเอฟเอ คัพ และรายการยูฟ่า คัพ วินเนอร์ รวมทั้งการเฉือนควีนส์ ปาร์ค แรนเจอส์ ในตำแหน่งสูงสุดของลีก เซ็กตันได้ปฏิเสธข้อเสนอของยูไนเต็ดครั้งแรกในปีค.ศ.1971 ซึ่งเขาก็ถูกโยงเข้ากับตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 1969 หลังจากการประกาศยุติการคุมทีมของบัสบี้ในครั้งแรก

จากการที่ยูไนเต็ดสามารถคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ทำให้พวกเค้าได้สิทธิ์ในการลงเล่นในรายการยูฟ่า คัพ วินเนอส์ แต่ก็เกือบจะถูกตัดสิทธิ์ในการแข่งขัน อันเนื่องมาจากความวุ่นวายของแฟนบอลที่ก่อปัญหาในแซงท์ เอเตียน

อีกครั้งที่ยูไนเต็ดเข้าได้ถึงรอบชิงชนะเลิศรายการ เอฟเอ คัพ ในปี ค.ศ.1979 แต่ก็พ่ายแพ้ให้แก่อาร์เซนอลไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งทำให้การแข่งขันในนัดนี้เป็นที่รู้จักกันในหมู่แฟนบอลว่า "นัดชิงชนะเลิศ 5 นาที" อันเนื่องจากประตูอันตื่นเต้นในช่วงนาทีสุดท้าย

หนึ่งในการเซ็นสัญญาครั้งสำคัญของเซ็กตัน คือการซื้อตัว 2 นักเตะคนสำคัญเข้ามาในทีม คือ โจ จอร์แดน และ กอร์ดอน แมคควีน จากทีมคู่แข่งสำคัญลีดส์ ยูไนเต็ด ที่ไม่สามารถเรืองรองได้อีก หลังจากการออกไปเป็นผู้จัดการทีมชาติอังกฤษของดอน เรวี่ในปี ค.ศ.1974 ควบคู่ไปกับการเติบโตอย่างแข็งแรงของลิเวอร์พูล ยูไนเต็ดต้องถูกท้าทายอำนาจจากทีมน็อตติ้งแฮม ฟอร์เรสต์ ภายใต้การนำทีมของไบรอัน คลัฟ สโมสรจาก มิดแลนด์ตะวันออก กลับสู่ดิวิชั่น 1 ในปี ค.ศ.1977 และสามารถคว้าแชมป์ลีกมาครองได้สำเร็จ รวมกับแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ 2 ครั้ง แชมป์ลีก คัพ 2 ครั้ง ภายในระยะเวลา 3 ฤดูกาล

ฤดูกาล 1979–80 ก่อนที่จะมีการเซ็นสัญญาด้วยสถิติของสโมสรคว้าตัวเรย์ วิลกินส์ มาจากเชลซี ด้วยค่าตัว 750,000 ปอนด์ ยูไนเต็ดใกล้เคียงกับการคว้าแชมป์ โดยการจบอันดับที่ 2 รองจากลิเวอร์พูล ช่วงระหว่างฤดูกาลนั้นเองที่ แฟนบอลถูกตำหนิจากการที่ไปทำลายและก่อเรื่องที่อารีซัม ปาร์ค สนามของมิดเดิลโบร์ ส่งผลให้มีแฟนบอลเสียชีวิต 2 คน และการถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการซื้อตัวนักเตะดาวรุ่งอย่างผิดกฎ ซึ่งข้อกล่าวหามีขึ้นก่อนการจากไปอย่างฉับพลันของประธานสโมสร หลุยส์ เอ็ดเวิร์ด

ปัญหาการบาดเจ็บของนักเตะในช่วงออกสตาร์ทฤดูกาล 1980–81 ส่งผลกระทบต่อฟอร์มการเล่นของทีม ทำให้ทีมตกไปอยู่อันดับแถวกลางตาราง และยังต้องตกรอบฟุตบอลเอฟเอ คัพ อย่างรวดเร็ว แม้ว่าเซ็กตันจะพาทีมอยู่รอดปลอดภัยก็ตาม จากฟอร์มที่ย่ำแย่นี้เองทำให้เซ็กตันต้องเร่งปรับทีมโดยด่วย โดยการซื้อนักเตะกองหน้าแกรรี่ เบอร์เทิ่ลด้วยสถิติสโมสร 1.25 ล้านปอนด์ แต่ผลงานก็ฟ้องว่าเป็นการซื้อตัวที่ผิดพลาด เพราะเขายิงได้แค่ 1 ลูกจากการลงเล่นไปถึง 30 เกม ยูไนเต็ดชนะทั้งหมดใน 7 เกมสุดท้ายของฤดูกาลแต่ก็ยังจบด้วยแค่อันดับที่ 8 เท่านั้น

ถึงแม้จะทำผลงานได้ดีในลีก และสามารถพาทีมเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศในช่วงเวลาที่เซ็กตันคุมทีม แต่เขาก็รู้ดีว่า คำว่าใกล้เคียง ไม่เพียงพอ สำหรับแฟนบอล และในที่สุดเซ็กตันก็ถูกไล่ออกหลังจากจบฤดูกาล 1980–81

รอน แอตกินสัน[แก้]

A smiling man with dark hair wearing a white, green and blue tracksuit top over a blue shirt. He is holding a washbag under his right arm.
ไบรอัน ร็อบสัน กัปตันทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด นานที่สุดถึง 12 ปี[4]

ประธานสโมสรยูไนเต็ดมาร์ติน เอ็ดเวิร์ด ได้พยายามหาผู้จัดการทีมคนใหม่ที่จะนำพาพวกเค้ากลับสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง ผู้ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ ลอว์รี่ แมคเมเนมี่ ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยพาเซาร์แธมป์ตันช็อควงการด้วยการล้มยูไนเต็ดคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ เมื่อ 5 ปีก่อนหน้า และปัจจุบันยังเป็นทีมที่แข่งขันเพื่อแย่งอันดับในส่วนหัวตารางดิวิชั่น 1 ไบรอัน คลัฟ (ผู้พาทีมน็อตติงแฮม ฟอร์เรสต์เลื่อนชั้นสู่ดิวิชั่น 1 และยังประเดิมแชมป์ลีกได้ในฤดูกาลแรกที่ขึ้นมา รวมทั้งแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 2 ครั้ง ใน 4 ฤดูกาลแห่งความสำเร็จ) ก็มีข่าวลือถูกโยงเข้ากับตำแหน่งนี้ด้วย แต่ประธานสโมสร มาร์ติน เอ็ดเวิร์ด ได้ออกมายืนยันด้วยตัวเองว่ายูไนเต็ดไม่ได้ยื่นข้อเสนอกับคลัฟ บ็อบบี้ ร็อบสัน (ผู้พา อิปสวิช ทาวน์ ชนะเลิศรายการยูฟ่า คัพ) อีกทั้งยังมีรอน ซอนเดอร์ ผู้พาทีมแอสตันวิลลาเป็นจ่าฝูงในลีกเป็นครั้งแรกในรอบ 71 ปี แต่สุดท้ายก็เป็นรอน แอตกินสันที่ถูกเลือกให้เข้ามารับหน้าที่ผู้จัดการทีมคนใหม่

แอตกินสันทำลายสถิติการซื้อขายนักเตะของอังกฤษในเดือนตุลาคม ค.ศ.1981 ในการเซ็นสัญญาคว้าตัวนักเตะตำแหน่งมิดฟิลด์ ไบรอัน ร็อบสัน จากเวสต์บรอมวิชอัลเบี้ยนในราคา 1.5 ล้านปอนด์ และตามด้วยการคว้าเพื่อนร่วมทีมของร็อบสัน เรมี่ มอสส์ เป็นจำนวนเงิน 500,000 ปอนด์ นอร์มัน ไวท์ไซต์ ก้าวเข้ามาและกลายเป็นผู้เล่นคนสำคัญด้วยวัยเพียง 17 ปี ขณะที่ศูนย์หน้าอย่างแฟรงค์ สเตเปิลตัน ก็ผลงานสม่ำเสมอในการทำประตูให้กับทีมหลังจากย้ายมาจากอาร์เซนอล แอตกินสัน ยังคงเหลือมิดฟิลด์ 1 คนที่มาจากยุคของเซ็กตัน นั่นก็คือ เรย์ วิลกิ้นส์ สำหรับนักเตะในอีก 2 รายที่อยู่กับทีมมาอย่างยาวนานในยุคผู้จัดการคนก่อนทั้งมาร์ติน บูชาน และลู มาคาริ ซึ่งเข้ามาร่วมทีมยูไนเต็ดในยุคของโอเชอร์ตี้และโอ แฟร์เรลล์ ก็ยังอยู่กับทีมอีกช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะย้ายออกไปในปี ค.ศ. 1984

จากการเข้ามาทำทีมของแอตกินสัน ส่งผลต่อฟอร์มการเล่นของทีมที่ดีขึ้น โดยพวกเขาแพ้เพียง 8 เกม และจบในอันดับ 3 สำหรับฤดูกาลแรกของแอตกินสัน การแข่งขันในส่วนหัวตาราง เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างอิปสวิช ทาวน์ และทอตนัมฮอตสเปอร์ รวมทั้งทีมที่อาจจะแทรกเข้ามาได้อย่างเช่น เซาร์แธมป์ตัน และอาจจะรวมถึง สวอนซี ซิตี้ ซึ่งต้องแข่งกับมหาอำนาจในยุคนั้น นั่นก็คือ ลิเวอร์พูล

และแล้วยูไนเต็ดก็ประสบความสำเร็จ สามารถคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ในปี ค.ศ.1983 ด้วยสกอร์สวยหรู 4-0 ในนัดรีเพลย์กับไบรตัน รวมทั้งยังจบอันดับที่ 3 ในรายการลีก โดยแชมป์ยังคงตกเป็นของลิเวอร์พูลอีกครั้ง ส่วนรองแชมป์เป็นของวัตฟอร์ด ที่ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมน่าประทับใจในฤดูกาลแรกของการขับเคี่ยวในกลุ่มหัวตาราง ไม่เพียงแค่นั้น ยูไนเต็ดยังสามารถเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศรายการฟุตบอลถ้วยลีก คัพ แต่ก็ต้องพบกับความพ่ายแพ้ต่อลิเวอร์พูลไปด้วยสกอร์ 2-1 นอร์แมน ไวท์ไซด์ ของยูไนเต็ดสามารถทำประตูได้ทั้งสองนัดในรายการชิงชนะเลิศในฤดูกาลเดียว ซึ่งถือเป็นนักเตะอังกฤษคนแรกที่สามารถทำได้

ถึงแม้ว่าในฤดูกาลถัดมา ยูไนเต็ดต้องกระเด็นตกรอบเอฟเอ คัพ ด้วยน้ำมือของทีมจากดิวิชั่น 3 บอร์นมัธ พวกเขาก็สามารถล้มบาร์เซโลนาในรายการยูฟ่า คัพ วินเนอร์ส คัพ ผ่านเข้าสู่รอบเซมิไฟนอล ก่อนที่จะแพ้ให้กับยูเวนตุส ยูไนเต็ดช่วงชิงในอันดับหัวตารางกับทีมขาประจำอย่างลิเวอร์พูล เซาร์แธมป์ตันและ น็อตติ้งแฮม ฟอร์เรสต์ ก่อนที่พวกเขาจะแผ่วปลาย จบฤดูกาลได้แค่อันดับที่ 4 เท่านั้น โดยแชมป์ก็ยังตกเป็นของลิเวอร์พูลอีกเช่นเคย ซึ่งถือเป็นการได้แชมป์ 2 สมัยติด ช่วงฤดูร้อน ค.ศ.1984 ทีมได้ขายมิดฟิล์ดเรย์ วิลกิ้นส์ให้กับเอซี มิลาน หลังจากอยู่รับใช้สโมสรนานถึง 5 ปีเต็ม โดยแอตกินสันได้นำเงินจำนวนนี้ไปซื้อนักเตะใหม่เสริมทีมอันได้แก่ มิดฟิลด์ กอร์ดอน สตราแชน จากอเบอร์ดีน และเจสเปอร์ โอล์ดเซ่น จากอาหยักซ์ อัมสเตอร์ดัม

ศูนย์หน้าชาวเวลส์ มาร์ค ฮิวส์ ปรากฏตัวในนามนักเตะยูไนเต็ดครั้งแรกในเดือนตุลาคม 1983 และกลายเป็นนักเตะกำลังหลักของทีมในฤดูกาลถัดมา ด้วยการทำถึง 24 ประตู และได้รับเลือกให้เป็นนักเตะดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งปี ของฤดูกาล1984–85 ด้วยวัยตอนนั้นเพียงแค่ 21 ปี นอกจากนั้นเค้ายังช่วยให้ทีมคว้านักเตะอลัน บราซิล เข้าทีมด้วยค่าตัว 500,000 ปอนด์ ซึ่งต่อมาสามารถยึดตำแหน่งตัวจริงของนอร์แมน ไวท์ไซด์ มาได้ในเวลาอันสั้น แต่ถึงอย่างไรก็ดี ไวท์ไซด์ก็ได้ผันตัวเองไปเล่นมิดฟิล์ดตัวกลางแทนหลังจากการบาดเจ็บของเรมี่ มอสส์

ปี ค.ศ.1985 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดสามารถล้มทีมแชมเปี้ยนของฤดูกาลอย่างเอฟเวอร์ตันในรายการเอฟเอ คัพ ซึ่งประกอบด้วยเหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นหลายอย่าง เควิน มอร์แรน กลายเป็นนักเตะคนแรกที่ถูกไล่ออกในการแข่งนัดชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพแม้จะเป็นที่วิพากษ์วิจารย์อย่างหนักถึงการแจกใบแดงในครั้งนี้ ด้วยนักเตะ 10 คนที่เหลืออยู่ นอร์แมน ไวท์ไซด์ ยิงประตูโทนในช่วงต่อเวลาพิเศษ ส่งผลให้ยูไนเต็ดคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ไปครองได้สำเร็จ จากแชมป์ในครั้งนี้ส่งผลให้ยูไนเต็ดได้สิทธิ์เข้าร่วมในรายการ ยูโรเปี้ยน คัพ วินเนอร์ส คัพ ฤดูกาล 1985–86 แต่จากการที่ลิเวอร์พูลถูกตัดสิทธิ์การแข่งขันสืบเนื่องจากเหตุการณ์ จลาจลที่สนามเฮย์เซล เป็นระยะเวลา 5 ปี ที่ทีมจากอังกฤษไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันในฟุตบอลยุโรปได้ ยูไนเต็ดจบที่ 4 ในฤดูกาลแข่งขันนั้น

ฤดูกาล 1985–86 เป็นการออกสตาร์ทอย่างยอดเยี่ยมของยูไนเต็ด ด้วยการชนะ 10 นัดในเกมลีกติดต่อกัน(เป็นสถิติของสโมสรในการออกสตาร์ทของฤดูกาล) และมีแต้มนำในกลุ่มหัวตารางถึง 10 แต้มในช่วงต้นเดือนตุลาคม พวกเขาไม่แพ้ใครใน 15 เกมแรก และดูเหมือนว่าจะไม่มีใครหยุดพวกเขาได้ สำหรับการคว้าแชมป์ลีกครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1967 แต่ฟอร์มของพวกเขาก็ย่ำแย่ในช่วงปีใหม่ อีกทั้งการต้องเสียกัปตันทีมไบรอัน ร็อบสัน จากอาการบาดเจ็บ ซึ่งทำให้เขาพลาดลงสนามให้กับยูไนเต็ดเกือบทั้งฤดูกาล ทำให้ยูไนเต็ดทำได้แค่เพียงที่ 4 เท่านั้นในฤดูกาลนี้ สโมสรมีแผนที่จะขายมาร์ค ฮิวส์ด้วยเหตุผลของภรรยาและการดื่มอย่างหนักจนส่งผลกระทบต่อฟอร์มการเล่นของเขา จนต้องย้ายไปร่วมทีมบาร์เซโลนา ในช่วงปิดฤดูกาลด้วยค่าตัวราว 2 ล้านปอนด์ ช่วงกลางฤดูกาลสโมสรได้พยายามแก้ไขด้วยการเซ็นสัญญาคว้าตัวศูนย์หน้าเทอร์รี่ กิ๊ปสัน และปิเตอร์ ดาเวนพอร์ต แต่พวกเขาก็ช่วยฟอร์มของยูไนเต็ดให้ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย ยูไนเต็ดจบฤดูกาลด้วยคะแนนตามหลังทีมแชมป์อย่างลิเวอร์พูลห่างถึง 12 แต้มแต่ยังห่างจากรองแชมป์เอฟเวอร์ตันถึง 10 แต้มด้วยกัน ซึ่งศูนย์หน้าผู้ทำประตูสูงสุดของทีมแกรี่ ลินิเกอร์ ก็ถูกโยงว่าจะตามไปสบทบกับมาร์ค ฮิวส์ ที่บาร์เซโลนาในช่วงฤดูร้อนที่จะถึง และตามหลัง 8 แต้มกับทีมเวสต์แฮม ยูไนเต็ดที่ทำผลงานได้อย่างเซอไพรซ์ ซึ่งต้องขอบคุณศูนย์หน้าชาวสก็อตแลนด์ แฟรงค์ แมคอเวนนี่ ผู้ทำประตูสูงสุดของฤดูกาลถึง 26 ประตู

หลังจบฤูกาล 1986 มีข่าวลือว่ายูไนเต็ดจะปลดรอน แอตกินสัน ออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีม ซึ่งผู้ที่จะมาแทนที่ก็ได้แก่อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผู้จัดการทีมชาวสก๊อตแลนด์ของทีมอเบอร์ดีน ส่วนอีกชื่อหนึ่งที่มีกระแสว่าจะมารับตำแหน่งนี้ก็คือ เทอรรี่ เวเนเบิ้ล ผู้จัดการทีมบาร์เซโลนาที่เพิ่งปฏิเสธการรับงานผู้จัดการทีม อาร์เซนอลในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่อย่างไรก็ดี ฤดูกาล 1986–87 แอตกินสันก็ยังได้เริ่มต้นกับการคุมทีมต่อไป

ฤดูกาลถัดมา ยูไนเต็ดออกสตาร์ทฤดูกาลได้อย่างย่ำแย่โดยแพ้ถึง 3 นัดติดต่อกัน ซึ่งรวมไปถึงนัดที่แพ้ในบ้านต่อทีมชาร์ลตัน แอตเลติก ที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาด้วยสกอร์ 1-0 ซึ่งชาร์ลตันเพิ่งได้กลับมาเล่นในลีกสูงสุดของอังกฤษอีกครั้งหลังจากล่าสุดในช่วงศตวรรษที่ 1950 จนต้องรอถึงนัดที่ 5 กว่าพวกเค้าจะสามารถเก็บชัยชนะนัดแรกได้ ด้วยการเปิดบ้านถล่มเซาร์แธมป์ตัน ได้ถึง 5-1 แต่ช่วงหลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์พวกเขาก็พ่ายแพ้ให้แก่เอฟเวอร์ตัน และต้องเสียแต้มให้แก่ทีมอย่างวัตฟอร์ต และโคเวนทรี ซิตี้ รวมถึงการพลาดจุดโทษถึง 2 ครั้งในเกมเปิดบ้านพบเชลซี ซึ่งส่งผลให้ทีมจากลอนดอนตะวันตกสามารถบุกมาเก็บสามแต้มไปครองได้ จนกระทั่งมาถึงฟางเส้นสุดท้ายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 1986 เมื่อยูไนเต็ดต้องพบกับความพ่ายแพ้ต่อเซาร์แฮมตันในฟุตบอลลีกคัพ รอบ 3 นัดรีเพลย์ ไปด้วยสกอร์ถึง 4-1 เช้าวันที่ 6 พฤศจิกายน 1986 สโมสรได้ประกาศปลด รอน แอตกินสัน ออกจากตำแหน่ง และวันต่อมาก็ได้แต่งตั้งอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน จากอเบอร์ดีน เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีมแทน

เฟอร์กูสันประสบความสำเร็จในการแย่งแชมป์สก๊อตติสมาได้จาก 2 มหาอำนาจสก๊อตแลนด์แห่ง โอล์ด เฟิร์ม อันประกอบไปด้วยแรงเจอร์ และเซลติก ที่ครองมานานถึงกว่า 90 ปี แต่งานที่เขาต้องเผชิญที่โอล์ด แทรฟฟอร์ต นั้นใหญ่หลวงและหนักหนาเอาการ เนื่องจากต้องทำทีมต่อ ในขณะที่อยู่ที่อันดับ 4 จากท้ายตารางดิวิชั่น 1 ให้ได้โทรฟี่แชมป์และครองความเป็นที่หนึ่งของลีกอังกฤษกลับมาอีกครั้ง ซึ่งรอมานานถึง 20 ปี เขาต้องสานต่อทีมที่ประกอบด้วยนักเตะ อย่างกัปตันทีม ไบรอัน ร๊อบสัน มิดฟิล์ดตัวรุกนอร์มัน ไวท์ไซต์ (ไวท์ไซต์ได้ 2 เหรียญแชมป์เอฟเอ คัพ และลงเล่นให้ทีมเกือบ 200 นัด ทั้งที่อายุเพียง 21 ปี) และกองหลัง พอล แมคกรัธ แต่นักเตะใหม่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการดึงตัวเข้ามาเพื่อเสริมทีมในปัจจุบัน ซึ่งเค้าจะต้องแข่งกับทีมแกร่งอย่างลิเวอร์พูล และเอฟเวอร์ตัน ในขณะนั้น

อ้างอิง[แก้]

หมายเหตุ
  1. Murphy (2006), p. 134
  2. Barnes et al. (2001), p. 20
  3. Barnes et al. (2001), pp. 20–21
  4. Barnes et al. (2001), p. 110
บรรณานุกรม
  • Barnes, Justyn; Bostock, Adam; Butler, Cliff; Ferguson, Jim; Meek, David; Mitten, Andy; Pilger, Sam; Taylor, Frank OBE; Tyrrell, Tom; และคณะ (2001) [1998]. The Official Manchester United Illustrated Encyclopedia (3rd ed.). London: Manchester United Books. ISBN 0-233-99964-7.
  • Morgan, Steve (March 2010). McLeish, Ian (บ.ก.). "Design for life". Inside United. Haymarket Network (212). ISSN 1749-6497.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]