การเบียดเบียนชาวโซโรอัสเตอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มีการบันทึกถึงการเบียดเบียนศาสนาโซโรอัสเตอร์มาตลอดทั้งประวัติศาสตร์ศาสนาโซโรอัสเตอร์ ศาสนาในอิหร่าน การเบียดเบียนขนานใหญ่ครั้งสำคัญเกิดขึ้นหลังจุดเริ่มต้นของศาสนาอิสลามในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ทั้งระหว่างและหลังการพิชิตเปอร์เซียโดยมุสลิมชาวอาหรับ การเลือกปฏิบัติและการล่วงละเมิดต่อชาวโซโรอัสเตอร์เกิดทั้งในรูปแบบบังคับเปลี่ยนศาสนาและใช้ความรุนแรงขนาดย่อม มีบันทึกถึงมุสลิมที่เข้ามาในภูมิภาคนี้หลังถูกผนวกเข้ากับรัฐเคาะลีฟะฮ์รอชิดูนว่าพวกเขาทำลายวิหารโซโรอัสเตอร์ และชาวโซโรอัสเตอร์ที่อาศัยในบริเวณที่อยู่ภายใต้การปกครองของมุสลิมจะต้องจ่ายภาษีที่มีชื่อว่าญิซยะฮ์[1]

มีการสร้างมัสยิดทับวิหารโซโรอัสเตอร์ที่ถูกทำลาย และห้องสมุดเปอร์เซียหลายแห่งถูกเผา จากนั้นจึงค่อย ๆ มีการออกกฎหมายจากรัฐเคาะลีฟะฮ์รอชิดูนจำนวนมากขึ้น ซึ่งควบคุมพฤติกรรมของศาสนาโซโรอัสเตอร์และจำกัดความสามารถต่อการมีส่วนร่วมในสังคม เมื่อเวลาผ่านไป การเบียดเบียนชาวโซโรอัสเตอร์โดยชาวมุสลิมกลายเป็นเรื่องปกติและแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ และด้วยเหตุนี้ ศาสนาจึงเริ่มเสื่อมถอยลง[1] เนื่องจากกระบวนการอิสลามานุวัตรกำเนิดขึ้นภายใต้การปกครองของมุสลิม ชาวโซโรอัสเตอร์หลายคนหนีไปทางตะวันออกจากเปอร์เซียไปยังอินเดีย

มีชาวโซโรอัสเตอร์จำนวนมากเข้ารับอิสลามเพื่อหลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติและผลของการเป็นพลเมืองขั้นที่สองในรัฐเคาะลีฟะฮ์ หลังจากนั้น ลูก ๆ ของพวกเขาจะถูกส่งไปยังโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามเพื่อเรียนรู้ภาษาอาหรับและศึกษาอัลกุรอานกับคำสอนศาสนาในเรื่องอื่น ๆ กระบวนการนี้มีส่วนทำให้ศาสนาโซโรอัสเตอรเสื่อมถอย อย่างไรก็ตาม ในสมัยจักรวรรดิซามานิด ซึ่งเป็นชาวอิหร่านที่เปลี่ยนศาสนาจากโซโรอัสเตอร์เป็นอิสลามนิกายซุนนี ภาษาเปอร์เซียจึงเกิดขึ้นใหม่และเจริญรุ่งเรืองขึ้น ทำให้ยุคนี้เป็นจุดเริ่มต้นของ Iranian Intermezzo

การเบียดเบียนโดยมุสลิม[แก้]

การพิชิตของอิสลาม[แก้]

ก่อนหน้าการรุกรานของชาวอาหรับและการพิชิตของมุสลิมในภายหลัง เปอร์เซีย (ปัจจุบันคือประเทศอิหร่าน) ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 7 เคยเป็นรัฐอิสระทางการเมืองที่กินพื้นที่ตั้งแต่เมโสโปเตเมียถึงแม่น้ำสินธุ และส่วนใหญ่นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์[2][3][4] ศาสนาโซโรอัสเตอร์เป็นศาสนาประจำชาติของจักรวรรดิเปอร์เซียก่อนอิสลาม 4 อาณาจักร[5] โดยจักรวรรดิสุดท้ายคือจักรวรรดิซาเซเนียนที่ผ่านพระราชกฤษฎีกาของสิ่งนี้ใน ค.ศ. 224[3][6] การรุกรานของชาวอาหรับทำให้การครอบงำทางศาสนาของศาสนาโซโรอัสเตอร์ในเปอร์เซียสิ้นสุดลงอย่างกะทันหัน และสถาปนาศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำรัฐ[7][8][9]

อัลบะลาษุรี นักประวัติศาสตร์อิสลาม กล่าวถึงชาวโซโรอัสเตอร์ในเยเมนที่กำหนดให้จ่ายญิซยะฮ์หลังการพิชิตของมุฮัมมัด[10]

หลังการพิชิตจักรวรรดิเปอร์เซีย ชาวโซโรอัสเตอร์ได้รับสถานะษิมมีและอยู่ภายใต้การถูกข่มเหง การเลือกปฏิบัติ และการคุกคามที่เริ่มขึ้นในรูปความรุนแรงขนาดย่อม[11] ผู้จ่ายญิซยะฮ์ถูกดูถูกและเหยียดหยามจากคนเก็บภาษี[12][13][14] ชาวโซโรอัสเตอร์ที่ถูกจับเป็นทาสในช่วงสงครามจะกลายเป็นไทถ้าพวกเขาเข้ารับอิสลาม[12]

วิหารไฟหลายแห่งที่มีช่องเปิดโค้งตามแนวแกนสี่ช่อง มักถูกแปลงเป็นมัสยิดด้วยการตั้ง เมียะห์รอบ ที่ส่วนโค้งที่ใกล้ กิบลัต ที่สุด วิหารโซโรอัสเตอร์ที่ถูกแปลงเป็นมัสยิดในกรณีนี้สามารถพบได้ที่บูฆอรอ เช่นเดียวกันกับบริเวณในและใกล้ Istakhr และเมืองเปอร์เซียอื่น ๆ[15][ต้องการอ้างอิงเต็มรูปแบบ] พื้นที่เมืองที่ผู้ว่าการชาวอาหรับเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกประหัตประหารทางศาสนามากที่สุด วิหารไฟใหญ่ถูกแปลงเป็นมัสยิด และประชาชนถูกบังคับให้ยอมจำนนหรือหลบหนี[16] ห้องสมุดหลายแห่งถูกเผาและมรดกทางวัฒนธรรมจำนวนมากสูญหาย[17]

หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ มีกฎหมายที่ควบคุมพฤติกรรมของชาวโซโรอัสเตอร์จำนวนมากขึ้น จำกัดความสามารถในการมีส่วนร่วมในสังคม และทำให้ชีวิตของชาวโซโรอัสเตอร์ยากลำบากขึ้น ด้วยความหวังว่าพวกเขาจะเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม[17] เมื่อเวลาผ่านไป การกดขี่ข่มเหงชาวโซโรอัสเตอร์กลายเป็นเรื่องธรรมดาและแพร่หลายมากขึ้น และจำนวนผู้นับถือลดลงอย่างมาก ผู้ที่เปลี่ยนศาสนาหลายคน (บางคนเพียงผิวเผิน) ทำสิ่งนี้เพื่อหลีกหนีจากการละเมิดและการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบตามกฎหมายของแผ่นดิน[12] ส่วนอีกกลุ่มที่เข้ารับอิสลามก็เพราะการจ้างงานในอุตสาหกรรมและช่างฝีมือจะทำให้พวกเขาไม่บริสุทธิ์ เนื่องจากตามความเชื่อของศาสนาโซโรอัสเตอร์ งานของพวกเขาเกี่ยวข้องกับการทำให้ไฟเป็นมลทิน[18] ทอมัส วอล์กเกอร์ อาร์โนลด์รายงานว่า ผู้เผยแผ่ศาสนาอิสลามไม่มีปัญหาในการอธิบายหลักคำสอนของอิสลามแก่ชาวโซโรอัสเตอร์ เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันระหว่างความเชื่อหลายประการ โดยอาร์โนลด์รายงานว่า สำหรับชาวเปอร์เซีย พวกเขาจะพบพระอหุระมาซดะกับอาฮ์รีมานภายใต้พระนามของอัลลอฮ์กับอิบลีส[18]

เมื่อครอบครัวโซโรอัสเตอร์เข้ารับอิสลาม บรรดาลูก ๆ ต้องเข้าไปเรียนในโรงเรียนมุสลิมและเรียนรู้ภาษาอาหรับกับคำสอนของอัลกุรอาน และเด็ก ๆ เหล่านั้นสูญเสียอัตลักษณ์โซโรอัสเตอร์ไป[12] ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนทำให้อัตราการเปลี่ยนศาสนาจากโซโรอัสเตอร์เป็นอิสลามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง[19] นักวิชาการเปอร์เซียแสดงความคิดเห็นว่า "ทำไมหลายคนต้องตายหรือทนทุกข์ทรมาน? นั่นเพราะว่าฝ่ายหนึ่งตั้งใจยัดเยียดศาสนาของตนให้อีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่เข้าใจสิ่งนี้"[20]

อย่างไรก็ตาม เซอร์ ทอมัส วอล์กเกอร์ อาร์โนลด์ (Sir Thomas Walker Arnold) ตั้งข้อสงสัยต่อรายงานการบังคับเปลี่ยนศาสนาของชาวโซโรอัสเตอร์ทั้งหมด โดยยกตัวอย่างอ้างอิงความอดกลั้นหลายรายงานของขุนศึกมุสลิมว่า "เมื่อเผชิญกับข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอนที่จะระบุว่าความเสื่อมถอยของศาสนาโซโรอัสเตอร์ทั้งหมดมาจากการเปลี่ยนศาสนาอย่างรุนแรงโดยผู้พิชิตที่เป็นมุสลิม"[21] อาร์โนลด์เสนอแนะว่าการเปลี่ยนศาสนาของชาวโซโรอัสเตอร์ในอดีตบางส่วน อันที่จริงเป็นการอ้างถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างสองศาสนาอย่างจริงใจ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนศาสนา[21] นอกจากนี้ Stepaniants ยังประกาศ(แบบเดียวกันกับอาร์โนลด์)ว่า นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่าการเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามบางส่วนนั้นเป็นไปอย่างจริงใจ โดยอ้างถึงข้อเท็จจริงที่ว่า อิสลามได้เสนอการเปิดประตูแห่งความเป็นพี่น้องที่กว้างขึ้น ซึ่งแตกต่างจากเกณฑ์ที่จำกัดของศาสนาโซโรอัสเตอร์[22] ถึงกระนั้น อาร์โนลด์ยอมรับว่าการเบียดเบียนชาวโซโรอัสเตอร์เกิดขึ้นในช่วงต่อมา[23] ส่วน Stepaniants กล่าวว่า การเบียดเบียนหลายครั้งเกิดขึ้นในสมัยอับบาซียะฮ์ และในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่มีการอพยพของชาวปาร์ซี[24] แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ทั้งอาร์โนลด์และ Stepaniants ต่างก็กล่าวว่า ศาสนาอิสลามไม่ควรถูกตำหนิต่อความเสื่อมถอยของศาสนาโซโรอัสเตอร์ทั้งหมด[25][21] นอกจากนี้ ประชากรในนครนีชอบูร์ยังคงมีประชากรที่นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์จำนวนมากที่อาศัยอยู่ร่วมกับชาวยิวและคริสต์นิกายเนสทอเรียน (แม้จะมีการเข้ารีตเป็นอิสลามเกือบทันที) แม้กระทั่งในช่วงหลังการพิชิตก็ตาม[26]

การเบียดเบียนโดยกลุ่มเดียวกัน[แก้]

เจ้าขุนโซโรอัสเตอร์มองแมสแดกเป็นพวกนอกรีต และผู้ติดตามของเขาถูกผู้นำซาเซเนียนที่นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์เบียดเบียน โฆสโรว์ที่ 1 ทรงริเริ่มโครงการต่อต้านพวกแมสแดกใน ค.ศ. 524 หรือ 528 ที่จบลงด้วยการสังหารหมู่ซึ่งคร่าชีวิตพวกเขาไปเกือบหมด รวมทั้งตัวแมสแดกเอง และฟื้นฟูศาสนาโซโรอัสเตอร์ดั้งเดิมให้เป็นศาสนาประจำชาติ[27]

มีหลายรายงานที่ระบุการเสียชีวิต อย่างในชอฮ์นอเมระบุว่า ชาวแมสแดกสามพันคนถูกเผาทั้งเป็นด้วยการให้ชูเท้าขึ้นข้างบน เพื่อแสดงลัทธิแมสแดกในรูปแบบ "สวนมนุษย์" ในขณะที่ตัวแมสแดกถูกแขวนคอคว่ำ และถูกยิงด้วยลูกศรจำนวนนับไม่ถ้วน ส่วนบางเรื่องระบุวิธีการประหารชีวิตที่ทรมานอื่น ๆ ไม่ว่าในกรณีใด ภายหลังแอนูชีร์วอนทรงดำเนินการปฏิรูปสังคมและการปกครองของพระองค์อย่างกว้างขวาง[28] ลัทธิแมสแดกเกือบหายสาบสูญไปหลังการสังหารหมู่[29] ต่อมามีกรณีที่กลุ่มนักบวชโซโรอัสเตอร์ได้รับความช่วยเหลือจากชาวมุสลิมในการต่อต้านชาวโซโรอัสเตอร์ ซึ่งกลุ่มนักบวชโซโรอัสเตอร์กลุ่มนั้นถือเป็นพวกนอกรีตหรือพวกแบ่งแยกดินแดน[1]

การเบียดเบียนโดยชาวคริสต์[แก้]

แมรี บอยซ์ (Mary Boyce) รายงานว่า ชาวโซโรอัสเตอร์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของชาวคริสต์ในเอเชียไมเนอร์ประสบกับความยากลำบาก[30] โดยเฉพาะในช่วงความขัดแย้งที่ยาวนานระหว่างจักรวรรดิโรมันและเปอร์เซีย ชาวคริสต์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่ฝ่ายซาเซเนียนควบคุมมีการสังเกตว่าได้ทำลายวิหารไฟและศาสนสถานของศาสนาโซโรอัสเตอร์ไปหลายแห่ง[31]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Houtsma 1936, p. 100, Volume 2
  2. Lapidus 2002, p. 6
  3. 3.0 3.1 Khanbaghi 2006, p. 6
  4. Khanbaghi 2006, p. 15
  5. Sanasarian 2000, p. 48
  6. Stepaniants 2002, p. 1
  7. Khanbaghi 2006, p. 17
  8. Jackson 1906, p. 27
  9. Bleeker & Widengren 1971, p. 212
  10. Lecker, Michael (January 1998). Jews and Arabs in pre-Islamic Arabia. p. 20. ISBN 9780860787846.
  11. Stepaniants 2002, p. 163
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 Boyce 2001, p. 148
  13. Lambton 1981, p. 205
  14. Meri & Bacharach 2006, p. 878
  15. Hillenbrand
  16. Boyce 2001, p. 147
  17. 17.0 17.1 "Under Persian rule". BBC. สืบค้นเมื่อ 16 December 2009.
  18. 18.0 18.1 Arnold 1896, pp. 170–180
  19. Choksy 1987, pp. 28–30
  20. Shojaeddin Shaffa, p. 443
  21. 21.0 21.1 21.2 Arnold 1896,The Preaching of Islam: A History of the Propagation of the Muslim Faith, pp. 177-180
  22. Marietta Stepaniants, Philosophy East and West Vol. 52, No. 2 (Apr., 2002), pp. 164-165
  23. Arnold 1896,The Preaching of Islam: A History of the Propagation of the Muslim Faith, pp. 179
  24. Marietta Stepaniants, Philosophy East and West Vol. 52, No. 2 (Apr., 2002), pp. 163
  25. Marietta Stepaniants, Philosophy East and West Vol. 52, No. 2 (Apr., 2002), pp. 159
  26. Bulliet 1972, The Patricians of Nishapur, pp. 15
  27. Wherry 1896, p. 66
  28. Yarshater, p. 1022
  29. Houtsma 1936, p. 432, Volume 2
  30. Boyce 2001, p. 119
  31. Nigosian 1993, p. 37

บรรณานุกรม[แก้]