การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม
การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม | |
---|---|
การแทรกแซง | |
![]() | |
MeSH | D015928 |
การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม[1] (อังกฤษ: Cognitive behavioral therapy ตัวย่อ CBT) เป็นรูปแบบหนึ่งของจิตบำบัด (psychotherapy)[2] ซึ่งดั้งเดิมออกแบบเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า แต่ปัจจุบันใช้รักษาความผิดปกติทางจิตอย่างอื่น ๆ ด้วย[3][4] ซึ่งมีประสิทธิผลโดยแก้ปัญหาปัจจุบันและเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่ไร้ประโยชน์[2]
ชื่อของวิธีบำบัดอ้างอิงถึงการบำบัดชนิดต่าง ๆ รวมทั้งการบำบัดพฤติกรรม (behavior therapy) การบำบัดความคิด (cognitive therapy) และการบำบัดที่รวมหลักต่าง ๆ ในการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมและจิตวิทยาประชาน[2] ผู้บำบัดคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า จะใช้วิธีที่รวมการบัดบัดทั้งทางพฤติกรรมและทางความคิด เป็นเทคนิคที่ยอมรับความจริงว่า อาจมีพฤติกรรมที่ไม่สามารถควบคุมได้โดยความคิดที่สมเหตุผล เพราะเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการปรับสภาวะ (conditioning) ในอดีตต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งเร้าทั้งภายในภายนอก เป็นเทคนิคที่เพ่งความสนใจไปที่ปัญหาโดยเฉพาะ ๆ และช่วยคนไข้ให้เลือกกลยุทธ์ในการรับมือปัญหาเหล่านั้น[5] ซึ่งต่างจากวิธีการรักษาแบบจิตวิเคราะห์ ที่ผู้รักษาจะสืบหาความหมายใต้สำนึกของพฤติกรรมของคนไข้เพื่อจะวินิจฉัยปัญหา คือ ในการบำบัดแบบพฤติกรรม ผู้รักษาเชื่อว่า ความผิดปกติที่มี เช่นความซึมเศร้า เกิดเนื่องมาจากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าที่กลัวกับการตอบสนองแบบหลีกเลี่ยง ซึ่งมีผลเป็นความกลัวที่มีเงื่อนไข เหมือนดังในการปรับสภาวะแบบดั้งเดิม (Classical Conditioning) และในการบำบัดความคิด ผู้รักษาเชื่อว่า ตัวความคิดเอง จะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคล ดังนั้น การบำบัดสองอย่างหลังนี้จึงรวมกันเป็น CBT[6]
CBT มีประสิทธิผลต่อความผิดปกติหลายอย่างรวมทั้งความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorder) โรควิตกกังวล ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ความผิดปกติของการรับประทาน (Eating disorder) การติดสิ่งต่าง ๆ (addiction) การใช้สารเสพติด (substance dependence) ความผิดปกติที่มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก (Tic disorder) และ psychotic disorder (รวมทั้งโรคจิตเภทและโรคหลงผิด) โปรแกรมการบำบัดแบบ CBT ได้รับประเมินสัมพันธ์กับการวินิจฉัยอาการ และปรากฏว่า มีผลดีกว่าวิธีการอื่น ๆ เช่น การบำบัดแบบ psychodynamic[7] แต่ว่าก็มีนักวิจัยที่ตั้งความสงสัยในความสมเหตุสมผลของข้ออ้างว่ามีผลดีกว่าวิธีการอื่น ๆ[8][9]
การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ยุคที่เน้นการปรับพฤติกรรมเป็นหลัก ผู้ที่ถือเป็นบิดาแห่งการบำบัดในรูปแบบที่เข้าใจและนิยมใช้ที่สุดในปัจจุบันคือ ศ. ดร. อารอน ที. เบ็ก คุณูปการที่สำคัญของเขาคือการนำการปรับความคิดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัด ซึ่งแตกต่างจากการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavior therapy) ซึ่งจะกล่าวถึงพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว โดยละเลยความคิดที่อยู่เป็นพื้นฐาน ลักษณะสำคัญของ CBT ก็คือใช้เวลาสั้นและเน้นปัญหาในปัจจุบัน ไม่ได้ค้นกลับไปยังปมที่มีมาตั้งแต่อดีต[1]
ลักษณะ[แก้]
CBT ที่ทำโดยหลัก มีสมมติฐานว่า การปรับความคิดที่เป็นการปรับตัวผิด (maladaptive) จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ (affect) และพฤติกรรม[10] แต่ก็มีการบำบัดแบบใหม่ ๆ ที่เน้นการเปลี่ยนท่าทีต่อความคิดที่ปรับตัวได้ไม่ดี มากกว่าจะเปลี่ยนตัวความคิดเอง[11] จุดมุ่งหมายของ CBT ไม่ใช่เพื่อวินิจฉัยว่าคนไข้เป็นโรคอะไร แต่เพื่อที่จะดูคนไข้โดยองค์รวมและตัดสินว่าควรจะแก้อะไร ขั้นตอนพื้นฐานในการประเมินที่นักจิตวิทยาคู่หนึ่ง (Kanfer และ Saslow)[12]รวมทั้ง[13] ได้พัฒนาคือ
- ระบุพฤติกรรมที่สำคัญ
- กำหนดว่าพฤติกรรมที่ว่าเกินไปหรือน้อยไป
- ประเมินพฤติกรรมที่ว่า ว่าเกิดบ่อยแค่ไหน นานเท่าไร และรุนแรงแค่ไหน (คือ หาอัตราพื้นฐานหรือ baseline)
- ถ้าพฤติกรรมเกินไป พยายามลดความถี่ ช่วงเวลาที่เกิด และความรุนแรงของพฤติกรรม และถ้าน้อยเกินไป พยายามเพิ่มด้านต่าง ๆ เหล่านั้น
หลังจากระบุพฤติกรรมที่จำเป็นต้องเปลี่ยน ไม่ว่าจะเกินไปหรือน้อยไป ก็จะสามารถเริ่มการบำบัดได้ นักจิตวิทยาต้องกำหนดว่า การบำบัดรักษาได้ผลหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น "ถ้าเป้าหมายก็คือการลดพฤติกรรม พฤติกรรมก็ควรจะลดเทียบกับอัตราพื้นฐาน แต่ถ้าพฤติกรรมสำคัญยังอยู่ที่หรือเหนืออัตราพื้นฐาน การบำบัดเรียกว่าล้มเหลว"[12] ผู้บำบัด หรือว่าอาจจะเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ใช้เทคนิคของ CBT เพื่อช่วยบุคคลให้ต่อต้านรูปแบบพฤติกรรมความคิดและความเชื่อ แล้วทดแทน "ความผิดพลาดทางความคิดเช่น คิดถือเอารวม ๆ กันมากเกินไป ขยายส่วนลบ ลดส่วนบวก และทำให้เป็นเรื่องหายนะ" ด้วย "ความคิดที่สมจริงและมีประสิทธิผลมากกว่า และดังนั้น จะลดอารมณ์ความทุกข์ และพฤติกรรมทำลายตัวเอง"[10] ความผิดพลาดทางความคิดเช่นนี้เรียกว่า ความบิดเบือนทางประชาน (cognitive distortions) ซึ่งอาจจะเป็นการเลือกเชื่อ หรืออาจจะเป็นการคิดถือเอารวม ๆ กันมากเกินไป[14] เทคนิคของ CBT อาจใช้ช่วยบุคคลให้เปิดใจ มีสติ ประกอบด้วยความสำนึก ต่อความคิดบิดเบือนเช่นนั้นเพื่อที่จะลดอิทธิพลของมัน[11] คือ CBT จะช่วยบุคคลทดแทน "ทักษะ ความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม ที่ปรับตัวไม่ดีหรือผิด ด้วยทักษะ ความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมที่ปรับตัวได้ดี"[15] โดยต่อต้านวิธีการคิดและวิธีการตอบสนองที่เป็นนิสัยหรือพฤติกรรมของตน[16]
ยังมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันถึงระดับที่การเปลี่ยนความคิดมีผลใน CBT นอกเหนือไปจากการเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น exposure therapy (การบำบัดความวิตกกังวลโดยแสดงสิ่งที่คนไข้กลัว) และการฝึกทักษะ[17] รูปแบบปัจจุบันของ CBT รวมเทคนิคที่ต่าง ๆ แต่สัมพันธ์กันเช่น exposure therapy, stress inoculation training, cognitive processing therapy, cognitive therapy, relaxation training, dialectical behavior therapy, และ acceptance and commitment therapy[18] ผู้บำบัดบางพวกโปรโหมตการบำบัดทางประชานที่ประกอบด้วยสติ คือ เน้นการสำนึกตนมากขึ้นโดยเป็นส่วนของกระบวนการรักษา[19] CBT มีขั้นตอน 6 ขั้น คือ[15][20]
- การประเมิน (psychological assessment)
- การเปลี่ยนความคิดที่ใช้อธิบายเหตุการณ์ (Reconceptualization)
- การฝึกทักษะ (Skills acquisition)
- การสร้างเสถียรภาพของทักษะ (Skills consolidation) และการฝึกประยุกต์ใช้ทักษะ (application training)
- การประยุกต์ใช้โดยทั่วไป (generalization) และการธำรงรักษา (maintenance)
- การประเมินหลังการบำบัดและการติดตาม
การเปลี่ยนความคิดเป็นส่วนของการบำบัดทางประชาน (หรือความคิด) ของ CBT[15] มีเกณฑ์วิธีหลายอย่างในการดำเนินการบำบัด แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันที่สำคัญ ๆ[21] แต่ว่า การใช้ศัพท์ว่า CBT อาจจะหมายถึงการบำบัดรักษาต่าง ๆ รวมทั้ง การฝึกตนเอง (self-instructions) เช่น โดยสนใจเรื่องอื่น จินตนาภาพ การให้กำลังใจตนเอง, การฝึกการผ่อนคลาย และ/หรือโดย biofeedback (การวัดสรีรภาพโดยมีจุดประสงค์ที่จะควบคุมมัน), การพัฒนาวิธีการรับมือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ปรับตัวได้ดี เช่น ลดความคิดเชิงลบหรือที่ทำลายตนเอง, การเปลี่ยนความเชื่อที่ปรับตัวไม่ดีเกี่ยวกับความเจ็บปวด, และการตั้งเป้าหมาย[15] การบำบัดบางครั้งทำโดยใช้คู่มือ โดยเป็นการบำบัดที่สั้น ทำโดยตรง และจำกัดเวลา สำหรับความผิดปกติทางจิตเฉพาะอย่าง ๆ โดยใช้เทคนิคที่เฉพาะ ๆ CBT สามารถทำทั้งกับบุคคลหรือกับกลุ่ม และมักจะประยุกต์ให้ฝึกได้ด้วยตัวเอง ผู้รักษาและนักวิจัยบางพวกอาจจะถนัดเปลี่ยนความคิด (เช่น cognitive restructuring) ในขณะที่พวกอื่น ๆ อาจจะถนัดเปลี่ยนพฤติกรรม (เช่น exposure therapy) มีการรักษาเช่น imaginal exposure therapy ที่ต้องอาศัยรูปแบบการรักษาทั้งสอง[22][23]
การใช้ในการแพทย์[แก้]
ในผู้ใหญ่ มีหลักฐานว่า CBT มีประสิทธิผลและสามารถมีบทบาทในแผนการรักษาโรควิตกกังวล[24][25], โรคซึมเศร้า[26][27], ความผิดปกติของการรับประทาน (eating disorder)[28], การเจ็บหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง[15], ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ[29], โรคจิต (psychosis)[30], โรคจิตเภท[31], ความผิดปกติจากการใช้สารเสพติด (substance use disorder)[32], เพื่อช่วยในการปรับตัว แก้ความซึมเศร้า และแก้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคไฟโบรไมอัลเจีย[10], และเพื่อช่วยการปรับตัวเป็นต้นเกี่ยวกับความบาดเจ็บที่ไขสันหลัง[33] มีหลักฐานที่แสดงว่า CBT มีประสิทธิผลในการบำบัดโรคจิตเภท ดังนั้น นโยบาย/แนวทางการรักษาโดยมากในปัจจุบันจึงกำหนดเป็นวิธีการรักษา[31]
ในเด็กและวัยรุ่น CBT สามารถใช้อย่างมีประสิทธิผลโดยเป็นส่วนของแผนการรักษาโรควิตกกังวล[34], โรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ[35], ความซึมเศร้าและความคิดจะฆ่าตัวตาย[36], ความผิดปกติของการรับประทาน และโรคอ้วน[37], โรคย้ำคิดย้ำทำ[38], และความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD)[39], รวมทั้งความผิดปกติที่มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก (Tic disorder) โรคถอนผม (trichotillomania) และความผิดปกติทางพฤติกรรมแบบย้ำทำอย่างอื่น ๆ[40] ส่วน CBT-SP ซึ่งเป็นการปรับแปลง CBT เพื่อใช้ป้องกันการฆ่าตัวตาย (suicide prevention หรือ SP) ออกแบบโดยเฉพาะเพื่อรักษาเยาวชนที่ซึมเศร้าอย่างรุนแรง และได้พยายามฆ่าตัวตายภายใน 90 วันที่ผ่านมา เป็นการบำบัดที่มีประสิทธิผล ทำได้ และยอมรับได้[41]
งานศึกษาปี 2012 ทดสอบเกมกับวัยรุ่น 187 คนที่มีความซึมเศร้าแบบอ่อน (mild) จนถึงปานกลาง (moderate) โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้เล่นเกม และอีกกลุ่มหนึ่งให้รับการบำบัดทั่วไปจากผู้ให้คำปรึกษาที่ได้รับการฝึกที่โรงเรียนหรือคลินิกเยาวชน ในบรรดาเยาวชนที่เข้าร่วม 60 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิงโดยมีอายุเฉลี่ยที่ 16 ปี ในทั้งสองกลุ่ม ระดับความวิตกกังวลและความเศร้าซึมลดลงประมาณ 1/3 และเกมได้ช่วยเด็กอายุ 12-19 ปีให้หายจากความเศร้าซึมเป็นจำนวนมากกว่า คือ 43.7% เทียบกับ 26.4% ในการรักษาธรรมดา[42][43]
นอกจากนั้นแล้ว หลักฐานยังแสดงว่า CBT มีประสิทธิผลในการรักษาความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) ในเด็กเล็ก ๆ อายุ 3-6 ขวบ[44] และได้มีการประยุกต์ใช้ต่อความผิดปกติในวัยเด็กหลายอย่าง[45] รวมทั้งความซึมเศร้าและความวิตกกังวล
การทบทวนแบบคอเครนไม่พบหลักฐานว่า CBT มีผลต่อเสียงในหู (tinnitus) แม้ว่าจะมีผลต่อการบริหารความซึมเศร้าและต่อคุณภาพชีวิตสำหรับคนไข้[46] ส่วนการทบทวนแบบคอเครนงานอื่น ๆ ไม่พบหลักฐานว่า การฝึกให้เรียนรู้ CBT ช่วยบุคคลที่รับเลี้ยงดูเด็ก (foster care) ให้สามารถบริหารพฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กที่อยู่ใต้การดูแล[47] ไม่ช่วยในการบำบัดชายที่ทารุณคู่ของตน[48] และหลักฐานยังมีไม่พอในการกำจัดโอกาสเสี่ยงที่การบำบัดทางจิตอาจจะมีอันตรายต่อหญิงที่มีมะเร็งเต้านมที่แพร่กระจายออกไปแล้ว[49] ตามงานปี 2004 ของสถาบันวิจัยสุขภาพและการแพทย์ฝรั่งเศส (INSERM) ที่ทบทวนการบำบัด 3 วิธี CBT อาจจะ "พิสูจน์แล้ว" หรือ "สมมุติได้" ว่าเป็นการบำบัดที่มีประสิทธิผลต่อความผิดปกติทางจิตโดยเฉพาะ ๆ หลายอย่าง[50] คืองานศึกษาพบว่า CBT มีประสิทธิผลในการบำบัดโรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคตื่นตระหนก ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) โรควิตกกังวล โรคหิวไม่หาย (bulimia nervosa) โรคเบื่ออาหารจากสาเหตุทางจิตใจ (anorexia nervosa) ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ และการติดเหล้า[50] งานวิเคราะห์อภิมานบางงานพบว่า CBT มีประสิทธิผลกว่าการบำบัดแบบ psychodynamic และเท่ากับการบำบัดแบบอื่น ๆ ในการรักษาความวิตกกังวลและความซึมเศร้า[51][52] แต่ว่า ในระยะยาวแล้ว การบำบัดแบบ psychodynamic อาจมีผลดีกว่า[53]
การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมและการทดลองแบบอื่น ๆ พบว่า CBT โดยใช้คอมพิวเตอร์ (CCBT) มีประสิทธิผลในการรักษาโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล[25][27][54][55][56][57][58] แม้แต่ในเด็ก[59] และโรคนอนไม่หลับ[60] ส่วนงานวิจัยอื่นพบประสิทธิผลเช่นเดียวกันผ่านการบำบัดแทรกแซงโดยให้ข้อมูลทางเว็บไซต์และโดยพูดคุยทางโทรศัพท์ทุกอาทิตย์[61][62] CCBT มีประสิทธิผลเท่ากับการบำบัดตัวต่อตัวสำหรับโรควิตกกังวลในวัยรุ่น[63] และโรคนอนไม่หลับ[60]
คนที่คัดค้าน CBT บางครั้งเพ่งความสนใจไปที่วิธีดำเนินการ (เช่นโครงการริเริ่มในสหราชอาณาจักร Improving Access to Psychological Therapies หรือ IAPT) ซึ่งในเบื้องต้นอาจจะมีคุณภาพที่ต่ำเพราะผู้รักษาไม่ได้รับการฝึกอบรมที่ดี[64][65] แต่ว่า หลักฐานได้ยืนยันประสิทธิผลของ CBT ในการรักษาโรควิตกกังวลและความซึมเศร้า[56] และก็มีหลักฐานที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยว่า การใช้การสะกดจิตบำบัด (hypnotherapy) เป็นตัวเสริม CBT สามารถเพิ่มประสิทธิผลในการแก้ปัญหาทางคลินิกหลายอย่าง[66][67][68] มีการประยุกต์ใช้ CBT ทั้งในคลินิกและนอกคลินิกเพื่อบำบัดความผิดปกติทางบุคลิกภาพและทางพฤติกรรม[69]
งานปริทัศน์เป็นระบบปี 2011 ที่ทบทวน CBT ที่ใช้ในโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลสรุปว่า "CBT ที่ทำในระดับปฐมภูมิ (primary care) โดยเฉพาะที่ทำโดยช่วยเหลือตนเองผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือทางอินเทอร์เน็ต อาจจะมีประสิทธิผลกว่าการรักษาธรรมดาทั่วไป และสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิผลโดยผู้ให้การรักษาพยาบาลระดับเบื้องต้น"[54] เริ่มมีหลักฐานที่แสดงนัยว่า CBT อาจมีบทบาทในการบำบัดโรคสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder)[70], โรคไฮโปคอนดริเอซิส[71], การรับมือกับผลกระทบของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง[72], การบำบัดปัญหาการนอนเนื่องจากอายุ[73], อาการปวดระดู (dysmenorrhea)[74], และโรคอารมณ์สองขั้ว[75] แต่ควรจะมีการศึกษาเพิ่มและผลที่มีควรตีความอย่างระมัดระวัง
CBT อาจช่วยอาการวิตกกังวลและความซึมเศร้าในคนไข้อัลไซเมอร์[76] มีการศึกษาที่ใช้ CBT เพื่อช่วยบำบัดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการติดอ่าง งานวิจัยเบื้องต้น ๆ แสดงว่า CBT มีประสิทธิผลในการลดความวิตกกังวลทางสังคมสำหรับผู้ใหญ่ที่ติดอ่าง[77] แต่ไม่สามารถลดความถี่การติดอ่าง[78][79]
มีหลักฐานบ้างว่า CBT มีผลในระยะยาวดีกว่าการใช้ยา benzodiazepine และ nonbenzodiazepine ในการบำบัดและบริหารโรคนอนไม่หลับ[80] CBT มีประสิทธิผลปานกลางในการบำบัดกลุ่มอาการล้าเรื้อรัง (chronic fatigue syndrome)[81]
ในสหราชอาณาจักร National Institute for Health and Care Excellence (ตัวย่อ NICE) ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่ออกแนวทาง/นโยบายในการรักษาสุขภาพ แนะนำให้ใช้ CBT ในแผนการบำบัดปัญหาทางสุขภาพจิต รวมทั้งความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคหิวไม่หาย (bulimia nervosa) และโรคซึมเศร้า[82]
โรควิตกกังวล[แก้]
มีหลักฐานว่า CBT มีประสิทธิผลในการบำบัดโรควิตกกังวลในผู้ใหญ่[83] แนวคิดพื้นฐานสำหรับการบำบัดโรควิตกกังวลโดย CBT ก็คือ exposure therapy ซึ่งหมายถึงให้คนไข้เผชิญกับวัตถุ กิจกรรม หรือสถานการณ์ที่ตนกลัว ยกตัวอย่างเช่น หญิงคนไข้ PTSD ที่กลัวสถานที่ที่ตนถูกทำร้ายอาจจะช่วยได้ โดยให้ไปที่สถานที่นั้นแล้วเผชิญหน้ากับความกลัวนั้นโดยตรง และเช่นกัน บุคคลที่กลัวการพูดต่อหน้าสาธารณชนอาจจะได้คำแนะนำให้ให้มีปาฐกถา[84] วิธีการรักษาเช่นนี้มาจากแบบจำลองมีสองปัจจัยของ Orval Hobart Mowrer[85] คือ เมื่อมีการเปิดรับ (exposure) สิ่งเร้าที่สร้างปัญหา การปรับสภาวะที่ไม่มีประโยชน์เช่นนี้สามารถแก้คืนได้ (เป็นแนวคิดทางจิตวิทยาที่เรียกว่า extinction และ habituation) งานวิจัยได้แสดงหลักฐานว่า การใช้ฮอร์โมน glucocorticoids อาจจะทำให้ถึงสภาวะ extinction ได้ดีกว่าเมื่อใช้ในระหว่าง exposure therapy เพราะว่า glucocorticoids สามารถป้องกันการระลึกถึงความจำที่กลัว และช่วยเสริมความจำใหม่โดยช่วยสร้างปฏิกิริยาใหม่ต่อสถานการณ์ที่ไม่มีอะไรน่ากลัว ดังนั้น การใช้ glucocorticoids ร่วมกับ exposure therapy อาจจะเพิ่มประสิทธิผลของการบำบัดคนไข้โรควิตกกังวล[86]
โรคจิตเภท โรคจิต และความผิดปกติทางอารมณ์[แก้]
CBT มีหลักฐานที่แสดงว่าเป็นการบำบัดที่มีประสิทธิผลต่อโรคซึมเศร้า[26] แนวทางปฏิบัติของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (American Psychiatric Association ตัวย่อ APA) ชี้ว่า ในบรรดาวิธีจิตบำบัดต่าง ๆ CBT และ interpersonal psychotherapy มีหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิผลที่ดีที่สุดต่อโรคซึมเศร้า (major depressive disorder)[87][ต้องการเลขหน้า]
ทฤษฎีสมุฏฐานทางประชานของโรคซึมเศร้าของ ศ. ดร. อารอน ที. เบ็ก ชี้ว่า คนซึมเศร้าคิดอย่างที่คิดก็เพราะตนมีแนวโน้มในการตีความเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเชิงลบ ตามทฤษฎีนี้ คนซึมเศร้าได้ schema แบบลบเกี่ยวกับโลกในระหว่างวัยเด็กและวัยรุ่น โดยเป็นผลของเหตุการณ์ที่ก่อความเครียด และ schema เชิงลบนั้นก็จะออกฤทธิ์ภายหลังในชีวิตเมื่อบุคคลประสบเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน[88] ดร. เบ็กยังได้อธิบายถึงทฤษฎีความคิด 3 อย่าง (Beck's cognitive triad) ที่ประกอบไปด้วย schema เชิงลบ และความเอนเอียงทางประชานต่าง ๆ (cognitive bias) ของบุคคล โดยตั้งทฤษฎีว่า คนที่เศร้าซึมประเมินตัวเอง โลก และอนาคตในเชิงลบ ตามทฤษฎีนี้ คนเศร้าซึมจะมีความคิดเช่น "ฉันทำอะไรก็ไม่ดี" "เป็นไปไม่ได้ที่วันนี้จะเป็นวันที่ดี" หรือ "อะไร ๆ ก็จะไม่ดีขึ้น" เป็นความคิดเนื่องจาก schema เชิงลบช่วยให้เกิดความเอนเอียงทางประชาน และความเอนเอียงก็จะช่วยเสริมสร้าง schema เชิงลบ เพิ่มขึ้น ความคิดเกี่ยวกับตัวเอง โลก และอนาคตในเชิงลบเช่นนี้คือ Beck's cognitive triad ดร. เบ็กเสนอว่า คนเศร้าซึมมักจะมีความเอนเอียงต่าง ๆ รวมทั้ง arbitrary inference (การอนุมานตามอำเภอใจ), selective abstraction (การกำหนดสาระสำคัญแบบเลือก), over-generalization (การสรุปเหมาเกินไป), magnification (การทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่), และ minimization (การลดความสำคัญ)
ความเอนเอียงทางประชานเหล่านี้ว่องไวที่จะทำการอนุมานเชิงลบ ที่ทั่วไป และที่เป็นเรื่องตัวเอง และเพิ่มกำลังให้กับ schema แบบลบ[88] ในโรคจิต (Psychosis) ระยะยาว CBT ใช้เสริมการใช้ยาและจะปรับให้เข้ากับคนแต่ละคน การรักษาแทรกแซงที่มักจะใช้ในอาการเหล่านี้รวมทั้งการตรวจสอบว่ารู้ความจริงเท่าไหน การเปลี่ยนอาการหลงผิดและประสาทหลอน การตรวจสอบปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการอีก (relapse) และการบริหารจัดการอาการที่เกิดขึ้นอีก[30] มีงานวิเคราะห์อภิมานหลายงานที่เสนอว่า CBT มีประสิทธิผลกับโรคจิตเภท[31][89] และ APA รวม CBT ในแนวทางการบำบัดโรคจิตเภทว่าเป็นการบำบัดที่อ้างอิงหลักฐาน แต่ว่า มีหลักฐานจำกัดว่า CBT มีผลสำหรับโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder)[75] และโรคซึมเศร้าแบบรุนแรง[90]
แต่งานวิเคราะห์อภิมานปี 2009 พบว่า ไม่มีการทดลองแบบอำพรางและการควบคุมด้วยการรักษาหลอกที่แสดงว่า CBT มีผลต่อโรคจิตเภทหรือโรคอารมณ์สองขั้ว และผลต่าง (effect size) ของ CBT มีน้อยในโรคซึมเศร้า (major depressive disorder) และพบว่า ไม่มีหลักฐานที่สรุปได้ว่า CBT มีผลในการป้องกันการกำเริบของโรคอารมณ์สองขั้ว[91] หลักฐานว่า ความซึมเศร้าแบบรุนแรงลดระดับได้โดย CBT ก็ไม่มีด้วย โดยมองว่า การใช้ยาแก้โรคซึมเศร้ามีประสิทธิผลที่ดีอย่างสำคัญกว่า CBT[26] แม้ว่า ผลสำเร็จต่อโรคซึมเศร้าของ CBT จะพบเริ่มตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990[92]
ตามงานวิจัยปี 2012 CBT สามารถใช้ลดอคติ (prejudice) ต่อผู้อื่น เพราะว่าอคติต่อผู้อื่นสามารถทำให้คนอื่นเกิดความซึมเศร้าได้ หรือแม้แต่ตัวเองถ้ากลายมาเป็นพวกเดียวกันกับกลุ่มบุคคลที่ตนมีอคติ[93] ส่วนงานวิจัยปี 2012 อีกงานหนึ่งได้พัฒนาการบำบัดแทรกแซงคนมีอคติ (Prejudice Perpetrator intervention) โดยมีแนวคิดหลายอย่างที่คล้าย ๆ กับ CBT[94] และเหมือนกับ CBT วิธีการรักษาคือสอนให้คนที่มีอคติสำนึกถึงความคิดที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และใช้วิธีการเปลี่ยนความคิดต่าง ๆ ต่อต้านความคิดแบบทั่วไปต่อกลุ่มสังคมที่เป็นเรื่องอัตโนมัติ[93]
ผลที่วัด | คำอธิบาย | ผลเป็นตัวเลข | คุณภาพของหลักฐาน |
---|---|---|---|
ผลทั่วไป | |||
ไม่มีความเปลี่ยนแปลงทางจิต | ไม่ดีกว่าจิตบำบัดอื่น ๆ เพื่อรักษาสภาวะจิต | RR 0.84 CI 0.64 - 1.09 | ต่ำมาก |
โรคกำเริบ | ไม่ลด | RR 0.91 CI 0.63 - 1.32 | ต่ำ |
การเข้า รพ. อีก | ไม่ลด | RR 0.86 CI 0.62 - 1.21 | |
Social functioning | ดีขึ้นในกลุ่ม CBT ที่ประมาณสัปดาห์ 26 แต่ไม่ชัดเจนว่ามีผลอย่างไรต่อชีวิตจริง ๆ | MD 8.80 higher CI 4.07 - 21.67 | ต่ำมาก |
คุณภาพชีวิต | ไม่เปลี่ยน | MD 1.86 lower CI 19.2 lower to 15.48 higher | |
ผลลบ | |||
ผลที่ไม่พึงประสงค์ (ภาย 24-52 สัปดาห์หลังเริ่มการบำบัด) | ไม่มีมากกว่า | RR 2 CI 0.71 - 5.64 | ต่ำมาก |
ในผู้สูงวัย[แก้]
CBT สามารถช่วยบุคคลทุกอายุ แต่ว่า การบำบัดควรจะปรับเพราะอายุของคนไข้ เพราะว่า ผู้มีอายุโดยเฉพาะมีลักษณะบางอย่างที่ทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนการบำบัด[96] ปัญหาเกี่ยวกับ CBT ในเรื่องอายุรวมทั้ง
- ผลจากคนกลุ่มเดียวกัน (The Cohort effect)
- กาลเวลาที่บุคคลแต่ละรุ่นมีชีวิต จะเป็นตัวเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดและค่านิยม ดังนั้น คนอายุ 70 ปีอาจจะมีปฏิกิริยาต่อการบำบัดแตกต่างจะคนอายุ 30 ปี เพราะว่า มีวัฒนธรรมที่ต่างกัน นอกจากนั้น เมื่อคนรุ่นต่าง ๆ ต้องปฏิสัมพันธ์กัน ค่านิยมที่ชนกันอาจจะทำให้การบำบัดนั้นยากขึ้น[96]
- บทบาทที่มีอยู่
- เมื่อถึงความสูงวัยแล้ว บุคคลจะมีไอเดียที่ชัดเจนว่าบทบาทชีวิตของตนเป็นอย่างไรและจะยึดอยู่กับบทบาทนั้น บทบาททางสังคมนี้อาจจะเป็นตัวกำหนดทำให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าตนเป็นใคร และอาจจะทำให้ยากในการปรับตัวดังที่ต้องทำได้ใน CBT[96]
- ความคิดเกี่ยวการมีอายุ
- ถ้าผู้สูงอายุเห็นการมีอายุว่าเป็นเรื่องลบ นี้อาจจะเป็นตัวทำให้อาการที่พยายามแก้แย่ลง (เช่น ความซึมเศร้าหรือความวิตกกังวล)[96] ความคิดแบบเหมารวมเชิงลบหรืออคติต่อคนแก่ อาจจะก่อความเศร้าซึมเมื่อความแก่นั้นมาถึงตัว[93]
- การทำอะไรได้ช้าลง
- เมื่อเราแก่ขึ้น เราอาจจะใช้เวลามากขึ้นในการเรียนรู้ และดังนั้น อาจจะใช้เวลามากกว่าเพื่อที่จะเรียนรู้และจำวิธีการของจิตบำบัดได้ ดังนั้น ผู้รักษาพึงใช้เวลาเพิ่มขึ้นในการทำจิตบำบัด และอาจจะใช้วิธีการทีเป็นทั้งการเขียนและการพูดเพื่อช่วยให้คนไข้จำวิธีบำบัดได้[96]
การป้องกันโรคจิต[แก้]
สำหรับโรควิตกกังวล (anxiety disorders) การใช้ CBT กับบุคคลเสี่ยงได้ลดจำนวนการออกอาการของโรค (episode) ของทั้งโรควิตกกังวลทั่วไป (generalized anxiety disorder) และอาการวิตกกังวลอื่น ๆ และช่วยวิธีการคิด ความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ และทัศนคติที่ไม่มีประสิทธิผล ได้อย่างสำคัญ[56][97][98] ในงานศึกษาปี 2008 3% ของคนในกลุ่ม CBT เกิดโรควิตกกังวลทั่วไป 12 เดือนหลังจากการแทรกแซงเทียบกับ 14% ในกลุ่มควบคุม[99] นอกจากนั้นแล้ว ผู้ที่มีความตื่นตระหนกแบบยังไม่ถึงเกณฑ์เป็นโรค (Subthreshold) ได้รับประโยชน์อย่างสำคัญจาก CBT[100][101] การใช้ CBT ปรากฏว่าลดระดับความชุกของความวิตกกังวลทางสังคม (social anxiety)[102] สำหรับโรคซึมเศร้า การแทรกแซงรักษาเป็นขั้น ๆ (คือการดูอาการ, การบำบัดโดย CBT, และการให้ยาเมื่อสมควร) ได้ผลลดความชุกกว่า 50% สำหรับคนไข้ที่มีอายุ 75 หรือมากกว่านั้น[103]
ส่วนงานศึกษาความซึมเศร้าในปี 2012 ในเด็กวัยรุ่นพบผลว่างเทียบกับกลุ่มที่ควบคุมการใส่ใจและกลุ่มที่ใช้วิธีการบรรเทาปัญหาของโรงเรียนอื่น ๆ และผู้เขียนได้แสดงความเห็นว่า เด็กกลุ่ม CBT อาจจะสำนึกถึงตัวเองมากขึ้นและรายงานอาการซึมเศร้าที่สูงขึ้น แต่แนะนำให้มีการศึกษางานวิจัยเพิ่มขึ้นในเรื่องนี้[104] และก็มีงานวิจัยปี 1993 ที่เห็นผลว่างเช่นกัน[105]
ในงานวิเคราะห์อภิมานเกี่ยวกับคอร์ส "การรับมือกับความซึมเศร้า (Coping with Depression)" ซึ่งเป็นการแทรกแซงโดยการเปลี่ยนความคิดพฤติกรรม พบการลดความเสี่ยงต่อความซึมเศร้า (major depression) โดย 38%[106] ส่วนในโรคจิตเภท งานศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันด้วย CBT งานหนึ่งพบว่ามีผลบวก[107] แต่อีกงานหนึ่งพบผลว่าง[108]
ประวัติ[แก้]
ทางปรัชญา[แก้]
พื้นฐานบางอย่างของ CBT พบได้ในหลักปรัชญาโบราณต่าง ๆ รวมทั้งของลัทธิสโตอิก[109] นักปราชญ์ลัทธิสโตอิกเชื่อว่า สามารถใช้ตรรกศาสตร์ในการกำหนดและทิ้งความเชื่อผิด ๆ ที่นำไปสู่อารมณ์ที่เป็นอันตราย ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อผู้บำบัดทางความคิด-พฤติกรรมในปัจจุบัน ที่พยายามกำหนดความบิดเบือนทางความคิดที่มีส่วนต่อความซึมเศร้าและความวิตกกังวล[110] ยกตัวอย่างเช่น หนังสือคู่มือรักษาความซึมเศร้าดั้งเดิมของ ศ. ดร. อารอน ที. เบ็ก กล่าวไว้ว่า "จุดกำเนิดทางปรัชญาของการบำบัดทางความคิดสามารถสืบไปได้จนถึงนักปราชญ์ลัทธิสโตอิก"[111] นักปราชญ์สำคัญอีกคนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนา CBT ก็คือ John Stuart Mill[112]
การบำบัดพฤติกรรม[แก้]
รากฐานปัจจุบันของ CBT มาจากการพัฒนาการบำบัดพฤติกรรม (behavior therapy) ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20, การพัฒนาการบำบัดความคิด (cognitive therapy) ในคริสต์ทศวรรษ 1960, และการรวมวิธีการบำบัดทั้งสองเข้าด้วยกันต่อมา งานนวัตกรรมทางพฤติกรรมนิยม (behaviorism) เริ่มต้นด้วยงานเกี่ยวกับการวางเงื่อนไขแบบดั้งเดิม (classical conditioning) ของ ศ. ดร. จอห์น วัตสันในปี 1920[113] ส่วนวิธีการบำบัดพฤติกรรมเริ่มปรากฏตั้งแต่ปี 1924[114] โดยมีงานของนักจิตวิทยาหญิงที่อุทิศให้กับการบำบัดความกลัวให้แก่เด็ก[115] ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 เกิดงานของ นพ. โวลป์และวัตสัน ที่มีรากฐานบนงานของอีวาน ปัฟลอฟในเรื่องการเรียนรู้และการปรับสภาวะ (learning and conditioning) ที่มีอิทธิพลต่อการบำบัดพฤติกรรม (ของฮันส์ ไอเซงค์ และ Arnold Lazarus) ต่อมา โดยมีรากฐานอยู่ในแนวคิดของการวางเงื่อนไขแบบดั้งเดิม[113][116] ต่อมา เพื่อนร่วมงานของ ดร. Eysenck คือ ดร. เกล็นน์ วิลสัน แสดงว่า การวางเงื่อนไขความกลัวแบบดั้งเดิมในมนุษย์สามารถควบคุมได้โดยการเปลี่ยนความคาดหวังโดยใช้คำพูด[117] ดังนั้นจึงเป็นการเปิดตัวงานวิจัยที่สนับสนุนแนวคิดของการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม
ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 และ 1960 การบำบัดพฤติกรรมเป็นวิธีการที่ใช้อย่างกว้างขวางโดยนักวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และแอฟริกาใต้ ผู้ได้รับแรงจูงใจจากทฤษฎีการเรียนรู้แบบพฤติกรรมนิยมของปัฟลอฟ ของวัตสัน และของ ศ. คลาร์ก ฮัล[114] ในสหราชอาณาจักร นพ. โจเซฟ โวลป์ ได้ใช้สิ่งที่เขาพบในสัตว์ในการพัฒนาวิธีการบำบัดพฤติกรรมที่เรียกว่า systematic desensitization และได้ใช้ผลงานวิจัยทางพฤติกรรมของเขาในการรักษาคนไข้โรคประสาท (neurotic disorder)[113] ซึ่งเป็นกองหน้าของวิธีลดความกลัวที่ใช้ในปัจจุบัน[114] นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ ฮันส์ ไอเซงค์ ได้เสนอใช้การบำบัดพฤติกรรมว่าเป็นวิธีบำบัดทางเลือกที่ได้ผลในปี 1952[114][118] ในช่วงเวลาเดียวกัน ศ. สกินเนอร์และเพื่อร่วมงานเริ่มมีอิทธิพลเพราะงานเกี่ยวกับเงื่อนไขจากตัวดำเนินการ (operant conditioning)[113][116] ซึ่งต่อมาเรียกว่า radical behaviorism ซึ่งเป็นศาสตร์ที่หลีกเลี่ยงแนวคิดทางประชาน (cognition) หรือความคิดโดยประการทั้งปวง[113] ถึงกระนั้น ก็ยังมีนักจิตวิทยาอีกคู่หนึ่ง (Julian Rotter และ Albert Bandura) ที่ต่อเติมการบำบัดพฤติกรรมที่เสริมทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (social learning theory) โดยแสดงหลักฐานว่า ความคิด (cognition) มีผลต่อการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้และพฤติกรรม[113][116] และการเน้นปัจจัยทางพฤติกรรมเช่นนี้เรียกได้ว่าเป็น "คลื่นลูกแรก" ของ CBT[119]
การบำบัดความคิด[แก้]
นักบำบัดแรกที่พยายามแก้ปัญหาเกี่ยวกับความคิดในจิตบำบัดก็คือ นพ. แอลเฟร็ด แอ็ดเลอร์ และแนวคิดเกี่ยวกับความผิดพลาดพื้นฐานที่เขาแสดงว่า ช่วยตั้งเป้าหมายพฤติกรรมหรือเป้าหมายชีวิตที่ไร้ประโยชน์[120] ผลงานของคุณหมอแอ็ดเลอร์มีอิทธิพลต่องานของ ศ. ดร. แอลเบิรต์ เอลลิส[120] ผู้พัฒนาจิตบำบัดแบบแรก ๆ ที่ช่วยเปลี่ยนความคิด ที่รู้จักทุกวันนี้ว่า Rational emotive behavior therapy (REBT)[121] ในช่วงเวลาเดียวกัน ดร. อารอน ที. เบ็ก ยังใช้เทคนิค Free association ในการรักษาโรคโดยจิตวิเคราะห์[122] แต่ในช่วงรักษาคนไข้ ดร. เบ็กสังเกตว่า ความคิดต่าง ๆ ไม่ใช่อยู่ใต้จิตสำนึกตามทฤษฎีที่ นพ. ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ได้ตั้งไว้ และความคิดบางอย่างอาจจะเป็นตัวการในปัญหาทางอารมณ์ของคนไข้[122] ซึ่งจากสมมติฐานนี้ ดร. เบ็กได้พัฒนาการบำบัดความคิด (cognitive therapy) และเรียกความคิดที่เป็นปัญหาเหล่านี้ว่า ความคิดอัตโนมัติ[122] และจากวิธีการบำบัดสองทั้งอย่างนี้เอง คือ REBT และการบำบัดความคิด ที่กลายเป็น "คลื่นลูกที่สอง" ของ CBT โดยเน้นปัจจัยทางความคิด[119]
การรวมกันของการบำบัดทางพฤติกรรมและทางความคิด[แก้]
แม้ว่าวิธีการบำบัดพฤติกรรมจะได้ผลกับโรคประสาท (neurotic disorder) หลายอย่าง แต่ก็มีผลน้อยต่อโรคซึมเศร้า (Major depressive disorder)[113][114][123] พฤติกรรมนิยมก็เริ่มที่จะลดความนิยมในช่วงที่เรียกว่า "การปฏิวัติทางความคิด" (cognitive revolution) และวิธีการบำบัดของ ดร. เอลลิส และ ดร. เบ็ก ก็เริ่มรับความนิยมในหมู่นักบำบัดโดยพฤติกรรม แม้ว่าตอนแรกนักบำบัดจะได้ปฏิเสธแนวคิดเกี่ยวกับความคิดหรือประชานมาก่อน[113] ระบบทั้งสองอย่างเหล่านี้พุ่งความสนใจโดยหลักไปที่ปัญหาที่คนไข้มีในปัจจุบัน
ในงานศึกษาแรก ๆ การบำบัดความคิดมักจะนำมาเปรียบเทียบกับการบำบัดทางพฤติกรรมเพื่อจะดูว่าอะไรได้ผลกว่ากัน ต่อมาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 และ 1990 เทคนิคทางความคิดและพฤติกรรมจึงรวมกันเป็นการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT) ซึ่งเกิดขึ้นได้โดยอาศัยการพัฒนาวิธีบำบัดโรคตื่นตระหนกที่สำเร็จผลของ ศ. ดร. เดวิด เอ็ม. คลาร์ก ในสหราชอาณาจักร และ ดร. เดวิด เอ็ช. บาร์โลว์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา[114] แต่เมื่อเวลาเริ่มผ่านไป CBT เป็นคำที่ไม่ใช่หมายเพียงแค่วิธีการบำบัดวิธีหนึ่ง แต่กลายเป็นคำรวม ๆ หมายถึงจิตบำบัดที่อาศัยการเปลี่ยนความคิดทั้งหมด[113] ซึ่งรวมทั้ง rational emotive therapy, cognitive therapy, acceptance and commitment therapy, dialectical behavior therapy, reality therapy/Glasser's choice theory, cognitive processing therapy, Eye movement desensitization and reprocessing (EMDR), และ multimodal therapy[113] และล้วนแต่เป็นการบำบัดที่ผสมผสานการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม
การรวมตัวกันของทั้งพื้นฐานทางทฤษฎีและพื้นฐานทางเทคนิค ของทั้งการบำบัดพฤติกรรมและการบำบัดความคิด เรียกได้ว่าเป็น "คลื่นลูกที่สาม" ของ CBT[119] ซึ่งเป็นคลื่นลูกปัจจุบัน[119] โดยวิธีการบำบัดที่เด่นที่สุดที่เป็นส่วนของคลื่นลูกที่สามนี้คือ dialectical behavior therapy และ acceptance and commitment therapy[119]
การเข้าถึงการบำบัด (ในประเทศตะวันตก)[แก้]
ผู้บำบัด[แก้]
โปรแกรม CBT ปกติจะเป็นการพบกันเป็นส่วนตัวระหว่างคนไข้กับนักบำบัด โดยพบกัน 6-18 ครั้งแต่ละครั้งประมาณ 1 ชม. นัดพบกันโดยเว้นระยะ 1-3 อาทิตย์ หลังจากที่สำเร็จโปรแกรมนี้แล้ว อาจจะมีการติดตามอีกหลายครั้ง เช่น ที่ 1 เดือนและ 3 เดือน[124] CBT ยังมีผลสำเร็จด้วยถ้าทั้งคนไข้และนักบำบัดสามารถพิมพ์ข้อความสดให้แก่กันและกันได้โดยใช้คอมพิวเตอร์[125][126]
การบำบัดที่ได้ผลขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ (Therapeutic relationship) ระหว่างผู้บำบัดและคนไข้[2][127] เพราะว่าไม่เหมือนกับจิตบำบัดแบบอื่น ๆ คนไข้ต้องมีส่วนร่วมอย่างยิ่ง[128] ยกตัวอย่างเช่น อาจจะให้คนไข้วิตกกังวลคุยกันคนแปลกหน้าเป็นการบ้าน แต่ถ้านั่นยากเกินไป อาจจะต้องทำงานที่ง่ายกว่านั้นก่อน[128] ผู้บำบัดต้องยืดหยุ่นได้และสนใจฟังคนไข้แทนที่จะทำการเป็นคนมีอำนาจ[128]
การรักษาผ่านคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ต[แก้]
องค์กรของรัฐที่ออกแนวทางในการรักษาสุขภาพ (National Institute for Health and Clinical Excellence ตัวย่อ NICE) แห่งสหราชอาณาจักรอธิบาย "การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมโดยคอมพิวเตอร์" (Computerized cognitive behavioral therapy ตัวย่อ CCBT) ว่าเป็น "คำที่หมายถึงการให้ CBT ผ่านโปรแกรมเชิงโต้ตอบผ่านคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต หรือระบบโต้ตอบผ่านเสียง (interactive voice response system)"[129] แทนที่จะพบกับผู้บำบัดตัวต่อตัว หรือรู้จักอีกอย่างหนึ่งว่า internet-delivered cognitive behavioral therapy (ICBT)[130] CCBT มีโอกาสช่วยให้คนไข้ได้รับการบำบัดที่อ้างอิงหลักฐาน และแก้ปัญหาการรักษาที่แพงมากหรือไม่มีถ้าต้องใช้ผู้บำบัดจริง ๆ[131]
งานวิเคราะห์อภิมานหลายงานพบว่า CCBT คุ้มราคาและบ่อยครั้งถูกกว่าการรักษาตามปกติ[132][133] รวมทั้งโรควิตกกังวล[134] มีงานหลายงานที่พบว่าบุคคลที่มีความวิตกกังวลทางสังคม (social anxiety) และความซึมเศร้าดีขึ้นเมื่อบำบัดโดย CBT แบบออนไลน์[135] งานทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับผลงานวิจัยใน CCBT ในการบำบัดโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorder ตัวย่อ OCD) ในเด็กพบว่า โปรแกรมมีอนาคตที่สดใสในการบำบัด OCD ในเด็กและวัยรุ่น[136] CCBT ยังอาจใช้บำบัดความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorder) ในกลุ่มประชากรต่าง ๆ ที่ไม่ใช่คนรักต่างเพศ ที่อาจจะหลีกเลี่ยงการมาพบตัวต่อตัวเพราะกลัวมลทินทางสังคม แต่ว่า โปรแกรม CCBT ปัจจุบันยังไม่ได้จัดให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้[137]
ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของการใช้ CCBT ก็คือมีคนสมัครใช้น้อยและทำจนเสร็จน้อย ๆ ทั้ง ๆ ที่บอกว่ามีให้ใช้และอธิบายให้ฟังเป็นอย่างดี[138][139] งานวิจัยบางงานพบว่า อัตราการทำจนเสร็จและประสิทธิผลในการรักษาเมื่อใช้ CCBT โดยมีบุคคลที่คอยช่วยสนับสนุน และไม่ใช่แต่สนับสนุนผู้ทำการบำบัดเท่านั้น สูงกว่าเมื่อให้คนไข้ใช้แต่ CCBT ด้วยตนเอง[132][140]
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2006 ในสหราชอาณาจักร NICE แนะนำให้มี CCBT ใช้ภายในระบบการดูแลสุขภาพของรัฐบาลทั่วประเทศอังกฤษและประเทศเวลส์ สำหรับคนไข้ที่มีความเศร้าซึมแบบอ่อนจนถึงปานกลาง แทนที่จะเริ่มใช้ยาแก้ความซึมเศร้าทันที[129] และยังมีองค์กรสุขภาพอื่น ๆ ในประเทศอังกฤษที่มี CCBT ให้ใช้ด้วย[141] แต่ว่า แนวทางของ NICE ยอมรับว่า น่าจะมีโปแกรม CBT หลายโปรแกรมที่ช่วยเหลือคนไข้ได้ จึงไม่มีการรับรองโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่งโดยเฉพาะในปัจจุบัน[142]
ส่วนงานวิจัยที่เริ่มเปิดใหม่ เป็นเรื่องการใช้ CCBT ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) คือมีการเสนอให้ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อสร้าง CCBT ที่ทำเสมือนการบำบัดที่ทำตัวต่อตัว ซึ่งอาจทำได้ใน CBT สำหรับโรคบางอย่างโดยเฉพาะ และใช้ความรู้ที่กว้างขวางครอบคลุมในเรื่องนั้น[143] ปัญหาที่ได้พยายามแล้วก็คือความวิตกกังวลทางสังคม (social anxiety) และบุคคลผู้ติดอ่าง[144]
การอ่านหาข้อมูลเอง[แก้]
งานวิจัยบางงานพบว่า การให้คนไข้อ่านวิธีการทาง CBT เองมีประสิทธิผล[145][146][147] แต่ว่าก็มีงานหนึ่งที่พบผลลบในคนไข้ที่มักจะคิดวนเวียน (ruminate)[148] และงานวิเคราะห์อภิมานหนึ่งพบว่า ประโยชน์จะมีระดับสำคัญก็ต่อเมื่อมีคนช่วยแนะนำ (เช่น โดยผู้พยาบาลรักษา)[149]
การสอนเป็นกลุ่ม[แก้]
การให้คนไข้เข้าคอร์สทำเป็นกลุ่มพบว่ามีประสิทธิผล[150] แต่ว่างานวิเคราะห์อภิมานที่ทบทวนการรักษา OCD ในเด็กแบบอ้างอิงหลักฐาน แสดงว่า CBT แบบบุคคลมีผลกว่าแบบกลุ่ม[136]
แบบ[แก้]
Brief CBT[แก้]
Brief cognitive behavioral therapy (BCBT) เป็นรูปแบบของ CBT ที่พัฒนาขึ้นเพื่อสถานการณ์ที่มีเวลาจำกัดในการบำบัด[151] และอาจทำโดยนัดพบกันเพียงแค่ 2 ครั้งแต่อาจใช้เวลารวมกันถึง 12 ชม. เป็นวิธีที่พัฒนาและทำเป็นครั้งแรกเพื่อทหารที่ปฏิบัติการอยู่นอกประเทศเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย[151] ขั้นตอนการบำบัดรวมทั้ง [151]
- การกำหนดเป้าหมาย (Orientation)
- การตกลงสัญญาเพื่อรับการบำบัดรักษา (Commitment to treatment)
- การวางแผนการตอบสนองต่อวิกฤติการณ์และเพื่อความปลอดภัย (Crisis response and safety planning)
- การจำกัดวิธี (Means restriction)
- ชุดอุปกรณ์เพื่อรอดชีวิต (Survival kit)
- บัตรเหตุผลเพื่อจะมีชีวิตอยู่ (Reasons for living card)
- แบบจำลองของการฆ่าตัวตาย (Model of suicidality)
- บันทึกการรักษา (Treatment journal)
- สิ่งที่ได้เรียนรู้ (Lessons learned)
- เรื่องทักษะ (Skill focus)
- ตารางการพัฒนาทักษะ (Skill development worksheets)
- บัตรเพื่อเผชิญรับปัญหา (Coping cards)
- การแสดง (Demonstration)
- การฝึกหัด (Practice)
- การขัดเกลาทักษะ (Skill refinement)
- การป้องกันการกำเริบ (Relapse prevention)
- การใช้ทักษะในเรื่องอื่น ๆ (Skill generalization)
- การขัดเกลาทักษะ (Skill refinement)
Cognitive emotional behavioral therapy[แก้]
Cognitive emotional behavioral therapy (CEBT) เป็นรูปแบบของ CBT ที่ได้พัฒนาในเบื้องต้นสำหรับบุคคลที่มีความผิดปกติในการรับประทาน (eating disorder) แต่ในปัจจุบันใช้กับปัญหาหลายอย่างรวมทั้งโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) และปัญหาเกี่ยวกับความโกรธ เป็นการรวมส่วนต่าง ๆ ของ CBT และ Dialectical Behavioural Therapy มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความเข้าใจและความอดทนต่ออารมณ์ต่าง ๆ เพื่ออำนวยกระบวนการรักษา ซึ่งบ่อยครั้งใช้เป็น การรักษาเบื้องต้น (pretreatment) เพื่อเตรียมพร้อมให้ทักษะต่อคนไข้ในการเข้าบำบัดรักษาในระยะยาว
Structured cognitive behavioral training[แก้]
Structured cognitive behavioral training (SCBT) เป็นกระบวนการเปลี่ยนความคิดที่มีหลักปรัชญามาจาก CBT คือ SCBT ยืนยันว่า พฤติกรรมสัมพันธ์กับความเชื่อ ความคิด และอารมณ์ SCBT ยังต่อเติมปรัชญาของ CBT โดยรวมวิธีการอื่น ๆ ที่รู้จักกันดีในสาขาสุขภาพจิตและจิตวิทยา หรือที่เด่นที่สุดก็คือจาก Rational Emotive Behavior Therapy ของ ศ. แอลเบิรต์ เอลลิส SCBT ต่างจาก CBT หลัก ๆ 2 อย่าง จุดแรกก็คือ SCBT มีรูปแบบที่เข้มงวดกว่า จุดที่สองก็คือ SCBT เป็นกระบวนการที่กำหนดล่วงหน้าและมีลำดับการฝึกที่ชัดเจน ที่เปลี่ยนให้เข้ากับบุคคลโดยสิ่งที่ได้จากผู้รับการบำบัด SCBT ออกแบบตั้งใจจะให้ได้ผลต่อผู้รับการบำบัดโดยเฉพาะอย่างหนึ่งภายในเวลาที่กำหนดไว้ SCBT ได้ใช้เพื่อแก้พฤติกรรมเสพติด โดยเฉพาะสารเสพติดเช่นบุหรี่ เหล้า หรืออาหาร และเพื่อบริหารจัดการโรคเบาหวานและเอาชนะความเครียดและความวิตกกังวล SCBT ยังได้ใช้กับอาชญากรด้วย เพื่อที่จะป้องกันการทำผิดอีก
Moral reconation therapy[แก้]
Moral reconation therapy เป็นรูปแบบ CBT ใช้เพื่อช่วยอาชญากรให้เอาชนะความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม (Anti-Social Personality Disorder) และช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำผิดอีกได้เล็กน้อย[152] มักจะทำเป็นกลุ่มเพราะว่า การให้การบำบัดเป็นส่วนบุคคล อาจจะเพิ่มลักษณะพฤติกรรมแบบหลงตัวเอง (narcissistic) และสามารถใช้ในทั้งเรือนจำหรือในที่รักษาพยาบาล โดยกลุ่มจะพบกันทุกอาทิตย์เป็นเวลา 2-6 เดือน[153]
Stress Inoculation Training[แก้]
Stress Inoculation Training เป็นการบำบัดที่ใช้การฝึกความคิด พฤติกรรม และหลักมนุษยนิยม เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้คนไข้เครียด คือช่วยให้รับมือปัญหาความเครียดความวิตกกังวลได้ดีกว่าหลังจากที่เกิดเหตุการณ์เครียด[154] มีกระบวนการ 3 ขั้นตอนที่ฝึกให้คนไข้ใช้ทักษะที่มีอยู่แล้วเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งก่อความเครียดปัจจุบันได้ดีขึ้น ขั้นแรกเป็นการสัมภาษณ์ ซึ่งรวมทั้งการทดสอบทางจิตวิทยา การตรวจดูตัวเองของคนไข้ และการให้อ่านข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้ผู้บำบัดปรับกระบวนการฝึกให้เหมาะสมกับคนไข้โดยเฉพาะ ๆ[154] คนไข้เรียนรู้ที่จะจัดหมวดหมู่ปัญหาออกเป็นเรื่องที่ต้องจัดการทางอารมณ์ และเรื่องที่ต้องการจัดการกับปัญหา เพื่อที่จะแก้สถานการณ์ให้ดีขึ้น ขั้นตอนนี้ในที่สุดเป็นการเตรียมพร้อมคนไข้ให้เผชิญหน้าและพิจารณาปฏิกิริยาของตนเองในปัจจุบันต่อสิ่งก่อความเครียด ก่อนที่จะหาวิธีเปลี่ยนปฏิกิริยาและอารมณ์เพราะเหตุสิ่งก่อความเครียด จุดหลักคือการสร้างมโนทัศน์ (conceptualization)[154]
ขั้นตอนที่สองเน้นการเรียนรู้ทักษะและการฝึกซ้อมที่สืบมาจากการสร้างมโนทัศน์ของขั้นตอนที่แล้ว จะมีการฝึกคนไข้ให้รู้ทักษะที่ช่วยรับมือกับสิ่งที่ก่อความเครียด แล้วจะให้ฝึกหัดในช่วงการบำบัด ทักษะที่ฝึกรวมทั้ง การควบคุมตัวเอง การแก้ปัญหา ทักษะการสื่อสารกับผู้อื่น เป็นต้น[154]
ขั้นตอนที่สามสุดท้ายเป็นการประยุกต์ใช้ทักษะที่ได้เรียนรู้ ซึ่งให้โอกาสกับคนไข้เพื่อใช้ทักษะที่เรียนรู้กับสิ่งที่ก่อความเครียดอย่างกว้างขวาง กิจกรรมรวมทั้งการเล่นละคร (role-playing) การจินตนาการ การสร้างสถานการณ์เทียม เป็นต้น ในที่สุด คนไข้ก็จะได้การฝึกที่เป็นการป้องกันสิ่งที่ก่อความเครียดที่เป็นส่วนตัว ที่เรื้อรัง และที่มีในอนาคตโดยแบ่งสิ่งก่อความเครียดให้เป็นปัญหาย่อย ๆ แล้วใช้วิธีรับมือทั้งที่เป็นแบบระยะยาว ระยะสั้น และระยะปานกลาง[154]
ข้อคัดค้าน[แก้]
งานวิจัยเกี่ยวกับ CBT ได้เป็นเรื่องขัดแย้งอย่างไม่ยุติเป็นระยะเวลานาน มีนักวิจัยบางพวกที่เขียนว่า CBT มีประสิทธิผลดีกว่าการบำบัดอื่น ๆ[155] แต่ก็มีนักวิจัยอื่น ๆ[8][156][157] และผู้ที่ทำการบำบัดจริง ๆ[158][159] ได้ตั้งความสงสัยในความสมเหตุสมผลของข้ออ้างเช่นนั้น ยกตัวอย่างเช่น งานศึกษาหนึ่ง[155] กำหนดว่า CBT ดีกว่าการบำบัดอื่น ๆ ในการรักษาโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า แต่ว่า นักวิจัยที่แย้งงานศึกษานั้นโดยตรง ได้วิเคราะห์ข้อมูลใหม่แต่ไม่พบหลักฐานว่า CBT ดีกว่าวิธีการบำบัดอื่น ๆ แล้วยังได้วิเคราะห์งานทดสอบทางคลินิกของ CBT อีก 13 งานแล้วพบว่า งานทั้งหมดไม่ได้ให้หลักฐานว่า CBT มีประสิทธิผลที่ดีกว่า[8]
นอกจากนั้นแล้ว งานวิเคราะห์อภิมานปี 2015 ยังพบว่า ผลบวกของ CBT ต่อโรคเศร้าซึมได้ลดลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 1977 โดยพบลักษณะการลดผลต่างที่ได้ (effect size) 2 แบบ คือ (1) การลดขนาดโดยทั่วไปในระหว่างปี 1977-2014 และ (2) การลดลงในอัตราที่สูงกว่าในช่วงปี 1995-2014 ส่วนการวิเคราะห์ที่ทำย่อยต่อ ๆ มาพบว่า งานศึกษา CBT ที่ให้ผู้บำบัดในกลุ่มทดลองติดตามระเบียบในคู่มือ CBT ของเบ็กมีระดับการลดลงของผลต่างตั้งแต่ปี 1977 มากกว่างานศึกษาที่ให้ผู้บำบัดใช้ CBT โดยไม่ใช้คู่มือ ผู้เขียนงานรายงานว่า พวกตนไม่แน่ใจว่าทำไมผลต่างจึงลดลง แต่ก็ทำรายการต่อไปนี้ว่าอาจเป็นเหตุผล คือ ผู้บำบัดไม่มีการฝึกหัดที่เพียงพอ ความล้มเหลวในการทำตามคู่มือ ผู้บำบัดมีประสบการณ์น้อยเกินไป และความหวังความเชื่อของคนไข้ว่าการรักษามีผลมีระดับลดลง แต่ผู้เขียนก็ได้แจ้งด้วยว่า ผลงานศึกษานี้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น[160]
ยังมีนักวิจัยอื่น ๆ ที่แจ้งว่า งานศึกษาแบบ CBT มีอัตราถอนตัวกลางคัน (drop-out rate) สูงกว่าวิธีบำบัดแบบอื่น ๆ[156] และบางครั้ง อาจสูงกว่าถึง 5 เท่า ยกตัวอย่างเช่น นักวิจัยให้สถิติว่ามีผู้ร่วมการทดลองในกลุ่ม CBT 28 คนถอนตัวกลางคัน เทียบกับ 5 คนในกลุ่มที่รับการบำบัดแบบแก้ปัญหา หรือ 11 คนในกลุ่มที่รับการบำบัดแบบ psychodynamic[156] และอัตราการถอนตัวกลางคันเช่นนี้ ก็พบด้วยในการรักษาโรคอื่นต่าง ๆ รวมทั้งโรคเบื่ออาหารเหตุจิตใจ (anorexia nervosa) ซึ่งเป็นความผิดปกติในการรับประทานที่มักจะบำบัดด้วย CBT คือ บุคคลที่มีโรคนี้แล้วบำบัดด้วย CBT มีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะเลิกการบำบัดกลางคันแล้วกลับไปมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาเช่นเดิม[161]
ส่วนนักวิจัยอื่น ๆ ที่ได้วิเคราะห์การรักษาเยาวชนที่ทำร้ายตัวเองพบอัตราการถอนตัวกลางคันที่คล้ายกันทั้งในการบำบัดด้วย CBT และ Dialectical behavioral therapy (DBT) ในงานศึกษานี้ ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลจากงานทดลองทางคลินิกหลายงานที่วัดประสิทธิผลของ CBT ต่อเยาวชนที่ทำร้ายตัวเอง (self-injure) นักวิจัยสรุปว่า ไม่มีงานไหนที่แสดงประสิทธิผลเลย[157] และข้อสรุปนี้ทำโดยกลุ่ม Division 12 Task Force on the Promotion and Dissemination of Psychological Procedures ของ APA ที่ทำหน้าที่กำหนดศักยภาพของการแทรกแซงต่าง ๆ[162]
แต่ว่าวิธีการที่ใช้ในงานวิจัย CBT ไม่ใช่เรื่องเดียวที่ถูกคัดค้าน นักวิชาการท่านอื่นตั้งข้อสงสัยทั้งในทฤษฎีและการบำบัดของ CBT ยกตัวอย่างเช่น นักเขียนท่านหนึ่งกล่าวว่า CBT ไม่ได้ให้โครงสร้างของการคิดแบบที่ชัดเจนและถูกต้อง[159] คือ เขากล่าวว่า มันแปลกมากที่นักทฤษฎีเกี่ยวกับ CBT จะได้พัฒนาโครงสร้างเพื่อกำหนดความคิดที่บิดเบือน โดยไม่พัฒนาโครงสร้างของความคิดที่ชัดเจน หรืออะไรที่เป็นความคิดที่ถูกสุขภาพและปกติ นอกจากนั้นแล้ว ยังกล่าวว่า การคิดที่ไม่สมเหตุผล (irrational) ไม่อาจจะเป็นแหล่งให้เกิดทุกข์ทางใจหรือทางอารมณ์ เมื่อไม่มีหลักฐานว่าความคิดที่สมเหตุผลเป็นเหตุให้มีสุขภาพทางใจที่ดี และข้อมูลจากจิตวิทยาสังคมก็ได้แสดงแล้วด้วยว่า ความคิดปกติของบุคคลทั่วไปบางครั้งไม่สมเหตุผล แม้บุคคลที่จัดว่ามีสุขภาพจิตดี นักเขียนยังกล่าวอีกด้วยว่า ทฤษฎี CBT ไม่เข้ากับหลักพื้นฐานและผลงานวิจัยเกี่ยวกับความสมเหตุสมผล (rationality) และแม้แต่ไม่สนใจกฎหลายอย่างทางตรรกศาสตร์ เขาอ้างว่า CBT ได้ทำเรื่องความคิดให้กลายเป็นเรื่องใหญ่และจริงเกินกว่าความคิดจริง ๆ เป็น คำค้านอื่น ๆ ของเขารวมทั้ง การดำรงสถานะเดิม (status quo) ตามที่โปรโหมตโดย CBT, การสนับสนุนคนไข้ให้หลอกลวงตัวเอง, วิธีการวิจัยที่ไม่ดี และหลักการบางอย่างของ CBT รวมทั้ง "หลักอย่างหนึ่งของการบำบัดความคิดก็คือ ยกเว้นวิธีการที่คนไข้คิด ทุกอย่างดีหมด"[163]
ส่วนนักเขียนอีกคู่หนึ่งกล่าวว่า ข้อสมมุติที่ซ่อนเร้นอย่างหนึ่งของ CBT ก็คือ หลักนิยัตินิยม (หลักว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ไม่สามารถทำให้เหตุการณ์อย่างอื่นเกิด) หรือการไม่มีเจตจำนงเสรี[158] โดยอ้างว่า CBT อ้างความเป็นเหตุและผลของอะไรบางอย่างเกี่ยวกับความคิด และว่า CBT แสดงว่า สิ่งเร้าในสิ่งแวดล้อมที่เข้ามาในใจ เป็นเหตุก่อความคิดต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะทางอารมณ์ต่าง ๆ ทฤษฎีของ CBT ไม่กล่าวถึงเจตจำนงเสรี หรือผู้กระทำ (agency) เลย คือข้อสมมุติพื้นฐานที่สุดของ CBT ก็คือ มนุษย์ไม่มีเจตจำนงเสรี และถูกกำหนดโดยกระบวนการความคิด (cognitive process) ที่เกิดขึ้นเนื่องจากสิ่งเร้าภายนอก
ข้อคัดค้านทฤษฎี CBT อีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า (MDD) ก็คือ มีการสับสนอาการกับเหตุของโรค[164] แต่ข้อคัดค้านสำคัญเกี่ยวกับงานศึกษาทางคลินิกของ CBT (หรือของจิตบำบัดทั้งหมด) ก็คือไม่มีการอำพรางทั้งสองทาง (คือทั้งผู้ร่วมการทดลองและนักบำบัดในงานศึกษา ไม่ได้รับการอำพรางว่า ผู้ร่วมการทดลองกำลังได้รับการบำบัดแบบไหน) แม้ว่าอาจจะมีการอำพรางผู้ตรวจให้คะแนนผลที่ปรากฏ คือผู้ให้คะแนนอาจจะไม่รู้ว่าคนไข้ได้รับการบำบัดอย่างไร แต่ว่าทั้งคนไข้และผู้บำบัดรู้ว่าคนไข้กำลังได้รับการบำบัดแบบไหน แต่เพราะคนไข้ต้องทำงานร่วมอย่างสำคัญในการแก้ความคิดบิดเบือนเชิงลบ คนไข้จึงรู้ตัวดีว่าตนกำลังได้รับการบำบัดเช่นไร[164]
งานวิเคราะห์อภิมานหนึ่งแสดงความสำคัญของการอำพรางสองด้าน เมื่อตรวจสอบประสิทธิผลของ CBT เมื่อพิจารณากลุ่มควบคุมด้วยการรักษาหลอก (placebo control) และการอำพรางในการทดลอง[165] งานได้วิเคราะห์ข้อมูลรวมกันจากการทดลอง CBT ในโรคจิตเภท โรคซึมเศร้า และโรคอารมณ์สองขั้ว ที่ใช้กลุ่มควบคุมที่ได้รับการบำบัดที่ไม่ได้เจาะจง (non-specific) งานสรุปว่า CBT ไม่ได้ดีกว่าการแทรกแซงที่ไม่ได้เจาะจงของกลุ่มควบคุมในการบำบัดโรคจิตเภท และไม่ได้ลดการกำเริบของโรค, ผลการบำบัด MDD มีขนาดน้อยมาก, และไม่เป็นกลยุทธ์การบำบัดที่ดีเพื่อป้องกันการกำเริบของโรคอารมณ์สองขั้ว สำหรับ MDD ผู้เขียนให้ข้อสังเกตว่า ผลต่าง (effect size) ที่ได้รวมกันน้อยมาก อย่างไรก็ดี ก็มีนักวิชาการอื่นที่ตั้งข้อสงสัยในระเบียบวิธีการเลือกงานวิจัยเพื่อใช้วิเคราะห์ในงานวิเคราะห์อภิมานนี้ และในคุณค่าของผลที่ได้[166][167][168]
สังคมและวัฒนธรรม[แก้]
กรมดูแลสุขภาพของประเทศอังกฤษ (National Health Service) ได้ประกาศในปี 2008 ว่า จะฝึกเพิ่มผู้บำบัด CBT มากขึ้นเพื่อให้บริการโดยเป็นส่วนงบประมาณของรัฐ[169] และเป็นส่วนของโครงการเพิ่มการเข้าถึงการบำบัดทางจิต (Improving Access to Psychological Therapies ตัวย่อ IAPT)[170] NICE ได้กล่าวว่า CBT จะใช้เป็นวิธีการรักษาหลักของโรคซึมเศร้าที่ไม่รุนแรง และจะใช้ยาก็ในกรณีที่ CBT ปรากฏว่าล้มเหลว[169] แต่ผู้บำบัดก็บ่นว่า ข้อมูลที่มีอยู่ไม่ได้รองรับความสนใจและงบประมาณที่ CBT ได้ นักจิตบำบัดและนักเขียนผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งได้กล่าวว่า นี้เป็น "การปฏิวัติ การใช้อำนาจทางการเมืองของชุมชนที่เกือบจะขังคอกเงินจำนวนมหาศาลไว้ได้... ทุกคนถูกวางเสน่ห์โดยค่าใช้จ่ายที่ถูกที่ CBT ดูเหมือนจะมี"[169][171] ส่วนองค์กรอาชีพ UK Council for Psychotherapy ออกข่าวในปี 2012 โดยกล่าวว่า นโยบายของ IAPT กำลังบั่นทอนวิทยาการจิตบำบัดทั่วไป และคัดค้านข้อเสนอที่จะจำกัดจิตบำบัดที่ได้รับการอนุมัติให้เป็นเพียงแค่ CBT[172] โดยอ้างว่า เป็นการจำกัดคนไข้กับ "CBT ที่ละลายน้ำ บ่อยครั้งทำโดยเจ้าหน้าที่ที่รับการฝึกน้อยมาก"[172] NICE ยังแนะนำให้ให้ CBT แก่บุคคลที่เป็นโรคจิตเภท และบุคคลที่มีโอกาสเสี่ยงต่ออาการวิกลจริต[173]
เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]
- ↑ 1.0 1.1 นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร และคณะ. "การบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าโดยเทคนิคการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม" (PDF). มหาวิทยาลัยมหิดล. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-25. สืบค้นเมื่อ 2016-07-25.
{{cite web}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|deadurl=
ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=
) (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Beck, JS. Cognitive behavior therapy: Basics and beyond (2nd ed.). New York, NY: The Guilford Press. pp. 19–20.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ McKay, D; Sookman, D; Neziroglu, F; Wilhelm, S; Stein, DJ; Kyrios, M; Matthews, K; Veale, D (2015-02-28). "Efficacy of cognitive-behavioral therapy for obsessive-compulsive disorder". Psychiatry Research. 225 (3): 236–246. doi:10.1016/j.psychres.2014.11.058. PMID 25613661.
- ↑
Zhu, Z; Zhang, L; Jiang, J; Li, W; Cao, X; Zhou, Z; Zhang, T; Li, C (2014-12). "Comparison of psychological placebo and waiting list control conditions in the assessment of cognitive behavioral therapy for the treatment of generalized anxiety disorder: a meta-analysis". Shanghai archives of psychiatry. 26 (6): 319–31. doi:10.11919/j.issn.1002-0829.214173. PMID 25642106.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Schacter, DL; Gilbert, DT; Wegner, DM (2010). Psychology (2nd ed.). New York: Worth Pub. p. 600.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Brewin, C (1996). "Theoretical foundations of cognitive-behavioral therapy for anxiety and depression". Annual Review of Psychology. 47: 33–57. doi:10.1146/annurev.psych.47.1.33.
- ↑ Lambert, MJ; Bergin, AE; Garfield, SL (2004). "Introduction and Historical Overview". ใน Lambert, MJ (บ.ก.). Bergin and Garfield's Handbook of Psychotherapy and Behavior Change (5th ed.). New York: John Wiley & Sons. pp. 3–15. ISBN 0-471-37755-4.
{{cite book}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ 8.0 8.1 8.2
Baardseth, TP; Goldberg, SB; Pace, BT; Wislocki, AP; Frost, ND; และคณะ (2013). "Cognitive-behavioral therapy versus other therapies: Redux". Clinical Psychology Review. 33: 395–405. doi:10.1016/j.cpr.2013.01.004.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Shedler, J (2010). "The efficacy of psychodynamic psychotherapy". American Psychologist. 65 (2): 98–109. doi:10.1037/a0018378. PMID 20141265.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 Hassett, Afton L.; Gevirtz, Richard N. (2009). "Nonpharmacologic Treatment for Fibromyalgia: Patient Education, Cognitive-Behavioral Therapy, Relaxation Techniques, and Complementary and Alternative Medicine". Rheumatic Disease Clinics of North America. 35 (2): 393–407. doi:10.1016/j.rdc.2009.05.003. PMC 2743408. PMID 19647150.
- ↑ 11.0 11.1 Hayes, Steven C.; Villatte, Matthieu; Levin, Michael; Hildebrandt, Mikaela (2011). "Open, Aware, and Active: Contextual Approaches as an Emerging Trend in the Behavioral and Cognitive Therapies". Annual Review of Clinical Psychology. 7 (1): 141–68. doi:10.1146/annurev-clinpsy-032210-104449. PMID 21219193.
- ↑ 12.0 12.1 Kaplan, Robert; Saccuzzo, Dennis. Psychological Testing. Wadsworth. p. 415.
- ↑ Kaplan, Robert; Saccuzzo, Dennis. Psychological Testing. Wadsworth. p. 415, Table 15.3.
- ↑ Dawes, RM (1964-04). "COGNITIVE DISTORTION Monograph Supplement 4-V14". Psychological Reports. 14 (2): 443–459. doi:10.2466/pr0.1964.14.2.443.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 Gatchel, Robert J.; Rollings, Kathryn H. (2008). "Evidence-informed management of chronic low back pain with cognitive behavioral therapy". The Spine Journal. 8 (1): 40–4. doi:10.1016/j.spinee.2007.10.007. PMC 3237294. PMID 18164452.
- ↑ Kozier, B (2008). Fundamentals of nursing: concepts, process and practice. Pearson Education. p. 187. ISBN 978-0-13-197653-5.
- ↑ Longmore, Richard J.; Worrell, Michael (2007). "Do we need to challenge thoughts in cognitive behavior therapy?". Clinical Psychology Review. 27 (2): 173–87. doi:10.1016/j.cpr.2006.08.001. PMID 17157970.
- ↑ Foa, EB (2009). Effective Treatments for PTSD: Practice Guidelines from the International Society for Traumatic Stress Studies (2nd ed.). New York, NY, USA.
{{cite book}}
: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า :|publisher Guilford=
(help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)[ต้องการเลขหน้า] - ↑ Graham, Michael C. (2014). Facts of Life: ten issues of contentment. Outskirts Press. ISBN 978-1-4787-2259-5.
- ↑ Hofmann, SG (2011). An Introduction to Modern CBT. Psychological Solutions to Mental Health Problems. Chichester, UK: Wiley-Blackwell. ISBN 0-470-97175-4.[ต้องการเลขหน้า]
- ↑ Hofmann, Stefan G.; Sawyer, Alice T.; Fang, Angela (2010). "The Empirical Status of the "New Wave" of Cognitive Behavioral Therapy". Psychiatric Clinics of North America. 33 (3): 701–10. doi:10.1016/j.psc.2010.04.006. PMC 2898899. PMID 20599141.
- ↑
Foa, Edna B.; Rothbaum, Barbara O.; Furr, Jami M. (2003-01). "Augmenting exposure therapy with other CBT procedures". Psychiatric Annals. 33 (1): 47–53. doi:10.3928/0048-5713-20030101-08.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Jessamy, Hibberd; Jo, Usmar. This book will make you happy. Quercus. ISBN 9781848662810. สืบค้นเมื่อ 2014-07-15.
- ↑ Otte, C (2011). "Cognitive behavioral therapy in anxiety disorders: Current state of the evidence". Dialogues in clinical neuroscience. 13 (4): 413–21. PMC 3263389. PMID 22275847.
- ↑ 25.0 25.1 Robinson, Emma; Titov, Nickolai; Andrews, Gavin; McIntyre, Karen; Schwencke, Genevieve; Solley, Karen (2010). García, Antonio Verdejo (บ.ก.). "Internet Treatment for Generalized Anxiety Disorder: A Randomized Controlled Trial Comparing Clinician vs. Technician Assistance". PLoS ONE. 5 (6): e10942. Bibcode:2010PLoSO...510942R. doi:10.1371/journal.pone.0010942. PMC 2880592. PMID 20532167.
- ↑ 26.0 26.1 26.2 Driessen, Ellen; Hollon, Steven D. (2010). "Cognitive Behavioral Therapy for Mood Disorders: Efficacy, Moderators and Mediators". Psychiatric Clinics of North America. 33 (3): 537–55. doi:10.1016/j.psc.2010.04.005. PMC 2933381. PMID 20599132.
- ↑ 27.0 27.1 Foroushani, Pooria; Schneider, Justine; Assareh, Neda (2011). "Meta-review of the effectiveness of computerised CBT in treating depression". BMC Psychiatry. 11 (1): 131. doi:10.1186/1471-244X-11-131. PMC 3180363. PMID 21838902.
- ↑ Murphy, Rebecca; Straebler, Suzanne; Cooper, Zafra; Fairburn, Christopher G. (2010). "Cognitive Behavioral Therapy for Eating Disorders". Psychiatric Clinics of North America. 33 (3): 611–27. doi:10.1016/j.psc.2010.04.004. PMC 2928448. PMID 20599136.
- ↑ Matusiewicz, Alexis K.; Hopwood, Christopher J.; Banducci, Annie N.; Lejuez, C.W. (2010). "The Effectiveness of Cognitive Behavioral Therapy for Personality Disorders". Psychiatric Clinics of North America. 33 (3): 657–85. doi:10.1016/j.psc.2010.04.007. PMC 3138327. PMID 20599139.
- ↑ 30.0 30.1 Gutiérrez, M; Sánchez, M; Trujillo, A; Sánchez, L (2009). "Cognitive-behavioral therapy for chronic psychosis" (PDF). Actas espanolas de psiquiatria. 37 (2): 106–14. PMID 19401859.
- ↑ 31.0 31.1 31.2 Rathod, Shanaya; Phiri, Peter; Kingdon, David (2010). "Cognitive Behavioral Therapy for Schizophrenia". Psychiatric Clinics of North America. 33 (3): 527–36. doi:10.1016/j.psc.2010.04.009. PMID 20599131.
- ↑ McHugh, R. Kathryn; Hearon, Bridget A.; Otto, Michael W. (2010). "Cognitive Behavioral Therapy for Substance Use Disorders". Psychiatric Clinics of North America. 33 (3): 511–25. doi:10.1016/j.psc.2010.04.012. PMC 2897895. PMID 20599130.
- ↑ Mehta, Swati; Orenczuk, Steven; Hansen, Kevin T.; Aubut, Jo-Anne L.; Hitzig, Sander L.; Legassic, Matthew; Teasell, Robert W.; Spinal Cord Injury Rehabilitation Evidence Research Team (2011). "An evidence-based review of the effectiveness of cognitive behavioral therapy for psychosocial issues post-spinal cord injury". Rehabilitation Psychology. 56 (1): 15–25. doi:10.1037/a0022743. PMC 3206089. PMID 21401282.
- ↑ Seligman, Laura D.; Ollendick, Thomas H. (2011). "Cognitive-Behavioral Therapy for Anxiety Disorders in Youth". Child and Adolescent Psychiatric Clinics of North America. 20 (2): 217–38. doi:10.1016/j.chc.2011.01.003. PMC 3091167. PMID 21440852.
- ↑ Phillips, Katharine A.; Rogers, Jamison (2011). "Cognitive-Behavioral Therapy for Youth with Body Dysmorphic Disorder: Current Status and Future Directions". Child and Adolescent Psychiatric Clinics of North America. 20 (2): 287–304. doi:10.1016/j.chc.2011.01.004. PMC 3070293. PMID 21440856.
- ↑ Spirito, Anthony; Esposito-Smythers, Christianne; Wolff, Jennifer; Uhl, Kristen (2011). "Cognitive-Behavioral Therapy for Adolescent Depression and Suicidality". Child and Adolescent Psychiatric Clinics of North America. 20 (2): 191–204. doi:10.1016/j.chc.2011.01.012. PMC 3073681. PMID 21440850.
- ↑ Wilfley, Denise E.; Kolko, Rachel P.; Kass, Andrea E. (2011). "Cognitive-Behavioral Therapy for Weight Management and Eating Disorders in Children and Adolescents". Child and Adolescent Psychiatric Clinics of North America. 20 (2): 271–85. doi:10.1016/j.chc.2011.01.002. PMC 3065663. PMID 21440855.
- ↑ Boileau, B (2011). "A review of obsessive-compulsive disorder in children and adolescents". Dialogues in clinical neuroscience. 13 (4): 401–11. PMC 3263388. PMID 22275846.
- ↑ Kowalik, Joanna; Weller, Jennifer; Venter, Jacob; Drachman, David (2011). "Cognitive behavioral therapy for the treatment of pediatric posttraumatic stress disorder: A review and meta-analysis". Journal of Behavior Therapy and Experimental Psychiatry. 42 (3): 405–13. doi:10.1016/j.jbtep.2011.02.002. PMID 21458405.
- ↑ Flessner, Christopher A. (2011). "Cognitive-Behavioral Therapy for Childhood Repetitive Behavior Disorders: Tic Disorders and Trichotillomania". Child and Adolescent Psychiatric Clinics of North America. 20 (2): 319–28. doi:10.1016/j.chc.2011.01.007. PMC 3074180. PMID 21440858.
- ↑ Stanley, B; Brown, G; Brent, DA; Wells, K; Poling, K; Curry, J; Kennard, BD; Wagner, A; Cwik, MF; Klomek, AB; Goldstein, T; Vitiello, B; Barnett, S; Daniel, S; Hughes, J (2009). "Cognitive-Behavioral Therapy for Suicide Prevention (CBT-SP) : Treatment model, feasibility, and acceptability". Journal of the American Academy of Psychiatry. 48: 1005–1013.
{{cite journal}}
: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า :|issue 10=
(help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑
Sally, N Merry; Stasiak, Karolina; Shepherd, Matthew; Frampton, Chris; Fleming, Theresa; Lucassen, Mathijs FG (2012-03-09). "The effectiveness of SPARX, a computerised self help intervention for adolescents seeking help for depression: randomised controlled non-inferiority trial". British Medical Journal.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Fleming, Theresa (Terry). "Faculty of Medical and Health Sciences". SPARX youth e-therapy. สืบค้นเมื่อ 2013-11-25.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Scheeringa, Michael S.; Weems, Carl F.; Cohen, Judith A.; Amaya-Jackson, Lisa; Guthrie, Donald (2011). "Trauma-focused cognitive-behavioral therapy for posttraumatic stress disorder in three-through six year-old children: A randomized clinical trial". Journal of Child Psychology and Psychiatry. 52 (8): 853–60. doi:10.1111/j.1469-7610.2010.02354.x. PMC 3116969. PMID 21155776.
- ↑ Cognitive Therapy with Children and Adolescents. A Casebook for Clinical Practice (2nd ed.). 2003. ISBN 978-1572308534.
{{cite book}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|editors=
ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=
) (help) - ↑ Martinez-Devesa, Pablo; Perera, Rafael; Theodoulou, Megan; Waddell, Angus (2010). Martinez-Devesa, Pablo (บ.ก.). "Cognitive behavioural therapy for tinnitus". Cochrane Database of Systematic Reviews (9): CD005233. doi:10.1002/14651858.CD005233.pub3. PMID 20824844.
- ↑ Turner, William; MacDonald, Geraldine; Dennis, Jane A (2007). Turner, William (บ.ก.). "Behavioural and cognitive behavioural training interventions for assisting foster carers in the management of difficult behaviour". Cochrane Database of Systematic Reviews (1): CD003760. doi:10.1002/14651858.CD003760.pub3. PMID 17253496.
- ↑ Smedslund, Geir; Dalsbø, Therese K; Steiro, Asbjørn; Winsvold, Aina; Clench-Aas, Jocelyne (2007). Smedslund, Geir (บ.ก.). "Cognitive behavioural therapy for men who physically abuse their female partner". Cochrane Database of Systematic Reviews (3): CD006048. doi:10.1002/14651858.CD006048.pub2. PMID 17636823.
- ↑ Edwards, Adrian GK; Hulbert-Williams, Nicholas; Neal, Richard D (2008). Edwards, Adrian GK (บ.ก.). "Psychological interventions for women with metastatic breast cancer". Cochrane Database of Systematic Reviews (3): CD004253. doi:10.1002/14651858.CD004253.pub3. PMID 18646104.
- ↑ 50.0 50.1 INSERM Collective Expertise Centre (2000). "Psychotherapy: Three approaches evaluated". PMID 21348158.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ Tolin, David F. (2010). "Is cognitive-behavioral therapy more effective than other therapies?A meta-analytic review". Clinical Psychology Review. 30 (6): 710–20. doi:10.1016/j.cpr.2010.05.003. PMID 20547435.
- ↑ Cuijpers, Pim; Van Straten, Annemieke; Andersson, Gerhard; Van Oppen, Patricia (2008). "Psychotherapy for depression in adults: A meta-analysis of comparative outcome studies". Journal of Consulting and Clinical Psychology. 76 (6): 909–22. doi:10.1037/a0013075. PMID 19045960.
- ↑ Shedler, Jonathan (2010). "The efficacy of psychodynamic psychotherapy". American Psychologist. 65 (2): 98–109. doi:10.1037/a0018378. PMID 20141265.
- ↑ 54.0 54.1 Hoifodt, R. S.; Strøm, C.; Kolstrup, N.; Eisemann, M.; Waterloo, K. (2011). "Effectiveness of cognitive behavioural therapy in primary health care: A review". Family Practice. 28 (5): 489–504. doi:10.1093/fampra/cmr017. PMID 21555339.
- ↑ "Research evidence for e-hub programs". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-21. สืบค้นเมื่อ 2012-11-22.
{{cite web}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|deadurl=
ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=
) (help) - ↑ 56.0 56.1 56.2 Titov, Nickolai; Andrews, Gavin; Sachdev, Perminder (2010). "Computer-delivered cognitive behavioural therapy: Effective and getting ready for dissemination". F1000 Medicine Reports. 2: 49. doi:10.3410/M2-49. PMC 2950044. PMID 20948835.
- ↑ Williams, Alishia D; Andrews, Gavin (2013). Andersson, Gerhard (บ.ก.). "The Effectiveness of Internet Cognitive Behavioural Therapy (iCBT) for Depression in Primary Care: A Quality Assurance Study". PLoS ONE. 8 (2): e57447. Bibcode:2013PLoSO...857447W. doi:10.1371/journal.pone.0057447. PMC 3579844. PMID 23451231.
- ↑ "CRE Publications | CRE". Comorbidity.edu.au. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-27. สืบค้นเมื่อ 2014-08-14.
- ↑ Khanna, Muniya S; Kendall, Philip C (2010). "Computer-Assisted Cognitive Behavioral Therapy for Child Anxiety Results of a Randomized Clinical Trial" (PDF). Journal of Consulting and Clinical Psychology. American Psychological Association. 78 (5): 737–745. doi:10.1037/a0019739. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-12-03.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 60.0 60.1 Espie, Colin A.; Kyle, Simon D.; Williams, Chris; Ong, Jason C.; Douglas, Neil J.; Hames, Peter; Brown, June S.L. (2012). "A Randomized, Placebo-Controlled Trial of Online Cognitive Behavioral Therapy for Chronic Insomnia Disorder Delivered via an Automated Media-Rich Web Application". Sleep. 35 (6): 769–81. doi:10.5665/sleep.1872. PMC 3353040. PMID 22654196.
- ↑ "Computerised CBT" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-12-03. สืบค้นเมื่อ 2013-01-29.
{{cite web}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|deadurl=
ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=
) (help) - ↑ "Mood Gym No Better Than Informational Websites According to New Workplace RCT". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-16. สืบค้นเมื่อ 2013-01-29.
{{cite web}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|deadurl=
ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=
) (help) - ↑ Spence, Susan H.; Donovan, Caroline L.; March, Sonja; Gamble, Amanda; Anderson, Renee E.; Prosser, Samantha; Kenardy, Justin (2011). "A randomized controlled trial of online versus clinic-based CBT for adolescent anxiety". Journal of Consulting and Clinical Psychology. 79 (5): 629–42. doi:10.1037/a0024512. PMID 21744945.
- ↑ "UKCP response to Andy Burnham's speech on mental health" (Press release). UK Council for Psychotherapy. 2012-02-01. สืบค้นเมื่อ 2013-04-26.
- ↑ Leahy, Robert L. (2011-11-23). "Cognitive-Behavioral Therapy: Proven Effectiveness". Psychology Today.
- ↑ Kirsch, Irving; Montgomery, Guy; Sapirstein, Guy (1995). "Hypnosis as an adjunct to cognitive-behavioral psychotherapy: A meta-analysis". Journal of Consulting and Clinical Psychology. 63 (2): 214–20. doi:10.1037/0022-006X.63.2.214. PMID 7751482.
- ↑ Alladin, Assen; Alibhai, Alisha (2007). "Cognitive Hypnotherapy for Depression:An Empirical Investigation". International Journal of Clinical and Experimental Hypnosis. 55 (2): 147–66. doi:10.1080/00207140601177897. PMID 17365072.
- ↑ Elkins, Gary; Johnson, Aimee; Fisher, William (2012). "Cognitive Hypnotherapy for Pain Management". American Journal of Clinical Hypnosis. 54 (4): 294–310. doi:10.1080/00029157.2011.654284. PMID 22655332.
- ↑ Butler, A; Chapman, J; Forman, E; Beck, A (2006). "The empirical status of cognitive-behavioral therapy: A review of meta-analyses". Clinical Psychology Review. 26 (1): 17–31. doi:10.1016/j.cpr.2005.07.003. PMID 16199119.
- ↑ Knouse, Laura E.; Safren, Steven A. (2010). "Current Status of Cognitive Behavioral Therapy for Adult Attention-Deficit Hyperactivity Disorder". Psychiatric Clinics of North America. 33 (3): 497–509. doi:10.1016/j.psc.2010.04.001. PMC 2909688. PMID 20599129.
- ↑ Thomson, Alex; Page, Lisa (2007). Thomson, Alex (บ.ก.). "Psychotherapies for hypochondriasis". Cochrane Database of Systematic Reviews (4): CD006520. doi:10.1002/14651858.CD006520.pub2. PMID 17943915.
- ↑ Thomas, Peter W; Thomas, Sarah; Hillier, Charles; Galvin, Kate; Baker, Roger (2006). Thomas, Peter W (บ.ก.). "Psychological interventions for multiple sclerosis". Cochrane Database of Systematic Reviews (1): CD004431. doi:10.1002/14651858.CD004431.pub2. PMID 16437487.
- ↑ Montgomery, Paul; Dennis, Jane A (2003). Montgomery, Paul (บ.ก.). "Cognitive behavioural interventions for sleep problems in adults aged 60+". Cochrane Database of Systematic Reviews (2): CD003161. doi:10.1002/14651858.CD003161. PMID 12076472.
- ↑ Proctor, Michelle; Murphy, Patricia A; Pattison, Helen M; Suckling, Jane A; Farquhar, Cindy (2007). Proctor, Michelle (บ.ก.). "Behavioural interventions for dysmenorrhoea". Cochrane Database of Systematic Reviews (3): CD002248. doi:10.1002/14651858.CD002248.pub3. PMID 17636702.
- ↑ 75.0 75.1 Costa, Rafael Thomaz da; Rangé, Bernard Pimentel; Malagris, Lucia Emmanoel Novaes; Sardinha, Aline; De Carvalho, Marcele Regine de; Nardi, Antonio Egidio (2010). "Cognitive-behavioral therapy for bipolar disorder". Expert Review of Neurotherapeutics. 10 (7): 1089–99. doi:10.1586/ern.10.75. PMID 20586690.
- ↑ Orgeta, V; Qazi, A; Spector, AE; Orrell, M (2014-01-22). "Psychological treatments for depression and anxiety in dementia and mild cognitive impairment". The Cochrane database of systematic reviews. 1: CD009125. doi:10.1002/14651858.CD009125.pub2. PMID 24449085.
- ↑ O'Brian, S.; Onslow, M. (2011). "Clinical management of stuttering in children and adults". BMJ. 342: d3742. doi:10.1136/bmj.d3742. PMID 21705407.
- ↑ Iverach, L.; Menzies, R. G.; O'Brian, S.; Packman, A.; Onslow, M. (2011). "Anxiety and Stuttering: Continuing to Explore a Complex Relationship". American Journal of Speech-Language Pathology. 20 (3): 221–32. doi:10.1044/1058-0360(2011/10-0091). PMID 21478283.
- ↑ Menzies, Ross G.; Onslow, Mark; Packman, Ann; O'Brian, Sue (2009). "Cognitive behavior therapy for adults who stutter: A tutorial for speech-language pathologists". Journal of Fluency Disorders. 34 (3): 187–200. doi:10.1016/j.jfludis.2009.09.002. PMID 19948272.
- ↑ Mitchell, Matthew D; Gehrman, Philip; Perlis, Michael; Umscheid, Craig A (2012). "Comparative effectiveness of cognitive behavioral therapy for insomnia: A systematic review". BMC Family Practice. 13 (1): 40. doi:10.1186/1471-2296-13-40. PMC 3481424. PMID 22631616.
- ↑ Chambers, D.; Bagnall, A.-M.; Hempel, S.; Forbes, C. (2006). "Interventions for the treatment, management and rehabilitation of patients with chronic fatigue syndrome/myalgic encephalomyelitis: An updated systematic review". Journal of the Royal Society of Medicine. 99 (10): 506–20. doi:10.1258/jrsm.99.10.506. PMC 1592057. PMID 17021301.
- ↑ "Cognitive behavioural therapy for the management of common mental health problems" (PDF). National Institute for Health and Clinical Excellence. 2008-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-11-05. สืบค้นเมื่อ 2013-11-04.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Hoffman, Stefan G.; Smits, Jasper A. J. (2008). "Cognitive-Behavioral Therapy for Adult Anxiety Disorders". The Journal of Clinical Psychiatry. 69 (4): 621–32. doi:10.4088/JCP.v69n0415. PMC 2409267. PMID 18363421.
- ↑ "Definition of In Vivo Exposure". Ptsd.about.com. 2014-06-09. สืบค้นเมื่อ 2014-08-14.
- ↑ Mowrer, OH (1960). Learning theory and behavior. New York: Wiley. ISBN 0-88275-127-1.[ต้องการเลขหน้า]
- ↑ Bentz, Dorothée; Michael, Tanja; De Quervain, Dominique J.-F.; Wilhelm, Frank H. (2009-10-29). "Enhancing exposure therapy for anxiety disorders with glucocorticoids: From basic mechanisms of emotional learning to clinical applications". Journal of Anxiety Disorders. 24 (2): 223–30. doi:10.1016/j.janxdis.2009.10.011. PMID 19962269. สืบค้นเมื่อ 2014-10-26.
- ↑ Hirschfeld, Robert M.A. (2006). "Guideline Watch: Practice Guideline for the Treatment of Patients With Bipolar Disorder, 2nd Edition" (PDF). APA Practice Guidelines for the Treatment of Psychiatric Disorders: Comprehensive Guidelines and Guideline Watches (PDF). Vol. 1. doi:10.1176/appi.books.9780890423363.50051 (inactive 2015-04-14). ISBN 0-89042-336-9.
{{cite book}}
:|format=
ต้องการ|url=
(help)CS1 maint: DOI inactive as of เมษายน 2015 (ลิงก์) - ↑ 88.0 88.1 Neale, JM; Davison, GC (2001). Abnormal psychology (8th ed.). New York: John Wiley & Sons. p. 247. ISBN 0-471-31811-6.
{{cite book}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Wykes, T.; Steel, C.; Everitt, B.; Tarrier, N. (2007). "Cognitive Behavior Therapy for Schizophrenia: Effect Sizes, Clinical Models, and Methodological Rigor". Schizophrenia Bulletin. 34 (3): 523–37. doi:10.1093/schbul/sbm114. PMC 2632426. PMID 17962231.
- ↑ Kingdon, David; Price, Jessica (2009-04-17). "Cognitive-behavioral Therapy in Severe Mental Illness". Psychiatric Times. 26 (5).
- ↑ Lynch, D.; Laws, K. R.; McKenna, P. J. (2009). "Cognitive behavioural therapy for major psychiatric disorder: Does it really work? A meta-analytical review of well-controlled trials". Psychological Medicine. 40 (1): 9–24. doi:10.1017/S003329170900590X. PMID 19476688.
- ↑ Gloaguen, Valérie; Cottraux, Jean; Cucherat, Michel; Blackburn, IM (1998). "A meta-analysis of the effects of cognitive therapy in depressed patients". Journal of Affective Disorders. 49 (1): 59–72. doi:10.1016/S0165-0327(97)00199-7. PMID 9574861.
- ↑ 93.0 93.1 93.2 Cox, W. T. L.; Abramson, L. Y.; Devine, P. G.; Hollon, S. D. (2012). "Stereotypes, Prejudice, and Depression: The Integrated Perspective". Perspectives on Psychological Science. 7 (5): 427–49. doi:10.1177/1745691612455204.
- ↑ Devine, Patricia G.; Forscher, Patrick S.; Austin, Anthony J.; Cox, William T.L. (2012). "Long-term reduction in implicit race bias: A prejudice habit-breaking intervention". Journal of Experimental Social Psychology. 48 (6): 1267–1278. doi:10.1016/j.jesp.2012.06.003. PMC 3603687. PMID 23524616.
- ↑ Jones, C; Hacker, D; Cormac, I; Meaden, A; Irving, CB (2012). "Cognitive Behavioural Therapy versus other psychosocial treatments for schizophrenia". Cochrane Database of Systematic Reviews. 4: CD008712. doi:10.1002/14651858.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ 96.0 96.1 96.2 96.3 96.4 Bienenfeld, David (2009). "Cognitive therapy with older adults". Psychiatric Annals. 39 (9): 828–32. doi:10.3928/00485713-20090821-02.
- ↑ Seligman, Martin E. P.; Schulman, Peter; Derubeis, Robert J.; Hollon, Steven D. (1999). "The prevention of depression and anxiety". Prevention & Treatment. 2 (1). doi:10.1037/1522-3736.2.1.28a.
- ↑ Schmidt, Norman B.; Eggleston, A. Meade; Woolaway-Bickel, Kelly; Fitzpatrick, Kathleen Kara; Vasey, Michael W.; Richey, J. Anthony (2007). "Anxiety Sensitivity Amelioration Training (ASAT) : A longitudinal primary prevention program targeting cognitive vulnerability". Journal of Anxiety Disorders. 21 (3): 302–19. doi:10.1016/j.janxdis.2006.06.002. PMID 16889931.
- ↑ Higgins, Diana M.; Hacker, Jeffrey E. (2008). "A Randomized Trial of Brief Cognitive-Behavioral Therapy for Prevention of Generalized Anxiety Disorder". The Journal of Clinical Psychiatry. 69 (8): 1336. doi:10.4088/JCP.v69n0819a. PMID 18816156.
- ↑ Meulenbeek, P.; Willemse, G.; Smit, F.; Van Balkom, A.; Spinhoven, P.; Cuijpers, P. (2010). "Early intervention in panic: Pragmatic randomised controlled trial". The British Journal of Psychiatry. 196 (4): 326–31. doi:10.1192/bjp.bp.109.072504. PMID 20357312.
- ↑ Gardenswartz, Cara Ann; Craske, Michelle G. (2001). "Prevention of panic disorder". Behavior Therapy. 32 (4): 725–37. doi:10.1016/S0005-7894(01)80017-4.
- ↑ Aune, Tore; Stiles, Tore C. (2009). "Universal-based prevention of syndromal and subsyndromal social anxiety: A randomized controlled study". Journal of Consulting and Clinical Psychology. 77 (5): 867–79. doi:10.1037/a0015813. PMID 19803567.
- ↑ van't Veer-Tazelaar, Petronella J.; Van Marwijk, HW; Van Oppen, P; Van Hout, HP; Van Der Horst, HE; Cuijpers, P; Smit, F; Beekman, AT (2009). "Stepped-Care Prevention of Anxiety and Depression in Late Life: A Randomized Controlled Trial". Archives of General Psychiatry. 66 (3): 297–304. doi:10.1001/archgenpsychiatry.2008.555. PMID 19255379.
- ↑ Stallard, P.; Sayal, K.; Phillips, R.; Taylor, J. A.; Spears, M.; Anderson, R.; Araya, R.; Lewis, G.; Millings, A.; Montgomery, A. A. (2012). "Classroom based cognitive behavioural therapy in reducing symptoms of depression in high risk adolescents: Pragmatic cluster randomised controlled trial". BMJ. 345: e6058. doi:10.1136/bmj.e6058. PMC 3465253. PMID 23043090.
{{cite journal}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|displayauthors=
ถูกละเว้น แนะนำ (|display-authors=
) (help) - ↑ Clarke, G. N.; Hawkins, W.; Murphy, M.; Sheeber, L. (1993). "School-Based Primary Prevention of Depressive Symptomatology in Adolescents: Findings from Two Studies". Journal of Adolescent Research. 8 (2): 183–204. doi:10.1177/074355489382004.
- ↑ Cuijpers, Pim; Muñoz, Ricardo F.; Clarke, Gregory N.; Lewinsohn, Peter M. (2009). "Psychoeducational treatment and prevention of depression: The 'coping with depression' course thirty years later". Clinical Psychology Review. 29 (5): 449–58. doi:10.1016/j.cpr.2009.04.005. PMID 19450912.
- ↑ Stafford, M. R.; Jackson, H.; Mayo-Wilson, E.; Morrison, A. P.; Kendall, T. (2013). "Early interventions to prevent psychosis: Systematic review and meta-analysis". BMJ. 346: f185. doi:10.1136/bmj.f185. PMC 3548617. PMID 23335473.
- ↑ McGorry, Patrick D.; Nelson, Barnaby; Phillips, Lisa J.; Yuen, Hok Pan; Francey, Shona M.; Thampi, Annette; Berger, Gregor E.; Amminger, G. Paul; Simmons, Magenta B.; Kelly, Daniel; Dip, Andrew D.; Thompson, Alison R.; Yung, AR (2013). "Randomized Controlled Trial of Interventions for Young People at Ultra-High Risk of Psychosis". The Journal of Clinical Psychiatry. 74 (4): 349–56. doi:10.4088/JCP.12m07785. PMID 23218022.
{{cite journal}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|displayauthors=
ถูกละเว้น แนะนำ (|display-authors=
) (help) - ↑ Robertson, Donald (2010). The Philosophy of Cognitive-Behavioural Therapy: Stoicism as Rational and Cognitive Psychotherapy. London: Karnac. p. xix. ISBN 978-1-85575-756-1.
- ↑ Mathews, John (2015). "Stoicism and CBT: Is Therapy A Philosophical Pursuit?". Virginia Counseling. Virginia Counseling.
- ↑ Beck, AT; Rush, AJ; Shaw, BF; Emery, G (1979). Cognitive Therapy of Depression. New York: Guilford Press. p. 8. ISBN 0-89862-000-7.
{{cite book}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Robinson, D. N. (1995). An intellectual history of psychology (3rd ed.). Madison, WI: University of Wisconsin Press.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 113.0 113.1 113.2 113.3 113.4 113.5 113.6 113.7 113.8 113.9 Trull, TJ (2007). Clinical psychology (7th ed.). Belmont, CA: Thomson/Wadsworth.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 114.0 114.1 114.2 114.3 114.4 114.5 Rachman, S (1997). "The evolution of cognitive behaviour therapy". ใน Clark, D, Fairburn, CG & Gelder, MG (บ.ก.). Science and practice of cognitive behaviour therapy. Oxford: Oxford University Press. pp. 1–26. ISBN 0-19-262726-0.
{{cite book}}
: CS1 maint: multiple names: editors list (ลิงก์) - ↑ Jones, M. C. (1924). "The Elimination of Children's Fears". Journal of Experimental Psychology. 7 (5): 382–390. doi:10.1037/h0072283.
- ↑ 116.0 116.1 116.2 Current psychotherapies (8th ed.). Belmont, CA: Thomson Brooks/Cole. 2008.
{{cite book}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|editors=
ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=
) (help) - ↑ Wilson, GD. "Reversal of differential conditioning by instructions". Journal of Experimental Psychology. 76: 491–493.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Eysenck, H. J. (1952). "The effects of psychotherapy: An evaluation". Journal of Consulting Psychology. 16 (5): 319–24. doi:10.1037/h0063633. PMID 13000035.
- ↑ 119.0 119.1 119.2 119.3 119.4 Wilson, GT (2008). Behavior therapy. Current psychotherapies (8th ed.). Belmont, CA: Thomson Brooks/Cole. pp. 63–106.
{{cite book}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|editors=
ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=
) (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 120.0 120.1 Mosak, HH; Maniacci, M (2008). Adlerian psychotherapy. Current psychotherapies (8th ed.). Belmont, CA: Thomson Brooks/Cole. pp. 63–106.
{{cite book}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|editors=
ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=
) (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Ellis, A (2008). Rational emotive behavior therapy. Current psychotherapies (8th ed.). Belmont, CA: Thomson Brooks/Cole. pp. 63–106.
{{cite book}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|editors=
ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=
) (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 122.0 122.1 122.2 Oatley, K (2004). Emotions: A brief history. Malden, MA: Blackwell Publishing.
{{cite book}}
: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า :|pages 53=
(help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Thorpe, GL; Olson, SL (1997). Behavior therapy: Concepts, procedures, and applications (2nd ed.). Boston, MA: Allyn & Bacon.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Cognitive behavioural therapy for the management of common mental health problems (PDF). National Institute for Health and Care Excellence. 2008-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-11-05. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help)[ต้องการเลขหน้า] - ↑
Kessler, David; Lewis, Glyn; Kaur, Surinder; Wiles, Nicola; King, Michael; Weich, Scott; Sharp, Debbie J; Araya, Ricardo; Hollinghurst, Sandra; Peters, Tim J (2009). "Therapist-delivered internet psychotherapy for depression in primary care: A randomised controlled trial". The Lancet. 374 (9690): 628–34. doi:10.1016/S0140-6736(09)61257-5. PMID 19700005.
{{cite journal}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|displayauthors=
ถูกละเว้น แนะนำ (|display-authors=
) (help) - ↑ Hollinghurst, S.; Peters, T. J.; Kaur, S.; Wiles, N.; Lewis, G.; Kessler, D. (2010). "Cost-effectiveness of therapist-delivered online cognitive-behavioural therapy for depression: Randomised controlled trial". The British Journal of Psychiatry. 197 (4): 297–304. doi:10.1192/bjp.bp.109.073080. PMID 20884953.
- ↑ Bender, S; Messner, E (2003). Becoming a therapist: What do I say, and why?. New York, NY: The Guilford Press. pp. 24, 34–35.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 128.0 128.1 128.2 Martin, Ben. "In-Depth: Cognitive Behavioral Therapy". PsychCentral. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-03. สืบค้นเมื่อ 2012-03-15.
- ↑ 129.0 129.1 "Depression and anxiety - computerised cognitive behavioural therapy (CCBT)". National Institute for Health and Care Excellence. 2012-01-12. สืบค้นเมื่อ 2012-02-04.
- ↑ Nordgren, L.B.; Hedman, E.; Etienne, J.; Bodin, J.; Kadowaki, A.; Eriksson, S.; Lindkvist, E.; Andersson, G.; Carlbring, P. (2014-08). "Effectiveness and cost-effectiveness of individually tailored Internet-delivered cognitive behavior therapy for anxiety disorders in a primary care population: A randomized controlled trial". Behaviour Research and Therapy. 59: 1–11. doi:10.1016/j.brat.2014.05.007. PMID 24933451. สืบค้นเมื่อ 2014-08-18.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์|displayauthors=
ถูกละเว้น แนะนำ (|display-authors=
) (help) - ↑ Marks, Isaac M.; Mataix-Cols, David; Kenwright, Mark; Cameron, Rachel; Hirsch, Steven; Gega, Lina (2003). "Pragmatic evaluation of computer-aided self-help for anxiety and depression". The British Journal of Psychiatry. 183: 57–65. doi:10.1192/bjp.02-463. PMID 12835245.
{{cite journal}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|doi_brokendate=
ถูกละเว้น แนะนำ (|doi-broken-date=
) (help) - ↑ 132.0 132.1 Musiata, P; Tarriera, N. "Cambridge Journals Online - Psychological Medicine - Abstract - Collateral outcomes in e-mental health: a systematic review of the evidence for added benefits of computerized cognitive behavior therapy interventions for mental health". Journals.cambridge.org. สืบค้นเมื่อ 2014-08-14.
{{cite web}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ MoodGYM was superior to informational websites in terms of psychological outcomes or service use
- ↑ Europe PMC. "A meta-analysis of computerized cognitive-behavioral therapy for the treatment of DSM-5 anxiety... - Abstract - Europe PMC".
- ↑ Andrews, G; Cuijpers, P; Craske, MG; McEvoy, P; Titov, N (2010-10-13). "Computer therapy for the anxiety and depressive disorders is effective, acceptable and practical health care: a meta-analysis". PLOS ONE. 5 (10): e13196. doi:10.1371/journal.pone.0013196. PMID 20967242.
- ↑ 136.0 136.1 Freeman, J; Garcia, A; Frank, H; Benito, K; Conelea, C; Walther, M; Edmunds, J (2014). "Evidence base update for psychosocial treatments for pediatric obsessive-compulsive disorder". Journal of clinical child and adolescent psychology : the official journal for the Society of Clinical Child and Adolescent Psychology, American Psychological Association, Division 53. 43 (1): 7–26. doi:10.1080/15374416.2013.804386. PMID 23746138.
- ↑ Rozbroj, Tomas; et, al. (2014). "Assessing the Applicability of E-Therapies for Depression, Anxiety, and Other Mood Disorders Among Lesbians and Gay Men: Analysis of 24 Web- and Mobile Phone-Based Self-Help Interventions". Journal of Medical Internet Research. 16 (5): e166. doi:10.2196/jmir.3529. PMID 24996000.
- ↑ "A randomized controlled trial of the computerized CBT programme, MoodGYM, for public mental health service users waiting for interventions - Twomey - 2014 - British Journal of Clinical Psychology - Wiley Online Library". Onlinelibrary.wiley.com. 2014. doi:10.1111/bjc.12055. สืบค้นเมื่อ 2014-08-14.
- ↑ "Understanding the acceptability of e-mental health - attitudes and expectations towards computerised self-help treatments for mental health problems".
- ↑ Spurgeon, Joyce A.; Wright, Jesse H. (2010). "Computer-Assisted Cognitive-Behavioral Therapy". Current Psychiatry Reports. 12 (6): 547–52. doi:10.1007/s11920-010-0152-4. PMID 20872100.
- ↑ "Devon Partnership NHS Trust: Home" (PDF). NHS UK. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-08-31. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
- ↑ "CG91 Depression with a chronic physical health problem". National Institute for Health and Care Excellence. 2009-10-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-04. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.[ต้องการเลขหน้า]
- ↑ Helgadóttir, Fjóla Dögg; Menzies, Ross G; Onslow, Mark; Packman, Ann; O'Brian, Sue (2009). "Online CBT I: Bridging the Gap Between Eliza and Modern Online CBT Treatment Packages". Behaviour Change. 26 (4): 245–53. doi:10.1375/bech.26.4.245.
- ↑ Helgadóttir, Fjóla Dögg; Menzies, Ross G; Onslow, Mark; Packman, Ann; O'Brian, Sue (2009). "Online CBT II: A Phase I Trial of a Standalone, Online CBT Treatment Program for Social Anxiety in Stuttering". Behaviour Change. 26 (4): 254–70. doi:10.1375/bech.26.4.254.
- ↑ "E-Self Help Guide" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-10-24. สืบค้นเมื่อ 2013-04-09.
{{cite web}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|deadurl=
ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=
) (help) - ↑
Williams, Christopher; Wilson, Philip; Morrison, Jill; McMahon, Alex; Andrew, Walker; Allan, Lesley; McConnachie, Alex; McNeill, Yvonne; Tansey, Louise (2013). Andersson, Gerhard (บ.ก.). "Guided Self-Help Cognitive Behavioural Therapy for Depression in Primary Care: A Randomised Controlled Trial". PLoS ONE. 8 (1): e52735. Bibcode:2013PLoSO...852735W. doi:10.1371/journal.pone.0052735. PMC 3543408. PMID 23326352.
{{cite journal}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|displayauthors=
ถูกละเว้น แนะนำ (|display-authors=
) (help) - ↑ Williams, C. (2001). "Use of written cognitive-behavioural therapy self-help materials to treat depression". Advances in Psychiatric Treatment. 7 (3): 233–40. doi:10.1192/apt.7.3.233.
- ↑ Haeffel, Gerald J. (2010). "When self-help is no help: Traditional cognitive skills training does not prevent depressive symptoms in people who ruminate". Behaviour Research and Therapy. 48 (2): 152–7. doi:10.1016/j.brat.2009.09.016. PMID 19875102.
- ↑ Gellatly, Judith; Bower, Peter; Hennessy, SUE; Richards, David; Gilbody, Simon; Lovell, Karina (2007). "What makes self-help interventions effective in the management of depressive symptoms? Meta-analysis and meta-regression". Psychological Medicine. 37 (9): 1217–28. doi:10.1017/S0033291707000062. PMID 17306044.
- ↑ Houghton, Simon; Saxon, Dave (2007). "An evaluation of large group CBT psycho-education for anxiety disorders delivered in routine practice". Patient Education and Counseling. 68 (1): 107–10. doi:10.1016/j.pec.2007.05.010. PMID 17582724.
- ↑ 151.0 151.1 151.2 Rudd, M. David (2012). "Brief cognitive behavioral therapy (BCBT) for suicidality in military populations". Military Psychology. 24 (6): 592–603. doi:10.1080/08995605.2012.736325.
- ↑ Ferguson, LM; Wormith, JS (2013-09). "A meta-analysis of moral reconation therapy". International journal of offender therapy and comparative criminology. 57 (9): 1076–106. doi:10.1177/0306624x12447771. PMID 22744908.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ SAMHSA. "Moral Reconation Therapy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-22. สืบค้นเมื่อ 2015-02-22.
- ↑ 154.0 154.1 154.2 154.3 154.4 Meichenbaum, D (1996). "Stress Inoculation Training for Coping with Stressors". The Clinical Psychologist. 69: 4–7.
- ↑ 155.0 155.1 Tolin, D. F. (2010). "Is cognitive-behavioral therapy more effective than other therapies? A meta-analytic review". Clinical Psychology Review. 30: 710–720. doi:10.1016/j.cpr.2010.05.003. PMID 20547435.
- ↑ 156.0 156.1 156.2
Cuijpers, P; van Straten, A; Andersson, G; Van Oppen, P (2008). "Psychotherapy for depression in adults: A meta-analysis of comparative outcome studies". Journal of Consulting and Clinical Psychology. 76 (6): 909–922. doi:10.1037/a0013075. PMID 19045960.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ 157.0 157.1
Glenn, CR; Franklin, JC; Nock, MK (2014). "Evidence-based psychosocial treatments for self-injurious thoughts and behaviors in youth". Journal of Clinical Child and Adolescent Psychology. 44: 1–29. doi:10.1080/15374416.2014.945211. PMID 25256034.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ 158.0 158.1
Slife, BD; William, RN (1995). What’s behind the research? Discovering hidden assumptions in the behavioral sciences. Thousand Oaks, CA: Sage.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 159.0 159.1
Fancher, RT (1995). Cultures of healing: Correcting the image of American mental health care. New York: W. H. Freeman and Company.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Johnsen, TJ; Friborg, O (2015-07). "The effects of cognitive behavioral therapy as an anti-depressive treatment is falling: A meta-analysis". Psychological Bulletin. 141 (4): 747–68. doi:10.1037/bul0000015. PMID 25961373.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Nolen-Hoeksema, Susan (2014). Abnormal Psychology (6th ed.). McGraw-Hill Education. p. 357. ISBN 9781259060724.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Chambless, D. L., Babich, K., Crits-Christoph, P., Frank, E., Gilson, M., & Montgomery, R. (1993). Task force on the promotion and dissemination of psychological procedures: A reported adopted by the Division 12 Board. Unpublished report.
- ↑ Fancher, RT (1995). Cultures of healing: Correcting the image of American mental health care. New York: W. H. Freeman and Company. p. 231.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 164.0 164.1 Berger, D (2013-07-30). "Cognitive Behavioral Therapy: Escape From the Binds of Tight Methodology". Psychiatric Times.
{{cite web}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Lynch, D; Laws, KR; McKenna, PJ; Laws; McKenna (2010). "Cognitive behavioral therapy for major psychiatric disorder: does it really work? A meta-analytical review of well-controlled trials". Psychol Med. 40 (1): 9–24. doi:10.1017/S003329170900590X. PMID 19476688.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Lincoln, TM (2010). "Letter to the editor: A comment on Lynch et al. (2009)". Psychological Medicine. 40 (5): 877–80. doi:10.1017/S0033291709991838. PMID 19917145.
- ↑ Kingdon, D (2010). "Over-simplification and exclusion of non-conforming studies can demonstrate absence of effect: A lynching party?". Psychological Medicine. 40 (1): 25–7. doi:10.1017/S0033291709990201. PMID 19570315.
- ↑ Wood, AM; Joseph, S (2010). "Letter to the Editor: An agenda for the next decade of psychotherapy research and practice". Psychological Medicine. 40 (6): 1055–6. doi:10.1017/S0033291710000243. PMID 20158935.
- ↑ 169.0 169.1 169.2 Laurance, J (2008-12-16). "The big question: can cognitive behavioural therapy help people with eating disorders?". The Independent. สืบค้นเมื่อ 2012-04-22.
- ↑ Leader, D (2008-09-08). "A quick fix for the soul". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2012-04-22.
- ↑ "CBT superiority questioned at conference". University of East Anglia. 2008-07-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-27. สืบค้นเมื่อ 2012-04-22.
- ↑ 172.0 172.1 "UKCP response to Andy Burnham's speech on mental health" (Press release). UK Council for Psychotherapy. 2012-02-01. สืบค้นเมื่อ 2012-04-22.
- ↑ "Psychosis and schizophrenia in adults: treatment and management". สืบค้นเมื่อ 2014-02.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- Aaron T. Beck (1979). Cognitive Therapy and the Emotional Disorders. Plume. ISBN 978-0-45200-928-8
- Butler G, Fennell M, and Hackmann A. (2008). Cognitive-Behavioral Therapy for Anxiety Disorders. New York: The Guilford Press. ISBN 978-1-60623-869-1
- Dattilio FM, Freeman A. (Eds.) (2007). Cognitive-Behavioral Strategies in Crisis Intervention (3rd ed.). New York: The Guilford Press. ISBN 978-1-60623-648-2
- Fancher, R. T. (1995). The Middlebrowland of Cognitive Therapy. In Cultures of Healing: Correcting the image of American mental healthcare. p. 195-250.
- Hofmann, SG. (2011). An Introduction to Modern CBT. Psychological Solutions to Mental Health Problems. Chichester, UK: Wiley-Blackwell. ISBN 0-470-97175-4.
- Willson R, Branch R. (2006). Cognitive Behavioural Therapy for Dummies. ISBN 978-0-470-01838-5
เว็บ[แก้]
- Association for Behavioral and Cognitive Therapies (ABCT)
- British Association for Behavioural and Cognitive Psychotherapies
- National Association of Cognitive-Behavioral Therapists
- Effective Child Therapy Public Service Website
- International Association of Cognitive Psychotherapy
- Information on CBT Treatments for various disorders
- Information on Research-based CBT Treatments
- CS1 errors: unsupported parameter
- CS1 maint: uses authors parameter
- CS1: abbreviated year range
- CS1 errors: empty unknown parameters
- บทความวิกิพีเดียที่ต้องการอ้างอิงหมายเลขหน้าตั้งแต่2013-04
- CS1 errors: missing periodical
- บทความวิกิพีเดียที่ต้องการอ้างอิงหมายเลขหน้าตั้งแต่2012-04
- CS1 errors: format without URL
- CS1 maint: DOI inactive as of เมษายน 2015
- CS1 maint: multiple names: editors list
- การบำบัดพฤติกรรมทางประชาน
- จิตวิทยาคลินิก
- การรักษาทางจิตเวช
- การติด