ข้ามไปเนื้อหา

การกวาดล้างใหญ่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การกวาดล้างใหญ่
เป็นส่วนหนึ่งของ การกวาดล้างพรรคบอลเชวิค
ผู้คนในวินนิตเซียกำลังค้นหาศพญาติที่ตกเป็นเหยื่อในการสังหารหมู่ที่วินนิตเซีย ค.ศ. 1943
สถานที่สหภาพโซเวียต
วันที่ค.ศ. 1936–1938
เป้าหมายศัตรูทางการเมือง, ลัทธิทรอตสกี, ผู้นำกองทัพแดง, คูลัค, ชนกลุ่มน้อย, ผู้นำและผู้ประท้วงทางศาสนา
ประเภท
ตาย950,000 ถึง 1.2 ล้านคน[1]
(สูงสุดโดยประมาณทับซ้อนกับผู้ที่เสียชีวิตในระบบกูลักอย่างน้อย 136,520 คน[2])
ผู้ก่อเหตุโจเซฟ สตาลิน, พลาธิการกิจการภายในของประชาชน (เกนริค ยาโกดา, นีโคไล เยจอฟ, ลัฟเรนตีย์ เบรียา, อีวาน เซรอฟ และคนอื่น ๆ), วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ, อันเดรย์ วืยชินสกี, ลาซาร์ คากาโนวิช, คลีเมนต์ โวโรชีลอฟ, โรเบิร์ต เอเค และคนอื่น ๆ
เหตุจูงใจการกำจัดศัตรูทางการเมือง,[3] การรวมอำนาจ,[4] ความกลัวต่อการปฏิวัติซ้อน,[5] ความกลัวต่อการแทรกซึมในพรรค[6]

การกวาดล้างใหญ่ (อังกฤษ: Great Purge) ความน่าสะพรึงกลัวครั้งใหญ่ (Great Terror) หรือ ปี 37 (Year of 37) เป็นการกดขี่ทางการเมืองในสหภาพโซเวียตช่วง ค.ศ. 1936–1938[7] โดยเป็นการกดขี่อย่างใหญ่หลวงต่อชาวนาที่ร่ำรวยซึ่งเรียกว่าคูลัค การกวาดล้างทางชาติพันธุ์ต่อชนกลุ่มน้อย การกวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์และข้าราชการ การกวาดล้างกลุ่มผู้นำกองทัพแดง การเฝ้าระวังโดยตำรวจเป็นวงกว้าง การสงสัยบุคคลว่าก่อวินาศกรรม การต่อต้านการปฏิวัติ การจำคุก และการประหารโดยพลการ[8] เฉพาะการกดขี่แบบสตาลินที่ดำเนินในช่วง ค.ศ. 1937―1938 นั้น นักประวัติศาสตร์ประเมินว่า มีผู้เสียชีวิตตั้งแต่ 950,000 คนไปจนถึง 1.2 ล้านคน[1]

ลักษณะหลัก ๆ ของการกวาดล้างใหญ่นี้ คือ การกวาดล้างชนชั้นคูลัคที่เรียกปฏิบัติการคูลัค และการกำหนดเป้าหมายเป็นชนกลุ่มน้อยในชาติ โดย 9 ใน 10 ของคำพิพากษาประหารชีวิต และ 3 ใน 4 ของคำพิพากษาให้จองจำไว้ในค่ายแรงงานเกณฑ์แบบกูลัก เป็นผลมาจากปฏิบัติการทั้งสองนี้

ในโลกตะวันตก คำว่า "ความน่าสะพรึงกลัวครั้งใหญ่" เป็นที่นิยมขึ้นเพราะหนังสือชื่อนั้นของโรเบิร์ต คอนเควสต์ ออกเผยแพร่ใน ค.ศ. 1968 ชื่อหนังสือดังกล่าวอิงมาจากชื่อเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่เรียกสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว[9]

บทนำ

[แก้]

เหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งเป็นการที่โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียต เบียดเบียนผู้คนที่ตนมองว่าเป็นผู้ต่อต้านการปฏิวัติและเป็นศัตรูของประชาชนนั้น เรียกอย่างเป็นทางการว่า การกดขี่ นักประวัติศาสตร์อภิปรายกันว่า สาเหตุของการกดขี่มีหลายประการ เป็นต้นว่า โรคจิตหวาดระแวงของสตาลินเอง หรือความต้องการของสตาลินที่จะกำจัดผู้เห็นต่างออกไปจากพรรคคอมมิวนิสต์หรือที่จะควบรวมอำนาจ การกดขี่นี้เริ่มขึ้นในกองทัพแดง และวิธีกดขี่ที่พัฒนาขึ้นในกองทัพนั้นก็เริ่มนำมาประยุกต์ใช้อย่างรวดเร็วแก่การกดขี่ในที่อื่น[10] การกดขี่ส่วนที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนทั่วไปนั้น คือ การกดขี่กลุ่มผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ รวมถึงข้าราชการและผู้นำกองทัพซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ แต่การกดขี่ดังกล่าวยังกระทบต่อภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคมด้วย เป็นตนว่า ปัญญาชน ชนชั้นรากหญ้าที่มีฐานะหรือปล่อยกู้ซึ่งเรียกคูลัค และผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ[11]

ปฏิบัติการที่พลาธิการกิจการภายในของประชาชนดำเนินการนั้น ส่งผลต่อชนกลุ่มน้อยที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นประชาคม "แนวที่ห้า" องค์การทหารโปแลนด์ออกคำอธิบายอย่างเป็นทางการว่า การกดขี่ดังกล่าวเป็นไปเพื่อขจัดความเป็นไปได้ที่จะเกิดวินาศกรรมและจารกรรมจากต่างชาติ แม้ว่าภายหลังผู้ถูกกดขี่จะรวมถึงพลเมืองโปแลนด์ทั่ว ๆ ไปเองก็ตาม

ตามสุนทรพจน์ของ นิกิตา ครุสชอฟ ชื่อ "ว่าด้วยลัทธิบูชาบุคคลและผลลัพธ์ของมัน" เมื่อ ค.ศ. 1956 และตามคำอธิบายของโรเบิร์ต คอนเควสต์ นักประวัติศาสตร์ ข้อกล่าวหาจำนวนมากที่ใช้ในการกดขี่ โดยเฉพาะที่ฟ้องในการพิจารณาคดีมอสโควนั้น มาจากการบังคับให้รับสารภาพ ซึ่งมักได้โดยการทรมาน[12] และโดยการตีความมาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายอาญาโซเวียตรัสเซีย (ซึ่งว่าด้วยความผิดฐานต่อต้านการปฏิวัติ) อย่างหละหลวม นอกจากนี้ ยังมักนำกระบวนพิจารณาแบบรวบรัดของคณะตุลาการที่เรียกทรอยคามาใช้แทนขั้นตอนที่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายโซเวียตขณะนั้น[13]

ผู้เคราะห์ร้ายหลายหมื่นคนถูกกล่าวหาด้วยความผิดทางการเมืองหลายรูปแบบ เช่น จารกรรม การสร้างความเสียหาย วินาศกรรม การปลุกปั่นให้ต่อต้านโซเวียต และการสมคบกันเพื่อตระเตรียมการลุกฮือหรือรัฐประหาร ในไม่ช้าผู้เคราะห์ร้ายมักถูกประหารด้วยการยิงเสียให้ตายหรือส่งไปจองจำไว้ในค่ายแรงงานเกณฑ์แบบกูลัก หลายคนตายลงในค่ายแรงงานเกณฑ์เพราะความอดอยาก โรค การเสี่ยงชีวิต และการถูกใช้แรงงานเกินควร นอกจากนี้ มีการทดลองใช้วิธีการอื่น ๆ มากำจัดผู้เคราะห์ร้าย เช่น ในมอสโคว มีการใช้รถก๊าซฆ่าผู้เคราะห์ร้ายขณะขนส่งเขาเหล่านั้นไปยังลานประหารที่เรียกแนวยิงบูโทโว[note 1]

การกวาดล้างใหญ่นี้เริ่มขึ้นในช่วงที่ Genrikh Yagoda เป็นหัวหน้าพลาธิการกิจการภายในฯ แต่รุนแรงถึงขีดสุดในช่วงกันยายน ค.ศ. 1936 ถึงสิงหาคม ค.ศ. 1938 ที่นีโคไล เยจอฟ เป็นหัวหน้าพลาธิการฯ การกวาดล้างดำเนินไปตามคำสั่งที่เรียกว่าแนวปฏิบัติทั่วไป ซึ่งโดยมากแล้วได้แก่คำสั่งโดยตรงของคณะกรรมการบริหารสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีสตาลินเป็นประธาน

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Ellman, Michael (2002). "Soviet Repression Statistics: Some Comments" (PDF). Europe-Asia Studies. 54 (7): 1151–1172. doi:10.1080/0966813022000017177. S2CID 43510161. The best estimate that can currently be made of the number of repression deaths in 1937–38 is the range 950,000–1.2 million, i.e. about a million. This is the estimate which should be used by historians, teachers and journalists concerned with twentieth century Russian—and world—history
  2. WHEATCROFT, STEPHEN G. (1999). "Victims of Stalinism and the Soviet Secret Police: The Comparability and Reliability of the Archival DataÐ Not the Last Word" (PDF). Europe-Asia Studies. 51 (2): 339. doi:10.1080/09668139999056.
  3. Conquest 2008, p. 53.
  4. Brett Homkes (2004). "Certainty, Probability, and Stalin's Great Party Purge". McNair Scholars Journal. 8 (1): 13.
  5. Harris 2017, p. 16.
  6. James Harris, "Encircled by Enemies: Stalin's Perceptions of the Capitalist World, 1918–1941," Journal of Strategic Studies 30#3 [2007]: 513–545.
  7. Gellately 2007.
  8. Figes 2007, pp. 227–315.
  9. Helen Rappaport (1999). Joseph Stalin: A Biographical Companion. ABC-CLIO. p. 110. ISBN 978-1576070840. สืบค้นเมื่อ 29 September 2015.
  10. Whitewood, Peter. 2015. "The Purge of the Red Army and the Soviet Mass Operations, 1937–38." Slavonic & East European Review 93(2)) 286–314.
  11. Conquest 2008, pp. 250, 257–8.
  12. Conquest 2008, p. 121 which cites his secret speech.
  13. Conquest 2008, p. 286.

อ่านเพิ่ม

[แก้]

ภาพยนตร์

[แก้]
  • Pultz, David, dir. 1997. Eternal Memory: Voices from the Great Terror [81:00, documentary film]. Narrated by Meryl Streep. USA.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "note" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="note"/> ที่สอดคล้องกัน