กระแสน้ำย้อนกลับ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลักษณะของกระแสน้ำย้อนกลับ

กระแสน้ำย้อนกลับ[1] (อังกฤษ: rip current) เป็นปรากฏการณ์ที่คลื่นน้ำซัดเข้าชายฝั่ง ไหลออกสู่ทะเลผ่านทางช่องว่างระหว่างสิ่งกีดขวาง เช่น โขดหินหรือสันทราย คลื่นจะมีกำลังมากเนื่องจากมีพื้นที่ในการไหลออกน้อย[2] แต่เมื่อพ้นสิ่งกีดขวางไปแล้ว คลื่นจะอ่อนกำลังลงและบางส่วนจะซัดเข้าหาฝั่งเช่นเดิม ปรากฏการณ์นี้ไม่สามารถทำนายได้เนื่องจากเกิดได้ในหลายพื้นที่ แต่บางแห่งเช่นที่หาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง[3] เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะ[4] ปรากฏการณ์กระแสน้ำย้อนกลับเป็นอันตรายเพราะจะทำให้ผู้ประสบเหตุที่ไม่เข้าใจกลไกหรือไม่มีสติ ว่ายทวนกระแสน้ำจนหมดแรงและจมน้ำในที่สุด

กลไกและวิธีการสังเกต[5][แก้]

กลไกของกระแสน้ำย้อนกลับ : คลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งจะม้วนตัวออกทางช่องว่างระหว่างสันทราย เกิดเป็นกระแสน้ำย้อนกลับที่มีกำลังแรง

การเกิดกระแสน้ำย้อนกลับนี้จะมองเห็นได้จากในที่สูงเป็นลำกว้างประมาณ 5-10 เมตร มีความเร็วประมาณ 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยขึ้นอยู่กับความสูงของคลื่น รูปร่างและความลาดชันของฝั่งทะเล รวมทั้งขนาดของตะกอน และสิ่งกีดขวาง เช่น โขดหินรอดักตะกอนหรือสันทราย โดยจะเกิดขึ้นบริเวณไม่ไกลจากริมฝั่ง ทำให้ผู้ที่ลงเล่นน้ำใกล้ฝั่งตกใจ เพราะเมื่อเข้าไปในบริเวณกระแสน้ำ จะถูกกระแสน้ำย้อนกลับไปไกลจากฝั่งสู่น้ำลึกอย่างรวดเร็ว ผู้ที่ว่ายน้ำไม่แข็งจะจมน้ำเสียชีวิตได้

ส่วนวิธีการสังเกต ให้สังเกตสีของน้ำทะเล เพราะกระแสน้ำย้อนกลับเป็นกระแสน้ำที่พาเอาตะกอนออกไปนอกชายฝั่ง บริเวณกระแสน้ำจึงมีความขุ่นแตกต่างไปจากน้ำทะเลทั่ว ๆ ไป มีการไหลวนปั่นป่วนเพราะความแรงและมีลักษณะคล้ายรูปดอกเห็ด โดยมีลำยื่นจากชายฝั่ง ส่วนที่เป็นหมวกเห็ดยื่นไปในทะเลลึก ยิ่งมีขนาดใหญ่และไกลก็ยิ่งมีกำลังมาก เมื่อใดก็ตามที่กระแสน้ำไหลเข้าสู่ฝั่งแล้ว จะถูกกีดขวางจากสิ่งต่าง ๆ เช่น โขดหินหรือสันทราย ไม่ให้ไหลกลับสู่ท้องทะเลได้สะดวก เมื่อมีช่องว่างกระแสน้ำก็สามารถไหลกลับได้ ยิ่งเป็นร่องแคบ ๆ น้ำก็ยิ่งจะไหลแรง ถ้าช่องกว้างน้ำจะไหลช้าและกระจายออกไป ซึ่งความเร็วและความแรงขึ้นอยู่กับรูปร่าง ความสูงของคลื่นและความลาดชันของชายหาด

วิธีการป้องกัน[6][แก้]

วิธีป้องกันตัวจากกระแสน้ำย้อนกลับ : อย่าว่ายทวนกระแสน้ำ, ว่ายออกนอกแนวกระแสน้ำเพื่อกลับเข้าฝั่ง, ลอยตัวในน้ำเมื่อหมดแรง

หากจะลงเล่นน้ำทะเล ควรรู้จักป้องกันและช่วยเหลือตัวเอง โดยสังเกตป้ายเตือน และไม่เล่นน้ำตามลำพัง ไม่ควรแยกตัวออกไปเล่นไกลจากผู้คน หากพบว่าสภาพลมฟ้าอากาศไม่สู้ดี เช่น มีลมแรง มีคลื่นสูงหรือมีกระแสน้ำลักษณะรูปเห็ด ก็ไม่ควรลงเล่นน้ำ

หากพบว่าตัวเองอยู่ในกระแสน้ำย้อนกลับ ให้ตั้งสติ อย่าว่ายทนกระแสน้ำเพราะจะทำให้หมดแรง ให้สังเกตว่าชายฝั่งทะเลอยู่ทางทิศใดแล้วว่ายขนานไปกับชายฝั่ง เมื่อพ้นจากบริเวณกระแสน้ำ คลื่นนอกบริเวณก็จะพาเรากลับเข้าฝั่ง

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2549, หน้า 460.
  2. "ความดันอากาศ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-23. สืบค้นเมื่อ 2015-03-25.
  3. วิธีรอดตายจากหาดแม่รำพึง
  4. e12030645 ดูข่าวตะกี้ หาดแม่รำพึง มี2พ่อลูกสังเวยชีวิต - Pantip
  5. ""Rip Current" คลื่นดูด ภัยร้ายในทะเล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-06. สืบค้นเมื่อ 2015-03-25.
  6. "Rip Current..ภัยร้ายในทะเล !!! เรียบเรียงโดย นายศิริพงศ์ ชอบแต่ง" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2015-03-25.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]