โรงเรียนสาธิต "พิบูลบำเพ็ญ" มหาวิทยาลัยบูรพา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนสาธิต "พิบูลบำเพ็ญ" มหาวิทยาลัยบูรพา
Piboonbumpen Demonstration School, Burapha University
ที่ตั้ง
ข้อมูล
ประเภทโรงเรียนสาธิต
สถาปนา17 กันยายน พ.ศ. 2482
หน่วยงานกำกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา
รหัส1420011101
ผู้อำนวยการดร. อาพันธ์ชนิต เจตจิต รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ
จำนวนนักเรียน5,980 คน (ปีการศึกษา 2559)[1]
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอนภาษาที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน ไทย ภาษาไทย
สหราชอาณาจักร ภาษาอังกฤษ
สี███ สีเทา - ███ สีทอง
การจัดการศึกษาปฐมวัยถึงมัธยมศึกษา
เว็บไซต์st.buu.ac.th

โรงเรียนสาธิต "พิบูลบำเพ็ญ" มหาวิทยาลัยบูรพา (อังกฤษ; Piboonbumpen Demonstration School, Burapha University) เดิมคือ โรงเรียนประชาบาลตำบลแสนสุข 3 (บ้านแสนสุข) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 17 กันยายน พ.ศ. 2482[2] เป็นหน่วยงานภายในสังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา[3] มีการบริหารงานนอกระบบราชการเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

ประวัติ[แก้]

เดิมโรงเรียนสาธิต "พิบูลบำเพ็ญ" มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นโรงเรียนประถมศึกษาตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา ชื่อ โรงเรียนประชาบาล ตำบลหนองมน 3 (บ้านแสนสุขบน) โดยสร้างเป็นโรงเรียนชั่วคราว ด้วยเงินอุดหนุนการประถมศึกษาและประชาชนในท้องถิ่นสละเงินร่วมกัน โดยมีกำนันติ๊ว ยู่จิว และผู้ใหญ่อุ๊น จันทร์เกลี้ยงช่วยกันจัดหาที่ดินและจัดสร้างขึ้นเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ทำพิธีเปิดใช้สถานที่เล่าเรียนเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2482 โดยมี นายพราว สุทธิศรี ศึกษาธิการอำเภอศรีราชา มาเป็นประธานในพิธีเปิดมีนักเรียนทั้งสิ้น 15 คน นายชิ้น ใจดี เป็นครูใหญ่นับเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน

ต่อมา พ.ศ. 2486 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อตำบลหนองมนเป็นตำบลแสนสุขมาขึ้นกับอำเภอเมืองชลบุรี โรงเรียนจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนประชาบาลตำบลแสนสุข 3 (บ้านแสนสุข)

ในปี พ.ศ. 2496 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พลเอก มังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนั้น ดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนขึ้นในตำบลแสนสุข บนเนื้อที่ 75 ไร่ 2 งาน 131 ตารางวา ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกับโรงเรียนประชาบาลตำบลแสนสุข 3 วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2496 มีอาคารเรียนชั้นมัธยมศึกษา อาคารเรียนชั้นประถมศึกษา โรงฝึกงานหัตถศึกษา บ้านพักครู คนงาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,190,000 บาท และให้ชื่อว่า โรงเรียน "พิบูลบำเพ็ญ" โดยนายกรัฐมนตรี ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรียนนี้ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2497

ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ก่อตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน[4] ขึ้นและโอนย้าย โรงเรียน “พิบูลบำเพ็ญ” มาสังกัดวิทยาลัยวิชาการศึกษา กรมการฝึกหัดครู และเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2499

ต่อมาเมื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษา ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517[5] โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน จึงมาสังกัดภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางแสน และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน ได้มีการจัดตั้งสมาคมผู้ปกครอง ครู และศิษย์เก่าขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนและในปีเดียวกัน สมาคมฯ ได้จัดสร้างอาคารเรียนขนาด 54 x 9.20 เมตร เป็นอาคาร ชั้นเดียว ชื่ออาคาร “พิบูลรำลึก” (ซึ่งต่อมาได้ต่อเติมเป็นอาคาร 2 ชั้น)

ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเป็นการยกฐานะ วิทยาเขตบางแสน ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศเมื่อ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2533[6] โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” ได้รับการจัดให้เป็นหน่วยงานที่เทียบเท่าภาควิชา ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. 2533 สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2534[7] และสมาคมผู้ปกครอง ครูและศิษย์เก่า ได้จัดสร้างต่อเติมอาคารเรียน พิบูลรำลึก ขึ้นอีก 1 ชั้นและได้มีผู้มีจิตศรัทธาสร้างหอพระประจำโรงเรียน และอาคารแสนเจริญ มอบให้แก่โรงเรียน[2]

ทำเนียบผู้อำนวยการ[แก้]

โรงเรียนประชาบาลตำบลแสนสุข 3 (บ้านแสนสุข)
รายนามครูใหญ่ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. นายชิ้น ใจดี 17 กันยายน พ.ศ. 2482 - 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2497
โรงเรียน "พิบูลบำเพ็ญ"
รายนามอาจารย์ใหญ่ วาระการดำรงตำแหน่ง
2. หม่อมเจ้าพยัคฆพันธุ์ เกษมสันต์ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 - ไม่ทราบวันหมดวาระ
3. นายพจน์ จันทร์ลี ไม่ทราบวันเริ่มดำรงตำแหน่ง - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2499
โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน
รายนามอาจารย์ใหญ่ วาระการดำรงตำแหน่ง
4. ศาสตราจารย์ ดร.พนัส หันนาคินทร์ 1 กันยายน พ.ศ. 2499 - ไม่ทราบวันหมดวาระ
5. นายบุญเลิศ ศรีหงส์ ไม่มีข้อมูล
6. รองศาสตราจารย์อนนต์ อนันตรังสี ไม่มีข้อมูล
7. รองศาสตราจารย์ ดร.ประเทิน มหาขันธ์ ไม่มีข้อมูล
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุธรรม ศุกระกาญจน์ ไม่ทาบวันเริ่มดำรงตำแหน่ง - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517
โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน
รายนามอาจารย์ใหญ่ วาระการดำรงตำแหน่ง
9. รองศาสตราจารย์สายันห์ มาลยาภรณ์ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517 - ไม่ทราบวันหมดวาระ
10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุพัฒนา โหระกุล ไม่มีข้อมูล
11. รองศาสตราจารย์เชาวน์ มณีวงษ์ ไม่ทราบวันเริ่มดำรงตำแหน่ง - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2534
โรงเรียนสาธิต "พิบูลบำเพ็ญ" มหาวิทยาลัยบูรพา
รายนามอาจารย์ใหญ่ วาระการดำรงตำแหน่ง
12. ว่าที่ร้อยตรี สุเทพ เมืองคล้าย 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 - ไม่ทราบวันหมดวาระ
13. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมพิศ อุดมศิลป์ ไม่มีข้อมูล
14. ดร.สมศักดิ์ ลิลา ไม่มีข้อมูล
15. รองศาสตราจารย์ ดร.ฉลอง ทับศรี ไม่มีข้อมูล
16. ดร.ผลาดร สุวรรณโพธิ์ ไม่มีข้อมูล
17. ดร.วิโรฒน์ ชมภู ไม่มีข้อมูล
18. ดร.อาพันธ์ชนิต เจนจิต รักษาการในสมัยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2566-ปัจจุบัน
19. รองศาสตราจารย์ ดร.ตฤณ กิตติการอำพล จนถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2566

อ้างอิง[แก้]

  1. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, โรงเรียนสาธิต 2559 ภาคเรียนที่ 1 ใน สถาบันอุดมศึกษารัฐ จำแนกตาม (ข้อมูลนักเรียนโรงเรียนสาธิต จำแนกตาม โรงเรียน ชั้น และเพศ ), สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน พ.ศ. 2560
  2. 2.0 2.1 โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา, ประวัติโรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา, สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน พ.ศ. 2560
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศมหาวิทยาลัยบูรพา เรื่อง การจัดตั้งส่วนงาน และภาระหน้าที่ของส่วนงาน พ.ศ. ๒๕๕๘, วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558
  4. มหาวิทยาลัยบูรพา, ก้าวแรก : วิทยาลัยการศึกษา บางแสน (พ.ศ. 2498-2517) เก็บถาวร 2017-05-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน พ.ศ. 2560
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๑๗, เล่ม 91, ตอนพิเศษ 112 ก, วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. ๒๕๓๓, เล่ม 107, ตอนพิเศษ 131 ก, วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. ๒๕๓๔, เล่ม 108, ตอนพิเศษ 25 ก, วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2534

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]