สนธิสัญญาญี่ปุ่น–สยาม พ.ศ. 2440

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สนธิสัญญาญี่ปุ่น–สยาม พ.ศ. 2440
สนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์และการเดินเรือระหว่างสยามและญี่ปุ่น พ.ศ. 2440
วันลงนาม25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440
ที่ลงนามกรุงเทพมหานคร
วันหมดอายุ10 มีนาคม พ.ศ. 2466
ผู้ลงนาม
ภาคี
ภาษาth, jp, en

สนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์และการเดินเรือระหว่างสยามและญี่ปุ่น พ.ศ. 2440[1] (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation between Siam and Japan) เป็นสนธิสัญญาที่ตกลงกันเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440[1] (พ.ศ. 2441 หากนับแบบปัจจุบัน) ระหว่างจักรวรรดิญี่ปุ่นยุคเมจิในรัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ โดยมีนายอินางากิ มันจิโร (Inagaki Manjirō, 稲垣 満次郎) อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงสยามเป็นผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่น และสยามอาณาจักรรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการทรงเป็นผู้แทนฝ่ายสยาม ในสนธิสัญญานี้ ทั้งญี่ปุ่นและสยามต่างให้การรับรองสถานะ "ชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง" (Most Favoured Nation)[2] ซึ่งกันและกัน สยามมอบสิทธิทางการค้าภาษีสินค้าขาเข้าในระดับต่ำ และมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (Extraterritoriality) ให้แก่ญี่ปุ่น ดังที่สยามได้มอบให้แก่ชาติตะวันตกอื่นๆก่อนหน้า

สนธิสัญญาญี่ปุ่น–สยาม พ.ศ. 2440 นี้ เป็นก้าวสำคัญในการเจรจายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของสยาม เนื่องจากสนธิสัญญานี้เป็นสนธิสัญญาฉบับแรก ที่ได้มีการกำหนดเวลาการสิ้นสุดของสนธิสัญญา ในขณะที่สนธิสัญญาไม่เป็นธรรม (Unequal Treaties) อื่น ๆ ที่สยามได้ทำกับชาติตะวันตกก่อนหน้านี้นั้น ไม่มีการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของสนธิสัญญา

เบื้องหลังและเหตุการณ์นำ[แก้]

สนธิสัญญาไม่เป็นธรรมระหว่างสยามกับชาติตะวันตก[แก้]

สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง พ.ศ. 2398 เป็นจุดเริ่มต้นของการที่สยามมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ชาติตะวันตก

กฎหมายสยามที่ใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นคือกฎหมายตราสามดวง ซึ่งสืบทอดมาจากสมัยอาณาจักรอยุธยา ลักษณะการลงโทษความผิดอาญาในกฎหมายตราสามดวงนั้นมีความรุนแรง หากเทียบกับกฎหมายสมัยปัจจุบัน ลักษณะอาญาหลวงมีโทษฟันคอริบเรือน ตัดมือตัดเท้า ใส่ตรุโดยยถากรรม ทวนด้วยไม้หวาย การพิจารณาคดีมีการดำน้ำลุยไฟพิสูจน์ ในการไต่สวนความอาญามีจารีตนครบาล ทรมานร่างกายผู้ต้องหา ตอกเล็บ บีบขมับ ใส่ตะกร้อให้ช้างเตะ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า สยามจำต้องทำสนธิสัญญาทางการค้ากับอังกฤษ เพื่อหลีกเลี่ยงภัยคุกคามทางการทหารจากอังกฤษ[3] เช่นเดียวกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เซอร์ จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) ผู้ครองฮ่องกง และนายแฮร์รี พากส์ (Harry Parkes; เอกสารไทยเรียก ฮารีปาก) ผู้แทนอังกฤษ เดินเรือเข้ามาถึงกรุงเทพเมื่อพ.ศ. 2398 นำไปสู่การทำสนธิสัญญาเบาว์ริง[3] (Bowring Treaty) ซึ่งสยามยินยอมลดภาษีสินค้าขาเข้าให้แก่อังกฤษเหลือเพียงร้อยละสาม มอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (Extraterritoriality) ให้แก่อังกฤษ หมายถึงคนในบังคับของอังกฤษในสยามไม่ขึ้นศาลสยามและไม่อยู่ภายใต้กฎหมายสยาม แต่ขึ้นศาลกงสุลอังกฤษซึ่งตัดสินโดยใช้กฎหมายของอังกฤษเอง เนื่องจากชาวตะวันตกมีความเห็นว่ากฎหมายของสยามนั้นมีความโหดร้าย[4]ล้าหลังและไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกับชาติตะวันตก ชาวตะวันตกจึงไม่ต้องการอยู่ภายใต้กฎหมายสยามและไม่ต้องการขึ้นศาลสยาม

แฮร์รี พากส์ นำร่างสนธิสัญญาไปเสนอรัฐบาลอังกฤษที่กรุงลอนดอน ซึ่งรัฐบาลอังกฤษได้แก้ไขและเสนอข้อสัญญาเพิ่มเติมบางประการ[5] แล้วนายแฮร์รี พากส์จึงนำข้อสัญญากลับมาที่่กรุงเทพในพ.ศ. 2399 ระหว่างที่นายแฮร์รี พากส์อยู่ที่กรุงเทพฯนั้น[5] ทาวน์เซนด์ แฮร์ริส (Townsend Harris) ทูตอเมริกาที่กำลังจะเดินทางไปญี่ปุ่น เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในพ.ศ. 2399 เพื่อทำสนธิสัญญากับสยามเช่นกัน นำไปสู่สนธิสัญญาแฮร์ริสระหว่างสยามและสหรัฐในพ.ศ. 2399 สยามมอบสิทธิทางการค้าภาษีต่ำและสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่สหรัฐ และอีกหกสัปดาห์ต่อมา[5] ชาลส์ เดอ มงติญยี (Charles de Montingy) ทูตฝรั่งเศสได้มาถึงกรุงเทพเช่นกัน ทำสนธิสัญญาในพ.ศ. 2399 สยามมอบสิทธิทางภาษีและสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในฝรั่งเศส หลังจากนั้นสยามได้ทำสนธิสัญญาที่มีเนื้อหาลักษณะเดียวกันนี้กับประเทศยุโรปอื่น ๆ ได้แก่เดนมาร์ก โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ และปรัสเซีย (เยอรมนี) ซึ่งสนธิสัญญาเหล่านี้เป็นสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม (Unequal Treaties) กับสยาม ทำให้สยามสูญเสียอธิปไตยทางการคลังเสียอิสรภาพในการจัดเก็บภาษีทำให้รายได้ของราชสำนักลดลง และการมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ชาติตะวันตกนั้นเป็นการเสียอธิปไตยทางการศาล[4][6]

สนธิสัญญาไม่เป็นธรรมระหว่างญี่ปุ่นกับชาติตะวันตก[แก้]

กฎหมายของราชสำนักญี่ปุ่นคือกฎหมายริตสึเรียว (Ritsuryō, 律令) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีต้นแบบมาจากจีนและรับเข้ามาตั้งแต่สมัยอาซูกะ แต่ต่อมาเมื่อราชสำนักพระจักรพรรดิญี่ปุ่นเสื่อมอำนาจลงและบากูฟุหรือรัฐบาลโชกุนขึ้นมามีอำนาจแทนที่ ทำให้กฎหมายริตซึเรียวไม่ได้นำมาใช้อย่างแท้จริง ในพ.ศ. 2158 ปฐมโชกุนโทกูงาวะ อิเอยาซุ ได้ประกาศใช้กฎหมายบูเกโชฮัตโต (Buke-shohatto, 武家諸法度) ซึ่งเป็นกฎหมายสำหรับชนชั้นซามูไร อย่างไรก็ตามรัฐบาลโชกุนส่วนกลางไม่ได้ตรากฎหมายเกี่ยวกับการค้าการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับสามัญชน ขุนนางผู้ครองแคว้นหรือไดเมียวเป็นผู้กำหนดกฎหมายเกี่ยวกับการค้าและการเกษตรในแคว้นของตนเอง กฎหมายของแต่ละแคว้นมีความแตกต่างกันไป ลักษณะโทษกฏหมายอาญาญี่ปุ่นในยุคจารีตนั้นมีความรุนแรง มีการใช้โทษประหารชีวิตบ่อยครั้ง โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับชนชั้นซามูไร ซึ่งมีบทลงโทษด้วยการคว้านท้องตนเองหรือเซ็ปปูกุ หากสามัญชนหรือผู้ที่มีศักดิ์น้อยกว่าดูหมิ่นหลู่เกียรติของซามูไรหรือผู้มีศักดิ์มากกว่า ซามูไรหรือผู้มีศักดิ์นั้นสามารถใช้ดาบฟันผู้น้อยนั้นถึงแก่ความตายได้ทันทีโดยถูกกฎหมาย หากสามีจับได้ว่าภรรยามีชู้ได้คาหนังคาเขา สามีสามารถสังหารภรรยานั้นได้ทันที

ภาพพิมพ์ญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรือดำ (Black Ships) หรือเรือปืนของพลเรือจัตวาแมทธิว เพร์รี (Commodore Matthew Perry) ซึ่งได้เข้ามายังนครเอโดะเมื่อพ.ศ. 2396 เพื่อบีบบังคับให้ญี่ปุ่นยุตินโยบายปิดประเทศและเปิดเมืองท่าเพื่อการพาณิชย์

ตั้งแต่พ.ศ. 2176 สมัยโชกุนโทกูงาวะ อิเอมิตสึ ญี่ปุ่นดำเนินนโยบายปิดประเทศหรือซาโกกุ ยุติตัดขาดความสัมพันธ์กับต่างชาติ จนกระทั่งในยุคบากูมัตสึ (Bakumatsu) หรือปลายยุคเอโดะ พ.ศ. 2396 พลเรือจัตวาแมทธิว เพร์รี (Commodore Matthew Perry) นายพลเรือชาวอเมริกัน ได้นำเรือปืนหรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่าเรือดำ เข้ามาที่อ่าวอูรางะให้กับนครเอโดะเพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลโชกุนเปิดประเทศทำการค้าขายกับสหรัฐ และปีต่อมาพ.ศ. 2397 นายเพร์รี่ได้ทำอนุสัญญาคานางาวะ (Convention of Kanagawa) กับรัฐบาลโชกุน โดยที่รัฐบาลโชกุนยินยอมเปิดเมืองท่าให้สหรัฐเข้ามาค้าขาย เป็นสิ้นสุดการปิดประเทศของญี่ปุ่น ทาวน์เซนด์ แฮร์ริสเดินทางออกจากกรุงเทพถึงญี่ปุ่นเมื่อปีพ.ศ. 2401 นำไปสู่สนธิสัญญาแฮร์ริส (Harris Treaty) ซึ่งรัฐบาลโชกุนได้มอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ชาวอเมริกันซึ่งได้พำนักอยู่ในเมืองท่าในเขตที่รัฐบาลโชกุนกำหนด เป็นสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมฉบับแรกที่ญี่ปุ่นได้ทำกับชาติตะวันตก ต่อมารัฐบาลโชกุนได้ทำสนธิสัญญาในลักษณะเดียวกับกับชาติตะวันตกอื่นๆได้แก่อังกฤษ รัสเซีย เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส เรียกรวมกันว่าสนธิสัญญาปีรัชศกอันเซ (Ansei Treaties, 安政条約) ซึ่งชาติตะวันตกเหล่านี้ต่างเข้ามาตั้งศาลกงสุลในญี่ปุ่น ชาวชาติเหล่านี้ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายญี่ปุ่นแต่ขึ้นศาลกงสุลของชาติตนเองเมื่อเกิดคดีความ เนื่องจากชาวตะวันตกมองว่ากฎหมายญี่ปุ่นมีความโหดร้ายทารุณเฉกเช่นเดียวกับกฎหมายของอาณาจักรอื่นๆในเอเชีย นอกจากนี้ รัฐบาลโชกุนยังที่ทำข้อตกลงร่วมกับชาติตะวันตกต่างๆ ลดภาษีขาเข้าเหลือเพียงร้อยละห้า[7]

สนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐเมื่อพ.ศ. 2401 เป็นจุดเริ่มต้นของการที่ญี่ปุ่นมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ชาติตะวันตก

การที่รัฐบาลโชกุนยินยอมทำตามข้อเรียกร้องที่ไม่เป็นธรรมของชาติตะวันตกทำให้เกิดกระแสต่อต้านชาวตะวันตกขึ้นเรียกว่าซนโนโจอิ (Sonnō jōi, 尊皇攘夷) แปลว่า"เชิดชูพระจักรพรรดิ ขับไล่อนารยชน" จนพัฒนาไปกลายเป็นขบวนการต่อต้านระบอบรัฐบาลโชกุน ในพ.ศ. 2411 โชกุนโทกูงาวะ โยชิโนบุ ถวายคืนอำนาจแด่สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ เป็นการสิ้นสุดระบอบโชกุนที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี แต่ทว่ายังเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายพระจักรพรรดิและฝ่ายรัฐบาลโชกุนเดิม นำไปสู่สงครามโบชิง (Boshin War) ซึ่งฝ่ายพระจักรพรรดิได้รับชัยชนะ ระบอบการปกครองใหม่ในยุคเมจิมีผู้นำการปฏิวัติเมจิขึ้นมามีอำนาจ เรียกว่า คณาธิปไตยเมจิ (Meiji Oligarchy)

ญี่ปุ่นเจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม[แก้]

คณะผู้แทนรัฐบาลเมจิ นำโดยอิวากูระ โทโมมิ (Iwakura Mission) เดินทางเยือนทวีปยุโรปและสหรัฐ ในระหว่างพ.ศ. 2414 ถึงพ.ศ. 2417 เพื่อศึกษาการปกครองและวิทยาการของตะวันตก รวมทั้งเพื่อเจรจากยกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม

รัฐบาลเมจิมีความเห็นว่า การที่รัฐบาลโชกุนในยุคก่อนหน้าได้มอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ชาติตะวันตกต่างๆนั้น เป็นการลิดรอดอำนาจอธิปไตยของญี่ปุ่น ในพ.ศ. 2414 คณะรัฐบาลเมจิ นำโดยอิวากูระ โทโมมิ เดินทางไปยังทวีปยุโรปและสหรัฐ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับระบอบการปกครองและวิทยาการของชาวตะวันตก และเพื่อเจรจายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ญี่ปุ่นได้เคยมอบไว้ ปรากฏว่าอิวากูระ โทโมมิ ค้นพบว่าชาติตะวันตกต่างๆนั้นไม่ยินยอมที่จะยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้อย่างง่ายโดยไม่มีสิ่งตอบแทน ทั้งอังกฤษและสหรัฐแจ้งแก่อิวากูระ โทโมมิว่า ชาติตะวันตกจะยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตคืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ญี่ปุ่น ก็ต่อเมื่อญี่ปุ่นได้ทำการปฏิรูปปรับปรุงกฎหมายให้เป็นสมัยใหม่ในแนวทางเดียวกับชาติตะวันตกแล้วเท่านั้น เมื่อกลับถึงญี่ปุ่น คณะรัฐบาลเมจิจึงได้ดำเนินการปฏิรูปปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยอย่างขนานใหญ่และรวดเร็ว มีการจ้างชาวตะวันตกจำนวนหลายพันคนเรียกว่าโอยาโตอิ ไกโกกูจิน (O-yatoi gaikokujin, 御雇い外国人) เข้ามาทำงานให้รัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อถ่ายทอดวิทยาการในด้านเทคโนโลยีวิศวกรรม การแพทย์ ฯลฯ ญี่ปุ่นทำการปฎิรูปกฎหมายขึ้นใหม่ตามแบบอย่างกฎหมายลายลักษณ์อักษรแบบฝรั่งเศส[7] และได้ให้ฌุสตาฟ บัวซ์โซนาด (Gustave Boissonade) นักกฎหมายชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ร่างกฎหมายอาญา[7] จนญี่ปุ่นสามารถประกาศใช้กฎหมายอาญาสมัยใหม่ได้ในที่สุดพ.ศ. 2423

เมื่อสามารถประกาศใช้กฎหมายสมัยใหม่ได้แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเริ่มต้นการเจรจายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและยกเลิกข้อบังคับทางภาษีอีกครั้ง สหรัฐและเยอรมันนีสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นในการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แต่อังกฤษโดยเฉพาะแฮร์รี พากส์ (ฮารีปาก) กงสุลใหญ่ของอังกฤษประจำญี่ปุ่น ไม่เห็นด้วยและขัดขวางการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของญี่ปุ่น ในพ.ศ. 2425 อิโนอูเอะ คาโอรุ (Inoue Kaoru, 井上 馨) จัดประชุมผู้แทนชาติตะวันตกทั้งหลายในญี่ปุ่น เพื่อยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต[7] โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือชาวตะวันตกจะสามารถเดินทางและพำนักที่ใดก็ได้ในญี่ปุ่น จากเดิมที่ถูกจำกัดอยู่แต่ตามเมืองท่าเท่านั้น แต่เมื่อชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงเรียกว่ากลุ่มชิชิ (Shishi, 志士) ได้ทราบข่าวว่ารัฐบาลกำลังจะอนุญาตให้ชาวตะวันตกเดินทางในญี่ปุ่นได้อย่างเสรี จึงเกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลอย่างหนัก ทำให้รัฐมนตรีอิโนอูเอะจำต้องลาออก รัฐมนตรีต่างประเทศคนต่อมาคือโอกูมะ ชิเงโนบุ (Ōkuma Shigenobu, 大隈 重信) ใช้อุบายทำสนธิสัญญากับเม็กซิโกในพ.ศ. 2431 โดยที่ชาวเม็กซิโกในญี่ปุ่นจะอยู่ภายใต้กฎหมายญี่ปุ่น แลกเปลี่ยนกับการที่ชาวเม็กซิโกจะสามารถเดินทางได้อย่างเสรีในญี่ปุ่น เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ชาติตะวันตกอื่นๆได้เห็น แต่ทว่าอังกฤษกลับอ้างข้อสัญญาเกี่ยวกับ"ชาติที่ได้อนุเคราะห์ยิ่ง" (Most Favoured Nation) ว่าหากชาติใดได้รับสิทธิ์ ชาติอื่นก็จะได้รับสิทธิ์นั้นเช่นกันอย่างไม่น้อยหน้า[7] การที่โอกูมะยินยอมให้ชาวเม็กซิโกเดินทางได้อย่างเสรีเท่ากับยินยอมให้ชาวอังกฤษเดินทางได้อย่างเสรีเช่นกัน แม้ว่าสหรัฐ เยอรมันนี และรัสเซีย จะยินยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในที่สุดในพ.ศ. 2432[7] แต่ความผิดพลาดของโอกูมะสร้างความโกรธแค้นให้แก่กลุ่มชิชิอย่างมาก จนโอกูมะถูกลอบวางระเบิดได้รับบาดเจ็บ

อาโอกิ ชูโซ (Aoki Shūzō) รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ผู้มีบทบาทในการเจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม ที่ญี่ปุ่นได้เคยทำไว้กับชาติตะวันตก

ในพ.ศ. 2432 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมจิ (Meiji Constitution) ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในพ.ศ. 2433 รัฐมนตรีต่างประเทศคนต่อมาคืออาโอกิ ชูโซ (Aoki Shūzō, 青木 周藏) ดำเนินการเจรจากับอังกฤษ แต่ทว่าเกิดเหตุการณ์ชาวญี่ปุ่นทำร้ายพระวรกายของมกุฎราชกุมารนิโคลาสแห่งรัสเซีย ในเหตุการณ์โอตสึ (Ōtsu Incident) ในพ.ศ. 2434 ทำให้ต้องเปลี่ยนรัฐบาลอีกครั้ง ต่อมาคือสมัยของนายกรัฐมนตรีอิโต ฮิโรบูมิ ได้ส่งอาโอกิ ชูโซเป็นผู้แทนญี่ปุ่นไปยังกรุงลอนดอนในพ.ศ. 2436 จนสามารถบรรลุสนธิสัญญายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับอังกฤษได้สำเร็จเป็นชาติสุดท้ายในพ.ศ. 2437 เรียกว่าสนธิสัญญาอาโอกิ-คิมเบอร์ลี (Aoki-Kimberly Treaty)[7] ญี่ปุ่นจึงสามารถเจรจายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ได้เคยมอบให้แก่ชาติตะวันตกได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในที่สุด ญี่ปุ่นได้อธิปไตยทางการคลังและทางการศาลคืน

ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังเจรจายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับชาติตะวันตกอยู่นั้น ญี่ปุ่นเองก็ได้ทำสนธิสัญญาไม่เท่าเทียมกับอาณาจักรอื่นในเอเชียเช่นกัน ในพ.ศ. 2414 ญี่ปุ่นและจีนราชวงศ์ชิงต่างฝ่ายต่างมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่กันและกัน ในพ.ศ. 2418 รัฐบาลญี่ปุ่นเมจิส่งเรือรบไปยึดเกาะคังฮวา บังคับให้ราชสำนักเกาหลีราชวงศ์โชซ็อนทำสนธิสัญญาคังฮวา (Ganghwa Treaty) ในพ.ศ. 2419 ซึ่งโชซ็อนยินยอมเปิดเมืองท่าให้ญี่ปุ่นค้าขายและมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ญี่ปุ่น การแข่งขันอำนาจกันระหว่างจักรวรรดิญี่ปุ่นและจักรวรรดิจีนเหนือคาบสมุทรเกาหลีนำไปสู่สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (First Sino-Japanese War) ซึ่งญี่ปุ่นได้รับชัยชนะ ในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ (Treaty of Shimonoseki) ในพ.ศ. 2438 จีนราชวงศ์ชิงต้องมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ญี่ปุ่นฝ่ายเดียว และเมื่อญี่ปุ่นมีชัยชนะในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War) อีกครั้งในพ.ศ. 2447 ทำให้ญี่ปุ่นรุ่งเรืองก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจระดับโลกทัดเทียมชาติมหาอำนาจตะวันตกอื่นๆ

คำปฏิญาณไมตรีระหว่างญี่ปุ่นและสยาม พ.ศ. 2430[แก้]

ในพ.ศ. 2427 เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) กราบทูลลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีการต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงมีพระราชโองการแต่งตั้งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ ให้ทรงขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีการต่างประเทศต่อมา[1] ในพ.ศ. 2430 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เสด็จเป็นผู้แทนพระองค์ ไปยังกรุงลอนดอนประเทศสหราชอาณาจักรเพื่อทรงเข้าร่วมงานกาญจนาภิเษก (Golden Jubilee) ฉลองการครองราชสมบัติครบห้าสิบปีของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย หลังจากเสร็จสิ้นพระกรณียกิจที่กรุงลอนดอนแล้ว กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการจึงเสด็จต่อไปยังกรุงปารีส กรุงสต็อกโฮล์ม กรุงเบอร์ลิน เสด็จนิวัติทางประเทศสหรัฐทางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และเสด็จด้วยเรือนิวยอร์กถึงกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น[1]

เมื่อกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการเสด็จเยือนกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2430 นั้น รัฐบาลของทั้งญี่ปุ่นและสยามต่างมีความประสงค์ที่จะจัดตั้งความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการทรงได้พบกับอาโอกิ ชูโซ (Aoki Shūzō) รัฐมนตรีช่วยการต่างประเทศของญี่ปุ่น นำไปสู่คำปฏิญานว่าด้วยสัมพันธไมตรีและการค้าระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศสยาม[8] เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2430[1] โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ทรงเป็นผู้แทนฝ่ายสยาม และอาโอกิ ชูโซ เป็นผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่น ในคำปฏิญานนี้ ญี่ปุ่นและสยามได้จัดตั้งความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน รับรองสิทธิซึ่งแต่ละฝ่ายสามารถตั้งผู้แทนทางการทูตไปประจำที่ประเทศของอีกฝ่าย และสัญญาว่าจะอำนวยความสะดวกในทางค้าขายและความปลอดภัยให้ต่อกัน ดังเช่นชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง[8] (Most Favoured Nation) คำปฏิญาณญี่ปุ่น-สยาม พ.ศ. 2430 นี้ มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันกันเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2430[1] (นับอย่างใหม่ พ.ศ. 2431) เป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและสยาม ซึ่งได้ยุติลงไปนับตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง

การปฏิรูปกฎหมายของสยาม[แก้]

อังกฤษยึดได้พม่าทั้งหมดหลังจากสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่สาม (Third Anglo-Burmese War) พ.ศ. 2428 และฝรั่งเศสได้เว้อันนัมเวียดนามตอนกลางในพ.ศ. 2426 และได้ตังเกี๋ยเวียดนามภาคเหนือในพ.ศ. 2429 การที่อังกฤษและฝรั่งเศสยึดได้ดินแดนอาณานิคมเพิ่มเติมนี้ ทำให้มีชาวตะวันตกเข้ามาทำธุรกิจค้าขายในหัวเมืองภาคเหนือของสยามหัวเมืองลาวล้านนาและล้านช้างมากขึ้น หากชาวตะวันตกในสยามภาคเหนือเกิดคดีความข้อพิพาทจะไม่ขึ้นศาลสยามแต่ขึ้นศาลกงสุลของชาติตนที่กรุงเทพฯ ในทางปฏิบัติการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯและดินแดนหัวเมืองภาคเหนือเป็นไปอย่างยากลำบาก ทำให้ศาลกงสุลของอังกฤษที่กรุงเทพฯไม่อาจดูแลคดีความในล้านนาได้อย่างทั่วถึง สนธิสัญญาเชียงใหม่ (Chiengmai Treaty) พ.ศ. 2426[5] ระหว่างสยามและอังกฤษ ระบุให้มีการจัดตั้งสถานกงสุลและแต่งตั้งรองกงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง และจัดตั้ง"ศาลประสม"หรือศาลผสม (Mixed Court) หรือศาลต่างประเทศ (International Court) ขึ้นที่เชียงใหม่ ประกอบด้วยผู้พิพากษาชาวสยามและที่ปรึกษากฎหมายชาวอังกฤษ มีหน้าที่พิจารณาคดีความของ"สัปเยก"อังกฤษที่เกิดขึ้นในล้านนา โดยรองกงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่มีอำนาจถอนคดีไปพิจารณาเองได้ตามสมควร การจัดตั้งศาลผสมนี้เป็นการผ่อนปรนสิทธิสภาพนอกอาณาเขตยอมให้สัปเยกอังกฤษมาขึ้นศาลสยาม[5] แม้ว่าจะเป็นศาลผสมก็ตาม ต่อมาสยามได้บรรลุข้อตกลงในลักษณะเดียวกันกับฝรั่งเศสในพ.ศ. 2429 โดยมีการจัดตั้งสถานกงสุลฝรั่งเศสและตั้งศาลผสมที่เมืองหลวงพระบาง[5]

พระยามหิธรมนูปกรณ์โกศลคุณ มาซาโอะ โทกิจิ (Masao Tokichi, 政尾藤吉) นักกฎหมายชาวญี่ปุ่น ผู้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตรวจร่างและชำระกฎหมายของสยาม

ในพ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงตั้งกระทรวงยุติธรรมเพื่อรวบรวมศาลต่างๆของสยามที่กระจายอยู่ตามกรมต่างๆให้มาอยู่รวมกันที่เดียว และในปีเดียวกันทรงแต่งตั้งให้นายฌุสตาฟ รอแล็ง-ฌักแม็ง (Gustave Rolin-Jacquemyns) หรือโรลังยัคมินส์ นักกฎหมายชาวเบลเยี่ยม ให้เป็นที่ปรึกษาประจำพระองค์[9] ปีต่อมาพ.ศ. 2436 เกิดเหตุการณ์วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 สยามจำต้องยกดินแดนลาวทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงทั้งหมดให้แก่ฝรั่งเศส และยังเกิดปัญหาเกี่ยวกับการพิจารณาคดีความของพระยอดเมืองขวาง[1] ในปีต่อมาพ.ศ. 2437 โรลังยัคมินส์กราบทูลว่าสมควรให้มีการปฏิรูปกฎหมายของสยามให้ทันสมัยและเป็นแนวเดียวกับชาติตะวันตก เพื่อป้องกันมิให้ชาติมหาอำนาจตะวันตกเข้ารุกล้ำอธิปไตยของสยามอีก[9] และกราบทูลให้ทรงตั้ง"เลยิสลาติฟ เคาน์ซิล" (Legislative Council) หรือ"ที่ประชุมปรึกษากฎหมาย"ขึ้น เพื่อทำการร่างกฎหมายสยามใหม่ทั้งหมดตามแบบสมัยใหม่ตะวันตก ในขณะเดียวกันพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงสำเร็จวิชาเนติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและได้รับโปรดฯแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในพ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงทรงตั้ง"คณะกรรมการตรวจร่างและชำระกฎหมาย"ขึ้นในพ.ศ. 2439 โดยมีพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์เป็นองค์ประธาน คณะกรรมการประกอบด้วยนักกฎหมายชาวต่างประเทศได้แก่เจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส์) นายริชาร์ด เคิร์กแพทริก (Richard Kirkpatrick) นักกฎหมายชาวเบลเยี่ยมอีกคนหนึ่ง คณะกรรมเห็นชอบให้ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรแบบฝรั่งเศสเป็นต้นแบบในการร่างกฎหมาย เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ในโลกใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร หนึ่งในคณะกรรมนี้มีนักกฎหมายชาวญี่ปุ่นคือมาซาโอะ โทกิจิ (Masao Tokichi, 政尾藤吉) ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็น"พระยามหิธรมนูปกรณ์โกศลคุณ"อยู่ด้วย

การเจรจาสนธิสัญญา[แก้]

อินางากิ มันจิโร (Inagaki Manjirō) ผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นประจำสยามคนแรก ได้รับแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตในพ.ศ. 2440 และเป็นเอกอัครราชทูตในพ.ศ. 2442

คำปฏิญาณญี่ปุ่น-สยาม พ.ศ. 2430 ระบุว่าญี่ปุ่นและสยามสามารถตั้งผู้แทนทางการทูตไปประจำที่ประเทศอีกฝ่าย ทางฝ่ายญี่ปุ่นส่งอินางากิ มันจิโร (Inagaki Manjirō, 稲垣 満次郎) มาเป็นอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงสยามคนแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2439 เดินทางถึงประเทศสยามเมื่อเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2440 และฝ่ายสยามได้ส่งพระยาณรงค์ฤทธิเฉท (สุข ชูโต)[1] ไปเป็นอัครราชทูตสยามประจำกรุงโตเกียวคนแรกเช่นกัน

ในขณะนั้นสยามกำลังมุ่งความสนใจไปที่การเจรจากับฝรั่งเศสหลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 อินางากิ มันจิโร อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงเทพ แสดงความต้องการที่จะจัดทำสนธิสัญญาระหว่างญี่ปุ่นและสยามอย่างเป็นทางการ ฝ่ายญี่ปุ่นแม้ว่าจะสามารถเจรจายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่เคยมอบให้แก่ชาติตะวันตกได้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว แต่ก็ต้องการให้สยามมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน เพื่อให้มีการจัดตั้งศาลกงสุลญี่ปุ่นขึ้นในสยาม ชาวญี่ปุ่นในสยามจะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายสยาม ฝ่ายสยามพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการทรงไม่ต้องการที่จะมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ญี่ปุ่น[5] มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นสนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียมระหว่างญี่ปุ่นและสยาม[8] อินางากิ มันจิโร ผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่น เสนอว่า ให้สยามยินยอมมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ญี่ปุ่น โดยที่มีการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด เมื่อสยามได้ทำการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้มีความเป็นสมัยใหม่แล้ว สิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่สยามมอบให้แก่ญี่ปุ่นจะสิ้นสุดลง ดังเช่นที่ชาติตะวันตกอังกฤษสหรัฐได้เคยใช้เงื่อนไขนี้กับญี่ปุ่นเมื่อก่อนหน้า และฝ่ายญี่ปุ่นจะยอมรับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (Arbitration) การเจรจาจึงบรรลุผลและตกลงเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 (นับอย่างปัจจุบัน พ.ศ. 2441)

เนื้อหาสนธิสัญญา[แก้]

สนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์และการเดินเรือระหว่างสยามและญี่ปุ่น (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation between Siam and Japan) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 ฝ่ายญี่ปุ่นนายอินางากิ มันจิโร อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสยามเป็นผู้ลงนาม ฝ่ายสยามมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ทรงเป็นผู้แทน มีข้อสัญญา 16 ข้อ ซึ่งทั้งญี่ปุ่นและสยามต่างให้การรับรองสถานะชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favoured Nation) ของกันและกัน นอกจากนี้ ยังมีพิธีสาร (Protocol) อีกสามข้อ ซึ่งสยามได้มอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ญี่ปุ่น และยินยอมเก็บภาษีสินค้าญี่ปุ่นขาเข้าร้อยละสามเฉกเช่นที่ได้ทำสัญญากับชาติตะวันตกอื่นๆ[2] สนธิสัญญาฉบับนี้ จัดทำขึ้นด้วยภาษาญี่ปุ่น ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยให้ยึดเนื้อความในฉบับภาษาอังกฤษเป็นหลัก

พิธีสาร[แก้]

  1. รัฐบาลสยามยินยอมให้รัฐบาลญี่ปุ่นจัดตั้งศาลกงสุล (Consular court) ขึ้นในประเทศสยาม ซึ่งศาลกงสุลญี่ปุ่นในสยามนั้นมีอำนาจเหนือชาวญี่ปุ่นทั้งมวลในสยาม (ชาวญี่ปุ่นในสยาม ไม่ขึ้นศาลสยามไม่อยู่ภายใต้กฎหมายสยาม แต่ขึ้นศาลกงสุลญี่ปุ่นภายใต้กฎหมายญี่ปุ่น เป็นการมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ญี่ปุ่น) จนกว่าเมื่อใดที่สยามสามารถประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และธรรมนูญศาลยุติธรรมได้แล้ว (หากเมื่อสยามได้ปฏิรูปกฎหมายให้มีความสมัยใหม่และประกาศใช้กฎหมายเหล่านั้นแล้ว สิทธิสภาพนอกอาณาเขตของญี่ปุ่นในสยามจึงจะสิ้นสุดลง)
  2. รัฐบาลสยามเก็บภาษีสินค้าเรือญี่ปุ่นขาเข้าไม่เกินกว่าที่เก็บจากประเทศตะวันตกอื่นๆ (ร้อยละสาม) ข้อตกลงเกี่ยวกับภาษีศุลกากรระหว่างญี่ปุ่นและสยามสามารถบอกแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้โดยแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อยสิบสองเดือน
  3. หากเกิดข้อพิพาทใดๆระหว่างญี่ปุ่นและสยาม สงสัยว่าจะละเมิดสนธิสัญญา ให้มีการจัดตั้งอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (Arbitration) ขึ้น เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยความอย่างเป็นมิตรปราศจากความขัดแย้ง และรัฐบาลของทั้งสองประเทศจะต้องทำตามข้อตัดสินจากอนุญาโตตุลาการนั้น หากไม่สามารถจัดตั้งอนุญาโตตุลาการได้ ให้สรรหาผู้แทนคนกลางเจรจา (Umpire) ขี้นแทน

เหตุการณ์สืบเนื่อง[แก้]

ปฏิญญารัสเซีย–สยาม พ.ศ. 2442[แก้]

ในเวลาที่สยามกำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส รัฐบาลสยามจึงมีนโยบายสานสัมพันธ์กับรัสเซียเป็นชาติที่สามเพื่อการถ่วงดุลอำนาจกับอังกฤษและฝรั่งเศส[1][10] ในพ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชิญมกุฎราชกุมารนิโคลาสแห่งรัสเซียให้เสด็จเยือนสยาม โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสด็จไปรับมกุฎราชกุมารรัสเซียที่สิงคโปร์ด้วยพระองค์เอง[1][10] หลังจากนั้นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพได้เสด็จเยือนจักรวรรดิรัสเซียซึ่งอยู่ภายใต้ราชวงศ์โรมานอฟ นายอาร์เธอร์ วีวอดเชฟ (Arthur Vyvodtsev) กงสุลรัสเซียประจำสิงคโปร์ แจ้งเสนอต่อรัฐบาลสยามว่าควรมีการทำสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการระหว่างรัสเซียและสยาม[1] พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ทรงมีพระวินิจฉัยว่า การทำสัญญากับรัสเซียในครั้งนี้ไม่ควรทำเป็นสนธิสัญญาเป็นทางการ ควรทำเป็นเพียงแต่ปฏิญญาข้อตกลงเท่านั้น[1] ดังเช่นที่ได้ทรงทำปฏิญญากับญี่ปุ่นเมื่อพ.ศ. 2430 ก่อนหน้า เนื่องจากรัฐบาลสยามในขณะนั้นเริ่มมีนโยบายมุ่งเน้นสู่การเจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมที่ได้ทำกับชาติตะวันตกไว้ ข้อตกลงกับรัสเซียในครั้งนี้ควรจะสามารถบอกเลิกและแก้ไขได้โดยง่าย แต่การทำปฏิญญาระหว่างรัสเซียและสยามยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากยังไม่ได้รับความสนใจจากทางการรัสเซีย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปเมื่อพ.ศ. 2440 ได้ทรงพบกับพระเจ้าซาร์ที่โคลัสที่สองแห่งจักรวรรดิรัสเซีย ที่เมืองเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก[10] อย่างไรก็ตามรัสเซียและสยามยังมิได้มีการทำสนธิสัญญาสัมพันธไมตรีกันอย่างเป็นทางการ ในพ.ศ. 2441 พระเจ้าซาร์นิโคลัสทรงแต่งตั้งให้นายอเล็กซานเดร โอลารอฟสกี้ (Alexandre Olarovsky)[10] เป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าซาร์มายังกรุงเทพฯ ซึ่งอินางากิ มันจิโร อัครราชทูตญี่ปุ่นในสยาม ได้นำนายโอลารอฟสกี้เข้าหารัฐบาลสยามในเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2442[5] แจ้งความประสงค์ของรัสเซียที่ต้องการทำสนธิสัญญากับสยาม อย่างไรก็ตาม มิได้มีการทำสนธิสัญญาขึ้นอย่างเป็นทางการระหว่างรัสเซียและสยามเป็นเพียงแต่การทำปฏิญญาเท่านั้น

ปฏิญญาแลกเปลี่ยนระหว่างสยามและรัสเซีย (Declaration Exchanged Between Siam and Russia)[2] เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2442 ให้มีข้อตกลงร่วมกันว่า ชาวรัสเซียในสยาม และชาวสยามในรัสเซีย ต่างได้รับสิทธิประโยชน์ซึ่งแต่ละประเทศได้ทำการตกลงไว้แล้วกับชาติอื่นๆ ในด้านการค้าพาณิชย์ การเดินเรือสำรวจ และการศาล (หมายถึงว่าสยามมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่รัสเซีย) รวมถึงสนธิสัญญาใดๆ ที่ประเทศทั้งสองจะตกลงกับประเทศอื่นๆในอนาคตด้วย โดยที่ข้อตกลงรัสเซีย-สยามนี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถบอกเลิกได้ โดยแจ้งล่วงหน้าหกเดือน[2] นายอเล็กซานเดร โอลารอฟสกี้ ได้เป็นกงสุลรัสเซียประจำสยาม และฝ่ายสยามส่งพระยามหิบาลบริรักษ์[10] (สวัสดิ์ ภูมิรัตน์) ไปเป็นอัครราชทูตสยามประจำกรุงเซนต์ปีเตอรส์เบิร์กเป็นคนแรกในพ.ศ. 2442

สยามเจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม[แก้]

การร่างกฎหมายตามอย่างสมัยใหม่ของสยามยังคงดำเนินไป เจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส์) กราบทูลลากลับและถึงแก่กรรมที่ประเทศเบลเยี่ยมบ้านเกิดในพ.ศ. 2445 ในพ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงแต่งตั้งให้ฌอร์ฌ ปาดู (Georges Padoux) นักกฎหมายชาวฝรั่งเศส เป็นผู้นำคณะกรรมการร่างกฎหมาย ในพ.ศ. 2451 สยามประกาศใช้"กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127"เป็นกฎหมายสมัยใหม่ฉบับแรกของสยาม ทำให้สยามสามารถริเริ่มการเจรจาผ่อนปรนยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ได้เคยให้แก่ชาติตะวันตกไว้ได้ ในสนธิสัญญาฝรั่งเศส–สยาม พ.ศ. 2449 สยามยกพระตะบอง เสียมเรียบ ศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่าให้สัปเยกหรือคนในบังคับของฝรั่งเศสที่เป็นชาวเอเชียได้แก่ชาวลาว ชาวกัมพูชา ชาวเวียดนาม และชาวจีน ในสยาม ที่ได้จดทะเบียนนับแต่วันที่ทำสัญญานั้น ให้ขึ้นศาลสยาม[1][5] ต่อมาสนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม พ.ศ. 2452 (Anglo-Siamese Treaty of 1909) สยามยกไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้แก่อังกฤษ โดยมีหนึ่งในข้อแลกเปลี่ยนคืออังกฤษยินยอมให้สัปเยกของอังกฤษในสยาม ไม่ว่าจะเป็นชาวยุโรปอังกฤษแท้หรือชาวเอเชียได้แก่ชาวพม่าและเงี้ยวไทใหญ่ในสยาม ที่ได้ลงทะเบียนนับแต่วันที่ทำสัญญานั้น ขึ้นศาลสยามอยู่ภายใต้กฎหมายสยามทั้งหมด ในสนธิสัญญาพ.ศ. 2452 นี้ อังกฤษได้เสียสละยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตคืนให้แก่สยามเกือบทั้งหมด คงเหลือเพียงข้อบังคับที่ให้มีผู้พิพากษาชาวอังกฤษนั่งศาลด้วย และอำนาจของกงสุลอังกฤษที่สามารถแทรกแซงการพิจารณาคดีได้ตามสมควรเท่านั้น[5]

สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้หลังจากสงครามสยามมีสิทธิและอำนาจในการเจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมที่ได้ทำไว้กับชาติตะวันตกเมื่อห้าสิบปีก่อนหน้า สยามสามารถยกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมที่เคยทำไว้กับเยอรมันนีและออสเตรีย-ฮังการี ได้ทันทีเนื่องจากเป็นชาติที่แพ้สงคราม[5] รัฐบาลสยามมุ่งเน้นการเจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมกับสหรัฐก่อน เนื่องจากเป็นชาติที่ทรงอำนาจที่สุด[5]หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สหรัฐแจ้งจุดยืนเดียวกับที่เคยใช้กับญี่ปุ่นเมื่อสี่สิบปีก่อนหน้านี้ ว่าสหรัฐจะยอมแก้ไขสนธิสัญญาก็ต่อเมื่อสยามได้ประกาศใช้กฎหมายสมัยใหม่ได้ครบถ้วนแล้วเท่านั้น ในขณะนั้นสยามกำลังอยู่ในขั้นตอนการร่างกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และทยอยประกาศใช้ยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนอังกฤษและฝรั่งเศสก็คอยดูท่าทีของสหรัฐ จนสุดท้ายสหรัฐได้ยอมทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กับสยามในพ.ศ. 2463[5] ยกเลิกสนธิสัญญาในอดีตทั้งหมด ยกเลิกข้อกำหนดภาษีสินค้าขาเข้าและยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต คืนอธิปไตยทางการคลังและการศาลให้แก่สยาม แต่สหรัฐยังคงสงวนสิทธิ์ในการให้กงสุลเข้าแทรกแซงคดีตามสมควร จนกว่าสยามจะประกาศใช้กฎหมายอย่างสมบูรณ์[5]

พ.ศ. 2466 สยามและญี่ปุ่นทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ เรียกว่า"หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับญี่ปุ่น" ที่กรุงเทพเมื่อ 10 มีนาคม พ.ศ. 2466 (นับแบบใหม่ พ.ศ. 2467) ในรัชกาลที่ 6 โดยมียาดะ โชโนซูเกะ (Yada Chōnosuke, 矢田 長之助) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสยาม เป็นผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่น และหม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ เทวกุล ทรงเป็นผู้แทนฝ่ายสยาม ยกเลิกข้อตกลงในสนธิสัญญาฉบับเดิมที่ได้ทำเมื่อพ.ศ. 2440 นี้ จัดตั้งความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและสยามอย่างเท่าเทียม

สนธิสัญญาที่สยามได้ทำกับสหรัฐในพ.ศ. 2463 ได้กลายเป็นต้นแบบในการทำสนธิสัญญาใหม่กับชาติอื่นๆ พระยากัลยาณไมตรี ฟรานซิส โบวส์ แซร์ (Francis Bowes Sayre)[5] ศาสตราจารย์ด้านเนติศาสตร์ชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นผู้แทนสยามเดินทางไปทวีปยุโรปในพ.ศ. 2467 เพื่อเจรจาทำสนธิสัญญาใหม่กับประเทศต่างในยุโรป สยามได้ทำสนธิสัญญาใหม่กับฝรั่งเศสและอังกฤษในพ.ศ. 2468 ซึ่งชาติเหล่านี้ยังคงสงวนสิทธิ์ในการให้กงสุลเข้าแทรกแซงได้ จนกระทั่งสยามสามารถประกาศใช้กฎหมายทั้งหมดโดยสมบูรณ์ในพ.ศ. 2478 สมัยคณะราษฎร สยามจึงเริ่มเจรจายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตอย่างสมบูรณ์ในพ.ศ. 2480 กับชาติตะวันตกทีละประเทศ ดำเนินการจนถึงพ.ศ. 2481 จึงเสร็จสิ้น ถือว่าสยามสามารถยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้อธิปไตยทางการศาลคืนมาอย่างสมบูรณ์[5]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ. กรุงเทพ: โรงพิมพ์กรุงเทพ, พ.ศ. 2547.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Bangkok and Siam, directory, Straits Settlements and Siam: Bangkok Times Press, 1914
  3. 3.0 3.1 ไกรฤกษ์ นานา. เบื้องหลังสัญญาเบาริ่งและประวัติภาคพิสดาร. มติชน; พ.ศ. 2559.
  4. 4.0 4.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. เจ้าฟ้า เจ้าชาย ในพระพุทธเจ้าหลวง. มติชน; พ.ศ. 2559.
  5. 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 5.10 5.11 5.12 5.13 5.14 5.15 Owart Suthiwartnarueput. From Extraterritoriality to Equality: Thailand's Foreign Relations 1855 - 1939. พ.ศ. 2564. https://image.mfa.go.th/mfa/0/4OJCTby7gE/From_Extraterritoraility_to_Equality_Owart_Suthiwartnarueput.pdf
  6. ชาตรี ประกิตนนทการ. ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร (ฉบับปรับปรุง). มติชน; พ.ศ. 2563.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 F.C. Jones. Extraterritoriality in Japan (ภาษาอังกฤษ).https://archive.org/details/ExtraterritorialityInJapan
  8. 8.0 8.1 8.2 บัญญัติ สุรการวิทย์. ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเมื่อ 100 ปีก่อน.
  9. 9.0 9.1 Dean Meyers. Siam at the end of the Nineteenth Century. Journal of Siam Society, พ.ศ. 2537. https://thesiamsociety.org/wp-content/uploads/1994/03/JSS_082_0k_Meyers_SiamUnderSiege1893to1902.pdf
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 Natanaree Posrithong. The Russo-Siamese Relations: The Reign of King Chulalongkorn. Silpakorn University International Journal. Vol.9-10 : 87 - 115, 2009 - 2010. https://www.thaiscience.info/journals/Article/SUIJ/10813228.pdf