ศุลกสถาน

พิกัด: 13°43′31″N 100°30′50″E / 13.725232°N 100.513916°E / 13.725232; 100.513916
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศุลกสถาน
สถานีดับเพลิงบางรัก
The Old Custom House
Bang Rak Fire Station
มุมอาคารศุลกสถานหันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
แผนที่
ชื่อเดิมโรงภาษีร้อยชักสาม[1]
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทศุลกสถาน
สถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก ในรูปแบบปัลลาดีโอ
เมืองซอยเจริญกรุง 36 (โรงภาษี) ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2429–2431[1]
ปรับปรุงพ.ศ. 2562–2568
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกโยอาคิม กรัสซี

ศุลกสถาน (โรงภาษีร้อยชักสาม หรือโรงภาษีเก่า ชาวแต้จิ๋วเรียกว่า ฟ้าซีกวน หรือแป๊ะลั่นซา ซึ่งมีความหมายเดียวกัน)[2] เป็นอดีตอาคารที่ทำการของศุลกสถาน (กรมศุลกากรในปัจจุบัน) ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยเจริญกรุง 36 (โรงภาษี) ของเขตบางรัก ติดกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2429 ถึง พ.ศ. 2431 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามคำกราบบังคมทูลของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) อธิบดีกรมศุลกากรคนแรก

สถาปัตยกรรม[แก้]

ศุลกสถานเป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีมุขกลางสูง 4 ชั้น ศิลปะโรมันคลาสสิค เป็นสถาปัตยกรรมทรงนีโอคลาสสิก และสมมาตรตามวิถีของปัลลาดีโอ (Neo-Palladian) เป็นอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกันเป็นรูปตัวไอ โดยโยอาคิม กรัสซี (Joachim Grassi/Gioachino Grassi) สถาปนิกชาวอิตาลีสัญชาติออสเตรียน/ฝรั่งเศส เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้าง สถาปนิกผู้นี้มีผลงานมากมายในขณะนั้น เช่น คองคอร์เดียคลับ, พระราชวังบางปะอิน, วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร, เรือนรับรองสถานทูตโปรตุเกส, วังบูรพาภิรมย์, วังใหม่ประทุมวัน, โรงทหารหน้า, ป้อมพระจุลจอมเกล้า, อาคารเก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ, ตึกวิคตอเรียและตึกเสาวภาคที่ศิริราชพยาบาล, ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้, คุกมหัตโทษ[3] ภายหลังสร้างเสร็จ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอาคารที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น[4]

ผังของศุลกสถาน ประกอบด้วยตึก 3 หลัง ตึกด้านเหนือวางแนวตั้งฉากกับแม่น้ำมีสองชั้นเป็นที่ทำการภาษีขาเข้าขาออก (มีตัวหนังสือ Import and Export Department ที่หน้าบันตัวตึก) ตึกกลางเป็นตึกใหญ่รูปสี่เหลี่ยมยาวแผ่ขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีระเบียงทางเดินด้านหน้าซึ่งประกอบด้วยซุ้มหน้าต่างตลอดแนวอาคาร ชั้นล่างเป็นซุ้มสี่เหลี่ยมเรียบ ๆ ส่วนชั้น 2 และชั้น 3 เป็นซุ้มโค้ง ขอบระเบียงเป็นลูกกรงแก้วปูนปั้น มีเสาอิงเป็นระยะสลับกับแนวหน้าต่าง ชั้น 4 เป็นห้องโถงใหญ่ (ออกแบบเป็นที่เก็บเอกสาร) มียอดเป็นจั่ว รูปสามเหลี่ยมบรรจุนาฬิกาทรงกลมในจั่ว เหนือจั่วมีกระบังหน้าคล้ายมงกุฎปั้นเป็นตราแผ่นดิน[5]

มีรูปปูนปั้นสิงห์สองข้าง อาคารมีทรงคล้ายคลึงกับตึกเก่าของโรงเรียนอัสสัมชัญ (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว) ซึ่งสร้างในช่วงเวลาและตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากสถาปนิกผู้ออกแบบเป็นคนเดียวกัน ตึกกลางมีสะพานไม้เชื่อมกับชั้นสองของทั้งตึกด้านเหนือและตึกด้านใต้ ส่วนตึกด้านใต้เป็นตึกยาวสองชั้นวางแนวตั้งฉากกับแม่น้ำ ใช้เป็นที่ทำการภาษีข้าวและไปรษณีย์ต่างประเทศ

ประวัติศาสตร์[แก้]

ศุลกสถาน ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของตำรวจน้ำโดยมีการต่อเติมที่จอดเรือบริเวณด้านหน้าอาคาร
ป้ายโครงการปรับปรุงอาคารเป็นโรงแรม (ภาพถ่ายในปี 2020)
ศุลกสถานในปี 2022

ศุลกสถาน เดิมเป็นเรือนไม้สองชั้น เป็นที่อยู่ของฝรั่งชาวโปรตุเกส ชื่อนายเจ.เอน.เอฟ.ดาคอสตา รับราชการอยู่กรมศุลกากร มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงราชายสาธก (เป็นชื่อบรรดาศักดิ์ของกรมศุลกากร คู่กับขุนเสวกวรายุตถ์ ผู้เป็นน้องชาย) เมื่อหลวงราชายสาธกถึงแก่กรรมแล้ว ภรรยาแหม่มของหลวงราชายสาธก จึงอยู่ในที่นั้นต่อมาภายหลังร้องทุกข์ขอเบี้ยบำนาญเลี้ยงชีพ โดยตกลงยกสิทธิ์ที่อยู่ให้แก่รัฐบาลเป็นการแลกเปลี่ยนกัน กรมศุลกากรจึงรื้อเรือนไม้สร้างเป็นตึกขึ้น เพื่อเป็นที่ทำการศุลกากร เนื่องจากตัวที่ทำการศุลกากร (Customs House) หรือโรงภาษีแต่เดิมนั้นไม่มี มีแต่เพียงด่านขนอนที่ตั้งเก็บอากรการผ่านเขต[6]

ความงามของอาคารศุลกสถาน พระยาอนุมานราชธนบันทึกไว้ในหนังสือตำนานกรมศุลกากรว่า "สมัยนั้น ถ้านั่งเรือไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา จะปรากฏตัวตึกกรมศุลกากรตั้งตระหง่านเด่นเห็นได้แต่ไกลด้วย เป็นตึกที่ตอนกลางสูงถึง 3 ชั้น ซึ่งในสมัยนั้นนอกจากกระทรวงกลาโหมแล้ว ดูเหมือนจะมีแต่ตึกกรมศุลกากรเท่านั้นที่เป็นตึกขนาดใหญ่ และสวยงาม..."

ศุลกสถานแห่งนี้ นอกจากจะเป็นที่ทำการเก็บภาษีสินค้าขาเข้าที่เรียกว่า "ภาษีร้อยชักสาม"[7] แล้ว สมัย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงษ์อธิราช เป็นอธิบดีกรมศุลกากร ก็เคยใช้ศุลกสถาน เป็นที่จัดเลี้ยงและเต้นรำของเชื้อพระวงศ์และชาวต่างชาติ ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา 2 - 3 ครั้ง รวมทั้งเป็นที่จัดเลี้ยงงานสมโภช เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัติพระนครจากการเสด็จประพาสยุโรปคราวแรกด้วย

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2497 ที่ทำการศุลกากร ได้ย้ายไปบริเวณท่าเรือคลองเตย ศุลกสถานก็เปลี่ยนมาเป็นที่ทำการตำรวจน้ำ (ศุลการักษ์ หรือโปลิศน้ำ ภายหลังเรียกว่าพลตระเวน แล้วต่อมาเรียกตำรวจนครบาล หรือเรียกสั้นๆ ว่าตำรวจ มีหน้าที่ในทางน้ำคล้ายตำรวจนครบาล) จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2502 สถานที่แห่งนี้ปรับบทบาทเป็นที่ทำการของสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก[8] จนมักเรียกกันว่า "สถานีดับเพลิงบางรัก" อยู่เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 60 ปี ก่อนจะย้ายออกไปทำให้กลายเป็นตึกร้าง และใช้เป็นทางผ่านไปยังที่ทำการตำรวจน้ำ

การปรับปรุงอาคาร[แก้]

สืบเนื่องจากการลงนามข้อตกลง “โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม” ระหว่างกระทรวงการคลังกับ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยกรมศิลปากร ได้เริ่มลงพื้นที่สำรวจทางโบราณคดีพร้อมทั้งบันทึกและศึกษารายละเอียดด้านสถาปัตยกรรมของศุลกสถาน ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เพื่อบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์และรูปแบบโครงสร้างดั้งเดิมของตัวอาคารโดยละเอียด โดยข้อมูลและโครงสร้างเดิมที่ค้นพบจากการขุดค้นดังกล่าวจะถูกนำมาใช้อ้างอิงสำหรับการบูรณะอาคารศุลกสถานและการก่อสร้างอาคารใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายในพื้นที่ในอนาคต

โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม จะใช้เวลาดำเนินการรวมประมาณ 6 ปี ประกอบด้วยการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดี การบูรณะซ่อมแซมอาคารเดิมจำนวน 3 หลัง ด้วยการเสริมโครงสร้างและความแข็งแรง การตกแต่งภายนอก และการตกแต่งภายใน รวมถึงการสร้างอาคารใหม่อีก 1 หลัง โดยคาดการณ์ว่าการดำเนินงานทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในปี พ.ศ. 2568 ด้วยงบประมาณการลงทุนกว่า 4,600 ล้านบาท และในลำดับต่อไปของการพัฒนาโครงการฯ จะครอบคลุมไปถึงการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นห้องประชุมสัมมนา ห้องจัดเลี้ยง พร้อมด้วยห้องอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ[9]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 น.ส.พิริยา พิทยาวัฒชัย, สถาปัตยกรรมของโยอาคิม กราซีในสยาม, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาศิลปศาสตร์สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2554 .สืบค้นเมื่อ 09/05/2560
  2. Bloggang.com สายหมอกและก้อนเมฆ. ศุลกสถาน. 24 ตุลาคม 2555. https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=morkmek&month=24-10-2012&group=11&gblog=71
  3. "สถาปัตยกรรมของโยอาคิม กราซีในสยาม" วิทยานิพนธ์ของ นส.พิริยา พิทยาวัฒนชัย, มหาวิทยาลัยศิลปากร. พศ. 2554
  4. "ศุลกสถาน" สตูดิโอมีชีวิต มรดกยุโรปในเมืองไทย, ประชาชาติธุรกิจ. วันที่ 21 ต.ค. 2556
  5. อรวรรณ บัณฑิตกุล,อาคารศุลกสถาน อดีตที่ร่วงโรยริมแม่น้ำเจ้าพระยา เก็บถาวร 2021-04-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ผู้จัดการออนไลน์ .สิงหาคม 2544
  6. ศุลกสถาน :โรงภาษีร้อยชักสาม ภาค 2 by Ploypapat. 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553. http://ploypapat.blogspot.com/2010/06/2_25.html
  7. สถานีดับเพลิงบางรักอลังการ..แนวยุโรปสถานที่เก่าแก่ 120 ปี, My Happy Office .วันที่ 28 ส.ค. 2556
  8. Checkinถิ่นสยาม. จาก “โรงภาษีร้อยชักสาม” จนมาเป็น สถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก. February 23, 2015. http://checkinsiam.blogspot.com/2015/02/blog-post_85.html
  9. กรมธนารักษ์ ร่วมมือกับ “ยู ซิตี้” บูรณะอาคารประวัติศาสตร์อายุกว่า 130 ปี “โรงภาษีร้อยชักสาม” พลิกฟื้นพื้นที่ย่านเจริญกรุงสู่เมืองแห่งความรุ่งเรืองริมแม่น้ำเจ้าพระยา สยามรัฐ. วันที่ 10 ตุลาคม 2562

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°43′31″N 100°30′50″E / 13.725232°N 100.513916°E / 13.725232; 100.513916