บ้านสาทร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บ้านสาทร
บ้านสาทรในปี พ.ศ. 2561
แผนที่
ชื่ออื่นบ้านหลวงสาทรราชายุตก์
เดอะเฮ้าส์ออนสาทร
Sathon Mansion
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดให้บริการ
ประเภทคฤหาสน์ สำนักงานสถานทูต โรงแรม
สถาปัตยกรรมคลาสสิกใหม่ตอนปลาย
ที่อยู่106 ถนนสาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก
เมืองกรุงเทพมหานคร 10500
พิกัด13°43′20″N 100°31′44″E / 13.72222°N 100.52889°E / 13.72222; 100.52889พิกัดภูมิศาสตร์: 13°43′20″N 100°31′44″E / 13.72222°N 100.52889°E / 13.72222; 100.52889
ผู้เช่าในปัจจุบันโรงแรม ดับเบิ้ลยู กรุงเทพฯ
แล้วเสร็จพ.ศ. 2432; 135 ปีที่แล้ว (2432)
ปรับปรุงพ.ศ. 2549–2557
เจ้าของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก
พื้นที่12,140 ตารางเมตร (7.59 ไร่)

บ้านสาทร หรือ บ้านหลวงสาทรราชายุตก์ ปัจจุบันเรียกว่า เดอะเฮ้าส์ออนสาทร เป็นอาคารอนุรักษ์แห่งหนึ่งของไทย ตั้งอยู่บนถนนสาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร หลวงสาทรราชายุตก์ (ยม พิศลยบุตร) หรือเจ้าสัวยม เศรษฐีผู้รับเหมาขุดคลองในพระนครรวมถึงคลองสาทร สร้างบ้านนี้ขึ้นในราว พ.ศ. 2432

บ้านเปลี่ยนมือหลายครั้ง ทั้งเป็นที่อยู่เดิมของหลวงสาทรราชายุตก์ ต่อมาใช้เป็นที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตสหภาพโซเวียตประจำประเทศไทย (สหพันธรัฐรัสเซีย ในปัจจุบัน) ก่อนจะขายให้แก่โรงแรม ดับเบิ้ลยู กรุงเทพฯ (W Hotel) ในปัจจุบัน อาคารได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี ท่ามกลางอาคารสูงในย่านสาทรโดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น เดอะเฮ้าส์ออนสาทร (The House on Sathon) ในปี พ.ศ. 2559 บ้านสาทรได้ปรากฏเป็นฉากสำคัญในภาพยนตร์ พรจากฟ้า[1]

ประวัติ[แก้]

บ้านสาทรระหว่างการปรับปรุงเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม ดับเบิ้ลยู กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2552

อาคารบ้านสาทรสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2432-2433 โดยหลวงสาทรราชายุตก์ หรือ "เจ้าสัวยม" ผู้รับเหมาขุดคลองในพระนคร ก่อนจะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสาทรราชายุตก์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาตกเป็นของหลวงจิตร์จำนงค์วานิช (ประมาณ พ.ศ. 2439-2459) ซึ่งมีศักดิ์เป็นบุตรเขย ช่วง พ.ศ. 2453 กิจการโรงสีของหลวงจิตร์จำนงค์วานิชก็ต้องถึงแก่ล้มละลาย จึงได้นำบ้านมาจำนองกับพระคลังข้างที่ (ชื่อเดิมของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ภายหลังบ้านและที่ดินดังกล่าวได้ตกเป็นของกรมพระคลังข้างที่ใน พ.ศ. 2459

ใน พ.ศ. 2467 ตัวอาคารแปลงสภาพเป็นโรงแรม "โฮเต็ล รอแยล" ต่อมาราว พ.ศ. 2477 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงแรมไทยแลนด์" ในช่วง พ.ศ. 2491-2542 สถานเอกอัครราชทูตสหภาพแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (ปัจจุบันใช้ชื่อว่าสถานเอกอัครราชทูตรัสเซีย) ได้เช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโรงแรมไทยแลนด์ จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อใช้เป็นสถานเอกอัครราชทูตในประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2543 กรมศิลปากร โดยฝ่ายทะเบียนโบราณสถานฯ ได้เข้าทำการสำรวจอาคารและพื้นที่ โดยจัดให้เป็นอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมของกรมศิลปากร

ปัจจุบันอาคารดังกล่าวได้กลับมาใช้งานเป็นโรงแรมอีกครั้ง โดย บริษัท นอร์ท สาธร เรียลตี้ จำกัด ทุนจดทะเบียน 638,600,000 บาท ได้เช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อปรับปรุงบ้านสาทรเป็น "เดอะ เฮ้าส์ ออน สาทร" ร้านอาหารและบาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม ดับเบิ้ลยู กรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบัน บ้านสาทรตั้งอยู่ระหว่างตัวโรงแรมและสาทรสแควร์

การออกแบบ[แก้]

อาคารใหญ่ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางลานบ้าน มีด้วยกัน 3 ชั้น ตกแต่งสไตล์นีโอคลาสสิก โถงหน้าทางเข้าเป็นห้องเพดานสูงรูปทรง 6 เหลี่ยม ประตูและหน้าต่างชั้นล่างเป็นซุ้มโค้งบานยาวประดับกระจกด้านบน ตกแต่งด้วยขอบไม้เนื้อแข็งแกะสลัก พร้อมตราสัญลักษณ์คล้าย ตัว จ. คาดว่าเป็นชื่อย่อของ "หลวงจิตร์จำนงค์วานิช (ถมยา รงควนิช)" ลูกเขยเจ้าสัวยม

ในอาคารยังมีเสาหินสลักเชิงลายใบไม้ฝรั่ง มีมุมโค้งริมเสาตามแบบวิหารกรีก พร้อมด้วยหัวเสาทรงเหลี่ยมเชื่อมต่อกับคิ้วและบัวเพดาน ประดับแผ่นฝ้าโลหะดีบุกสลักลายคล้ายศิลปะในยุควิกตอเรีย ด้านข้างเยื้องไปทางหน้าตึก มีบันไดไม้สลักเสลาลายสวยงามทอดตัวขึ้นสู่ชั้นบน หัวเสาทำลายพานพุ่มชูช่อกลีบดอกไม้ ส่วนราวบันไดใช้ลูกกรงไม้ลายเถา ดูกลมกลืนรับกับผนังบุฉากไม้ระหว่างบานหน้าต่าง[2]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]