วังบูรพาภิรมย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วังบูรพาภิรมย์
วังบูรพาภิรมย์
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะถูกรื้อถอน
ประเภทวัง
สถาปัตยกรรมโคโลเนียล
ที่ตั้งแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร
เมือง กรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
พิกัด13°44′46″N 100°30′00″E / 13.74611°N 100.50000°E / 13.74611; 100.50000
เริ่มสร้าง19 มีนาคม พ.ศ. 2418
พิธีเปิดพ.ศ. 2424
รื้อถอนพ.ศ. 2495
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกโจอาคีโน กรัสซี

วังบูรพาภิรมย์ เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพระราชทาน สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์สุดท้องในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เมื่อ พ.ศ. 2418

พื้นที่บริเวณนี้เป็นวังเก่ามาแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้านายที่เคยประทับที่นี่ล้วนเป็นพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับมอบหมายให้มารักษาพระนครด้านทิศตะวันออก ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์, พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนเรนทรบริรักษ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ และพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนรินทรเทพ [1] เมื่อมีการสร้างวังใหม่ในรัชกาลที่ 5 จึงได้รับพระราชทานนามซึ่งหมายถึง "วังที่อยู่ทางทิศตะวันออก" คือ วังบูรพาภิรมย์ หรือ วังบูรพา

วังบูรพาภิรมย์ได้รับการออกแบบโดยนายโจอาคีโน กรัสซี (Gioachino Grassi) สถาปนิกชาวอิตาลี-ออสเตรีย[2] เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานแนวอาณานิคม สร้างเป็นพระตำหนักใหญ่สูง 2 ชั้น ประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง เนื้อที่กว้างขวางตั้งแต่ริมถนนตรงป้อมมหาไชยจนถึงสะพานเหล็ก ใช้เวลาสร้าง 6 ปี ตั้งแต่เริ่มวางศิลาฤกษ์เมื่อวันแรม 4 ค่ำ เดือน 4 ปีกุนสัปตศก จุลศักราช 1237 ตรงกับวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ 2418[2]

เมื่อสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จมาประทับ ณ วังนี้แล้ว โปรดให้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์อยู่เสมอ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินมางานเต้นรำที่นี่อยู่เสมอ นอกจากนี้ วังนี้ยังเคยใช้เป็นที่รับรองรพินทรนาถ ฐากูร ปราชญ์ชาวอินเดีย เมื่อครั้งมาบรรยายในประเทศไทย

หลังจากสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2471 วังนี้ก็ซบเซาลง ทายาทของท่านให้เช่าเป็นที่ตั้งโรงเรียนสตรีภานุทัต ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังสงครามสงบลง ก็ใช้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนพณิชยการพระนคร

เมื่อ พ.ศ. 2495 ทายาทราชสกุลภาณุพันธุ์ได้ขายวังบูรพาให้เอกชน คือนายโอสถ โกศิน ในราคา 12 ล้าน 2 หมื่นบาท มีการรื้อวังออก เพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์สามแห่ง คือโรงภาพยนตร์คิงส์ โรงภาพยนตร์ควีนส์ และโรงภาพยนตร์แกรนด์ ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2497 เมื่อรวมกับตลาดมิ่งเมือง (ปัจจุบันคือศูนย์การค้าดิโอลด์สยามพลาซ่า) และโรงภาพยนตร์อีกแห่งหนึ่งคือ ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี ในปี พ.ศ. 2475 จึงนับว่าย่านนี้เป็นย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น

ในช่วง พ.ศ. 2499–2500 ย่านนี้ได้กลายเป็นแหล่งชุมนุมของวัยรุ่นหนุ่มสาวทันสมัย เรียกว่าเป็น โก๋หลังวัง ซึ่งหมายถึงวังบูรพานั่นเอง ทุกวันนี้ศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์เหล่านั้นล้วนเลิกกิจการไปหมดแล้ว แต่ย่านดังกล่าวก็ยังคงเป็นที่รู้จักกันในชื่อ วังบูรพา

สิงโตวังบูรพา[แก้]

ด้านหน้าวังบูรพาภิรมย์ มีรูปปั้นสิงโตสีน้ำตาลแดงขนาดใหญ่อยู่คู่หนึ่ง เมื่อมีการรื้อวัง ได้มีการย้ายสิงโตคู่นี้ไปอยู่ที่วังพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านรเศรษฐสุริยลักษณ์ เมื่อพระองค์เจ้านรเศรษฐ์สิ้นพระชนม์ ก็ได้ย้ายสิงโตไปตั้งอยู่หน้าพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปัจจุบันย้ายไปอยู่หน้าตึกกองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก

อ้างอิง[แก้]

  1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, สาส์นสมเด็จ, วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2483
  2. 2.0 2.1 สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย The Rising Prince เสี้ยวหนึ่งของพระชนม์สมเด็จวังบูรพา. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี, พ.ศ. 2551. 210 หน้า. ISBN 978-974-16-3093-6

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°44′45″N 100°30′06″E / 13.745784°N 100.501674°E / 13.745784; 100.501674