ข้ามไปเนื้อหา

เออิจิ เนงิชิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เออิอิ เนงิชิ
根岸英一
เนงิชิใน พ.ศ. 2553
เกิด14 กรกฎาคม พ.ศ. 2478
ซินกิง ประเทศแมนจู
(ฉางชุน มณฑลจี๋หลิน ประเทศจีนในปัจจุบัน)
เสียชีวิต6 มิถุนายน พ.ศ. 2564 (85 ปี)
อินเดียแนโพลิส รัฐอินดีแอนา สหรัฐ
สัญชาติญี่ปุ่น
พลเมืองญี่ปุ่น[1]
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยโตเกียว
มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
มีชื่อเสียงจากปฏิกิริยาควบแน่นเนงิชิ
คู่สมรสซูมิเระ ซูซูกิ (พ.ศ. 2502–2561, เสียชีวิต)
บุตร2
รางวัลรางวัลโนเบลสาขาเคมี (พ.ศ. 2553)
บุคคลทรงคุณค่าด้านวัฒนธรรม (พ.ศ. 2553)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์วัฒนธรรม (พ.ศ. 2553)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาเคมี
สถาบันที่ทำงานเทจิน
มหาวิทยาลัยเพอร์ดู
มหาวิทยาลัยซีราคิวส์
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกอัลลัน อาร์. เดย์
มีอิทธิพลต่อเฮอร์เบิร์ต ชาลส์ บราวน์

เออิจิ เนงิชิ (ญี่ปุ่น: 根岸 英一โรมาจิNegishi Ei'ichi, 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 – 6 มิถุนายน พ.ศ. 2564) เป็นนักเคมีชาวญี่ปุ่นที่เกิดในประเทศแมนจู เขาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดู[2] ผลงานที่สำคัญที่สุดของเนงิชิคือการค้นพบปฏิกิริยาควบแน่นเนงิชิ[3] เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี "สำหรับปฏิกิริยาคู่ควบแบบไขว้ในเคมีอินทรีย์ที่มีแพลเลเดียมเร่งปฏิกิริยา" ร่วมกับริชาร์ด เฮ็กและอากิระ ซูซูกิ[4]

วัยเด็กและการศึกษา

[แก้]

เนงิชิเกิดที่ซินกิง เมืองหลวงของประเทศแมนจู (หรือในปัจจุบันคือนครฉางชุน มณฑลจี๋หลิน สาธารณรัฐประชาชนจีน) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2478[5] สองปีถัดมา บิดาของเขาถูกย้ายไปทำงานให้กับการรถไฟแมนจูเรียใต้ ครอบครัวของเขาจึงต้องย้ายไปอยู่ที่ฮาร์บิน[6]จนถึง พ.ศ. 2486 เมื่อเขาอายุได้ 9 ขวบ ครอบครัวของเขาก็ย้ายที่อยู่อีกครั้งไปยังเกาหลี พวกเขาอาศัยอยู่ที่อินช็อนก่อนจะย้ายไปยังคย็องซ็อง (หรือกรุงโซลในปัจจุบัน) ในปีถัดมา สามเดือนหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2488 ครอบครัวเนงิชิย้ายกลับไปที่ญี่ปุ่น เนงิชิจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียวเมื่อ พ.ศ. 2501 และฝึกงานที่บริษัทเทจินอยู่ระยะหนึ่งก่อนจะเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียจนจบปริญญาเอกใน พ.ศ. 2506 โดยมีศาสตราจารย์อัลลัน อาร์ เดย์ เป็นที่ปรึกษา

งานวิชาการ

[แก้]
(จากซ้าย) ซูซูกิ เนงิชิ และเฮ็ก

หลังจบปริญญาเอก เนงิชิตั้งใจจะกลับมาเป็นนักวิจัยในสถาบันการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่มีตำแหน่งงานว่าง[7][8] จึงยังคงทำงานต่อที่เทจินจนถึง พ.ศ. 2509 ก่อนจะลาออกไปทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดูกับเฮอร์เบิร์ต ชาลส์ บราวน์ (เช่นเดียวกับอากิระ ซูซูกิที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปีเดียวกัน บราวน์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีเช่นกันใน พ.ศ. 2522) เขาสอนหนังสือที่เพอร์ดูระหว่าง พ.ศ. 2511 และ 2515[9] ก่อนจะย้ายไปเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยซีราคิวส์และเลื่อนชั้นขึ้นเป็นรองศาสตราจารย์ใน พ.ศ. 2522 และกลับไปเป็นศาสตราจารย์ที่เพอร์ดูในปีเดียวกัน[9]

เขาค้นพบปฏิกิริยาควบแน่นเนงิชิซึ่งควบแน่นสารประกอบอินทรีย์ของสังกะสีและสารประกอบเฮไลด์อินทรีย์โดยใช้แพลเลเดียมหรือนิกเกิลเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อสร้างพันธะคาร์บอน–คาร์บอน ซึ่งเป็นผลงานที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีใน พ.ศ. 2553[10] นอกจากนี้ เขายังค้นพบด้วยว่าสารประกอบอินทรีย์ของอลูมิเนียมและเซอร์โคเนียมก็ใช้ในปฏิกิริยาควบแน่นแบบไขว้ได้เช่นกัน เนงิชิเลือกที่จะไม่จดสิทธิบัตรปฏิกิริยาของเขาเช่นเดียวกับอากิระ ซูซูกิ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิใช้ปฏิกิริยานี้สังเคราะห์สารประกอบได้[11] สารประกอบ Zr(C5H5)2 ซึ่งเตรียมจากการรีดิวซ์เซอร์โคโนซีนไดคลอไรด์ยังมีชื่อเรียกว่า เนงิชิรีเอเจนต์ และใช้ในการสังเคราะห์เบนซีนที่มีหมู่แทนที่หลายหมู่ เซอร์โคโนซีนไดคลอไรด์เป็นสารประกอบในกลุ่มเมทัลโลซีน (Metallocene) เช่นเดียวกับเฟอร์โรซีน

อ้างอิง

[แก้]
  1. https://www.nobelprize.org/nobel_prizes/chemistry/laureates/2010/press.html
  2. "Ei-ichi Negishi". Department of Chemistry Faculty Directory. Purdue University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-14. สืบค้นเมื่อ 26 March 2018.
  3. Anthony O. King, Nobuhisa Okukado and Ei-ichi Negishi (1977). "Highly general stereo-, regio-, and chemo-selective synthesis of terminal and internal conjugated enynes by the Pd-catalysed reaction of alkynylzinc reagents with alkenyl halides". Journal of the Chemical Society, Chemical Communications (19): 683. doi:10.1039/C39770000683.
  4. Press release, Great art in a test tube, Royal Swedish Academy of Sciences. Accessed 6 October 2010.
  5. ノーベル化学賞に鈴木、根岸氏. 琉球新報. 2010-10-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-30. สืบค้นเมื่อ 2010-10-06.
  6. (私の履歴書)根岸英一(2) 1年早く就学 8歳まで満州で生活 遊びに熱中、冬はスケート. The Nikkei. 2012-10-02. สืบค้นเมื่อ 2015-08-30.
  7. (私の履歴書)根岸英一(10) 帝人に復帰 大学で「優」連発、自信に 新製品阻まれ学会へ転進、日本経済新聞、2012年10月10日
  8. ノーベル化学賞:根岸さんうっすら涙「来るものが来た」 เก็บถาวร 2012-07-19 ที่ archive.today、毎日新聞(電子版)、2010年10月7日
  9. 9.0 9.1 Editors of Encyclopaedia Britannica (April 24, 2017). "Negishi Ei-ichi". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 15 March 2018. {{cite web}}: |last1= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  10. "ノーベル化学賞に鈴木名誉教授と根岸氏". Sankei Shimbun. 2010-10-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-06. สืบค้นเมื่อ 2010-10-06.
  11. "根岸・鈴木氏、特許取得せず…栄誉の道開く一因". Yomiuri Shimbun. 2010-10-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-09. สืบค้นเมื่อ 2010-10-08.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]