เนเมียวสีหบดี
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
เนเมียวสีหบดี နေမျိုး သီဟပတေ့ | |
---|---|
เกิด | หุบเขามู, ราชอาณาจักรพม่า |
รับใช้ | ราชวงศ์โก้นบอง |
แผนก/ | กองทัพอาณาจักรพม่า |
ประจำการ | ค.ศ. 1752–1776 |
ชั้นยศ | พลเอก |
การยุทธ์ | สงครามโก้นบอง-หงสาวดี (ค.ศ. 1752–1757) พม่าพิชิตหลวงพระบาง (ค.ศ. 1765) สงครามพม่า-สยาม (ค.ศ. 1765-1767) สงครามพม่า-สยาม (ค.ศ. 1775–1776) |
บำเหน็จ | เนเมียวสีหบดี Ne Myo Thenapati (ค.ศ. 1776)[1] |
งานอื่น | Minister at the Hluttaw (ค.ศ. 1776–1782?) |
เนเมียวสีหบดี เนมโยสีหปเต๊ะ (พม่า: နေမျိုးသီဟပတေ့, Ne Myo Thihapate) ในพงศาวดารไทยเรียก โปสุพลา โปชุกพลา เนเมียวมหาเสนาบดี หรือ เมียนหวุ่นเนเมียวมหาเสนาบดี[2] ในหลักฐานล้านนาเรียก โป่ซุกซุกปะสิหะ โป่ซุกขบปะสิหะพะเท โป่ซุกขบปะสิงหะพะเท โป่เจียกชุปปสีหพะเท หรือโป่เจียก เป็นแม่ทัพของราชวงศ์โก้นบองที่โดดเด่นมีฝีมือการรบเป็นที่น่าเกรงขาม อีกทั้งเป็นทหารคู่บารมีของพระเจ้ามังระอีกคนหนึ่ง[3]
ราชการทหาร
[แก้]เริ่มต้นอาชีพทหารโดยเป็นหนึ่งใน 68 ทหารผู้กล้าหาญที่ร่วมกันสถาปนาราชวงศ์โก้นบอง โดยได้รับเลือกจากพระเจ้าอลองพญา ใน พ.ศ. 2295 และได้กลายมาเป็นหนึ่งใน"ทหารที่โดดเด่นที่สุด"[4] ของกองทัพรวมชาติแห่งพระเจ้าอลองพญา (พ.ศ. 2295-2300) ต่อมาเขาเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้พิชิต 3 อาณาจักร คือ อาณาจักรล้านนา, อาณาจักรล้านช้าง และ อาณาจักรอยุธยา ร่วมกับ มังมหานรธา เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2310
ลาวและอยุธยา (2308-2310)
[แก้]ใน พ.ศ. 2307 พระเจ้ามังระ ตัดสินพระทัยริเริ่มการสงครามกับอาณาจักรอยุธยาใหม่อีกครั้ง พระองค์ได้เลือกเนเมียวสีหบดีและมังมหานรธาเป็นผู้บัญชาการร่วมในการรุกรานคราวนี้ เนเมียวสีหบดีนำเส้นทางรุกรานทางเหนือโดยมีกำลังพล 20,000 นาย เริ่มต้นจากรัฐลาว เวียงจันทน์ตกลงยินยอมจะเป็นเมืองขึ้นของพม่าโดยไม่มีการสู้รบเกิดขึ้น หลวงพระบางขัดขืนแต่ทัพเนเมียวสีหบดีสามารถยึดเมืองได้อย่างง่ายดายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2308 ทำให้พม่ามีอำนาจควบคุมอย่างสมบูรณ์ตามชายแดนทิศเหนือของอาณาจักรอยุธยาทั้งหมด[4]
เนเมียวสีหบดีเคลื่อนทัพลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา มุ่งสู่กรุงศรีอยุธยา กองทัพมาถึงชานกรุงเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2309 ไปบรรจบกับทัพของมังมหานรธา[5] ฝ่ายพม่าเริ่มต้นการล้อมนาน 14 เดือน ราวเดือนมีนาคม พ.ศ. 2310 มังมหานรธาเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บ และเนเมียวสีหบดีกลายมาเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของปฏิบัติการทั้งหมด กองทัพพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310[4]
ดินแดนที่พม่าได้นั้นไม่คงอยู่นานเมื่อพระเจ้ามังระมีบัญชาให้ทหารพม่าส่วนใหญ่กลับประเทศเมื่อปลายปี พ.ศ. 2310 เพื่อรับมือกับการรุกรานของจีนและอินเดียซึ่งคุกคามนครอังวะ[4][5] ส่วนคนไทยนั้นยึดเอาดินแดนของตนกลับคืนภายในปี พ.ศ. 2312
กลับมาช่วยพม่ารบจีน (2310-2312)
[แก้]ในขณะที่เนเมียวสีหบดีกำลังทำสงครามอยู่กับอยุธยาอยู่นั้น กองทัพต้าชิงของจักรพรรดิเฉียนหลงได้เห็นว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จะเข้าทำลายกรุงอังวะ เนื่องจากมีปัญหาข้อพิพาทแถวชายแดนมานาน ในระยะแรกของการบุกครั้งที่1 และ2 พระเจ้ามังระยังให้เนเมียวสีหบดีทำสงครามในอยุธยาต่อไป โดยสงครามกับจีนพระองค์จะทรงจัดการเอง ต่อมาภายหลัง ในการบุกครั้งที่3กองทัพต้าชิงส่งทัพใหญ่มา เนเมียวสีหบดีที่พิชิตอยุธยาลงได้แล้วเร่งเดินทางกลับมาช่วยกรุงอังวะรับศึกต้าชิงทันที แต่ยังไม่ทันกลับมาถึงอะแซหวุ่นกี้ก็สามารถพิชิตกองทัพต้าชิงได้แล้ว ส่วนในการบุกครั้งที่4ของต้าชิง เนเมียวสีหบดีได้เดินทางกลับมาถึงกรุงอังวะ โดยมีส่วนสำคัญในการช่วยอะแซหวุ่นกี้ตีกระหนาบต้าชิงจนจะได้ชัยชนะอยู่แล้ว แต่แม่ทัพใหญ่อะแซหวุ่นกี้ก็ได้ตัดสินใจจบสงครามที่ไม่มีประโยชน์ครั้งนี้ลง ด้วยการเจรจาสงบศึกได้ลงนามในสนธิสัญญากองตนในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2312 อันเป็นการยุติสงครามจีน-พม่าลง
เชียงใหม่ (2316)
[แก้]ต้นปี พ.ศ. 2316 โป่มะยุง่วนข้าหลวงพม่าคนใหม่ประจำอยู่ที่เชียงใหม่พร้อมกับกองทัพขนาดใหญ่พอสมควร พระเจ้ามังระต้องการเริ่มสงครามกับกรุงธนบุรีที่เริ่มก่อสร้างอาณาจักรขึ้นมาใหม่ แต่ยังต้องระวังภัยคุกคามจากจีนทางเหนือ และอยู่ในช่วงฟื้นฟูกำลังพลขึ้นมาใหม่ เนื่องจากใช้กำลังทหารไปมากเมื่อครั้งทำศึกกับจีน โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2312 สงครามพม่าและจีนสิ้นสุดลงด้วยการทำสนธิสัญญากองตนซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่พอใจนัก จีนยังคงทหารจำนวนมากไว้ที่ชายแดนเพื่อเตรียมทำศึกอีกครั้ง ขณะที่เชียงใหม่โปมะยุง่วนเมื่อถูกส่งมาปกครอง ก็ใช้อำนาจกดขี่ชาวพื้นเมือง จนความรู้ไปถึงโปสุพลา (เนเมียวสีหบดี) เนเมียวสีหบดีจึงมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจกับโปมะยุง่วน เนื่องจากให้การสนับสนุนเจ้าท้องถิ่นอยู่ เพราะเนเมียวสีหบดีมองว่าการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับชาวพื้นเมืองทางเหนือจำเป็นต่อยุทธศาสตร์การทำสงครามกับกรุงธนบุรี แต่โปมะยุง่วนกับขูดรีดและกลั่นแกล้งขุนนางท้องถิ่นจำนวนมาก จนสุดท้ายมีเรื่องจนทำให้พระยาจ่าบ้าน, พระเจ้ากาวิละเข้าร่วมกับกรุงธนบุรี และทำสงครามกับพม่าอยู่หลายครั้งด้วยความช่วยเหลือของกรุงธนบุรี สุดท้ายอาณาจักรล้านนาซึ่งอยู่ในปกครองของพม่ากว่า 200 ปีจึงสิ้นสุดลง เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองลำปาง เมืองแพร่และเมืองน่าน เข้ามาอยู่ในพระราชอาณาเขตไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2317 เป็นต้นมา
ธนบุรี (2318-2319)
[แก้]ขุนนางท้องถิ่นเปลี่ยนไปเข้ากับฝ่ายกรุงธนบุรี และขับไล่ข้าหลวงพม่าออกจากเชียงใหม่ด้วยความช่วยเหลือของกรุงธนบุรี ในปี พ.ศ. 2317 พระเจ้ามังระที่ในขณะนั้นพระองค์ประชวรบ้างแล้ว ได้มีบัญชาให้กองทัพพม่าเปิดศึกกับกรุงธนบุรี เนเมียวสีหบดีเป็นรองแม่ทัพ ได้คุมทหารทางด้านเหนืออีกครั้ง ภายใต้การบัญชาการของแม่ทัพใหญ่อะแซหวุ่นกี้ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2318
บุกครั้งแรก
[แก้]เนเมียวสีหบดียกกองทัพซึ่งตั้งอยู่ที่เชียงแสนลงมายังเชียงใหม่ ในการศึกครั้งนั้นกองทัพของเนเมียวสีหบดียกมาล้อมเชียงใหม่ แต่ไม่ยอมโหมกำลังเข้าตีทำแต่เพียงล้อมไว้ รอจนกองทัพของเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกขึ้นมาช่วยเชียงใหม่ จากนั้นก็ตั้งรับพลาง ถอยพลางกลับเชียงแสนไป สอดรับกับทัพใหญ่ของอะแซหวุ่นกี้ที่ยกเข้าทางด่านแม่ละเมา เข้าตีเมืองตาก สุโขทัย มุ่งสู่พิษณุโลกในจังหวะที่การป้องกันเมืองพิษณุโลกอ่อนแอที่สุด เนื่องจากทัพของเจ้าพระยาทั้ง 2 ติดศึกอยู่ทางเชียงใหม่
บุกครั้งที่สอง
[แก้]เมื่อกองทัพของเจ้าพระยาทั้งสองถอยกลับไปป้องกันเมืองพิษณุโลกแล้ว กองทัพของเนเมียวสีหบดีที่เตรียมพลไว้พร้อมอยู่แล้วที่เมืองนายกำลังจะเคลื่อนพลลงมาสมทบกับอะแซหวุ่นกี้ที่ตอนนั้นสามารถยึดเมืองพิษณุโลกได้แล้ว แต่แล้วเขาก็ต้องยกกองทัพกลับไปอีกครั้ง หลังอะแซหวุ่นกี้สั่งยกเลิกการรุกรานเมื่อทราบข่าวพระเจ้ามังระสวรรคต ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2319
บั้นปลายชีวิต
[แก้]เมื่อพระเจ้ามังระสรรคตแล้ว พระเจ้าจิงกูจาพระโอรสของพระองค์ได้เลื่อนยศเนเมียวสีหบดีขึ้นเป็นเนมโยเสนาปติ (နေမျိုးသေနာပတိ) ในปีพ.ศ. 2319 มีตำแหน่งเป็นหวุ่นคยี (ဝန်ကြီး) หรือเสนาบดี และได้มีตำแหน่งอยู่ในสภาลุดดอด้วย หลังจากนั้นไม่ปรากฏหลักฐานถึงอีก
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Kyaw Thet (1962). History of Burma (ภาษาพม่า). Yangon: University of Rangoon Press. p. 327.
- ↑ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 14 คำให้การชาวอังวะ และคำให้การมหาโค มหากฤช เรื่อง เมืองพม่า นายพลโท พระยากลาโหมราชเสนาพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพเถ้าแก่ทองดี ปาณิกบุตร์ จ.จ.เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒
- ↑ GE Harvey (1925). History of Burma. London: Frank Cass & Co. Ltd. pp. 250–254.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 Thant Myint-U (2006). The River of Lost Footsteps--Histories of Burma. Farrar, Straus and Giroux. pp. 98–99. ISBN 978-0-374-16342-6, 0-374-16342-1.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่า|isbn=
: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help) - ↑ 5.0 5.1 Lt. Gen. Sir Arthur P. Phayre (1883). History of Burma (1967 ed.). London: Susil Gupta. pp. 188–190.