เด็กชายกับนกกระสา
เด็กชายกับนกกระสา | |
---|---|
ใบปิดภาพยนตร์ | |
ญี่ปุ่น | 君たちはどう生きるか |
เฮปเบิร์น | Kimi-tachi wa Dō Ikiru ka |
กำกับ | ฮายาโอะ มิยาซากิ |
เขียนบท | ฮายาโอะ มิยาซากิ |
อำนวยการสร้าง | โทชิโอะ ซูซูกิ |
นักแสดงนำ | |
กำกับภาพ | อัตสึชิ โอกูอิ |
ตัดต่อ | ทาเกชิ เซยามะ |
ดนตรีประกอบ | โจ ฮิซาอิชิ |
บริษัทผู้สร้าง | |
ผู้จัดจำหน่าย | โทโฮ |
วันฉาย | 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 (ญี่ปุ่น) 11 มกราคม พ.ศ. 2567 (ไทย) |
ความยาว | 124 นาที |
ประเทศ | ญี่ปุ่น |
ภาษา | ญี่ปุ่น |
ทำเงิน | 294.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[1][2][3] |
เด็กชายกับนกกระสา (ญี่ปุ่น: 君たちはどう生きるか; โรมาจิ: Kimi-tachi wa Dō Ikiru ka; ทับศัพท์: คิมิ-ตาจิ วะ โด อิกิรุ คะ; แปลว่า"พวกเธอใช้ชีวิตอย่างไร"; อังกฤษ: The Boy and the Heron) เป็นภาพยนตร์อนิเมะญี่ปุ่นแนวจินตนิมิตในปี พ.ศ. 2566 เขียนบทและกำกับโดยฮายาโอะ มิยาซากิ ผลิตโดยสตูดิโอจิบลิ ชื่อเรื่องของภาพยนตร์ในภาษาญี่ปุ่นอ้างอิงจากนวนิยายเรื่อง คิมิ-ตาจิ วะ โด อิกิรุ คะ ผลงานของโยชิโนะ เก็นซาบูโรในปี ค.ศ. 1937 ซึ่งปรากฏเป็นเวลาสั้น ๆ ในภาพยนตร์ แต่เนื้อเรื่องของภาพยนตร์เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่โดยไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องของนวนิยาย นักพากย์ตัวละครหลักได้แก่ โซมะ ซันโตกิ, มาซากิ ซูดะ, โค ชิบาซากิ, ไอเมียว, โยชิโนะ คิมูระ, ทากูยะ คิมูระ, คาโอรุ โคบาบาชิ และชิโนบุ โอตาเกะ
ภาพยนตร์เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กชายในช่วงสงครามแปซิฟิกชื่อมากิ มาฮิโตะ ผู้พบหอคอยร้างในเมืองที่ย้ายมาอยู่ใหม่หลังแม่ของเขาเสียชีวิตเพราะเหตุเพลิงไหม้ที่โตเกียว แล้วมาฮิโตะจึงเข้าสู่โลกมหัศจรรย์พร้อมกับนกกระสานวลพูดได้
มิยาซากิประกาศวางมือจากการทำภาพยนตร์แอนิเมชันในเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 แต่ภายหลังได้กลับการตัดสินใจหลังการสร้างภาพยนตร์สั้นเรื่อง เคมูชิ โนะ โบโระ (แปลว่า "เจ้าหนอนโบโระ") ซึ่งปล่อยในปี พ.ศ. 2561 มิยาซากิเริ่มสร้างสตอรีบอร์ดสำหรับโครงการภาพยนตร์ขนาดยาวในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 และการผลิตเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 ชื่อเรื่องของภาพยนตร์ได้รับการประกาศในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 โดยเดิมตั้งเป้าจะให้ออกฉายในช่วงโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ภาพยนตร์วาดด้วยมือโดยแอนิเมเตอร์ 60 คนทำไปได้ 36 นาทีของภาพยนตร์โดยไม่มีการกำหนดเส้นตาย การผลิตทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 7 ปี โดยเผชิญหน้ากับความล้าช้าเนื่องจากต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการระบาดทั่วของโควิด-19 และความเร็วในการทำแอนิเมชันที่ช้าลงของมิยาซากิ ก่อนจะใกล้เสร็จสมบูรณ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการเกี่ยวข้องกับข้อตกลงการเผยแพร่ภาพยนตร์ของสตูดิจิบลิเรื่องก่อนหน้าผ่านสื่อส่งผ่านสัญญาณต่อเนื่อง โปรดิวเซอร์โทชิโอะ ซูซูกิกล่าวว่าเด็กชายกับนกกระสาเป็นภาพยนตร์ที่มีทุนสร้างสูงที่สุดเท่าที่เคยผลิตในประเทศญี่ปุ่น บทภาพยนตร์ได้ถ่ายทอดมาจากวัยเด็กของมิยาซากิและมีแก่นเรื่องเกี่ยวกับการก้าวผ่านวัยและการรับมือโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งกับการสูญเสีย โจ อิซาอิชิเป็นผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ ส่วนเค็นชิ โยเนซุประพันธ์และร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อเพลงว่า ชิคีวงิ (แปลว่า "ลูกโลก")
ภาพยนตร์เด็กชายกับนกกระสาออกฉายในประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2566[4] โดยโทโฮ โดยฉายทั้งในโรงภาพยนตร์ปกติและโรงภาพยนตร์รูปแบบพิเศษอย่างไอแม็กซ์ การเข้าฉายของภาพยนตร์นี้ได้รับการตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีการประชาสัมพันธ์ใด ๆ อย่างจงใจ เนื่องด้วยสตูดิโอจิบลิเลือกจะไม่ปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์ ภาพตัวอย่าง เรื่องย่อ หรือรายละเอียดการคัดเลือกนักพากย์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ล่วงหน้าก่อนการฉายรอบปฐมทัศน์ในประเทศญี่ปุ่น ยกเว้นเพียงใบปิดภาพยนตร์เพียงใบเดียว ภาพยนตร์ได้รับความชื่นชมอย่างมาก และทำรายได้ทั่วโลก 294.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เด็กชายกับนกกระสาขึ้นเป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลเป็นอันดับที่ 5 ภาพยนตร์ออกฉายในประเทศไทยในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2567[5][6]
ภาพยนตร์ชนะเลิศรางวัลจำนวนมาก เช่น รางวัลแบฟตาสาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม, รางวัลลูกโลกทองคำสาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม และรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม
เนื้อเรื่อง
[แก้]ในช่วงสงครามแปซิฟิกในกรุงโตเกียว มากิ มาฮิโตะได้สูญเสียฮิซาโกะผู้เป็นแม่ไปในเหตุเพลิงไหม้ที่โรงพยาบาล โซอิจิผู้เป็นพ่อของมาฮิโตะและเป็นเจ้าของโรงงานผลิตยุทโธปกรณ์สำหรับการรบทางอากาศได้แต่งงานใหม่กับนัตสึโกะซึ่งเป็นน้องสาวของภรรยาผู้ล่วงลับ มาฮิโตะและพ่อย้ายไปอยู่ในที่ดินของนัตสึโกะในชนบท มาฮิโตะที่เหินห่างกับนัตสึโกะที่กำลังตั้งครรภ์ได้พบกับนกกระสานวลประหลาดตัวหนึ่งซึ่งพาเขาไปพบกับหอคอยที่ถูกปิดตายแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่สุดท้ายที่พบเห็นลุงทวดของนัตสึโกะที่เป็นสถาปนิก
นักพากย์
[แก้]ตัวละคร | นักพากย์ | |
---|---|---|
ญี่ปุ่น | ไทย | |
มากิ มาฮิโตะ (牧 眞人 Maki Mahito)) | โซมะ ซันโตกิ | ภาคภูมิ วันทอง |
นกกระสานวล (青サギ/サギ男 Aosagi/Sagi-Otoko) | มาซากิ ซูดะ | จิราวัฒน์ วชิรศรัณย์ภัทร |
ฮิมิ (ヒミ Himi) | ไอเมียว | นพวรรณ เหมะบุตร |
นัตสึโกะ (夏子 Natsuko) | โยชิโนะ คิมูระ | นิรมล กิจภิญโญชัย |
มากิ โซอิจิ (牧 勝一 Maki Shō'ichi) | ทากูยะ คิมูระ | วรวุฒิ วรเนตร |
ลุงทวด (大伯父 Ō-Ōji) | โชเฮ ฮิโนะ | ปิยะ ชำนาญกิจ |
คิริโกะ (キリコ Kiriko) | โค ชิบาซากิ | ชิดชนก แย้มมา |
นกกระทุงอาวุโส (老ペリカン Rō-Perikan) | คาโอรุ โคบายาชิ | |
ราชานกแก้ว (インコ大王 Inko-Daiō) | จุง คูนิมูระ | วิรุฬห์วิชญ์ ถิรสุวรรณ |
อิซูมิ (いずみ Izumi) (หญิงชรารับใช้ 1) | เคโกะ ทาเกชิตะ | |
อูตาโกะ (うたこ Utako) (หญิงชรารับใช้ 2) | จุง ฟูบูกิ | |
เอริโกะ (えりこ Eriko) (หญิงชรารับใช้ 3) | ซาวาโกะ อางาวะ | |
ไอโกะ (あいこ Aiko) (หญิงชรารับใช้ 4) | ชิโนบุ โอตาเกะ | |
วาราวารา (ワラワラ Warawara) | คาเร็ง ทากิซาวะ |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Tartaglione, Nancy (2024-04-15). "Godzilla x Kong Roars Past $436M WW; Kung Fu Panda 4 Tops $450M; Latest Detective Conan Huge In Japan – International Box Office". Deadline Hollywood. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 15, 2024. สืบค้นเมื่อ 2024-04-15.
- ↑ "The Boy and the Heron". Box Office Mojo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 30, 2023. สืบค้นเมื่อ 2024-04-12.
- ↑ "The Boy and the Heron". The Numbers. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 30, 2023. สืบค้นเมื่อ 2024-04-12.
- ↑ Hodgkins, Crystalyn (December 13, 2022). "Hayao Miyazaki's How Do You Live? Film Opens in Japan on July 14, 2023". Anime News Network. สืบค้นเมื่อ December 13, 2022.
- ↑ "เด็กชายกับนกกระสา". เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-10. สืบค้นเมื่อ December 9, 2023.
- ↑ "เด็กชายกับนกกระสา". เอสเอฟ ซีเนม่า. สืบค้นเมื่อ December 9, 2023.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เด็กชายกับนกกระสา ที่โทโฮ (ในภาษาญี่ปุ่น)
- เด็กชายกับนกกระสา ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- เด็กชายกับนกกระสา (ภาพยนตร์) ที่เครือข่ายข่าวอนิเมะ
- ภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2566
- ภาพยนตร์อนิเมะที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2566
- ภาพยนตร์ที่กำกับโดยฮายาโอะ มิยาซากิ
- ภาพยนตร์ที่มีฉากในประเทศญี่ปุ่น
- ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามแปซิฟิก
- ภาพยนตร์แอนิเมชันเกี่ยวกับนก
- ตัวละครที่เป็นนกแก้ว
- การ์ตูนญี่ปุ่นแนวก้าวผ่านวัย
- ภาพยนตร์ไอแมกซ์
- การ์ตูนญี่ปุ่นแนวต่างโลก
- ภาพยนตร์สัจนิยมมหัศจรรย์
- สตูดิโอจิบลิ
- ภาพยนตร์แอนิเมชันโตโฮ
- ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม รางวัลออสการ์